วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2567

หลวงพ่อกับของวิเศษ.10 พระครูพ่อ

 




พระครูพ่อ วัดบางกระเจ้า จ.สมุทรสาคร

  เรื่องของวิเศษของหลวงปู่หลวงพ่อของจ.สมุทรสาคร เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นมากับตัวเอง หรือได้พบเจ้าของประสบการณ์ของวิเศษแห่งหลวงพ่อนั้นๆ เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องครั้งที่ข้าพเจ้าเรียนช่างกล ชั้น ป.ว.ช. ซึ่งนานเกือบจะ 50 ปีแล้ว เป็นประสบการณ์ยกพวกตีกัน ฝ่ายข้าพเจ้า 7 คน ฝ่ายตรงข้ามมากันเต็มรถเมล์สาย 65 มีประมาณ 20 กว่าคน

  เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับครั้งที่ข้าพเจ้าถูกแทงด้วยเหล็กขูดชาร์ป แต่แทงไม่เข้า ตอนนั้นแขวนพระผงญาณวิลาสหลวงพ่อแดง และเพื่อนโดนฟันแขนไม่เข้า มันแขวนเหรียญเสือเผ่นหลวงพ่อสุดวัดกาหลง ในครั้งนั้นมีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่โดนฟันด้วยมีด แต่ฟันไม่เข้าเช่นกัน ก็คือเรื่องของวิเศษที่จะเล่าให้ฟังในครั้งนี้

  วันนั้นพอเลิกเรียนพวกข้าพเจ้ารวม 7 คน เดินไปรอรถเมล์โดยเดินย้อนขึ้นไปอีกป้ายข้างหน้า เพราะถ้ารอตรงป้ายประจำที่เป็นสุดสายรถเมล์พอดีนั้น คนจะรอขึ้นรถเมลเยอะ  พวกข้าพเจ้าเป็นพวกบ้านไกลทั้งนั้นต้องนั่งรถเมล์ยาวๆ เลยต้องไปดักขึ้นรถเมล์ที่ป้ายก่อนจะสุดสายรถ

  พวกข้าพเจ้ามีถึง 7 คน นับว่าเป็นขุมกำลังใหญ่เชียวแหละ พวกเราก็รอรถเมล์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรถเมล์สายที่เราไม่ได้รอเข้ามาจอดที่ป้าย พอมองขึ้นไปบนรถเมล์ ก็พบว่ามีพวกอาชีวะมากันเต็มคันรถ กะว่าไม่น้อยกว่า 20 คน ยังไม่รู้ว่าเป็นอาชีวะที่ไหน แต่ที่แน่ๆคือเป็นพวกอาชีวะโรงเรียนเอกชน ส่วนพวกข้าพเจ้าเป็นช่างกลวิทยาลัยเทคนิคของรัฐ

  เมื่อต่างฝ่ายต่างประเมินขุมกำลังกันแล้ว แน่นอนว่าพวกอาชีวะบนรถเมล์มีมากกว่าพวกข้าพเจ้าเยอะ พวกนี้จึงวิ่งกรูกันลงมารุมตีพวกข้าพเจ้า จากที่พวกนี้มี 20กว่าคนรุมพวกข้าพเจ้าที่มี 6 คน เพราะคนที่ 7 เป็นรุ่นน้อง ซึ่งข้าพเจ้าไล่ให้มันเข้าไปหลบในตึกแถวตรงนั้น ประมาณว่ารุ่นพี่ต้องคุ้มครองรุ่นน้อง

  ฝ่ายตรงข้ามมีอาวุธมาพร้อมหลายคนทั้งมีดไม้ พวกข้าพเจ้ามีขวานเล็กบาง 1 เล่ม ฟุตเหล็ก 2 อัน แต่จากฝ่าย 20กว่าคนรุม 6 คน ประเดี๋ยวเดียวก็เป็น 6 รุม 20 เพราะฝ่ายข้าพเจ้านั้น เคยฝึกมวย แถมที่ถิ่นของข้าพเจ้านั้น เป็นถิ่นค่ายมวยดังซึ่งพวกช่างกลสถาบันข้าพเจ้านั้น ได้ไปเรียนรู้มาบ้าง เป็นค่ายยอดมวยไทยดังในอดีต

  ครั้งนั้นข้าพเจ้าแขวนพระผงญาณวิลาสโดนแทงไม่เข้า เพื่อนคนหนึ่งแขวนเหรียญเสือเผ่นหลวงพ่อสุดโดนฟันไม่เข้า และอีกคนที่เป็นคน จ.สมุทรสาคร ไอ้นี่โดนฟันจนล้ม เพื่อนๆนึกว่าแย่แล้วต้องรีบเข้าไปช่วย ขณะที่ตีกันอยู่นั้น พวกชาวบ้านแถวนั้นโยนไม้ให้พวกข้าพเจ้าใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว จึงค่อยตีจนฝ่ายตรงข้ามเจ็บหลายคน แล้ววงวิวาทก็สลายเพราะกลัวโดนตำรวจจับ

  เพื่อนคนที่โดนฟันจนล้มลงไปนั้น ตอนแรกนึกว่ามันแย่แน่ๆ เพราะมันมีรูปร่างบอบบางผอมกะหร่อง พอสำรวจดูบาดแผล พบว่ามีรอยโดนฟันแดงๆเป็นทางยาวที่แขน แต่ไม่เข้าเนื้อเลย ในวันนั้นจึงพบประสบการณ์ของวิเศษของหลวงพ่อ 3 หลวงพ่อ ที่ทำให้หนังเหนียว คือ หลวงพ่อแดงวัดเขาบันใดอิฐ หลวงพ่อสุดวัดกาหลง และพระที่ไอ้เพื่อนสมุทรสาครตัวผอมมันแขวนก็คือ เหรียญพระครูพ่อ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินชื่อท่านเลย ประมาณว่าท่านยังไม่ดัง ข้าพเจ้าจึงรู้สึกสนใจของวิเศษของท่านพระครูพ่อ



  เพื่อนเล่าว่า พระครูพ่อเป็นพระอาจารย์วัดที่บ้านมันเอง แถวบ้านจะเรียกท่านว่า อาจารย์พ่อวัดบางกระเจ้า วัดอยู่คลองสุนัขหอนฝั่งเดียวกันกับวัดบางขุด(หลวงปู่อุ่น ที่ข้าพเจ้าเคยเล่าให้ฟังแล้ว)) แต่ท่าข้ามฟากวัดบางกระเจ้าอยู่ถึงก่อนท่าวัดบางขุด จะไปวัดบางขุดพอข้ามฟากคลองสุนัขหอนแล้วยังต้องเข้าไปอีก ส่วนวัดบางกระเจ้าอยู่ริมคลองสุนัขหอน เป็นย่านไทยเชื้อสายมอญ

  เหรียญพระครูพ่อที่เพื่อนแขวน เป็นรุ่นปี พ.ศ.2509 ทรงเสมาคว่ำ รูปท่านครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นยันต์ตรีนิสิงเห แต่ตัวเลขเป็นแบบเลขมอญ

  ข้าพเจ้าเห็นเพื่อนแขวนเหรียญพระครูพ่อแล้วโดนฟันไม่เข้า(ไม่ใช่ว่าฟันยื่นออกมาจากปากนะ) จึงอยากได้เหรียญพระครูพ่อ อยากไปกราบท่านบ้าง เพื่อนบอกว่าท่านพระครูพ่อเพิ่งมรณภาพ ข้าพเจ้านึกเสียดายที่พลาดพระอาจารย์ขลังไปอย่างเฉียดฉิว ต่อมาช่วงปิดเทอมเพื่อนคนนี้บวชที่วัดบางกระเจ้า ข้าพเจ้าจึงค่อยได้ไปเที่ยวที่วัดนี้ พอได้สอบถามถึงเรื่องท่านพระครูพ่อ ก็ยิ่งเสียดายที่มาไม่ทันกราบท่าน เพราะประวัติสายวิทยาคมไม่ธรรมดาเลย


เหรียญรุ่นประสบการณ์ที่เล่าไว้ในเรื่อง




ด้านหลัง


  ท่านพระครูพ่อเป็นศิษย์หลวงพ่อสงค์วัดบางปลา หลวงพ่อสงค์เป็นศิษย์ของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด(หลวงปู่นุต) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่แขกวัดบางปลา หลวงพ่อสงค์นี้ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่แขก

  พระอุปัชฌาย์ของพระครูพ่อคือหลวงปู่รอดวัดวังน้ำวน พระครูพ่อได้สืบทอดวิชาสายวัดบางปลาจากหลวงพ่อสงค์ และได้เรียนจากหลวงปู่รอดอีกด้วย แบบนี้นี่เองที่ท่านพระครูพ่อจึงเสกปลุกวัตถุมงคลได้ชลัง

  เหตุที่ท่านพระครูพ่อยังไม่ดังเป็นสากลนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมาจากการที่จะไปวัดบางกระเจ้าไปได้ยาก ต้องข้ามคลองสุนัขหอนไปอีกฝั่งที่เป็นฝั่งที่ติดอ่าวไทย สมัยข้าพเจ้าเรียนช่างกลยังไม่มีสะพานข้าม ต้องลงเรืออย่างเดียว ถ้าไปจากท่าน้ำที่ข้ามไปฝั่งวัดบางขุด จะต้องนั่งเรือย้อนกลับไปทางมหาชัยไป 2 หัวโค้งของคลองสุนัขหอน ก็จะถึงวัดบางกระเจ้าที่อยู่ติดแม่น้ำ แถบนี้เป็นย่านของไทยเชื้อสายมอญ

ประวัติพระครูพ่อโดยย่อ 

    พระครูพ่อ วัดบางกระเจ้า หรือ อาจารย์พ่อ ธัมมิโก วัดบางกระเจ้า ตำบลบางกระเจ้า อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร พื้นเพท่านเป็นชาวปากบ่อ(ข้าพเจ้าเข้าใจว่าน่าจะเป็น บางบ่อ) สมุทรสาคร เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ แต่ไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

   ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ อาจารย์พ่อ มีอายุได้ ๒๑ ปี ได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางปลา ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า "ธมฺมิโก" โดยมีหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อสงฆ์ วัดบางปลา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์กล่ำ วัดบางปลา เป็นพระอนุสาวนาจารย์

   หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางปลา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมตามตำราของหลวงปุ่นุตย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางปลาที่คนเรียกกันว่าหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด โดยมีหลวงพ่อสงค์เป็นผู้ถ่ายทอดให้

         นอกจากนี้ ท่านยังได้ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านอีกด้วย จนท่านมีวิชาแก่กล้า

         ต่อมา ชาวบ้านวัดบางกระเจ้าพร้อมใจกันเดินทางไปที่วัดบางปลา เพื่อนิมนต์พระอาจารย์พ่อ มาเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

  ท่านพระครูพ่อสร้างเหรียญรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ.2497 เป็นเหรียญทรงเสมาคว่ำ ด้านหน้าเป็นรูปท่านครึ่งองค์ มีอักษรว่า อาจารย์พ่อ ด้านหลังเป็นยันต์ตรีนิสิงเหแบบตัวเลขไทย มีชื่อวัดแกะเป็น วัดบางกะเจ้า โดยคำว่ากระไม่มี ร เรือ

พระครูพ่อปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ นับรวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี ๕๙ พรรษา.

เรื่องจากความทรงจำ และประวัติจากเฟจพระครูพ่อ

ภาพเหรียญ เหรียญสะสมของข้าพเจ้า




วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2567

หลวงพ่อกับของวิเศษ 9.หลวงพ่อพรหมวัดขนอนเหนือ 2

 


หลวงพ่อพรหม ติสฺสเทโว วัดขนอนเหนือ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

  เรื่องของหลวงพ่อพรหมนั้นข้าพเจ้าเล่าให้ฟังได้หลายตอน เพราะได้แวะไปกราบนมัสการท่านบ่อยๆ ทั้งยังมีประสบการณ์ของวิเศษหลวงพ่อพรหมหลายครั้ง และได้เคยคุยกับศิษย์ของหลวงพ่อที่เป็นเจ้าของประสบการณ์จริงอีกหลายคน ข้าพเจ้าเคยเขียนเล่าไว้ในนิตยสารอยู่หลายตอน ใครๆเขาก็เอาไปเล่าต่อในสื่อต่างๆกันมาก ทั้งข้อเขียนทั้งคลิป แต่น้อยรายมากที่จะให้เครดิตต้นทาง

  เรื่องราวหลวงพ่อพรหมกับของวิเศษ ข้าพเจ้าจะค่อยๆเล่าไปที่ละตอนตามโอกาสสะดวก สลับกับบทความอื่นๆบ้าง

หลวงพ่อพรหมกับหมาก 1 คำ

  เรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับข้าพเจ้า เป็นเรื่องที่เกิดกับศิษย์วัดราชบพิธฯ กรุงเทพฯ ท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งของวัดราชบพิธฯได้เล่าให้ฟัง เป็นเรื่องที่เกิดกับลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณ แล้วท่านผู้นี้กลับมาเล่าให้ท่านเจ้าคุณฟัง เรื่องนี้อาจจะไม่ตื่นเต้น แต่ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งมาก

  หลวงพ่อพรหมท่านมีความคุ้นเคยกับวัดราชบพิธฯมาก โดยสมเด็จพระสังฆราชวาสน์ พระองค์เป็นคนอยุธยา และรู้จักคุ้นเคยกันกับโยมบิดาของหลวงพ่อพรหมด้วย ถึงขนาดว่าเสด็จมางานฌาปนกิจโยมบิดาของหลวงพ่อพรหม ในครั้งนั้นยังเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และพระองค์ทราบถึงคุณวิเศษของหลวงพ่อพรหมเป็นอย่างดี ถึงกับไว้วางใจให้หลวงพ่อพรหมอธิษฐานจิตวัตถุมงคลหลายครั้ง

  ท่านเจ้าคุณรู้จักหลวงพ่อพรหมก็เพราะ ท่านเจ้าคุณเคยเป็นพระรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราขวาสน์นั่นเอง ทั้งยังเคยเห็นคุณวิเศษหลวงพ่อพรหมหลายครั้ง และศิษย์วัดราชบพิธฯรุ่นเก่าจะรู้จักหลวงพรหมด้วย มีวัตถุมงคลของหลวงพ่อพรหมหลายอย่าง

  วันหนึ่งแวะได้สนทนากับท่านเจ้าคุณ พอคุยถึงพระอาจารย์ที่เคยมาเสกปลุกวัตถุมงคลที่วัดราชบพิธฯว่า ท่านเจ้าคุณเคยเจอที่เจ๋งๆบ้างไหม ในตอนนั้นท่านเจ้าคุณยังไม่รู้ว่าข้าพเจ้านับถือหลวงพ่อวัดขนอนเหนือ

  ท่านเจ้าคุณเล่าว่า ต้องหลวงพ่อพรหมวัดขนอนเหนือ สมเด็จพระสังฆราชวาสน์ยังเชื่อถือเลย หลวงพ่อพรหมมีวิทยาคมสูงมากอำนาจจิตแก่กล้าสุดๆ แบบนี้ขั้นอภิญญาแล้ว รู้วาระจิตมีตาทิพย์ ข้าพเจ้าถามท่านเจ้าคุณว่ารู้ได้อย่างไร ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า



  วันหนึ่งลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณเกิดขัดสนไม่มีเงินใช้ นึกไปนึกมาก็จำได้ว่า หลวงพ่อพรหมให้เลขเด็ดได้ ก็เลยตัดสินใจเดินทางไปวัดขนอนเหนือเพื่อไปกราบหลวงพ่อพรหมแล้วขอเลขโชคลาภ แต่เพราะความขัดสนไม่มีเงินสุดๆในขณะนั้น จึงไม่มีเงินที่จะซื้อของไปถวายหลวงพ่อ ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินพอแค่ค่าตั๋วรถไปกลับเท่านั้น เลยจนปัญญาที่จะหาของไปถวาย หรือแม้แต่ซองปัจจัยก็ไม่มี

  ขณะที่เดินไปป้ายรถเมล์เพื่อจะขึ้นรถเมล์ไปลงสถานีหมอชิต ได้เดินผ่านแผงขายดอกไม้ที่มีหมากพลูจัดเป็นชุดไว้ขาย ท่านผู้นี้นึกอยากซื้อหมากพลูไปถวายหลวงพ่อพรหม แต่ขณะนั้นเหลือเงินแค่ 1 บาท จึงซื้อหมากพลูทั้งชุดไม่ได้ ความอยากมีของไปถวายหลวงพ่อ จึงถามแม่ค้าว่า...เหลือเงิน 1 บาท ขอซื้อหมากคำหนึ่งจะได้ไหม....แม่ค้าก็ใจดียอมขายให้

  ศิษย์วัดราชบพิธฯท่านนี้ดีใจรับเอาหมาก 1 คำนั้นมาใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ แล้วจึงเดินทางไปวัดขนอนเหนือ ระหว่างทางก็นึกไม่สบายใจที่มีแค่หมากพลูเพียง 1 คำไปถวายหลวงพ่อ

  เมื่อไปถึงจุดลงรถหน้าทางเข้าวัด ท่านผู้นี้เกิดรู้สึกอายที่มีหมากมาถวายแค่ 1 คำ จึงลังเลที่จะเข้าไปหาหลวงพ่อพรหม เกิดเปลี่ยนใจจะขึ้นรถ บ.ข.ส.กลับกรุงเทพฯ แต่ความเดือดร้อนขัดสนไม่มีเงินในขณะนั้น จึงจำตัดสินใจหวังพึ่งเลขเด็ดจากหลวงพ่อ เพราะไม่เห็นหนทางทางทางอื่นแล้ว

  ขณะที่เดินเข้าวัด มือก็จับกระเป๋าเสื้อที่มีหมากพลู 1 คำนั้น นึกอายตัวเองนึกเกรงใจหลวงพ่อ ลังเลที่จะถวายหมาก 1 คำ...เดินไปก็กุมประเป๋าเสื้อที่มีหมาก 1 คำไปด้วยจนถึงกุฏิหลวงพ่อพรหม ปรากฏว่าประตูกุฏิปิดแล้ว มาช้าเกินไป

  ท่านผู้นี้เดือดร้อนเงินทองจริงๆ กะว่าหลวงพ่อพรหมวัดขนอนเหนือเป็นที่พึ่งสุดท้าย จะขอเลขเด็ดไปแทงหวย แต่กุฏิหลวงพ่อปิดแล้ว ทั้งตนเองยังมีแค่หมากพลู 1 คำมาถวายหลวงพ่อแค่นั้น อายหลวงพ่อมาก กลัวหลวงพ่อพรหมจะไม่รับ ศิษย์วัดราชบพิธฯท่านนี้จึงหันกลับ ตัดสินใจจะเดินทางกลับบ้าน


  ขณะนั้นเองก็ได้ยินเสียงก๊อกแกร๊กๆตรงหน้าต่างกุฏิ พอหันกลับไปมอง ปรากฏว่าว่า....หลวงพ่อพรหมแง้มหน้าต่างแล้วยื่นมือออกมา ท่านพูดว่า...มึงเอาหมากมา

  ท่านผู้นี้งงๆแต่ก็รีบหยิบหมาก 1 คำออกมาถวายโดยใส่ในฝ่ามือหลวงพ่อพรหม หลวงพ่อรับหมากพลู 1 คำแล้วฉันหมากเดี๋ยวนั้น (ซึ่งที่จริงหลวงพ่อไม่ฉันหมาก)

  และแล้ว หลวงพ่อพรหมยืนมือออกมาอีก โดยมือกำอะไรไว้บางอย่าง ท่านพูดว่า...มึงเอาไป....แล้วท่านก็ปิดหน้าต่าง

  ปรากฏว่าว่าสิ่งที่หลวงพ่อพรหมยื่นให้นั้น คือ เศษกระดาษชิ้นหนึ่ง มีตัวเลขอยู่ 3 ตัว...ศิษย์ท่านเจ้าคุณไม่ได้คุยเรื่องมาขอเลขอะไรกับหลวงพ่อเลย ไม่ทันได้เอ่ยปากขอเลขโชคลาภ แต่หลวงพ่อพรหมวัดขนอนเหนือที่อยู่ในกุฏิกลับทราบเรื่องราวความเดือดร้อนของท่านผู้นี้ ทราบว่ามาพร้อมหมากพลู 1 คำ และมาขอเลขโชคลาภ

  ในที่สุดท่านผู้นี้ก็กลับไปหาเงินมาซื้อเลขนี้ และถูกตรงๆ ได้เงินไปแก้ไขความเดือดร้อนได้

  นี่แหละคือ หลวงพ่อพรหม ติสฺสเทโว วัดขนอนเหนือ

เรื่อง จากคำบอกเล่าของท่านเจ้าคุณ

ภาพ จากกรอบเดิมของวัด และหนังสือประวัติหลวงพ่อพรหมเล่มม่วง ข้าพเจ้าเขียน รวมกับฉบับของคุณประเสริฐ เรืองสุรัตน์ จัดทำโดยคุณ ธีรพล คงอาชาภัชร


วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2567

หลวงพ่อกับของวิเศษ 8.ท่านเจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก


พระภิกษุเจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

  อาชีพงานโลหะของทางบ้านข้าพเจ้า มีส่วนที่เกี่ยวพันกับวัดวาอารามอยู่บางส่วน ทำให้ข้าพเจ้าได้คุ้นเคยกับพระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเด็ก ได้รับความเมตตาจากหลวงปู่หลวงพ่อต่างๆมอบพระเครื่องให้อยู่เสมอ เรียกว่ามีพระเครื่องห้อยคอยมาตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยเรียน

  วัยเด็กเล็กทำให้จำไม่ได้ว่าเคยมีประสบการณ์ของวิเศษของหลวงพ่อรูปใดมาบ้าง เหตุการณ์มันนานมาแล้วนานมากๆ มีที่พอจำได้คลับคล้ายคลับคลา คือจำเหตุการณ์ได้แต่จำหลวงพ่อที่ห้อยคอไม่ได้ พอถึงวัยเรียนชั้นประถมปลาย ก็เกิดประสบการณ์วัตถุมงคลหลวงพ่อกับของวิเศษที่จำได้แม่นเป็นครั้งแรก ก็คือประสบการณ์ของวิเศษของหลวงพ่อเจ้าคุณนรฯ(ธมฺมวิตกฺโก)วัดเทพศิรินทรฯ

  โรงเรียนประถมปลายที่ข้าพเจ้าเรียนนั้น เมื่อ50กว่าปีก่อนนับเป็นโรงเรียนชั้นนำของกรุงเทพฯ มีคณะดูงานมาเยี่ยมชมบ่อยๆ โรงเรียนอยู่คนละฝั่งถนนกับวัดเทพศิรินทรฯ ในยุคนั้นคนแถวเวิ้งนาครเขษม สะพานเหล็ก วังบูรพา วรจักร สวนมะลิ พลับพลาชัย ใครๆก็ได้ยินชื่อเสียงของพระภิกษุธมฺมวิตกฺโก ซึ่งต่างก็เรียกกันว่า ท่านเจ้าคุณนรฯ ทางบ้านข้าพเจ้าก็เช่นกัน เพราะบ้านข้าพเจ้าอยู่ห่างจากวัดเทพศิรินทรฯ 3 ป้ายรถเมล์

  เด็กโรงเรียนข้าพเจ้านั้น พอทะเลาะกันก็จะท้ากันให้ไปชกต่อยกันที่ฝั่งวัดเทพศิรินทรฯ...รวมทั้งกรูด้วย เอ๊ย ข้าพเจ้าด้วย...แต่จะไม่มีใครไปชกต่อยกันใกล้กุฏิท่านเจ้าคุณนรฯเลย แม้ปีสุดท้ายที่เรียนที่นี่ซึ่งท่านเจ้าคุณนรฯมรณภาพไปแล้ว พวกข้าพเจ้าก็ไม่ไปชกต่อยกันแถวกุฏิของท่าน แปลกดีเหมือนกัน

  ถ้าเดินผ่านกุฏิของหลวงพ่อเจ้าคุณอุดมฯ ท่านจะกวักมือเรียกให้เข้าไปรับแจกขนมของกิน และแจกพระเครื่องท่านเจ้าคุณนรฯให้ทุกๆคน ทางบ้านข้าพเจ้านั้นได้รับพระเครื่องท่านเจ้าคุณนรฯหลายองค์ แม้ในวันที่พระราชทานเพลิงสังขารท่าน ก็ได้รับแจกมาหลายองค์ พร้อมโปสเตอร์รวมวัตถุมงคลท่านเจ้าคุณนรด้วย บิดาของข้าพเจ้าได้เอาไปใส่กรอบไว้บูชา



  ท่านเจ้าคุณนรฯนั้นเป็นพระสงฆ์ไม่มีสมณศักดิ์เจ้าคุณแต่อย่างไร ที่เรียกนามท่านว่าเจ้าคุณนรฯ ก็เพราะก่อนท่านบวชท่านรับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระยานรรัตนราชมานิต นามเดิมว่า ตรึก จินตยานนท์ พอท่านบวชถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 คนทั้งหลายก็เรียกนามท่านตามบรรดาศักดิ์เดิมว่าท่านเจ้าคุณนรฯ

  ท่านเจ้าคุณนรฯปฏิบัติธรรมอย่างเงียบๆภายในวัดเทพศิรินทรฯ ต่อมาเมื่อมีการสร้างวัตถุมงคลของวัด ก็นิมนต์ท่านอธิษฐานจิต แล้วปรากฏประสบการณ์คุ้มครองป้องกันภัยดีเยี่ยม จนเป็นที่เลื่องลือ ข้าพเจ้านับถือว่าเป็นหลวงพ่อกับของวิเศษ

  ประสบการณ์เฉียดตายครั้งหนึ่งของข้าพเจ้า... ตอนนั้นเรียนชั้นประถมปลาย ได้ไปเดินสวนสนามวันลูกเสือแห่งชาติที่สนามกีฬาศุภชลาศัย ต่อหน้าพระพักตร์ในหลวงรัชกาลที่ 9

  โรงเรียนอยู่ห่างสนามศุภฯประมาณ 5-6ป้ายรถเมล์ จึงทำเป็นกิจกรรมเดินทางไกลระยะสั้นของลูกเสือ โดยเดินไปทางวัดเทพศิรินทรฯแล้วข้ามคลองผดุงกรุงเกษมตรงหน้ากองบังคับการตำรวจรถไฟ พอถึงตรงนี้ก็จะเป็นเขตสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นส่วนที่พ้นจากอาคารสถานีแล้ว

  พวกข้าพเจ้าเดินข้ามรางรถไฟซึ่งตรงนั้นมีหลายรางมาก พอเดินตรงไปเรื่อยๆก็จะถึงสนามศุภฯ ไปจัดแถวกลางสนามกีฬา รอถวายคำสัตย์ของลูกเสือ

  ขากลับครูให้เดินกลับโรงเรียน พอเดินผ่านสถานีหัวลำโพงส่วนที่เป็นที่ตรวจซ่อมรถไฟ ตรงนั้นมีรถไฟจอดขวางทางพอดี ไม่มีคนอยู่แถวนั้นเลย เนื่องจากเขตนั้นไม่ใช่ชานชลารถไฟ บันใดรถไฟจึงอยู่สูงจากพื้นมาก คุณครูจึงขึ้นบันใดของตู้รถข้ามไปก่อนเพื่อรอรับเด็กนักเรียนให้ลงมาได้ โดยข้าพเจ้าคอยดันก้นเพื่อนๆให้เพื่อนปีนขึ้นบันไดรถไฟไปลงอีกฟาก สุดท้ายเหลือข้าพเจ้าคนเดียว

  พอข้าพเจ้าจะปีนขึ้นไปก็นึกแผลง ๆ เลยมุดลอดใต้รถไฟแทน ขณะที่มุดเข้าไปใต้รถไฟนั้น ข้าพเจ้าได้ยินเสียงคนเรียกว่า... "ไอ้หนูอย่าซน รีบถอยออกมาเร็ว ๆ" ข้าพเจ้ามองจากใต้รถไฟไปด้านหลัง...เห็นข้อเท้าและชายจีวรพระสีเหลืองๆยืนรออยู่...จึงรีบคลานถอยหลังออกจากใต้ท้องรถไฟขบวนนั้น

  พอหัวพ้นล้อรถไฟแค่วินาทีเดียว รถไฟก็เคลื่อนที่ทันทีขนาดว่าล้อรถโดนปลายปีกหมวกลูกเสือ เลยตกใจหงายท้องใจสั่นไปหมด ถ้าตอนนั้นไม่ถอยออกมา ก็ไม่พ้นล้อเหล็ก

  พอมองหาพระสงฆ์ที่เรียกให้ออกมาก็ไม่มีใครอยู่เลย ขณะนั้นข้าพเจ้าแขวนเหรียญท่านเจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก เพียงเหรียญเดียว!!!! เรื่องนี้เป็นประสบการณ์หลวงพ่อกับของวิเศษที่จำได้ครั้งแรกในชีวิต ของวิเศษหลวงพ่อธมฺมวิตกฺโกวัดเทพศิรินทรฯ

ตอนรอดรถไฟแขวนเหรียญพิมพ์นี้


  ข้าพเจ้ายังแขวนเหรียญนี้จนเรียนจบสอบเข้าชั้นมัธยมก็ยังแขวนอยู่ จนกระทั่งไปเข้ากิจกรรมลูกเสือที่ค่ายลูกเสือกำแพงแสน จ.นครปฐม ไปกางเต็นท์ในบริเวณที่กำหนด มีการใช้มีดบ้างขวานบ้างตัดกิ่งไม้มาทำกิจกรรม เช่นทำเสา ทำฟืน

  ในระหว่างที่ทุกคนก้มๆเงยๆปรับพื้นเพื่อกางเต้นท์ อยู่ๆก็มีมีดปลิวมาเฉี่ยวข้าพเจ้าไปนิดเดียว ปรากฏว่าไอ้เพื่อนทางด้านหลัง มันใช้มีดฟันกิ่งไม้เพื่อเอามาทำเสาหน้าเต้นท์ แต่มีดดันชำรุดด้ามหลวม พอฟันกิ่งไม้อย่างแรง ใบมีดจึงหลุดจากด้ามพุ่งมาทางข้าพเจ้า เฉียดไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด เพื่อนก็ฮือฮาว่าข้าพเจ้ามีของดี

  ตอนกลางคืนไอ้เพื่อนร่วมเต้นท์มันกลัวผี จึงอ้อนวอนขอยืมเหรียญท่านเจ้าคุณนรฯไปห้อยคอ ขัดไม่ได้ก็ให้มันยืมไป ในที่สุดก็ไม่ได้คืน..ซะงั้น

ภาพต้นแบบเหรียญสังฆาฏิ

เมื่อถึงวัยทำงานใหม่ๆ ข้าพเจ้าเอาเหรียญท่านเจ้าคุณนรฯรุ่นสังฆาฏิไปเลี่ยมแขวนติดตัวองค์เดียว วันหนึ่งขับมอเตอร์ไซด์กลับเข้าบริษัท ตอนนั้นยังขับไม่แข็ง โดนรถยนต์เฉี่ยวจนเสียหลัก มอเตอร์ไซด์ล้มไถล ข้าพเจ้ากระเด็นหัวกระแทกกับเสาเหล็กที่ตัดเป็นตอสูงเท่าหน้าแข้ง แล้วตกใจนั่งงงๆอยู่กับที่ แถมมอเตอร์ไซด์ก็ยังไถลมาทับคร่อมตัวข้าพเจ้าเสียอีก มีคนใจดีวิ่งมาช่วยหลายคน ใครๆต่างนึกว่าข้าพเจ้าคงเจ็บหนัก

  ปรากฏว่าข้าพเจ้าไม่เป็นอะไรเลย แค่ตะเข็บกางเกงตรงก้นขาด ไฟหน้าแตกหลุดออกมา ไฟเลี้ยวหัก แกนบีบคลัทช์หัก แฮนด์มอเตอร์ไซด์บิดไปเกือบ 90 องศา จนขับรถไม่ได้

  หลังจากนั้นก็ไม่ได้อาราธนาพระท่านเจ้าคุณนรฯมาแขวนอีก เพราะแขวนทีไร พวกรุ่นพี่บริษัทชอบมาขอ ไม่ให้ก็ไม่ได้ ยังเจ็บใจจนทุกวันนี้

  รุ่นพี่คนหนึ่งมาไถพระท่านเจ้าคุณนรฯพิมพ์ใบโพธิ์เนื้อผงจากข้าพเจ้า วันหนึ่งไปเมาเหล้าทะเลาะกับจิ๊กโก๋โต๊ะข้างๆ โดนตีด้วยขวดเบียร์ ขวดเบียร์แตกกระจายแต่ตัวคนไม่เป็นอะไรเลย เหตุการณ์นี้ทำให้คนในบริษัทมารุมไถพระท่านเจ้าคุณนรฯจากข้าพเจ้าอีกหลายองค์ 

  ตรงนี้จำไว้ให้ดีๆ จะพูดถึงครั้งเดียวว่า....เรื่องรายละเอียดของวัตถุมงคลท่านเจ้าคุณนรฯในยุคนั้น ไม่เหมือนในสมัยนี้หลายเรื่อง คนรุ่นก่อนข้าพเจ้าและรุ่นข้าพเจ้าที่เป็นรุ่นเด็กแต่ทันรู้ข่าว จะเล่นหาและไม่เล่นวัตถุมงคลท่านเจ้าคุณนรฯบางรุ่นที่ต่างจากปัจจุบัน

เหรียญปรกจเรของข้าพเจ้า


ปรกจเรด้านหลัง


  ในปัจจุบันถ้าจะเสาะหาวัตถุมงคลท่านเจ้าคุณนรฯ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร เอาเป็นว่าถ้าเป็นคนรุ่นก่อนข้าพเจ้าและอย่างน้อยก็รุ่นข้าพเจ้าที่เป็นรุ่นเล็กในยุคนั้น ถ้าราคาพอสู้ไหว จะเก็บพระผงใบโพธิ์(เพราะดูโค๊ตง่ายมาก) เหรียญสังฆาฏิ ต หางยาวที่ราคาไม่แรง หรือถ้าพิมพ์นิยมราคาแพงขึ้นก็ ต หางสั้น และเหรียญปรกจเร ส่วนพระพิมพ์อื่นๆจะแพงมาก แถมหลายพิมพ์คนยุคก่อน...ไม่เล่น


    ท่านเจ้าคุณนรฯเคยบอกไว้ว่า ถ้าไม่มีวัตถุมงคลของท่าน เมื่อถึงคราวคับขัน ก็ให้อธิษฐานออกนามท่านว่า ธมฺมวิตกฺโก ก็จะช่วยได้

   ธมฺมวิตกฺโก อ่านว่า..ธัมมะวิตักโก

บทความ จากความระลึกถึงหลวงพ่อเจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก

ภาพ จากสื่ออินเทอร์เน็ต และเหรียญของข้าพเจ้า





 

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2567

หลวงพ่อกับของวิเศษ 7 หลวงพ่อสุดวัดกาหลง


หลวงพ่อสุด วัดกาหลง จ.สมุทรสาคร

  ในช่วงที่ข้าพเจ้าเรียนช่างกล (เกือบ 50ปีแล้ว) มีพระอาจารย์รูปหนึ่งดังมาก ๆ และวัตถุมงคลเหรียญของท่านจะมีสัญลักษณ์เด่นเป็นรูปเสือ จะเรียกกันว่า เหรียญเสือเผ่น เหรียญเสือหมอบ พระอาจารย์รูปนี้ก็คือ หลวงพ่อสุด วัดกาหลง

  ครั้งแรกที่ข้าพเจ้ารู้จักหลวงพ่อสุดก็เพราะแถว ๆ บ้านย่านเวิ้งนาครเขษมที่ย่าอาศัยอยู่มีคนนับถือหลวงพ่อสุดอยู่ด้วย พอเขาจัดกฐินผ้าป่าก็มาขอความร่วมมือเป็นกรรมการ ย่าก็ร่วมทำบุญด้วยทุกครั้ง ได้รับแจกเหรียญหลวงพ่อสุดและผ้ายันต์สีแดง เหตุที่ข้าพเจ้ารู้จักหลวงพ่อสุดก็เพราะเห็นเหรียญมีรูปเสือดูสวยดี พอถามย่าถึงได้รู้ว่าเป็นหลวงพ่อสุด เหรียญนี้เป็นรุ่นเสือหมอบ

  ต่อมาได้รับเหรียญจากหลวงพ่ออีก ข้าพเจ้าจึงเลี่ยมพลาสติกให้น้องชายคนโตห้อยคอไว้ ภายหลังน้องซ้อนมอเตอร์ไซค์เพื่อนไปเที่ยวตามประสาวัยรุ่น แล้วรถลื่นไถลล้มกระเด็น มอเตอร์ไซค์เสียหาย มือจับเบรกหน้าหัก คันเหยียบเกียร์งอ กระจกรถหัก คนขับเจ็บหนัก แต่น้องชายไม่เป็นอะไรเลย

  เมื่อข้าพเจ้าเรียนช่างกลก็เข้าสู่ยุคฝ่าดงตีน เคยผ่านประสบการณ์ยกพวกตีกันหลายครั้ง เคยบุกเดี่ยวฝ่าดงตีนไปหาสาวพาณิชย์ก็หลายครั้ง... แหม ชักคิดถึงเธอคนหนึ่ง และเธอ ๆ ทั้งหลาย... แล้ววันหนึ่งก็ได้เห็นประสบการณ์วัตถุมงคลหลวงพ่อสุด วัดกาหลง เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า แต่เกิดกับเพื่อน เกิดในตอนที่พวกข้าพเจ้าตีกันกับอาชีวะแห่งหนึ่ง ซึ่งข้ามถิ่นมาหาเรื่องถึงถิ่นข้าพเจ้า แบบนี้ก็ต้องยกพวกตีกัน... ตามระเบียบ

  วันนั้นพวกข้าพเจ้า 6 คนและรุ่นน้องอีก 1 ยืนอยู่แถวป้ายรถเมล์ ก็แค่รอรถเมล์จะไปเที่ยวต่อแล้วค่อยกลับบ้าน อยู่ ๆ มีรถเมล์มาจอด บนรถมีอาชีวะโรงเรียนหนึ่งมากันเต็มคันรถร่วม 20 คน พวกนี้มองลงมาที่พวกข้าพเจ้า ตอนนั้นข้าพเจ้าเห็นพวกฝ่ายตรงข้ามมีคนมากกว่า ก็รู้ตัวแล้วว่าพวกนี้ต้องลงรถมาหาเรื่องแน่ ๆ ...ก็ต้องตีกันอีกแล้ว


  ฝ่ายตรงข้ามลงรถมาจริง ๆ กรูเข้ามารุมตีพวกข้าพเจ้า จำได้แม่นว่าข้าพเจ้าถีบรุ่นน้องที่มันเป็นเด็กเรียน ให้มันกระเด็นเข้าไปหลบอยู่ในตึกแถวตรงนั้นพอดี แล้วเหตุการณ์ก็ชุลมุน ข้าพเจ้านึกในใจว่า วันนี้พวกกูคงแย่เพราะฝ่ายเราเหลือแค่ 6 คน แต่ฝ่ายตรงข้ามล่อเข้าไปร่วม 20 กว่าคน ครั้งนี้ซวยแน่ แถมเสียฟอร์มอีกต่างหาก เพราะนี่มันถิ่นเรา โดนมันบุกเข้ามาหยามถึงที่

  โชคดีหน่อยที่อาชีวะฝ่ายตรงข้ามไม่ได้มีอาวุธกันทุกคน แต่ฝ่ายข้าพเจ้ามีขวานเล็ก 1 เล่ม เหล็กฟุต 2 อัน จึงยังพอปะทะได้บ้าง ยังไม่ถึงกับต้องลงไปกองให้ถูกกระทืบ ข้าพเจ้าต่อยล้มไปคนหนึ่ง แล้วไปกระทืบอีกคนหนึ่ง แล้วข้าพเจ้าโดนแทงที่สีข้าง ...แทงไม่เข้า... เรื่องนี้จะเล่าในเรื่องหลวงพ่อแดงวัดเขาบันใดอิฐ

  เชื่อหรือไม่ว่า ขณะที่คิดว่าแย่แล้ว ปรากฏว่า ชาวบ้านแถวนั้นโยนไม้หน้าสามไม้เท้ามาให้พวกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคว้าได้อันหนึ่งก็ตีซ้ายตีขวา มองเห็นเพื่อนที่มีขวานถูกฟันแทงที่กลางหลัง จึงวิ่งเข้าไปช่วยเอาไม้ตีคนที่แทงจนกระเด็นวิ่งหนี พวกข้าพเจ้าเริ่มไม่เสียเปรียบฝ่ายตรงข้าม เพราะชาวบ้านเป็นใจส่งอาวุธยาวให้

  วันนั้นเห็นเลยว่าฝ่ายตรงข้ามหัวแตกหลายคน สักครู่วงวิวาทก็สลายตัวเพราะมีคนตะโกนว่าตำรวจ ๆ เพื่อน ๆ รีบเข้ามาดูข้าพเจ้ากับไอ้คนที่มีขวาน เพราะเห็นว่าโดนแทงทั้งคู่ ปรากฏว่าข้าพเจ้าและเพื่อนไม่เป็นอะไร แค่เสื้อขาด

ภาพจาก คมชัดลึก เหรียญเสือเผ่น พ.ศ.2517


  เพื่อนที่โดนแทงไม่เข้านั้น เป็นคน จ.สมุทรสาคร แขวนเหรียญหลวงพ่อสุด วัดกาหลง รุ่นเสือเผ่น พ.ศ.2517 แค่เหรียญเดียว เพื่อนเป็นคนมหาชัย ทั้งบ้านมันเป็นศิษย์หลวงพ่อสุด และยังมีเพื่อนสมุทรสาครอีกคนที่โดนฟันด้วยมีด แต่ไม่เป็นอะไรเหมือนกัน ไอ้นี่เป็นไทยเชื้อสายมอญ แขวนเหรียญหลวงพ่อที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก จะแยกเล่าเรื่องนี้ภายหลัง

      พอปิดเทอม แม่เพื่อนคนนี้ให้บวช พวกข้าพเจ้าก็ไปงานบวชกันพร้อมหน้า คืนก่อนบวชไอ้เพื่อนดื่มระดับแดรกเหล้าจนเมาเละ อ้วกแตกถอดเสื้อหมดแรงนอนหลับไป ข้าพเจ้ากับเพื่อนนั่งดื่มเหล้าต่อ แต่แล้วก็เกิดเรื่องขึ้น คือ

  มีตะขาบตัวยาวเกือบ 1 ฟุต เลื้อยขึ้นมาบนตัวเพื่อนที่เมาหลับ พวกข้าพเจ้าตกใจรีบหาไม้เพื่อจะเขี่ยตัวตะขาบออกไป แต่แถวนั้นไม่มีไม้เลย จึงร้องบอกเพื่อนให้ตื่น เพื่อนขยับตัวมือโดนตะขาบ ตะขาบกัดท้องเพื่อนทันที เห็นกันต่อหน้าจะ ๆ อย่างนี้ ต่างคนก็คิดว่า ฉิบหายแล้ว มึงไม่ได้บวชแน่... แล้วไอ้เพื่อนที่โดนตะขาบกัดพุง มันงัวเงียเอามือจับตะขาบ แล้วโยนทิ้งไปง่าย ๆ ซะงั้น

  เมื่อเข้าไปดูตัวเพื่อน ปรากฏว่าตะขาบกัดไม่เข้า ที่พุงมีรอยเขี้ยวบุ๋ม ๆ เท่านั้น ที่คอเพื่อนยังแขวนเหรียญเสือเผ่นเหรียญเดิม ไอ้เพื่อนนอนต่อเพราะเมาจัด


  
จากงานบวชนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นว่า พี่ ๆ ของเพื่อนต่างก็สักยันต์ตะกร้อของหลวงพ่อสุด วัดกาหลง กันทุกคน ขนาดพี่สาวก็ยังสักยันต์ตะกร้อ ส่วนพวกพี่ชายแต่ละคน ล้วนมีประสบการณ์ตีรันฟันแทงรอดตัวมาได้ทุกคน ทุกคนสักยันต์ตะกร้อและแขวนเหรียญเสือเผ่น มีพี่คนหนึ่งแกเล่าว่า ไปโดนรุมที่ตลาดมหาชัย โดนแทงโดนฟันไม่เข้าเลยแม้แต่ครั้งเดียว

เหรียญเสือหมอบ

  เสียดายว่า เมื่อเพื่อนพาไปกราบหลวงพ่อสุด ที่วัดไม่มีเหรียญเสือเผ่นแล้ว แต่ก็ได้รับเหรียญหลวงพ่อเป็นรุ่นเสือหมอบ ท่านว่าท่านเสกมาดีเหมือนกัน ใช้ได้เหมือน ๆ กัน

  เรื่องยันต์ตะกร้อนั้น ท่านว่าท่านเคยสานตะกร้อหวายมาก่อน แล้วตะกร้อมันทนทานดี ท่านจึงผูกยันต์ด้วยคาถาขลังๆเป็นยันต์ตะกร้อตะกร้อ

  หลวงพ่อสุด วัดกาหลงนี้ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า คงกระพันดีจริง ๆ

ประวัติโดยย่อของหลวงพ่อสุด

  หลวงพ่อสุด เกิดวันที่ 7 พฤษภาภาคม 2445 ตรงกับ วันพุธ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ณ บ้านค้อใหญ่ ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อ นายมาก มารดาชื่อ นางอ่อนศรี มีพี่น้อง 3 คน คือ 1.นางบุตรดี มูลลิสาร 2.นางสาวหวด สัตตัง 3.พระครูสมุทรธรรมสุนทร(ล.พ.สุด) เมื่อท่านมีอายุ 16 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2461 ที่วัดกลางพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด พระครูเม้า เป็นพระอุปัชฌาย์

  ต่อมาหลวงพ่อเดินทางไปเรียนทางธรรมที่กรุงเทพ สันนิษฐานว่าหลวงพ่อคงจะมาบวชเป็นพระที่วัดกาหลง จ.สมุทรสาคร และใน พ.ศ. 2481 ท่านมีอายุได้ 36 สอบได้นักธรรมชั้นเอก ณ สำนักเรียนวัดกาหลง

  หลวงพ่อสุดได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาวิชากรรมฐานกับหลวงพ่อรุ่งวัดท่ากระบือ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และไปเรียนวิชากับหลวงพ่อคงวัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม

  หลวงพ่อสุดชอบพอสนิทกันกับหลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลี นัยว่าหลวงปู่โต๊ะเป็นศิษย์พี่ร่วมพระอาจารย์เดียวกันคือหลวงพ่อรุ่งวัดท่ากระบือ

   หลวงพ่อสุดมรณภาพเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2526 ตรงกับ วันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน เวลา 13.15 น. สิริรวมอายุได้ 81 ปี 3 เดือน 8 วัน

 หลังจากท่านมรณภาพ ทางวัดได้เก็บรักษาสังขารของท่านไว้เพื่อให้ลูกศิษย์ได้มากราบอยู่หลายปี ในที่สุดได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดกาหลง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2545 ในวันนั้นเกิดอัศจรรย์ที่ไฟอันร้อนแรงไม่สามารถเผาร่างท่านให้ไหม้ไปทั้งหมด คงไหม้เฉพาะเนื้อหนัง ปรากฏเหลือโครงกระดูกโดยสมบูรณ์ ทางวัดจึงได้จัดเก็บโครงกระดูกของหลวงพ่อสุดวางไว้ในโลงแก้ว ปัจจุบันยังมีศิษย์ไปสักการะอยู่เสมอ

 


คาถายันต์ตระกร้อของหลวงพ่อสุด วัดกาหลง

(นะโม๓จบ) อะระหังพุทโธ นะอุตตะรัง ปิตตุ อุปิดตัง อะระหัง พุทธะสังมิ นะมะพะทะ อะระหัง พุทธะสังมิ กะระมะทะ อะระหังพุทธะสังมิ กิริมิทิ อะระหังพุทธะสังมิ จะภะกะสะ นะมะนะอะ นอกอ นะกะ กอออนออะ นะอะกะอัง อุทธัง อัทโธ โธอุท ธังอัท นะอุตตะรังวา ปะฏิฆาตายะ นะอุตตะรัง


เรื่องจากความทรงจำที่เพื่อนและพี่ๆศิษย์หลวงพ่อเล่าให้ฟัง
ประวัติหลวงพ่อสุดย่อความจากหนังสือวัด

ภาพ จากสื่ออินเทอร์เน็ต และเหรียญเสือหมอบของข้าพเจ้า