วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นึกเรื่องเก่า เล่าความหลังฯ ๘ ซุปเปอร์แมน

นึกเรื่องเก่า เล่าความหลัง กินของขม ชมเด็กสาว..แปลว่า เริ่มแก่แล้ว
ซุปเปอร์แมน Superman






ท่านที่ชอบนึกเรื่องเก่าเล่าความหลังนี้ แต่พยายามฝืนที่จะไม่กินของขม และยังไม่ชมเด็กสาว(ให้เห็น) อย่างนี้จะนับว่าเริ่มแก่แล้วหรือยัง คาดว่าท่านทั้งหลายคงจะตอบว่ายังไม่แก่อย่างแน่นอน ดังนั้นเรามานึกเรื่องเก่าเล่าความหลังกันให้พอเคลิ้มๆ..


สมัยที่โทรทัศน์เริ่มมีในเมืองไทยแรกๆนั้น จำนวนเครื่องรับโทรทัศน์ยังมีเพียงแค่หลักพันเท่านั้นไม่ถึงหมื่น ยังเป็นภาพขาวดำ บ้านไหนมีโทรทัศน์นับว่าโก้เก๋ทันสมัยมาก จะมีเพื่อนบ้านมาขอดูโทรทัศน์ด้วยเสมอๆ เจ้าของเครื่องโทรทัศน์ที่หัวใสก็มีช่องทางทำเงินโดยเก็บค่าดูโทรทัศน์คนละเล็กคนละน้อย โทรทัศน์ในสมัยนั้นยังไม่มีใครเรียกว่า TV จะเรียกว่าโทรทัศน์กันทั้งบ้านทั้งเมือง


โทรทัศน์เริ่มเป็นที่รู้จักกันในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ.2492 โดยในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Television” เริ่มจากนาย สรรพสิริ วิรยะศิริ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศของกรมประชาสัมพันธ์ ได้เขียนบทความเพื่อแนะนำให้รู้จักกับ วิทยุภาพ ต่อมากรมประชาสัมพันธ์ส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งไปศึกษางานวิทยุโทรภาพที่สหราชอาณาจักร ในราวปี พ.ศ. 2493

ต่อมากรมประชาสัมพันธ์ได้เสนอ โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ ต่อจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล เมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนมากกลับไม่เห็นชอบด้วย(คงเพราะเป็นของใหม่เกินไปยังไม่เห็นประโยชน์) เนื่องจากเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 นายประสิทธิ์ ทวีสิน ประธานกรรมการบริษัท วิเชียรวิทยุและโทรภาพ จำกัด นำเครื่องส่งวิทยุโทรภาพ 1 เครื่อง เข้าทำการทดลองส่ง แพร่ภาพการแสดงดนตรี ของวงดนตรีสากลกรมประชาสัมพันธ์ จากห้องส่งวิทยุกระจายเสียง ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ภายในกรมประชาสัมพันธ์ โดยถ่ายทอดสดไปยังเครื่องรับจำนวน 4 เครื่อง ซึ่งตั้งไว้ภายในทำเนียบรัฐบาล บริเวณใกล้เคียงกรมประชาสัมพันธ์ และบริเวณโถงชั้นล่างของศาลาเฉลิมกรุง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีและประชาชนรับชม นับเป็นการถ่ายทอดโทรทัศน์ออกอากาศเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

“Television” เริ่มเป็นที่สนใจ แต่ในขณะนั้นยังไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทย ทางสื่อมวลชนจึงกราบทูลถามเรื่องชื่อในภาษาไทยของ“Television” ไปยัง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ด้วยทรงเป็นศาสตราจารย์ทางอักษรศาสตร์ จึงทรงวิเคราะห์ศัพท์ดังกล่าว ก่อนจะทรงบัญญัติขึ้นเป็นคำว่า วิทยุโทรทัศน์ซึ่งต่อมาประชาชนทั่วไปนิยมเรียกว่า โทรทัศน์

พ.ศ. 2496 กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการ จัดซื้อเครื่องส่งโทรทัศน์ เข้ามาสาธิตการแพร่ภาพ เพื่อให้ประชาชนทดลองรับชมในโอกาสที่สำคัญต่างๆ อาทิเช่น ถ่ายทอดการแข่งขันชกมวยสากล ระหว่างจำเริญ ทรงกิตรัตน์ พบกับจิมมี เปียต ถ่ายทอดบรรยากาศงานวชิราวุธานุสรณ์ งานฉลองรัฐธรรมนูญ

ในระยะต่อมามีการตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ที่บริเวณบางขุนพรหม ผู้ชมทั่วไปจึงนิยมเรียกชื่อสถานีว่า ช่อง 4 บางขุนพรหม เริ่มแพร่ภาพ ในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งตรงกับวันชาติของไทยในสมัยนั้น นับเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทยและเอเชียอาคเณย์

หลังจากนั้นมีการตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ของกองทัพบก เท่ากับว่าไม่ทันไรประเทศไทยเราก็มีสถานีโทรทัศฯ์ 2 ช่อง ซึ่งยังเป็นแบบภาพขาวดำ ภาพหลังจึงมีวิวัฒนาการไปถึงการมี ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ซึ่งเป็นภาพสี

รายการโทรทัศน์ในยุคแรกนั้น ถ้าเป็นรายการภาพยนตร์ยอดฮิตจะเป็นภาพยนตร์ของฝรั่งก่อน ภาพยนตร์ฝรั่งแบบภาพยนตร์ชุดที่ออกอากาศที่ฮิตสุดๆไม่มีเรื่องใดเกินเรื่อง ซุปเปอร์แมน 


ซุปเปอร์แมน รุ่น 1

ซุปเปอร์แมน รุ่นลายคราม


   เมื่อมีหนังโทรทัศน์ของฝรั่งเข้ามาในไทยนั้น เรื่องที่ฮิตมากๆคนดูติดกันงอมแงมเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องซุปเปอร์แมน SUPEMAN ซึ่งคนไทยจะตื่นตาตื่นใจกับซุปเปอร์แมนที่เหาะไปมาได้ แข็งแรงขนาดยกรถยนต์ได้ แถมยังหนังเหนียวอยู่ยงคงกระพันโดยที่ไม่ได้คล้องหลวงพ่ออะไรเลย

   ตอนไตเติ้ลขึ้นนั้นคนจะจำกันได้ว่า เร็วกว่าลูกปืน มีพลังมากกว่ารถไฟ กระโดดที่เดียวข้ามตึกสูงได้อย่างสบาย แล้วจะมีคนชี้บนฟ้าว่า นั่นนก เครื่องบิน ...ซุปเปอร์แมน" แล้วมีเสียงลมวิ้วๆๆ แบบว่าเหาะเร็วจัด

   ชุดของซุปเปอร์แมนสำหรับคนสมัยก่อนแล้วจะดูโก้มากๆ แต่มาถึงยุคปัจจุบันมานึกๆดูแล้วก็ขำๆว่า คนอะไรนุ่งกางเกงในทับกางเกงนอก แล้วกางเกงนอกยังเหมือนถุงน่องอีกต่างหาก ตัวโตเบ้อเร่อดันใส่เสื้อเบอร์ S

   ซุปเปอร์แมนนี้เป็นผลผลิตของสังคมอเมริกันในยุคหนึ่ง ว่ากันว่าหนังเรื่องซุปเปอร์แมนนี้ให้ความบันเทิงแก่คนอเมริกัน และยังเหมือนเป็นการปลอบขวัญคนอเมริกันในช่วงเศรษฐกิจเริ่มซบเซาและสงคราม

   คนไทยรุ่นอายุห้าสิบกว่าปีขึ้นไปจะจำซุปเปอร์แมนได้ เพราะหนังเรื่องนี้มีมาฉายในเมืองไทยราวๆหลังพ.ศ.2500ไม่นาน เรื่องซุปเปอร์แมนในยุคนั้นฮิตจริงๆ ถึงขนาดว่ามีรูปหุ่นซุปเปอร์แมนเป็นเครื่องหมายการค้าไทยด้วย

   ซุปเปอร์แมนในยุคนั้นเวลาจะเหาะแต่ละทีนั้น มักถ่ายให้เห็นว่ากระโดดออกไปจากหน้าต่าง แล้วก็มีเสียงลมวิ้วๆๆดังตามมาเสมอ พอจะเข้าไปช่วยคนก็ง่ายๆบ้านๆคือ ซุปเปอร์แมนเล่นเดินชนฝาผนังทะลุไปเฉยๆ ซึ่งคนไทยจะตื่นเต้นมาก จากนั้นซุปเปอร์แมนก็จะต้องแอ่นหน้าอกให้ผู้ร้ายยิงจนลูกกระสุนหมด แล้วตามด้วยการเอามือบีบปืนจนบี้แบน

    ดาราที่แสดงเป็นซุปเปอร์แมนนี้เปลี่ยนไปตามสมัยหรืออายุ แต่ทุกคนจะมีรูปร่างสูงใหญ่ทั้งนั้น ซุปเปอร์แมนคนแรกคือ Kirk Alyn เวลาต่อมาก็เป็น George Reeves แล้วก็มาเป็นซุปเปอร์แมนในรุ่นคริสโตเฟอร์ รีฟและอีกหลายคน


ซุปเปอร์แมนปรากฏตัวครั้งแรกในรูปการ์ตูน

ซุปเปอร์แมน คือตัวละครจากหนังสือการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ ผลงานของ สำนักพิมพ์ ดีซี คอมิคส์ของอเมริกา ออกแบบโดยนักเขียนชาวอเมริกัน เจอร์รี ชีเกลและนักวาดภาพชาวอเมริกันเชื้อสายแคนาดาโจ ชูสเตอร์ในปี ค.ศ. 1932 ขณะที่ทั้งคู่พักอาศัยอยู่ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ จนกระทั่งในปี 1938 ทั้งคู่ได้ขายผลงานชิ้นนี้ให้กับสำนักพิมพ์ ดีแทคทีฟ คอมิคส์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นดีซี คอมิคส์) ซุปเปอร์แมนปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือแอคชั่น คอมิคส์ ฉบับที่ 1 (มิถุนายน ค.ศ. 1938) และยังถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ทางวิทยุ ,โทรทัศน์, ภาพยนตร์, การ์ตูนช่องในหนังสือพิมพ์, และวิดีโอเกมส์ เรื่องราวของซุปเปอร์แมนนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก ซุปเปอร์แมนนั้นได้ถูกจัดอันดับให้เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของหนังสือการ์ตูนอเมริกา 






ซุปเปอร์แมนมีชื่อจริงเป็นภาษาของดาวเคราะห์คริปตันที่เป็นถิ่นกำเนิดว่า คาร์ล เอลก่อนหน้าที่ดาวเคราะห์คริปตันจะแตกสลายนั้น จอร์ เอล บิดาของซุปเปอร์แมนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ของดาวคริปตัน ได้ส่งซุปเปอร์แมนที่เพิ่งเกิดมายังโลกด้วยยานอวกาศ จากนั้นได้ถูกพบและเลี้ยงดูโดยคู่สามีภรรยาช่าวไร่ในแคนซัส (ในหนังสือมีกล่าวพาดพิงถึง อัลเบิร์ตไอน์สไตน์) 

ซุปเปอร์แมนได้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับจิตใจที่ดีงามและมีชื่อบนโลกว่า คลาร์ก เคนท์ มีพลังที่เหนือกว่าคนทั่วๆไป ได้ใช้พลังเหล่านั้นเข้าช่วยเหลือผู้คนรอบข้าง ในเวลาปกติซุปเปอร์แมนจะใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาใช้ชื่อว่า คลาร์ก เคนท์ ทำงานเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ เดลีย์ แพลเน็ท  เวลาที่ประชาชนหรือโลกมีภัย คลาร์ก เคนท์ ก็จะกลายเป็นซุปเปอร์แมนออกไปช่วยชาวโลก

ซุปเปอร์แมนมีจุดอ่อนตรงที่แพ้ต่อแร่ คริปโตไนท์ สีเขียวอย่างรุนแรง คริปโตไนท์นั้นก็คือสะเก็ดหินที่แปรสภาพมาจากกัมมันตรังสีของขุมพลังที่เข้าทำลายดาวเคราะห์ คริปตัน  คริปโตไนท์สีเขียวจะทำให้ซูเปอร์แมนนั้นรู้สึกเจ็บปวด หมดเรี่ยวแรง วิงเวียน และ ไม่สามารถใช้พลังได้ ถ้าซุปเปอร์แมนได้รับรังสีจากคริปโตไนท์ในปริมาณที่มากอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต แต่คริปโตไนท์ไม่สามารถแผ่รังสีผ่านแผ่นตะกั่ว และแผ่นตะกั่วยังเป็นสิ่งเดียวที่สายตาเอ็กซ์-เรย์ของซุปเปอร์แมนไม่สามารถมองทะลุผ่านได้ คริปโตไนท์ยังมีสีต่างๆอีกคือ  แดง, ทอง, น้ำเงิน, ขาว และ ดำ โดยแต่ละสีก็มีผลที่แตกต่างกันออกไป แต่คริปโตไนท์สีเขียวเป็นอันตรายที่สุดต่อซุปเปอร์แมน








จากการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากก็กลายมาเป็นละครวิทยุ ซึ่งก็ทำนองเดียวกับละครวิทยุของไทยนั่นเอง ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1940 ได้มีการเปิดตัวผลงานซีรีส์ทางวิทยุเรื่องแรกของซุปเปอร์แมนที่มีชื่อว่า เดอะ แอดเวนเจอร์ อ๊อฟ ซุปเปอร์แมน ซึ่งได้ บัด คอลล์เยอร์ มาเป็นผู้ที่พากย์เสียงซุปเปอร์แมน ซีรีส์ชุดนี้ได้รับความนิยมอย่างมากโดยได้ออกอากาศจนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1951


Kirk Alyn เคิร์ก อลิน ซุปเปอร์แมน

ในปีค.ศ. 1948 ได้มีการทำภาพยนตร์เกี่ยวกับ ซูเปอร์แมน อีกครั้ง โดยได้ เคิร์ก อลิน มารับบทซูเปอร์แมน ซึ่งเคิร์ก อลิน นั้นคือผู้ที่แสดงเป็นซูเปอร์แมนคนแรกในผลงานภาพยนตร์เฟรนไชด์ของซูเปอร์แมน จากนั้นภาพยนตร์เรื่องที่2 ของซูเปอร์แมนที่มีชื่อว่า อะตอมแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน, ได้ทำการออกฉายในปีค.ศ.1950 





Kirk Alyn เคิร์ก อลิน

ในปีค.ศ. 1951 ได้มีการจัดทำซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่ชื่อว่า แอดเวนเจอร์ อ๊อฟ ซูเปอร์แมน นำแสดงโดย จอร์จ รีฟส์ โดยในตอนที่ 25 และ 26 ได้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่ชื่อว่า ซูเปอร์แมน แอนด์ เดอะ โมล์ เม็น ซึ่งผลงานซีรีส์ชุดนี้ออกอากาศในปี ค.ศ. 1952ค.ศ.1958 มีจำนวนตอนทั้งสิ้น 104 ตอน 







George Reeves จอร์ร รีฟส์

เนื่องจากซุปเปอร์แมนเวอร์ชั่นโทรทัศน์รุ่นแรกๆนั้นภาพเป็นเพียงขาวดำ ดังนั้นคนที่ไม่เคยอ่านการ์ตูนซุปเปอร์แมนจึงไม่ค่อยทราบว่า ซุปเปอร์แมนมีเครื่องแบบที่มีสีออกชอบกลๆ คือมีชุดแนบเนิ้อที่เหมือนใส่ถุงน่องสีฟ้า แล้วดันนุ่งกางเกงในไว้ข้างนอกแถมยังมีสีแดงเสียอีก มีเข็มขัดรัดสีเหลืองรัดกางเกงในไม่ให้หลุดอีกด้วย มีผ้าคลุมสีแดงที่ไม่รู้ว่าจะมีไว้ทำไม สุดท้ายยังอุตส่าห์ใส่รองเท้าบู๊ตสีแดงแปร๊ด

ซุปเปอร์แมนจึงเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่แต่งตัวได้โก้มากๆ แต่มาถึงยุคปัจจุบันมานึกๆดูแล้วก็ขำแทบตายว่า คนอะไรตัวโตเบ้อเร่อแต่ดันใส่เสื้อเบอร์ S กางเกงก็ดันนุ่งกางเกงในสีแดงทับกางเกงนอก แล้วกางเกงนอกยังเหมือนถุงน่องอีกต่างหาก รองเท้านี้สีแดงแปร๊ดเหมือนรองเท้านักร้องสาวคาเฟ่ไม่มีผิด 

ซุปเปอร์แมนฉบับหนังโทรทัศน์ขาวดำให้ความบันเทิงมานานหลายปี จนกระทั่งถึงยุคโทรทัศน์สี ภาพยนตร์แบบที่เรียกว่าหนังโรงแบบสมัยใหม่ ซึ่งในปีค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) มีภาพยนตร์ซุปเปอร์แมนยุคใหม่มีเทคนิคเหาะที่ฮือฮามากในตอนนั้น ไตเติ้ลที่ทำเป็นตัวอักษรเหาะทำได้ตื่นตาตื่นใจมากๆ จนเป็นต้นแบบตัวอักษรที่เคลื่อนไหวต่อๆกันมา ซุปเปอร์แมนฉบับภาพยนตร์ครั้งนี้ใช้ชื่อเรื่องว่า SUPERMAN THE MOVIE มีดาราหล่อล่ำ คริสโตเฟอร์ รีฟ มารับบทเป็นซุปเปอร์แมน และยังเป็นซุปเปอร์แมนต่อกันมารวม 4 ตอน






คริสโตเฟอร์ รีฟ

หลายปีต่อมามีการสร้างภาพยนตร์ซุปเปอร์แมนในปีค.ศ.2006(พ.ศ.2549)ใช้ชื่อว่า ซุปเปอร์แมนรีเทิร์น SUPERMAN RETURNS โดยมีดารารูปหล่อ แบรนดอน เราธ์ มาแสดงเป็นซูเปอร์แมน ในตอนนี้กล่าวถึงตอนที่ซุปเปอร์แมนกลับจากการเดินทางจากอวกาศ มาพบกับศัตรูเก่า เล็กซ์ ลูเธอร์ ซึ่งซุปเปอร์แมนพลาดท่าเกือบตาย และมีดราม่าที่ ลูอิส เลนซ์ แฟนของซุปเปอร์แมนดันแต่งงานมีครอบครัวมีลูก แต่ลูกชายกลับเป็นลูกของซุปเปอร์แมนซะงั้น 

ชุดของซุปเปอร์แมนครั้งนี้มีแฟนภาพยนตร์จำนวนมากที่มองว่าออกไปทางซุปเปอร์แมนเกย์



แบรนดอน เราธ์

 ภาพยนตร์ชุดใหม่ล่าสุดของซุปเปอร์แมน มีกำหนดการออกฉายในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.2013(พ.ศ.2556) ซึ่งกำกับโดย แซค ซไนเดอร์ และได้ เฮนรี่ คาวิลล์ มารับบทซูเปอร์แมนมีชื่อว่า แมน อ๊อฟ สตีล MAN OF STEEL คราวนี้เป็นการสร้างใหม่ย้อนถึงกำเนิดซุปเปอร์แมน ชุดของซุปเปอร์แมนได้รับการปรับปรุงใหม่แปลกตาไปจากเดิมมาก ซุปเปอร์แมนรุ่นนี้ไม่ได้เอากางเกงในสีแดงมาใส่โชว์ไว้ข้างนอกอีกแล้ว


 เฮนรี่ คาวิลล์ 

ยังมีการสร้างซุปเปอร์แมนเป็นซีรี่ส์ทางTVอีกด้วย ทั้งหนังสือการ์ตูนและแบบอนิเมชั่นอีกมาก ซึ่งก็ได้รับความนิยมมาโดยตลอด แน่นอนว่าซุปเปอร์แมนจะเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ยอดนิยมตลอดไป














ข้อมูลอ้างอิงจาก วิกิพิเดีย,ความทรงจำในวัยเด็ก,หนังสือการ์ตูน การ์ตูน ภาพยนตร์ชุดซุปเปอร์แมน