วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ปัดฝุ่นเรื่องเก่าไทย.24 ยันต์สลักเกล้า




ยันต์สลักเกล้า

  ตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าผู้เขียนมีอายุถึงวัยหลังเกษียณ  ก็เกิดอารมณ์อย่างหนึ่งขึ้นแบบที่ไม่เคยเป็นถึงขนาดนี้ คือ อารมณ์ระลึกอดีต...ก่อนที่จะแซยิดนั้นถึงจะระลึกอดีตก็แค่เป็นครั้งคราว พอแซยิดเป็นต้นมา...แมร่ง ระลึกอดีตอยู่เรื่อย ระลึกแล้วบางทียังสะดุ้งว่า กรูเคยทำแบบนั้นไปได้ไงวะ

  การระลึกอดีตบ่อยๆก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย เช่น สาวๆ(ในยุคนั้น)ที่เราลืมเธอไปนาน ก็นึกขึ้นมาได้ว่าเคยสนิทกันอย่างไร แล้วพลัดพรากอย่างไร แม้แต่หลายๆเหตุการณ์ที่เคยไปกราบพระอาจารย์ด้วยกันซึ่งเราเลือนๆไปแล้ว พอระลึกถึงเธอๆๆ ก็ทำให้นึกออกว่าวันนั้นได้คุยกับหลวงปู่หลวงพ่อพระอาจารย์เรื่องใดบ้าง

  ข้าพเจ้าระลึกอดีตที่พาแฟนซึ่งก็คือภรรเมียในปัจจุบันไปกราบหลวงพ่อพรหมวัดขนอนเหนือ หลวงพ่อท่านทักว่า.. “อ้าว...มึงพาสาวคนใหม่มาอีกแล้ว ไม่ใช่สาวคนเดิมนี่หว่า”...แล้วหลวงพ่อก็หัวเราะหึๆๆเมื่อเห็นแฟนข้าพเจ้าหน้าจ๋อย ท่านหัวเราะพูดว่า... “กูล้อเล่น ไอ้นี่มันชอบมาคนเดียวมาถามโน่นนี่กับกูอยู่เรื่อย”

  หวนระลึกไปถึงครั้งเรียนประถมปลาย ทางโรงเรียนพาไปทัศนศึกษาที่หอสมุดแห่งชาติ ก็นานถึงห้าสิบกว่าปีนิดๆ ระลึกอดีตตรงนี้แล้วนึกได้ถึงเพื่อนหญิงที่ลืมเธอไปแล้ว ครั้งนั้นคุณครูแยกกลุ่มนักเรียนให้ค้นหนังสือทำรายงาน ข้าพเจ้าคู่กับเพื่อนหญิงที่เราลืมเธอไปแล้ว มานึกได้ก็ตอนระลึกอดีตการไปหอสมุดแห่งชาติเป็นครั้งแรกนี่เอง จำได้ว่าช่วยกันค้นระเบียนรายชิ่อหนังสือ ซึ่งสมัยนั้นเป็นลิ้นชักเล็กๆยาวติดกันเป็นแผง ต้องไปค้นหาชื่อหนังสือ จะเจอเลขรหัสของโซนและชั้นวางหนังสือ  เราเรียกลิ้นชักที่มีรายชื่อหนังสือว่า “เก๊ะรายชื่อหนังสือ”

  หลังจากนั้น ข้าพเจ้าชอบไปอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ อ่านหนังสือหลายหลาก จนกระทั่งในกาลต่อมา ก็เริ่มรู้จักค้นหายืมตำราสมุดข่อยมาดู ดูโหราศาสตร์ วิทยาคม ภาพวาดจิตรกรรม

  เมื่อเรียนชั้นมัธยมก็ทำบัตรหอสมุดแห่งชาติ แล้วไปหาหนังสืออ่านเล่น จนกระทั่งเรียนช่างกลก็ยังไปค้นหนังสืออ่านเหมือนเดิม จนกระทั่งไปค้นตำรับตำราสมุดไทยสมุดข่อยปั๊บสา เรื่องนี้มีขั้นตอนการขอดูหนังสือด้วย ไม่ใช่ว่าเดินทะเล่อทะล่าเข้าไปค้น...และแล้ว ข้าพเจ้าได้เห็นตำราเก่ามากมาย หลายเล่มมียันต์รูปภาพสวยๆก็จดและจำเอามา มียันต์หนึ่งซึ่งจำได้แม่นชื่อว่า ยันต์สลักเกล้า ในตำราเขียนชื่อยันต์เป็นตัวอักษรขอมซึ่งถอดเป็นอักษรไทยว่า ยันสลักเกลา อ่านว่า ยันต์สลักเกล้า

  ยันต์สลักเกล้านี้ข้าพเจ้ายังได้เห็นสำเนาอื่นจากที่หอสมุดและจากพระอาจารย์ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังได้เคยสอบทานจากพระอาจารย์ทางแถบเพชรบุรี พบว่าเป็นยันต์เดียวกันแต่มีการคัดลอกจดจำต่างกันบ้างนิดๆหน่อยๆ ส่วนมากหลวงปู่หลวงพ่อมักจะเรียกว่า หนุมานถวายแหวน หนุมานสะกดทศกัณฐ์ หนุมานสลักเกสา หนุมาณปราบลงกา และ สลักเกล้า ข้าพเจ้าเห็นและได้ยินมาเช่นนี้

   ตำราที่ท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ได้จัดพิมพ์นั้น ในฉบับหนึ่งก็มียันต์ สลักเกล้า ซึ่งเป็นยันต์ในชุดตำรับวัดประดู่ทรงธรรม อยุธยา ท่านอาจารย์เทพย์เล่าไว้เองในคำนำว่า การจัดพิมพ์ตำรานั้นครั้งแรกเริ่มมาจากท่านเจ้าคุณศรีฯสนธิ์วัดสุทัศนฯ ประสงค์จะรวบรวมตำราเพื่ออนุรักษ์เผยแพร่ โดยท่านอาจารย์เทพย์รับหน้าที่จัดพิมพ์ให้สำเร็จ ทั้งท่านยังช่วยหาตำราสำนวนอื่นมาสอบทานกับตำราเดิมของท่านเจ้าคุณฯศรี ตำราก็จัดพิมพ์เป็นชุดต่อๆมา เรื่องนี้ในปัจจุบันคนไม่ค่อยรู้ เพราะไม่อ่านคำนำกันสักเท่าไร ก็แปลกดี

  ในตำราเล่มที่มีตำรับวัดประดู่ฯ มียันต์สลักเกล้ารวมอยู่ด้วย โดยสะกดคำอ่านว่า ยันต์ ยมสลักเกลา ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ท่านอาจารย์เทพอาจจะเห็นตำรับสำเนาหนึ่งที่เขียนอักษรขอมคลาดเคลื่อนไปนิด และเขียนในสไตล์ขอมไทย ซึ่งข้าพเจ้าก็เคยเห็นแบบนี้เหมือนกัน คือ เขียนตัวขอมเป็น ยะ มีตีนอักษรใต้ตัวยะเป็น มะ เขียนแบบนี้จะอ่านว่า ยม หรืออ่าน ยัม ซึ่งมีตำราเล่มอื่นที่เขียนเป็นตัว ยะ และมีตีนอักษรเป็น น ท่านอาจารย์เทพย์ท่านคงยึดตามตำราเล่มที่เห็น คือยึดตามหลักฐานชั้นต้นไปก่อน

  จากยม บ้างก็อ่านเป็นยัมแบบไม่ใส่ไม้หันอากาศ ซึ่งในการเขียนขอมไทยก็มีเขียนแบบใส่วรรณยุกต์บ้างไม่ใส่บ้าง เคยพบว่าเขียนแบบนี้จริงๆ ส่วนที่เขียนเป็น ยะ และมีตีนเป็น น แบบนี้ชัดๆเลยว่า อ่านว่า ยัน ก็คือ ยันต์ นั่นเอง คำถัดไปเป็น เกลา อ่าน เก-ลา  หรือ เกลา ในขอมไทยมีทั้งใส่วรรณยุกต์และไม่ใส่ เวลาอ่านถึงกับต้องเดาเอาก็มาก ดังนั้นคำว่า เกลา จึงอ่าน เกล้า รวมเป็นชื่อว่า ยันต์สลักเกล้า

การเขียนชื่อยันต์สลักเกล้าที่เคยพบ

  คำว่ายันต์สลักเกล้า ยันต์ยมสลักเกลา กลับไม่ค่อยมีการเรียก แต่ไปปรากฏชื่อโดยทั่วไปอย่างแพร่หลายว่า ยันต์ไมยราพสะกดทัพ ข้าพเจ้าเองก็ได้ยินแบบนี้มาตั้งแต่ครั้งวัยรุ่น(แหม ก็ตั้ง 50กว่าปีก่อนแน่ะ) ในวงการพระเครื่องจะเรียกชื่อยันต์ไมยราพสะกดทัพกันอย่างแพร่หลาย ทั้งยังยกย่องว่าเป็นยันต์ชั้นสุดยอดยันต์หนึ่ง ที่ดังสุดนิยมสุดก็เป็นของหลวงพ่อกุนวัดพระนอน จ.เพชรบุรี

หลวงพ่อกุนวัดพระนอน


  เคยเห็นด้านในของตะกรุดหลวงพ่อกุน มีที่ลงยันต์เป็นรูปหนุมาน ทศกัณฐ์ นางมณโฑ ตามแบบที่เคยเห็นในตำราจริงๆ ต่อมาได้ดูอีกหลายดอกจากเจ้าของที่เป็นคนเมืองเพชร มีแปลกจนสะดุ้งว่า ภายในไม่เห็นรูปอะไรเลย แต่เห็นเป็นรอยเส้นๆยึกยักไปมา ตะกรุดเก่าสุดๆและแท้แน่นอน

  ตะกรุดสลักเกล้าหรือไมยราพสะกดทัพหลวงพ่อกุนตามที่วงการพระเรียก ยังได้เคยเห็นตะกรุดดอกที่เป็นของทางตระกูลเพื่อนคนเมืองเพชรสมัยเรียนช่างกล บรรพบุรุษรับมาทันยุคหลวงพ่อกุนและไม่เคยเปลี่ยนมือ ใช้จนตะกรุดชำรุดกรอบแกรบๆ เลยแกะออกมาดู ก็พบว่าเป็นรอยเส้นยึกยักๆ แต่พอจะมองออกว่ามีร่องรอยของรูปภาพ พอนึกๆเรื่องนี้ดู ก็เข้ากับคำบอกเล่าของคนเมืองเพชรรุ่นเก่าว่า หลวงพ่อกุนท่านลงยันต์แล้วเอาหินขัดๆแผ่นยันต์ให้เส้นยันต์หายไป แล้วจึงลงยันต์ซ้ำลงไปอีก ซึ่งก็คือการลงยันต์แบบที่เรียกว่า ลบถม นั่นเอง                   

ยันต์ของ ล.พ.กุน ภาพจากอินเทอเน็ต หาต้นทางไม่เจอ

  พระอาจารย์และคนเก่าๆทาง จ.เพชรบุรีเล่าว่า หลวงพ่อกุนท่านลงยันต์แล้วลบถมเพื่อลงยันต์ซ้ำ บางทีไปลงยันต์ตามป่าช้า เมื่อเสกตามตำรับแล้วขลังดีนัก ตะกรุดมีทั้งที่ลงยันต์ด้านหน้าและด้านหลัง ที่ไม่ลงยันต์ด้านหลังก็มี แต่ถึงจะไม่มียันต์ด้านหลัง ตะกรุดหลวงพ่อกุนก็ขลัง

  ข้าพเจ้าสงสัยมาโดยตลอดว่า ทำไมวงการพระเครื่องถึงเรียกตะกรุดนี้ว่าตะกรุดไมยราพสะกดทัพ มิหนำซ้ำยังเป็นที่จำกันเรื่องตะกรุดนี้ว่า ตะกรุดไมยรพสะกดทัพหลวงพ่อกุนวัดพระนอน เมื่อสอบถามหลวงปู่หลวงพ่อที่รู้จักท่านก็ไม่ได้เรียกแบบนี้ แต่ท่านเรียก หนุมานถวายแหวน หนุมาณปราบลงกา หนุมาณสะกดทศกัณฐ์ หนุมาณสลักเกล้า สลักเกล้า แต่ในตำราหลายสำนวนที่พบนั้น อ่านชื่อได้ว่า ยันต์สลักเกล้า

  มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ หลวงปู่หลวงพ่อท่านอธิบายคุณวิเศษของยันต์นี้ว่า หนุมาณสะกดทศกัณฐ์นางมณโฑ ก็เหมือนไมยราพสะกดทัพลักเอาพระรามไปบาดาล ท่านอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ไม่ทราบว่าเพราะแบบนี้หรือไม่ ที่ไปๆมาๆคนที่ได้ยินเลยมีเรียกเป็นชื่อยันต์ไมยราพสะกดทัพ

  ยันต์สลักเกล้าจะเป็นรูปภาพเหตุการณ์ตอนที่กำแหงหนุมาณเข้าไปในกรุงลงกาเพื่อตามหานางสีดา โดยที่หนุมาณสะกดยักษ์ที่อยู่ในวังให้หลับ แล้วเดินเข้าไปดูตามห้องต่างๆ จากรูปยันต์มีทศกัณฐ์กับนางมณโฑนอนหลับ ที่มวยผมของทั้งคู่ถูกหนุมานมัดเข้าด้วยกัน และมีรูปหนุมานยืนอยู่ทางด้านข้าง มือหนึ่งถือพระขรรค์อีกมือถือแหวน คือแสดงอาการถวายแหวนให้นางสีดานั่นเอง

ภาพสมุดต้นฉบับ


  ยันต์สลักเกล้าที่ปรากฏในสำนวนต่างๆนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นฉบับที่เหมือยกันเป๊ะๆถึง 100% ทุกฉบับจะมีอักขระและตัวเลขต่างกันไปบ้าง ที่พบว่าต่างกันแบบแปลกไปอีก จะเป็นรูปภาพของยันต์ เคยเห็นในสมุดข่อยวาดรูปหนุมานถือจักรอันเบ้อเร่อ

  รูปยันต์ด้านหน้าพบว่ามีแปลกไปบ้าง คือ รูปทศกัณฐ์กับนางมณโฑนั้น มีทั้งแบบที่นอนหลับเอามือกอดกันเฉยๆ และมีแบบที่ทศกัณฐ์จับหน้าอกนางมณโฑ ก็คือจับนมนางมณโฑนั่นเอง ข้อนี้ตรงตามที่คนเก่าๆท่านเล่าขำๆว่า “นางมณโฑนมโตข้างเดียว” เพราะรูปทศกัณฐ์นางมณโฑมักวาดเป็นทศกัณฐ์ชอบจับนมข้างหนึ่งของนางมณโฑ นมเลยบวมโตอยู่ข้างเดียว

  ส่วนรูปหนุมานก็มีแปลกออกไป ตามต้นฉบับเป็นเหตุการณ์ที่หนุมาณบุกกรุงลงกาเพื่อค้นหานางสีดา เมื่อพบนางสีดาแล้ว เพื่อยืนยันตัวตนว่าหนุมาณเป็นพวกพระรามจริงๆ จึงถวายแหวนของพระรามให้นางสีดาดูเป็นหลักฐาน จากยันต์สลักเกล้าหลายสำเนาข้าพเจ้าพบว่า รูปหนุมาณมีทั้งถือแหวน ถือกงจักร ถือพวงมาลัย

  รูปยันต์ด้านหลังซึ่งมีบ้างไม่มีบ้าง จะเป็นรูปส่วนศีรษะของทศกัณฐ์นางมณโฑ และมัดมวยผมเข้าด้วยกันเป็นเกลียว การที่มัดมวยผมเข้าด้วยกันนี้ ก็คือการสลักเกล้านั่นเอง

 
แผ่นยันต์สลักเกล้าด้านหน้า

  ในปัจจุบันมักจะรับรู้กันว่ายันต์สลักเกล้าคือยันต์ไมยราพสะกดทัพ ทั้งๆที่ยันต์ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับท่านพญายักษ์ไมยราพเลย ท่านพญายักษ์ไมยราพนั้นสะกดคนด้วยยารม โดยเอาเครื่องยาใส่ในกล้องแบบกล้องสูบฝิ่น แล้วเป่าควันเครื่องยาไปรมมนุษย์ลิงยักษ์ให้หลับ ส่วนหนุมานสะกดกรุงลงกาด้วยมนต์ล้วนๆ

  ยันต์นี้ไปดังที่ จ.เพชรบุรี เหตุเพราะหลวงพ่อกุนวัดพระนอนท่านเสกปลุกมอบให้ศิษย์มีประสบการณ์สุดขลัง ทั้งท่านยังเป็นพระอาจารย์ยุคเก่า ท่านสร้างตะกรุดนี้ไว้จนเหมือนเป็นวัตถุมงคลหลักของท่าน มีชื่อเสียงร่ำลือมาจนถึงปัจจุบัน

  พระอาจารย์ทางเมืองเพชรที่ยังมีตะกรุดสลักเกล้าให้ทันได้เห็นก็มีหลวงพ่อแลวัดพระทรง เคยกราบเรียนสอบถามท่าน ท่านก็เล่าให้ฟัง มาทราบภายหลังว่าในบั้นปลายท่าน ท่านมีทำออกมาบ้าง แต่ข้าพเจ้าตามเก็บไม่มัน มัวชะร่าใจไปหน่อย

                            ยันต์สลักเกล้าของหลวงพ่อแลวัดพระทรง ภาพจากอินเทอเน็ต

ความลับของยันต์สลักเกล้า

  ยันต์สลักเกล้าเป็นยันต์ตำรับวัดประดู่ทรงธรรม กรุงเก่า มีการคัดลอกออกไปโดยศิษย์ตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อคัดลอกเปลี่ยนจากรุ่นสู่รุ่น ก็ย่อมต้องมีที่คลาดเคลื่อนกันไปบ้าง บางกรณีเราเห็นยันต์จากสำนวนหนึ่ง แล้วไปเห็นอีกสำนวนหนึ่งที่ต่างกัน เรานึกว่าคลาดเคลื่อน แต่บางทีนั่นคือความลับ เพราะเป็นเรื่องของการเน้นการใช้ให้เด่นไปในทางใดทางหนึ่ง เรื่องนี้ข้าพเจ้าเองเคยเข้าใจผิดมาแล้ว นั่นคือ เข้าใจผิดตรงที่หนุมานคือ มีทั้งหนุมาณถือ แหวน จักร พวงมาลัย เข้าใจผิดไปว่า ตำราเขียนผิด แต่พอนึกถึงตำรับนั้นๆที่มีคาถาเสกแปลกออกไป จึงรู้ว่าที่แท้นี่คือความลับที่เน้นเสกด้านนั้นๆนี่เอง เช่น มีแหวนเพิ่มเจรจามหาอำนาจ จักรเพิ่มมหาปราบ พวงมาลัยเพิ่มมหานิยมมหาเสน่ห์

แผ่นยันต์สลักเกล้าด้านหลัง

 นอกจากนี้ยังมีการแยกใช้ยันต์ด้านหน้าใช้ทางคุ้มครองป้องกันภัย คาถาที่เสกเน้นทางอำนาจ คงกระพัน จังงัง สะกด และแยกใช้เฉพาะยันต์ด้านหลังเป็นมหานิยมมหาเสน่ห์ คาถาที่เสกก็เป็นคาถามหานิยมมหาเสน่ห์ เรียกจิต

  ถ้าสรุปโดยรวมถึงคุณวิเศษของยันต์สลักเกล้า ก็ประมาณว่า คุ้มครองป้องกันภัย ป้องกันและล้างคุณไสยอาถรรพ์ ทั้งยังอยู่ยงคงกระพัน สะกดให้เคลิ้มเผลอไผล ส่วนเรื่องการสะกดคนให้หลับไหลนั้น แบบนี้มันระดับผู้มีวิทยาคมประกอบแล้ว

เรื่องจากความทรงจำที่เคยเห็นจากสมุดข่อยต่างๆ ,จากการสอบถามพระอาจารย์

ภาพ ล.พ.กุนและยันต์ จากอินเทอเน็ตแต่หาต้นทางไม่เจอ

ภาพแผ่นยันต์ ภาพสมุดต้นฉบับเป็นของข้าพเจ้าเอง






วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ปัดฝุ่นเรื่องเก่าไทย.23

 


ควายธนู วัวธนู  khwāy thanu , ww thanu

Magic buffalo , Magic cow

Magical weapons in the shape of buffalo and cow 

หลายปีมานี้ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่า มีท่านผู้รู้เผยแพร่ข้อมูลทางด้านไสยเวทกันมากจนน่าแปลกใจ บางทีน่าขำ บางทีน่าระแวง บางทีน่าชื่นชม ข้อมูลทางด้านไสยมีมากขนาดปลิวว่อนในโซเชี่ยล ท่านผู้เสพข้อมูลก็เสพๆกันไปอย่างเพลิดเพลิน

  จากข้อมูลตั้งเยอะตั้งแยะที่เผยแพร่กันมานั้น บางทีข้าพเจ้าดูแล้วก็นึกออกว่า เป็นข้อมูลในหนังสือพระเมื่อ 50ปีก่อนบ้าง 30ปีก่อนบ้าง บางข้อมูลก็มาจากรุ่นน้องโพสต์อำเล่นในโซเชี่ยลเมื่อ 20กว่าปีก่อน และโคตะระหลายๆข้อมูลดัดแปลงมาจากข้อมูลเก่ามาเป็นของผู้โพสต์ใหม่บ้าง ประมาณว่าโชว์สกิลจอมเวท ท่านผู้เสพข้อมูลก็ยังมีหน้าที่หลักคือเสพข้อมูลด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อไป โดยลืมพิจารณาข้อมูลนั้นๆ-

  ข้าพเจ้าจำได้ว่า หนังสือที่เป็นแหล่งข้อมูลเรื่องวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังที่จัดพิมพ์เป็นเล่มแรกๆนั้น ที่ทำไว้เรียบร้อยเป็นรูปเล่มมาตราฐาในยุค 50กว่าปีก่อน จะเป็นหนังสือของท่านอาจารย์ พินัย ศักดิ์เสนีย์ ซึ่งท่านเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม จำได้ลางเลือนว่า ชื่อ อ.พินัย ศักดิ์เสนีย์ นี้เป็นชื่อนามปากกา นามจริงของท่านจะเป็นอาจารย์พินิตย์ นิลวิเชียร หรือไม่เพราะจำแบบเลือนลางเต็มที

  ตอนที่ข้าพเจ้ายังเด็กยังเคยเปิดอ่านหนังสือของท่าน อ.พินัย ศักดิ์เสนีย์ เล่มที่ท่านเล่าถึงพวกเครื่องรางของขลัง จำได้ลางๆว่าชื่อ...ตำรับเครื่องรางของขลัง...เปิดอ่านที่ร้านเขษมวรรณกิจ อยู่ในเวิ้งนาครเขษมซึ่งใกล้บ้านเดิมข้าพเจ้า ได้ซื้อเก็บเอาไว้หลายครั้ง แต่โดนยืมแบบถาวรไปทั้งหมด...ข้อมูลทางของขลังที่พรีเซ้นต์กันในปัจจุบันหลายเรื่อง น่าจะมาจากหนังสือเล่มนี้ แต่ไม่มีการกล่าวถึงแหล่งข้อมูลดั้งเดิม ท่านผู้โพสต์อาจฟังเขาเล่าโดยไม่รู้ที่มาก็ได้

  ข้อมูลที่คิดมาอ่ำเล่นมั่วๆเมื่อ20กว่าปีก่อนของรุ่นน้องข้าพเจ้าตั้งหลายเรื่อง มาถึงปัจจุบันยังกลายเป็นบทบันทึกแห่งความโคตรศักดิ์สิทธิ์ ที่ท่านจอมเวทในยุคนี้เอามาโชว์สกิล

  ท่านผู้เขียนเล่าเรื่องยุคเก่าท่านหนึ่ง ท่านเขียนเรื่องอ่านแล้วสนุก เขียนเล่นเรื่องอภินิหารล้ำลึกไว้หลายเรื่อง ท่านมีความรู้ทางด้านวิทยาคมเหมือนกัน จึงเล่าเรื่องแทรกอิทธิปาฏิหาริย์อ่านได้สนุก ข้าพเจ้าเรียกท่านว่า ลุง บังเอิญว่าลุงแกดันบังเอิญเป็นศิษย์นับว่าเป็นสายเดียวกันกับข้าพเจ้าได้สายหนึ่ง ข้าพเจ้ายังเคยอุดหนุนซื้อของจากท่านหลายครั้ง ลุง ประถม อาจสาคร

  เรื่องที่ลุงแกเขียนเอาไว้ ในปัจจุบันกลายเป็นตำนานพันๆปีไปได้ด้วย หลายเรื่องกลายเป็นวิทยายุทธลับของสำนักนั้นสำนักนี้ และแน่นอนว่า เรื่องที่ลุงแกเขียนไว้ ก็เป็นข้อมูลที่มีในโซเชี่ยล แต่ไม่บอกที่มาว่าเป็นข้อมูลของลุงแกเลย


ข้อมูลของลุงที่มีนำเสนอกันเยอะ และกลายเป็นข้อมูลที่ไม่บอกที่มาข้อมูลว่าเป็นของลุงนั้น ข้อมูลฮิตข้อมูลหนึ่ง ก็คือเรื่อง...วัวธนู...คุณลุงเขียนไว้ในหนังสือพระฉบับหนึ่ง นานราวๆ 30กว่าปีก่อน

  คุณลุงเล่าเรื่องวัวธนูไว้ละเอียดมาก ลุงว่าครูอาจารย์เล่าให้ฟัง เคยเห็นมาบ้าง...ซึ่งข้อมูลของคุณลุงบางส่วนก็คล้ายกับข้อมูลที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินจากผู้หลักผู้ใหญ่ยุคเก่า ขอเล่าเรื่องวัวธนูตามที่ลุงแกเขียนไว้ เอาเท่าที่จำได้ ส่วนหนังสือที่มีบทความของลุงแก โดนปลวกกินเสียหาย

ชนิดของวัวธนู...ลุง ประถม อาจสาคร...เล่าไว้ประมาณนี้ เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้นะ

  ลุงประถมเล่าเอาไว้ว่า วัวธนูมี 3 ชนิด คือ

1.วัวธนูสานจากเส้นตอกไม้ไผ่

2.วัวธนูทำจากครั่ง หรือขี้ผึ้ง

3.วัวธนูทอง ทำจากโลหะ

  วัวธนู และควายธนู จัดว่าเป็นของขลังที่มีอำนาจมีอาถรรพ์ ลุงแกเล่าไว้ในหนังสือดังนี้(จำมาได้แบบย่อๆ)

1.วัวธนูสานจากตอกไม้ไผ่....เป็นวัวธนูแบบใช้ในเวลาฉุกเฉิน ประมาณว่าทำใช้ชั่วคราวเฉพาะหน้า จะใช้เส้นตอกมาสานเป็นรูปวัวแบบคร่าวๆ เสกปลุกวัวธนูไม้ไผ่แล้วใช้เดี๋ยวนั้น มีเรื่องเล่าประกอบว่า

                              วัวธนูแบบเส้นตอกสาน ครูบาอภิวัฒน์ อินฺทวณฺโณ วัดทุ่งโป่ง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

มีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินโดดเดี่ยวอยู่ เมื่อผ่านไปทางวัดร้าง(ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิดนะ) ก็มีตาผ้าขาวเดินมาอาราธนาให้พระท่านเข้าไปอยู่ในโบสถ์ร้างนั้นก่อน เพราะกำลังจะมีอันตรายเกิดขึ้น

  เมื่อพระและตาผ้าขาวเข้าไปอยู่ในโบสถ์ร้างแล้ว ตาผ้าขาวก็เอาเส้นตอกมาสานเป็นวัวธนู เส้นตอกก็คือไม้ไผ่ที่ใช้มีดผ่าฝานออกมาเป็นเส้นๆ เรียกว่า จักตอก เอามาสานสิ่งต่างๆ เช่น พัดสาน กระบุง ตะกร้า

  สักพักก็มีเสียงดังกร๊อบแกร๊บเหมือนเสียงเดินตรงเข้ามา เสียงเดินวนรอบโบสถ์ร้าง และมีเสียงดังเหมือนว่าสิ่งนั้นจะพยายามบุกเข้ามา ตาผ้าขาวจึงบริกรรมแล้วเอาวัวธนูที่สานไว้สอดลอดช่องว่างประตูโบสถ์(หรือหน้าต่าง..จำไม่ได้)ออกไป

  จากนั้นก็มีเสียหายใจดังๆของวัวหรือควาย และมีเสียงเหมือนสัตว์ใหญ่ต่อสู้กัน ที่แท้เสียงเดินเข้ามานั้นก็คือ เสือสมิง...ทีนี้ลุงประถมแกเล่าว่า ตาผ้าขาวค่อยๆสอดเส้นตอกสานออกไปอีก (นัยว่าลุงแกหมายถึงมีเสือสมิงเกินกว่า 1 ตัว...จำไม่แม่นแล้ว)

  ในที่สุดเสียงต่อสู้ก็เงียบไป วัวธนูเส้นตอกของตาผ้าขาวปราบเสือสมิงได้อยู่หมัด

  2.วัวธนูทำจากครั่ง ขี้ผึ้ง...วัวธนูหรือควายธนูแบบนี้ จะใช้ครั่งที่จับบนต้นพุทรา ถ้าได้ครั่งที่จับกิ่งทิศตะวันออกก็ยิ่งดี ถ้าใช้ขี้ผึ้ง ก็ใช้ขี้ผึ้งอาถรรพ์ เช่นขี้ผึ้งปิดหน้าผี เอามาปั้นเป็นวัวธนูหรือควายธนู แล้วเสกปลุกให้ขึ้นให้ขลัง จัดว่าวัวชนิดนี้มีฤทธิ์เหนือชั้นกว่าวัวธนูแบบสานด้วยตอก

วัวธนูทำจากครั่ง


3.วัวทอง(วัวธนูทอง)....แบบนี้เป็นวัวที่หล่อโลหะ มีการผสมโลหะที่ถือว่ามีอาถรรพ์ผสมลงไปด้วย เช่นตะปูตอกโลง ตะปูโบสถ์ โลหะอาถรรพ์ต่างๆ รวมทั้งแผ่นยันต์ตามตำรับนั้นๆ วัวทองเป็นวัวธนูที่มีฤทธิ์สูงสุด บางตำรามีเด็กเลี้ยงวัวหล่อโลหะคู่กันมาด้วย...ลุงประถมแกเล่าประกอบเรื่องวัวทองว่า

                                                  วัวธนู ล.พ.พุฒ วัดกลางบางพระ ภาพจากเว็บ G-Pra


  มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้แวะพักแรมกลางทาง บังเอิญว่าที่พักใกล้กับป่าช้าเก่าของย่านนั้น เป็นย่านที่มีภูติผีปีศาจดุนัก แล้วพอกลางดึกก็เจอปีศาจร้ายจริงๆ ท่านอาจารย์จึงต้องปล่อยวัวธนูทองออกไปสู้กับผีร้าย วัวธนูเอาชนะผีร้ายไปได้หลายตัว

  ในที่สุดวัวธนูทองก็ต้องเจอกับนายป่าช้าที่มีฤทธิ์มากกว่าผีที่แล้วมา วัวธนูพลาดท่าโดนนายป่าช้าตีจนเขาของวัวธนูหักไปข้างหนึ่ง ท่านอาจารย์จึงต้องปล่อยเด็กเลี้ยงวัวออกไปสู้กับนายป่าช้า ถึงจะสู้นายป่าช้าได้

  เรื่องวัวธนูที่ลุงประถมเล่าไว้ในหนังสือ ข้าพเจ้าจำได้คร่าวๆประมาณนี้เอง ข้อมูลของลุงประถมพอถึงปัจจุบัน ก็นับว่านานราวๆจะ 50ปีแล้ว นานจนกลายป็นข้อมูลไม่รู้ที่มา หรือรู้แต่ไม่กล่าวถึงต้นทาง..ละมั๊ง

ข้อมูลวัวธนูควายธนูจากแหล่งอื่น

    เท่าที่ได้เคยสอบถามพระอาจารย์ต่างๆถึงเรื่องควายธนูวัวธนู ก็ได้รายะเอียดทำนองเดียวกับข้อมูลวัวธนูลุงประถมที่กล่าวมาข้างต้น แต่ยังมีสิ่งที่แตกต่างกันบ้างดังนี้

  เรื่องวัวธนูนี้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ยังเด็ก ครั้งแรกก็ 50กว่าปีก่อน แต่ได้ยินเป็นเรื่อง ควายธนู คือตอนเด็กยังไม่ได้ยินคำว่าวัวธนูเลย ข้อนี้น่าจะเป็นเพราะในแถบนั้นเขานิยมเลี้ยงควายไว้ไถนามากกว่า เมื่อทำของขลังอาถรรพ์เป็นวัวธนูควายธนู ผู้เล่นอาคมแถบนั้นจึงทำแต่ควายธนู ข้าพเจ้าในวัยเด็กได้ฟังเรื่องเล่าก็มีแต่ควายธนูทั้งนั้น และได้เห็นผลจากการที่ควายธนูผ่านมาลองของ แถบที่ว่านั้นก็คือ จ.ปราจีนบุรี ดินแดนแห่งยาสั่งนั่นเอง

  มารดาของข้าพเจ้าเป็นคน จ.ปราจีนบุรี และหมู่บ้านที่อยู่ในสมัยนั้นไม่มีไฟฟ้าไม่มีน้ำประปา ต้องจุดตะเกียงต้องใช้น้ำบ่อ...ช่วงปิดเทอมใหญ่(เรียนชั้นประถม)จะเป็นช่วงที่ข้าพเจ้าไปเที่ยวที่บ้านแม่หรือบ้านตา ที่หมู่บ้านนี้เองที่ได้เห็นฤๅษีเป็นครั้งแรก ชาวบ้านเรียกพ่อเฒ่าฤๅษี แต่แกไม่ได้แต่งชุดหนังเสือเหมือนในหนังไทย แกแต่งตัวธรรมดาๆคล้ายๆชุดกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเดินเท้าเปล่า ปู่ฤๅษีเป็นผู้หนึ่งที่ทำควายธนูได้

ควายธนูแบบขี้ผึ้ง

  เย็นวันหนึ่ง ลุงบอกว่า..คืนนี้ถ้าเราไม่ง่วงก็รอดูอะไรดีๆ..ถามลุงแกว่าอะไร ลุงบอกว่า...คืนนี้เขาจะเล่นควายธนูกันสนุกๆ...ข้าพเจ้าเพิ่งได้ยินคำว่าควายธนูก็วันนั้นเอง ลุงเล่าว่าคนมีวิชาเขาจะปล่อยควายธนูมาลองกันว่าของใครดีกว่ากัน พวกลุงจะคอยเฝ้าดูในคืนนี้

  พอตอนดึกพวกลุงก่อกองไฟตั้งวงเหล้าที่หน้ายุ้งข้าว แล้วสักพักอยู่ๆก็มีเสียงดังแปลกๆเป็นระยะดังเข้ามาบ้างดังออกไปบ้าง พวกลุงก็เฮๆแบบเชียร์มวย พอสุดท้ายก็มีเสียงดังลั่นแบบเสียงไม้หัก แล้วก็เงียบไป พวกลุงก็แยกย้ายกันไปนอน ตอนนั้นจ้าพเจ้ายังไม่เข้าใจ

  วันรุ่งขึ้นตอนสายๆ ลุงแกเล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนที่มีเสียงดังๆนั้น...เขาปล่อยควายธนูมาลองกัน ครั้งนี้ลองกันสนุก ควายธนูผลัดกันแพ้ชนะ มันดันกันไปดันกันมา มันขวิดกันจนต้นไผ่ริมหมู่บ้านหักเป็นกอเลย...ลุงแกว่าเดี๋ยวจะไปรื้อกอไผ่ที่หัก แบ่งกันเอาไผ่มาสานกระบุงไว้ใช้

   ตอนเที่ยงก็เห็นลุงน้าแบกไม้ไผ่ 3 – 4 ลำกลับมาที่บ้าน แกว่า...นี่ไง ควายธนูมันชนไม้ไผ่จนหัก...ข้าพเจ้าได้รู้จักควายธนูก็ครั้งนี้เอง ตอนนั้นอยากมีควายธนูบ้าง

  ควายธนูที่สู้กันครั้งนี้ จากที่ฟังพวกผู้ใหญ่เขาเล่า ก็ประมาณว่าเป็นควายธนูขี้ผึ้ง ปล่อยมาทดสอบวิชากันและกัน เขาใช้ขี้ผึ้งปิดหน้าศพผสมดินป่าช้า เอามาปั้นเป็นควายแล้วเสกเป็นควายธนู เอาไว้สู้กับภูติผัปีศาจ ทำลายคุณไสยอาถรรพ์ หรือปล่อยควายธนูไปขวิดศัตรู

  ก่อนที่ข้าพเจ้าจะกลับกรุงเทพฯ ลุงยังชี้ให้ดูคอกของควายธนู ลักษณะเป็นศาลเพียงตาแบบง่ายๆ บนพื้นศาลทำรั้วแบบเป็นคอกควายไว้ด้วย มีหญ้ากำมือหนึ่ง มีชามใส่น้ำ ควายธนูตัวนี้เป็นแบบขี้ผึ้งปั้น สีเหมือนกาแฟใส่นมข้น ลุงเล่าว่าถ้าเป็นตัวที่ใช้ครั่งมาทำ ควายธนูตัวนั้นสีจะออกดำๆกว่านี้

  ผู้ใหญ่บางท่านเล่าว่า ควายธนูแบบที่ใช้เทียนพรรษาเทียนชัยเอามาปั้นก็มีเหมือนกัน  ผู้มีวิชาควายธนูเขาจะเอาเทียนนี้มาตากแดดให้นิ่ม แล้วแผ่ออกมาให้เป็นแผ่นพอที่จะลงยันต์ได้ แล้วลงยันต์สร้างควายธนูวัวธนูตามตำรานั้น  แล้วจึงเอาแผ่นขี้ผึ้งลงยันต์ไปตากแดดให้นิ่มอีก พอนิ่มก็รีบปั้นเป็นรูปควายหรือวัวให้เสร็จในคราวเดียว เมื่อปั้นควายธนูเสร็จ ก็ให้เอาควายธนูแช่ลงในน้ำมนต์ที่ทำไว้ ชุบควายธนูขึ้นมาด้วยคาถาตามตำรา

  พระอาจารย์หลายรูปเล่าตรงกันว่า ตำราควายธนูวัวธนูที่ใช้ครั่งหรือขี้ผึ้ง มีแบบที่ลงตะกรุดโลหะหรือตะกรุดไม้ไผ่ทำเป็นแกน แล้วพอกครั่งหรือขี้ผึ้งปั้นเป็นควายธนูวัวธนู หรือทำผงตรีนิสิงเหผสมกันครั่งขี้ผึ้งปั้นขึ้นมา



  ถ้าเป็นควายธนูวัวธนูที่ใช้ครั่งเป็นวัสดุปั้น ก็จะผสมดินอาถรรพ์เข้าไปมากสักหน่อย เรื่องนี้คนที่เคยปั้นเองจริงๆถึงจะรู้ สาเหตุที่ใส่ดินมากหน่อยไม่ใช่เรื่องมวลสารเยอะแล้วจะขลังขึ้น แต่เป็นเพราะผสมดินเพื่อให้เนื้อครั่งแข็งขึ้น (บางทีก็มีปูนผสมด้วย) เพื่อปั้นเป็นควายธนูแล้วจะคงรูปเป็นควายธนูวัวธนูได้ดีกว่าใช้ครั่งล้วนๆ ส่วนดินที่ใช้ผสมก็เช่น ดินเจ็ดป่าช้า ดินจอมปลวก ดินขุยปู ดินยอดเขา ดินก้นสระ ดินก้นบ่อ ดินก้นแม่น้ำ แล้วแต่ตำรับควายธนูวัวธนูนั้นๆ

  ผงวิเศษที่ใช้ผสมปั้นควายธนูวัวธนู เท่าที่นึกออกก็จะมีผงตรีนิสิงเห ผงปฐมอักขระ ผงอักขระวิเศษ ผงวิเศษ 3 แบบนี้พบหลายตำรามากกว่าผงวิเศษแบบอื่น นอกนั้นก็เป็นผงยันต์ต่างๆ เช่น ยันต์พญาไก่เถื่อน ยันค์ธาตุทั้งสี่ ยันต์อิติปิโสแปดทิศ ยันต์ควายธนู ยันต์วัวธนู ยันต์ฆะเฏสิ และบางตำราใช้ผงว่านทางอำนาจตบะเข้ามาผสม เช่น ว่านมเหศวร ว่านแสงอาทิตย์ ว่านพระตบะ ว่านมหาเมฆ

วัวธนูทอง

  ครั้งหนึ่งลุงที่ จ.ปราจีนบุรี แกมาเที่ยวกรุงเทพฯ แกเห็นวัวกระทิงทองเหลืองที่บ้านข้าพเจ้า ซึ่งร้านในเวิ้งนาครเขษมส่งมาให้ขัดแต่ง 1 เข่ง ลุงแกขอไปตัวหนึ่ง แกว่าวัวสวยดี จะเอาไปให้อาจารย์ดัดแปลงเป็นวัวทอง ซึ่งก็คือวัวธนูทองนั่นเอง

  ต่อมาภายหลังทราบว่า วัวกระทิงของเวิ้ง(ซึ่งสวยมาก) ตัวใหญ่ขนาดเกือบ 1 ฝ่ามือ ได้ถูกดัดแปลงโดยเจาะรู แล้วเอามวลสารโลหะอาถรรพ์ที่หล่อรวมกันไว้เป็นวัวตัวเล็กๆ และมีที่เป็นก้อนๆ เอามาบรรจุผสานไว้ในวัวกระทิง เสกจนขึ้นเป็นวัวธนูทอง....ข้าพเจ้าแน่ใจว่า วัวธนูในยุตต่อมาที่เริ่มทำขายตัวเล็กๆกันนั้น น่าจะมีต้นแบบมาจากวัวกระทิงของเวิ้งฯ เพราะก่อนหน้านั้นไม่เคยปรากฏรูปแบบของวัวธนูโลหะแบบที่ขายในวงการพระเครื่อง คือยังไม่มีการทำขาย ยังไม่เข้ายุคที่เครื่องรางรูปสิงสาราสัตว์ฮิตขึ้นมา วัวกระทิงของเวิ้งฯเขาทำมาเป็นของแต่งบ้าน

  วัวกระทิงของเวิ้งฯดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าเคยเก็บไว้สิบกว่าตัว พร้อมตุ๊กตาทองเหลืองแบบอื่นๆรวมได้สัก 3 ปี๊บ ภายหลังมีวัดทางฝั่งธนบุรีมาขอไปหล่อเป็นพระประธานเพื่อถวายวัดต่างๆ ในปัจจุบันวัวและตุ๊กตาต่างๆรุ่นนี้ กลายเป็นของแอนติคไปแล้ว ซื้อขายกันหลายสตางค์เหมือนกัน

  เท่าที่พระอาจารย์และผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังถึงโลหะที่ใช้หล่อวัวธนูควายธนู จะมีหลายอย่าง แต่ละตำรามีต่างกันบ้าง เช่น ใบหอก ดาบ กริช เหล็กยอดเจดีย์ เหล็กไหล(น่าจะเป็นแบบที่เรียกโคตรเหล็กไหล) เหล็กขนัน ตะปูสังฆวานร เหล็กน้ำพี้ ผาลไถ

ควายธนูเส้นตอก

  วัวธนูควายธนูแบบที่ใช้เส้นตอกสานนั้น นอกจากจะสานเป็นรูปวัวหรือควายแบบคร่าวๆแล้ว ยังมีวิธีสานเอาแค่พอมองว่าเป็นรูปหัวควายหรือหัววัว ที่ข้าพเจ้าเคยเห็นนั้น พอจะมองเห็นว่า สานเป็นรูปทำนองเงื่อนพิรอด โดยพับเส้นตอกหักไปหักมา รูปเงื่อนพิรอดก็คือหัวควายธนู แล้วพับต้นและปลายเส้นตอกให้ชี้ขึ้นเป็นเขาควาย

คล้ายๆแบบนี้

   บางตำราลักษณะการพับหรือสานเส้นตอกมีแบบที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อย จะสานเป็นหัววัวธนูแบบคล้ายรูปสามเหสี่ยม หรือคล้ายๆรูปเฉลวเพชรก็มี

  การพับเส้นตอกให้เป็นหัวควายธนูนี้ นัยว่าใช้ในตอนฉุกเฉิน เพราะขั้นตอนการทำนั้นเร็วทันใจ เท่าที่ฟังมาผู้หลักผู้ใหญ่เล่าว่า ผู้มีอาคมควายธนูจะพกท่อนไม้ไผ่ยาวสัก 1 คืบ หรือมีเส้นตอกติดย่านสัก 4-5 เส้น พอจะใช้ควายธนูวัวธนู ก็จะจักเส้นตอกออกมาสานพับเป็นหัวควาย เสกแล้วปล่อยออกไปสู้สิ่งอาถรรพ์ หรือวางไว้หน้าประตู จะเป็นควายธนูออกมาสู้ตอนมีคุณไสยหรือปีศาจจะเข้ามา

  บางท่านเล่าว่า ไม้ไผ่ที่ใช้ทำควายธนูจะใช้ไม้ไผ่ทิ่มผี คือเป็นไม้ไผ่ที่ใช้เขี่ยพลิกศพตอนเผา โดยมากใช้ไม่ไผ่ที่เขี่ยศพมาแล้วเจ็ดศพ บางท่านว่ายิ่งเขี่ยศพจิ้มศพมาแล้วเยอะๆยิ่งดี

  ไม่ไผ่อีกอย่างที่เอามาทำควายธนูก็คือ ไม้ไผ่ที่โดนควายงัดจนหัก ควายรื้อกอไผ่เหยียบกอไผ่จนหัก ก็คือตอนที่ควายบุกเข้าไปกินหน่อไผ่ ควายจะลุยกอไผ่มีงัดบ้างเหยียบบ้าง บางทีกอไผ่พังเป็นแถบก็มี เขาก็เอาไม้ไผ่ที่หักนี้มาทำควายธนู

  บางพระอาจารย์ท่านไม่ได้ใช้ไม่ไผ่ที่มีอาถรรพ์อะไร เคยกราบเรียนสอบถาม ท่านก็ว่าเวลาจวนตัวต้องใช้เส้นตอกมาสานควายธนู ก็หักเอาจากชะลอมที่ใส่ของติดตัวนั่นเอง บางทีมีหญ้าคาก็ใช้หญ้าคา ไม่ได้อาศัยอาถรรพ์อะไรเข้ามาประกอบ ใช้อาคมล้วนๆ

                                                                  เส้นตอกแบบนี้หักออกมาทำควายธนู

วัวธนูควายธนูเขาสัตว์

  เมื่อเป็นควายธนูวัวธนูที่ทำจากเขาสัตว์ ย่อมแน่นอนว่าเขาวัวเขาควายต้องมาก่อน และต้องเป็นวัวเผือกควายเผือกที่โดนฟ้าผ่าตายด้วย ถ้าได้เขาควายเผือกที่โดนฟ้าผ่าตาย ก็จะเอามาแกะเป็นรูปควายแบบง่ายๆ(แต่แหม..เคยลองแกะเองแล้วไม่ง่าย) ลงอักขระแค่ นะมะพะทะบ้าง นาสังสิโมบ้าง โคโนโคโนบ้าง คะคะคะคะบ้าง งะญะนะมะบ้าง หรือลงเป็นตัวเลขก็มี


เขาตวายเผือกฟ้าผ่า



คตวัวกระทิง

 ยังมีควายธนูที่ทำจากเขาควายอีกแบบหนึ่ง แบบนี้ข้าพเจ้านึกลำเอียงชอบมากสักหน่อย คือคล้ายๆจะแฝงเคล็ดอะไรไว้ หรือที่แท้ไม่ได้แฝงอะไรเลย เราดันคิดมากไปเอง เพราะชื่อและประโยชน์ของอุปกรณ์มันฟังดูดีมากๆ  ทำให้เราคิดไปว่าคล้ายๆแฝงเคล็ดอะไรสักอย่าง หรือที่เอามาทำควายธนูเพราะอุปกรณ์นั้นทำจากเขาควายดีๆแค่นั้น นั่นก็คือความธนูที่ทำจาก ตะบันไฟ โดยที่ตะบันไฟอันนั้นทำจากเขาควาย

  เคยคุยกับผู้เฒ่าแดนใต้ ท่านเล่าเรื่องควายธนูให้ฟัง ท่านหยิบตะบันไฟเขาควายให้ดู ท่านว่า..เอานี้หนามาทำเป็นคว้ายแหร่งเลื้อ ท่านผู้เฒ่าและชาวใต้เรียกตะบันไฟว่า ไฟตบ ทางภาคเหนือเรียก บอกไฟ เคยเจอที่ จ.ลำพูน ที่บางทีก็เรียก บอกคลั่ง มีตะบันไฟแบบที่ทำจากเขาควายเหมือนกัน

  ที่ผู้เล่นอาคมแถบปราจีนยุคเก่าชอบมาก จากคำบอกเล่าของคนเก่าและแก่มากๆ จะเป็นวัวธนูควายธนูที่ทำจากเขากระทิง เขาควายป่ามหิงสา ยิ่งเป็นคตวัวกระทิงยิ่งดี คตวัวกระทิงก็คือก้อนที่มีส่วนประกอบเหมือนกับเขาวัวกระทิง เป็นก้อนทรงรีๆผิวมันๆ อยู่ภายในส่วนที่กลวงของเขาวัวกระทิงอีกที

 ควายธนูกระดูก

  ยังมีควายธนูวัวธนูที่ใช้กระดูกมาแกะเป็นควายหรือวัว จะต้องเป็นตัวที่โดนฟ้าผ่าตายด้วย แต่ถ้าเทียบกับควายธนูที่ทำจากเขาควายเผือกฟ้าผ่า นับว่าแบบที่ทำจากเขานั้นมีศักดิ์ศรีสูงกว่าแบบกระดูก ข้อนี้ไม่ทราบที่มา ถ้าให้เดาก็น่าจะมาจากว่า ส่วนที่เป็นเขานั้นคือส่วนที่บู๊ที่สุดของวัวควาย ตอนควายหรือวัวสู้กัน ก็ใช้ส่วนที่เป็นเขาขวิดงัดกัน เขาควายเขาวัวเป็นอาวุธสำคัญสุดของวัวควาย

ควายธนูแบบผ้ายันต์หรือแผ่นยันต์

  แบบนี้ยังแยกเป็น 3 อย่าง คือ

1.ผ้ายันต์แผ่นยันต์ล้วนๆ  ลักษณะจะเป็นผ้ายันต์รูปควายธนูหรือวัวธนู มีทั้งที่เป็นรูปเต็มตัว และแบบที่เป็นรูปยันต์กลมหรือสี่เหลี่ยม แต่มีรูปหัวควายธนูวัวธนู หรือบางคำรัยมีขามีหางติดกับตัวยันต์ด้วย บางตำราเรียกเป็นโคศุภราชที่เน้นทางโชคลาภ ซึ่งเชื่อกันว่าจำลองจากวัวที่เป็นพาหนะของพระอิศวรที่ชื่อ โคนนทิ อีกชื่อหนึ่งคือ โคอุศุภราช

ยันต์ควายธนูของหลวงพ่อพรหมวัดขนอนเหนือ

ระหว่างโคศุภราชและโคอุศุภราช อาจจะเป็นโคเทพองค์เดียวกัน ที่เรียกชื่อกร่อนคำหายไปคำหนึ่ง หรือไม่เกี่ยวกันก็ได้ตรงที่ ศุภราช = ศุภ + ราช โดยที่ ศุภะ แปลว่า ความงาม, ความดีงาม, ความเจริญ และ ราช ราชะ แปลว่า ราชา เจ้า เมื่อรวมกันก็แปลว่า เจ้าแห่งความเจริญ ดีงาม ซึ่งพ้องกับอุปเท่ห์ที่ให้ผลทางเจริญรุ่งเรือง

                                                   ยันต์ของครูบาอภิวัฒน์ วัดทุ่งโป่ง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน


                                                   ยันต์ของครูบาอภิวัฒน์ วัดทุ่งโป่ง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

2.กระดูกวัวควายห่อด้วยผ้ายันต์หรือแผ่นยันต์   แบบนี้จะลงยันต์บนผ้าหรือแผ่นตะกั่ว เท่าที่เคยเห็นจะเป็นพวกยันต์ธาตุสี่ ยันต์ฆะเฏสิ ยันต์ประจุขาด ยันต์จัตตุโร โดยเอากระดูกวัวหรือควายมาห่อด้วยผ้ายันต์แผ่นยันต์ ถ้าเป็นวัวควายเลี้ยงตัวที่มีชื่อรู้ชื่อยิ่งดี

  ควายธนูแบบนี้ข้าพเจ้าเคยดูน้าคนหนึ่งแกฝังเอาไว้ที่คอกควาย แผ่นยันต์ตะกั่วที่ห่อกระดูกควายนั้น มีการเคาะให้แผ่นตะกั่วบี้ติดกันสนิท เหมือนที่ซีลขอบถุงพลาสติก

3.ควายธนูห่อด้วยผ้ายันต์  ควายธนูแบบนี้ประกอบด้วยควายธนู 1 ตัว ผ้ายันต์ 1 ผืน ใช้ผ้ายันต์นี้ห่อควายธนูพกติดตัวติดย่ามผจญภัยไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ท่านผู้ใช้ประโยชน์จากควายธนูแบบนี้แล้วมีประสิทธิภาพสูงสุด ก็คือท่านผู้สร้างควายธนูนั่นเอง หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้เรียนวิทยาคมเป็นศิษย์ เพราะต้องมีคาถาประกอบ มีสมาธิจิต ประมาณว่าต้องเป็นผู้มีอาคม เพราะสามารถสั่ง คุม และเสกควายธนูสั่งการเฉพาะกิจได้ เช่นสั่งให้ไปโน่นไปนี่ หรือเรียกง่ายๆว่า ปล่อยของ การใช้งานระดับนี้ คนธรรมดาๆทำไม่ได้แน่นอน


  ควายธนูคู่ผ้ายันต์นี้ ตัวควายธนูจะมีทั้งแบบขี้ผึ้ง ครั่ง และโลหะ ยังไม่เคยเห็นว่ามีใช้ผ้ายันต์นี้กับควายธนูวัวธนูเส้นตอก เข้าใจว่า ควายธนูที่เป็นขี้ผึ้ง ครั่ง โลหะ มีความทนทานห่อผ้าพกไปไหนต่อไหนได้ แต่ควายธนูวัวธนูแบบเส้นตอกสานนั้น ทางกายภาพไม่คงทน ขืนห่อผ้าไป ก็อาจหักชำรุดเสียของเสียเปล่า อีกอย่างหนึ่งคือ ควายธนูวัวธนูเส้นตอกนั้น มีคติส่วนหนึ่งว่าเป็นของฉุกเฉิน รีบทำเพื่อใช้ชั่วครั้งชั่วคราวแบบมีอายุการใช้งานน้อย

  ข้อที่ว่าทำไมต้องมีควายธนูวัวธนูคู่กับผ้ายันต์ เรื่องนี้มีที่มาที่ไป คือ มีคติว่าเมื่อปล่อยควายธนูวัวธนูออกไป(เหมือนปล่อยคุณไสย) บางทีควายธนูโดนตอบโต้จากผู้มีวิทยาคม หรือเจอภูติผีปีศาจที่แรงมากๆ ควายธนูจะถอยแรงลง ผ้ายันต์นั้นเอาไว้ชุบฤทธิ์ควายธนูวัวธนู เปรียบเทียบง่ายๆคือพลังงานลดลงต้องเอากลับมาชาร์ตแบตเตอรี่ใหม่ ผ้ายันต์ก็คือเครื่องชาร์ตแบต ตรงนี้อาจฟังแล้วดูตลกไปบ้าง แต่มีคตินี้อยู่

  ผู้ใช้ควายธนูระดับเป็นผู้เรียนอาคม ท่านจะเสกควายธนูวัวธนูอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยก็เดือนละครั้งในคืนเพ็ญ ถ้าทางร้ายก็เสกในคืนกาฬปักษ์(คืนเดือนดับ) คืนกาฬปักษ์มักใช้แบบธรรมดาคือคืนเดือนดับหรือแรม 15ค่ำ จะไม่ใช้ละเอียดแบบกาฬปักษ์โหร สาเหตุที่ไม่ใช้กาฬปักษ์โหรก็ขออุบไว่บ้าง เอาไว้จับโกหก

  ทีนี้พอมีคติเสกควายธนูเดือนละครั้ง(จะเสกเกินก็ตามความขยัน) แล้วถ้าลืมเสกล่ะ หรือเชื่อว่าควายธนูวัวธนูที่ปล่อยของออกไปนั้น ไปเจอคู่ต่อสู้ที่ตึงมือ พอควายธนูวัวธนูกลับมาแล้วยังไม่สามารถเสกปลุกใหม่ได้ ก็เลยต้องมีที่ชาร์ตแบตเตอรี่เป็นผ้ายันต์ยังไงล่ะ

  อีกอย่างหนึ่ง ผ้ายันต์นี้มีไว้ใช้คุมควายธนูวัวธนูไม่ให้ทำร้ายเจ้าของด้วย

ยันต์คุมควายธนูและเป็นควายธนูด้วย ตำรับ ล.พ.พรหมวัดขนอนเหนือ
 

ผ้ายันต์คุมควายธนูนี้ยังมีตำรับที่แปลกออกไปอีกด้วย คือ นอกจากจะใช้คุมควายธนูวัวธนูและชาร์ตแบตแล้ว ผ้ายันต์ยังเป็นควายธนูตัวทีเด็ดอีกด้วย เช่น ตำรับชองหลวงพ่อพรหมวัดขนอนเหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา

วิธีเลี้ยงควายธนูวัวธนู

  ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นวัยรุ่น(ก็50ปีก่อนนู๊นแน่ะ) ไม่เคยได้ยินคำว่า บูชาควายธนูวัวธนู หรือไม่ต้องบูชาไม่ต้องเลี้ยง มีแต่รู้กันโดยทั่วไปเป็นสามัญว่า เลี้ยงควายธนูวัวธนู และเพราะว่า ต้องเลี้ยงควายธนูวัวธนู นี้เอง คนที่เห็นว่าอาจปฏิบัติได้ไม่ตลอด เขาก็เลยไม่ค่อยเสาะหาควายธนูวัวธนูเอามาติดบ้าน จะมีก็แต่คนคลั่งไคล้ไหลหลงเครื่องรางของขลังมากๆ หรือคนที่เล่นอาคม จึงจะนิยมเสาะหาควายธนูวัวธนู เอามาเลี้ยง

  เมื่อจะเลี้ยงควายธนูวัวธนู ตามตำรับเดิมจะมีทั้งแบบที่ให้ฝังควายธนูวัวธนู และแบบที่ให้ทำศาลเพียงตาทำคอกให้ควายธนูวัวธนูนั้นอยู่ ต้องให้หญ้าให้น้ำควายธนูวัวธนูทุกวันเพ็ญและวันเดือนดับ

  การเลี้ยงควายธนูวัวธนูเท่าที่เคยเห็นตำราต้นฉบับหลายๆสำนวนนั้น มักจะบอกตรงกันว่า....ถ้าจะสั่งความควายธนูวัวธนูนั้น วันที่สั่งเราใส่เสื้อผ้าชุดไหน พอจะไปถอนคำสั่งนั้น ต้องใส่เสื้อผ้าชุดเดิมด้วย ในตำราท่านว่า...มิฉะนั้น ควายธนูจะผิดกลิ่นจำเจ้าของไม่ได้ ความธนูวัวธนูจะขวิดทำร้ายเอา

  สำหรับการที่ไม่ต้องเลี้ยงควายธนูวัวธนู เพราะว่าเขาหากินเองได้ หรือเสกมาให้เป็นอัตโนมัติไร้ข้อจำกัดนั้น เพิ่งได้ยินเมื่อถึงยุคนักสร้างวัตถุมงคลเมื่อราวๆ40กว่าปีก่อน ตอนที่เข้ายุคสร้างสิงสาราสัตว์สารพัด ยังจำได้และยังเคยซื้อมาด้วยตั้งหลายตัว



การสร้างควายธนูวัวธนูในยุตใหม่ จะใช้เทคโนโลยีทันสมัย รูปแบบสวยงาม แต่จะขลังหรือไม่ขลังก็ขึ้นอยู่กับท่านผู้เสกปลุก เทคโนโลยีไม่ได้ทำให้ของเสื่อม แต่เทคโนโลยีทำให้ของสวย ข้อสำคัญต้องพบพระอาจารย์ที่ท่านเรียนตำรับควายธนูวัวธนูมาจริงๆ และเสกปลุกได้ขลังจริงเท่านั้น เรื่องควายธนูวัวธนูก็เสาะหากันเอาเองเถอะ ของดีพระอาจารย์ดี ไม่มีวันหมดไปจากเมืองไทย

ฤทธานุภาพของควายธนูวัวธนู

  อิทธิฤทธิ์ของควายธนูวัวธนูเลื่องลือมาตั้งแต่สมัยโบราณ นับถือกันว่าเป็นวัตถุอาถรรพ์ทางป้องกันและทำลายล้างภูติผีปีศาจขั้นสุดยอด ทั้งล้างอาถรรพ์ในทุกๆด้าน ทั้งคุ้มกันบ้านเรือน ทั้งยังอำนวยโชคอีกด้วย

  ถ้าใช้ควายธนูวัวธนูในระดับสุดยอด จะเป็นเรื่องของผู้มีอาคมกำกับสั่งควายธนู จึงจะสามารถสั่งควายธนูให้ไปทำงานตามที่สั่งได้ เรื่องนี้ในปัจจุบันเห็นจะเหลือวิสัยไป เพราะ...ทำได้ยาก

การใช้ควายธนู

  การใช้ควายธนูวัวธนูทั่วไป ก็แค่เอาไปตั้งไว้ แล้วเลี้ยงด้วยหญ้า ฟาง พืชต่างๆ น้ำ แต่การใช้ควายธนูวัวธนูในระดับผู้มีวิทยาคม จะต้องมีสมาธิจิต จะต้องเรียนตำรับควายธนูวัวธนูในส่วนที่ไม่เปิดเผย ในกรณีที่จะใช้เฉพาะกิจ จะมีคาถาเสก ปลุก ส่ง และเรียกกลับ ตลอดจนข้อห้ามบางประการตามแต่ละตำรับนั้นๆ

วัวธนู ล.พ.พุฒวัดกลางบางพระ


  การเสกและปล่อย(ปล่อยของ)ควายธนูวัวธนูที่มีบันทึกในตำราหลายๆเล่ม  จะให้เสกในคืนเดือนเพ็ญบ้าง คืนกาฬปักษ์บ้าง หรือให้เสกทั้งคืนเดือนเพ็ญและคืนกาฬปักษ์ที่เป็นคืนเดือนดับ ข้อที่ว่าเป็นคืนกาฬปักษ์ที่เป็นคืนเดือนดับ มักจะใช้เป็นกาฬปักษ์คืนเดือนดับแบบทั่วไป จำง่ายๆคือ เป็นคืนข้างแรม 15 ค่ำ ค่ำ หรือคืนข้างแรม ที่มีแค่ 14ค่ำที่เรียกเดือนขาด ส่วนคืนกาฬปักษ์แบบโหรนั้น จะมีแยกออกไปมีข้อบังคับเรื่องดวงดาวกับราศี ที่จะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ดาวนี้อยู่ราศีนี้ ซึ่งเป็นความรู้ของทางโหร

  ยังมีคติที่ต้องปล่อยควายธนูวัวธนูแบบปล่อยของเฉพาะในคืนเดือนดับที่ตรงกับเป็นวันเดือนขาดด้วย ก็คือ วันที่ไม่มีแรม 15 ค่ำ จะมีแค่แรม 14 ค่ำ แล้ววันรุ่งขึ้นจะเป็น ขึ้น 1 ค่ำ นั่นเอง คนโบราณท่านว่าทั้งเดือนดับทั้งเดือนขาดทำทางร้ายมันแรงดี

  บางคติว่าเสกวัวธนูในทางดีให้เสกในคืนเดือนเพ็ญ เสกในทางดุร้ายให้เสกในคืนกาฬปักษ์

คอกของควายธนูวัวธนู

  ตอนที่ข้าพเจ้าเห็นควายธนูครั้งแรกนั้น เห็นคอกของควายธนู 2 คอกไม่เหมือนกัน คือ เขาทำเป็นศาลเพียงตาที่เอาปี๊บมาตอกตะปูติดไว้ ดูคล้ายๆศาลพระภูมิ หรือดูเป็นคอกที่มีหลังคา แล้วทำคอกควายธนูด้วยหญ้าคา เว้นช่องทางด้านหน้าเป็นช่องประตูคอก มีประตูคอกเป็นหญ้าคาเอาขัดไว้ที่ช่องประตู แล้ววางควายธนูไว้ในคอก มีที่ว่างในคอกเพื่อ วางหญ้าฟางและชามใส่น้ำ

  หญ้าคาที่ใช้ทำคอกนั้น บางตำราให้ถักหญ้าคา เคยเห็นคนแก่ในหมู่บ้านแกถักหญ้าคาง่ายๆแบบถักเปีย ตอนถักภาวนาคาถานวหรคุณ อะสังวิสุโลปุสะพุภะ บางตำราให้ใช้หญ้าคาที่เป็นหญ้าคาใช้พรมน้ำมนต์

  ส่วนอีกคอกหนึ่งจะเป็นศาลเพียงตาที่เป็นเสาตั้งตรง เอาแผ่นไม้สี่เหลี่ยมตอกติดกับเสา แล้วทำคอกควายธนูค่อนข้างหรูสักหน่อย คือ ใช้ไม้มาทำเป็นคอก เหมือนคอกควายอย่างหรู มีประตูคอกแบบปิดเปิดได้ด้วย แต่คอกนี้ไม่ได้ทำหลังคา

   และที่เห็นอีกคอกหนึ่งก็คือ เอาคอกควายจริงๆเป็นคอกของควายธนูกันเลย คือ จะฝังควายธนูไว้ภายในคอกควาย บางทีคอกควายก็คือใต้ถุนบ้านนั่นเอง

  บางตำราให้ลงยันต์จัตตุโรไว้ที่คอกควาย

วัวธนู ล.พ.พุฒมอบให้เป็นที่ระลึก


การเลี้ยงควายธนู

  จะเลี้ยงด้วย หญ้าสด ถ้ายังไม่มีก็ใช้ฟาง นอกจากนี้ก็มี ถั่ว ลูกเดือย อ้อย หน่อไม้ และน้ำ การเอาอาหารไปวางให้ควายธนูวัวธนู โดยปกติก็แค่บอกกล่าวเป็นคำพูดว่า ให้ควายธนูวัวธนูมากินอาหารกินน้ำ นี้ หรือรู้ชื่อควายธนูก็เรียกชื่อตามนั้น

  ข้อห้ามเด็ดขาด ห้ามเลี้ยงควายธนูวัวธนูด้วยเนื้อสัตว์ ห้ามเลี้ยงด้วยเหล้า ท่านว่าควายธนูวัวธนูจะดุร้ายไม่เชื่อฟังเจ้าของ จะทำร้ายเจ้าของอาจถึงตายได้

  ข้าพเจ้าเคยสอบถามพระอาจารย์และพวกลุงๆที่แกเลี้ยงควายธนู ถามถึงการสั่งควายธนูว่าทำอย่างไร คำตอบตรงกันหมดว่า ตอนสั่งควายธนูด้วยอาคมนั้น เราใส่เสื้อผ้าชุดไหนให้จำไว้ และสั่งกำหนดไว้กี่วัน(ส่วนมากไม่เกิน 7 วัน) พอครบกำหนดต้องเอาหญ้าเอาน้ำไปให้ตวายธนู และต้องใส่เสื้อผ้าชุดเดิมที่ใส่ในวันที่สั่งควายธนู แล้วเรียกควาบธนูวัวธนูมาประจำอยู่ที่คอก พวกลุงๆแกเล่าว่า ถ้าใส่เสื้อผ้าผิดชุด จะโดนควายธนูขวิดทำร้าย บางตำราถึงกับบอกว่าจะต้องอาถรรพ์วิชากลายเป็นปอบ

  พระอาจารย์ อาจารย์ท่านที่ทำควายธนูวัวธนูมอบให้ศิษย์ที่ไม่ใช่ศิษย์เรียนวิชา ท่านจะให้ใช้ควายธนูวัวธนูในทางคุ้มครองป้องกัน เมื่อมีคุณไสยภูติผีปิศาจเข้ามา ควายธนูวัวธนูก็จะตอบสนองทำงานเอง เรื่องที่จะใช้ควายธนูวัวธนูตามสั่งนั้น ท่านไม่ให้ ก็เพื่อความปลอดภัยของเจ้าของควายธนูนั้น เหมือนกับมีวัตถุมงคล ไม่ใช่ใช้ของอาถรรพ์

  การใช้ควายธนูอย่างเต็มรูปแบบทางของอาถรรพ์นั้น ทางที่ดีอย่าใช้ควายธนูถึงขนาดนั้นเลย มันอันตราย ให้ใช้แบบวัตถุมงคล คุ้มครองป้องกันภัย และอำนวยโชคลาภก็พอแล้ว

ข้อมูล  บางส่วนจากบทความของคุณลุงประถม อาจสาคร(จำชื่อหนังสือไม่ได้)

            จากความทรงจำที่เคบดูตำราต้นฉบับสมุดข่อย ปั๊บสา และจากพระอาจารย์หลายรูป เช่น 

            หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ หลวงพ่อแช่มวัดดอนยายหอม หลวงพ่อจันทร์วัดทุ่งเฟื้อ 

            หลวงพ่อฉาบวัดคลองจันทน์ หลวงพ่อแลวัดพระทรง หลวงพ่อพุฒวัดกลางบางพระ

รูปภาพ  ขอบคุณภาพยันต์ของครูบาอภิวัฒน์วัดทุ่งโป่ง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

               ภาพวัวธนูจาก เว็บ G-Pra และภาพวัวธนูของข้าพเจ้า