วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เที่ยว.๗..ตลาดน้ำคลองลัดมะยม




ตลาดน้ำคลองลัดมะยม
Khlong Lat Mayom Floating Market

   มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างเงียบๆเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ว่าเป็นปรากฏการณ์แบบเงียบๆนั้น ก็เพราะเราจะรู้สึกคล้ายๆกับว่าเราคุ้นเคย คล้ายๆเคยเห็นเคยผ่านหรือเคยได้ยินได้ฟังกันมา ทั้งๆที่ช่วงอายุของคนในเจนเนอเรชั่นใหม่ๆนี้แทบไม่ทันได้เห็น แต่คนยุคใหม่นี้ยังเคยได้ยินคนรุ่นก่อนๆเล่าให้ฟัง หรือได้เห็นรูปภาพเก่าๆ หรือในบางท้องถิ่นสิ่งที่ว่านี้เพิ่งจางหายไปไม่นาน จึงยังพอมีคนระลึกถึงอยู่

   ที่จริงแล้วปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ เคยเป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน พอวันเวลาผ่านไปนานเข้า ก็ค่อยๆเลือนหายไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้แทบที่จะสูญไปแล้ว คนที่ทันยุคต้องเป็นคนในรุ่นอายุครึ่งร้อยขึ้นไป ที่ยังเคยเห็นปรากฏการณ์ที่ว่านี้ ปรากฏการณ์นี้ก็คือ การหวนคืนของตลาดยุคก่อน หรือจะเรียกง่ายๆว่าตลาดย้อนยุค


ตลาดน้ำวัดไทรในอดีต

   ตลาดย้อนยุคแบบตลาดสมัยก่อนนั้น ในปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นกันขึ้นมาเรื่อยๆ นับว่าวิถีชีวิตตลาดแบบไทยๆเริ่มคืนกลับมาได้บางส่วนแล้ว โดยเฉพาะวิถีตลาดไทยบ้านๆในบางท้องถิ่น ที่ยังรักษาวิถีเดิมไว้ได้แต่เป็นที่รู้กันเฉพาะในแวดวงท้องถิ่น ปัจจุบันก็มีการตื่นตัวฟื้นฟูวิถีเดิมให้มั่นคงยิ่งขึ้น กระทั่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำให้คนไทยหวนระลึกถึงวิถีชีวิตในอดีตได้ไม่น้อย


   ตลาดไทยๆในสมัยก่อนนั้นมักเป็นตลาดน้ำหรืออยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง เพราะเดิมนันเราใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ตลาดใหญ่ๆที่มีคนคึกคักจึงมักเป็นตลาดน้ำ ตลาดน้ำเริ่มหายไปเมื่อถนนหนทางสะดวกขึ้น และลำคลองถูกถมทำเป็นถนนไปจนแทบไม่เหลือลำคลองแล้ว


ตลาดน้ำคลองสานในอดีต คลองสานนะครับ เหลือเชื่อมั๊ยครับท่าน

   เหลือเชื่อว่าในอดีตนั้น กรุงเทพฯมีลำคลองมากขนาดเคยได้รับสมญานามว่าเป็น “เวนิชตะวันออก”

ตลาดน้ำคลองลัดมะยม

   เมื่อประมาณปีพ.ศ.2547 ได้มีกลุ่มชาวบ้านแถบคลองลัดมะยม แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชั่น ก.ท.ม. รวมตัวกันฟื้นฟูตลาดน้ำริมคลองลัดมะยมขึ้นมาใหม่ คลองลัดมะยมนี้เป็นคลองขุดที่เชื่อมระหว่างคลองบางพรหมกับคลองบางระมาด คนไทยสมัยก่อนจะเรียกคลองเล็กที่ขุดเพื่อเชื่อมคลองต่างๆว่า ลัด หรือ คลองลัด

   ตลาดน้ำคลองลัดมะยมยุคใหม่เกิดขึ้นจากการที่ ลุงชวน ชูจันทร์ ได้พยายามชักชวนให้ชาวบ้านนำสินค้ามาขายที่ตลาดเหมือนดังสมัยก่อน ลุงชวนเป็นคนแถบคลองลัดมะยมนี่เอง ลุงชวนจบปริญญาตรีนิติศาสตร์และปริญญาโทรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ทิ้งวิถีชีวิตเกษตรกร ลุงชวนได้พยายามฟื้นฟูตลาดน้ำที่แทบหายไปพร้อมกับลำคลองที่มีขยะ ลุงชวนเริ่มจากการพายเรือเก็บขยะอยู่คนเดียว จนคนหาว่าบ้าเก็บขยะ ต่อมาก็พยายามชักชวนชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ลำคลอง และจัดตั้งตลาดน้ำคลองลัดมะยมยุคใหม่จนสำเร็จ ปัจจุบันตลาดน้ำคลองลัดมะยมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนนิยมมาก

   ผลงานของลุงชวนดังไปไกลจนได้รับรางวัล ILGA จากประเทศเกาหลี นับเป็นคนไทยคนที่สองต่อจากพลตรีจำลอง ศรีเมือง และในปีพ.ศ. 2550 ชุมชนตลาดน้ำคลองลัดมะยมก็ได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยวดีเด่น จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นับเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป ในปี 2554 ก็ได้รางวัลชมเชยการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ  จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์

ภาพลุงชวน จาก klonglatmayom.wordpress.com

เที่ยวตลาดน้ำคลองลัดมะยม

   ตลาดน้ำคลองลัดมะยมเปิดในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ 9:00 – 15:00 น. แต่ที่จริงแล้วตั้งร้านกันตั้งแต่เช้าและเก็บร้านตอนเย็นๆ เวลาจึงมีเผื่อได้พอสมควร

   การเดินทางไปตลาดน้ำคลองลัดมะยมนับว่าสะดวกมาก ยิ่งถ้าไปด้วยรถส่วนตัวแล้วจะสะดวกสุดๆ ไม่ว่าจะมาจากทางฝั่งถนนบรมราชชนนี(ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) หรือมาทางฝั่งถนนเพชรเกษม ก็จะสามารถมุ่งไปเข้าเส้นทางไปตลาดน้ำคลองลัดมะยมได้ โดยตลาดน้ำคลองลัดมะยมจะอยู่บนถนนบางระมาด ซึ่งเป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างถนน พุทธมนฑลสาย 1 และ ถนนกาญจนาภิเษก(ถ.วงแหวน) ปากทางทั้งสองฝั่งมีป้ายบอกทางไปตลาดน้ำคลองลัดมะยมอย่างชัดเจน บริเวณตลาดน้ำมีที่จอดรถหลายโซน

   ถ้ามาจากทางถนนบรมราชชนนีเลี้ยวเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 1 ให้สังเกตทางซ้ายมือจะผ่านโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ให้เลยโรงเรียนไปกลับรถใต้สะพานที่สอง โดยนับจากโรงเรียน พอกลับรถโผล่ออกมานิดเดียวจะเจอถนนบางระมาดอยู่ด้านซ้ายมือ เป็นถนนซอยเข้าตลาดน้ำคลองลัดมะยมอยู่ซ้ายมือพอดี มีป้ายใหญ่สีเขียวบอกทางลัดไปถนนกาจนาภิเษก และมีป้ายบอกทางว่าไปตลาดน้ำคลองลัดมะยม 800 เมตร คือเป็นเส้นทางเดียวกัน

ภาพจากgoogle โรงเรียนโพธิสารพิทยากร

เห็น 7-11 แล้วชะลอรถเตรียมยูเทิร์นใต้สะพานข้างหน้า

ก่อนถึงยูเทิร์นเป็นทางแยกซ้ายไปวัดประดู่ ให้เลยตรงไปกลับรถใต้สะพาน

   ถ้ามาจากทางถนนพุทธมณฑลสาย 1 ที่มาจากฝั่งบางแค ให้สังเกตว่าพอข้ามสะพานที่ข้ามถนนตัดใหม่(ที่ไปออกสามแยกไฟฉาย) แล้วข้างหน้าจะมีสะพานแรกอยู่ใกล้ๆเรียกว่าสะพานข้ามคลองบางพรหม พอลงสะพานก็เจอถนนบางระมาดอยู่ซ้ายมือ จะมีป้ายใหญ่สีเขียวบอกว่าเป็นทางลัดไปถนนกาญจนาภิเษกเลี้ยวให้ซ้ายเข้าไปเลย


ลงสะพานเจอทางแยกใกล้ๆทันที ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไป(ทางเดียวกันกับที่ต้องกลับรถมา)

   ถ้ามาจากฝั่งถนนกาญจนาภิเษก สังเกตทางเข้าตลาดน้ำคลองลัดมะยมจะอยู่ฝั่งตรงข้ามเป๊ะๆกับสมาคมชาวปักษ์ใต้ จะเป็นช่วงตีนสะพานลอยยูเทิร์น ตึกสมาคมชาวปักษ์ใต้จะคล้ายๆโดมแปลกกว่าตึกอื่น ปากทางมีป้ายบอกชื่อถนนบางระมาด บอกทางไปโรงเรียนโพธิสารพิทยากร และบอกทางไปตลาดน้ำคลองลัดมะยม

ทางเข้าฝั่งถ.กาจนาภิเษก เห็นสมาคมชาวปักษใต้อยู่ฝั่งตรงข้าม

   ความจริงแล้วถ้ารู้เส้นทางของฝั่งธนฯ ก็เป็นเส้นทางที่น่าขับรถเที่ยวซอกแซกไปตามเส้นทางเก่า ที่ผ่านไปตามบ้านเรือนผ่านวัดเก่าแก่มากมาย ทางไปตลาดนัดคลองลัดมะยมแบบซอกแซกไปเรื่อยๆนั้น สามารถเข้าทางถนนบางขุนนนท์ไปทางตลาดน้ำตลิ่งชันก็ได้ หรือจะใช้ทางซอยจรัล 35 ก็ได้ หรือจะเข้าทางซอยจรัล 13(ซ.พาณิชยการธนบุรี) ทั้งสามซอยนี้ความจริงต่อเชื่อมถึงกันได้ จะเป็นถนนซอยรุ่นเก่าของทางฝั่งธนบุรี ซึ่งคดเคี้ยวเลี้ยวลดไปเรื่อย จะแปลกตาสำหรับท่านที่ยังไม่เคยใช้เส้นทางเก่าของชาวฝั่งธนฯ

   ถ้าใช้เส้นทาง 3 ซอยนี้ ปัจจุบันภายในซอยมีป้ายบอกเส้นทางเป็นระยะ ในที่สุดก็จะไปออกถนนราชพฤกษ์ ต่อเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 1 แล้วจะถึงตลาดน้ำคลองลัดมะยมได้เอง แต่เดิมนั้นเส้นทางนี้คนฝั่งธนฯใช้เดินทางไปออกถึงพุทธมณฑลกันเลย แถมสมัยก่อนเส้นทางนี้ยังเป็นสวนร่มรื่นมาก 

   ในสามเส้นทางที่ซอกแซกนี้ ง่ายที่สุดคือเข้าทางซอยจรัล 35 เพราะวิ่งในซอยตลอดจนไปเจอถนนบางพรหมที่อยู่แยกซ้ายมือ ตรงแยกนี้จะเป็นถ.แก้วเงินทองกับถ.บางพรหม (ถ้าเข้ามาทางถ.บางขุนนนท์ก็จะมาจนถึงถ.แก้วเงินทองแล้วเลี้ยวเข้าถ.บางพรหมตรงแยกนี้) เข้าถนนบางพรหมไปโผล่ถนนราชพฤกษ์ก็เป็นช่วงลอดใต้สะพานยูเทิร์นแล้ว พอเลี้ยวยูเทิร์นออกมานิดเดียวก็เข้าซอยซึ่งก็เป็นถนนบางพรหมที่ถูกถนนราชพฤกษ์ตัดนั่นเอง จากถนนบางพรหมของช่วงนี้ต่อไปออกถนนพุทธมณฑลสาย 1 ถึงถนนพุทธมณฑลสาย 1 ก็พอดีเป็นช่วงยูเทิร์นใต้สะพานข้ามคลองบางพรหม ยูเทิร์นออกมาแล้วหน่อยเดียวมองทางซ้ายมือก็เจอถนนบางระมาดที่เป็นปากทางเข้าตลาดน้ำคลองลัดมะยม

   ถ้าไม่มีรถส่วนตัวก็ใช้บริการรถแท็กซี่ได้ เพราะในวันที่มีตลาดนัดนั้นจะมีรถแท็กซี่เข้าออกมาก หรือถ้าจะให้เด็ดจริงๆแบบบ้านๆ ก็ใช้บริการรถสองแถวแดงจากด้านหลังโรงพยาบาลศิริราชฝั่งวัดอมรินทร์คลองบางกอกน้อย เดิมต้นทางรถสองแถวตรงนี้คือท่าน้ำรถไฟนั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีท่ารถไฟแล้ว ถ้าจะมาขึ้นรถสองแถวก็ต้องนั่งเรือข้ามฝากจากท่าพระจันทร์ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อข้ามมาฝั่งศิริราชแล้วก็เดินเลี้ยวเข้าไปโรงพยาบาล เดินตามถนนเลียบแม่น้ำไปจนสุดทางก็จะเจอคิวรถสองแถวซึ่งมีหลายสาย เราต้องดูป้ายรถคันที่ไปปู่เถร(วัดปู่เถรปัจจุบันบันคือวัดตะเข้)สมาคมปักษ์ใต้

ด้านหลังโรงพยาบาลศิริราชภาพเก่าไปหน่อย ตอนนี้ตึกเสร็จแล้ว รถสองแถวแดงออกจากตึกมาทางนี้

รอสองแถวแดงสายปู่เถรสามคมชาวปักษ์ใต้ตรงใต้สะพานอรุณอมรินทร์ก็ได้


   หรือจะมาดักขึ้นรถสองแถวที่ในซอยบางขุนนนท์ก็ได้ รถสองแถวที่ไปตลาดน้ำคลองลัดมะยมจะต้องวิ่งเข้าถนนหรือซอยบางขุนนนท์อยู่แล้ว จะต้องเป็นรถสายที่ไปวัดปู่เถรและสมาคมปักษ์ใต้ จะมีป้ายติดไว้ที่รถชัดเจน ความเร็วรถสองแถวประมาณพอๆกับจักรยาน แต่รู้สึกว่าผู้เขียนขี่จักรยานจะเร็วกว่ารถสองแถวสายนี้อีก รถวิ่งเรื่อยเฉื่อยนั่งคุ้มค่ารถมากสำหรับคนใจเย็น ถ้าไม่กลัวเสียเวลาเดินทางด้วยวิธีนี้มากไปจนเวลาเที่ยวน้อยลง ก็ควรเดินทางแต่เช้า 

   การเดินทางไปตลาดน้ำคลองลัดมะยมที่ง่ายมากอีกทางหนึ่งก็คือ ให้เดินทางด้วยรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีบางหว้า หรือสุดทางที่ฝั่งธนบุรี แล้วเรียกแท๊กซี่ต่อไปตลาดน้ำคลองลัดมะยมได้เลย ค่าแท๊กซี่ไม่น่าเกิน 100 บาท ส่วนขากลับก็แค่รอรถสองแถวแดงที่วิ่งผ่านตลาดน้ำ นั่งรถสองแถวไปลงที่โรงพยาบาลศิริราชได้ หรือจะนั่งรถสองแถวที่ไปออกทางฝั่งถนนกาญจนาภิเษกเพื่อเรียกรถแท๊กซี่ได้ง่าย

   เท่าที่สังเกตเห็นเส้นทางบางขุนนนท์ไปถนนบางระมาดเข้าสู่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม จะมีผู้นิยมขับขี่จักรยานไปเที่ยวกัน และยังต่อจากตลาดน้ำไปเที่ยวถึงพุทธมณฑลได้ เพราะแต่เดิมเส้นทางสายนี้เป็นถนนเก่าวิ่งผ่านเข้าไปตามสวน สมัยก่อนยังไม่มีถนนพุทธมณฑลสาย 1 ไม่มีถนนวงแหวนมาตัดผ่า ผู้เขียนก็เคยใช้เส้นทางนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังมีแต่สวนร่มรื่น

   ถ้ามีเวลาและศึกษาเส้นทางมาก่อน การเข้าทางถนนบางขุนนนท์ยังมีอ๊อปชั่นให้แวะตลาดน้ำตลิ่งชัน ต่อด้วยตลาดน้ำคลองลัดมะยม และสุดท้ายยังไปตลาดน้ำวัดสะพานได้ ตลาดน้ำวัดสะพานนั้นอยู่ทางฝั่งถนนกาญจนาภิเษก

   การเดินทางอีกวิธีหนึ่งไปได้โดยไปลงเรือหางยาวที่ตลาดน้ำตลิ่งชัน ค่าเรือรู้สึกว่าเห็นป้ายบอกแว๊บๆว่า 90 บาท เป็นการลงเรือชมตลาดน้ำได้ถึง 3 แห่ง คือตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม และตลาดน้ำวัดสะพาน การเดินทางแบบนี้เหมาะกับคนไม่มีเวลา และดูตลาดแบบไม่ละเอียดนัก แต่ก็เพลินไปอีกแบบที่ได้สัมผัสชีวิตริมคลองยาวพอสมควร

ถึงแล้วตลาดติดกับที่จอดรถเลย

   เมื่อถึงตลาดน้ำคลองลัดมะยมก็จะรู้เองว่าใช่ที่นี่แน่ เพราะจะมีคนมาเที่ยวมากมีรถจอดเต็มไปหมด ขอแนะนำว่าถ้าเห็นมีที่จอดรถตรงไหนก็ตาม อย่าคิดว่าเดี๋ยวเดินไกล ให้รีบเข้าไปจอดทันทีอย่าเลือกที่มาก เดี๋ยวอาจต้องวนรถนาน เพราะที่นี่มีคนมาเที่ยวมากอย่างเหลือเชื่อ 

   แถวๆทางเข้าที่จอดรถจะเห็นมีที่ให้ซื้ออาหารเลี้ยงแพะแกะและกระบือ(ควาย)ด้วย


มีของขายติดที่จอดรถของโซนนี้เลย

   เริ่มเดินเที่ยวตลาดน้ำคลองลัดมะยมโดยจอดรถฝั่งไหนก็เที่ยวฝั่งนั้นก่อน ตลาดจะเดินต่อถึงกันได้ถ้ามีแรงเดิน ทีแรกผู้เขียนนึกว่าตลาดน้ำคลองลัดมะยมนี้คงเล็กๆ แต่ที่ไหนได้เดินจนขาลาก ตลาดดูไม่น่าที่จะใหญ่นัก แต่เพราะมีที่ให้เดินชมเดินชิมมากร้าน จึงเดินกันจนเมื่อยกันเป็นแถว ถ้าจะเที่ยวชมให้ละเอียดทุกซอกทุกมุม โดยเฉพาะชิมอาหารของที่นี่แล้ว รับรองว่ามาตลาดน้ำคลองลัดมะยมแค่ครั้งเดียวไม่พอแน่

ภาพโดยsihawatchara ทางเข้าตลาดน้ำคลองลัดมะยมด้านหนึ่ง มีดนตรีบรรเลงด้วย

   ทางเข้าตลาดน้ำคลองลัดมะยมจะมีหลักกิโลเมตรขนาดใหญ่ตั้งโชว์อยู่ เราเดินเข้าไปเที่ยวได้เลย ถ้าเดินมาจากที่จอดรถด้านไหนก็เข้าตลาดทางที่จอดรถด้านนั้น เพราะเดินเที่ยวไปเรื่อยๆก็ต้องวนไปวนมาทุกโซนอยู่ดี ถ้าจอดรถทางด้านร้านไอศกรีมโบราณ ก็ขอให้ทราบไว้เลยว่า นี่คือร้านของลุงชวนผู้ริเริ่มตลาดน้ำคลองลัดมะยม ไอศกรีมอร่อยมากควรที่จะต้องแวะชิม


ร้านขายสมุนไพร

   เริ่มเข้าตลาดก็จะพบว่ามีของขายหลายหลาก จะเป็นของที่ระลึกบ้างเครื่องประดับเล็กๆน้อยๆบ้าง มีไปจนถึงเสื้อผ้ารองเท้าเครื่องใช้ไม้สอยจุกจิกต่างๆ แบบตลาดสมัยก่อน ไฮไลท์ของตลาดน้ำคลองลัดมะยมก็คือของกิน ที่มีสารพัดตั้งแต่กินเล่นๆไปจนถึงกินกันอิ่มพุงกางกันเลยทีเดียว พืชผักผลไม้มีให้เลือกซื้ออยู่มาก


ร้านแถวที่จอดรถ
ภาพโดยsihawatchara ทางเข้าสวนเจียมตน และต่อไปที่อื่นได้

ภาพโดยsihawatchara ร้านขายของจุกจิกแบบสมัยก่อน

   ของที่ขายมีทั้งที่เป็นร้านค้าซึ่งจัดเป็นระเบียบเรียบร้อย และยังมีที่ชาวบ้านพายเรือมาขายถึงที่ พ่อค้าแม่ค้าที่นี่มีอัธยาศัยไมตรีจิตดีทั้งนั้น เดินชมบ้างซื้อบ้างถ่ายรูปบ้าง ไม่มีใครทำหน้าหงิกใส่เลย หาที่ซื้อไม่เจอก็ยังแนะนำบอกทางให้ด้วย

   เรื่องห้องสุขาไม่ต้องกังวล มีจัดไว้เป็นระยะๆ ไปใช้ห้องสุขาแล้วก็ช่วยกันรักษาความสะอาดให้มากๆด้วย เพราะชาวต่างชาติเขาก็มาใช้เหมือนกัน อย่าให้ต้องอายเขาในเรื่องความสะอาด



ภาพโดยsihawatchara ปั้นดินกันให้เห็น
ภาพโดยsihawatchara ตุ๊กตานี้ถ้าซื้อก็ขาย

   ที่ผู้เขียนแปลกใจและทึ่งก็คือ มีชาวต่างชาติมาเที่ยวที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมกันมากเหมือนกัน วันที่ผู้เขียนแวะไปเที่ยวนั้น เอาเฉพาะช่วงที่เดินก็ประมาณว่า พบฝรั่งมาเที่ยวร่วมสามร้อยคน ฝรั่งเขาพากันมาเที่ยวแบบไปรเวทสบายๆ ซื้ออาหารแล้วมานั่งรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า บางทีฝรั่งเขายังรู้จักที่เที่ยวในเมืองไทยมากกว่าคนไทยเสียอีก ฝรั่งที่มาเที่ยวต่างรักษาความสะอาดกันอย่างน่ายกย่อง รับประทานอาหารแล้วก็เก็บโต๊ะเช็ดโต๊ะเป็นอย่างดี แถมยังจัดเก้าอี้ให้เป็นระเบียบอีกด้วย น่าที่คนไทยเราจะหัดเอาอุปนิสัยแบบนี้ของฝรั่งมาใช้

ภาพโดย sihawatchara ฝรั่งมาเที่ยวตลาดน้ำคลองลัดมะยม

   ตลาดน้ำที่นี่ไม่ได้หมายความว่าเป็นตลาดที่มีแต่เรือพายมาขายของอยู่ริมคลองมากๆ แต่เป็นตลาดแบบตลาดริมน้ำ พื้นที่ขายสินค้าจะตั้งอยู่เรียงรายไปตามคลองลัดมะยม และแผ่เข้ามายังฝั่งสวนเดิม คือเป็นตลาดบกมากกว่า แต่ก็ยังมีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือมาขายของริมคลองอยู่พอสมควร เพราะวิถีชีวิตแถบนี้ยังมีวิถีชาวบ้านริมคลองแบบสมัยก่อนอยู่มาก แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าที่กรุงเทพมหานครนี้ ยังมีสภาพแวดล้อมที่ย้อนยุคแบบนี้เหลืออยู่


เข้าตลาดน้ำคลองลัดมะยมได้หลายช่อง จะต่อถึงกันได้

ขนมปังกรอบอบเนยที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมเจ้านี้อร่อยจริง

สวยๆทั้งนั้น
เดินตรงไปจะเจอคลองลัดมะยม

อาจนึกว่าสุดตลาดแล้วแต่ไม่ใช่ นี่มันเพิ่งเข้าตลาดน้ำริมคลอง

เห็นแล้วคลองลัดมะยม มีที่นั่งรับประทานอาหารเรียงไปตามริมคลอง
ขนมจีนน้ำยาน้ำพริกแกงไก่ หอมมากๆหอมสุดๆ

   เมื่อเห็นพ่อค้าแม่ค้าผู้สูงวัยพายเรือมาขายของ แล้วยังใส่งอบซึ่งเป็นหมวกแบบไทยแท้ดั้งเดิม ก็ทำให้ระลึกถึงอดีตครั้งวัยเด็กที่เห็นพ่อค้าแม่ค้าหาบของมาขายที่หน้าบ้าน ยุคนั้นพ่อค้าแม่ค้ายังใส่งอบกันเป็นธรรมดา จะเห็นงอบได้ทุกวัน โดยมากจะพ่อค้าแม่ค้าจะข้ามมาจากทางฝั่งธนบุรีเพราะเป็นฝั่งสวน ส้มสูกลูกไม้ผักหญ้าต่างๆนั้น แทบทั้งหมดเป็นของสวนทางฝั่งธนบุรี ในยุคนั้นจะรู้เลยว่าแม่ค้าคนนี้อยู่บางมดเพราะขายส้มเขียวหวาน แม่ค้าคนนี้อยู่บางขุนนนท์เพราะขายทุเรียน แม่ค้าคนนี้ต้องอยู่ตลาดพลูเพราะขายขนม ถ้ามังคุดกับส้มโอก็มักจะมาจากบางกอกน้อย แม่ค้าสมัยนั้นสวมงอบหาบของขายกันทั้งนั้น

คุณตาคุณยายมาขายของ
สองคนตายาย

   เท่าที่สังเกตเห็นพ่อค้าแม่ค้าหรือชาวบ้านที่มาขายของนั้น ถ้ามีงอบใส่จะเป็นชาวบ้านรุ่นเดอะเป็นส่วนใหญ่ ยังแต่งตัวแบบที่เห็นแล้วก็รู้ได้เลยว่าเป็นชาวสวนแน่ๆ ส่วนพ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่ๆก็แต่งตัวตามสบายแบบไปรเวทตามยุคสมัย

นี่แหละคือคลองลัดมะยม

นั่งรับประทานกันริมคลอง

ผักผลไม้ของชาวสวนมาเอง ใหม่สดทั้งนั้น

ลูกฟักข้าว สีสวยมาก


   อาหารการกินกับข้าวกับปลาที่มีขายที่ตลาดนัดคลองลัดมะยมนี้ พอเห็นแล้วมันได้บรรยากาศเก่าๆหวนคืนกลับมาไม่น้อย กับข้าวหรือขนมบางอย่างไม่เห็นมานานจนลืมไปแล้ว ก็มาเจอที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม อย่างเช่นปลาทูต้มเค็ม ปลาตะเพียนต้มเค็มที่เคยเห็นกันง่ายๆ แล้วก็ค่อยๆหายไปเพราะทำยากและคนที่รับประทานเป็นมีน้อยลง พอมาเห็นปลาทูกับปลาตะเพียนต้มเค็มของที่นี่ เห็นปุ๊บก็รู้ได้เลยว่า นี่มันสูตรโบราณชัดๆ เหมือนเปี๊ยบกับที่เคยรับประทานเมื่อห้าสิบปีก่อน(เอ..ทำไมมันนานอย่างนี้วะ)

ปลาตะเพียนต้มเค็ม แบบนี้กระดูกเปื่อยนุ่มไปเรียบร้อย

ปลาทูแบบนี้หักหัวทิ้ง มาแต่เนื้อๆ

   เดินดูกับข้าวที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมแล้วจะตาลายเอาง่ายๆ เพราะมันเยอะมากๆเยอะจริงๆ เยอะจนไม่มีปัญญาชิมให้ทั่ว จะซื้อให้มากๆก็ไม่มีปัญญาถือกลับบ้าน อาหารต่างๆทำกันเดี๋ยวนั้นเลย ผู้เขียนเดินผ่านร้านขายไก่ย่างแบบสมัยก่อน ที่เป็นไก่ย่างแบบแบนๆหนีบไม้ แค่เดินผ่านก็ต้องสะดุ้ง เพราะไม้ที่ใช้หนีบไก่ย่างซึ่งเอาไก่ออกแล้วนั้น ปรากฏว่ามีไม้หนีบเป็นกองพะเนินเทินทึก แสดงว่าต้องขายดีมากๆ

   กับข้าวแต่ละอย่างมีร้านขายซ้ำๆกันหลายเจ้า เท่าที่เขาให้ชิมดูก็ต้องขอบอกว่ารสชาติไม่ห่างกันเลย ซื้อร้านไหนก็ได้เอาที่เราสะดวกซื้อ ปลาเผาบางเจ้านั้นเห็นคิวที่รอแล้วต้องถอดใจเพราะคิวเยอะจัด ต้องเลี่ยงไปซื้อเจ้าที่อยู่ข้างในตลาดลึกๆหน่อย เพราะแบบนี้คนเดินไปไม่ทันถึงก็แวะซื้อเจ้าแรกๆก่อนแล้ว ถ้าอยากได้เร็วๆก็ต้องเดินเข้าไปตลาดชั้นใน ของเขาอร่อยเหมือนๆกัน

เดินรอดใต้สะพานไปอีกฝั่ง มุมนี้ให้ความรู้สึกว่าเรานี้ก็ตัวสูงมาก

   ผู้เขียนซื้อขนมหลายกล่องที่ตลาดชั้นในกะว่าจะเอาไปเป็นของฝาก ที่ไหนได้พอลองชิมแล้วปรากฏว่าเผลอรับประทานที่บ้านจนเกลี้ยงไม่มีเหลือไปฝากใครเลยสักกล่อง ทั้งๆที่ผู้เขียนเป็นคนไม่ชอบขนมยังเผลอฟาดเรียบ

   กุ้ง หอย ปู ปลา ที่นี่มีครบเครื่อง อาหารทะเลนี้ก็ซื้อกันง่ายๆได้ที่นี่เลย ซื้อแล้วขับรถไปเที่ยวที่อื่นต่อแล้วค่อยเอากับข้าวของที่นี่มารับประทานแบบไปปิ๊กนิ๊กได้สะดวกมากๆ สนนราคาเท่าที่สอบถามดูก็เป็นราคาที่คบกันได้

   อาหารการกินคาวหวานมีสารพัด น้ำพริกแปลกๆก็มีให้เลือกซื้อจนแทบเลือกไม่ถูก มีให้ชิมจนพอใจแล้วค่อยซื้อ ขนมไทยจีนแขกฝรั่งมีครบ น้ำผลไม้ชนิดที่หาดื่มได้ยากทีนีก็มีหลายอย่างเช่น น้ำลูกฟักข้าวที่หายากมาก ที่นี่ก็มีเพราะยังมีสวนปลูกลูกฟักข้าวอยู่แถวๆนี้

จะมีเรือมาขายของเป็นระยะๆ เห็นขายหมดทั้งนั้น เรือบางลำมีเครื่องท้ายด้วย

ตรงที่ให้เลี้ยงปลา มีอาหารปลาขายอยู่ใกล้ๆราคาถูก

   ผลไม้และผักนี้จะได้อารมณ์คนซื้อว่าสดมากๆ เพราะชาวสวนพายเรือมาขายกันเอง มีคนแวะซื้อผักผลไม้กันเยอะ ขนาดว่าเราเดินมาเห็นแล้วเล็งเอาไว้ว่าเดี๋ยวขากลับจะแวะมาซื้อ ปรากฏว่าพอเดินกลับมาของขายหมดไปแล้วก็มี

   ถ้าจะรับประทานอาหารที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมก็สะดวกพอสมควร มีโต๊ะเก้าอี้จัดบริการไว้เป็นจำนวนมาก แต่ก็มักมีคนนั่งเต็มตลอด ข้อนี้ไม่ต้องตกใจเพราะคนที่มาเที่ยวตลาดน้ำต่างก็รู้หน้าที่ คือส่วนใหญ่จะรับประทานเสร็จแล้วจะรีบลุกจากที่นั่งทันที จะทำความสะอาดให้เท่าที่จะทำได้ พวกที่นั่งแช่ไม่ยอมลุกก็มีบ้าง แบบนี้จะเป็นพวกมนุษย์ป้าซึ่งมีแทรกซึมอยู่ในทุกวงการอยู่แล้ว

ตลาดน้ำคลองลัดมะยมคนแน่นจริง

ดูสิ มีของขายเพียบ

ทั้งฝรั่งทั้งไทยเดินเที่ยวกันแบบแฮปปี้

    การเดินเที่ยวตลาดน้ำคลองลัดมะยมหนีไม่พ้นเรื่องเมื่อยขา เหตุเพราะมีของให้เลือกซื้อมาก ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่ไม่ต้องออกแรงเดินเองแต่ตัวไหลไปได้ด้วยนั้น จะยิ่งทำให้เราเมื่อยสุดๆ ข้อนี้จึงพอเป็นเหตุผลให้อภัยท่านที่ชอบนั่งแช่นั่งรากงอก เพราะอาจหมดแรงเดินจริงๆ

กับข้าวปิ้งย่างทอดแบบนี้มีหลายเจ้าเหมือนๆกัน

ลูกชุบเจ้านี้มีวุ้นเคลือบมาด้วย

รูปนี้ขอสารภาพว่า ความจริงจะถ่ายรูปน้องเสื้อดำกางเกงยีนส์เพื่อเป็นต้นแบบแม่นางกวัก

   ท่านที่อยากสัมผัสอารมณ์แบบชีวิตชาวสวนริมคลอง ก็มีบริการนั่งเรือชมลำคลอง ค่าบริการคนละ 20 บาท ระยะเวลาไปกลับราวๆเกือบ45นาที  จะเป็นเรือพายแบบหนึ่งแรงคน เรือลำหนึ่งรองรับได้ไม่เกินสิบคน เท่าที่เห็นเขาจะรับแค่ประมาณแปดคนนั่งกันสบายๆ

   ท่าลงเรือพายอยู่ริมคลองลัดมะยมบริเวณที่มีโต๊ะเก้าอี้นั่งรับประทานอาหารนั่นเอง จะมีคนนั่งรอคิวลงเรืออยู่ไม่ขาด เรือที่มารับก็เป็นเรือของชาวบ้านแถวๆนั้น เรือจะพาเราชมชีวิตริมคลองไปตามคลองลัดมะยม ออกไปถึงคลองบางพรหมผ่านสี่แยกศาลแม่โพสพเก่าแก่ แล้วแวะเข้าไปในสวนบัวซึ่งก็แล้วแต่โอกาสว่าจะมีบัวมากน้อยวัดดวงเอา จากนั้นจึงย้อนกลับทางเดิม ระยะทางที่นั่งเรือไปกลับนี้กำลังดีไม่มากไม่น้อย เพราะการนั่งเรือสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยนั้น ขอบอกว่าถ้านั่งนานแล้วเมื่อยชะมัด

ตรงที่น้องกางเกงขาสั้นขวามือ เป็นทางลงเรือพายชมคลอง

   ตอนที่เรานั่งเรือนั้นสามารถสอบถามพูดคุยกับคุณลุงคุณป้าที่พายเรือ รับรองว่าจะได้ยินเรื่องชีวิตชาวสวนริมคลองมาประดับสติปัญญา ขนาดต้นไม้ใบหญ้าตามบ้านริมคลองที่เราผ่าน รับรองว่าต้องมีที่เราไม่รู้จักชื่อรวมอยู่ด้วยทุกคน บางอย่างยังไม่เคยเห็นอีกด้วย

   เรือลำที่ผู้เขียนใช้บริการเป็นเรือของลุงหนู ลุงหนูแกเล่าประวัติของคลองแถบนี้ให้ฟัง และประวัติการจัดตั้งตลาดน้ำคลองลัดมะยม ทั้งลุงหนูยังพายเรือไปพร้อมชี้ให้ดูไม้ดอกไม้ยืนต้นต่างๆ ที่ผู้เขียนและท่านที่ร่วมทางในเรือต่างไม่รู้จักเลย ทำให้เราอดแปลกใจตัวเองไม่ได้ว่า ของใกล้ตัวแค่นี้ทำไมเราถึงไม่รู้

ลุงหนู เรือพายหนึ่งแรงคน

   ตอนที่นั่งเรือนั้นถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ยังไม่ได้เข้าไปในสวนลึกๆ เพียงแค่นี้ก็ยังได้อารมณ์ของความสงบแบบวิถีชาวบ้านริมคลองดั้งเดิม เท่าที่สังเกตเห็นก็พบว่า ทุกท่านที่มานั่งเรือชมลำคลองต่างมีอารมณ์ผ่อนคลาย และรับรู้ได้ถึงความสงบร่มรื่นของสวนฝั่งธนฯ หลายๆท่านรวมทั้งผู้เขียนนี้รู้สึกเหมือนนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปครั้งวัยเด็ก ที่อารมณ์สงบร่มรื่นแบบนี้ยังมีมาก แทบไม่น่าเชื่อว่าที่กรุงเทพมหานครยังมีสถานที่แบบนี้หลงเหลืออยู่ แถมยังอยู่ไม่ไกลอีกด้วย

เริ่มชมคลองก็มีเรือสวนกลับมาพอดี

ลุงหนูบอกว่าเริ่มมีเรือหางยาวเข้ามาแล้ว

ในคลองมีทางแยกด้วย
แยกนี้มีศาลแม่โพสพ

ศาลแม่โพสพนี้เคยบูรณะขึ้นมาใหม่แต่ก็นานมาแล้ว

ตรงนี้เป็นคลองบางพรหม จะไปออกที่คลองชักพระ

ด้านหลังลุงหนูเป็นคลองบางพรหมฝั่งที่ไปออกคลองทวีวัฒนา

ชาวบ้านแถวนี้ยังรับไปรษณียทางน้ำ

ลืมชื่อว่าต้นอะไรไปแล้ว



จะมีบัวเป็นระยะๆแล้วแต่ช่วงที่บัวติดดอก
สระบัวแต่เป็นช่วงที่เขาเก็บดอกบัวไปแล้ว

ดอกบัวริมตลิ่ง

บัวน้อยลอยชูช่ออรชร

น้ำกลิ้งบนใบบัว

ช่วงนี้ลัดเลาะไปข้างๆบ้านคน เจอสาวพม่าสวยมาก

มีคนชมคลองอยู่เรื่อยๆ

เหลืองๆนี่น้ำเต้าทอง ม่วงๆนี่ลืมแล้ว

เริ่มกลับเข้าคลองลัดมะยม

นั่งเรือยังเจอฝรั่ง
คลองซอยเล็กๆดูร่มรื่น เขาว่าเดินเข้าไปเที่ยวสวนได้

คลองลัดมะยมมองจากมุมสูงหน่อย
ขึ้นไปยืนถ่ายรูปมุมสูงบนสะพานนี้แหละ

คู่นี้ขายกุ้งเผา ขายดีมาก


ส่วนใหญ่พอชมคลองแล้วก็กลับมานั่งรับประทานต่ออีกครั้ง
  หลายๆท่านขึ้นจากเรือแล้วก็ยังแวะซื้อของแวะนั่งรับประทานอาหารกันอีก บางคนหอบของกันพะรุงพะรังเพราะมีของให้ซื้อมากจริงๆ ซึ่งถ้าเรามีกำลังซื้อก็ควรช่วยซื้อสินค้าของชาวบ้าน ซื้อกันคนละเล็กคนละน้อยก็ยังดี ชาวบ้านที่รวมตัวกันมาขายของที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมจะได้มีกำลังใจทำตลาดต่อไป

ผู้เขียนจบทริปนี้ด้วยการซื้อโอเลี้ยงดื่ม เขาต้มโอเลี้ยงกันเป็นกา รสชาติสุดยอด

     ตลาดน้ำคลองลัดมะยมนี้ต้องขอเรียนให้ทราบว่า ไม่ใช่แค่ควรไปเที่ยว ที่จริงแล้วต้องใช้คำว่าต้องไปเที่ยว ต้องไปเที่ยวตลาดน้ำคลองลัดมะยมให้ได้   

ภาพชุดตลาดน้ำคลองลัดมะยมอนุญาตให้นำไปใช้ได้ ผู้เขียนขี้เกียจพิมพ์ชื่อบอกไว้ให้ครบทุกภาพ ส่วนภาพคลองเก่าลืมชื่อแหล่งที่มา เป็นภาพในอินเตอร์เน็ต ขออนุญาตท่านเจ้าของภาพไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ