วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

เที่ยว.๙ ทำบุญและเที่ยววัดญาณเวศกวัน



วัดญาณเวศกวัน Wat Nyanavesakavan

   เมื่อนึกถึงเรื่องการท่องเที่ยว เราก็มักจะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวสนุกๆหรือสถานที่ๆมีธรรมชาติสวยงาม พวกเราก็จะพากันฮือฮาเฮโลสาระพาไปเที่ยวกัน ที่เที่ยวมากแห่งนั้นกว่าจะเดินทางไปถึงต้องใช้เวลาเดินทางกันเป็นวันๆ พอไปถึงกลับใช้เวลากับสถานที่นั้นๆแค่ครึ่งชั่วโมง เช่นนั่งรถขึ้นเขา(เพราะขี้เกียจเดิน)ไปชมสายหมอก ดูได้แค่หน่อยเดียวก็ต้องรีบไปที่อื่นต่อ เพราะเดี๋ยวเวลาจะไม่พอให้ไปเที่ยวได้หลายๆที่

   เรื่องสำคัญที่คนไทยเราต้องทำให้ได้เวลาไปเที่ยวก็คือ ต้องได้ถ่ายรูปคู่กับป้ายชื่อสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ เพราะมันจะเป็นหลักฐานว่า “ฉันได้มาถึง มาเที่ยว มาเห็น และได้ถ่ายรูปไว้แล้ว”

    การไปท่องเที่ยวในสถานที่สวยๆธรรมชาติงดงาม นับว่าเป็นการดื่มด่ำกับธรรมชาติที่เราห่างหายไปนาน ถ้าไปเที่ยวในที่สนุกๆก็นับว่าได้ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานได้ดี แต่ยังมีการท่องเที่ยวที่มีคนกลุ่มหนึ่งนิยมกัน ซึ่งการท่องเที่ยวแบบนี้จะเรียกว่าไปเที่ยวเล่นก็ไม่ใช่ จะไปเพื่อความสนุกสนานก็ไม่ใช่อีก แถมจะเรียกว่าเป็นการท่องเที่ยวโดยตรงก็เรียกไม่ตรงประเด็นสักเท่าไร เพราะว่าเป็นการที่เราจะไปเที่ยววัดไปทำบุญไปหาความสงบทางใจ ดังนั้นคำว่าท่องเที่ยวในกรณีนี้จึงยังไม่ตรงนัก

   การไปเที่ยววัดดังที่กล่าวมานั้น เราจะหาคำอื่นมาแทนคำว่า “เที่ยว”ก็ไม่รู้ว่าจะใช้คำไหน เพราะมันก็คล้ายๆกับว่าเราไปเที่ยวกัน แต่ในกรณีนี้เราไม่ได้มุ่งเพื่อไปเที่ยวกันจริงๆจัง และก็ไม่ใช่ไปปฏิบัติธรรมกันโดยตรง คือไม่ได้ไปค้างคืนค้างแรมนุ่งขาวห่มขาวปฏิบัติธรรมที่วัดแบบเป็นเรื่องเป็นราว แต่เป็นการไปเยี่ยมชมวัดพร้อมกับทำบุญบ้าง ร่วมทำสมาธิร่วมสวดมนต์บ้าง ตามแต่เวลาอันจำกัดของแต่ละคนที่พอมี การไปเที่ยววัดแบบนี้เป็นกึ่งเที่ยวกึ่งหาความสงบทางใจ

อุโบสถวัดญาณเวศกวัน

   ที่ด้านในของถนนข้างๆพุทธมณฑล มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเราสามารถไปเที่ยวแบบกึ่งเที่ยวกึ่งทำบุญที่ดีมากๆ ทั้งยังเป็นสถานที่อุดมไปด้วยผู้รู้ ผู้มีศีลสมาธิปัญญา ซึ่งพร้อมที่จะให้ความสว่างแก่จิตใจของเราได้ การมาเที่ยวแบบกึ่งเที่ยวกึ่งทำบุญในสถานที่นี้ผู้เขียนเห็นว่า ต้องมาให้ได้เป็นอย่างยิ่ง สถานที่แห่งนี้ก็คือ วัดญาณเวศกวัน วัดที่ศิษย์น้อมสร้างถวายหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)นั่นเอง..(พ.ศ. 2559 พระราชทานโปรดสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ปาพจนดิลกวรานุศาสน์ อารยางกูรพิลาสนามานุกรม คัมภีรญาณอุดมวิศิษฎ์ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี )

หลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์
      หลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์นั้นเป็นที่รับรู้กันว่า ท่านเป็นพระภิกษุที่บริสุทธิ์รอบรู้ในพระไตรปิฏก เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีภูมิปัญญาเป็นอย่างยิ่ง จะเรียกว่าเป็นตู้พระไตรปิฏกเคลื่อนที่ก็ว่าได้ เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นพระธรรมปิฎก ทางนวนาลันทามหาวิหารซึ่งเป็นองค์กรพุทธระดับสากล ได้ถวายการยกย่องให้เป็นพระตรีปิฏกาจารย์ นับเป็นองค์ที่สองต่อจากพระถังซำจั๋ง และในคำประกาศยังได้ยกย่องท่านว่า ในยุคปัจจุบันนี้ท่านเป็นภิกษุผู้มีปัญญาเสมอด้วยพระสารีบุตร

   เมื่อหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์มีชื่อเสียงทางวิชาการมาก จึงอาจมีคนบางส่วนนึกกันไปเองว่า วัดญาณเวศกวันคงเป็นวัดที่มุ่งเรื่องวิชาการหรือมุ่งปริยัติเพียงอย่างเดียว คงไม่มีการทำบุญตามประเพณีต่างๆแบบที่อื่นเขาทำกัน แต่ความคิดนี้ผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะวัดญาณเวศกวันนี้เป็นวัดที่สงเคราะห์พุทธศาสนิกชนและประชาชนในทุกๆด้าน การทำบุญแบบที่เห็นทั่วไปนั้นที่วัดญาณเวศกวันก็มี เป็นการทำบุญแบบพร้อมไปด้วยสติปัญญา

***เพิ่มเติม..
   วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มี  ประกาศราชกิจจานุเบกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ โปรดสถาปนา พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ขึ้นเป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชอนุสรณ์คํานึงถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งเสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ว่า ทรงเป็นพุทธมามกะ และอัครศาสนูปถัมภก ทรงใส่พระราชหฤทัยในการทะนุบํารุงและสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา เลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ถวายแก่พระสังฆาธิการ ซึ่งดํารงในสมณคุณ มีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนาเป็นประจําทุกปี

    บัดนี้ เพื่อเป็นการบําเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร จึงสมควรจะสถาปนาอิสริยยศและเลื่อนอิสริยฐานันดรพระสงฆ์ที่ดํารงอยู่ในสมณคุณ และมีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนาดังกล่าวสูงขึ้น เพื่อจักได้บริหารพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสถาพร ตามโบราณราชประเพณีสืบต่อไป

   จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา ๑. พระพรหมคุณาภรณ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ปาพจนดิลก วรานุศาสน์ อารยางกูรพิลาสนามานุกรม คัมภีรญาณอุดมวิศิษฏ์ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี สถิต ณ วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๑๐ รูป
  

ภาพจากwww.watnyanaves.net

ข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์วัด

วัดญาณเวศกวัน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐ หมู่ที่ ๓ ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้รับอนุญาตเป็นทางการ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ เริ่มมีพระสงฆ์เข้าจำพรรษาในปีเดียวกันนั้น และมีประกาศตั้งเป็นวัดในปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้รับ พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มี พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นเจ้าอาวาสสืบมาแต่ต้นจนปัจจุบัน


ภายในเนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๑ งาน ๘๕ ตารางวา ร่มรื่นด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่ ผลิดอกออกใบอยู่ทั่วบริเวณ โอบล้อมด้วยบรรยากาศ แห่งธรรมชาติที่เกื้อกูลกันระหว่างสรรพชีวิต เป็นรมณียสถานที่ให้ความสดชื่นผ่อนคลาย สงบเย็น แก่ผู้ที่แวะเวียนเข้ามาพักพิง ด้วย ความตั้งใจที่จะให้อารามแห่งนี้เป็นป่าที่เหมาะแก่การเข้ามาแสวงหาความรู้ เจริญธรรม เจริญปัญญา สมดังชื่อ "ญาณเวศกวัน" อันมี ความหมายว่า "ป่าที่มีเรือนแห่งความรู้" หรือ "ป่าของผู้เข้าสู่ญาณ" พื้นที่ส่วนใหญ่ของวัดจึงมีไว้สำหรับต้นไม้มากกว่าสิ่งปลูกสร้าง เพราะธรรมชาติที่อยู่รายล้อมรอบตัวคือแหล่งการศึกษาเรียนรู้อันกว้างใหญ่ ล้ำลึก เป็นธรรมะใกล้ตัวที่ผู้มีปัญญาจะพึงค้นพบ(ข้อมูลโดยละเอียดดูได้จาก www.watnyanaves.net)

   แผนผังบริเวณวัด

      ภาพแผนผังไม่ค่อยชัดเจนเพราะPix.น้อยไปหน่อย ให้ดูแนวสีทึบๆจากด้านล่างขึ้นไป ตรงนี้คือถนนเข้าวัด จะทอดยาวผ่านพื้นที่สีเขียวๆซ้ายมือ ตรงนี้คือบริเวณ 6 7 8 9 และห้องน้ำ ตรงกลางแผนผังที่มีสีอ่อนๆคือ 5 ถนนจะเลี้ยวขวาแล้วโค้งซ้ายไปตามแนว 5 ที่เป็นอุโบสถ จะเจอห้องน้ำด้านขวามือก่อน สุดทางเป็นประตูวัดออกไปที่จอดรถด้านนอก
    ๑. อุโบสถ
    ๒. เสาอโศก
    ๓. กุฏิสงฆ์
    ๔. กุฏิสงฆ์
    ๕. หอสมุด
    ๖. หอระฆัง
    ๗. หอฉัน
    ๘. ศาลาบำเพ็ญกุศล

    ๙. เรือนพักอาคันตุกะ


ภาพsihawatchara อุโบสถวัดญาณเวศกวัน

   ที่วัดญาณเวศกวันนั้นมีคนไปทำบุญไหว้พระฟังเทศน์ทุกวัน มีการถวายภัตตาหารเช้าและเพลทุกๆวัน มีการทำบุญถวายสังฆทาน ทำบุญอุทิศต่างๆ ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์จะมีคนไปทำบุญกันมาก ทั้งยังมีกิจนิมนต์ต่างๆเช่น เจริญพระพุทธมนต์ทำบุญบ้าน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การทำบุญที่วัดญาณเวศกวันเป็นการทำบุญที่มีแต่บุญล้วนๆ คนที่ไปร่วมงานบุญมีแต่เป็นผู้ให้ และทางวัดก็เป็นผู้ให้เช่นกัน คือให้ธรรมให้ปัญญา

   ถ้าจะมองหาตู้รับบริจาคเงินที่วัดญาณเวศกวัน รับรองได้เลยว่าต้องมองหากันแทบแย่ เพราะทั้งวัดมีอยู่เพียงตู้เดียว แถมยังเหมือนแอบซ่อนเอาไว้ไม่ให้คนเอาเงินไปใส่อีกต่างหาก ถ้าไม่สังเกตดูดีๆจะไม่เห็นตู้รับบริจาคใบนี้เลย

   วัตถุมงคลของวัดญาณเวศกวันก็มีเหมือนกัน แต่วัตถุมงคลของวัดนี้เป็นแผ่นซีดีธรรมะ นับเป็นวัตถุมหามงคลเป็นอย่างยิ่ง และยังรับได้ฟรีอีกต่างหาก แถมวัตถุมหามงคลนี้ยังแสดงปาฏิหาริย์มาหาเราที่บ้านได้โดยการดาวน์โหลดไฟล์ธรรมะ ซึ่งก็ให้ฟรีๆอีก


การเดินทางไปวัดญาณเวศกวัน จำง่ายๆแค่ว่าอยู่ด้านหลังของพุทธมณฑล อ.ศาลายา จ.นครปฐม ซึ่งอยู่ใกล้ๆกรุงเทพมหานครแบบเฉียดฉิวเขตติดกันเลยทีเดียว ถ้าเดินทางมาจากทางถ.บรมราชชนนี เมื่อเลี้ยวเข้าถ.พุทธมณฑลสาย๔ ก็ตรงไปผ่านแยกถ.อุทยาน ผ่านพุทธมณฑลไปจนสุดเขตแนวรั๊ว จะเลยสะพานลอยคนข้ามแล้วชิดขวาเพื่อกลับรถไปฝั่งพุทธมณฑล เมื่อกลับรถแล้วให้รีบชิดซ้ายเพื่อเข้าถนนซอยแรก จะมีป้ายวัดญาณเวศกวันอยู่หน้าซอย ถนนนี้เรียกกันว่า ซอยพุทธมณฑลสาย ก ให้ตรงเข้าไปได้เลย ถ้ามาจากทางถนนเพชรเกษม ให้จำง่ายๆว่าทางเข้าวัดญาณเวศกวันจะอยู่ก่อนถึงพุทธมณฑล โดยอยู่ในถนนซอยที่ติดกับด้านข้างของพุทธมณฑล

   
ภาพจาก google map แยกถนนอุทยาน

เห็นสะพานลอยให้ชิดขวาเตรียมกลับรถ

กลับรถตรงนี้

ซอย พุทธมณฑล สาย ก

ตรงไปตลอด

   เมื่อเราตรงเข้าไปเรื่อยๆถนนจะบังคับเลี้ยวขวา พอเลี้ยวแล้วให้คอยสังเกตด้านซ้ายมือ จะเห็นป้ายบอกทางเข้าวัดญาณเวศกวันอยู่ใกล้สะพานเล็กๆ ให้เลี้ยวข้ามสะพานแล้วตรงเข้าไปอีกเล็กน้อยก็จะเจอประตูวัดอยู่ด้านซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปในวัดแล้วหาที่จอดรถก่อน ที่จอดรถจุดแรกจะอยู่แถวนี้พอดี จอดรถแล้วก็ลงเดินต่อไปอีกนิดเดียว จะเห็นอาคารแรกมีต้นไม้ใหญ่อยู่ด้านหน้า อาคารนี้คือศาลาบำเพ็ญกุศล

ข้ามสะพานไปหน่อยจะเจอประตูทางเข้าวัด

ต้นไม้หน้าศาลาบำเพ็ญกุศล จุดจอดรถรับส่ง
ไปที่จอดรถด้านนอก

      ถ้าที่จอดรถจุดแรกมีรถจอดเต็มแล้ว ให้ขับรถตรงไปตามทางถึงศาลาบำเพ็ญกุศลแล้วเลี้ยวขวา จะมีจุดจอดรถอีกจุดหนึ่ง ถ้ายังไม่มีที่ว่างอีก ให้ขับรถไปตามทางจะเห็นโบสถ์อยู่ด้านซ้าย ทางไปที่จอดรถจะต้องออกนอกวัดจะมีที่จอดรถจัดไว้อีกหลายจุด จะมีป้ายบอกทางไปที่จอดรถ ได้ที่จอดด้านนอกวัดแล้วก็เดินย้อนเข้าประตูวัด เดินมาตามทางจะผ่านอุโบสถเพื่อไปที่ศาลาบำเพ็ญกุศล ระยะทางที่เดินนี้เป็นการออกกำลังไปด้วยในตัว 


อุโบสถวัดญาณเวศกวัน
ภาพsihawatchara อุโบสถวัดญาณเวศกวัน

ภาพsihawatchara ภายในอุโบสถ
ภาพsihawatchara พระพุทธประธานญาณเวศกวโนดม

ภาพsihawatchara พระพุทธประธานญารเวศกวโรดม


ภาพsihawatchara หลวงพ่อพระพุทธประธานญาณเวศกวโรดม

ภาพsihawatchara พระพุทธประธานญาณเวศกวโรดมด้านหลัง

    ตอนเดินผ่านโบสถ์ไปสักพักจะมีห้องน้ำอยู่ซ้ายมือ เราแวะเข้าห้องน้ำ ล้างหน้าล้างตากันก่อนก็ดี



ห้องน้ำ สะอาดดี

ศาลาบำเพ็ญกุศล

   ศาลาบำเพ็ญกุศลนับเป็นจุดนัดหมายของคนที่มาทำบุญ จะอนุญาตให้จอดรถรับส่งคนได้ไม่เกิน ๓ นาที ท่านผู้ชราจะมาลงรถที่จุดนี้ สิ่งของที่นำมาช่วยในงานบุญก็จะมาขนลงรถกันที่ตรงนี้เช่นกัน

   ศาลาบำเพ็ญกุศลนี้จะใช้เป็นพื้นที่ของผู้ที่มาทำบุญเฉพาะกิจเป็นหมู่คณะ ใช้ทำกิจกรรมต่างๆได้ทุกอย่างเช่น ทำบุญอุทิศส่วนกุศล หรือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ใช้ในกิจกรรมของกลุ่มบุคคล เช่น กิจกรรมของโรงเรียนที่พานักเรียนมาฟังเทศน์สวดมนต์ทำสมาธิ วันที่ผู้เขียนไปที่วัดนั้น มีครอบครัวหนึ่งมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลบรรพบุรุษที่ชั้นล่างหรือใต้ถุนศาลาพอดี
ฝั่งตรงข้ามศาลาบำเพ็ญกุศล

   ถ้าเรายืนหันหน้าเข้าทางด้านหน้าของศาลาบำเพ็ญกุศล ทางมุมอาคารด้านขวามือเรา จะมีห้องเล็กๆบริการแจกแผ่นซีดีธรรมะ ซีดีที่นี่เท่าที่เห็นจะทำเป็น MP3 เพื่อให้สามารถบันทึกข้อมูลได้มากๆ ตรงนี้นี่เองที่มีตู้รับบริจาคที่ทั้งวัดมีแค่เพียงตู้เดียว แถมตู้ยังไม่เห็นเด่นชัดเพราะกลมกลืนไปกับพื้นที่ และไม่อยู่ในระดับสายตา

   ถ้ามีคนมองเห็นตู้ใบนี้แล้วจะบริจาคเงิน ก็ต้องเอาเงินใส่ซองแล้วเขียนชื่อที่อยู่ให้ละเอียด ทางวัดจะส่งใบอนุโมทนาบัตรไปให้ถึงที่บ้าน


มุมด้านขวาเห็นห้องเล็กๆคือห้องรับแจกซีดี

   เยื้องด้านหลังของศาลาบำเพ็ญกุศลจะมีพื้นที่แยกไว้เป็นส่วนของห้องน้ำสะอาดๆ เข้าไปใช้ห้องน้ำแล้วก็ช่วยกันรักษาความสะอาดกันด้วย

   พื้นที่ด้านหลังและด้านข้างของศาลาบำเพ็ญกุศล จะเป็นพื้นที่ที่ใช้ทำบุญถวายภัตตาหาร บริเวณนี้มีต้นไม้ร่มรื่น คนที่ไปทำบุญถวายภัตตาหารจะนั่งกันบริเวณนี้

รอกันใต้ร่มไม้

   หอฉันจะอยู่พื้นที่ด้านหลังศาลาบำเพ็ญกุศล เป็นอาคารแบบเรียบง่าย พระท่านจะกล่าวอนุโมทนากถาก่อนฉันภัตตาหารเช้าและเพล เป็นการขัดเกลาจิตใจญาติโยมก่อนทำบุญ


อนุโมทนากถา

หอฉันของวัดญาณเวศกวัน สร้างแบบเรียบง่าย

หอฉัน

   ในวันเสาร์และวันอาทิตย์จะมีประชาชนมาถวายภัตตาหารเพลกันมากเป็นพิเศษ  การถวายภัตตาหารนั้น ต่างคนต่างจัดกันมาเองจากที่บ้าน อาหารที่จะถวายพระนั้นจะเอามาจัดรวมกันไว้บนโต๊ะที่ต่อกันยาวๆ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของศาลาบำเพ็ญกุศล ตรงนี้มีสองโต๊ะยาว และด้านข้างของหอฉันอีกหนึ่งโต๊ะยาว


อาหารเอามาวางรวมกัน

เตรียมถวายเพล

เด็กนักเรียนมาช่วยกันปัดแมลงวัน


   เมื่อถึงเวลาถวายภัตตาหาร ผู้มาทำบุญจะพร้อมใจกันน้อมจิตถวาย พระจะลงมารับอาหารที่ถวายไว้บนโต๊ะยาวๆ แล้วท่านจะตักอาหารอย่างละเล็กละน้อยใส่บาตรแค่พอฉัน แล้วกลับขึ้นไปนั่งฉันฉลองศรัทธาญาติโยมที่หอฉัน โดยฉันในบาตร ช่วงเวลาในการฉันคือ ฉันภัตตาหารเช้า ๐๘.๐๐ น. และภัตตาหารเพล ๑๑.๐๐ น. ของทุกวัน

พระลงมารับถวายภัตตาหาร

นั่งฉันกันง่ายๆแบบนี้

   สำหรับสาธุชนที่มาร่วมทำบุญนั้น ถ้าหิวก็มีอาหารที่มีคนใจบุญท่านจัดเตรียมมาบริการฟรี หิวมากๆรอรับประทานหลังพระท่านฉันเสร็จไม่ไหว ก็สามารถไปรับอาหารสารพัดจากท่านที่จัดมาบริการได้ รับประทานอาหารไปพลางฟังพระเทศน์ไปพลาง ถ้าทนหิวไหวก็ค่อยรอรับประทานอาหารส่วนที่เหลือจากถวายพระ คือเป็นการรับประทานข้าวก้นบาตรพระนั่นเอง

   ท่านที่จัดอาหารมาเลี้ยงญาติโยมนั้น ท่านไม่ได้เกี่ยงเลยว่าอาหารเหล่านี้จะต้องถวายพระแต่เพียงอย่างเดียว ทุกท่านต่างก็พร้อมใจกันใจตรงกันว่า จะเตรียมมาเผื่อญาติโยมเขาหิว ซึ่งญาติโยมทั้งหลายนี้ต่างก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ท่านผู้ใจบุญต่างก็จัดหามากันเองตามแต่สะดวกตามกำลังทรัพย์ ที่แน่ๆคือทุกท่านเป็นผู้ใจบุญ บางท่านอาจคุยเก่งเลยชวนคุยบ้าง บางท่านก็อาจขัดๆเขินๆในการสนทนากับคนแปลกหน้า แต่ทุกท่านต่างก็มีแววตาที่เป็นมิตรเป็นญาติธรรม พร้อมบริการข้าวปลาอาหารและน้ำดื่มด้วยความเต็มใจ

บะหมี่เกี๊ยว

ก๋วยเตี๋ยว

มีอาหารบริการหลายโต๊ะ ฟรีทั้งนั้น

   อาหารที่จัดมาเผื่อญาติโยมนั้น บางท่านทำเป็นแซนวิชง่ายๆใส่กล่องมา บางท่านทำเป็นก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เกี๊ยว ข้าวหม้อแกงหม้อ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ไอศกรีม น้ำผลไม้ น้ำเย็น จะตั้งไว้บนโต๊ะคอยบริการด้วยอัธยาศัยไมตรีจิต หลายๆท่านไม่ถนัดในการทำอาหาร ก็ใช้วิธีซื้ออาหารสำเร็จรูปมาแจก บางท่านต้มน้ำกระเจี๊ยบมาบริการ บางท่านก็ซื้อน้ำผลไม้แบบกล่องนำมาพร้อมมีกระติกใส่น้ำแข็งเอาไว้

   ผู้เขียนเห็นสุภาพสตรีสูงอายุท่านมาคนเดียว ท่านอุตส่าห์พยายามฉีกฝากล่องน้ำผลไม้กล่องใหญ่ เพื่อริมน้ำผลไม้ลงในกระติกน้ำแข็ง แล้วตักใส่แก้วแจก แค่นี้ก็ทำบุญทำทานด้วยความอิ่มอกอิ่มใจแล้ว บางครอบครัวมีพ่อแม่และลูกเล็กๆนั่งรวมกันทาแยมทาเนยกับขนมปัง แล้ววางไว้บนถาดให้คนมาหยิบไปรับประทาน 

ทั้งครอบครัวบริการจนเหนื่อย แต่ก็พร้อมให้บริการต่อ

มากันสองคน น้ำมะพร้าวหอมหวานชื่นใจ

บริการไอศครีม มีเครื่องใส่ด้วย

โต๊ะนี้ก๋วยเตี๋ยวตามสั่ง พี่เขาอารมณ์ดี

เหนื่อยไปตามๆกัน ข้างหน้าเป็นน้ำกระเจี๊ยบ ได้ดื่มไปหลายแก้ว

   พอพระท่านเริ่มฉันแล้วสักพักจะมีการเชิญให้โยมไปตักอาหารที่เหลือได้ ทางวัดมีจานชามมีช้อนซ่อมและถาดอาหารแบบถาดหลุมให้ ญาติโยมทั้งหลายที่ไม่รู้จักกันเลยต่างก็เข้าแถวไปตักอาหารกันเองโดยที่ไม่ต้องมีใครมาจัดคิวให้ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน 

   ผู้เขียนเองหิวแทบแย่แต่ก็ถอยออกมายืนรอ เพราะอยากให้เด็กและคนชราได้ตักอาหารไปรับประทานกันก่อน พอชำเลืองมองก็พบว่าผู้ชายที่ยังแข็งแรงอายุยังไม่มากต่างก็ทำแบบเดียวกับผู้เขียน และผู้เขียนยังเห็นอีกว่า ผู้ที่ไปตักอาหารกันนั้น ต่างก็ตักกันแต่พอสมควร หลายๆท่านตักอาหารแค่นิดเดียว ประมาณว่าแค่หายหิวก็พอแล้ว เพราะกลัวว่าเดี๋ยวอาหารจะไม่พอเหลือให้คนข้างหลัง


ทยอยกันตักข้าวก้นบาตรมารับประทาน

ถ้อยทีถ้อยอาศัยผลัดกันตักอาหาร

ชุดนี้อยู่ด้านข้างหอฉัน

    โยมทั้งหลายจะไปนั่งรับประทานอาหารตามที่นั่งรอบๆบริเวณหอฉันและศาลาบำเพ็ญกุศล มีคนใจดีอุตส่าห์ยกถาดใส่น้ำดื่มไปเดินแจกให้ถึงที่ เมื่อญาติโยมรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็จะนำถ้วยชามไปล้างที่บริเวณริมรั้วข้างหอฉัน ซึ่งมีอ่างน้ำก๊อกน้ำแบ่งเป็นจุดๆ เรื่องล้างถ้วยชามกันเองนี้ขนาดชาวต่างชาติยังรู้เลย เห็นมีชาวต่างชาติที่รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ต่างก็เดินไปล้างจานด้วยตนเองทั้งนั้น


ริมรั้วคือพื้นที่ล้างจาน อาคารที่เห็นด้านซ้ายคือเรือนพักอาคันตุกะ


   เมื่อพระฉันเสร็จแล้วท่านจะกล่าวอะไรกับญาติโยมอีกเล็กน้อย แล้วจึงกล่าวอนุโมทนาให้พร ซึ่งก็คือ ยะถาฯ สัพพีฯ ที่พอคนไทยได้ยินแล้วจะยกมือขึ้นพนมทุกที เพราะมักจำกันได้ว่าพระท่านสวดมีคำขึ้นต้นว่า ยะถา เมื่อไร แสดงว่าจะเสร็จพิธีแล้ว และกรวดน้ำเลย ชุดกรวดน้ำทางวัดมีเตรียมให้หลายชุด โยมที่นั่งไกลหน่อยไม่มีเครื่องกรวดน้ำก็ไม่เป็นไร เราแค่น้อมใจอุทิศส่วนกุศลและรับพรพระก็พอ 


นั่งกันตามอัธยาศัย
   เสร็จพิธีแล้วใครที่มีธุระก็แยกย้ายกันกลับ แต่จะมีหลายๆท่านยังอยู่ช่วยกันเก็บเก้าอี้และทำความสะอาด หลายๆท่านไปเดินเล่นนั่งเล่นภายในบริเวณวัด ซึ่งมีที่ร่มมากเพราะมีต้นไม้ใหญ่มาก อารมณ์ประมาณว่าเดินในวัดป่า  หลายๆท่านไปร่วมกิจกรรมฟังเทศน์ สวดมนต์ ทำสมาธิ ซึ่งที่วัดมีเป็นประจำ เราเห็นเขาทำกิจกรรมอะไรก็เข้าไปร่วมด้วยได้ ไม่มีใครเขาว่าอะไร มีแต่จะร่วมอนุโมทนาไปด้วยกัน



อาคารริมน้ำมีกิจกรรม ท่านที่ผ่านไปเห็นก็เข้าร่วมได้

   ถ้าบังเอิญมีกิจกรรมของเด็กนักเรียนมาช่วยทำความสะอาดวัด เช่น กวาดใบไม้ เราก็เข้าไปร่วมได้ วันที่ผู้เขียนไปวัดญาณเวศกวันนั้น ทางโรงเรียนโพธิสารพิทยากรที่เจ้าลูกชายเรียนมีกิจกรรมจิตอาสา เด็กๆไปช่วยกันกวาดลานอุโบสถ เหงื่อไหลไคลย้อยไปตามๆกัน ยังมีคนใจดีอุตส่าห์บริการน้ำดื่มให้เด็กๆกันเลย


จะไปกวาดลานอุโบสถแล้วนะ

ปรึกษาหารือ

ส่งไลน์บอกเพื่อนที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรม

   การมาทำบุญที่วัดญาณเวศกวันนั้น ถ้าเรามีเวลามากพอ ผู้เขียนเห็นว่าน่าที่จะทำกิจกรรมแบบที่เด็กนักเรียนเขามาทำกัน คือเราทำบุญถวายภัตตาหารแล้ว ถ้ายังมีแรงหรือยังแข็งแรง ก็น่าที่จะไปช่วยทำความสะอาดวัดบ้างเล็กๆน้อยๆ ไปกวาดใบไม้บ้าง ทำความสะอาดห้องน้ำบ้าง มีเรื่องให้ช่วยทำความสะอาดหลายจุด และการทำความสะอาดที่วัดญาณเวศกวันนี้ก็ไม่ยากอะไรเลย เพราะญาติโยมที่มาทำบุญต่างก็ช่วยกันรักษาความสะอาดด้วยกันทุกคนอยู่แล้ว อุปกรณ์ในการทำความสะอาดทางวัดมีให้พร้อม


มาถึงหน้าอุโบสถแล้ว

ช่วยกันกวาดลานวัด 

หลังอุโบสถค่อยร่มหน่อย
   
   ถ้าจะไปกวาดลานวัดควรไปทำช่วงเช้าสักหน่อย เพราะจะได้ไม่เหนื่อยกันนัก วันที่ผู้เขียนไปวัดนั้น เด็กๆไปช่วยกวาดลานอุโบสถกันตั้งแต่ตอนสาย กวาดลานอุโบสถเสร็จก่อนถวายเพลพระ เด็กๆได้เรียนรู้ถึงความสามัคคี สังเกตเห็นได้ว่า ในหมู่เด็กๆเองเขาก็มีน้ำใจต่อกัน เด็กผู้ชายจะแย่งเลือกที่จะไปกวาดใบไม้กันกลางแดด เพราะห่วงเพื่อนๆที่เป็นผู้หญิงว่าตากแดดจะไม่สบาย


มีไม้กวาดเตรียมไว้ให้แล้ว


คนแข็งแรงไปกวาดกลางแดด

ผู้ปกครองก็ช่วยกันด้วย

สามเกลอตากแดด
พื้นที่ๆต้องกวาดกว้างไม่น้อย
หนูๆช่วยกันเข็นรถไปเก็บเศษใบไม้ที่เพื่อนๆกวาดรวมไว้

   กิจกรรมฟังเทศน์ สวดมนต์ ทำสมาธิ ที่วัดมีเป็นประจำ เราเห็นเขาทำกิจกรรมอะไรก็เข้าไปร่วมด้วยได้ ไม่มีใครเขาว่าอะไร มีแต่จะร่วมอนุโมทนาไปด้วยทั้งนั้น

   วันที่เด็กนักเรียนโรงเรียนโพธิสารพิทยากรไปทำกิจกรรมจิตอาสา เริ่มจากการฟังพระท่านอบรมเด็กๆ โดยใช้หอญาณเวศก์ธรรมสมุจย์ ซึ่งเป็นหอสมุดเป็นสถานที่อบรมธรรมะให้เด็กๆ


หอญาณเวศก์ธรรมสมุจย์อยู่ริมสระน้ำ

   หอญาณเวศก์ธรรมสมุจย์เป็นอาคารสามชั้นอยู่ใกล้ๆศาลาบำเพ็ญกุศล สร้างอยู่ริมสระน้ำมีบรรยากาศร่มรื่นมาก จะมีประชาชนไปนั่งพักบริเวณข้างอาคารกันหลายๆท่าน เพราะร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ และอยู่ริมสระน้ำ


หอญาณเวศก์ธรรมสมุจย์

หอญาณเวศก์ธรรมสมุจย์เป็นหอสมุดด้วย

   เมื่อเดินขึ้นไปที่ชั้นแรกของอาคาร จะเห็นแท่นสูงมีตู้กระจกครอบ เมื่อมองดูก็จบเห็นธรรมจักรที่เป็นแผ่นสีทอง มีรอยพับคล้ายพัด และมีตัวอักษรเขียนไว้ ปรากฏว่าเป็นพระนามาภิไธย(ลายเซ็น)ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
ทางขึ้นมีส่วนที่ทำเป็นทางลาดสำหรับรถเข็นด้วย


พระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

  ชั้นล่างของอาคารนี้จะใช้เป็นที่จัดกิจกรรมต่างๆ ในวันที่ผู้เขียนไปนั้น มีการบรรยายธรรมและทำสมาธิที่ชั้นล่างพอดี

 บริเวณชั้นล่างนี้ยังเป็นจุดรับหนังสือ และ CD โดยรับได้ฟรี ส่วนการบริจาคเงินช่วยสบทบนั้น ก็มีซองใส่ปัจจัยและมีตู้รับบริจาค ให้เอาซองปัจจัยใส่ลงในตู้ ตู้รับบริจาคนี้ต้องสังเกตดูดีๆถึงจะเห็น


หนังสือธรรมะแจกฟรีมีทั้งเล่มหนาๆและเล็กแบบพ็อคเก็ตบุ๊ค

ซองใส่ปัจจัยและตู้รับบริจาค

   ชั้นสองของอาคารเป็นห้องสมุดติดเครื่องปรับอากาศเย็นสบาย เปิดให้ประชาชนเข้าไปค้นคว้าอ่านหนังสือธรรมะได้ ทางเดินขึ้นไปยังชั้นสองนี้ จะทำเป็นทางลาดขึ้นไปเรื่อยๆ สามารถเข็นรถเข็นพาท่านที่เดินไม่สะดวกขึ้นไปได้อย่างสบาย ระหว่างทางยังทำเป็นที่พักนั่งเอาไว้เผื่ออีกด้วย


ทางขึ้นไปชั้น ๒ และ ๓
ตรงที่เว้าๆโค้งๆมุมภาพคือที่นั่งพัก

ถึงห้องสมุดแล้ว ตรงกระถางต้นไม้มีที่นั่งพักได้

   ชั้นสามเป็นห้อง “ญาณปยุตตธรรมนิจัย” แสดงชีวประวัติและผลงานของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ห้องนี้ติดเครื่องปรับอากาศเช่นกัน ในวันที่ไปนั้นพระท่านใช้ห้องนี้บรรยายธรรมให้เด็กๆฟัง

   เนื่องจากเด็กๆที่ไปทำกิจกรรมจิตอาสา เป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนโพธิสารพิทยากรชั้น ม.๑(M1-EP)หลักสูตรภาษาอังกฤษ หลวงพี่ที่อบรมเด็กๆจึงอบรมเป็นภาษาอังกฤษมีภาษาไทยอธิบายบ้าง ผู้เขียนได้ยินแล้วสะดุ้งเล็กน้อย นึกในใจว่าเด็กๆจะเข้าใจได้หรือ เพราะเด็กๆเพิ่งเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษแค่เทอมแรก แต่ก็นึกดีใจที่พระสงฆ์ของเราสมัยนี้มีความรู้ทางภาษาดีมาก แบบนี้เผยแผ่พระศาสนาได้อย่างสบาย

   หลวงพี่ที่อบรมเด็กๆท่านมีจิตวิทยาเยี่ยมยอด ท่านใช้ภาษาอังกฤษในระดับที่เด็กๆฟังเข้าใจ เด็กๆหัวเราะชอบใจไปกับคำสอนของหลวงพี่ทั้งนั้น 
ห้องญาณปยุตตธรรมนิจัย
อบรมเด็กๆด้วยภาษาอังกฤษ

   เมื่อเด็กนักเรียนโรงเรียนโพธิสารพิทยากรไปกวาดลานอุโบสถ ท่านที่มาร่วมถวายภัตตาหารเห็นเข้า ก็เมตตาห่วงเด็กๆจะร้อนแดด อุตส่าห์ยกถาดน้ำดื่มมาบริการ และให้เด็กๆไปรับมาเพิ่มเพื่อแจกจ่ายให้เพื่อนๆ บางท่านลงมาจากอุโบสถเห็นเด็กๆกำลังกวาดลานวัด ก็รีบเข้ามาช่วยกวาดด้วย

   ขณะที่เด็กๆกำลังกวาดลานอุโบสถนั้น ผู้เขียนได้เห็นความมีน้ำใจเมตตากรุณาจากหลายๆท่าน สังเกตเห็นว่าหลายๆท่านกังวลว่าเด็กจะร้อนจะเหนื่อย ก็รีบจัดขนมน้ำดื่มเตรียมไว้แล้วเรียกให้เด็กไปรับประทาน พอใกล้ถึงเวลาที่จะถวายเพลก็มีผู้ใจดีวิ่งมาเรียกเด็กๆให้หยุดกวาดได้แล้ว เพราะเด็กๆจะได้ไปรอรับประทานอาหาร    


เด็กๆไม่หนื่อยแต่ผู้ปกครองเหนื่อย

   หลังจากเด็กๆรับประทานอาหารเที่ยงแล้ว ได้เข้าอบรมธรรมะกันต่อที่ศาลาบำเพ็ญกุศล หลวงพี่มาเทศน์อีกและเทศน์เป็นภาษาอังกฤษด้วย มีชาวต่างชาติที่ยังไม่กลับนั้น มายืนฟังอยู่ด้านข้างอาคารด้วยความสงบอิ่มใจ

หลวงพี่สนทนากับน้องๆ

จะนั่งสมาธิแล้วนะ

สมาธิแน่วแน่

เจริญพระกรรมฐานกับหลวงพี่

นั่งสมาธินานเหมือนกัน

   ฟังเทศน์แล้วจึงให้เด็กๆนั่งสมาธิ หลวงพี่โน้มน้าวจิตใจด้วยภาษาอังกฤษอีก ทำสมาธิไปเป็นเวลาพอสมควรจึงสอนให้เด็กๆสวดมนต์แบบสวดมนต์แปล ทางวัดมีหนังสือสวดมนต์เตรียมไว้ให้เรียบร้อย จากนั้นจึงเสร็จกิจกรรมจิตอาสาของเด็กนักเรียนโรงเรียนโพธิสารพิทยากรชั้น ม.๑ (M1-EP)

หลวงพี่สอนสวดมนต์ภาษาบาลีพร้อมแปลไทยด้วย

เยาวชนอนาคตของชาติ

   เสร็จกิจกรรมจิตอาสาของเด็กๆแล้ว ผู้เขียนต้องขอบอกว่า “โคตรดีใจ” ที่ลูกได้มาร่วมกิจกรรมที่วัดญาณเวศกวัน

   กลุ่มเพื่อนๆกลุ่มญาติๆ ก็สามารถมาทำกิจกรรมงานบุญที่วัดญาณเวศกวันได้ ถ้าจะมาเป็นกลุ่มใหญ่สักหน่อยก็แจ้งความประสงค์ล่วงหน้าได้ สามารถแจ้งได้ทางเว็บไซต์ของวัด ซึ่งมีรายละเอียดดีมาก ถ้าไปคนเดียวหรือสองสามคน ง่ายๆแค่ว่าเห็นเขาทำกิจกรรมบุญกัน เราก็เข้าไปร่วมด้วยได้เลย คนที่มาทำบุญที่วัดญาณเวศกวันต่างก็มีอัธยาศัยไมตรีจิตดีทั้งนั้น

   สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น วัดญาณเวศกวัน และ หลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์ (ปัจจุบันเป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์)คือวัดและพระในอุดมคติของผู้เขียน การไปเที่ยวที่วัดญาณเวศกวันนั้น รับรองได้เลยว่าจะไม่ได้ไปเที่ยวเล่น เพราะเมื่อไปถึงแล้ว บรรยากาศและสภาพแวดล้อมของญาติธรรมที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย จะโน้มน้าวให้ตัวเรารู้ได้เองว่า เรามาทำบุญมาแสวงหาความ สว่าง สงบ และปัญญา
   
   ไปเที่ยวทำบุญที่วัดญาณเวศกวันกันเถอะครับ รับรองได้ว่าท่านจะไม่ได้แค่เพียงไปเที่ยวหรือไปถ่ายรูปเซลฟี่เฉยๆ เมื่อท่านไปถึงวัดญาณเวศกวันแล้ว ท่านจะรู้ตัวเองว่า ท่านมาทำบุญ มาหาความสว่าง สง บ และปัญญา ที่ท่านหลงลืมห่างเหินไปนาน



เรื่องและภาพบางส่วนจากเว็บไซต์ของวัดญาณเวศกวัน
เรื่องและภาพโดยsihawatchara อนุญาตให้นำไปใช้ได้
รายละเอียดเกี่ยวกับวัดซึ่งควรดูเป็นอย่างยิ่ง ดูได้จาก http://www.watnyanaves.net/