วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

สุขภาพดีไม่มีขาย จึงต้องทำเอง.11



ภาวะข้อไหล่ติด 
Frozen shoulder

โรคไหล่ติด

    ประมาณ 30 ปีก่อน ผู้เขียนเคยมีอาการเจ็บหัวไหล่อย่างยาวนาน จะเอื้อมมือหยิบของก็ทำได้ยากและเจ็บปวด แรกๆก็ไม่สู้กระไรเพราะเจ็บไม่มาก คิดเอาเองว่าคงเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวเท่านั้น แต่อาการเจ็บหัวไหล่ไม่หายสักที ทั้งยังรู้สึกว่ายิ่งนานไปยิ่งเจ็บข้างในหัวไหล่ลึกๆ บางช่วงเจ็บขนาดว่าแค่ไอหรือจาม ก็รู้สึกไหล่สะท้านเจ็บแปร๊บๆอยู่ภายใน ต่อมาก็เจ็บไหล่จนยกแขนแทบไม่ขึ้น
   ตอนนั้นผู้เขียนยังโสด แต่มีแฟนเป็นพยาบาล แฟนสังเกตเห็นอาการของผู้เขียน จึงนัดนายแพทย์เฉพาะทางให้ จึงได้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาหัวไหล่ที่เจ็บ ซึ่งความจริงแล้วผู้เขียนคิดเอาเองว่าไม่ต้องหาหมอเดี๋ยวมันก็หายเจ็บเอง แต่เมื่อแฟนพยาบาลนัดหมอให้แล้ว ก็เลยเกรงใจและได้ไปพบแพทย์ตามนัด
   เมื่อพบแพทย์แล้วท่านให้ทดลองยกแข็งแกว่งแขนตามแบบที่ท่านบอก ปรากฏว่าเจ็บเอามากๆอย่างเหลือเชื่อ ท่ายกแขนตามที่แพทย์สั่งให้ทำนั้น ดูไปแล้วมันต้องทำได้ง่ายมาก แต่ผู้เขียนทำไม่ได้เลย จะยกแขนบิดแขนเพียงนิดเดียวก็เจ็บน้ำตาแทบร่วง คุณหมอบอกว่าผู้เขียนเป็นโรคไหล่ติด ตอนนั้นงงว่าโรคแบบนี้ก็มีด้วยหรือ
   นายแพทย์ผู้ใจดีได้ลงความเห็นว่า อาการเจ็บอย่างนี้ต้องฉีดยาเข้าไปที่หัวไหล่โดยตรง ผู้เขียนจำได้แม่นเลยว่า พอพยาบาลนำเข็มฉีดยามาให้คุณหมอ ท่านกลับบอกว่าคนไข้เนื้อเยอะ ต้องใช้เข็มใหญ่ๆ
   เมื่อได้เข็มฉีดยาซึ่งใหญ่มาก ใหญ่ที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยโดนฉีดยากันเลยทีเดียว พอเข็มปักลงบนหัวไหล่แล้ว ต้องแทงเข็มลึกลงไปจนถึงกระดูกหัวไหล่ ขณะที่ฉีดยาเข้าไปนั้นจะเจ็บมาก ผู้เขียนไม่เคยโดนฉีดยาแล้วเจ็บขนาดนี้เลย ยาที่ฉีดเข้าไปนั้นคือยาละลายพังผืด นอกจากนี้คุณหมอยังสอนท่าทำกายภาพบำบัดหัวไหล่มาด้วย
   หลังจากนั้นไม่นานผู้เขียนก็หายเจ็บไหล่ หายทรมานจากการเจ็บหัวไหล่ที่เป็นมานานหลายเดือน
   ผู้เขียนหรือแอดมินนี้ระลึกอดีตถึงเรื่องอาการเจ็บหัวไหล่เพราะเป็นโรคไหล่ติด จึงคิดว่าควรหาข้อมูลเรื่องโรคหัวไหล่ติดมาบันทึกไว้ ก็ได้พบบทความดีๆของ พ.ท. ณัฏฐา กุลกำม์ธร พ.ต.ปิติ รุจกิจจานนท์ จาก อนุสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ท่านให้ความรู้ไว้ดังนี้


 ข้อไหล่เป็นข้อที่มีพิสัยการเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกายของมนุษย์ ทำให้เราใช้แขนและมือทำงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ หากข้อไหล่ยึดหรือเคลื่อนไหวได้ไม่ดี จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของแขนและมือลดลง

สาเหตุของข้อไหล่ติดคืออะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการข้อไหล่ติดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ในปัจจุบันมีทฤษฎีที่เชื่อว่าเกิดจากปฏิกริยาของภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยทั่วไประบบภูมิคุ้มกันจะช่วยป้องกันอวัยวะต่าง ๆ จากเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอม แต่ในผู้ป่วยข้อไหล่ติด ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะทำหน้าที่ผิดปกติโดยจะไปโจมตีเนื้อเยื่อของร่างกายเอง ถ้าเกิดในข้อไหล่ก็จะทำให้เกิดการอักเสบในข้อไหล่รวมทั้งเยื่อหุ้ม จากนั้นการอักเสบก็จะรุนแรงขึ้นทำให้มีการหดรัดและแข็งตัวของข้อไหล่จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ


สำหรับสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการข้อไหล่ติดที่พบได้บ่อยได้แก่ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทำให้เกิด กล้ามเนื้อฉีกขาด อักเสบ หรือกระดูกหักหรือเคลื่อนบริเวณข้อไหล่, การใช้งานข้อไหล่อย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการอักเสบ, การเสื่อมของข้อไหล่, โรคข้ออักเสบ(โรครูมาตอยด์, โรคเกาท์), การมีเส้นเอ็นอักเสบร่วมกับมีแคลเซี่ยมมาเกาะ

ข้อไหล่ปกติและข้อไหล่ติด




อาการของโรคข้อไหล่ติดจะเริ่มจากการเจ็บข้อไหล่อยู่เป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์หรืออาจจะเป็นเดือน มีอาการปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวบริเวณหัวไหล่ จากนั้นอาการปวดจะลดลงจนเริ่มฟื้นตัวทำให้เคลื่อนไหวขยับข้อไหล่ได้ดีขึ้นจนผู้ที่มีอาการข้อไหล่ติดเข้าใจว่าอาการดีขึ้นแล้ว แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่าหลังจากอาการปวดดีขึ้นการเคลื่อนไหวของแขนและข้อไหล่จะยังทำได้ไม่เต็มที่เคลื่อนไหวได้ไม่สุดหรือไม่ดีดังเดิม

วิธีสังเกตว่าเป็นโรคข้อไหล่ติดแข็ง

สามารถสังเกตได้ขณะใช้งานแขนในลักษณะท่าทางต่างๆแล้วจะรู้สึกเจ็บไหล่ เช่นล้วงกระเป๋าหลังของกางเกงที่สวมอยู่ ไม่สามารถยกแขนเหนือศีรษะเพื่อหยิบของที่สูงได้ไม่สามารถเอามือไขว้หลังเพื่อถูหลังตัวเองหรือสระผมตัวเองได้ไม่สามารถกางแขนออกด้านข้างแล้วหงายฝ่ามือขึ้น เป็นต้น

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะข้อไหล่ติดแข็ง

พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายอายุโดยเฉลี่ย 40-65ปี โรคเบาหวาน และโรคอื่น ได้แก่ โรคไทรอยด์, หัวใจขาดเลือด, โรคซึมเศร้า, โรค Parkinson และการบาดเจ็บของระยางค์บน เป็นต้น


การดำเนินโรค

ระยะที่ 1 Pre-adhesive phase (3 เดือนแรก)
ปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหว ปวดตอนกลางคืน ตรวจร่างกายพบว่า พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ยังคงปกติ

ระยะที่ 2 Painful phase “Freezing” (3-9 เดือน)
ปวดมากตอนกลางคืน และเมื่อมีการเคลื่อนไหว เป็นระยะที่มีอาการปวดมากที่สุด ตรวจร่างกายพบว่า มีการลดลงของพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่

ระยะที่ 3 Progressive stiffness phase “Frozen” (9-15 เดือน)
ข้อไหล่ติดทั่วๆปวดน้อยลง จะปวดเฉพาะเมื่อเคลื่อนข้อไหล่เต็มที่ ตรวจร่างกาย มีการลดลงของพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่

ระยะที่ 4 Resolution phase “Thawing” (15-24 เดือน)
อาการปวดลดลงขยับแขนได้มากขึ้นตามลำดับ ตรวจร่างกายพบว่าพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ค่อยๆดีขึ้น
กราฟระหว่างระยะเวลาดำเนินโรคกับอาการปวด

การดูแลรักษาตนเองจากภาวะข้อไหล่ติดแข็ง

การรักษาภาวะข้อไหล่ติดจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลานานมากจนทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญและกังวลใจ แต่โดยทั่วไปร้อยละ 95 ของผู้ป่วยที่มีภาวะนี้อาการจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ

ระยะที่ 1 และ จะเริ่มทำการรักษาโดยให้ยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบเพื่อบรรเทาอาการปวด ร่วมกับให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อซึ่งเป็นภาวะที่พบร่วมด้วยในผู้ป่วยที่มีข้อไหล่ติดแข็ง ผู้ป่วยไม่ควรไปนวดหรือทำกายภาพบำบัด เพราะจะทำให้มีอาการปวดมากยิ่งขึ้น แต่สามารถเริ่มบริหารข้อไหล่ได้เองที่บ้าน

ระยะที่ 3 และ การทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกายดังตัวอย่างจะช่วยให้พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่กลับมาเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าหากอาการไหล่ติดเป็นปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวันมาก หรือกินระยะเวลานานมาก การรักษาโดยการดัดข้อไหล่ภายใต้การดมยาสลบ (MUA: Manipulation under anesthesia) จะสามารถทำให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่กลับคืนมาได้เร็วยิ่งขึ้น

การบริหารไหล่เบื้องต้น

ท่าที่ 1

ท่าที่ สามารถทำในท่านอนหงายบนเตียงหรืออาจจะอยู่ในท่านั่งหรือยืนก็ได้ แล้วทำการเหยียดแขนโดยยกแขนขึ้นตรงเหนือศีรษะอาจจะใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยจับประคองที่ข้อศอกของแขนข้างที่ยกเพื่อช่วยดันให้มีการยกแขนได้มากขึ้นโดยจะมีความรู้สึกตึงบริเวณหัวไหล่ของแขนข้างที่ยก แต่ถ้ารู้สึกเจ็บปวดมากอาจจะลดระดับลงไม่จำเป็นต้องยืดให้สุดในครั้งแรกทำเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ราบเรียบและไม่เร่งรีบ เป็นจังหวะไป-กลับ ประมาณ 30 ครั้ง ถ้ามีอาการปวดมากทั้งขณะทำหรือภายหลังการออกกำลังกายควรหยุดการออกกำลังกายในท่านี้จนกว่าอาการปวดจะดีขึ้นหากอาการปวดไม่ทุเลาหรือมีอาการมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด

ท่าที่ 2

ท่าที่ ทำได้ทั้งท่ายืนและท่านั่ง โดยทำการยืดแขน โดยการยื่นแขนมาด้านหน้าลำตัวพร้อมกับไขว้ผ่านลำตัวใช้มืออีกข้างจับประคองที่ข้อศอกของแขนข้างที่ทำการยืดและออกแรงดันแขนไปให้สุดทำการยืดเป็นจังหวะไป-กลับประมาณ 30 ครั้ง

ท่าที่ 3

ท่าที่ 3 ท่าเริ่มต้นอยู่ในท่ายืนหรืออาจจะอยู่ในท่านั่ง ใช้ผ้าเช็ดตัวพาดผ่านไหล่ไปข้างหลัง ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับชายผ้าไว้ ขยับมือทั้งสองข้างขึ้นลงพร้อมๆกันทำการยืดเป็นจังหวะขึ้น-ลงประมาณ 30 ครั้ง และทำอีกข้างหนึ่งโดยการสลับมือ

การรักษาโดยการผ่าตัด

เป็นวิธีการที่แพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่มีอาการติดมาเป็นเวลานานคิดว่าไม่สามารถดัดได้ หรือในผู้ป่วยที่กระดูกบางมากอาจเกิดการหักในระหว่างการดัด แพทย์จะทำการส่องกล้องเข้าไปในข้อไหล่แล้วทำการตัดเนื้อเยื่อหรือ พังผืดที่ติดอยู่ออกผู้ป่วยจะมีแผลเป็นรูเจาะ แต่ที่สำคัญคือต้องมีการขยับและเคลื่อนไหวหลังผ่าตัดทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อไหล่กลับมาติดอีก

พ.ท. ณัฏฐา กุลกำม์ธร
พ.ต.ปิติ รุจกิจจานนท์

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก พ.ท. ณัฏฐา กุลกำม์ธร พ.ต.ปิติ รุจกิจจานนท์, อนุสาขาเวชศาสตร์การกีฬา มา ณ ที่นี้

ภาพแรกจาก www.phyathai-sriracha.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น