วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เที่ยว.๖ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

Nation Museum Bangkok

สถานที่ตั้ง อยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า (วังหน้าหมายถึงที่ประทับของพระมหาอุปราช ซึ่งเรียกว่าพระราชวังบวรสถานมงคล  เดิมมีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อเนื่องไปจนถึงโรงละครแห่งชาติ และสนามหลวงตั้งแต่ถนนพระจันทร์ที่ผ่ากลางสนามหลวงลงมา) อยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงละครแห่งชาติ

    บริเวณพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย หมู่พระวิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ และ อาคารมหาสุรสิงหนาท


ประวัติ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่พระที่นั่งราชฤดีซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดฯ ให้ย้ายโบราณวัตถุและของแปลก ๆ มาไว้ยังพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ หรือ รอยัล มิวเซียม” (Royal Museum) มิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม




     ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้นที่หอคองคอเดีย (ศาลาสหทัยสมาคม ในปัจจุบัน) เรียกว่า "มิวเซียม" หรือ "พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย" โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 ซึ่งนับได้ว่าเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย พิพิธภัณฑสถานตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นเวลา 13 ปี จนกระทั่ง กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต พร้อมกันนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นเหตุให้พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ว่างลง พระองค์จึงโปรดฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานมาจัดแสดงโดยใช้พื้นที่ของวังหน้าบางส่วน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดฯให้มีการปรับปรุงพื้นที่เขตวังหน้าและให้ตัดพื้นที่บางส่วนไปใช้ในราชการทหารด้วย


ที่เห็นด้านหลังขวามือคือวังหน้า

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ เหลือน้อยพระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรฯ เข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานพระมหามณเฑียร ณ ขณะนั้นให้เป็นโรงทหาร จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดฯ ให้ย้ายโรงทหารไปอยู่ที่วังจันทรเกษม (บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ส่วนพระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ ทั้งหมดจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครและหอสมุดพระวชิรญาณเพื่อจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2469 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2477

พื้นที่วังหน้านับจากถนนกลางสนามหลวงลงมาถึงม.ธรรมศาสตร์จรดพิพิธภัณฑ์

   ในปี พ.ศ. 2510 ได้สร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 2 หลัง คือ "อาคารมหาสุรสิงหนาท" ปัจจุบัน จัดแสดงความเป็นมาของศิลปวัตถุ โบราณวัตถุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และในยุคประวัติศาสตร์ตั้งแต่อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ตลอดจนอิทธิพลอารยธรรมอินเดียสมัยก่อนพุทธศักราช 1800 และ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันจัดแสดงศิลปวัตถุจากอาณาจักรล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ตลอดจนจัดแสดงงานประณีตศิลป์ของกรุงรัตนโกสินทร์




   พิพิธภัณฑ์เปิดทำการตั้งแต่วันพุธ ถึง วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์(ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์) เวลา 9:00 – 16:00 น.

อัตราค่าเข้าชม

   ชาวไทย 30 บาท ต่างชาติ 200 บาท
   นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป นักบวชทุกศาสนา สมาชิก ICOM , ICOMOS ไม่เสียค่าเข้าชม
   นำชมทั่วไปตั้งแต่ 9.30 น.
   วันพุธ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน
   วันพฤหัสบดี ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน
   วันเสาร์ ภาษาอังกฤษ (10.00 น.)
   วันอาทิตย์ ภาษาไทย (10.00 น. และ 13.30 น.)

   อนุญาตให้ถ่ายภาพได้ แต่ห้ามใช้แฟลชและขาตั้งกล้อง
ชาร์ตแบตเตอรี่ให้เต็ม เพราะมาพิพิธภัณฑ์แล้วมีเรื่องให้ถ่ายภาพแยะไปหมด

   การเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้อย่าลืมเป็นอันขาดว่า เขาเปิดให้เข้าชมได้เฉพาะวันพุธถึงวันอาทิตย์ ส่วนวันหยุดราชการเปิดเป็นพิเศษ แต่ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์

   ถ้ามีกล้องถ่ายรูปที่ใส่ฟิลเตอร์ได้ ให้ใช้เป็นฟิลเตอร์แบบ CPL เพื่อตัดเงาสะท้อนจากกระจก เพราะวัตถุโบราณที่ตั้งแสดงส่วนใหญ่จะมีกระจกกั้นหรืออยู่ในตู้กระจก วันที่ผู้เขียนเข้าไปถ่ายภาพไม่ได้ติดฟิลเตอร์ชนิดนี้เข้าไป จึงถ่ายภาพได้ยากสักหน่อย เพราะต้องถ่ายเอียงหนีเงาสะท้อน ซึ่งพลาดภาพดีๆไปเยอะ

จุดจ่ายค่าเข้าชม จะได้ตั๋วและแผนผัง

   เมื่อเดินผ่านประตูรั้วด้านหน้าแล้ว ให้เลี้ยวซ้ายเพื่อไปซื้อบัตรเข้าชมก่อน ตรงที่ขายบัตรมีบริการฝากกระเป๋าและเป้ ถ้ากระเป๋าใบเล็กเช่นกระเป๋ากล้องให้นำเข้าได้ ข้างๆจุดขายบัตรเป็นร้านหนังสือของพิพิธภัณฑ์ ถัดไปเป็นทางเดินแคบๆไปห้องสุขาได้แต่เดินไกลหน่อย

   ได้บัตรเข้าชมพร้อมแผนที่แล้วเดินย้อนกลับมาเพื่อไปชมสถานที่ต่างๆ ทางพิพิธภัณฑ์จะกำหนดสถานที่แสดงเป็นหมายเลขตั้งแต่ 1 ถึง 14 ถ้าสถานที่ใดเป็นกลุ่มหรือมีหลายห้อง จะแสดงเป็นเลขสามตัว จำง่ายๆก็คือเหมือนที่เราเรียกอาคาร 3 ห้อง 01 นั่นเอง

   ลำดับแรกที่เราจะเต้องเข้าไปชมก่อนและตรวจบัตรครั้งแรก ก็คือที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน(หมายเลข1) ซึ่งเราเพิ่งเดินผ่านมาก่อนถึงจุดจำหน่ายบัตร

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

   ข้างในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานติดแอร์เย็นสบาย พื้นที่กว้างขวางมาก มีศิลปวัตถุชิ้นเด่นๆตั้งแสดงอยู่เป็นจำนวนมาก แสงจะสลัวสักหน่อยเพราะต้องป้องกันโบราณวัตถุจากรังสีต่างๆศิลปวัตถุที่จัดแสดงภายในสถานที่นี้ จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปในทำนองจัดนิทรรศการ บางช่วงเป็นศิลปวัตถุของไทย บางครั้งเป็นศิลปวัตถุของต่างประเทศ

   พอเข้ามาแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจบัตรเข้าชมด่านแรก ตรงมุมพระที่นั่งฯก่อนเข้าไปในห้องโถงมีชุดวิดิทัศน์เรื่องประวัติศาสตร์ไทย จะไปนั่งชมก่อนก็ได้หรือชมในห้องโถงเสร็จแล้ว ค่อยมานั่งพักชมวิดิทัศน์ก่อนแล้วค่อยไปที่อื่นต่อ


วิดิทัศน(ใครคิดศัพท์คำนี้วุ้ย)
    ห้องโถงนี้แบ่งเป็นโถงกลางซึ่งกว้างขวางมาก และปีกด้านข้างซ้ายขวา ให้ดูจังหวะว่าตรงไหนมีคนน้อยก็รีบเข้าไปชมตรงนั้นก่อน ผู้เขียนเห็นว่าห้องโถงกลางมีคนเยอะเลยไปดูที่ปีกด้านข้างซ้ายขวาก่อน จะได้ถ่ายภาพได้สะดวกๆ


   ปีกด้านซ้ายมือเรามีของดีให้ชมมาก ถึงจะชิ้นไม่ใหญ่โตมโหฬารแต่ก็สวยงามมีคุณค่ามาก หลายๆชิ้นเห็นฝรั่งนั่งมองยืนมองถ่ายรูปอยู่ตั้งนาน พอตามเข้าไปดูก็สวยงามจริงๆ

ภาพโดยสีหวัชร พระพนัสบดี
พระนาคปรก-ไม่มี CPL เห็นเงาสะท้อนชัดเลย

   โบราณวัตถุมีกระจกกั้นไว้ มีแสงส่องลงมาแต่บางทีแสงไม่ได้ดังใจ ทำให้มีเงาถ่ายภาพไม่สวย หลายๆภาพเราจะถ่ายภาพด้านตรงก็ไม่ได้เพราะเงากระจกสะท้อนเต็มที่ ต้องเอียงๆหรือตะแคงถ่ายภาพลำบากพิลึก ภาพที่ไปถ่ายมาให้ชมทั้งหมดนี้ พยายามเลี่ยงแสงสะท้อนเต็มที่แล้ว ดังนั้นถ้ามาพิพิธภัณฑ์จะถ่ายภาพให้สวยๆ จำเป็นต้องมีฟิลเตอร์ชนิด CPL มาด้วย

   การใช้ฟิลเตอร์ CPL ให้หมุนฟิลเตอร์ไปดูภาพไป พอไม่เห็นเงาสะท้อนหรือเห็นน้อยที่สุดก็หยุดหมุนฟิลเตอร์ เวลาที่เขาถ่ายภาพแล้วได้สีท้องฟ้าเข้มๆสวยๆ ก็ใช้วิธีนี้แต่ใช้แบบให้เห็นว่าภาพเข้มสุด

ภาพโดยสีหวัชร พระอวโลกิเตศวร

ภาพโดยสีหวัชร พระพุทธเจ้าไวโรจนะ

   อีกเรื่องหนึ่งที่ควรเตรียมไว้ก็คือ ถ้าสนใจจริงๆแล้วต้องมีสมุดบันทึกมาด้วย เพราะความจำแพ้ความจด ผู้เขียนนี้ถ่ายภาพคำอธิบายโบราณวัตถุแต่ละชิ้น แต่แล้วก็พบว่ามันไม่สะดวกเอาเสียเลย เวลาจะค้นภาพและคำอธิบายจากกล้องหรือคอมพิวเตอร์มันไม่สะดวก สู้จดๆไว้แล้วค่อยมาเปิดอ่านง่ายกว่า(หรือว่าเราเป็นคนรุ่นเก่าไปแล้ว..วะนี่)

ภาพนี้ถ่ายตรงไม่ได้เลยเพราะเงาสะท้อนมาก

ภาพโดยสีหวัชร สตรีสูงศักดิ์และนางกำนัล เมืองโบราณคูบัว 

   ด้านปีกซ้ายนี้ชอบพระปางห้ามสมุทรมาก ศิลปะสวยจริงๆ ฝรั่งกี่คนๆมาก็ต้องหยุดมองและถ่ายภาพกันหลายๆมุม เสียดายที่แสงเงาไม่ดีเท่าที่ควร

ภาพโดยสีหวัชร พระปางห้ามสมุทร องค์นี้ฝรั่งชอบมากๆ


   พอดีมีจังหวะห้องโถงกลางว่างคนน้อยลงเลยรีบเข้าไปดู ห้องนี้ศิลปวัตถุโบราณอลังการมากๆ เห็นมีวิทยากรคอยอธิบายให้ฝรั่งฟัง นับว่าเรื่องนี้ดีมากๆ ทราบว่ามีทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น ผู้เขียนสังเกตเห็นฝรั่งบางคนจดโน้ตไปด้วย บางคนเอาโทรศัพท์มือถืออัดเสียง ส่วนคนไทยหรือ ไม่มีใครจดหรืออัดเสียงเลย ยกเว้นเด็กนักเรียนที่มาชมที่นั่งจดๆไปทำรายงาน ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง พวกฝรั่งกับญี่ปุ่นนั้นสวนใหญ่จะยืนดูกันนานๆ แต่คนไทยเราดูแบบเดินผ่านกันเป็นส่วนมาก

ห้องโถงใหญ่

ภาพโดยสีหวัชร พระนารายณ์

ภาพโดยสีหวัชร พระอิศวร

   ที่ห้องโถงกลางนี้มีเศียรพระพุทธรูปที่ใหญ่และสวยงามมาก เป็นเศียรพระพุทธรูปวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา ถ้าสมบูรณ์ทั้งองค์คงใหญ่โตและมีพุทธลักษณะงามสุดๆ เสียดายที่ชำรุดเหลือแต่พระเศียร ซึ่งก็ชำรุดอีกเหมือนกัน

ภาพโดยสีหวัชร เศียรพระพุทธรูปวัดพระศรีสรรเพชญ์


   พระพุทธรูปและเทวรูปที่อยู่ภายในห้องโถงนี้จะมีขนาดใหญ่ๆทั้งนั้น อย่างน้อยก็มีขนาดเท่าคน จุดเด่นที่ใหญ่มากและสวยงามมากก็คือเทวรูปพระนารายณ์และพระอิศวร ที่ตั้งตระง่านมีขนาดสูงใหญ่กว่าโบราณวัตถุชิ้นอื่น ยกเว้นเศียรพระที่ชำรุดซึ่งถ้าสมบูรณ์แล้วจะใหญ่มากๆ


ภาพโดยสีหวัชร พระปางห้ามสมุทร

ภาพโดยสีหวัชร พระปางนาคปรก พบที่วัดเวียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี





   หลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และรูปหล่อพระอวโลกิเตศวรที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุด ก็ตั้งแสดงไว้ภายในห้องโถงใหญ่นี้ (พระอวโลกิเตศวรปกติจะอยู่ที่ห้องแสดงศิลปะศรีวิชัย)

ภาพโดยสีหวัชร หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เห็นกันใกล้ๆ

ภาพโดยสีหวัชร พระอวโลกิเตศวรองค์ในตำนาน
   มีรูปสลักหินรูปหนึ่งที่ฝรั่งกี่คนกี่คณะมาเห็นเป็นต้องหยุดดูกันนานๆ แถมยังถ่ายภาพทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง ผู้เขียนเห็นฝรั่งสามคนดูโบราณวัตถุชิ้นนี้ตั้งแต่ผู้เขียนยังดูที่ปีกซ้าย แล้วไปห้องโถงกับปีกขวา ยังเห็นฝรั่งชุดนี้ยืนมองดื่มด่ำกับพระอวโลกิเตศวรองค์นี้อยู่เลย ในคำอธิบายที่ฐานพระบอกว่าเป็นพระอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี สังเกตดูจะเห็นว่ามีพระองค์เล็กๆติดเต็มองค์ไปหมด

ภาพโดยสีหวัชร พระอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี

ภาพโดยสีหวัชร

สวยงามสมกับที่ฝรั่งมาหยุดชะงักมองนานๆ

พระวิษณุอนันตศายิน(นารายณ์บรรณทมสินธุ์)ปราสาทกู่สวนแตง จ.บุรีรัมย์

ธรรมจักรอยู่ด้านหน้าสุด

   ทางด้านปีกขวา(ขวามือเราที่หันหน้าเข้าห้องโถง) จะมีโบราณวัตถุตั้งแสดงเช่นกัน ตรงนี้มีกระจกกั้นแบบเดียวกับที่ปีกซ้าย การถ่ายภาพต้องเอียงหลบแสงสะท้อนกันน่าดู แถมบางทียังมีรอยต่อของกระจกซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียด้วย เพราะกระจกนี้ทางพิพิธภัณฑฯก็หาไซด์ยาวๆมาแล้ว โบราณวัตถุบางชิ้นสวยมากแต่ถ่ายรูปแล้วไม่สวยเพราะบังเอิญอยู่ใกล้รอยต่อของกระจกเกินไป




คำอธิบายบอกว่า พระเทวี


   ผู้เขียนชอบเทวรูปพระเทวี และชุดหุ่นกระบอกกับหัวโขน หัวโขนหนุมานที่เป็นมุกซึ่งมีภาพเผยแพร่บ่อยๆก็ตั้งแสดงอยู่ที่ปีกขวานี้

ภาพโดยสีหวัชร หุ่นกระบอกตัวนาง

ภาพโดยสีหวัชร หุ่นกระบอก พระ นาง ยักษ์ ลิง

   เมื่อชมโบราณวัตถุที่ตั้งแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานแล้ว ต่อไปก็เดินออกไปทางด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ จะเห็นศาลาลงสรงซึ่งเป็นศาลาทรงจตุรมุขขนาดไม่ใหญ่นัก มีรูปทรงสัดส่วนสวยงามมากสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยใช้เป็นสถานที่ประทับสำหรับทรงพระเครื่องใหญ่ หรือใช้เป็นสถานที่จำเริญพระเกศา มองเลยศาลาลงสรงไปจะเห็นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (หมายเลข 2) ด้านหน้าพระที่นั่งฯมีอนุสาวรีย์หรือเทวรูปกำลังแผลงศร

ศาลาลงสรง

ทางเข้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

   พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นที่ประดิษยฐานพระพุทธสิหิงค์ ด้านในพระที่นั่งมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม แต่สีเริ่มซีดจางไปบ้างแล้ว บางส่วนก็ชำรุด เวลาดูอย่าเอามือไปจับต้องอย่างเด็ดขาด ต้องช่วยกันถนอมเอาไว้ เฉพาะจิตรกรรมฝาผนังนี้ถ้าตั้งใจดูแล้วจะใช้เวลานาน เพราะมีอะไรให้ดูมาก ที่ด้านหลังพระที่นั่งฯมีตู้และฉากเขียนลายทองเรื่องรามเกียรติ์ ฝีมือชั้นครู


ภาพโดย สีหวัชร ภาพชุดพาหุงตอนปราบองคุลีมาล
ภาพโดยสีหวัชร ภาพชุดพาหุงตอนชนะสัจจกะนิครนถ์



   องค์พระพุทธสิหิงค์ตั้งเด่นเป็นสง่า สามารถเดินชมรอบองค์ได้เลย ในพระที่นั่งฯไม่ได้ติดแอร์ แต่มีพัดลมตั้งอยู่เป็นจุดหลายจุด สามารถไปนั่งพักได้ หรือจะนั่งสมาธิก็ดีเหมือนกัน ที่พระที่นั่งฯนี้คนที่เข้ามาจะรู้ตัวจะสำรวมเอง ไม่เห็นมีใครส่งเสียงดังสักคน ถ้านั่งสมาธิก็ควรไปนั่งหลบๆหน่อย เพราะจะได้ไม่เกะกะคนอื่นที่เขาจะมาชมพระพุทธสิหิงค์





   พอออกจากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์(ออกทางเดิม) จะมีจุดตรวจบัตรเข้าชมด่านที่2 ตรงนี้จะมีทางเดินไปห้องสุขา ซึ่งเป็นห้องสุขาที่เข้าจากทางห้องขายบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์นั่นเอง หลังจุดตรวจบัตรจะเห็นพระตำหนักแดง(หมายเลข 8)ซึ่งเป็นเรือนไทยชั้นเดียว

พระตำหนักแดง


ทางไปห้องสุขาอยู่ด้านซ้ายมือ

   ในพระตำหนักแดงมีพระแท่นบรรทม ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากนี้ยังมีตู้เขียนลายและแกะลาย รวมทั้งของประดับเล็กๆน้อยๆของเจ้านาย ที่สำคัญคือมีพระแท่นบรรทมของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เป็นพระแท่นบรรทมขนาดใหญ่แกะลวดลายสวยงาม

พระตำหนักแดง

ภาพเขียนสีใส่ในกรอบไม้แกะสลัก

ตุ๊กตาชาววังของแท้

พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระศรีสุเรนทราบรมราชินี เห็นแล้วต้องยกมือไหว้ถวายบังคม

   ออกจากพระตำหนักแดงจะเห็นศาลาสำราญมุขมาตย์ (หมายเลข 9)ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้เป็นที่สรงน้ำเทพมนต์ และน้ำพระพุทธมนต์ในโอกาสสำคัญๆ ลักษณะเป็นศาลาขนาดค่อนข้างใหญ่ มีลวดลายทองอ่อนช้อยสวยงามมาก

ศาลาสำราญมุขมาตย์

   ด้านข้างของศาลาสำราญมุขมาตย์เป็นพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยและหมู่วิมาน(หมายเลข 5 และเลขสามตัว) ซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งอีกหลายองค์ จุดนี้พลาดไม่ได้อีกเช่นกัน มีวัตถุโบราณตั้งแสดงอยู่ตามพระที่นั่งหลายองค์ซึ่งอยู่รอบๆในบริเวณนี้ แต่ไม่ค่อยได้เปิดให้ชมพร้อมๆกันเพราะจะสลับกันปิดเพื่อซ่อมแซมอยู่บ่อย ถึงกระนั้นแค่พระที่นั่งเท่าที่พร้อมเปิดให้ชม ก็เดินกันเมื่อยจนขาลากแล้ว


   เมื่อเดินเข้าไปในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จะเป็นสถานที่จัดนิทรรศการหมุนเวียน ขณะที่ผู้เขียนเข้าไปชมเป็นช่วงนิทรรศการอลังการผ้าไทย มีเสื้อผ้าและผ้าทอผ้าถักลายสวยๆมาแสดง

ชุดโขนโบราณสวยงามมาก 

ชิ้นนี้ถักด้วยทองคำ

ผืนนี้ก็เป็นทองคำ


   ในวันที่ผู้เขียนไปพิพิธภัณฑ์นั้น ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยและหมู่วิมานเปิดให้ชมเฉพาะพระที่นั่งที่ติดต่อกันเป็นแนวตรงเท่านั้น ทางด้านปีกซ้ายขวาปิดซ่อมแซม แต่แค่นี้ก็เมื่อยขามากๆ

   ต่อจากพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยจะเป็นมุขกระสันแล้วเป็นพระที่นั่งภิมุขมณเฑียร ซึ่งแสดงเครื่องพระราชยานคานหาม มีศิลปวัตถุงดงามหลายชิ้น ฝรั่งจะหยุดยืนพิจารณาดูนานมากๆ


พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นแบบคานหาม

ห้องแสดงพระราชยานคานหาม

พระราชบัลลังก์ของกรมพระราชวังบวรฯ

พระราชบัลลังก์สวยงามมากๆ

   ลำดับต่อไปเป็นพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ จะเป็นสถานที่แสดงเครื่องทองต่างๆ มีพระทองคำสมัยโบราณ ลานทองจารึก เทวรูปทองคำ งานฝีมือต่างๆ





   จากนั้นจะเป็นพระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข เรียกกันแบบบ้านๆว่าห้องอาวุธหรือห้องช้าง จุดเด่นคือรูปจำลองช้างศึกขนาดใหญ่ติดอาวุธเต็มอัตราศึกพร้อมรบ รอบๆห้องมีอาวุธโบราณเรียงรายเต็มไปหมด ดาบและหอกหลายๆเล่มมีขนาดใหญ่มากๆ ใหญ่จนน่าสงสัยว่าสมัยก่อนใช้กันได้อย่างไร ปืนโบราณก็มีมาก หลายๆกระบอกมีลวดลายสวยจนไม่น่าที่จะเอามาใช้

พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข

   ด้านในสุดของพระที่นั่งชุดนี้(แนวเส้นตรง)เรียกว่ามุขเด็จ แสดงเครื่องไม้จำหลักต่างๆ งานไม้สวยๆมีให้ชมหลายชิ้นทั้งใหญ่โตมโหฬารและงานเล็กๆ น่าเสียดายที่ในวันที่ผู้เขียนไปนั้น พระที่นั่งกลุ่มนี้ปิดซ่อมด้านปีกซ้ายและขวา จึงไม่ได้ชมของดีอีกมาก จำได้ว่าเป็นพวกเครื่องถ้วยโถโอชาม พวกหัวโขนหุ่นกระบอก เครื่องงาช้าง เครื่องดนตรี


   ออกมาจากกลุ่มพระที่นั่งแล้วก็มีทางเดินไปอาคารมหาสุรสิงหนาท(หมายเลข 3 และเลขสามตัว)แสดงศิลปวัตถุสมัยต่างๆจำนวนมาก เป็นอาคารสองชั้นติดเครื่องปรับอากาศเย็นสบาย ศิลปวัตถุที่แสดงแบ่งเป็นสมัยต่างๆเช่น ทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เดินชมกันเมื่อย มีที่นั่งพักเป็นระยะๆ มีห้องสุขาใกล้บันใดซึ่งทางเข้าดูลึกลับ

ทางเดินชั้นล่างยังมีวัตถุโบราณเพีบย




ไม่แน่ใจว่าหนูหรือลิง

   เมื่อขึ้นไปชั้นสองจะพบกับอภิมหาพระพิฆเณศที่มีขนาดใหญ่โตมาก ใหญ่กว่าคนยืนอีก เป็นพระพิฆเณศศิลปะชวา ที่ประเทศอินโดนิเซียส่งมาถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ท่านที่ชื่นชอบพระพิฆเณศพลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด


พระพิฆเณศอยู่บนชั้นสอง

   นอกจากนี้ยังมีธรรมจักรที่เป็นธรรมจักรในตำนานมีภาพแสดงแพร่หลาย ตั้งแสดงอยู่ที่ชั้นสองนี้เช่นกัน มีธรรมจักรหลายชิ้น และพระพุทธรูปโบราณ เทวรูปแปลกๆ


ธรรมจักรอันในตำนาน


   จากอาคารมหาสุรสิงหนาทแล้วเดินไปตามทาง ซึ่งเป็นทางเดินเราะเขตกำแพงวังหน้านั่นเอง จะอ้อมผ่านด้านหลังกลุ่มพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ผ่านห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์ไปเลี้ยวโค้งตรงอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์(หมายเลข 4 และเลขสามตัว) ตรงหัวโค้งมีมุมร้านขายอาหารร้านเล็กๆ ขายข้าวแกงก๋วยเตี๋ยวและกาแฟเครื่องดื่ม รสชาติพอใช้ได้ นั่งพักรับประทานอาหารก่อนก็ดี


มุมอาหารและเครื่องดื่ม

 ถัดไปก็เข้าไปชมที่อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์(หมายเลข 4 และเลขสามตัว) จะมีตู้เขียนลายทอง โบราณวัตถุที่ขนาดไม่ใหญ่ ที่แปลกหาดูยากคือชุดรูปหล่อเล็กๆเป็นพุทธประวัติ และที่หาดูไม่ได้ในที่อื่นก็คือที่วัดส่วนสูง แปลกเพราะวัดกันเป็นศอก


ตู้เขียนลายสวยๆ


รามเกียรติตอนหนุมานหักคอช้างเอราวัณ หรือ ตอนต้องศรพรหมมาสต์ของอินทรชิต
ที่วัดส่วนสูง วัดเป็นศอก

รูปหล่อพุทธประวัติ

ท่านคงว่า..ทางโน้น

ท่านเทพประโคณธรรพ์


   ออกจากอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์เดินไปตามทางจะพบภูเขามอซึ่งประดิษยฐานพระภูมิ และ มีพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์(หมายเลข 6) แต่วันที่ไปดูนั้นพระที่นั่งฯปิดซ่อมแซม เดินเลยต่อไปจะพบพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย(หมายเลข 11) และโรงราชรถ(หมายเลข 7) จะมีราชรถในตำนานรัตนโกสินทร์ และพระโกศที่ใช้ในงานพระเมรุต่างๆ เฉพาะโรงราชรถนี้ไม่ได้ถ่ายภาพมาสักเท่าไร เพราะเห็นว่าสวยปนเศร้า และรู้สึกยำเกรงพระเดชพระคุณ 



   ออกจากโรงราชรถจะเจอพระที่นั่งมังคลาภิเษก(หมายเลข 10) และจะถึงด้านหน้าของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พบด่านตรวจบัตรด่านสองตรงหน้าพระตำหนักแดง เป็นอันครบรอบวงจรชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร

   นี่ขนาดมีพระที่นั่งปิดซ่อมแซมหลายแห่ง แค่นี้ก็เดินจนเมื่อยไปหมด พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร นี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่า เราจะเดินชมอย่างละเอียดได้ภายในการมาแค่ครั้งเดียว


ภาพโดย sihawatchara เศียรพระวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์

ภาพโดย sihawatchara พระนารายณ์


ภาพโดย sihawatchara พระอิศวร

เรื่องและภาพ สีหวัชร
อนุญาตให้ใช้ภาพได้ตามสะดวกทุกรูป บางรูปไม่ได้พิมพ์บอกไว้ เพราะขี้เกียจครับ