วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ปัดฝุ่นเรื่องเก่าไทย.24 ยันต์สลักเกล้า




ยันต์สลักเกล้า

  ตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าผู้เขียนมีอายุถึงวัยหลังเกษียณ  ก็เกิดอารมณ์อย่างหนึ่งขึ้นแบบที่ไม่เคยเป็นถึงขนาดนี้ คือ อารมณ์ระลึกอดีต...ก่อนที่จะแซยิดนั้นถึงจะระลึกอดีตก็แค่เป็นครั้งคราว พอแซยิดเป็นต้นมา...แมร่ง ระลึกอดีตอยู่เรื่อย ระลึกแล้วบางทียังสะดุ้งว่า กรูเคยทำแบบนั้นไปได้ไงวะ

  การระลึกอดีตบ่อยๆก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย เช่น สาวๆ(ในยุคนั้น)ที่เราลืมเธอไปนาน ก็นึกขึ้นมาได้ว่าเคยสนิทกันอย่างไร แล้วพลัดพรากอย่างไร แม้แต่หลายๆเหตุการณ์ที่เคยไปกราบพระอาจารย์ด้วยกันซึ่งเราเลือนๆไปแล้ว พอระลึกถึงเธอๆๆ ก็ทำให้นึกออกว่าวันนั้นได้คุยกับหลวงปู่หลวงพ่อพระอาจารย์เรื่องใดบ้าง

  ข้าพเจ้าระลึกอดีตที่พาแฟนซึ่งก็คือภรรเมียในปัจจุบันไปกราบหลวงพ่อพรหมวัดขนอนเหนือ หลวงพ่อท่านทักว่า.. “อ้าว...มึงพาสาวคนใหม่มาอีกแล้ว ไม่ใช่สาวคนเดิมนี่หว่า”...แล้วหลวงพ่อก็หัวเราะหึๆๆเมื่อเห็นแฟนข้าพเจ้าหน้าจ๋อย ท่านหัวเราะพูดว่า... “กูล้อเล่น ไอ้นี่มันชอบมาคนเดียวมาถามโน่นนี่กับกูอยู่เรื่อย”

  หวนระลึกไปถึงครั้งเรียนประถมปลาย ทางโรงเรียนพาไปทัศนศึกษาที่หอสมุดแห่งชาติ ก็นานถึงห้าสิบกว่าปีนิดๆ ระลึกอดีตตรงนี้แล้วนึกได้ถึงเพื่อนหญิงที่ลืมเธอไปแล้ว ครั้งนั้นคุณครูแยกกลุ่มนักเรียนให้ค้นหนังสือทำรายงาน ข้าพเจ้าคู่กับเพื่อนหญิงที่เราลืมเธอไปแล้ว มานึกได้ก็ตอนระลึกอดีตการไปหอสมุดแห่งชาติเป็นครั้งแรกนี่เอง จำได้ว่าช่วยกันค้นระเบียนรายชิ่อหนังสือ ซึ่งสมัยนั้นเป็นลิ้นชักเล็กๆยาวติดกันเป็นแผง ต้องไปค้นหาชื่อหนังสือ จะเจอเลขรหัสของโซนและชั้นวางหนังสือ  เราเรียกลิ้นชักที่มีรายชื่อหนังสือว่า “เก๊ะรายชื่อหนังสือ”

  หลังจากนั้น ข้าพเจ้าชอบไปอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ อ่านหนังสือหลายหลาก จนกระทั่งในกาลต่อมา ก็เริ่มรู้จักค้นหายืมตำราสมุดข่อยมาดู ดูโหราศาสตร์ วิทยาคม ภาพวาดจิตรกรรม

  เมื่อเรียนชั้นมัธยมก็ทำบัตรหอสมุดแห่งชาติ แล้วไปหาหนังสืออ่านเล่น จนกระทั่งเรียนช่างกลก็ยังไปค้นหนังสืออ่านเหมือนเดิม จนกระทั่งไปค้นตำรับตำราสมุดไทยสมุดข่อยปั๊บสา เรื่องนี้มีขั้นตอนการขอดูหนังสือด้วย ไม่ใช่ว่าเดินทะเล่อทะล่าเข้าไปค้น...และแล้ว ข้าพเจ้าได้เห็นตำราเก่ามากมาย หลายเล่มมียันต์รูปภาพสวยๆก็จดและจำเอามา มียันต์หนึ่งซึ่งจำได้แม่นชื่อว่า ยันต์สลักเกล้า ในตำราเขียนชื่อยันต์เป็นตัวอักษรขอมซึ่งถอดเป็นอักษรไทยว่า ยันสลักเกลา อ่านว่า ยันต์สลักเกล้า

  ยันต์สลักเกล้านี้ข้าพเจ้ายังได้เห็นสำเนาอื่นจากที่หอสมุดและจากพระอาจารย์ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังได้เคยสอบทานจากพระอาจารย์ทางแถบเพชรบุรี พบว่าเป็นยันต์เดียวกันแต่มีการคัดลอกจดจำต่างกันบ้างนิดๆหน่อยๆ ส่วนมากหลวงปู่หลวงพ่อมักจะเรียกว่า หนุมานถวายแหวน หนุมานสะกดทศกัณฐ์ หนุมานสลักเกสา หนุมาณปราบลงกา และ สลักเกล้า ข้าพเจ้าเห็นและได้ยินมาเช่นนี้

   ตำราที่ท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ได้จัดพิมพ์นั้น ในฉบับหนึ่งก็มียันต์ สลักเกล้า ซึ่งเป็นยันต์ในชุดตำรับวัดประดู่ทรงธรรม อยุธยา ท่านอาจารย์เทพย์เล่าไว้เองในคำนำว่า การจัดพิมพ์ตำรานั้นครั้งแรกเริ่มมาจากท่านเจ้าคุณศรีฯสนธิ์วัดสุทัศนฯ ประสงค์จะรวบรวมตำราเพื่ออนุรักษ์เผยแพร่ โดยท่านอาจารย์เทพย์รับหน้าที่จัดพิมพ์ให้สำเร็จ ทั้งท่านยังช่วยหาตำราสำนวนอื่นมาสอบทานกับตำราเดิมของท่านเจ้าคุณฯศรี ตำราก็จัดพิมพ์เป็นชุดต่อๆมา เรื่องนี้ในปัจจุบันคนไม่ค่อยรู้ เพราะไม่อ่านคำนำกันสักเท่าไร ก็แปลกดี

  ในตำราเล่มที่มีตำรับวัดประดู่ฯ มียันต์สลักเกล้ารวมอยู่ด้วย โดยสะกดคำอ่านว่า ยันต์ ยมสลักเกลา ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ท่านอาจารย์เทพอาจจะเห็นตำรับสำเนาหนึ่งที่เขียนอักษรขอมคลาดเคลื่อนไปนิด และเขียนในสไตล์ขอมไทย ซึ่งข้าพเจ้าก็เคยเห็นแบบนี้เหมือนกัน คือ เขียนตัวขอมเป็น ยะ มีตีนอักษรใต้ตัวยะเป็น มะ เขียนแบบนี้จะอ่านว่า ยม หรืออ่าน ยัม ซึ่งมีตำราเล่มอื่นที่เขียนเป็นตัว ยะ และมีตีนอักษรเป็น น ท่านอาจารย์เทพย์ท่านคงยึดตามตำราเล่มที่เห็น คือยึดตามหลักฐานชั้นต้นไปก่อน

  จากยม บ้างก็อ่านเป็นยัมแบบไม่ใส่ไม้หันอากาศ ซึ่งในการเขียนขอมไทยก็มีเขียนแบบใส่วรรณยุกต์บ้างไม่ใส่บ้าง เคยพบว่าเขียนแบบนี้จริงๆ ส่วนที่เขียนเป็น ยะ และมีตีนเป็น น แบบนี้ชัดๆเลยว่า อ่านว่า ยัน ก็คือ ยันต์ นั่นเอง คำถัดไปเป็น เกลา อ่าน เก-ลา  หรือ เกลา ในขอมไทยมีทั้งใส่วรรณยุกต์และไม่ใส่ เวลาอ่านถึงกับต้องเดาเอาก็มาก ดังนั้นคำว่า เกลา จึงอ่าน เกล้า รวมเป็นชื่อว่า ยันต์สลักเกล้า

การเขียนชื่อยันต์สลักเกล้าที่เคยพบ

  คำว่ายันต์สลักเกล้า ยันต์ยมสลักเกลา กลับไม่ค่อยมีการเรียก แต่ไปปรากฏชื่อโดยทั่วไปอย่างแพร่หลายว่า ยันต์ไมยราพสะกดทัพ ข้าพเจ้าเองก็ได้ยินแบบนี้มาตั้งแต่ครั้งวัยรุ่น(แหม ก็ตั้ง 50กว่าปีก่อนแน่ะ) ในวงการพระเครื่องจะเรียกชื่อยันต์ไมยราพสะกดทัพกันอย่างแพร่หลาย ทั้งยังยกย่องว่าเป็นยันต์ชั้นสุดยอดยันต์หนึ่ง ที่ดังสุดนิยมสุดก็เป็นของหลวงพ่อกุนวัดพระนอน จ.เพชรบุรี

หลวงพ่อกุนวัดพระนอน


  เคยเห็นด้านในของตะกรุดหลวงพ่อกุน มีที่ลงยันต์เป็นรูปหนุมาน ทศกัณฐ์ นางมณโฑ ตามแบบที่เคยเห็นในตำราจริงๆ ต่อมาได้ดูอีกหลายดอกจากเจ้าของที่เป็นคนเมืองเพชร มีแปลกจนสะดุ้งว่า ภายในไม่เห็นรูปอะไรเลย แต่เห็นเป็นรอยเส้นๆยึกยักไปมา ตะกรุดเก่าสุดๆและแท้แน่นอน

  ตะกรุดสลักเกล้าหรือไมยราพสะกดทัพหลวงพ่อกุนตามที่วงการพระเรียก ยังได้เคยเห็นตะกรุดดอกที่เป็นของทางตระกูลเพื่อนคนเมืองเพชรสมัยเรียนช่างกล บรรพบุรุษรับมาทันยุคหลวงพ่อกุนและไม่เคยเปลี่ยนมือ ใช้จนตะกรุดชำรุดกรอบแกรบๆ เลยแกะออกมาดู ก็พบว่าเป็นรอยเส้นยึกยักๆ แต่พอจะมองออกว่ามีร่องรอยของรูปภาพ พอนึกๆเรื่องนี้ดู ก็เข้ากับคำบอกเล่าของคนเมืองเพชรรุ่นเก่าว่า หลวงพ่อกุนท่านลงยันต์แล้วเอาหินขัดๆแผ่นยันต์ให้เส้นยันต์หายไป แล้วจึงลงยันต์ซ้ำลงไปอีก ซึ่งก็คือการลงยันต์แบบที่เรียกว่า ลบถม นั่นเอง                   

ยันต์ของ ล.พ.กุน ภาพจากอินเทอเน็ต หาต้นทางไม่เจอ

  พระอาจารย์และคนเก่าๆทาง จ.เพชรบุรีเล่าว่า หลวงพ่อกุนท่านลงยันต์แล้วลบถมเพื่อลงยันต์ซ้ำ บางทีไปลงยันต์ตามป่าช้า เมื่อเสกตามตำรับแล้วขลังดีนัก ตะกรุดมีทั้งที่ลงยันต์ด้านหน้าและด้านหลัง ที่ไม่ลงยันต์ด้านหลังก็มี แต่ถึงจะไม่มียันต์ด้านหลัง ตะกรุดหลวงพ่อกุนก็ขลัง

  ข้าพเจ้าสงสัยมาโดยตลอดว่า ทำไมวงการพระเครื่องถึงเรียกตะกรุดนี้ว่าตะกรุดไมยราพสะกดทัพ มิหนำซ้ำยังเป็นที่จำกันเรื่องตะกรุดนี้ว่า ตะกรุดไมยรพสะกดทัพหลวงพ่อกุนวัดพระนอน เมื่อสอบถามหลวงปู่หลวงพ่อที่รู้จักท่านก็ไม่ได้เรียกแบบนี้ แต่ท่านเรียก หนุมานถวายแหวน หนุมาณปราบลงกา หนุมาณสะกดทศกัณฐ์ หนุมาณสลักเกล้า สลักเกล้า แต่ในตำราหลายสำนวนที่พบนั้น อ่านชื่อได้ว่า ยันต์สลักเกล้า

  มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ หลวงปู่หลวงพ่อท่านอธิบายคุณวิเศษของยันต์นี้ว่า หนุมาณสะกดทศกัณฐ์นางมณโฑ ก็เหมือนไมยราพสะกดทัพลักเอาพระรามไปบาดาล ท่านอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ไม่ทราบว่าเพราะแบบนี้หรือไม่ ที่ไปๆมาๆคนที่ได้ยินเลยมีเรียกเป็นชื่อยันต์ไมยราพสะกดทัพ

  ยันต์สลักเกล้าจะเป็นรูปภาพเหตุการณ์ตอนที่กำแหงหนุมาณเข้าไปในกรุงลงกาเพื่อตามหานางสีดา โดยที่หนุมาณสะกดยักษ์ที่อยู่ในวังให้หลับ แล้วเดินเข้าไปดูตามห้องต่างๆ จากรูปยันต์มีทศกัณฐ์กับนางมณโฑนอนหลับ ที่มวยผมของทั้งคู่ถูกหนุมานมัดเข้าด้วยกัน และมีรูปหนุมานยืนอยู่ทางด้านข้าง มือหนึ่งถือพระขรรค์อีกมือถือแหวน คือแสดงอาการถวายแหวนให้นางสีดานั่นเอง

ภาพสมุดต้นฉบับ


  ยันต์สลักเกล้าที่ปรากฏในสำนวนต่างๆนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นฉบับที่เหมือยกันเป๊ะๆถึง 100% ทุกฉบับจะมีอักขระและตัวเลขต่างกันไปบ้าง ที่พบว่าต่างกันแบบแปลกไปอีก จะเป็นรูปภาพของยันต์ เคยเห็นในสมุดข่อยวาดรูปหนุมานถือจักรอันเบ้อเร่อ

  รูปยันต์ด้านหน้าพบว่ามีแปลกไปบ้าง คือ รูปทศกัณฐ์กับนางมณโฑนั้น มีทั้งแบบที่นอนหลับเอามือกอดกันเฉยๆ และมีแบบที่ทศกัณฐ์จับหน้าอกนางมณโฑ ก็คือจับนมนางมณโฑนั่นเอง ข้อนี้ตรงตามที่คนเก่าๆท่านเล่าขำๆว่า “นางมณโฑนมโตข้างเดียว” เพราะรูปทศกัณฐ์นางมณโฑมักวาดเป็นทศกัณฐ์ชอบจับนมข้างหนึ่งของนางมณโฑ นมเลยบวมโตอยู่ข้างเดียว

  ส่วนรูปหนุมานก็มีแปลกออกไป ตามต้นฉบับเป็นเหตุการณ์ที่หนุมาณบุกกรุงลงกาเพื่อค้นหานางสีดา เมื่อพบนางสีดาแล้ว เพื่อยืนยันตัวตนว่าหนุมาณเป็นพวกพระรามจริงๆ จึงถวายแหวนของพระรามให้นางสีดาดูเป็นหลักฐาน จากยันต์สลักเกล้าหลายสำเนาข้าพเจ้าพบว่า รูปหนุมาณมีทั้งถือแหวน ถือกงจักร ถือพวงมาลัย

  รูปยันต์ด้านหลังซึ่งมีบ้างไม่มีบ้าง จะเป็นรูปส่วนศีรษะของทศกัณฐ์นางมณโฑ และมัดมวยผมเข้าด้วยกันเป็นเกลียว การที่มัดมวยผมเข้าด้วยกันนี้ ก็คือการสลักเกล้านั่นเอง

 
แผ่นยันต์สลักเกล้าด้านหน้า

  ในปัจจุบันมักจะรับรู้กันว่ายันต์สลักเกล้าคือยันต์ไมยราพสะกดทัพ ทั้งๆที่ยันต์ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับท่านพญายักษ์ไมยราพเลย ท่านพญายักษ์ไมยราพนั้นสะกดคนด้วยยารม โดยเอาเครื่องยาใส่ในกล้องแบบกล้องสูบฝิ่น แล้วเป่าควันเครื่องยาไปรมมนุษย์ลิงยักษ์ให้หลับ ส่วนหนุมานสะกดกรุงลงกาด้วยมนต์ล้วนๆ

  ยันต์นี้ไปดังที่ จ.เพชรบุรี เหตุเพราะหลวงพ่อกุนวัดพระนอนท่านเสกปลุกมอบให้ศิษย์มีประสบการณ์สุดขลัง ทั้งท่านยังเป็นพระอาจารย์ยุคเก่า ท่านสร้างตะกรุดนี้ไว้จนเหมือนเป็นวัตถุมงคลหลักของท่าน มีชื่อเสียงร่ำลือมาจนถึงปัจจุบัน

  พระอาจารย์ทางเมืองเพชรที่ยังมีตะกรุดสลักเกล้าให้ทันได้เห็นก็มีหลวงพ่อแลวัดพระทรง เคยกราบเรียนสอบถามท่าน ท่านก็เล่าให้ฟัง มาทราบภายหลังว่าในบั้นปลายท่าน ท่านมีทำออกมาบ้าง แต่ข้าพเจ้าตามเก็บไม่มัน มัวชะร่าใจไปหน่อย

                            ยันต์สลักเกล้าของหลวงพ่อแลวัดพระทรง ภาพจากอินเทอเน็ต

ความลับของยันต์สลักเกล้า

  ยันต์สลักเกล้าเป็นยันต์ตำรับวัดประดู่ทรงธรรม กรุงเก่า มีการคัดลอกออกไปโดยศิษย์ตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อคัดลอกเปลี่ยนจากรุ่นสู่รุ่น ก็ย่อมต้องมีที่คลาดเคลื่อนกันไปบ้าง บางกรณีเราเห็นยันต์จากสำนวนหนึ่ง แล้วไปเห็นอีกสำนวนหนึ่งที่ต่างกัน เรานึกว่าคลาดเคลื่อน แต่บางทีนั่นคือความลับ เพราะเป็นเรื่องของการเน้นการใช้ให้เด่นไปในทางใดทางหนึ่ง เรื่องนี้ข้าพเจ้าเองเคยเข้าใจผิดมาแล้ว นั่นคือ เข้าใจผิดตรงที่หนุมานคือ มีทั้งหนุมาณถือ แหวน จักร พวงมาลัย เข้าใจผิดไปว่า ตำราเขียนผิด แต่พอนึกถึงตำรับนั้นๆที่มีคาถาเสกแปลกออกไป จึงรู้ว่าที่แท้นี่คือความลับที่เน้นเสกด้านนั้นๆนี่เอง เช่น มีแหวนเพิ่มเจรจามหาอำนาจ จักรเพิ่มมหาปราบ พวงมาลัยเพิ่มมหานิยมมหาเสน่ห์

แผ่นยันต์สลักเกล้าด้านหลัง

 นอกจากนี้ยังมีการแยกใช้ยันต์ด้านหน้าใช้ทางคุ้มครองป้องกันภัย คาถาที่เสกเน้นทางอำนาจ คงกระพัน จังงัง สะกด และแยกใช้เฉพาะยันต์ด้านหลังเป็นมหานิยมมหาเสน่ห์ คาถาที่เสกก็เป็นคาถามหานิยมมหาเสน่ห์ เรียกจิต

  ถ้าสรุปโดยรวมถึงคุณวิเศษของยันต์สลักเกล้า ก็ประมาณว่า คุ้มครองป้องกันภัย ป้องกันและล้างคุณไสยอาถรรพ์ ทั้งยังอยู่ยงคงกระพัน สะกดให้เคลิ้มเผลอไผล ส่วนเรื่องการสะกดคนให้หลับไหลนั้น แบบนี้มันระดับผู้มีวิทยาคมประกอบแล้ว

เรื่องจากความทรงจำที่เคยเห็นจากสมุดข่อยต่างๆ ,จากการสอบถามพระอาจารย์

ภาพ ล.พ.กุนและยันต์ จากอินเทอเน็ตแต่หาต้นทางไม่เจอ

ภาพแผ่นยันต์ ภาพสมุดต้นฉบับเป็นของข้าพเจ้าเอง