วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2560

ปัดฝุ่นเรื่องเก่าจีน.3 พระเสวียนจั้ง(พระถังซัมจั๋ง)


ปัดฝุ่นเรื่องเก่าจีน.3

พระเสวียนจั้ง(พระถังซัมจั๋ง)

(Hiuen Tsang)
พระถังซัมจั๋งเป็นชื่อที่เรียกกันแบบสำเนียงจีนแต้จิ๋วที่อยู่ในประเทศไทย แต่ที่เรียกกันแบบภาษาจีนกลางจะเรียกว่า “เสวียนจั้ง” คนไทยเราจะรู้จักพระถังซัมจั๋งจากเรื่องไซอิ๋ว และคนส่วนมากจะรู้จักพระถังซัมจั๋งในด้านที่พระถังซัมจั๋งเป็นตัวละครในนิยายจีนเรื่อง “ไซอิ๋ว” แท้ที่จริงแล้วพระถังซัมจั๋งมีตัวตนอยู่จริง ทั้งยังเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ถัง และเป็นพระเถระสำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศจีน

   พระถังซัมจั๋ง(ออกเสียงแบบจีนแต้จิ๋ว)เป็นคนในตระกูล เฉิน (ภาษาแต้จิ๋วว่า ตั้ง) ท่านเกิดในรัชสมัยของพระเจ้าสุยเหวินตี้(Sui Wen Di) ต่อมาราชวงศ์สุยล่มสลายลงในปีพ.ศ. ๑๑๖๐ ประเทศจีนเข้าสู่ยุคราชวงศ์ถัง บรรพบุรุษของพระถังซัมจั๋งนามว่าแม่ทัพเฉินหยวนกวง(ตั้งง่วนกวง) ได้อพยพไปอยู่แถบมณฑลแต้จิ๋ว


ภาพจากวิกิพิเดีย พระเสวียนจั้งหรือพระถังซัมจั๋ง

   พระเสวียนจั้งเกิดในสมัยราชวงศ์สุยรัชสมัยพระเจ้าสุยเหวินตี้ (Sui Wen Di) ที่นครลั่วหยาง อำเภอโกวซื่อ มณฑลเหอหนาน  เกิดในปี ค.ศ. ๖๐๐  หรือ พ.ศ.๑๑๔๓ (บางตำราว่า ค.ศ. ๖๐๒)ก่อนบวชเป็นพระนั้นเดิมท่านมีชื่อว่า เฉินเหว่ย (ประวัติบางสำนวนว่าชื่อ ฮุย) บิดาชื่อเฉิน หุ้ย บิดาของท่านเคยรับราชการเป็นนายอำเภอในสมัยต้นราชวงศ์สุย พอถึงสมัยปลายราชวงศ์สุย จึงลาออกจากราชการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด

ภาพจากdhammajak.net พระถังซัมจั๋ง

    บรรพบุรุษของพระเสวียนจั้ง เป็นเชื้อสายขุนนางในราชวงศ์ฮั่น ปู่ทวดเฉินซิน ปู่เฉินคัง ล้วนเคยเป็นมหาอำมาตย์มาก่อน เป็นบุตรชายคนสุดท้องจาก ๔ คน เมื่อเยาว์วัยได้ติดตามพี่ชายคนที่สอง ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุในเมืองลั่วหยาง และได้รับเลือกให้เป็นนาคหลวง ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๓ ปี    เมื่อบวชแล้ว ท่านเสวียนจั้งได้เสาะแสวงหาพระอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงว่ารอบรู้ธรรมะ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเล่าเรียนพระธรรม เมื่ออายุ ๑๘ พรรษา ท่านเสวียนจั้งก็กลายเป็นพระผู้มีชื่อเสียงแล้วและมีความสามารถในการแสดงธรรมเป็นอย่างมาก  

   ท่านเสวียนจั้งมีความแตกฉานในสุตตันตปิฎก วินัยปิฎกและอภิธรรมปิฎกของพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาอินเดีย ฉะนั้น ผู้คนจึงยกย่องท่านเสวียนจั้งว่าเป็น “อาจารย์แห่งพระไตรปิฎก”

   ท่านเสวียนจั้งมักจะรู้สึกว่า พระคัมภีร์ที่มีอยู่แปลได้ไม่ครบความและไม่ค่อยถูกต้อง ท่านเสวียนจั้งจึงตัดสินใจที่จะเดินทางไปศึกษาพระธรรมที่อินเดียซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา


ภาพจากวิกิพิเดีย พระจักรพรรดิถังไท่จง

    จีนในขณะนั้นเป็นช่วงสงครามเปลี่ยนราชวงศ์ จากราชวงศ์สุยเป็นราชวงศ์ถัง บ้านเมืองตามชายแดนยังไม่สงบดีนัก จึงมีกฎห้ามประชาชนเดินทางออกนอกพรมแดน เว้นแต่มีหนังสืออนุญาตจากทางการ

ภาพจากdineyinsigstsinsano.wordpress พระถังซัมจั๋งเดินทาง

   ท่านเสวียนจั้งตัดสินใจเดินทางไปแสวงธรรมในประเทศอินเดีย ได้ออกเดินทางเมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. ๑๑๗๐(จีนเรียก เจินกว้านปีที่ ๑) โดยลักลอบเดินทางออกนอกประเทศเพียงคนเดียวในตอนกลางคืน

     ปีพ.ศ.๑๑๗๐ ท่านเสวียนจั้งออกเดินทางจากเมืองฉางอาน ในขณะนั้นเป็นราชธานีของราชวงศ์ถังของจีน ซึ่งในปัจจุบันก็คือเมืองซีอานนั่นเอง ท่านเสวียนจั้งเริ่มการเดินทางไกลนับหลายหมื่นลี้ เพื่อมุ่งไปยังมหาวิทยาลัยนาลันทาของอินเดีย  มหาวิทยาลัยนาลันทานั้นถือกันว่า เป็นมหาวิทยาลัยสุดยอดของพุทธศาสนา 

   การเดินทางมุ่งสู่อินเดียของท่านเสวียนจั้ง ภายหลังมีการแต่งเป็นนิยายเรื่อง ไซอิ๋ว ซึ่งคนส่วนใหญ่จะรู้จักพระถังซัมจั๋งจากเรื่องไซอิ๋วนี่เอง


ภาพจาก tzuchi.com การเดินทางของพระถังซัมจั๋งในไซอิ๋ว


   การเดินทางจากจีนสู่อินเดียในยุคนั้นนับว่าเป็นเรื่องยากและอันตรายยิ่ง เพราะว่า ต้องผ่านทั้งทะเลทราย ผ่านป่า ผ่านภูเขาที่มีหิมะปกคลุม ผ่านโจรผู้ร้าย และโรคภัยไข้เจ็บ แต่ท่านเสวียนจั้งก็สามารถผ่านพ้นภัยอันตรายต่างๆมาได้ 

   การเดินทางไกลของท่านเสวียนจั้งนั้น ภายหลังได้กลายมาเป็นเรื่องเล่านิทานจีน ไซอิ๋ว นั่นเอง ผู้แต่งเรื่องไซอิ๋วมีนามว่า อู่เฉิงเอิน ต่อมากลายเป็นวรรณกรรมเอกของจีนเรื่องหนึ่ง

   ท่านเสวียนจั้งเดินทางไกลผ่านความทุรกันดารและภัยอันตราย กระทั่งได้เดินทางถึงภาคเหนือของอินเดียในฤดูร้อนปีพ.ศ.๑๑๗๒ จากนั้นท่านก็เข้าสู่ภาคกลางของอินเดีย และได้นมัสการพุทธศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ๖ แห่ง

ภาพจาก  Map.Xiyouji แผนที่การเดินทางของพระถังซัมจั๋งหรือพระเสวียนจั้ง

ภาพจากbodhi.takungpao.com.hk พระเสวียนจั้งเดินทางฝ่าอันตราย

    ปีพ.ศ.๑๑๗๔ ท่านเสวียนจั้งได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ได้ศึกษาพระธรรมจากพระอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่กว่า ๑๐ รูป มีพระอาจารย์ศีลภัทรองค์อธิการบดี เป็นพระอาจารย์ใหญ่ ได้ทำการศึกษาอยู่เป็นเวลา ๕ ปี ได้อ่านพระคัมภีร์พระสูตรต่างๆอย่างครบถ้วน ต่อจากนั้นท่านเสวียนจั้งก็ใช้เวลาอีก ๖ ปีในการจาริกไปตามท้องถิ่นต่างๆของอินเดีย


พระเสวียนจั้งเดินทางถึงมหาวิทยาลัยนาลันทา

   มหาวิทยาลัยนาลันทาในยุคนั้น มีนักศึกษาราวหมื่นรูป อาจารย์พันห้าร้อยท่าน ท่านเสวียนจั้งกลายเป็นนักวิชาการทางพุทธศาสนาชั้นนำในสมัยนั้น ประวัติของท่านบางสำนวนว่า ท่านเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทานานถึง ๑๕ปี ข้อนี้น่าจะหมายถึงรวมเวลาที่ท่านจาริกไปในสถานที่ต่างๆในอินเดีย


ภาพจากwww.gotoknow.org ภาพวาดมหาวิทยาลัยนาลันทาครั้งยังไม่ถูกทำลาย

ภาพจากsurasiha.com พระเจ้าหรรษวรรธนะ


     ตลอดเวลาที่ท่านเสวียนจั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา พระเจ้าหรรษวรรธนะทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ท่านเสวียนจั้งเป็นอย่างดี นอกจากนี้พระเจ้าหรรษวรรธนะ  (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๔๙-๑๑๙๑) ก็ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยนาลันทาอีกด้วย

   หลังจากที่ท่านเสวียนจั้งเดินทางกลับประเทศจีน พระพุทธศาสนาในอินเดียเริ่มเข้ายุคเสื่อมถอย เพราะเกิดการปลอมปนนำเอาลัทธิอื่นเข้ามาแฝงในศาสนาพุทธ


กลับประเทศจีน
      ท่านเสวียนจั้งอำลาพระเจ้าหรรษวรรธนะ พระกุมารราชาแห่งเบงกอลตะวันออก และพระราชาแห่งอินเดีย ๑๘ แคว้น กลับสู่ประเทศจีน โดยกลับไปเส้นทางเดิม ปีพ.ศ.๑๑๘๖ 



   ท่านเสวียนจั้งได้เดินทางกลับประเทศจีน บางตำราว่าท่านเดินทางกลับมาถึงเมืองลั่วหยางวันที่ ๒๔ มกราคม ค.ศ.๖๔๕  ท่านได้นำพระคัมภีร์และพระพุทธรูปกลับไปด้วย ช่วงเวลานั้นเป็นยุคสมัยราชวงศ์ถัง จักรพรรดิถังไท่จงได้เสด็จพระราชดำเนินไปรับท่านเสวียนจั้งด้วยพระองค์เอง จักรพรรดิถังไท่จงได้ทรงขอให้ท่านเสวียนจั้งสึกออกมารับราชการในราชสำนัก แต่ท่านเสวียนจั้งขอพระราชทานปฏิเสธ

จักรพรรดิถังไท่จง

    ท่านเสวียนจั้งเข้าพักอยู่ที่วัดหงฝู (Hong Fu) ในนครฉางอาน ได้จัดทำโครงการแปลพระคัมภีร์ โดยเปิดรับสมัครพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่และนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงจากท้องถิ่นต่างๆ มาแปลพระคัมภีร์เป็นเวลานานถึง ๑๙ ปี โดยอยู่ในพระราชูปถัมภ์ของจักรพรรดิถังไท่จง




     ท่านเสวียนจั้งได้แปลพระคัมภีร์เป็นระยะเวลา ๑๙ ปีท่านได้แปลคัมภีร์ทั้งหมด ๗๕ เรื่อง ๑,๓๓๕ ม้วน ครอบคลุมถึงผลงานทั่วไปที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาของอินเดียในสมัยศตวรรษที่ ๕ นอกจากนี้ ในปั้นปลายชีวิต ท่านยังได้แปล “พระมหาปรัชญาสูตร” รวม ๖๐๐ ม้วนซึ่งเป็นพระสูตรเล่มใหญ่ที่สุด เนื้อหาคำแปลของท่านมีความสละสลวยไพเราะมาก และมีความหมายตรงตามต้นฉบับ
ภาพจากread01.com พระเสวียนจั้งหรือพระถังซัมจั๋งแปลพระคัมภีร์
ภาพจากrufodao.qq.com พระถังซัมจั๋งแปลพระคัมภีร์

   ในขณะที่ท่านเสวียนจั้งทำการแปลพระคัมภีร์นั้น ท่านได้ก่อตั้งนิกายในพุทธศาสนาของจีน ซึ่งก็คือ พุทธศาสนานิกายฝ่าเซี่ยง (Conciousness-only, หรือ โยคาจร Yogacara)  ต่อมาลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระภิกษุชาวญี่ปุ่นนามเต้าเจา ได้กลับญี่ปุ่นไปก่อตั้งพุทธศาสนานิกายฝ่าเซี่ยงของญี่ปุ่นขึ้น และลูกศิษย์อีกรูปหนึ่งของท่านเป็นพระภิกษุชาวเกาหลีนามหยวนเช่อ ได้ก่อตั้งพุทธศาสนานิกายฝ่าเซี่ยงของเกาหลีขึ้น




บันทึกประวัติศาสตร์
    ท่านเสวียนจั้งได้จัดทำหนังสืออันเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ท่านให้ลูกศิษย์ชื่อว่า เปี้ยนจี จดบันทึกตามการบอกเล่าของท่าน โดยบันทึกเป็นหนังสือชื่อ “บันทึกการเดินทางสู่แดนตะวันตกสมัยราชวงศ์ถัง” (Datang’s Western Regions) หรือ "ต้าถังซีโหยวจี้" (大唐西游)ใช้เวลาบันทึกนานกว่าหนึ่งปี ในหนังสือบรรยายถึงเรื่องราวของประเทศต่างๆที่ท่านเสวียนจั้งเคยเดินทางผ่านในยุคนั้นกว่า ๑๐๐ ประเทศ (เมืองหรือแคว้น) ในหนังสือบอกรวมไปถึงวัฒนธรรม สภาพบ้านเมืองพลเมือง การปกครอง


ภาพจากrufodao.qq.com บีนทึกการเดินทางสู่ตะวันตก




   หนังสือบันทึกการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกสมัยราชวงศ์ถัง ได้กลายเป็นข้อมูลศึกษาที่เขียนขึ้นในยุคสมัยเวลาจริงของยุคนั้น จึงทำให้ในปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่น่าเชื่อถือ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บอกถึงความแพร่หลายเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ที่เคยมีในดินแดนแถบอินเดียและเอเชียกลาง เช่นอัฟกานิสถาน ปากีสถาน

แผนที่การเดินทางของพระถังซัมจั๋ง

     “บันทึกการเดินทางสู่แดนตะวันตกสมัยราชวงศ์ถัง” ได้นำไปแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมันและภาษาอื่นๆ ตามลำดับ นักวิชาการทางโบราณคดีสมัยใหม่ได้ประสบผลงดงามเพราะดำเนินโครงการขุดค้นและวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในแถบอินเดียและเอเชียกลางโบราณตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้




   ช่วงระยะเวลา ๑๗ ปี ท่านได้เดินทาง ๕๐,๐๐๐ ลี้ ผ่านประเทศต่างๆกว่าร้อยประเทศ ต้องฝ่าฟันภัยอันตรายนาๆประการ ผลงานในหนังสือของท่านเหมือนกับบันทึกการสำรวจดินแดนต่างๆ ทั้งยังบันทีกไว้ได้อย่างละเอียดยิ่ง จนได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานอมตะกันเลย




     ต่อมาเรื่องราวการเดินทางไปอินเดียของท่านเสวียนจั้งได้เล่าขานต่อๆกันมา และแต่งเป็นนิยายซึ่งกลายเป็นเรื่องยอดนิยม กลายเป็นนิยายเรื่อง “ไซอิ๋ว” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก


เรื่องไซอิ๋ว




   รายละเอียดของสถานที่บ้านเมืองที่ท่านเสวียนจั้งได้บันทึกไว้มีมากมาย พอจะกล่าวย่อๆได้ เช่น

บามิยันประเทศอัฟกานิสถาน  มีอาราม ๑๐แห่ง พระสงฆ์หลายพันรูป เป็นฝ่ายโลกุตตรยานสังกัดนิกายหินยานพระสงฆ์ทึ่มีชื่อเสียงคือ ท่านอารยทูตกับอารยเสน มีพระพุทธรูปยืนจำหลัก ด้วยหินสูง ๑๕๐ เชี๊ยะ(ถูกทำลายแล้ว) และพระปฏิมาจำหลักด้วยแก้ว สูง ๑๐๐ เชี๊ยะ อารามนี้มีพระพุทธไสยาสน์ยาว ๑,๐๐๐ เชี๊ยะ มีอารามประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วพระทันตธาตุของพระปัจเจกพุทธในอดีต  กปิศะ มีอาราม ๑๐๐ แห่ง มีอารามชื่อสาโลกที่พระโอรสพระเจ้าแผ่นดินจีนสร้างถวาย พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงคือท่านปรัชญากร , มโนชาญโฆษา, ท่านอารยวรมัน ,คุณภัทรที่เมืองลัมพะมีอาราม ๑๐ แห่งพระสงฆ์ล้วนเป็นนิกายมหายาน   
หมายเหตุ ๑ เชี๊ยะ = ๓๓.๓๓ซ.ม.                


ภาพจากwww.dhammajak.net พระพุทธรูปที่บามิยัน

ภาพจากwww.publicpostonline.net พระพุทธรูปที่บามิยันครั้งยังไม่ถูกทำลาย

คันธาระ แคว้นนี้มีนักปราชญ์ทางมหายานเกิดมากมายเช่น พระนารายณเทพ อสังคโพธิสัตว์ วสุพันธุโพธิสัตว์ ธรรมตาร มโนรถ ปารศรวเถระที่นี่มีสถานที่ประดิษฐานบาตรของพระพุทธองค์     


ภาพจากwww.pinterest.com ศิลปสมัยคันธาระ

แคว้นอุทยาน ตั้งอยู่ระหว่างฝั่งแม่น้ำศุภวัสดุ มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่อีกอารามหนึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปพระเมตไตรย์โพธิสัตว์จำหลักด้วยไม้จันทร์หอม                 
                                 
กัศมีร์ (แคชเมียร์) มีอาราม ๑๐๐ แห่งพระสงฆ์ ๕,๐๐๐ รูปมีสถูปวิจิตรสวยงาม ๔ องค์ พระเจ้าอโศกเป็นองค์สร้างไว้ สถูปทุก ๆ องค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้อารามที่ท่านเสวียนจั๋งพำนักชื่อหุษก ชเยนทรพระอาจารย์ผู้เป็นสังฆปาโมกข์อยู่ที่เมืองกัศมีร์นี้     



ภาพจากwww.nipic.com พระถังซัมจั๋ง
มถุรา มีสูปบรรจุอัฐิธาตุของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะพระปุณณมันตานีบุตร,พระอุบาลี,พระอานนท์,พระราหุล,พระมัญชุศรี

กันยากุพชะ หรือ ลัคเนาว์ เมืองหลวงของรัฐอุตรประเทศปัจจุบัน มีอาราม ๑๐๐ แห่ง พระสงฆ์ราว ๑๐,๐๐๐ รูป สังกัดทั้งฝ่ายมหายานและหินยาน มีสถูป ๒ แห่งที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างขึ้น ที่เมืองนี้ท่านเสวียนจั้งได้พำนัก ณ วัดภัทรวิหาร ขณะนั้นพระเถระที่มีชื่อเสียงแห่งกันยากุพชะคือ พระวีรเสนที่ชำนาญในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี




อโยธยา มีพระสงฆ์หลายพันรูป มีวัดประมาณ ๑๐๐ แห่ง พระสงฆ์มีทั้งที่สังกัดมหายานและหินยาน นอกเมืองยังมีสถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระพุทธองค์มาแสดงธรรมที่นี้เป็นเวลา ๓ เดือน ที่นี่ท่านถูกโจรปล้น และหวังจะประหารชีวิตท่าน เพื่อสังเวยเจ้าแม่ทุรคาแต่ก็รอดมา    

โกสัมพี มีอาราม ๑๐ แห่ง พระสงฆ์ราว ๑๐๐ รูป มีวิหารใหญ่สูง ๖๐๐ เชี๊ยะ ประดิษฐานพระพุทธรูปจำหลักด้วยไม้จันทน์ โดยมีพระเจ้าอุเทนเป็นผู้สร้างขึ้น นอกจากนั้นยังมีอารามของโฆสิตเศรษฐี และกุกกุฏเศรษฐีสร้างถวายพระพุทธเจ้า แต่ขณะนั้นได้ปรักหักพังไปบ้างแล้ว





สาวัจตถี มีอารามหลายร้อยแห่ง พระสงฆ์หลายพันรูป โดยมากสังกันนิกายสัมมิติยะ มีซากสถูปที่ พระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างถวายพระพุทธเจ้า มีซากพระเชตวันมหาวิหาร  มีเสาอโศก ๒ ต้น มีพระพุทธรูปทอง ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างขึ้น เมื่อคราวอาลัยที่พระพุทธองค์ไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดุสิต

กุสินารา มีสถูปที่พระเจ้าอโศกสร้างขึ้นตรงบริเวณที่เป็นบ้านนายจุนทะที่ได้ถวายอาหารสุกรมัทวะ ซึ่งเป็นอาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธองค์ มีพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐลักษณะสมัยมถุรา และสถูปใหญ่สูง ๒๐๐ เชี๊ยะ ที่สร้างภายในสถานที่ปรินิพพาน ประดิษฐานอยู่มีพระพุทธรูปปางปรินิพพาน และเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก




พาราณสี เมืองนี้มีชาวพุทธน้อย โดยมากนับถือลัทธินอกศาสนา มีอารามในเมืองพาราณสีราว ๓๐ แห่ง มีพระสงฆ์ ๓,๐๐๐ รูป สังกัดนิกายสัมมิติยะของหินยาน แต่มีเทวาลัยถึง ๑๐๐ แห่ง มีนักบวชเป็นหมื่นบางคนโกนหัว แต่บางคนขมวดผมเป็นปม นักบวชบางพวกเอาขี้เถ้าทาตัว บางพวกเปลือยกาย

     แคว้นนี้เองที่มีป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (สารนาถ) มีพระสงฆ์นิกายหินยาน ๑,๕๐๐ รูป มีสถูปของพระเจ้าอโศกสร้าง เสาหินสูงกว่า ๗๐ เชี๊ยะ


ภาพจากwww.epochtimes.com  จิตรกรรมฝาผนัง

แคว้นมคธ แคว้นนี้มีพระสงฆ์ ๑๐,๐๐๐ รูป โดยมากเป็นฝ่ายมหายาน อารามมีมากกว่า ๕๐ แห่ง ที่เมืองนี้ยังมีเสาอโศกและแผ่นศิลารอยพระพุทธบาทอีกด้วย

แคว้นตามรลิปติ (ปากอ่าวเบงกอล สันนิษฐานว่าเป็นเมืองกัลกัตตาปัจจุบัน) มีอาราม ๑๐ แห่ง มีพระสงฆ์ราว ๑,๐๐๐ รูป สังกัดนิกายหินยาน นอกนั้นยังมีสถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้สูง ๒๐๐ เชี๊ยะ มีพระราชาพระนามว่าพระกุมารราชาปกครองเมืองนี้

   รายละเอียดของเมืองและแว่นแคว้นต่างๆที่ท่านเสวียนจั้งบันทีกไว้นี้ มีทั้งเรื่องภูมิศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม เมื่อมาถึงในสมัยปัจจุบันนี้ จึงนับเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง





ปัจฉิม
   เมื่อท่านเสวียนจั้งมรณภาพในสมัยพระจักรพรรดิถัวเกาจง เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๑๒๐๗ (ค.ศ.๖๖๔) พระจักรพรรดิถังเกาจง ทรงเสียพระทัยอย่างหนัก ถึงกลับตรัสว่า ประทีปของชาติได้ดับเสียแล้ว ก่อนที่ท่านเสวียนจั้งจะมรณภาพ ท่านได้กำชับให้จัดงานศพท่านอย่างเรียบง่าย คือใช้เสื่อมาพันและฝังเสีย แต่พระจักรพรรคดิถังเกาจงทรงให้จัดอย่างสมเกียรติ กล่าวกันว่า มีชาวจีนมาร่วมงานศพท่านถึง ๒ ล้านคน นับว่าเป็นพระสงฆ์องค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนที่มีผู้ร่วมงานมากมายขนาดนั้น

   ท่านเสวียนจั้งหรือพระถังซัมจั๋งได้สืบทอดพระพุทธศาสนาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างกว้างขวาง ท่านได้แปลพระคัมภีร์ไว้อย่างละเอียดละออ นับเป็นการวางรากฐานพระพุทธศาสนาในประเทศจีนและยังแผ่ไปถึงเกาหลีและญี่ปุ่น


   ท่านเสวียนจั้งนี้นับได้ว่าเป็นพระมหาเถระที่สำคัญยิ่งรูปหนึ่ง     


ภาพจากguoxue.ifeng พระถังซัมจั๋ง

ภาพจากsilkroad aventure พระเสวียนจั้ง
     
ภาพจากbig5.xuefo.net พระถังซัมจั๋ง หน้าเจดีย์วัดห่านป่าใหญ่


ภาพจากwww.eastasiaworld.com พระถังซัมจั๋ง หน้าเจดีย์วัดห่านป่าใหญ่
ข้อมูลเรียบเรียงจาก...
ถังซำจั๋ง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง ชิว ซูหลุน แปล สนพ.มติชน
หนังสือ ประวัติพระถังซัมจั๋ง ฉบับนายคงเหลียน สีบุญเรือง แปล     

 นสพ.รอยธรรม
ขอบคุณภาพจากinternetตามที่ระบุไว้แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น