วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2567

หลวงพ่อกับของวิเศษ.10 พระครูพ่อ

 




พระครูพ่อ วัดบางกระเจ้า จ.สมุทรสาคร

  เรื่องของวิเศษของหลวงปู่หลวงพ่อของจ.สมุทรสาคร เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นมากับตัวเอง หรือได้พบเจ้าของประสบการณ์ของวิเศษแห่งหลวงพ่อนั้นๆ เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องครั้งที่ข้าพเจ้าเรียนช่างกล ชั้น ป.ว.ช. ซึ่งนานเกือบจะ 50 ปีแล้ว เป็นประสบการณ์ยกพวกตีกัน ฝ่ายข้าพเจ้า 7 คน ฝ่ายตรงข้ามมากันเต็มรถเมล์สาย 65 มีประมาณ 20 กว่าคน

  เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับครั้งที่ข้าพเจ้าถูกแทงด้วยเหล็กขูดชาร์ป แต่แทงไม่เข้า ตอนนั้นแขวนพระผงญาณวิลาสหลวงพ่อแดง และเพื่อนโดนฟันแขนไม่เข้า มันแขวนเหรียญเสือเผ่นหลวงพ่อสุดวัดกาหลง ในครั้งนั้นมีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่โดนฟันด้วยมีด แต่ฟันไม่เข้าเช่นกัน ก็คือเรื่องของวิเศษที่จะเล่าให้ฟังในครั้งนี้

  วันนั้นพอเลิกเรียนพวกข้าพเจ้ารวม 7 คน เดินไปรอรถเมล์โดยเดินย้อนขึ้นไปอีกป้ายข้างหน้า เพราะถ้ารอตรงป้ายประจำที่เป็นสุดสายรถเมล์พอดีนั้น คนจะรอขึ้นรถเมลเยอะ  พวกข้าพเจ้าเป็นพวกบ้านไกลทั้งนั้นต้องนั่งรถเมล์ยาวๆ เลยต้องไปดักขึ้นรถเมล์ที่ป้ายก่อนจะสุดสายรถ

  พวกข้าพเจ้ามีถึง 7 คน นับว่าเป็นขุมกำลังใหญ่เชียวแหละ พวกเราก็รอรถเมล์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรถเมล์สายที่เราไม่ได้รอเข้ามาจอดที่ป้าย พอมองขึ้นไปบนรถเมล์ ก็พบว่ามีพวกอาชีวะมากันเต็มคันรถ กะว่าไม่น้อยกว่า 20 คน ยังไม่รู้ว่าเป็นอาชีวะที่ไหน แต่ที่แน่ๆคือเป็นพวกอาชีวะโรงเรียนเอกชน ส่วนพวกข้าพเจ้าเป็นช่างกลวิทยาลัยเทคนิคของรัฐ

  เมื่อต่างฝ่ายต่างประเมินขุมกำลังกันแล้ว แน่นอนว่าพวกอาชีวะบนรถเมล์มีมากกว่าพวกข้าพเจ้าเยอะ พวกนี้จึงวิ่งกรูกันลงมารุมตีพวกข้าพเจ้า จากที่พวกนี้มี 20กว่าคนรุมพวกข้าพเจ้าที่มี 6 คน เพราะคนที่ 7 เป็นรุ่นน้อง ซึ่งข้าพเจ้าไล่ให้มันเข้าไปหลบในตึกแถวตรงนั้น ประมาณว่ารุ่นพี่ต้องคุ้มครองรุ่นน้อง

  ฝ่ายตรงข้ามมีอาวุธมาพร้อมหลายคนทั้งมีดไม้ พวกข้าพเจ้ามีขวานเล็กบาง 1 เล่ม ฟุตเหล็ก 2 อัน แต่จากฝ่าย 20กว่าคนรุม 6 คน ประเดี๋ยวเดียวก็เป็น 6 รุม 20 เพราะฝ่ายข้าพเจ้านั้น เคยฝึกมวย แถมที่ถิ่นของข้าพเจ้านั้น เป็นถิ่นค่ายมวยดังซึ่งพวกช่างกลสถาบันข้าพเจ้านั้น ได้ไปเรียนรู้มาบ้าง เป็นค่ายยอดมวยไทยดังในอดีต

  ครั้งนั้นข้าพเจ้าแขวนพระผงญาณวิลาสโดนแทงไม่เข้า เพื่อนคนหนึ่งแขวนเหรียญเสือเผ่นหลวงพ่อสุดโดนฟันไม่เข้า และอีกคนที่เป็นคน จ.สมุทรสาคร ไอ้นี่โดนฟันจนล้ม เพื่อนๆนึกว่าแย่แล้วต้องรีบเข้าไปช่วย ขณะที่ตีกันอยู่นั้น พวกชาวบ้านแถวนั้นโยนไม้ให้พวกข้าพเจ้าใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว จึงค่อยตีจนฝ่ายตรงข้ามเจ็บหลายคน แล้ววงวิวาทก็สลายเพราะกลัวโดนตำรวจจับ

  เพื่อนคนที่โดนฟันจนล้มลงไปนั้น ตอนแรกนึกว่ามันแย่แน่ๆ เพราะมันมีรูปร่างบอบบางผอมกะหร่อง พอสำรวจดูบาดแผล พบว่ามีรอยโดนฟันแดงๆเป็นทางยาวที่แขน แต่ไม่เข้าเนื้อเลย ในวันนั้นจึงพบประสบการณ์ของวิเศษของหลวงพ่อ 3 หลวงพ่อ ที่ทำให้หนังเหนียว คือ หลวงพ่อแดงวัดเขาบันใดอิฐ หลวงพ่อสุดวัดกาหลง และพระที่ไอ้เพื่อนสมุทรสาครตัวผอมมันแขวนก็คือ เหรียญพระครูพ่อ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินชื่อท่านเลย ประมาณว่าท่านยังไม่ดัง ข้าพเจ้าจึงรู้สึกสนใจของวิเศษของท่านพระครูพ่อ



  เพื่อนเล่าว่า พระครูพ่อเป็นพระอาจารย์วัดที่บ้านมันเอง แถวบ้านจะเรียกท่านว่า อาจารย์พ่อวัดบางกระเจ้า วัดอยู่คลองสุนัขหอนฝั่งเดียวกันกับวัดบางขุด(หลวงปู่อุ่น ที่ข้าพเจ้าเคยเล่าให้ฟังแล้ว)) แต่ท่าข้ามฟากวัดบางกระเจ้าอยู่ถึงก่อนท่าวัดบางขุด จะไปวัดบางขุดพอข้ามฟากคลองสุนัขหอนแล้วยังต้องเข้าไปอีก ส่วนวัดบางกระเจ้าอยู่ริมคลองสุนัขหอน เป็นย่านไทยเชื้อสายมอญ

  เหรียญพระครูพ่อที่เพื่อนแขวน เป็นรุ่นปี พ.ศ.2509 ทรงเสมาคว่ำ รูปท่านครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นยันต์ตรีนิสิงเห แต่ตัวเลขเป็นแบบเลขมอญ

  ข้าพเจ้าเห็นเพื่อนแขวนเหรียญพระครูพ่อแล้วโดนฟันไม่เข้า(ไม่ใช่ว่าฟันยื่นออกมาจากปากนะ) จึงอยากได้เหรียญพระครูพ่อ อยากไปกราบท่านบ้าง เพื่อนบอกว่าท่านพระครูพ่อเพิ่งมรณภาพ ข้าพเจ้านึกเสียดายที่พลาดพระอาจารย์ขลังไปอย่างเฉียดฉิว ต่อมาช่วงปิดเทอมเพื่อนคนนี้บวชที่วัดบางกระเจ้า ข้าพเจ้าจึงค่อยได้ไปเที่ยวที่วัดนี้ พอได้สอบถามถึงเรื่องท่านพระครูพ่อ ก็ยิ่งเสียดายที่มาไม่ทันกราบท่าน เพราะประวัติสายวิทยาคมไม่ธรรมดาเลย


เหรียญรุ่นประสบการณ์ที่เล่าไว้ในเรื่อง




ด้านหลัง


  ท่านพระครูพ่อเป็นศิษย์หลวงพ่อสงค์วัดบางปลา หลวงพ่อสงค์เป็นศิษย์ของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด(หลวงปู่นุต) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่แขกวัดบางปลา หลวงพ่อสงค์นี้ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่แขก

  พระอุปัชฌาย์ของพระครูพ่อคือหลวงปู่รอดวัดวังน้ำวน พระครูพ่อได้สืบทอดวิชาสายวัดบางปลาจากหลวงพ่อสงค์ และได้เรียนจากหลวงปู่รอดอีกด้วย แบบนี้นี่เองที่ท่านพระครูพ่อจึงเสกปลุกวัตถุมงคลได้ชลัง

  เหตุที่ท่านพระครูพ่อยังไม่ดังเป็นสากลนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมาจากการที่จะไปวัดบางกระเจ้าไปได้ยาก ต้องข้ามคลองสุนัขหอนไปอีกฝั่งที่เป็นฝั่งที่ติดอ่าวไทย สมัยข้าพเจ้าเรียนช่างกลยังไม่มีสะพานข้าม ต้องลงเรืออย่างเดียว ถ้าไปจากท่าน้ำที่ข้ามไปฝั่งวัดบางขุด จะต้องนั่งเรือย้อนกลับไปทางมหาชัยไป 2 หัวโค้งของคลองสุนัขหอน ก็จะถึงวัดบางกระเจ้าที่อยู่ติดแม่น้ำ แถบนี้เป็นย่านของไทยเชื้อสายมอญ

ประวัติพระครูพ่อโดยย่อ 

    พระครูพ่อ วัดบางกระเจ้า หรือ อาจารย์พ่อ ธัมมิโก วัดบางกระเจ้า ตำบลบางกระเจ้า อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร พื้นเพท่านเป็นชาวปากบ่อ(ข้าพเจ้าเข้าใจว่าน่าจะเป็น บางบ่อ) สมุทรสาคร เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ แต่ไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

   ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ อาจารย์พ่อ มีอายุได้ ๒๑ ปี ได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางปลา ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า "ธมฺมิโก" โดยมีหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อสงฆ์ วัดบางปลา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์กล่ำ วัดบางปลา เป็นพระอนุสาวนาจารย์

   หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางปลา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมตามตำราของหลวงปุ่นุตย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางปลาที่คนเรียกกันว่าหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด โดยมีหลวงพ่อสงค์เป็นผู้ถ่ายทอดให้

         นอกจากนี้ ท่านยังได้ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านอีกด้วย จนท่านมีวิชาแก่กล้า

         ต่อมา ชาวบ้านวัดบางกระเจ้าพร้อมใจกันเดินทางไปที่วัดบางปลา เพื่อนิมนต์พระอาจารย์พ่อ มาเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

  ท่านพระครูพ่อสร้างเหรียญรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ.2497 เป็นเหรียญทรงเสมาคว่ำ ด้านหน้าเป็นรูปท่านครึ่งองค์ มีอักษรว่า อาจารย์พ่อ ด้านหลังเป็นยันต์ตรีนิสิงเหแบบตัวเลขไทย มีชื่อวัดแกะเป็น วัดบางกะเจ้า โดยคำว่ากระไม่มี ร เรือ

พระครูพ่อปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ นับรวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี ๕๙ พรรษา.

เรื่องจากความทรงจำ และประวัติจากเฟจพระครูพ่อ

ภาพเหรียญ เหรียญสะสมของข้าพเจ้า




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น