วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560

กฏแห่งกรรม เรื่องที่ ๒๑..คนบ้านนอก



 กฏแห่งกรรม
 วรรณกรรมอมตะ  ของ ท.เลียงพิบูลย์
 เรื่อง คนบ้านนอก

(วรรณกรรมชุดกฏแห่งกรรมนี้ เมื่อแอดมินหยิบขึ้นมาอ่านคราวใด ก็จะต้องเกิดอาการสำรวมจิตใจขึ้นมาทุกครั้ง และต้องระลึกว่าช่วงนี้เราได้ทำอะไรที่ย่อหย่อนต่อคุณงามความดีไปบ้าง นึกแล้วก็เหมือนกับเป็นการเตือนตนเองให้ทำดีให้มากๆ และให้เกรงต่อบาป ละอายใจที่จะกระทำการที่ไม่ดีทั้งหลาย) 

เช้าวันหนึ่ง ข้าพเจ้าหยิบหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นมาอ่านก่อนที่จะรับประทานอาหาร  ได้เห็นข่าวประจำวันที่น่าสนใจ  มีชื่อของบุคคลผู้หนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเคยรู้จักมาก่อน  ถูกนำมาเป็นข่าวในเรื่องจ่ายเช็คไม่มีเงินในธนาคาร  เจ้าทุกข์ได้แจ้งให้ทางตำรวจจัดการ  ข้าพเจ้ารู้สึกสลดใจมาก  เพราะเมื่อประมาณปีเศษมาแล้ว  นับย้อนหลังจากเช้าวันนั้น  ข้าพเจ้าได้รับเชิญไปรับประทานอาหารที่บ้านของชายผู้เป็นข่าวนี้  จำได้ว่าวันนั้นไปถึงราว  ๑๘.๐๐ น.  มีแขกซึ่งได้รับเชิญมาก่อนหน้าข้าพเจ้า  ทั้งหญิงชายประมาณ ๘-๙ คน  งานนี้เจ้าภาพไม่ได้บอกว่าเป็นงานอะไร  ผู้รับเชิญจึงจัดของขวัญไม่ถูก  ฉะนั้น ส่วนมากจึงไม่มีอะไรติดมือไป  เพียงแต่ไปร่วมรับประทานอาหารธรรมดา  แต่ก็มีผู้เอาช่อดอกไม้งามๆสำหรับปักแจกัน  และกระเช้าดอกไม้หลากสีไปด้วยหลายท่าน

   เจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้กว้างขวางและมีใจนักเลงผู้หนึ่ง  ตามที่รู้กันทั่วไปว่ายังเป็นโสดอยู่  ในจำนวนแขกนี้เป็นสุภาพสตรีทั้งสาวสวยและไม่สาวอีกหลายคน  มีที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักและไม่เคยรู้จัก  คิดว่าในจำนวนหญิงสาวเหล่านี้  คงจะมีคนใดคนหนึ่งต้องเป็นคู่หมายของเจ้าบ้านรวมอยู่ด้วย

   เมื่อข้าพเจ้าได้รับการแนะนำให้รู้จักกับแขกอื่นๆ ทั้งชายหญิงที่ยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอย่างทั่วถึงกันแล้ว  เราก็ได้ร่วมสนทนากันด้วยอัธยาศัยไมตรี  บางคนก็ดื่มสุราพลางคุยพลางอย่างสนุกสนานเป็นกันเอง  ข้าพเจ้าแม้จะไม่ดื่มสุรา   แต่ก็เข้ากับพวกที่ชอบดื่มได้อย่างสนิทสนม

   จนกระทั่งจวนพลบค่ำ  มีหญิงชราผู้หนึ่งปรากฏตัวในบ้าน  สังเกตได้ว่าเป็นชาวชนบททั้งกิริยาท่าทางและเครื่องแต่งกาย  แกหิ้วชะลอมใส่ของทั้งสองมือ  มีสีหน้าและกิริยาตื่นเล็กน้อย  เมื่อเห็นมีแขกมากหน้าหลายตาในบ้าน  ทำให้แกชะงัก  แล้วเดินเลี่ยงเลาะข้างบ้านมุ่งตรงไปบ้านคนใช้  ซึ่งอยู่ข้างครัวห่างจากบ้านทางด้านหลัง

   มีเพื่อนผู้หนึ่งถามเจ้าบ้านว่าใครมาหา  เจ้าบ้านบอกว่าญาติของแม่ครัว  แม้คำพูดและกิริยาที่ตอบจะไม่สนใจต่อหญิงชราผู้เป็นญาติของแม่ครัวผู้นั้นก็จริง  แต่สังเกตเห็นว่า  เจ้าบ้านได้แฝงความไม่พอใจในสีหน้าอย่างชัดเจน

   จากนั้น  ทุกคนรวมทั้งข้าพเจ้าก็ไม่ได้สนใจกับหญิงชราคนนั้นต่อไปอีก  เราคงสนทนาสรวลเสเฮฮากันต่อไป  สุราผสมกับโซดาแก้วแล้วแก้วเล่า  ความสนุกเพิ่มขึ้นตามจำนวนของสุราที่หมดลงไป  เสียงพูดคุยหรือหยอกล้อ  ตลอดจนเสียงหัวเราะที่ประหยัดและอดออมอยู่เมื่อแรก  ก็ค่อยระบายออกจะผาดโผนเพิ่มขึ้น  บางคนก็พูดล้อเลียนหยอกเย้าสุภาพสตรีอย่างสนิทสนม  ความเกรงอกเกรงใจซึ่งกันและกันดูเหลือน้อยเต็มทน  อาหารหนักยังไม่ทันยกมาตั้งโต๊ะ  พวกแขกนั่งดื่มต่างก็มึนเมาไปตามๆกัน  ต่างผลุดลุกผุดนั่ง  ร้องรำทำเพลงไปตามภาษาคนที่ตกอยู่ในอำนาจน้ำเมา  ขณะนี้เองที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นท่านเจ้าของบ้านได้ลุกหายไปจากที่นั่ง  ตามความเข้าใจนึกว่าเขาคงจะเข้าไปสั่งงานบางอย่างในเรื่องอาหาร

   เป็นการบังเอิญอย่างที่สุด  ที่ข้าพเจ้าต้องการจะเข้าห้องน้ำ  ปรากฏว่าห้องน้ำบนบ้านมีห้องเดียว  มีสุภาพสตรีผู้หนึ่งเข้าไปก่อน  ข้าพเจ้าคอยอยู่ครู่ใหญ่จนไม่สามารถจะทนรอต่อไปได้  ข้าพเจ้าจึงรีบลงจากบ้านเพื่อไปหาที่ลับตาพอถ่ายเบาได้  เดินไปหาที่หลายแห่งก็ไม่พ้นแสงไฟจากบ้านใหญ่ได้เลย  จึงแอบเดินไปทางด้านหลังครัว  เห็นเป็นที่ลับตาและมืดพอสมควร  ทันใดนั้น  ข้าพเจ้าได้ยินเสียงคนพูดคุยกันในห้องคนใช้ข้างครัว  เป็นเชิงต่อว่าต่อขานกัน  ออกจะเสียกิริยาที่ข้าพเจ้าไปได้ยินเข้าโดยไม่ตั้งใจ

   เสียงหนึ่งข้าพเจ้าจำได้ว่าเป็นเสียงของเจ้าบ้าน  เสียงนั้นไม่ค่อยดังนัก  แต่ก็ได้ยินถนัดชัดเจนซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสะดุ้ง

“ฉันบอกแม่กี่ครั้งแล้วว่าอย่ามา  นี่แม่ตั้งใจจะมาฉีกหน้าฉันหรือดูสิแขกมาเต็มบ้าน รู้หรือเปล่า  ล้วนแต่ผู้ดีมีเกียรติทั้งนั้น  แม่ไม่ไว้หน้าฉันบ้างเลย  ทำให้ฉันต้องอับอายขายหน้าแขกเท่าไหร่  ต่อไปใครเขาจะนับถือฉัน”

   เสียงหญิงชราพูดสั่นเครือเหมือนจะร้องไห้ว่า

“โธ่!  นี่แกถือเอาเป็นความผิดกับแม่ใหญ่โตถึงเพียงนี้เทียวหรือ  มีแม่ที่ไหนจะฉีกหน้าลูกอย่างที่แกว่า”

   เสียงนั้นแสดงความน้อยใจแกมสะอื้น  ข้าพเจ้าก็สะเทือนใจไม่น้อย

“ฉันไม่รู้  แต่แม่ทำอย่างนี้เสียหายฉัน”

   เขาพูดเสียงกระโชกกระชากราวกับดุเด็กคนใช้

“ถ้าฉันไม่สั่งไว้ก่อนจะไม่ว่าเลย  แม่ลองดูตัวของแม่เองซิ  ดูได้ริแต่งเนื้อแต่งตัวเหมือนกับตัวอะไร  อย่างนี้แล้วเพื่อนฝูงแขกเหรื่อทำไมเขาจะไม่ดูถูกฉัน”

   เสียงหญิงชราสะอื้นถี่  เสียงนั้นพลอยบาดลึกลงไปในหัวใจข้าพเจ้าด้วย

“แกพูดอย่างนี้แม่เสียใจ  แม่ไม่รู้เลยจริง ๆ ว่ากำลังมีงาน  คิดถึงลูก  แม่ก็มาหา  กลับมาเป็นความผิดไปเช่นนี้ได้”

   เสียงของหญิงชราขาดหายไปในลำคอ  แล้วก็มีเสียงสะอึกสะอื้นร่ำไห้

   ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะทนฟังเสียงนั้นต่อไปได้ ความรูสึกเต็มไปด้วยความปวดร้าวและเศร้าใจ  นึกเห็นอกเห็นใจหญิงชราผู้เป็นแม่ยิ่งนัก  อดคิดไม่ได้ว่าแกคงจะตามใจลูกชายจนเคยตัว  และนึกชังเจ้าบ้านที่ใช้กิริยาอันไม่สมควร  ไม่เคารพต่อผู้บังเกิด  ซึ่งส่อให้เห็นว่าปราศจากความกตัญญูรู้คุณ

   ข้าพเจ้ารีบผละจากที่นั่นไปด้วยอารมณ์อันขุ่นหมอง  ขึ้นบนบ้านร่วมกับแขกที่กำลังสนุกสนานเฮฮากันตามภาษาคนเมา  และไม่เมาปนกัน  

   อีกครู่ใหญ่เจ้าบ้านก็กลับขึ้นมาด้วยสีหน้าอันยิ้มแย้มชื่นบาน  เป็นที่สนิทเสน่หาสำหรับคนอื่น  แต่สำหรับข้าพเจ้ารู้สึกว่าเหมือนมองทะลุเข้าไปภายในเห็นจิตใจของคนผู้นี้ได้ดีกว่าแขกที่รับเชิญทุกคน  ข้าพเจ้าไม่อาจทนอยู่ได้  จึงขอตัวลากลับก่อน  แม้ว่ายังไม่ถึงเวลาอาหารก็ดี  การทักท้วงเหนี่ยวรั้งของเพื่อนๆ รวมทั้งเจ้าบ้านก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจข้าพเจ้าได้  เพียงข้อแก้ตัวสั้นๆ และ ง่ายๆ ที่ข้าพเจ้ายืนกรานว่า รู้สึกไม่ค่อยสบาย ต้องขอตัวกลับก่อน  ช่วยให้ปลีกตัวกลับก่อนได้โดยไม่ยากนัก และความจริงก็ไม่สบายจริงๆ   แต่ไม่ใช่ทางร่างกาย  แต่เป็นทางจิตใจ  จึงอยากปลีกตัวให้ห่างไกล พ้นไปจากกลิ่นอายของผู้ไม่มีความเคารพกตัญญูต่อผู้บังเกิดเกล้าของตนเอง

   บัดนี้  ชายนั้นมาเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์  เมื่อหวนคำนึงถึงเรื่องเก่าๆแล้วก็อดสลดใจไม่ได้  หลังจากนั้นไม่กี่วัน  ได้พบเพื่อนผู้หนึ่งซึ่งคุ้นเคยกับชายผู้นั้นมาก  ข้าพเจ้าจึงถามว่า  ข่าวหนังสือพิมพ์รายวันลงนั้นเป็นความจริงเพียงไร

   จากเพื่อนผู้นั้นก็ได้ทราบว่า  เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ขอให้ทางตำรวจจับกุม  ชายผู้นั้นก็ให้คนไปส่งข่าวถึงมารดาซึ่งอยู่ต่างจังหวัด  หญิงชราผู้เป็นมารดาเมื่อทราบข่าวร้ายเกิดขึ้นกับบุตรชายก็ตกใจ  เป็นทุกข์เป็นร้อนเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีอาญา  ด้วยความรักลูก  ถึงแม้จะรู้ว่าลูกนั้นขาดความเคารพก็ตัดไม่ขาด  นำทรัพย์สินเท่าที่มีอยู่ไปจำหน่ายหรือจำนอง  รวบรวมเงินมาช่วยลูกชายให้พ้นจากข้อหาของหนี้ไป  ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า  พ่อแม่นั้นแม้จะโกรธแสนโกรธ  แต่เมื่อรู้ว่าลูกตกอยู่ในอันตราย จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร  ก็ไม่สามารถทอดทิ้งดูดายอยู่ได้  ต้องพยายามช่วยเหลือจนสุดความสามารถ

   ยามเมื่อลูกมีความสุขสนุกสนาน  พร้อมด้วยเพื่อนฝูงหญิงชาย  พ่อแม่ไม่ได้ร่วมความสุขสนุกสนาน  แต่เมื่อลูกเกิดได้รับทุกข์  ได้รับความลำบากขึ้นมา  พ่อแม่ต้องร่วมทุกข์ไปกับลูกด้วย  ข้าพเจ้าคิดว่าชายผู้นั้นคงจะสำนึกถึงสิ่งที่ได้ทำกับหญิงชราผู้มารดาแล้ว  และน่าจะเห็นหัวอกของแม่ที่รักลูก  เสียสละเพื่อลูก  กลับใจมาเคารพบูชาพระคุณของแม่ต่อไป

   หลังอ่านข่าวหนังสือพิมพ์  และทราบข่าวหญิงชราผู้เป็นมารดาซึ่งช่วยบุตรให้พ้นจากข้อหา  เรื่องนี้รบกวนจิตใจให้ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าสลดอยู่หลายวัน  ทำให้กวนระลึกถึงชีวิตอดีตเมื่อกำลังอยู่ในวัยเรียน  เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ นั้น  จะผ่านพ้นมานานแล้วก็ดี  แต่เมื่อนึกถึงสิ่งดีงามที่ล่วงเลยมาแล้ว  หัวใจก็ชุ่มชื่นขึ้นอย่างประหลาด

บรรยากาศในสมัยนั้นช่างเต็มไปด้วยคนดีมีศีลธรรม  มีความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่  มีความกตัญญูต่อบิดามารดา  ครูบาอาจารย์  มีความเสียสละ  อดทน  ยิ่งนึกก็ยิ่งมองเห็นภาพในอดีตอันสดชื่นในครั้งนั้น  เหมือนความฝันที่ได้ผ่านพ้นไปใหม่ๆ ทำให้จิตใจแช่มชื่นแจ่มใสในความทรงจำของข้าพเจ้าอย่างไม่รู้ลืม

   ในครั้งนั้น  ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กนักเรียนสวมหมวกฟาง  นุ่งกางเกงสีดำขาสั้น  ใส่เสื้อคอปิดมีขอเกี่ยว  ใช้ลูกกระดุม ๕ เม็ดทองเหลืองกลมขัดเป็นเงา  ส่วนรองเท้านั้น  บางครั้งก็สวม  บางครั้งก็เดินเท้าเปล่าไปโรงเรียน  ที่โรงเรียนมีเพื่อนสนิทร่วมห้องเรียนคนหนึ่ง  อายุแก่กว่าข้าพเจ้า ๓ ปี  มาจากต่างจังหวัด  ขอเรียกชื่อสมมติของเขาว่า  “ขวัญ”  การที่ขวัญมีอายุแก่กว่าข้าพเจ้า ๓ ปี  แต่มาอยู่ห้องเดียวกันก็เนื่องจากขวัญเป็นบุตรคนโตของบิดา  ต้องช่วยทำงานบ้านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของพ่อเธอ  ฉะนั้น  จึงต้องรอให้น้องชายโตขึ้นพอทำงานแทนได้  จึงได้เข้ามาเรียนกรุงเทพฯ  ขวัญต้องเสียเวลาเล่าเรียนไปด้วยประการเช่นนี้  เมื่อเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ นั้น  ได้มาอาศัยอยู่กับพระที่วัด  ซึ่งไม่ไกลจากโรงเรียนนัก

   ขวัญเป็นเด็กบ้านนอกที่มีอัธยาศัยและอารมณ์ดี  ใจคอเยือกเย็นและหนักแน่น  เมื่อเข้ามาโรงเรียนใหม่ๆรู้สึกเคอะเขิน  สำเนียงพูดก็แปร่งๆ เหน่อๆ เหมือนชาวชนบททั่ว ๆ ไปในเวลานั้น  แต่สำหรับสมัยนี้สำเนียงเช่นนั้นไม่ค่อยได้ยิน  เนื่องจากการศึกษาและการคมนาคมสะดวก  พวกเพื่อนนักเรียนที่เกเรพากันล้อเลียน  เยาะเย้ยต่างๆ นานา เพราะเห็นเป็นตัวตลกว่า  “อ้ายบ้านนอก”  บ้าง  “อ้ายควายไถนา”  บ้าง  ขวัญก็ไม่ถือโกรธและโต้ตอบให้มากความ  การล้อนั้นจึงไม่เกิดรสชาติสนุกอย่างไรขึ้น  เพราะเป็นการล้อข้างเดียว  นานๆเข้าพวกที่ล้อกลัวจะเป็นบ้าไปฝ่ายเดียว  เลยยอมแพ้หยุดไปเอง

   เนื่องจากขวัญเป็นบุคคลสำคัญในเรื่องนี้  ข้าพเจ้าจึงใคร่จะนำประวัติของขวัญที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เท่าที่ทราบมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง

   ขวัญพักอยู่วัดกับพระภิกษุรูปหนึ่ง  ซึ่งขวัญเรียกหลวงอา ทั้งๆที่ไม่มีความเกี่ยวพันทางวงศาคนาญาติกันเลย  หลวงอาเป็นบุตรชายคนเดียวของคุณนายผู้มั่งคั่ง  เจ้าของนาที่บิดาของขวัญเช่าทำอยู่  เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้อุปสมบท  ก็เคยออกไปตรวจที่นาและเก็บค่าเช่าบ้างเป็นครั้งเป็นคราว  หลวงอาเป็นผู้มีจิตใจเมตตากรุณา  โอบอ้อมอารีต่อคนยากจน  และมีศีลธรรม  บางครั้งเมื่อออกไปเก็บค่านา  ลูกนาของความผ่อนผันว่า  ทำนาไม่ได้ผลเพราะฝนแล้ง  ท่านไม่เคยพูดจาให้เจ็บใจ  หรือเร่งรัดเหมือนเจ้าของนารายอื่น  กลับปลอบใจไม่ให้กังวลในเรื่องค่าเช่า  ขอให้มีมานะทำต่อไป  เมื่อได้ผลเมื่อไหร่ค่อยนำไปผ่อนให้ตามกำลัง  

   ครั้งนั้นเองหลวงอาได้พบกับขวัญ  ก็มีความพอใจเอ็นดูรักใคร่มาก  เพราะขวัญเป็นเด็กขยัน  ขวัญเล่าให้ฟังว่า  ได้ยินพ่อปรารภว่าในชีวิตของพ่อไม่เคยเห็นใครมีน้ำใจดีเช่นนี้เลย  เมื่อได้ยินพ่อชมเชยหลวงอา  ก็รู้สึกเคารพบูชานิยมชมชอบความดีของหลวงอา  ซ่อนไว้ในใจตามประสาเด็ก

   ครั้งหนึ่ง  พ่อของขวัญได้นำเงินค่าเช่ามาชำระที่บ้านท่านในกรุงเทพฯ  หลวงอาซึ่งยังไม่ได้บวชก็ได้ให้การต้อนรับอย่างดี  ไม่เหยียดหยามว่าเป็นลูกหนี้หรือลูกนา  วาระนี้เองที่ชีวิตของขวัญได้หันเข้าสู่ทางอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ  โดยความกรุณาของหลวงอานั่นเอง  ได้แนะนำให้บิดาของขวัญส่งลูกชายคนโตมาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ  ท่านจะเป็นผู้ช่วยเหลืออุปการะตามควร  บิดาของขวัญเห็นการณ์ไกล จะส่งบุตรเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ก็ไม่มีทุนทรัพย์  เมื่อมีผู้อุปการะให้เล่าเรียนก็ดีใจ  แต่ขวัญก็เป็นหัวแรงในการทำมาหากิน  จึงขอผลัดให้ลูกคนเล็กเติบโตพอช่วยงานได้เสียก่อน

   ครอบครัวของขวัญมีเพียง ๓ คนพ่อลูก  เพราะมารดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่น้องชายยังเล็กๆ ขวัญเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของพ่อ  เมื่อน้องชายโตขึ้นพอช่วยทำนาได้แล้ว  พ่อก็พาขวัญมากรุงเทพฯ  ตามที่สัญญาไว้  เมื่อมาถึงก็ทราบว่าหลวงอาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว  จึงพากันไปหาท่านที่วัด  ขอฝากลูกเพื่อเข้าเล่าเรียนต่อไป  หลวงอาต้อนรับด้วยความเต็มใจ  จัดการให้ขวัญได้เข้าเรียนตามความประสงค์

   ก่อนที่พ่อจะกลับไปบ้านนา  ได้พร่ำสอนลูกชายให้เอาใจใส่ในการเรียน  ให้เคารพและเชื่อฟังคำสั่งสอนของหลวงอา  เพราะท่านเป็นผู้มีพระคุณ  ให้ทำตัวเป็นคนว่านอนสอนง่าย  ไม่ละเลยหน้าที่ปฏิบัติรับใช้ท่าน  ความกตัญญูรู้คุณจะเป็นแรงกุศล  ส่งให้ประสบความสำเร็จและรุ่งเรืองต่อไปภายหน้า  ขวัญเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย  เขาเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำพ่อทุกอย่าง  จึงเป็นที่รักและเมตตาปรานีของหลวงอา  ตลอดจนพระสงฆ์และศิษย์วัดทั่วไป

   เมื่อขวัญจากบ้านมาเข้าเรียนและอยู่กับหลวงอาที่กรุงเทพฯแล้ว  ต่อมาความเป็นอยู่ของพ่อทางบ้านนาก็ได้ฝืดเคืองลง  เพราะน้องชายขยันขันแข็งในการงานไม่เหมือนพี่  ทั้งพ่อก็มีอายุมาก  ร่างกายทรุดโทรมกว่าแต่ก่อน  จึงมีรายได้น้อยลง  ฐานะตกอยู่ในระดับอัตคัด  ขวัญรู้เรื่องก็ไม่สบายใจ  ครั้งจะหันไปพึ่งหลวงอา  ท่านก็อยู่ในเพศสละหมดสิ้นในโลกียสมบัติ  ในกุฏิของท่านไม่มีอะไรสะสมไว้  นอกจากเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับสงฆ์  ถ้าท่านยังไม่บวช  ครอบครัวของขวัญก็คงไม่ลำบาก  แต่พ่อของขวัญเป็นคนอดทนจึงมานะ กัดฟันต่อสู้ไม่ท้อถอย  เพื่อความเจริญก้าวหน้าของลูกในอนาคต  เช่นเดียวกับพ่อที่ดีทั้งหลาย

   ชีวิตนักเรียนของขวัญในกรุงเทพฯ ดำเนินไปอย่างราบรื่น  มีหลวงอาเป็นที่พึ่งประดุจร่มโพธิ์ทอง  นอกจากท่านจะให้ความอุปการะเรื่องที่อยู่ที่กิน  และอุดหนุนจุนเจือตามฐานะของผู้ทรงศีลแล้ว  หลวงอายังคอยอบรมสั่งสอนด้วยความเมตตาเอ็นดู  ปลูกฝังคุณธรรมอันดีให้เกิดขึ้นกับจิตใจของขวัญ  เป็นต้นว่า  ให้รู้จักเคารพพ่อแม่และผู้มีพระคุณ  ให้รู้จักอดทนและมีใจคอเยือกเย็น  เอาชนะความชั่วด้วยความดี แม้ที่สุดจนให้ประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรมเหล่านี้เป็นต้น

   ข้าพเจ้าเชื่อว่าเหตุผลเหล่านี้เอง  ที่ทำให้ขวัญมีนิสัยดี  ใจคอเยือกเย็น  มีความอดกลั้นโทสะจิตได้อย่างน่าสรรเสริญ  หากเป็นเด็กอื่น  ถ้าตกอยู่ในสภาพเช่นขวัญ  ได้รับแต่การดูหมิ่นเหยียดหยามล้อเลียนอยู่เสมอ  น้อยคนนักที่จะอดกลั้นอยู่ได้  แต่ขวัญชนะด้วยความอดกลั้น  นิ่งและให้อภัย  จนต่อมาเป็นที่นับถือของนักเรียนทั่วไป  นี่เป็นขั้นต้นที่ขวัญได้เอาชนะด้วยความดี

   นิสัยของขวัญรักความสงบและยุติธรรม  เคยมีบ่อยๆนักเรียนที่โตกว่ากำลังจะรังแกและข่มเหงเด็กที่เล็กกว่า  ขวัญเป็นต้องเข้าไปห้ามปราม  ขอร้องแต่โดยดีและไกล่เกลี่ยให้สงบเรื่องและได้ผลดี  ทำให้เขากลายเป็นคนที่รักยกย่องและเกรงใจของเด็กๆ ซึ่งเป็นเพื่อนทุกคน  มิใช่เพราะรูปร่างอันใหญ่โตแข็งแรงเช่นคนทำงานหนัก  แต่ข้าพเจ้าคิดว่าคงเนื่องจากอัธยาศัยอันดี  ใจอารีอารอบของเขามากกว่าเหตุอื่น  แม้จะยากจนด้วยทรัพย์สินเงินทอง  แต่ขวัญก็มีจิตใจอันงดงามเต็มไปด้วยศีลธรรม  ซื่อสัตย์  มั่นคงอยู่ในความกตัญญูกตเวที  ที่ได้ถ่ายทอดจากหลวงอา

   ข้าพเจ้ารักน้ำใจขวัญมาก  เรามีความสนิทสนมกันยิ่งขึ้น  สนิทกันมากกว่าคนอื่นๆ ด้วยความดีของเขาตามที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง  ต่อมา ข้าพเจ้าเรียกขวัญว่า  “พี่”  และเรียกติดปากเรื่อยมา  จนกระทั่งเราทั้งสองโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่  มีงานอาชีพเป็นหลักฐาน

   ระหว่างที่ยังเป็นนักเรียนอยู่นั้น  พี่ขวัญได้ชมเชยยกย่องสรรเสริญคุณความดีของหลวงอาอยู่เสมอ  จนทำให้ข้าพเจ้านึกบูชาเคารพท่านด้วย   ทั้งที่ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน  และก็ไม่เคยได้ยินพี่ขวัญว่าใครไม่ดีเลย

   วันหนึ่ง  ขณะที่เป็นเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน  นักเรียนต่างพากันเข้าไปในโรงอาหาร  บางคนพออกจากห้องเรียนได้ก็วิ่งออกหน้ารีบไปก่อน  บางคนก็ลงไปเตะบอลเล่นอยู่กลางสนามก่อนอาหาร  ข้าพเจ้าเดินเข้าไปในโรงอาหารพร้อมพี่ขวัญ  มีมุมหนึ่งในโรงอาหารเห็นชายสูงอายุผู้หนึ่ง  นั่งชะเง้อมองไปตามกลุ่มนักเรียน  เหมือนมองหาใครสักคนหนึ่ง  สารรูปชายผู้นั้นมอซอ  ลักษณะท่าทางเป็นชาวชนบท  เครื่องแต่งกายบอกให้รู้ ยากจนข้นแค้น

   ทันใดนั้นเอง  พี่ขวัญซึ่งเดินเคียงอยู่กับข้าพเจ้าเพื่อไปทานอาหารด้วยกัน  พอเห็นชายผู้นั้นก็ดีใจรีบสาวเท้าตรงเข้าไปหาทันที

“พ่อ  พ่อจ๋า”

   พี่ขวัญย่อตัวก้มลงกราบบนตักชายผู้นั้น

“พ่อมาตั้งแต่เมื่อไร”

   ข้าพเจ้าเดินตามเข้าไปยืนดูอย่างตกตะลึง  เพราะคาดไม่ถึงนักเรียนอีกจำนวนมากต่างหยุดมองดู  ชายผู้นั้นหรือพ่อของพี่ขวัญลูบศีรษะบุตรชายอย่างเอ็นดู  ดวงตาทั้งสองข้างแกแจ่มใสขึ้น  พี่ขวัญก็กอดรัดไม่ห่างพ่อเลย  เป็นภาพที่ก่อความรู้สึกตื้นตันใจ  พร้อมกับนึกชมในความกตัญญู  ที่ได้เห็นบุตรผู้แสดงคารวะต่อผู้บังเกิดเกล้า  ต่อหน้าผู้ที่ได้ประสบ  โดยมิได้นึกรังเกียจว่าพ่อแต่งกายเกือบจะเป็นขอทาน  เข้าไปกอดรัดด้วยความรักใคร่ดีใจในการพบครั้งนี้

“พ่อคิดถึงก็มาเยี่ยมลูก  ไปที่วัดมาแล้ว  หลวงอาท่านบอกให้มาที่นี่  พ่อจะต้องรีบกลับวันนี้ค้างไม่ได้”

   แกหยุดมองหน้าลูกชายครู่หนึ่ง  แล้วพูดต่อไปว่า

“ทิ้งอ้ายแดงให้อยู่บ้านคนเดียวไม่ค่อยไว้ใจ  ค่ำมืดอย่างไรก็ต้องกลับให้ถึงบ้าน  หมู่นี้ทางบ้านขโมยควายกันชุม  เราก็มีอ้ายเผือกอยู่ตัวเดียว  ถ้าโดนเข้ามั่งจะแย่เทียวลูกเอ๋ย  พ่อน่ะหมดปัญญาแล้ว  ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปซื้อแทนอีกได้  ตั้งแต่เจ้ามาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว  ทางบ้านหากินฝืดเคืองเต็มที  ทำให้ค่อยพอกิน  อ้ายแดงมันก็ยังเด็กนัก  ทำงานได้ครึ่งเสียครึ่ง”

   แกพรรณนาให้ลูกชายฟัง  ด้วยสีหน้าที่หม่นหมองลงกว่าเดิมขณะนั้น  พอดีพี่ขวัญเหลียวมาเห็นข้าพเจ้า  จึงแนะนำให้รู้จักว่าเป็นบิดา  ข้าพเจ้ายกมือไหว้ด้วยความเคารพไม่ได้รังเกียจอย่างไร  เพราะข้าพเจ้ารักและนับถือพี่ขวัญ  คนเรามิได้เคารพกันที่เครื่องแต่งกายหรือรูปร่าง  เราเคารพน้ำใจกัน  แกยกมือข้างหนึ่งขึ้นรับไหว้

“ไหว้พระเถิดพ่อคุณ  ขอให้พ่อจำเริญ จำเริญเถิด”

   ข้าพเจ้าเพียงก้มศีรษะรับคำพรนั้น  ไม่ทราบว่าจะพูดอะไรต่อไป  สายตาเหลือบไปเห็นป้าอิ่มคนขายข้าวแกงประจำโรงเรียน  แกจ้องมองมาที่พี่ขวัญและพ่อเฒ่าด้วยสายตาที่มีแววของความพอใจอย่างเห็นได้ชัด  แกยิ้มทั้งน้ำตาไหลซึมด้วยความชื่นชม  ครูบางคนที่ผ่านมาก็หันมามองดูด้วยความเห็นใจ  ข้าพเจ้าสังเกตดู  ไม่เห็นว่าจะมีใครแสดงท่าทางดูหมิ่นเหยียดหยามหรือรังเกียจเลย  ที่พ่อของพี่ขวัญเป็นคนยากจน  พวกเพื่อนๆกลับเห็นและสงสารพี่ขวัญมากขึ้น  เมื่อพ่อลูกคุยกันอีกสักครู่  ชายผู้เป็นบิดาก็กลับไป

   ตั้งแต่นั้นมา  ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกครูอาจารย์ต่างก็ให้ความกรุณาเห็นอกเห็นใจพี่ขวัญมากขึ้น  หาโอกาสให้รางวัลในการเรียนดี  สอบดี  เช่น ให้สมุดดินสอเป็นต้น  แม้จะขึ้นชั้นก็ยังอุตส่าห์หาหนังสือแบบเรียนมาให้  ทั้งนี้ข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบแน่ว่า  เนื่องจากเห็นความกตัญญูต่อพ่อของพี่ขวัญ  หรือเป็นความหมั่นเรียน  แต่พี่ขวัญก็เป็นผู้ที่มั่นอยู่ในความเคารพบูชาครูบาอาจารย์ 

   เมื่อนึกถึงครูอาจารย์สมัยนั้นบางท่านแล้ว  ข้าพเจ้าก็อดนึกเคารพบูชาด้วยความจริงใจเสียมิได้  เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่น่าเคารพบูชาจริงๆ เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา  ท่านไม่เคยมีอคติต่อศิษย์คนหนึ่งคนใด  ใครเรียนดีท่านก็สนับสนุนให้ความรู้  สั่งสอนให้ไม่มีความเบื่อหน่าย  ดวงหน้าของท่านก็ยิ้มแย้มอยู่เสมอ  ทำให้ศิษย์ทุกคนรักท่ายอย่างฝังจิตฝังใจ  บางครั้งท่านไม่ได้มาสอน  ดวงหน้าของศิษย์ก็เศร้าหมองไปตามกัน  กลัวท่านจะเจ็บป่วยหรือเป็นอะไรไปจนไม่สามารถมาสอนได้ 

   เมื่อครูบางคนถูกย้ายหรือออกจากหน้าที่ไป  เราก็พากันอาลัย  บางครั้งถึงกับร้องไห้ก็มี  นี่คือความรักที่ออกมาจากใจจริงของเด็กๆในสมัยนั้น  ความรักครูบาอาจารย์  รักโรงเรียน  รักเพื่อนฝูง  นี่คือความรักของเด็กเกือบทั่วไป  พวกเราเคารพครูก็เพราะท่านไม่เลือกชั้นวรรณะ  ลูกคนจน  คนมั่งมีเศรษฐี หรือผู้มีอำนาจ  ท่านให้ความรู้  ความรัก  ความเห็นอกเห็นใจเท่ากันหมด  ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  ผิดท่านก็ทำโทษ  ถูกท่านก็ชมเสมอหน้ากัน

   ครั้งหนึ่ง  ข้าพเจ้าถูกใช้ให้ไปในห้องอาจารย์ใหญ่  แต่ในห้องของท่านมีแขก  ข้าพเจ้าต้องรออยู่ข้างนอกห้อง  จึงบังเอิญได้ยินการสนทนาระหว่างอาจารย์ใหญ่กับแขกผู้มีเกียรติ  ซึ่งข้าพเจ้ายังจำได้อย่างแม่นยำ  ท่านผู้มีเกียรติกล่าวกับอาจารย์ใหญ่ว่า

“ผมได้ข่าวว่าที่โรงเรียนนี้ให้ความเสมอภาค  ไม่ว่าลูกคนมีคนจน  ไพร่หรือผู้ดีเหมือนกันหมด  ความจริงผมชอบวิธีนี้  โรงเรียนทำถูกแล้วที่อบรมเช่นนี้  ผมจึงอยากฝากลูกให้เข้าเรียนกับอาจารย์  ลูกคนจนซึ่งกำลังเรียนอยู่ในเวลานี้  อาจจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคตก็ได้  เด็กที่เรียกว่าลูกผู้ดีอาจตกยากในภายหน้า  ใครจะรู้ชะตาชีวิต  จริงไหม  ผมพูดอย่างนี้”

   ข้าพเจ้าได้ยินอาจารย์ใหญ่ตอบว่า

“จริงครับ  ใต้เท้าพูดถูก”

   แขกของอาจารย์ใหญ่หัวเราะเสียงดัง  แล้วพูดว่า

“เราอย่าดูกันแต่เพียงวันเดียว  ควรดูวันข้างหน้าด้วย  อย่าไปนึกว่าลูกผมเป็นลูกเจ้าคุณ  ต้องเอาอกเอาใจ  แม้มันจะขี้เกียจ  ครูก็ไม่ทำโทษ  มันจะได้นึกว่า บารมีพ่อมันคุ้มครอง ต่อไปมันก็ระยำ ขอให้อาจารย์เห็นมันเป็นเด็กธรรมดา  แล้วฝึกมันให้ดี  ผมอนุญาตให้เฆี่ยนตีสั่งสอนได้  ผมชอบให้มันสังคมเป็นเพื่อนกับเด็กทั่วๆไป  ผมเองก็เคยเป็นเด็กวัดมาก่อนเหมือนกัน”  ท่านพูดเสียงดังอย่างเปิดเผย และหัวเราะอารมณ์ดี

   ข้าพเจ้าได้ยินคำพูดแล้วซาบซึ้งว่า  ท่านผู้มีจิตใจเที่ยงตรงมองเห็นการณ์ไกลจริงๆ

   ครั้งหนึ่ง  ข้าพเจ้าจำได้ว่า  มีเด็กพาลเกเรมาเข้าใหม่คนหนึ่ง ได้ทราบว่า  ออกจากโรงเรียนที่เคยเรียนมา  เพราะความเกเรทำผิดร้ายแรง  โทษถึงกับไล่ออก  เด็กคนนี้เป็นคนใจแข็ง  แม้จะถูกเฆี่ยนตีหน้าชั้นเพราะความผิด  แกก็ไม่มีสีหน้าวิตกทุกข์ร้อน  แต่กลับยิ้มแย้มเหมือนยืนขึ้นแสดงจำอวดให้ดู  ซึ่งความผิดความเกเรเกิดซ้ำๆกันเข้า จวนจะถูกเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่พิจารณาอยู่แล้ว  ท่านอาจารย์ใหญ่ขอประวิงเวลาไว้ก่อนเพราะเป็นห่วงอนาคตของเด็ก  แล้วท่านก็เรียกนักเรียนเกเรคนนั้นเข้าไปในห้อง  ต้องเสียเวลานานพอสมควรอยู่ในห้องของท่าน  นักเรียนเกเรก็ออกจากห้องอาจารย์ใหญ่

   น่าประหลาดที่เขาเดินร้องไห้จนตาแดงออกมา  เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นเด็กเกเรผู้นี้ร้องไห้  ทั้งที่อาจารย์ใหญ่หาได้เฆี่ยนตีหรือทำโทษเหมือนครูประจำชั้นไม่  นอกจากจะใช้แต่เพียงคำพูดก็ทำให้เด็กที่พาลเกเรร้องไห้ได้   ทำให้พวกเราตระหนักได้ว่า  เด็กคนนี้กลัวคำพูดของอาจารย์ใหญ่  ยิ่งกว่าโดนเฆี่ยนตีเสียอีก  เราไม่มีโอกาสทราบว่าท่านได้พูดว่าอะไร  ทั้งตัวเด็กคนนั้นก็ไม่ยอมบอก  ต่อมานิสัยพาลเกเรก็ค่อยๆหายไป  กลับกลายเป็นเด็กดีเรียบร้อย  เป็นที่รักใคร่ของครูอาจารย์และเพื่อนร่วมห้องเรียน

   ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า  ครั้งหนึ่งยังมีนักเรียนเก่าผู้หนึ่งกลับมาจากต่างประเทศ  ท่านผู้นั้นได้ตามหาครูบาอาจารย์ผู้หนึ่งตามตรอกตามซอย  ตามเรือกสวนไร่นาที่ห่างไกลจากชุมนุมชน  เป็นเวลาหลายวันกว่าจะได้พบตามความประสงค์  ด้วยความกตัญญู  เมื่อได้พบแล้วทั้งศิษย์และอาจารย์ต่างก็ปลาบปลื้มยินดี  ศิษย์ตรงเข้าไปกราบตรงหน้า  ทำให้อาจารย์ผู้นั้นน้ำตาไหล  เพราะดีใจที่ศิษย์จนๆของท่าน  ซึ่งครั้งหนึ่งท่านได้ช่วยเหลือหาสมุดดินสอให้เรียนเท่าที่จะช่วยได้  มาบัดนี้ได้ประสบความรุ่งเรืองในชีวิต  แต่ด้วยแรงกตัญญู  ศิษย์ผู้นั้นมิได้ลืมเลย  ครูบาอาจารย์ก็มีความปลื้มปีติ  เมื่อทราบว่าศิษย์ของท่านประสบความสำเร็จในชีวิต

   เวลานั้นยังไม่มีสมาคมศิษย์เก่า  แต่ศิษย์ทุกคนก็หาโอกาสมาเคารพและช่วยเหลือครูบาอาจารย์อยู่เสมอ  ความจริงครูบาอาจารย์มากด้วยกัน  ย่อมต้องมีบางท่านที่มีจิตใจลำเอียงศิษย์ที่ยากจน  เอาอกเอาใจแต่เด็กที่มีพ่อแม่ร่ำรวยหรือเป็นขุนนาง  แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยได้พบในสมัยนั้น  ถ้าจะพูดถึงคุณงามความดีของครูบาอาจารย์สมัยนั้นแล้ว  ย่อมไม่มีวันจบ  จึงขอพักไว้ก่อนและดำเนินเรื่องต่อไป

   ในวันรุ่งขึ้น  เมื่อข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารกลางวัน  ป้าอิ่มแม้ค้าข้าวแกงได้พูดคุยกับข้าพเจ้าถึงเรื่องพี่ขวัญ  แกยกย่องพี่ขวัญ  สรรเสริญความดี  ความกตัญญูของพี่ขวัญมากมาย  ตอนหนึ่งแกบอกว่า

“จริงๆนะเธอ  คนอย่างพ่อขวัญมีแต่จะเจริญขึ้น  เด็กอย่างนี้ไม่อับเฉาหรอก  ไม่เชื่อคอยดูกันไป  ไม่ผิดจากปากป้าไปได้หรอก  ป้าเห็นมามากแล้ว  เด็กที่มีความกตัญญูอย่างนี้ต้องเจริญไม่มีวันตกต่ำ”

   แกหยิบหมากและพลูจีบใส่ปาก  เคี้ยวพลางพูดพลางอย่างชื่นชมไม่เบื่อ

   ตั้งแต่นั้นมา  พี่ขวัญก็ได้รับความเอ็นดู  เห็นอกเห็นใจจากครูบาอาจารย์ยิ่งขึ้น  ป้าอิ่มแกก็นิยมชมชื่นพี่ขวัญยิ่งกว่าใครทั้งหมด  เพราะแกเป็นคนไม่มีลูก  สามีตายตั้งแต่แกยังสาว  แกก็ไม่คิดมีสามีอีก  ครองตัวเป็นโสดทำมาหาเลี้ยงตัวเอง  โดยทำข้าวแกงขายเป็นประจำที่โรงเรียน  นอกจากนั้นแกก็มีเด็กซึ่งแกบอกว่าเป็นหลานสาว  หน้าตาค่อนข้างขี้ริ้วคอยช่วยเหลือล้างชามส่งอาหารตามโต๊ะ แล้วก็ไม่มีใครอีก

   ในระยะนี้ทางบ้านพ่อของพี่ขวัญเกิดขัดสน  การทำนาไม่ค่อยได้ผล  น้องชายของพี่ขวัญไม่ขยันเหมือนพี่ขวัญ  พ่อจะทำคนเดียวก็ไม่ไหว  จึงทำกินไปวันหนึ่งๆพอกันอดตายเท่านั้น  พี่ขวัญต้องเจียดเงินค่าขนมค่าใช้จ่ายที่หลวงอาให้  เพื่อนำไปให้พ่อใช้ทางบ้านนา  ส่วนตัวเองนั้นอุตส่าห์อดมื้อกินมื้อด้วยความอดทน  ไม่กล้ารบกวนหลวงอา  เวลานั้นเครื่องแบบนักเรียนก็เหลือชุดเดียว  พี่ขวัญบอกว่า  บางคืนเมื่อเสร็จจากปฏิบัติหลวงอาจนท่านจำวัดแล้ว  ก็จัดแจงมาซักพอบิดให้หมาดๆ จึงใช้เตารีดซึ่งยืมจากเด็กวัดด้วยกัน  รีดไปจนกว่ามันจะแห้งคาเตา  รุ่งเช้าจะได้ใช้สวมไปโรงเรียน

    ป้าอิ่มแกทราบเรื่องก็สงสารอุตส่าห์เจียดกำไรค่าข้าวแกง  นำเงินมาให้ไปตัดเครื่องแบบอีกชุด  พี่ขวัญบอกว่ารับไม่ได้เพราะเกรงใจ  แกก็ยัดเยียดให้  พี่ขวัญน้ำตาไหลเมื่อนึกถึงป้าอิ่ม  แม้แกจะยากจนข้นแค้  แต่น้ำใจแกนั้นประเสริฐเหลือ  คนจนย่อมเห็นคนจนด้วยกัน  แกเมตตาราวกับว่าพี่ขวัญเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของแกเอง 

   ป้าอิ่มให้สิทธิ์พิเศษแก่พี่ขวัญ  โดยให้รับประทานข้าวแกงของแกฟรี  และออกปากให้ความช่วยเหลือ  แต่พี่ขวัญไม่ใช่คนฉวยโอกาส  ไม่ยอมรับประทานอาหารฟรี  เห็นใจป้าอิ่มที่แกเป็นคนมีน้ำใจดี  จึงช่วยป้าอิ่มล้างจานใส่อาหารขายโดยไม่อาย  แต่ป้าอิ่มแกก็ไม่ยอมให้ทำเหมือนกัน  บอกว่าที่ช่วยเหลือพี่ขวัญมิได้ปรารถนาการตอบแทนด้วยสิ่งใด  นอกจากรู้สึกรักในอุปนิสัยและน้ำใจที่มั่นคงมีความกตัญญู เป็นเด็กในลักษณะที่เรียกว่า “รักดี” ยิ่งกว่าสิ่งอื่น

   ในระยะนี้ทางบ้านของพี่ขวัญทวีความขัดสนยิ่งขึ้น  พี่ขวัญเกือบตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนไปช่วยพ่อทำนาเสียหลายครั้ง  เพราะสงสารพ่อที่แก่แล้วยังต้องลำบากเหน็ดเหนื่อยต่อการงาน  แต่หลวงอาห้ามไว้บอกว่า  ไหนๆ ได้บากบั่นเล่าเรียนมาถึงเพียงนี้  ถ้าเลิกเสียกลางคันก็น่าเสียดายมาก  ยิ่งกว่านั้นท่านยังปลอบโยนให้กำลังใจอีกเป็นอันมาก 

   พี่ขวัญซึ่งปรกติเคารพและเชื่อฟังหลวงอาอยู่แล้ว  จึงระงับความคิดที่จะลาออกเสีย  แต่จิตใจเป็นห่วงพ่อเป็นที่สุด  เมื่อหลวงอารับรองว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากโยมผู้เป็นมารดาของท่าน  ขอให้งดเก็บค่าเช่านาจากบิดาของพี่ขวัญ  ท่านอ้างเหตุผลว่า  เพราะบุตรชายได้มาเป็นศิษย์รับใช้ปฏิบัติอยู่ที่กุฏิ  และเป็นเด็กที่ท่านรักใคร่มาก  ทั้งยังขอร้องให้โยมแม่ของท่านช่วยเหลือทางการเงินแก่ครอบครัวนี้บ้างเป็นครั้งเป็นคราว  โยมของท่านก็ยอมปฏิบัติตามความประสงค์ของพระลูกชาย

   แต่นั้นมา  บิดาของพี่ขวัญจึงค่อยคลายความเดือดร้อนในด้านการครองชีพ  มีความสุขขึ้นบ้าง  เป็นผลเกี่ยวโยงให้พี่ขวัญมีความสบายใจ  ตั้งหน้าเล่าเรียน  ไม่ต้องมีความทุกข์กังวลใจอย่างเมื่อก่อน  การเล่าเรียนก็ได้ผลดีขึ้น  พี่ขวัญพูดเสมอว่า  ในชาตินี้หลวงอาเป็นผู้มีบุญคุณอันยิ่งใหญ่  แม้จะเอาชีวิตทดแทนก็ยังไม่คุ้ม

   ต่อมา  ข้าพเจ้าจะต้องถูกย้ายโรงเรียน  เป็นความเจตนาของบิดามารดา  ซึ่งสุดปัญญาที่จะทัดทานและขัดความประสงค์ได้  เป็นความหวังดีเพื่ออนาคตอันรุ่งเรืองของบุตร  แต่ก็เป็นความหวังดีที่นำความว้าเหว่และความเศร้าใจมาให้แก่ข้าพเจ้าอย่างยิ่ง  เพราะข้าพเจ้าจะต้องจากครูบาอาจารย์และเพื่อนฝูงที่รัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าพเจ้าจะต้องจากพี่ขวัญ  ซึ่งข้าพเจ้ารักเหมือนพี่ร่วมอุทร  จากป้าอิ่มแม่ค้าใจดีที่ข้าพเจ้านับถือน้ำใจ  และแกก็รักใคร่เอ็นดูข้าพเจ้าไม่น้อย 

   พอพี่ขวัญรู้ข่าวว่าข้าพเจ้าจะต้องย้ายโรงเรียน  เขาหน้าเศร้าและเงียบเหงาไปจนผิดสังเกต  บางครั้งเมื่อเราอยู่กันสองต่อสองและพูดกันถึงเรื่องนี้  พี่ขวัญน้ำตาคลอ  เห็นได้ว่ามีความอาลัยอาวรณ์ข้าพเจ้าไม่น้อย  พี่ขวัญบอกว่า  ตั้งแต่มีเพื่อนมาไม่เคยรักใครเท่าข้าพเจ้าเลย  รักเหมือนน้องในไส้ ป้าอิ่มเองก็เสียน้ำตาสำหรับการต้องจากไปของข้าพเจ้า

   ในวันปิดเทอมปลายปี  ข้าพเจ้าได้กราบลาครูบาอาจารย์ และร่ำลาเพื่อนฝูงเป็นครั้งสุดท้าย  ต่างแสดงความเสียใจที่ข้าพเจ้าจะต้องจากไป  เพื่อนฝูงที่สนิทหลายคนน้ำตาไหลพราก  ป้าอิ่มกับพี่ขวัญนั้นถึงแม้จะรู้ข่าวมาก่อน  แต่ว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ข้าพเจ้าจะต้องจากไป  แกก็อดน้ำตาไหลไม่ได้  ทำให้ข้าพเจ้าต้องพลอยน้ำตาร่วงพรูไปด้วย

“คุณไปแล้ว  หาเวลามาเยี่ยมป้าบ้างนะ  ป้าคิดถึง  โธ่!  คุณสองคนกับพ่อขวัญรักกันมาก  เห็นคนหนึ่งก็ต้องเห็นอีกคนหนึ่ง  ไม่ห่างกันเลย  เมื่อจากไปเสียเช่นนี้ก็ใจหาย  ทีนี้ป้าจะได้เห็นแต่พ่อขวัญคนเดียว”

   ข้าพเจ้ารับคำว่าจะพยายามหาโอกาสมาเยี่ยม  วันนั้นเป็นวันที่ข้าพเจ้าเศร้าที่สุดสำหรับวัยเด็กซึ่งอยู่ในวัยศึกษา  ถึงข้าพเจ้ากับพี่ขวัญจะต้องแยกที่เรียนกันก็ดี  แต่เราก็ยังติดต่อกันเสมอ  ฉะนั้น เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดกับพี่ขวัญ  ข้าพเจ้าก็ยังทราบดีเพราะพี่ขวัญเล่าให้ฟัง

   ต่อจากนั้นไม่นานนัก  คุณนายผู้เป็นโยมของหลวงอาก็ป่วยลงด้วยโรคชรา  หลวงอาท่านต้องหาหมอมารักษาพยาบาล  ตัวท่านเองก็ต้องเฝ้าไข้ตลอดเวลา  ทั้งกลางวันกลางคืน  สังขารร่างกายย่อมจะแตกดับเมื่อถึงกาลเวลา  ไม่มีใครจะหนีพ้นความตายไปได้  ที่สุดโยมของท่านก็ได้ถึงแก่กรรมลง  ทรัพย์สมบัติมากมายก็ตกทอดมาเป็นของหลวงอา  ซึ่งเป็นบุตรชายคนเดียวผู้เป็นทายาท
 
   ทุกคนเมื่อทราบเรื่องก็คิดว่า  หลวงอาคงจะลาสิกขาบทออกมาเป็นฆราวาส  เพื่อปกครองทรัพย์สินบ้านเรือน  เมื่อจัดงานศพโยมของท่านเรียบร้อย  แทนที่ท่านจะสึกออกมาปกครองทรัพย์สินตามความเข้าใจของคนทั่วไป  ท่านกลับเรียกทนายประจำตระกูลมาจัดการเรื่องมรดกของท่าน  โดยให้แบ่งทรัพย์สินทั้งหมดออกเป็น ๓ ส่วน

   ส่วนหนึ่งถวายวัด  เพื่อใช้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เป็นที่ถาวรสืบไป

   ส่วนหนึ่งท่านมอบให้พวกข้าเก่าแก่ และคนใช้ที่อยู่กับโยมแม่ของท่านตลอดมา  รวมทั้งผู้ที่ได้ปฏิบัติโยมของท่านในเวลาเจ็บป่วย  แต่ละคนก็ได้มากน้อยตามความดี และความซื่อสัตย์สุจริตที่เคยปฏิบัติมาแล้ว

   อีกส่วนหนึ่งท่านมอบให้พี่ขวัญ  ซึ่งไม่มีใครจะนึกจะฝันว่าเป็นไปได้เช่นนั้น  แต่ทุกสิ่งได้เป็นไปแล้วตามความประสงค์ของหลวงอา  ท่านได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กบ้านนาจนๆคนหนึ่ง  ซึ่งมีความกตัญญูเป็นที่ตั้ง  อาศัยพระและข้าววัดเลี้ยงชีวิตมา  กลายเป็นผู้ที่มั่งคั่งขึ้นแล้ว  ส่วนหลวงอานั้น หาได้แตะต้องทรัพย์สินมรดกอันมีค่านั้นไม่  เครื่องใช้ที่จำเป็นและเครื่องบริขารมีอยู่เท่าใด ก็ยังคงมีเท่าเดิม

   ภายหลังจากเมื่อเสร็จการแบ่งทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว  หลวงอาก็พูดขึ้นกับพี่ขวัญว่า

“ขวัญ  บัดนี้โยมของหลวงอาก็ได้สิ้นไปแล้ว  ความเป็นห่วงกังวลก็สิ้นสุดลง  สำหรับขวัญกับ หลวงอานั้น  เมื่อชาติก่อนเราเคยทำบุญร่วมกันมา  ชาตินี้จึงทำให้หลวงอามีความรักใคร่ เพราะความประพฤติดีของขวัญ  มีความกตัญญู  เคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่  ทำให้หลวงอาเมตตาเกื้อกูลเท่าที่จะสามารถทำได้  ขวัญก็ได้รับสิ่งตอบแทนความดีความชอบที่ได้ประพฤติตลอดมาแล้ว  หลวงอาจะลาขวัญเพื่อธุดงค์ไปหาสถานที่วิเวกสงบเงียบ  เหมาะสมกับการประกอบศาสนกิจ”

   พี่ขวัญเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  เมื่อได้ยินหลวงอาพูดเช่นนี้ใจหายวาบ  ราวกับใครมาควักเอาหัวใจออกจากร่าง  รู้สึกสังหรณ์ใจว่า  จะไม่ได้พบท่านอีกในชาตินี้  น้ำตามันร่วงออกมาอย่างไม่รู้ตัว  ก้มลงกราบที่เท้าท่าน  แล้วพูดว่า

“หากหลวงอาจะไปในที่แห่งใด  จะลำบากยากเย็นประการใด กระผมก็จะขอติดตามไปทุกหนทุกแห่ง  เพื่อปรนนิบัติหลวงอาจนกว่าชีวิตจะหาไม่  หลวงอาเป็นผู้มีพระคุณล้นเหลือ  ชุบชีวิตของกระผมจากเด็กชาวนาจนๆคนหนึ่ง  ขึ้นมาเป็นคนได้ด้วยความกรุณาของหลวงอา  ในชีวิตนี้ตั้งใจจะฉลองพระเดชพระคุณของหลวงอาตลอดไป กระผมไม่ยอมพรากจากหลวงอา”

   หลวงอาท่านยิ้ม  แล้วปลอบศิษย์รักของท่านว่า

“ขอบใจขวัญมาก  หลวงอานั้นหมดภาระหมดห่วงใย  เพราะโยมแม่ท่านก็สิ้นบุญไปแล้ว  สำหรับขวัญนั้นยังมีพ่อที่ชราและน้องชายที่จะต้องเป็นห่วง  นอกจากนั้นยังมีทรัพย์สมบัติที่จะต้องดูแล  ชีวิตของขวัญจะรุ่งเรืองในทางโลกต่อไป  ฉะนั้น หากยังเคารพนับถือหลวงอาอยู่เช่นเดิมจะขอสั่งว่า  เมื่อหลวงอาธุดงค์จากไปแล้วห้ามติดตามหรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดติดตามหลวงอาไป  เพราะหลวงอาตั้งใจอุทิศทุกสิ่งทุกอย่าง ตลอดทั้งชีวิตและร่างกายเพื่อแสวงหาสัจธรรม  หากจะมีกรรมใดที่สร้างไว้ในอดีตชาติ  ก็จะได้ใช้หนี้ให้สิ้นสุดกันเพียงชาตินี้  นี่เป็นความประสงค์ของหลวงอา  ขอให้ปฏิบัติตาม  ถ้าขวัญยังเคารพระลึกถึงหลวงอาก็ให้ประกอบความดีตลอดไป”

   ขวัญต้องจำใจรับปากจะปฏิบัติเคารพตามคำสั่งของท่านอย่างไม่เต็มใจ  จิตใจของพี่ขวัญต้องทุกข์ระทมอย่างสาหัส

   ภายหลังออกพรรษาแล้วไม่นาน  ท่านก็ได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯไป  แล้วก็ไม่ได้ทราบข่าวคราวอีกเลยว่าท่านไปอยู่ที่ไหน  อีกพรรษาหนึ่งก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว  กำลังเข้าพรรษาใหม่  พี่ขวัญอดที่จะระลึกถึงอาลัยอาวรณ์หลวงอามิได้  แม้จะได้รับปากว่าจะไม่ติดตามแต่ก็อยากทราบว่า  ท่านได้จำพรรษาอยู่แห่งใด  จึงได้จัดส่งคนไปเที่ยวสืบหาตามวัดต่างๆในประเทศไทยทุกตำบล ทุกจังหวัด ตั้งแต่ภาคเหนือจดภาคใต้  แต่ก็ไม่พบว่าหลวงอาท่านไปจำพรรษาอยู่ในวัดใดเลย 

   ที่ออกสืบหาหลวงอาในเวลาเข้าพรรษานั้น  ก็เพราะย่อมหาง่ายกว่าเวลาธรรมดา  ทั้งที่ตัวพี่ขวัญก็ออกสืบเอง  และให้คนไปสืบเป็นเวลาติดๆกันถึง ๓ พรรษา  ก็ไม่มีวี่แวว  ทราบแต่เพียงว่า  มีพระองค์หนึ่งรูปร่างลักษณะเหมือนกับหลวงอา  ได้ผ่านออกไปทางแม่สอด  คงจะออกไปทางประเทศพม่า  และอาจเดินทางต่อไปอินเดียและธิเบต  ทั้งเวลานั้นการเดินทางออกนอกประเทศก็สะดวก  ไม่กวดขันการเข้าออกทั้งฝ่ายอังกฤษและไทย  ฉะนั้น การสืบหาจึงเป็นเรื่องลำบาก  มีผู้ใหญ่บางท่านบอกว่า  หลวงอาท่านสำเร็จแล้ว

   ต่อมา  พี่ขวัญได้เข้ารับราชการและมีครอบครัว  ทั้งได้รับบรรดาศักดิ์ทางราชการเจริญรุ่งเรืองในเวลาต่อมา  ส่วนข้าพเจ้านั้นได้เดินทางไปเผชิญโชคทางภาคเหนือ  ข้าพเจ้ากับพี่ขวัญยังคงติดต่อกันเสมอโดยทางจดหมาย  ความรักใคร่สนิทสนมนั้นยังคงแน่นแฟ้นไม่เปลี่ยนแปลง

   ครั้งหนึ่ง  ข้าพเจ้าเดินทางลงมาจากภาคเหนือไม่ได้พบกับพี่ขวัญ  เพราะไปตรวจการต่างจังหวัด  ข้าพเจ้าถือโอกาสไปเยี่ยมป้าอิ่ม  แกไปอยู่สวนไม่ไกลจากพระนครมากนัก

   ป้าอิ่มเห็นข้าพเจ้าก็แสดงความดีใจ  เมื่อถามถึงความทุกข์สุขกันพอสมควรแล้ว  ข้าพเจ้าก็ถามป้าอิ่มว่า

“ทำไมป้าจึงชอบมาอยู่ในสวน  เงียบออกจะตาย”

   ป้าอิ่มหัวเราะแล้วพูดว่า  “ป้าชอบทำงาน”

   แกเล่าว่า  ครั้งแรกพี่ขวัญรับแกไปอยู่บ้าน  บอกว่าให้ไปช่วยทำงานบ้านทำครัว  แกจึงเลิกขายข้าวแกงที่โรงเรียน  เห็นว่าตัวเองก็แก่แล้ว  การหาบๆคอนๆ ก็ไม่ค่อยจะมีแรงเหมือนก่อน  คิดจะไปช่วยทำงานเป็นแม่ครัว  พอมีชีวิตไปวันหนึ่งๆ เพื่อฝากผีฝากไข้เมื่อยามป่วยก็ดีเหมือนกัน  

   ครั้นมาอยู่บ้านพี่ขวัญเข้าจริงๆ งานเขาก็ไม่ให้ทำ  จะช่วยทำครัวเขาก็มีแม่ครัวแล้ว  ก็ได้แต่นั่งกินนอนกิน  คนนั้นก็ยกย่องเรียกคุณป้า  คนนี้ก็เรียกคุณน้า  งานการไม่ได้ทำนั่งเป็นคุณนาย  เช้าสำรับถึง  เย็นสำรับถึง  ป้าอิ่มบอกว่า  ทนไม่ได้ที่จะต้องอยู่เฉยๆ ทั้งไม่ได้เป็นญาติกับเจ้าของบ้านสักนิด  จึงบอกกับพี่ขวัญว่า  อยู่อย่างนี้ทนไม่ไหว  ประเดี๋ยวเป็นง่อยตาย  ขอไปหาบข้าวแกงขายตามเดิม

   แกเล่าให้ข้าพเจ้าฟังแถมท้ายว่า

“จริงๆนะคุณ  ป้าอยู่เฉยๆไม่ได้  คุณขวัญเป็นคนดีจริงๆ บอกว่าป้าแก่แล้วไม่อยากให้ไปทำอะไร  เพราะป้ามีบุญคุณกับแกมาก  ซ้ำแกเองก็ไม่มีแม่  แกเคารพป้าเหมือนกับแม่ของแก  ป้ารู้สึกตื้นตันใจที่ได้ยินแกพูดเช่นนี้  ป้าบอกว่าขอให้ป้าได้ทำงานบ้างเถิด  เพราะป้าทำงานมาตั้งแต่สาวจนแก่  พอไม่ได้ทำงานมันก็ไม่สบายใจ  ป้ารู้สึกของคุณคุณขวัญมากที่เอาใจใส่ต่อป้าดีแสนดี  และทุกคนในบ้านก็เคารพป้ารวมทั้งภรรยาของคุณขวัญ  ไม่เคยพูดจาให้ป้าสะเทือนใจเลย  ช่างดีอะไรเช่นนี้ก็ไม่รู้”

   แกพูดพลางน้ำตาไหลออกมา  แกเอาผ้าแถบซับน้ำตา  ข้าพเจ้าได้มาเห็นน้ำตาของป้าอิ่มเป็นครั้งที่สอง  ที่ไหลออกมาเพราะความดีของเด็กบ้านนาจนๆคนหนึ่ง  ครั้งแรกที่ได้เห็นพี่ขวัญกราบพ่อซึ่งแต่งตัวมอซอที่โรงอาหารโรงเรียน และก็มาครั้งนี้  ซึ่งแกก็ร้องไห้เพราะตื้นตันใจในความดีของพี่ขวัญอีก

“จริงๆนะคุณ  ป้าเองก็ไม่เคยนึกเคยฝันว่าจะพบคนดีอุปการะป้าอย่างนี้”  แกพูดต่อไป

“ไม่มีคนดูถูกว่าป้าเป็นคนจนๆ หาบข้าวแกงขายมาก่อน  ทุกคนเคารพป้า  ไม่มีใครรังเกียจ”

   ข้าพเจ้าจึงพูดว่า

“ก็พี่ขวัญเป็นเจ้าของบ้านมีความเคารพป้า  ก็เป็นธรรมดา  คนอื่นเขาก็ต้องเคารพป้าไปด้วย  และป้าแม้จะเป็นคนขายข้าวแกงยากจนคนหนึ่ง  แต่ก็เป็นคนจนมีน้ำใจดี  น่าเคารพบูชาดีกว่าคนมั่งมีที่มีน้ำใจเลวเห็นแก่ตัว  ผมเองก็เคารพป้าเพราะป้ามีจิตใจงาม”

   ข้าพเจ้าพูดออกมาจากใจจริง

“พอเถิดคุณ  อย่ายอป้าเลย  เดี๋ยวป้าจะลอยเท้าไม่ติดดิน”

   ข้าพเจ้าบอกว่า  พูดออกมาจากใจจริงไม่ได้พูดเกินความจริง  แล้วเลยถามแกว่า  ทำไมจึงได้มาอยู่ในสวนนี้  ป้าอิ่มเล่าให้ฟังว่า  แกเป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่ง  ชอบทำงาน  เมื่อเห็นว่าป้าอิ่มแกไม่ยอมอยู่ที่บ้าน  พี่ขวัญจึงยกสวนให้เป็นกรรมสิทธิ์  มีผลไม้นานาชนิดเป็นที่ถูกใจป้าอิ่มมาก  แต่ป้าอิ่มจะขอเพียงอยู่ไปทำไปเท่านั้น  ไม่ขอเป็นกรรมสิทธิ์  แต่พี่ขวัญไม่ยอม  อ้างว่าเหตุการณ์ข้างหน้าไม่แน่นอน  ฉะนั้น จึงได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ป้าอิ่ม  ซึ่งป้าอิ่มจะขายหรือให้ใครก็ได้ตามใจชอบ  สวนนี้ข้าพเจ้าทราบว่า  เป็นมรดกชิ้นหนึ่งที่หลวงอายกให้พี่ขวัญ

   ส่วนบิดาของพี่ขวัญนั้น  ข้าพเจ้าทราบว่า  ไม่ยอมมาอยู่กับลูกชายที่กรุงเทพฯ  อ้างว่าอยู่บ้านนอกมาตั้งแต่เกิดจึงไม่อยากจากมา  ที่นาก็เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกชายแล้ว  ไม่มีสิ่งใดจะต้องทุกข์ร้อน  ลูกชายคนเล็กมาเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพฯ  แล้วก็ออกไปอยู่บ้านนา  และได้แต่งงานกับหญิงชาวบ้านตำบลเดียวกันมีบุตรด้วยกัน  พ่อของพี่ขวัญก็ไม่เงียบเหงายังมีหลานเล็กๆ ทำให้ชีวิตสดชื่นขึ้นอีก  บั้นปลายของแกก็มีความสุข  วันที่ข้าพเจ้าไปสวนเพื่อเยี่ยมป้าอิ่มนั้น  ข้าพเจ้ารู้สึกว่าป้าอิ่มมีความสุขมาก  

ข้าพเจ้าจึงได้ถามแกว่า  “ป้าอิ่มคงมีความสุขมากที่ได้มาอยู่สวน”

   แกบอกว่า

"ป้าสบายใจที่ได้ทำงาน  วันพระก็ได้ไปฟังเทศน์ฟังธรรมบ้าง  เรามันแก่แล้ว  ป้าคิดว่า  สวนนี้หากป้าตายก็จะยกคืนให้คุณขวัญตามเดิม  เพราะคุณขวัญแกเป็นคนดีจริงๆ หาไม่ได้อีกแล้วคนอย่างนี้  และมาเยี่ยมป้าเสมอทั้งผัวทั้งเมีย  เมื่อมาก็ซื้อของอะไรมาฝากป้าอยู่ทุกครั้ง  ถ้าปีใหม่  สงกรานต์ก็มีผ้านุ่งผ้าห่มมาให้  ป้าได้แต่สวดมนต์ไหว้พระขอให้เจริญยิ่งขึ้น"  

   วันนั้นข้าพเจ้าจำได้ว่าป้าอิ่มได้เลี้ยงข้าวมันส้มตำข้าพเจ้า  ซึ่งข้าพเจ้าเคยชมฝีมือปรุงของแกตั้งแต่เป็นนักเรียนแล้ว   ก่อนที่ข้าพเจ้าจะลากลับก็อดคิดไม่ได้ว่า

     “คนดีพบคนดี  นำไปในทางดี”
ขอความดีงามจงบังเกิดกับท่านผู้อ่าน
ขออุทิศแด่ท่านอาจารย์ ทองหยก เลียงพิบูลย์ เจ้าของวรรณกรรมอิงธรรมะชุดนี้
และขอขอบพระคุณท่าน พลเรือเอก ทวีชัย เลียงพิบูลย์ และทายาท(เจ้าของลิขสิทธิ์)