วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปัดฝุ่นเรื่องเก่าไทย.๑๐...พุ่มสกี้ ชาวสยาม ผู้บังคับการกรมทหารม้าฮุสซาร์แห่งรัสเซีย


พุ่ม สาคร
พันเอก นิโคลาส พุ่มสกี้



นายพุ่ม สาคร คนไทยผู้บังคับการกรมทหารม้าฮุสซาร์แห่งรัสเซีย

   บ้านเก่าหลังแรกของผู้เขียนนี้อยู่ใกล้ๆเวิ้งนาครเขษม และบ้านหลังที่สองอยู่ในวังบูรพายุคโก๋หลังวัง ซึ่งทั้งสองย่านนี้เป็นแหล่งร้านหนังสือมาอย่างยาวนาน เรื่องนี้จึงมีส่วนที่ทำให้ผู้เขียนได้ใกล้ชิดหนังสือ และเห็นหนังสือแปลกๆทุกวัน ผู้เขียนนี้มีหนังสืออ่านมาตั้งแต่วัยเด็ก ไปๆมาๆเลยชอบอ่านหนังสือ แล้วก็อ่านมันทุกแนว อ่านแล้วก็อ่านซ้ำเรื่องเดิมอีก

   หนังสือที่ผู้เขียนอ่านแล้วประทับใจมีนับไม่ถ้วน หลายๆเรื่องพอมาถึงยุคนี้กลับไม่มีคนรู้จัก หรือมีคนรู้น้อยเต็มที อีกทั้งวงการหนังสือของไทยเรายังไม่ใหญ่นัก หนังสือที่พิมพ์มาหลายสิบปีมีมากที่ไม่จัดพิมพ์อีก เพราะพิมพ์แล้วยอดขายไม่คุ้มกับการลงทุน หนังสือดีๆรุ่นเก่าจึงไม่ค่อยมีการพิมพ์ซ้ำ ข้อมูลก็เลยพลอยหายสาบสูญไปด้วย

   หนังสือที่อ่านแล้วชอบมากๆชุดหนึ่งคือหนังสือชุด “เกิดวังปารุสก์” พระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ อ่านแล้วได้ความรู้และเพลิดเพลินมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีข้อมูลที่เป็นเรื่องยุคก่อนข้าพเจ้าเกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง แต่วันเวลาที่ผ่านไปทำให้เลือนๆไป มาได้อ่านทวนความทรงจำได้รายละเอียดเพิ่มขึ้นก็ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” นี่เอง



   ในหนังสือ "เกิดวังปารุสก์"บทแรกนั้น พออ่านแล้วรู้สึกประทับใจท่านผู้หนึ่งอย่างไม่มีสาเหตุ ซึ่งคิดเทียบอายุแล้วก็ประมาณว่าเป็นคนรุ่นทวด เพราะเป็นคนในรุ่นรัชกาลที่ 5 เป็นชายไทยราษฎรสามัญธรรมดาๆ แต่คนธรรมดาๆคนนี้แหละที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเจาะจงให้ไปเรียนเป็นคู่แข่งกันกับพระราชโอรสของพระองค์ โดยทรงส่งให้ไปเรียนวิชาการทหารที่รัสเซีย และพระเจ้าซาร์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ 

   คนไทยสยามธรรมดาๆท่านนี้ต่อมาได้กลายเป็นนายพันเอกผู้บังคับการกรมทหารม้าฮุสซาร์อันเกรียงไกรของรัสเซีย ทั้งยังนับเป็นอหังการ์ชาวสยามเพียงหนึ่งเดียวในกองทัพรัสเซีย ที่เข้าร่วมรบในสมรภูมิมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ท่านผู้นี้ก็คือ นายพุ่ม สาคร ที่เพื่อนทหารรัสเซียเรียกท่านว่า พุ่มสกี้

   นายพุ่มหรือทวดพุ่มเป็นคนตลาดพลู เป็นบุตรนายซุ้ยกับนางชื่น จากชื่อบิดาก็น่าจะเดาได้ว่าบิดาคงเป็นคนจีน ทั้งย่านตลาดพลูนี้มีคนจีนอยู่มากด้วย ส่วนมารดาของนายพุ่มเป็นบุตรของหลวงจำนงทวยหาญ(แย้ม) มีพี่ชายชื่อจางวางสอน ภมรสมิต มีลูกพี่ลูกน้องชื่อ พระวารินพจนสาส์น (วาศ ภมรสมิต) 

ภาพจาก lek-prapai.org คลองบางหลวง

   สมัยที่นายพุ่มเกิดคนไทยยังไม่มีการใช้นามสกุล ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าพระราชทานนามสกุลให้คนในตระกูลนายพุ่มว่า สาคร


   นายพุ่ม เกิดประมาณปีพ.ศ. 2426 นายพุ่ม เกิดและโตในแถบคลองบางหลวง ย่านตลาดพลู คลองบางหลวงนี้ก็คือคลองบางกอกใหญ่นั่นเอง ชื่อคลองบางหลวงมาจากคลองบางข้าหลวง เพราะแต่เดิมข้าราชการในวังมักมีบ้านอยู่กันตามริมคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกข้าราชการว่าข้าหลวง เลยเรียกเป็นชื่อคลองไปด้วย  

   นายซุ้ยบิดานายพุ่มได้ส่งให้นายพุ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ ซึ่งเรียกกันว่าสวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัย โดยใช้ตึกแม้นนฤมิตรของโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นสถานที่ศึกษา ซึ่งต่อมาเรียกว่า "โรงเรียนสวนกุหลาบตึกแม้นนฤมิตร" และต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น "โรงเรียนเทพศิรินทร์ตึกแม้นนฤมิตร" จนเป็นโรงเรียนเทพศิรินทร์(โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่สะพานพุทธฯเกิดขึ้นเมื่อรวมโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยและอังกฤษ ในปีพ.ศ.2454)

ภาพจาก debsirinalumni.org ตึกแม้นนฤมิตร ขณะยังไม่ถูกลูกระเบิด

   นายพุ่มเป็นคนที่เรียนเก่งมีไหวพริบกริยามรรยาทดี ต่อมาสอบได้รับทุนเล่าเรียนหลวงให้ไปเรียนที่ต่างประเทศ นับว่านายพุ่มเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงหรือทุนคิงส์ฯคนแรก โดยไปเรียนที่ประเทศรัสเซีย

   ปฐมเหตุที่นายพุ่มได้ไปเรียนที่ประเทศรัสเซียนั้น มาจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ 2440 ในครั้งนั้นได้เสด็จไปยังราชสำนักรัสเซียและได้รับการถวายการต้อนรับอย่างดีเหมือนพระญาติสนิท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีความสนิทสนมกับพระเจ้าซาร์มาก่อน ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าซาร์ยังเป็นมกุฏราชกุมารเสด็จเยี่ยมประเทศสยาม  

   พระเจ้าซาร์นิโคลาสทรงเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าส่งพระราชโอรสไปศึกษาในยุโรปหลายพระองค์ พระเจ้าซาร์จึงขอให้ส่งพระราชโอรสมาศึกษาที่รัสเซียบ้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงส่งเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯไปทำการศึกษาการทหาร และไปพักอยู่ในราชสำนักรัสเซียโดยมีพระเจ้าซาร์ทรงอุปถัมภ์

พระพุทธเจ้าหลวงกับพระเจ้าซาร์นิโคลาส


   การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงส่งพระราชโอรสไปเรียนในต่างประเทศครั้งนี้ ทรงดำริวิธีการเรียนทำนองจิตวิทยาขึ้นมา คือให้มีราษฎรสามัญชนไปเรียนเป็นเพื่อนด้วย เท่ากับเป็นการให้พระราชโอรสต้องเกิดมานะขยันเรียน มิฉะนั้นอาจแพ้สามัญชนให้อับอายได้ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้คบหาเป็นเพื่อนกันกับสามัญชน อันเป็นการสอนให้ไม่แบ่งแยกชนชั้นด้วย เพราะเหตุนี้เองนายพุ่มบุตรนายซุ้ยชาวตลาดพลูจึงได้มีโอกาสไปเรียนที่ต่างประเทศ

   เมื่อนายพุ่มสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้เป็นคนแรก แน่นอนว่าย่อมต้องได้ไปเรียนที่ทวีปยุโรป แต่ยังมิได้หมายความว่าจะได้ไปเรียนที่ประเทศรัสเซียในทันที เพราะจะต้องมีการทดสอบความเหมาะสมก่อน โดยจะต้องทำการทดสอบที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษแข่งกับนักเรียนอีกสิบคน ผู้คัดเลือกในชั้นแรกก็คือพระยาวิสุทธิศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซ็นต์เยมส์แห่งอังกฤษ

พระยาวิสุทธิศักดิ์ ต่อมาได้เป็น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

   พระยาวิสุทธิศักดิ์อัครราชทูตได้ใช้วิธีเรียกตัวมาพิจารณาคนละ 4 วัน คือดูนิสัยใจคอความเฉลียวฉลาดมรรยาท โดยท่านพิจารณาเอง 2 วัน แล้วส่งไปให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯทรงพิจารณาเองอีก 2 วัน โดยมีพันโท ซี.วี.ฮยูม และ ดร.เอ็ม.เอฟ.ยาร์ พระอภิบาลและแพทย์ประจำพระองค์ของเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ(ร.6) ขณะดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษให้เป็นผู้ถวายคำปรึกษาแก่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯด้วย หลังจากพิจารณาดีแล้ว พระยาวิสุทธิศักดิ์ได้มีจดหมายกราบบังคมทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งในขณะนั้นเสด็จต่อไปประเทศอื่นแล้วว่า

   “นายพุ่ม เป็นคนไม่ใช่บุตรผู้มีตระกูล แต่เกิดมาเป็นช้างเผือก กิริยาวาจาเป็นที่ชอบของคนทั้งหลาย ฉลาดในการเล่าเรียน อายุ 15 ปี ทูลกระหม่อมเล็กเลือกเป็นที่หนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็ชอบ และได้กราบทูลไว้แล้วครั้งหนึ่งที่เนเปิลว่าหลักแหลมมาก

   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบท่านทูตว่า



นายพุ่มเป็นคนไม่มีตระกูลแต่เป็นคนฉลาดเฉียบแหลมอยู่ ก็คงจะได้ราชการดีในภายหน้า และบางทีจะได้ติดตัวลูกทำการร่วมหน้าที่กันต่อไป ข้อสำคัญก็เพียงแต่ให้เป็นที่พึงพอใจกันกับลูกชายเล็กได้จริงๆ

   เมื่อมีพระบรมราชานุมัติมาแล้ว ท่านทูตจึงส่งตัวนายพุ่มย้ายไปอยู่ร่วมกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2440 และเริ่มเรียนภาษารัสเซียกับมิสเตอร์อาดาเซฟ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่เป็นผู้ถวายการสอนภาษารัสเซียให้กับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ


เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถฯ

     พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ว่า(พิมพ์ครั้งที่5หน้า4)

   “ในพ.ศ.๒๔๔๐ ทูลกระหม่อมปู่ได้เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก และได้เสด็จไปเยี่ยมราชสำนักรุสเซีย และในขณะนั้นได้ทรงเลือกเอาพ่อเป็นโอรสที่จะส่งไปศึกษาวิชาต่อไปในราชสำนักรุสเซีย ก่อนจากเวลานั้นพ่อได้ศึกษาอยู่ในอังกฤษ แต่ยังมิได้เข้าประจำวิทยาลัยอย่างใด เป็นเพียงแต่อยู่กับครอบครัวในชนบท เพื่อเล่าเรียนภาษาอังกฤษ ทั้งวิธีประพฤติตัวและขนบธรรมเนียมต่างๆของคนอังกฤษและชาวยุโรปชั้นสูงทั่วไปเท่านั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือพ่อได้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังทรงเป็นเด็ก จึงปรากฏว่าทรงมีความสามารถในการพูดและเขียนภาษาอังกฤษอย่างดีมาก สำหรับผู้ที่เล่าเรียนในประเทศอื่น.

   การส่งพ่อไปศึกษาในราชสำนักรุสเซียในครั้งนั้น ทูลหม่อมปู่ทรงมีความคิดอย่างใหม่คือ ไม่ทรงอยากให้พ่อไปได้รับความสุขสบายและหรูหราที่นั่นแต่องค์เดียว เกรงว่าอาจบังเกิดความสบายและเกียจคร้าน และขาดมานะที่จะพยายามเล่าเรียนให้เต็มที่ จึงทรงตกลงจะส่งนักเรียนไทยที่เป็นคนสามัญไปด้วยอีกคนหนึ่ง เพื่อจะเป็นคู่แข่งในการเล่าเรียน หวังว่าพ่อจะมีขัตติยมานะไม่ยอมแพ้นักเรียนคนนั้น จึงคงจะทำให้ขยันขันแข็งขึ้นอีก นักเรียนผู้นั้นต้องเป็นผู้เฉลียวฉลาดอย่างมากด้วย ผู้ที่ได้รับเลือกไปรุสเซีย คือ นายพุ่ม อายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อ และเป็นนักเรียนที่สอบไล่แข่งขันได้ทุนเล่าเรียนหลวง ในการส่งนายพุ่มไปรุสเซีย ทูลหม่อมปู่ได้ทรงขอร้องต่อพระจักรพรรดินิโคลาส ให้นายพุ่มได้มีฐานะเท่ากับพ่อทุกประการในทางกินอยู่และศึกษา.

   พ่อและนายพุ่มได้เดินทางไปถึงประเทศรุสเซียในปีพ.ศ.๒๔๔๑ มีนายทหารชั้นนายพลนายพันมารับสด็จที่ชายแดน และมีนายพลรุสเซียผู้หนึ่งเป็นองครักษ์และพี่เลี้ยงประจำพระองค์ พระเจ้านิโคลาสได้ทรงจัดให้มีที่อยู่อย่างโอ่โถงที่ในพระราชวังฤดูหนาวในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก และเมื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินรุสเซีย ทั้งพ่อและนายพุ่มได้ประสบการต้อนรับอย่างดียิ่ง.

   
นายพุ่ม(ยืน) เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ(นั่ง)
   หลังจากสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯและนายพุ่มศึกษาภาษารัสเซียจนใช้การได้แล้ว พระยาวิสุทธิศักดิ์จึงได้นำหนึ่งเจ้าชายหนึ่งคนสามัญเดินทางไปถึงประเทศรัสเซียในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2441 ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ได้พระราชทานการต้อนรับอย่างดี ถึงกับจัดพระราชวังฤดูหนาวที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ให้เป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯเจ้าชายจากสยามกับนายพุ่มคนตลาดพลูราษฎรเต็มขั้น

   สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และ นายพุ่ม ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Corps des panges ซึ่งเป็นสถาบันทหารที่สำคัญและใกล้ชิดกับพระเจ้าซาร์นิโคลาสมากที่สุด เจ้าชายและสามัญชนจากสยามต้องใช้ความมานะพยายามในการเล่าเรียนและการฝึกอย่างหนัก ต้องแข่งกับคนรัสเซียที่เป็นนักเรียนด้วยกัน

โรงเรียนนายร้อย Corps des panges

   ทั้งๆที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯและนายพุ่ม มักจะต้องไปร่วมงานต่างๆของราชสำนักพระเจ้าซาร์นิโคลาสอยู่เสมอ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และ นายพุ่ม จะต้องไปถวายปฏิบัติ กับพระราชมารดาของ พระเจ้าซาร์นิโคลาส และมหาราชินีอเลกซิสด้วย แต่เมื่อผลการเรียนออกมา ผลการสอบการสอบครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2442 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงสอบได้เป็นอันดับ 2 และนายพุ่มได้เป็นอันดับที่ 4 

   ในชั้นปีที่สอง การสอบไล่ในเดือนพฤษภาคม 2443 เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯสอบได้ลำดับที่ 2 และนายพุ่มก็ยังคงสอบได้ในลำดับที่ 4 เช่นเดิม

   การสอบครั้งสุดท้ายของการศึกษา สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯทรงสร้างเกียรติประวัติ ทำสถิติสูงสุดให้สถานศึกษา ทรงสอบได้คะแนน 11.75 จากคะแนนเต็ม 12 ได้เป็นที่ 1 ของรุ่น ซึ่งนายพุ่มสอบได้เป็นที่ 2 ได้คะแนน 11.50

   ทางโรงเรียนได้จารึกพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯเป็นผู้ทำสถิติในการสอบได้สูงสุดเป็นเกียรติประวัติ

แถวหลังติดคนเสื้อขาว



    สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และ นายพุ่มได้รับการบรรจุเป็นนายร้อยตรี ประจำกรมทหารม้าฮุสซาร์รักษาพระองค์ อันเป็นกองทหารที่เกรียงไกรที่สุดของรัสเซียในยุคนั้น เนื่องจากกรมทหารตั้งอยู่นอกกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จึงต้องย้ายที่พักไปอยู่ที่พระราชวังตซาร์กอยเซโล นอกกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้วย 


ภาพจาก www.bookdrum.com ทหารม้าฮุสซาร์

ภาพจาก wikimedea ทหารม้าฮุสซาร์


   สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถเสด็จ กลับมาที่เมืองไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2446 นายร้อยตรีพุ่มได้ตามเสด็จด้วยและได้เข้าประจำการกรมทหารม้ารักษาพระองค์กรุงเทพฯ ได้รับยศ ร้อยตรีทหารม้า


   หลังจากนั้น นายร้อยตรีพุ่มได้ตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กลับไปศึกษาที่ประเทศรัสเซียอีกครั้งเพื่อเข้ารับการศึกษาใน Acadamy of War หรือโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูง และ สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2448 ร.ต.พุ่ม ได้เข้าประจำการใน กรมทหารม้าฮุสซาร์อีกครั้งหนึ่ง และได้รับยศเป็น พันเอก พุ่ม แห่งกรมทหารม้าฮุสซาร์ ซึ่งเป็นกรมที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการรบ

พ.อ.พุ่ม แถวยืนที่ 6 จากซ้าย

พ.อ.พุ่ม แถวยืนที่ 3 จากซ้าย

    สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ทรงเข้าพิธีสมรสกับ หม่อมคัทริน เคสนิคสกี้ และแยกทางกับ พ.อ.พุ่มเพื่อเสด็จกลับประเทศสยาม สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯเสด็จกลับประเทศสยามโดยนำ หม่อมแคทรินกลับมาด้วย แต่เพราะเกรงเสด็จพ่อจะทรงกริ้ว จึงทรงให้หม่อมคัทรินอยู่ที่สิงคโปร์ก่อน ต่อมาเรื่องก็รู้ถึงพระกรรณจนได้ จึงได้นำหม่อมคัทรินเข้ามาที่กรุงเทพฯ 

   ต่อมา เจ้าฟ้าจักรพงษณ์ภูวนารถได้ดำรงพระยศเป็นจอมพลแห่งกองทัพบกสยาม และเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ในรัชกาลที่ 6 

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯกับหม่อมคัทริน

    ส่วนพ.อ.พุ่มต้องการที่จะอยู่ที่ประเทศรัสเซียต่อไปอีกเพื่อศึกษาภาษาฝรั่งเศส ทางกระทรวงกลาโหมของไทยสยามไม่ยอม พ.อ.พุ่มได้พยายามยืนยันว่าต้องการเรียนต่อจึงเกิดการโต้เถียงกันกับทางกระทรวงกลาโหม จนทางกระทรวงกลาโหมได้สั่งให้ขังบริเวณ พ.อ.พุ่มในสถานทูตไทย กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก 

  การที่พ.อ.พุ่มโดนขังในครั้งนี้ ทำให้เหล่านายทหารฮุสซาร์เกิดความโกรธแค้นเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นการหยามเกียรติ์กรมทหารม้าฮุสซาร์อันเกรียงไกร เหล่านายทหารม้สฮุสซาร์จึงได้บุกลักพาตัว พ.อ.พุ่มออกจากสถานทูต จึงทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น พ.อ.พุ่มตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเพื่อนทหารม้าฮุสซาร์ชิงตัวพ.อ.พุ่มจากสถานฑูตไทยเช่นนี้ พ.อ.พุ่มต้องโดนข้อหาผิดวินัยของกองทัพไทยอย่างร้ายแรง ทำให้พ.อ.พุ่มไม่สามารถกลับประเทศได้ เพราะถ้ากลับแล้วคงต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน

  ในที่สุด พ.อ.พุ่มจึงต้องเปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย  และเปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนาคริสต์นิกายรัสเชี่ยนออร์โธดอกซ์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น นิโคลัย พุ่มสกี้ (Nikolai Pumsky) โดยพระเจ้าซาร์นิโคลาสทรงพระเมตตารับเป็นบิดาในทางศาสนา และทรงให้ใช้ชื่อตามพระนามของพระองค์

    เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.อ.พุ่มสกี้ ในฐานะนายทหารรัสเซีย ได้ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารรัสเซียและฝ่ายสัมพันธมิตร โดยรบกับกองทัพเยอรมันถึงขั้นตะลุมบอนปะทะกันจนได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนั้น 

ทหารม้าฮุสซาร์อันเกรียงไกร
ดาบทหารม้าฮุสซาร์

   ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในระเทศรัสเซีย เป็นการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ นายทหารรัสเซียถูกปลดออกจากประจำการจำนวนมาก และได้ยอมให้ทหารชั้นผู้น้อยเลือกผู้บังคับบัญชาเอง พ.อ.พุ่มสกี้ได้รับการคัดเลือกจากให้เป็นผู้บังคับบัญชาต่อไป

    เนื่องจากพ.อ.พุ่มสกี้มีความความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระเจ้าซาร์นิโคลาสเป็นอันมาก จึงไม่ยอมรับตำแหน่งนี้ และได้หนีออกจากประเทศรัสเซียโดยคุ้มครองสตรีชราตามรับสั่งพระเจ้าซาร์ไปที่ประเทศฝรั่งเศส  สตรีชรานี้เป็นเหมือนมารดาบุญธรรมของพ.อ.พุ่มสกี้ด้วย

   พ.อ.พุ่มสกี้ต้องเสี่ยงอันตรายคุ้มครองหญิงชราหนีออกจากประเทศรัสเซีย หนีข้ามพรมแดนไปจนถึงประเทศฝรั่งเศสได้สำเร็จ จาก พ.อ.พุ่มสกี้ผู้บังคับการกรมทหารม้าฮุสซาร์ ต้องกลายมาเป็น นายพุ่ม สกี้ ทำงานเป็นเสมียนธนาคารที่กรุงปารีส และ ต่อมาได้มาอยู่กับ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ และได้รับมอบหมายให้เป็นเลขานุการของหม่อมคัทริน เคสนิคสกี้

นายพุ่ม สาคร (ชุดขาวยืนซ้าย ,พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์(ถือหมวก) ,พระองค์เจ้าพีระฯ(นั่ง)

   นายพุ่มสกี้ได้ทำงานอยู่กับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และหม่อมคัทรินตลอดมา จนกระทั่งเกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 นายพุ่มสกี้ก็ยังอยู่ดูแลบ้านของหม่อมคัทรินที่ฝรั่งเศสโดยไม่ยอมหนีไปประเทศอังกฤษพร้อมกัน จนกระทั่งในที่สุดเยอรมันยึดกรุงปารีสได้ นายพุ่มสกี้ก็ไม่ยอมหนี ยังคงพิทักษ์ดูแลทรัพย์สินของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และหม่อมคัทรินเป็นอย่างดี

กลับเมืองไทย

   หลังจากจากเมืองไทยไปถึง 33 ปี นายพุ่มสกี้จึงได้กลับเมืองไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเป็นธุระพานายพุ่มกลับเมืองไทย โดยได้โดยสารเรือราชปูตานา(Rajputana)ของบริษัทอังกฤษ พี แอนด์ โอ (P.&.O.) ออกจากเมืองมาเชยเมื่อวันที่ 16 ต.ค. เรือไปถึงปีนังเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน วันที่ 5 จึงโดยสารรถไฟมายังประเทศไทย 

   พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เล่าไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์เล่ม 2 หน้า 366 ว่า "เมื่อข้ามเขตแดนไทยนั้นข้าพเจ้าสังเกตดูพุ่มเห็นยืนอยู่นิ่งและน้ำตาไหลคอตื้นตันพูดไม่ออก แล้วเขาก็หันมาจับมือข้าพเจ้า แล้วก็เอามือของข้าพเจ้านั้นขึ้นไปทูลอยู่บนศีรษะหลายๆครั้ง เป็นการที่เขาแสดงความขอบใจที่ข้าพเจ้าพาเขากลับไปเมืองไทยอีก แต่ไม่สามารถจะขอบใจด้วยวาจาได้"


นายพุ่ม สาคร นั่งขวาสุด

   นายพุ่ม สาคร ตื่นตาตื่นใจในความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยเป็นอันมาก การกลับมาประเทศไทยของนายพุ่ม สาคร ในครั้งนั้นเป็นที่สนใจของคนไทยมาก เพราะนายพุ่มคือนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงคนแรก ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในกองทัพรัสเซียและในราชวงค์โรมานอฟ เป็นนายทหารของกรมทหารม้าฮุสซาร์ที่มีชื่อเสียง 

   พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงเสนอเรื่องขอเปลี่ยนสัญชาติให้ นายพุ่มสกี้ กลับมาเป็นคนไทยอีกครั้งหนึ่ง กลับมาเป็น นายพุ่ม นามสกุล สาคร การจากเมืองไทยไปถึง 33 ปี 


   จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เชิญ และ ขอร้องนายพุ่ม สาคร ให้เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก โดยจะให้ติดยศพันโททหารประจำกองทัพไทย ซึ่งนายพุม สาคร นั้นเป็นนายพันเอกของกองทัพรัสเซียมาก่อน เมื่อเป็นดังนี้นายพุ่ม สาคร จำต้องตอบปฏิเสธ นัยว่าเพื่อรักษาเกียรติยศของกรมทหารม้าฮุสซาร์แห่งกองทัพรัสเซีย

   เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เสด็จกลับประเทศอังกฤษ นายพุ่ม สาคร จึงตามเสด็จกลับไปพำนักอยู่ที่บ้านพักเทรเดซี่ของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบอดมินห์ ประเทศอังกฤษ

นายพุ่ม สาคร ยืนที่ 2 จากซ้าย ครั้งกลับมาเมืองไทย
นายพุ่ม สาคร ครั้งกลับมาเมืองไทย


 บั้นปลายชีวิต

   นายพุ่ม สาคร ได้ทำงานอยู่กับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และหม่อมคัทรินตลอดมา จนกระทั่งเกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 นายพุ่มสกี้ก็ยังอยู่ดูแลบ้านของหม่อมคัทรินที่กรุงปารีส ฝรั่งเศสโดยไม่ยอมหนีไปประเทศอังกฤษพร้อมกัน จนกระทั่งในที่สุดเยอรมันยึดกรุงปารีสได้ นายพุ่มสกี้ก็ไม่หนียังคงพิทักษ์ดูแลทรัพย์สินของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และหม่อมคัทริน ซึ่งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงห่วงหนังสือที่มีเป็นพันเล่มมาก

   นายพุ่ม สาคร หรือพันเอกนิโคลัย พุ่มสกี้ เป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้ผ่านมหาสงครามโลกทั้งสองครั้ง เป็นการผ่านสภาวะสงครามโดยแท้จริง

   ช่วงบั้นปลายชิวิตของนายพุ่ม สาคร นั้น นายพุ่มมีอาการของโรคหัวใจ แต่ก็ยังอยู่ดูแลบ้านของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และหม่อมคัทรินที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส เมื่อเริ่มเข้าหน้าหนาวในขณะนั้นเกิดอากาศหนาวเย็นมาก หม่อมคัทรินจึงขอให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงอนุญาตให้นายพุ่มไปอยู่ที่บ้านพักเทรเดซี่ ซึ่งเป็นบ้านพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ตั้งอยู่ที่เมืองบอดมินห์ ประเทศอังกฤษ ขณะนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเดินทางไปประเทศอเมริกา

   พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าไว้ในหนังสือ "เกิดวังปารุสก์" เล่ม 3 ว่า ขณะที่จะเดินทางไปอเมริกานั้นทรงคิดห่วงนายพุ่มว่าจะตาย ถึงกับต้องปรึกษากันว่าถ้านายพุ่มตายแล้วจะจัดพิธีพุทธหรือคริสต์ เพราะทรงไม่แน่ใจว่านายพุ่มนับถือศาสนาอะไร




   นายพุ่ม สาคร มาถึงบ้านเทรเดซี่ เมืองบอดมินห์ ประเทศอังกฤษ ด้วยร่างกายที่อิดโรยจากความหนาวเย็นของสภาพอากาศในกรุงปารีส จนในที่สุดนายพุ่ม สาคร ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย

   นายพุ่มถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เมื่ออายุ 70 ปี ด้วยอาการหัวใจวาย ขณะที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เสด็จไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ศพของนายพุ่ม สาคร ยังคงฝังอยู่ ณ สุสานใกล้บ้าน ของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

  ชีวิตของนายพุ่มบุตรนายซุ้ยชาวตลาดพลูคลองบ้างหลวงนับว่ามีรสชาติยิ่งนัก จากสามัญชนคนธรรมดาๆ ด้วยความสามารถของตนเองจึงทำให้ได้รับทุ่นเล่าเรียนหลวง หรือทุนคิงส์เป็นคนแรก ได้เป็นเพื่อนนักเรียนกับพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ได้เป็นนายทหารม้าฮุสซาร์ ได้อาศัยอยู่ในวังของพระเจ้าซาร์ถึงสองแห่ง ในที่สุดได้เป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าฮุสซาร์อันเกรียงไกร 





   พันเอกพุ่มสกี้นับเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ออกรบร่วมกับเพื่อนทหารรัสเซียในสมรภูมิมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ทำการรบอย่างห้าวหาญจนได้รับการยอมรับนับถือจากทหารรัสเซีย

   พันเอกพุ่มสกี้ยังเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้เห็นเหตุการณ์ล่มสลายของราชวงศ์รัสเซีย เห็นการเข้ามาแทนที่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเพิ่งมีเป็นครั้งแรกในโลก ทั้งยังได้ผ่านความยากลำบากของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้อยู่ในพื้นที่ๆถูกเยอรมันนียึด

  นายพุ่ม สาคร หรือพันเอกนิโคลัย พุ่มสกี้ เป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้ผ่านมหาสงครามโลกทั้งสองครั้ง เป็นการผ่านสภาวะสงครามโดยแท้จริง




 ในที่สุดจากพันเอกพุ่มสกี้สัญชาติรัสเซีย ก็ได้กลับมาเป็นนายพุ่มสัญชาติไทยเชื้อชาติไทย และได้มีนามสกุลว่า สาคร ตามเชื้อสายของวงศ์ตระกูลเดิม บิดานายพุ่มชื่อนายซุ้ยซึ่งแปลว่า น้ำ ดังนั้น จึงกลายเป็นชื่อนามสกุลว่า สาคร ซึ่งแปลว่าน้ำนั่นเอง

   ชีวิตของนายพุ่ม สาคร หรือคุณทวดพุ่ม นับว่าเป็นยิ่งกว่านิยาย มีครบทุกรสชาติของชีวิต ต้องนับว่าคุณทวดพุ่มนี้เป็นอหังการ์ไทยสยามที่หาญกล้าเป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าฮุสซาร์อันลือลั่น








ขอขอบคุณข้อมูลเรื่องและรูปภาพจากหลายๆที่คือ
หนังสือเกิดวังปารุสก์ พระนิพนธ์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์,เว็บpantip,วิกิพิเดีย


2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากครับ รวบรวมอย่างเป็นระบบ เป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับสืบค้นทางประวัติศาสตร์

    ตอบลบ
  2. เป็นแหล่งข้อมูลของพอ.พุ่มสกี้ ที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุดครับ

    ตอบลบ