หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม
จังหวัดสมุทรสงครามหรือเรียกกันง่ายๆว่าแม่กลอง เป็นจังหวัดชายทะเลที่ใกล้ๆกรุุงเทพมหานคร ใช้เวลาขับรถแบบสบายๆไม่เร่งแค่ไม่เกินสองชั่วโมงหรือกว่านิดหน่อยก็ถึงแล้ว นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เดินทางไปมาได้สะดวกมาก ที่สมุทรสงครามมีทั้งอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะปลาทูนี้ถือกันว่า ที่สุดของปลาทูต้องเป็นปลาทูแม่กลอง
ที่จังหวัดสมุทรสงครามนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพศรัทธาไปทั่วประเทศ พระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก ประมาณว่าเท่าคนธรรมดาๆยืน แต่มีประชาชนนับถือกันมาก พระพุทธรูปองค์นี้ประชาชนต่างเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
ภาพจากgagto.com |
พุทธลักษณะและขนาดของหลวงพ่อวัดบ้านแหลม
หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยาหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางอุ้มบาตร(ปางประจำวันพุธ) มีขนาดสูงแต่ปลายนิ้วพระบาทถึงยอดพระเกศมาลา 167 ซ.ม. พระเศียรนั้นไม่สวมเทริดชฏา พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิงแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สังฆาฏิพาดยาวลงมาถึงพระชงฆ์ จีวรไม่มีลายเป็นดอกดวง โดยจีวรทำแผ่เป็นแผ่นแผงอยู่เบื้องหลัง มีแฉกมุมแบบอยุธยา
ฐานพระบาทสูง 45 ซ.ม. ฐานรองพระบาทนั้นตอนบนทำเป็นรูปดอกบัวบานรองรับ ตอนล่างทำเป็นฐานหักมุม 12 มุม เป็นรูปฐานพระเจดีย์ ชั้นล่างสุดทำเป็นฐานเท้าสิงห์มีลวดลายสวยงามมาก ที่พระบาทไม่สวมฉลองพระบาทแบบพระพุทธรูปทรงเครื่องโดยทั่วไป พระหัตถ์เป็นคนละชิ้นกับพาหา ทำให้สามารถถอดออกได้
พุทธลักษณะเด่นเป็นพิเศษของหลวงพ่อวัดบ้านแหลม คือมีพระพักตร์งามเหมือนพระพักตร์เทพบุตร ถึงกับกล่าวกันว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีพระพักตร์เป็นเทวดานี่เอง
เทวดาจึงมาสิงสถิตรักษาองค์หลวงพ่ออยู่ให้เป็นพระศักดิ์สิทธิ์
หลวงพ่อวัดบ้านแหลมนี้ทรงเครื่องเต็มยศ คือสวมสายสะพายพาดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ
คาดรัดประคด ปักดิ้นเงินซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานถวายเป็นพุทธบูชา บาตรเป็นบาตรแก้วสีน้ำเงิน ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์
กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงประทานถวายหลวงพ่อไว้ในรัชกาลที่ 5
ปัจจุบันนี้ทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รัดประคตและบาตรแก้ว
ทางวัดเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ พระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลมนี้
ทางกรมศิลปากรได้จดทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุแห่งชาติแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496
ตำนานหลวงพ่อวัดบ้านแหลม
เล่ากันมาว่า
มีพระพุทธรูป 5 องค์ ลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ
เมื่อมาถึงภาคกลางก็ได้แยกย้ายกันไปประดิษฐานอยู่ตามจังหวัดต่างๆ รวม 5 จังหวัด
องค์แรก ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง พุทธศาสนิกชนได้อัญเชิญขึ้นจากแม่น้ำ ไปประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร
จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโสธร
องค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี พุทธศาสนิกชนอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดไร่ขิง
เมืองนครชัยศรี(อำเภอสามพราน) จังหวัดนครปฐม ได้ชื่อว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง
องค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาและได้ไปประดิษฐานที่วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม
อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโตบางพลี
องค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลองและได้ไปประดิษฐานที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
เมืองแม่กลอง ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
องค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรีและได้ไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา
จังหวัดเพชรบุรี ได้ชื่อว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเครา
ภาพจากwww.oknation.net |
ตำนานหลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกตำนานหนึ่งว่า ชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากอยู่ เมื่อประมาณปีพ.ศ.2307 ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง
วันหนึ่งได้มีชาวประมงไปลากอวนหาปลาที่ปากแม่น้ำแม่กลอง
และอวนได้ติดพระพุทธรูปขึ้นมาด้วยสององค์ โดยองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร แต่ตอนลากอวนนั้นไม่มีบาตรติดขึ้นมาด้วย คงจมอยู่ในทะเล ส่วนอีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย
ชาวบ้านจึงได้อาราธนาพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรมาประดิษฐานที่ วัดศรีจำปา
ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแม่กลอง
ส่วนพระพุทธรูปนั่งได้มอบให้ญาติพี่น้องนำไปประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา
จังหวัดเพชรบุรี
วัดศรีจำปานี้ภายหลังได้ชื่อว่าวัดบ้านแหลม
ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร
และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
แต่ประชาชนก็ยีงนิยมเรียกว่าวัดบ้านแหลม
เนื่องจากตอนที่พบหลวงพ่อวัดบ้านแหลมนั้น บาตรได้หายไปในน้ำ สมเด็จพระเจ้าบรมเธอกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช จึงได้ถวายบาตรแก้วสีน้ำเงินให้เป็นบาตรของหลวงพ่อวัดบ้านแหลม
ภาพจากdhammajak.net |
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลม
มิใช่เป็นที่เคารพกราบไหว้แต่เพียงชาวบ้านเท่านั้น
แม้แต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็ทรงศรัทธานับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่สมเด็จพระ ศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
(พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งทรงเป็นพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงศรัทธา
นับถือหลวงพ่อบ้านแหลมยิ่งนัก
ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งยังดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีถึงพระมหาสิทธิการ
(แดง) เจ้าอาวาสวัดบ้านแหลมในสมัยนั้น ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเรื่องหลวงพ่อวัดบ้านแหลมว่า
สวนจิตรลดา บริเวณสวนดุสิต กรุงเทพฯ
วันที่ 2 มิถุนายน ร.ศ. 124
นมัสการมายังท่านพระครูมหาสิทธิการทราบ
...ปีกลายนี้
สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จไปเมืองสมุทรสงครามในกระบวนหลวงได้รับสั่งให้
คนนำเครื่องสักการะไปถวายพ่อบ้านแหลม และได้รับสั่งตั้งแต่ครั้งนั้นว่าขอผลอานิสงส์ความทรงเลื่อมใสจงบันดาลให้หายประชวร
ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่นานก็หายประชวร จึงทรงระลึกถึงที่ได้ทรงตั้งสัตยาธิฐานไว้สมประสงค์
โปรดพระราชทานปัจจัยเป็นมูลค่า 800 บาท
มาเพื่อช่วยในการปฏิสังขรณ์วัดบ้านแหลม
ข้าพเจ้าได้สั่งมาให้ท่านพระครูทางกระทรวงธรรมการแล้ว
...วชิราวุธ
ในปัจจุบันนี้ประชาชนนิยมไปกราบนมัสการหลวงพ่อวัดบ้านแหลมกันมาก เรียกได้ว่าการไปเที่ยวที่แม่กลองนั้น หลักใหญ่คือไปกราบนมัสการหลวงพ่อวัดบ้านแหลม จากนั้นแล้วถึงได้ไปเป็นเรื่องกินเรื่องเที่ยวต่อไป ทางวัดบ้านแหลมได้จัดให้มีงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อบ้านแหลม
จัดให้มีขึ้นปีละ 3 ครั้ง คือ ในวันที่ 13 เดือนเมษายน ของทุกปี
ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทยและชาวรามัญ และครั้งที่ 2 งานสาร์ท เดือน 11
(ประมาณเดือนตุลาคม) และช่วงเทศกาลตรุษจีนโดยมีครั้งละ 7 วัน
การเดินทางไปวัดบ้านแหลม
1.ทางรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 คือ ถนนพระราม 2
(ถนนธนบุรี-ปากท่อ เดิม) ผ่านมหาชัยไปเรื่อยๆไปถึงหลัก กม.ที่ 63 ให้ชิดซ้าย ใช้ทางคู่ขนานต่างระดับ
เข้าตัวเมืองสมุทรสงครามถึงสี่แยกแรกตรงไปเข้าตัวตลาดถึงสี่แยกที่สอง
(แยกโรงพยาบาล สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า) เลี้ยวขวาและตรงไป ข้ามทางรถไฟ ขับไปอีกประมาณ
100 เมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือ (บริเวณพื้นที่ตรงข้ามกับวัดเป็นที่จอดรถได้)
2.รถประจำทาง
นั่งรถโดยสารที่สถานนีขนส่งสายใต้ใหม่สายกรุงเทพ-แม่กลอง
หรือรถปรับอากาศสาย กรุงเทพ-ดำเนิน (รถเข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม)
หรือนั่งรถตู้จากอนุสาวรีย์ชัย สายแม่กลอง ไปลงที่ตลาดแม่กลอง จากนั้นจึงเดินต่อไปยังวัดบ้านแหลม ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ถ้าไปไม่ถูกถามทางใครก็ได้ เพราะคนแม่กลองรู้จักวัดบ้านแหลมกันทุกคน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือประวัดวัดบ้านแหลม,นสพ.รอยธรรม,วิกิพิเดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น