วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559

กฏแห่งกรรม เรื่องที่ ๒๐


กฎแห่งกรรม
บทประพันธ์ของ ท.เลียงพิบูลย์
เรื่อง เสียสัตย์

วันหนึ่งเมื่อปลาย  พ.ศ.  ๒๕๐๒  มีเพื่อนผู้หนึ่งมาหาข้าพเจ้า  เพื่อนผู้นี้ได้ไปประกอบอาชีพอยู่ต่างจังหวัด  นานทีปีหนจึงจะได้เข้ามาธุระในกรุงเทพฯ  เลยถือโอกาสมาเยี่ยมข้าพเจ้าในฐานะที่ชอบพอรักใคร่  คิดถึง  และจากกันไปนาน  เราดีใจที่ได้พบกันสนทนาตามอัธยาศัย  ไต่ถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน  หลังจากสนทนาเรื่องอาชีพทุกข์สุขและดินฟ้าอากาศกันพอสมควรแล้ว  เพื่อนผู้นั้นพูดว่า

มีเรื่องเศร้าใจเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ต่อหน้า  ผมอยากจะเล่าให้คุณฟัง  บางทีเรื่องนี้อาจเป็นคติเตือนใจแก่บุคคลทั่วไป  และผู้ที่มีอาชีพอย่างเดียวกัน  อย่าให้เกิดเหตุเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยไม่รู้จักสิ้นสุด

เรื่องของเขานั้นมีดังนี้

สถานที่ผมอยู่นั้นห่างไกลจากตัวจังหวัด  เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในป่าใกล้ลำน้ำ  มีโรงเลื่อยจักร  และมีตลาดเล็ก ๆ สมกับสภาพของบ้านป่า  ชาวบ้านนั้นส่วนมากมีอาชีพทำไม้และเป็นกรรมกรรับจ้างแรงงาน  บ้างก็มีช้างไว้สำหรับจ้างลากจูงไม้ซุง  แม้เวลานี้ความเจริญจะทำให้มีรถบรรทุกและรถแทรกเตอร์ลงลากจูง  เครื่องยกกว้านและเครื่องทุ่นแรงอื่นๆมากมายก็ดี  แต่ช้างก็ยังเป็นสัตว์ที่จำเป็นจะต้องใช้งานเพื่อประโยชน์  จะขาดเสียมิได้  ฉะนั้น ที่ผมอยู่จึงมีช้างสำหรับใช้งานจำนวนไม่น้อย  ช้างเหล่านั้นฝึกใช้การได้ดี  ทั้งยังรู้เวลาทำงานและพักงานเลิกงานเป็นสำคัญ

   วันนั้น  เผอิญผมอยู่ในที่นั้นด้วยจึงเห็นเรื่องราวได้ตลอด  คือมีควาญช้างคนหนึ่งรับเหมาขนไม้ซุงซึ่งกองไว้ใกล้ๆกับโรงเลื่อย  ขนลงไปไว้ทีท่าน้ำ  เพื่อรอเวลาน้ำมากจะได้ผูกแพล่องไป  แกเริ่มใช้ช้างลากจูงไม้ซุงกองนั้น  ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงวัน  ยังคงเหลืออีก ๒ ต้นก็จะหมดกอง  ก็พอดีสัญญาณทางโรงเลื่อนดังขึ้น  หมายถึงเวลาเที่ยงเป็นเวลาที่หยุดพัก  ควาญผู้นั้นไสช้างขึ้นจากท่าน้ำพอดี  แล้วไสช้างให้เข้าไปที่กองซุง  แต่ช้างนั้นชะงักอยู่ไม่ยอมเดินเข้าไป  เพราะถือเป็นเวลาเที่ยงสำหรับพักผ่อน  ช้างอื่น ๆ พากันหยุดพัก  ควาญได้นำไปใต้ร่มไม้ใหญ่ให้หญ้าให้น้ำตามที่เคยปฏิบัติกันมา  พวกกรรมกรต่างก็ไปหาที่ร่มไม้แล้วก็แก้ห่อข้าวออกมานั่งรับประทานกัน  บ้างก็สรวลเสเฮฮาหยอกล้อซึ่งกันและกันตามประสาของผู้ใช้กำลังเป็นแรงงาน  ไม่ต้องมีภาระหนักใจรับผิดชอบในสิ่งใดทั้งสิ้น  ส่วนควาญช้างผู้ขยันเห็นช้างชะงักไม่ยอมเข้าไป  ก็พูดขึ้นว่า

ไอ้เพื่อนยาก  ลากลงไปตีนท่าอีกสักต้นเถิด  แล้วจึงค่อยพักผ่อนกินหญ้ากินน้ำ  คงไม่เสียเวลามากนัก

   เมื่อช้างได้ยินดังนั้น  ก็ยอมตรงเข้าฉุดลากซุงลงไปท่าน้ำต่อไป  พวกเพื่อนๆควาญช้างและกรรมกรที่นั่งรับประทานอาหารอยู่  ต่างก็นึกว่า  วันนี้ทำไมทั้งช้างและคนช่างขยัน  แล้วก็ตะโกนล้อเล่นขันๆแกมตลกพากันหัวเราะสนุกสนาน  เมื่อช้างขนซุงลงไปท่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควาญก็ไสช้างขึ้นมาทางเก่า  เพื่อจะนำช้างไปพักใต้ร่มไม้  ครั้นผ่านกองซุงยังเหลืออีก ๑ ต้นก็ไสช้างตรงเข้าไป  แล้วพูดว่า

มันเหลืออยู่ต้นเดียวเท่านั้น  ทิ้งไว้ทำไม  ทำเสียให้มันเสร็จเรียบร้อย  บ่ายจะได้ทำงานอื่นต่อไปไม่ต้องเสียเวลา

   แต่คราวนี้ช้างไม่ยอมทำงาน  ดื้อนิ่งยืนเฉยหูกางอยู่  ควาญเห็นเช่นนั้นก็มีความโกรธ  ร้องด่าว่าไปหลายคำล้วนแต่หยาบๆ แถมยังว่า

อ้ายมึงนี่มันสันดานขี้เกียจและจองหอง  ซุงเพียงต้นเดียวแค่นี้มึงจะทำให้เสร็จก็ไม่ยอมทำ  มึงคอยดู  กูจะให้มึงอดหญ้าอดน้ำ  มึงลองดีกับกูก็ให้รู้ไป

   ว่าแล้วก็จะเอาชนะช้างให้ได้  พลางเอาขอสับแล้วเอาส้นเท้ากระทุ้งหูสองข้าง

   ช้างนั้นเมื่อเห็นควาญโกรธ  ก็ยอมตรงเข้าไปฉุดลากไม้ซุงต้นสุดท้ายลงไปท่าน้ำแต่โดยดี  ถึงกระนั้นยังไม่เป็นที่พอใจของควาญ  แกบ่นด่าไปตลอดทาง

    ครั้งถึงท่าริมน้ำ  ช้างก็วางซุงลงเรียบร้อย  แล้วก็ใช้งวงตระหวัดขึ้นบนหลังรัดตัวควาญซึ่งไม่ทันรู้ตัว  และกำลังบ่นอย่างคนปากไม่อยู่สุข  แล้วจับฟาดลงมากับพื้นริมตลิ่งท่าน้ำขาดใจตายทันที  ท่ามกลางหมู่กรรมกรที่คอยผูกแพไม้ซุงและพวกล่องแพ  ต่างก็เห็นเหตุการณ์โดยตลอด  แต่ไม่สามารถจะเข้าช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที  เพราะมัวตกตะลึง  และไม่นึกว่าเหตุร้ายแรงจะเกิดขึ้น

   ช้างนั้นเมื่อจับควาญฟาดลงมาถึงแก่ความตายแล้ว  เหมือนจะรู้สึกสำนึกตัวได้  จึงตรงเข้าไปยืนเอาขาทั้งสี่คร่อมศพไว้น้ำตาไหลพราก  พลางส่ายหัวอยู่ไปมา  เหมือนจะรู้ความผิดที่ตัวได้กระทำลงไป  และน้ำตาไหลคร่ำครวญ  อาลัยควาญซึ่งเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกันมาแต่เก่าก่อน  ต้องมาดับชีพลงเพราะอารมณ์โกรธของตนเพียงวูบเดียว

   ข้าพเจ้าฟังเพื่อนเล่าแล้วก็พลอยสลดใจไปด้วย  มานึกและคิดว่า  แม้แต่ช้างซึ่งเป็นเพียงสัตว์เดียรัจฉานยังรู้จักโกรธ  ในเมื่อมนุษย์ผู้ซึ่งเจริญแล้วไม่รักษาคำพูด  เอาแต่ประโยชน์ของตัวเองเป็นใหญ่  ไม่ยอมเห็นอกเห็นใจช้าง  ซึ่งเป็นสัตว์ที่นำผลประโยชน์มาให้  สัญญาจะให้พักก็ไม่ให้ตามสัญญา  ครั้งช้างจะไม่ยอมทำตามก็มีอารมณ์โกรธ  ไม่นึกถึงเหตุผลและคำที่ตัวพูดไว้  ดูถูกว่าช้างเป็นสัตว์ที่อยู่ใต้อำนาจของตน จะทำอะไรก็ทำตามความชอบใจ  ขาดความเมตตาปราณี  จึงต้องจบชีวิตอย่างน่าอเนจอนาถใจ

   เมื่อหวนมานึกถึงมนุษย์เราทุกวันนี้  มีจิตใจเสื่อมทรามลงมิใช่น้อย  มีข่าวฆ่าฟันกันตายในหน้าหนังสือพิมพ์มากมาย  เหลือที่จะจดจำได้เกือบจะเป็นข่าวธรรมดา  ผิดกับสมัยก่อนนานทีปีหนกว่าจะมีข่าวฆ่ากันตาย  เห็นจะเป็นเพราะสมัยก่อนคนกลัวบาป  และมีสัตย์มากกว่าคนสมัยนี้  แต่คนสมัยนี้ส่วนมากมีแต่คำพูดไม่แน่นอนพูดกลับไปกลับมา  มีแต่ความหลอกลวงไม่รักษาคำพูด  ไม่มีศีลสัตย์  ไม่มีความอายต่อบาป  แม้แต่ช้างซึ่งเป็นสัตว์ที่ไร้เดียงสา  ก็ยังมีความโกรธแค้นอาฆาตจนทนไม่ไหว  ต้องสังหารควาญถึงแก่ความตายเช่นในเรื่องนี้

   หากมนุษย์เรายังมีชีวิตจิตใจเสื่อมทรามไม่รักษาความสัตย์  เอาแต่อารมณ์ของตนเป็นใหญ่  เห็นประโยชน์ของตนเป็นสำคัญกว่าสิ่งอื่น  ขาดความเมตตา  คนผู้นั้นย่อมจะมีแต่ศัตรูมากกว่ามิตร  และชีวิตย่อมจะไม่ยั่งยืนเหมือนผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์  รักษาสัตย์  เห็นอกเห็นใจ  มีจิตเมตตารู้ให้อภัย    คนผู้นั้นย่อมจะมีแต่มิตร  ปราศจากศัตรูและภัยอันตราย  จะไปไหนก็ไม่ต้องหวาดระแวงคอยระวังภัย  นี่ก็เป็นรางวัลชิ้นหนึ่งของผู้ที่ประพฤติแต่กรรมดี  ที่ทันตาเห็นในชาตินี้ก็คือ  ความสบายใจที่ปราศจากศัตรู

ขอความดีงามจงบังเกิดกับท่านผู้อ่าน
ขออุทิศแด่ท่านอาจารย์ ทองหยก เลียงพิบูลย์ เจ้าของวรรณกรรมอิงธรรมะชุดนี้
และขอขอบพระคุณท่าน พลเรือเอก ทวีชัย เลียงพิบูลย์ และทายาท(เจ้าของลิขสิทธิ์)