วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2559

เที่ยว.๘ มิวเซียมสยาม

มิวเซียมสยาม 
Museum Siam : Discovery Museum



มิวเซียมสยาม

   เมื่อนึกถึงพิพิธภัณฑ์แล้วเรามักจะนึกถึงสถานที่เก็บของเก่าๆพวกวัตถุโบราณ ของที่แตกๆหักๆ และแน่นอนว่าต้องนึกถึงเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งเรามักลืมสนใจกันอยู่เสมอ พิพิธภัณฑ์จึงคล้ายๆกับว่าเป็นสถานที่เก็บของที่เราลืมกันไปโดยปริยาย พิพิธภัณฑ์จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในลำดับท้ายๆของคนไทยเราเสมอมา

   พิพิธภัณฑ์บางแห่งไม่ได้เป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณโดยตรง แต่จะออกไปในทางเป็นแหล่งนำเสนอหรือเรียนรู้ความเป็นมาของประวัติศาสตร์เสียมากกว่า พิพิธภัณฑ์แบบนี้มักใช้สื่อการแสดงชนิดต่างๆเป็นเครื่องมือนำเสนอความรู้ และจะมีเรื่องที่จะแสดงหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเป็นระยะๆ มิวเซียมสยามจัดว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ในแบบนี้

   มิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดบริการมายังไม่นาน ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์ในแบบที่นำเสนอด้วยสื่อมากกว่าตัววัตถุโบราณ ดังนั้นที่มิวเซียมสยามจึงมีวัตถุโบราณแสดงไม่มาก แต่จะเน้นไปที่สื่อทำนองสื่อการเรียนการสอนมากกว่า ลักษณะของการนำเสนอแบบนี้เองจึงเรียกเป็น มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้

บนยอดตึกยังมีชื่อกระทรวงพาณิชย์

ที่ตั้งของมิวเซียมสยาม

   สถานที่ตั้งของมิวเซียมสามจะอยู่ข้างวัดโพธิ์ท่าเตียน (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) อาคารและพื้นที่ทั้งหมดของมิวเซียมสยามนั้น เดิมก็คือกระทรวงพาณิชย์นั่นเอง

   อาคารมิวเซียมสยาม(กระทรวงพาณิชย์เดิม)นั้นออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน ชื่อ มาริโอ ตามาญโญ ซึ่งเดินทางเข้ามา ทำงานในประเทศสยามตั้งแต่ปีพ.ศ.2443 เป็นช่วงเวลาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

   มาริโอ ตามาญโญได้ทำงานออกแบบสถานที่สำคัญๆมากมายในกรุงเทพฯ ร่วมกับสถาปนิกคนอื่นๆ เช่น พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งดุสิต วัดเบญจมบพิตร สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาริโอ ตามาญโญก็ได้ออกแบบ บ้านนรสิงห์ บ้านพิษณุโลก สนามแข่งม้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำหรับงานปูนปั้นหรืองานหล่อที่ปรากฏให้เห็นลวดลายอันงดงามในตัวกระทรวงพาณิชย์นั้น เป็นฝีมือการออกแบบของ วิตโตริโอ โนวี นายช่างเอกจากเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ผู้สลักเสลาความงดงามตามอาคารต่างๆ แทบทุกโครงการที่สร้างขึ้นในรัชการที่ 5 และรัชการที่ 6 เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น(ข้อมูลจากประวัติกระทรวงพาณิชย์)

   แค่ตัวอาคารมิวเซียมสยามก็มีที่มาไม่ธรรมดาแล้ว

อัตราค่าเข้าชมมิวเซียมสยาม
นักเรียน นักศึกษา            50 บาท
ประชาชนทั่วไป              100 บาท
ชาวต่างชาติ                     300 บาท
*ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
** เข้าชมแบบกลุ่ม 5 คนขึ้นไปลด 50%
   ในบางช่วงจะมีบริการบัตรรวมเที่ยวพิพิธภัณฑ์รวมกันหลายๆที่ แบบนี้ได้ราคาประหยัดมากๆ 
เข้าประตูกลางตรงนี้

สถาปัตยกรรมโค้งๆแปลกดี



   ทางเข้าไปในอาคารก็คือประตูด้านหน้าตึกนั่นเอง สังเกตง่ายๆก็คืออยู่ตรงกลางและมีประตูเดียว หลายๆท่านที่มามิวเซียมสยามมักหยุดถ่ายรูปกันที่หน้าตึกก่อน โดยเฉพาะตรงสถาปัตยกรรมโค้งๆ ผู้เขียนไม่ได้เป็นอาร์ทติ๊สเลยดูไม่ออกไม่ทราบว่าเจ้าโค้งๆนี้สื่อหรือเรียกอะไร ก็เลยได้แค่ถ่ายรูป เมื่อถ่ายรูปแล้วก็เข้าไปซื้อบัตรเข้าชมมิวเซียมสยามภายในตึกได้เลย

   พอเราผ่านประตูก็จะเห็นสถาปัตยกรรมของบันใดไม้ที่วกวนแต่สวยงามมาก ถัดเข้าไปด้านในห้องจะเป็นเค้าท์เตอร์จำหน่ายบัตร เมื่อเราซื้อบัตรแล้วก็อาจต้องรอคิวเข้าชมห้องแรกก่อน ห้องนี้เรียกว่า ห้องเบิกโรง ที่อาจต้องรอก็เพราะห้องนี้เป็นห้องแสดงวิดิทัศน์นั่นเอง หรือเราจะเดินไปชมบันใดไม้กันก่อนก็ได้ ผู้เขียนหรือแอดมินชอบบันใดของที่นี่มากๆ


บันใดสวยมาก

ดูลึกลับ


มิวเซียมสยามแค่บันใดก็น่าดูแล้ว

   ตอนรอเข้าชมวิดิทัศน์สามารถเดินเข้าห้องที่อยู่ใกล้ๆเพื่อชมอะไรไปพลางๆก่อน ตรงทางเข้าจะมีรูปคล้ายๆคนกางมือกางขา ซึ่งทางมิวเซียมสยามใช้เป็นสัญญลักษณ์ เรียกรูปนี้ว่า คนกบแดง รูปคนกบแดงนี้ประมาณว่าเป็นภาพเขียนของคนในสมัยโบราณ หมายถึงกบและสื่อไปในเรื่องความอุดมสมบูรณ์

   พอเข้าไปในห้องจะเห็นว่าห้องโล่งๆโปร่งสบายๆ ห้องนี้จะมีวัตถุโบราณเล็กน้อย มีรูปของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาท ซึ่งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรกของประเทศสยามภายในห้องแสดงแผนที่กรุงเทพฯ(บางกอก)สมัยร.6 และตรงกลางห้องเจาะพื้นให้เห็นการวางโครงสร้างของตัวตึก

ห้องข้างๆเข้าไปดูได้ จะเห็นสัญญลักษณ์คนกบแดงที่หน้าประตู

เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรก 

ตรากระทรวงพาณิชย์
วัตถุโบราณในห้องนี้

   เมื่อถึงเวลาเข้าชมวิดิทัศน์ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งให้ทราบ คราวนี้เราจะเริ่มชมมิวเซียมสยามซึ่งมีห้องแสดงจัดไว้ 17 ห้อง เราจะเข้าชมทีละห้องตามลำดับ จะไปเข้าชมมั่วๆไม่ได้เพราะเส้นทางเดินชมบังคับเอาไว้ในตัวเองแล้ว

ห้องที่ 1 เบิกโรง (Immersive Theater)

   ห้องนี้อยู่ข้างๆจุดขายบัตรเข้าชม เป็นห้องคล้ายๆโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก มีจอโค้งๆงอๆชอบกล คงเป็นดีไซน์ให้ทันสมัยล้ำยุค ห้องเบิกโรงจะแสดงวิดิทัศน์เป็นเรื่องเล่าถึงดินแดนสุวรรณภูมิ โดยมีตัวละคร 7 คน เนื้อเรื่องพอรับได้ถึงจะไม่ละเอียดยิบๆเพราะใช้เวลาแสดงประมาณ 15 นาที

ห้องเบิกโรง

วิดิทัศน์ที่แสดง

ห้องที่ 2 ไทยแท้ (Typically Thai)

   เมื่อออกจากห้องเบิกโรงแล้ว เราจะต้องเดินไปตามทางที่จัดไว้ ตอนที่ผู้เขียนไปชมนั้นดันมีผู้เขียนเพียงคนเดียวในช่วงนั้น พอเดินไปตามทางจึงรู้สึกโหวงเหวงชอบกล 

   จะพบห้องที่ 2 มีป้ายใหญ่ๆเขียนข้อความ ตามหาไทยแท้ มีข้อความชวนให้เราคิดเรื่องใครคือไทยแท้อะไรทำนองนี้ ภายในห้องจะมีรถสามล้อหรือรถตุ๊กๆ แต่มีแค่ครึ่งคันติดเอาไว้ที่ผนัง มีรถเข็นขายของขายส้มตำไก่ย่าง มีแม่ค้าหาบเร่ ซึ่งไม่กี่สิบปีมานี้ยังเห็นได้ง่ายๆในกรุงเทพฯนี่เอง ในห้องยังมีศาลพระภูมิแบบสมัยก่อนตั้งเอาไว้ เพื่อสื่อถึงความเชื่อพื้นบ้านของไทย มีรูปภาพบรรยากาศสมัยก่อนแบบรวมๆคือ ให้ดูเหมือนมีงานวัด มีโรงหนัง มวยไทย ละครรำ ที่ห้องนี้คนชอบมาถ่ายรูปกับหุ่นแม่ค้า หรือไม่ก็ไปแอ๊คท่าตำส้มตำ
  
   ห้องนี้ประมาณว่า นี่ๆคนไทยสมัยก่อนเขาประมาณนี้

ป้ายตามหาไทยแท้

จำลองความเป้นอยู่สมัยก่อน
จำลองชีวิตคนไทยสมัยก่อน(ไม่นานนัก)

ห้องที่ 3 เปิดตำนานสุวรรณภูมิ (Introduction to Suvarnabhumi)

   พอเดินออกจากห้องที่ 2 จะพบบันใดเล็กขึ้นไปบนตัวตึกชั้นที่ 3 จะมองเห็นโมบายแขวนอยู่เป็นรูปคนกบแดง บันใดของตึกนี้จะสวยงามทุกๆด้าน ห้องนี้ต้องเดินขึ้นบันไดไปที่ชั้น 3 ห้องนี้จะแสดงเรื่องราวของสุวรรณภูมิ ซึ่งหมายถึงบริเวณประเทศไทยและเพื่อนบ้านนั่นเอง ดินแดนที่เรียกกันว่าสุวรรณภูมินี้เรียกกันมาแต่โบราณแล้ว


คนกบแดงข้างๆบันใด


    ภายในห้องจะแสดงตำแหน่งที่ตั้งของดินแดนสุวรรณภูมิ มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในแถบนี้ จะมีแผนภูมิแสดงไว้อย่างชัดเจน แสดงวิวัฒนาการในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่โบราณ ห้องนี้มีความรู้เกี่ยวกับดินแดนสุวรรณภูมิแสดงไว้ได้อย่างลงตัว เราแค่เดินดูสื่อที่แสดงเอาไว้ก็จะเข้าใจได้ไม่น้อย


แสดงดินแดนสุวรรณภูมิ

แสดงวิวัฒนาการของสุวรรณภูมิ

มนุษย์โบราณในสุวรรณภูมิ

ห้องที่ 4 สุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi)


   ห้องนี้จะแสดงเรื่องราวของดินแดนสุวรรณภูมิที่ละเอียดขึ้น จะเป็นเรื่องการค้าการเกษตร บ้านเมืองต่างๆในสมัยโบราณ ความเชื่อของภูมิภาคที่มีทั้งความเชื่อเรื่องผี เจ้า เทวดา ศาสนาพุทธ 

   จะมีวิดิทัศน์แสดงเรื่องราวโดยผูกเรื่องเข้ากับโครงกระดูกที่เรียกว่า นางพญาแห่งโคกพนมดี จำลองเหตุการณ์ประมาณว่านางพญาซึ่งคล้ายๆแม่หมอมาเล่าเรื่องแสดงวิถีชีวิตของคนในยุคนั้น ในวิดิโอจะเห็นว่าเธอเปลือยอกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของยุคนั้น แต่การเปลือยอกของนักแสดงนี้เป็นเทคนิคสวมชุดที่ทำไว้อย่างนั้น



แสดงโครงกระดูกนางพญาที่คอยเล่าเรื่องให้เราฟัง

นี่แหละนางพญาแห่งโคกพนมดี

      ในห้องจะมีวัตถุโบราณที่พบในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแสดงไว้ด้วย
      
วัตถุโบราณและแผนภูมิต่างๆ

เตาสมัยโบราณ

เครื่องประดับที่พบในสุวรรณภูมิ

แผนที่แสดงการค้าของสุวรรณภูมิกับเพื่อนบ้าน

ห้องที่ 5 พุทธิปัญญา (Buddhism)

ห้องนี้แสดงถึงประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ ห้องนี้จะค่อนข้างมีแสงสลัวๆ คงเพราะต้องการใช้แสงในการสื่อข้อความ ซึ่งก็ดูแล้วสวยดี

คาถา เย ธัมมา ที่พบเป็นครั้งแรกของสุวรรณภูมิ

การใช้แสงเงาสื่อถึงดอกบัว

ห้องที่ 6 กำเนิดสยามประเทศ (The Founding of Ayutthaya)

ห้องนี้เล่าความเป็นมาของประเทศไทยหรือสยาม โดยแสดงถึงประวัติย้อนหลังจาก ละโว้ สุวรรณภูมิ จนถึงกรุงศรีอยุธยา ควาทผสมผสานของชาติพันธุ์ในแถบนี้


ลอมพอก



ภาพเปรียบเทียบ โกษาปานกับคณะฑูตสวมลอมพอก

ห้องที่ 7 สยามประเทศ(Siam)

   ห้องนี้ต่อเนื่องกันกับห้องที่ 6 จุดเด่นจะเป็นแบบจำลองขบวนเรือพระราชพิธีที่เรียกว่า พยุหยาตราทางชลมารค เรือสำเภาแบบต่างๆ โดยใช้วิธีแขวนเรือไว้เป็นแถวเรียงรายกันตามลำดับชุดขบวนเรือ

แบบจำลองขบวนพยุหยาตราทางชลมารค




แบบจำลองเรือสำเภาที่ใช้ในสมัยอยุธยา




ห้องที่ 8 สยามยุทธ์(The War Room)

   แสดงหุ่นจำลองทหารสมัยอยุธยา มีปืนใหญ่ขนาดย่อมๆพร้อมลูกกระสุนปืนให้ชม ห้องนี้แสงค่อนข้างสลัวๆให้ความรู้สึกลึกลับโบราณๆ คนที่มาชมห้องนี้มักแวะถ่ายรูปคู่กับหุ่นทหารและปืนใหญ่



ลูกกระสุนปืนใหญ่


ห้องที่ 9 แผนที่(The Map Room)
   พอออกจากห้องที่ 8 ก็ต้องลงบันใดมาที่ชั้นที่ 2 จะพบห้องแสดงแผนที่โบราณ มีทั้งแผนที่ภูมิภาคนี้ที่เขียนขึ้นโดยชาวยุโรป และแผ่นที่แบบไทยๆ

ห้องแผนที่

ห้องที่ 10 กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา(Bangkok:New Ayutthaya)

   ห้องนี้แสดงความต่อเนื่องหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก มีภาพการจัดทัพตามตำราพิชัยสงครามโบราณ ภาพวาดชาวต่างชาติในยุคนั้น สื่อถึงว่าหลังกรุงศรีฯแตกแล้ว ก็ได้มีการสร้างกรุงเทพฯขึ้นมาใหม่ โดยสร้างเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา

ภาพจากเว็บมิวเซียมสยาม

ห้องที่ 11 ชีวิตนอกกรุงเทพฯ(Village Life)
   แสดงแบบจำลองวิถีชีวิตชาวไทย โดยสื่อถึงวิถีชีวิตนอกกรุงเทพฯที่เป็นวิถีเกษตร แต่ในความเห็นของผู้เขียนหรือแอดมินแล้วกลับเห็นว่า ในยุคก่อนนั้นแม้แต่ในกรุงเทพฯเอง วิถีชีวิตก็เป็นวิถีเกษตรแล้ว ไม่ต้องตามไปดูถึงนอกกรุงเทพฯ เอาแค่ฝั่งธนบุรีแถบตลิ่งชันก็มีทุ่งนาแล้ว ทุ่งนากว้างใหญ่ของกรุงเทพฯยุคต้นเอาง่ายๆแค่ย่านปทุมวันก็เป็นท้องนา
วิถีเกษตร

ห้องที่ 12 แปลงโฉมสยามประเทศ(Changes)

   ห้องนี้แสดงถึงว่าประเทศไทยวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย ก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ วิถีชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนไป ความเจริญทางวัตถุแบบสมัยใหม่เข้ามาถึงในประเทศไทยแล้ว

   จะเห็นเครื่องโทรเลข โทรศัพท์ยุคแรก ตู้ไปรษณีย์ตู้แรกของประเทศสยาม(แต่เป็นของทำจำลอง) ตู้ไปรษณีย์ตู้แรกของสยามนั้นรัฐบาลประเทศเยอรมนีมอบให้เนื่องในโอกาสที่สยามเปิดกิจการไปรษณีย์ในพ.ศ.2426 ในห้องนี้ยังมีเครื่องสูบน้ำโบราณแบบคานโยก ที่เวลาใช้ต้องโยกคานปั๊มน้ำ เครื่องสูบน้ำนี้คลาสสิกมาก มีเครื่องหมายของการประปาชัดเจน คือเป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าแบบฝรั่งที่นิยมในสมัยนั้น มีรูปภาพแสดงให้เห็นถึงการแต่งกายที่เปลี่ยนมาเป็นแบบสมัยใหม่
เข้าห้องมาจะเห็นแบบนี้

โทรเลขยุคแรก

ตู้ไปรณีย์ยุคแรก(จำลอง)

เครื่องสูบน้ำโบราณ

ตราพระแม่ธรณีบีบมวยผม
ห้องที่ 13 กำเนิดประเทศไทย(Politics & Communication)

   พอเข้ามาถึงภายในห้องนี้ ผู้เขียนรู้สึกว่าบรรยากาศเปลี่ยนไปคล้ายๆเหมือนในภาพยนตร์ย้อนยุค เพราะเริ่มมีภาพที่คุ้นเคยทำนองว่าเกือบร่วมสมัยของตัวผู้เขียนเอง หรืออย่างน้อยก็เคยเห็นหลักฐานใกล้สมัยของตัวเองที่เคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก จะแสดงภาพโฆษณาสมัยก่อนหนังสือพิมพ์สมัยก่อน แสดงประวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีสถานีโทรทัศน์จำลองซึ่งคนที่มาชมห้องนี้ชอบไปแอคชั่นเป็นผู้ประกาศข่าวแล้วถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต

วิทยุแบบหลอดยุคเก่า

หนังสือพิมพ์ไทยใหม่


หนังสือพิมพ์ประมวญสาร

จำลองสถานีโทรทัศน์มาให้ชม

ห้องที่ 14 สีสันตะวันตก(Thailand and the World)

   ห้องนี้แสดงยุคที่ผู้เขียนหรือแอดมินทันเห็น จะจำลองสถานที่เที่ยวเช่นบาร์ไนท์คลับ ซึ่งผู้เขียนเองทันไปเที่ยวเสียด้วย เห็นแล้วระลึกถึงอดีตขึ้นมาจับใจ

   ภายในห้องจะแสดงรถยนตร์รุ่นเก่าที่เป็นยอดฮิตของสมัยนั้น แต่มีเพียงครึ่งคันติดผนังห้อง มีไนท์คลับจำลองบรรยากาศการเที่ยวในสมัยนั้น เค๊าท์เตอร์บาร์นี้เหมือนเปี๊ยบเลย ผู้เขียนชอบตู้เก็บน้ำแข็งของยุคนั้นซึ่งเคยคุ้นเคยมาตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ได้เห็นตู้เก็บน้ำแข็งแบบนี้มานานหลายสิบปีแล้ว สมัยก่อนเขาเก็บน้ำแข็งไว้ในตู้ไม้แบบนี้ ทั้งยังแช่น้ำอัดลมและเบียร์เอาไว้ด้วย ในห้องนี้จะมีคนมาแอ๊คท่าถ่ายรูปกันมากเป็นพิเศษ
รถหรูแห่งยุค

ไนท์คลับ

เค๊าท์เตอร์ในบาร์

ตู้แช่น้ำแข็งสมัยก่อน

ตู้แช่น้ำแข็งจะมีทีเปิดฝาขวดด้วย

บรรยากาศในไนท์คลับ


ปฏิทินเหล้ามีคุณป้าแก่นใจ มีนะกนิษฐ์ เป็นนางแบบ

ห้องที่ 15 เมืองไทยวันนี้(Thailand Today)

   ห้องนี้มืดๆทำบรรยากาศแบบหนังไซไฟ มีทางเดินทำเป็นอุโมงค์มีทีวีจอเล็กๆติดตามส่วนโค้งของอุโมงค์  ประมาณว่าเป็นรูปแบบของดีเอ็นเอ ห้องนี้ค่อนข้างจะแสดงการสื่อความหมายให้คิดถึงความเปลี่ยนแปลงของไทย
อุโมงค์ดีเอ็นเอ

ห้องที่ 16 มองไปข้างหน้า(Thailand Tomorrow)

   พอออกจากห้องมืดๆก็จะเจอกับห้องนี้ที่โล่งๆ มีการฉายโปรเจคเตอร์ให้ดู แต่ในความเป็นจริงแล้วห้องนี้กลายเป็นห้องนั่งพัอของคนที่มาชมมิวเซียมสยาม เพราะเดินมาจนเมื่อยขาแล้ว

ภาพจากwww.museumsiam.org

ห้องที่ 17 ตึกเก่าเล่าเรื่อง ที่มาของมิวเซียมสยาม(Building Exhibition)

   เมื่อเดินมาถึงห้องนี้ก็จะพบว่า ที่แท้ห้องนี้ก็คือห้องที่อยู่ติดกับห้องจำหน่ายบัตรนั่นเอง คือเป็นห้องที่มีแสดงประวัติกระทรวงพาณิชย์ ห้องนี้ส่วนมากจะเป็นห้องที่คนรอคิวชมวิดิทัศน์แวะเข้ามาชมตั้งแต่แรกแล้ว
กลับมาเจอห้องที่เข้าชมครั้งแรก

  นอกจากนี้ในบางโอกาสจะมีการแสดงนิทรรศการที่ห้องชั้นล่างที่อยู่ติดระเบียงทางเดิน สอบถามได้ความว่านิทรรศการจะหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป บางช่วงก็จะมีการแสดงที่สนามหญ้าหลังตึก ซึ่งจะระบุเวลาแสดงไว้ให้ทราบล่วงหน้า
ห้องที่ระเบียงทางเดิน

   หลังจากเดินชมมิวเซียมสยามจนเมื่อยแล้ว ถ้าหิวก็แวะรับประทานอาหารได้ที่เต้นต่างๆข้างตัวตึก หรือเข้าไปนั่งในร้านติดแอร์เย็นฉ่ำชื่อร้าน“Muse Kitchen by Elefin Coffee” ซึ่งอยู่ข้างๆสนามหญ้านั่นเอง
เต้นท์ขายอาหารข้างตึก


ร้าน Muse Kitchen by Elefin Coffee
  ผู้เขียนได้ชมมิวเซียมสยามแล้ว ก็มีความเห็นว่าสำหรับคนไทยอาจจะรู้สึกไม่คุ้นเคยกับพิพิธภัณฑ์แบบนี้ เพราะเคยเห็นแต่พิพิธภัณฑ์แบบที่มีของเก่าโบราณตั้งให้ดูมากๆ แต่ผู้เขียนเห็นว่าพิพิธภัณฑ์แบบมิวเซียมสยามนี้ให้ความรู้ได้ดี แต่ความรู้ที่ผู้มาชมจะได้รับนั้น จะขึ้นอยู่กับแง่มุมที่ทางมิวเซียมสยามต้องเลือกเฟ้นให้ถูกกับจังหวะความสนใจของผู้มาชม ซึ่งนับว่ายากไม่น้อยเลย เท่าที่เห็นในวันที่ผู้เขียนไปชมมิวเซียมสยาม พบว่าจะมีชาวต่างชาติไปชมมิวเซียมสยามมากกว่าคนไทย(มากกว่ามากๆด้วย)

   ถ้ามาเที่ยวมิวเซียมสยามแล้ว จะได้ความรู้แน่นอน


รูปภาพโดยsihawatchara และรูปจากwww.museumsiam.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น