วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

นึกเรื่องเก่า เล่าความหลัง กินของขม ชมเด็กสาว.๙..สนามหลวง


นึกเรื่องเก่า เล่าความหลัง กินของขม ชมเด็กสาว..
ก็แปลว่า ..เริ่มแก่แล้ว
สนามหลวง..Sanam Luang , Pramane Ground



ท้องสนามหลวง หรือสนามหลวงในยุคปัจจุบันเริ่มถูกลืมเลือนไปเรื่อยๆ ความทรงจำถึงท้องสนามหลวงเริ่มมีคนจำรายละเอียดได้น้อยลง จากท้องสนามหลวงที่เป็นสนามสารพัดประโยชน์ของชาติ มาถึงตอนนี้ก็กลับกลายมาเป็นท้องสนามหลวงที่ถูกจับใส่กรง คือถูกล้อมรั้วเสียรอบไปหมด ในความรู้สึกของข้าพเจ้าผู้เขียนนี้ พอมองท้องสนามหลวงของปัจจุบัน จะรู้สึกว่าสนามหลวงเปลี่ยนไปเป็นท้องสนามหลวงที่ไม่คุ้นเคย และยังไม่มีความประทับใจอีกด้วย เวลาที่ไปเดินเล่นที่ท้องสนามหลวงนั้น ความรู้สึกที่โล่งโปร่งอิสระเสรีเมื่อเดินอยู่หรือเดินผ่านท้องสนามหลวง มันได้หายไปโดยสิ้นเชิง หายไปพร้อมๆกับการมาของรั้วเหล็ก 

ตลาดนัดสนามหลวงมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้นรัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งตลาดนัดขึ้นในทุกจังหวัด สำหรับที่กรุงเทพฯนั้น ได้เลือกสนามหลวงเป็นสถานที่จัดตลาดนัด แต่เพียงไม่ถึงปีทางราชการก็ย้ายตลาดนัดให้ไปอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ ต่อมาได้ย้ายออกไปตั้งอยู่บริเวณสนามไชย และย้ายตลาดนัดกลับไปอยู่ที่สนามหลวงในปี พ.ศ. 2501

   ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ได้มีนโยบายใช้สนามหลวงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และจัดงานกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้มอบที่ดินย่านพหลโยธิน โดยการดำเนินการโดยนายเชาวน์วัศ สุดลาภา เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น จึงจัดที่ดินสวนจตุจักรด้านทิศใต้ให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ และกรุงเทพมหานครได้ปรับพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและขณะเดียวกันก็พยายามย้ายผู้ค้าจากสนามหลวงมาด้วย จนกระทั่งดำเนินการสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยใช้ชื่อว่าตลาดนัดย่านพหลโยธิน ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ตลาดนัดจตุจักร ให้สอดคล้องกับสวนสาธารณะจตุจักรในบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน

   ในที่สุด "ตลาดนัดสนามหลวง" ก็ได้ลาจากคนไทยไปในปีพ.ศ.2525  แต่ก็เกิดมี "ตลาดนัดจตุจักร" ขึ้นมารับภาระสืบทอดต่อจากสนามหลวง คนที่ไม่ทันได้เห็นบรรยากาศของตลาดนัดสนามหลวงนั้น ก็ประมาณว่าคล้ายๆกับตลาดนัดจตุจักร แต่ตลาดนัดสนามหลวงมีความเป็นวิถีไทยมากกว่าตลาดนัดจตุจักรอยู่มาก คนรุ่นเก่าอาจจะบอกด้วยซ้ำว่า จิตวิญญาณของตลาดนัดไทยๆนั้น ตลาดนัดสนามหลวงมีมากกว่าจตุจักรอย่างเทียบกันไม่ได้เลย





ท้องสนามหลวงในยุคต้นรัตนโกสินทร์เคยเป็นที่ทำนามาก่อนด้วย   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ไทยกับญวนมีเรื่องขัดแย้งกันเกี่ยวกับดินแดนเขมรถึงกับต้องรบกัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้มีการทำนาที่ท้องสนามหลวง เพื่อที่จะให้ญวนเห็นว่า เมืองไทยของเราอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร การเพาะปลูกสามารถทำได้ในทุกที่ แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทำนาที่ข้างๆพระบรมมหาราชวัง แสดงว่าเมืองไทยนี้อุดมสมบูรณ์ ถ้าจะต้องรบกับญวนเป็นเวลานานๆ เรื่องเสบียงของไทยจะไม่มีทางขาดแคลน

  ท้องสนามหลวงนี้เดิมเรียกกันว่า “ทุ่งพระเมรุ” เพราะใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีพระเมรุสำหรับพระราชวงศ์นั่นเอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่านามนี้ฟังแล้วไม่เป็นมงคล จึงพระราชทานนามเปลี่ยนเป็น “ท้องสนามหลวง”

   ทรงโปรดฯให้ประกาศว่า "ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนาน ๆ  มีครั้งหนึ่งแล เป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า "ทุ่งพระเมรุ" นั้น หาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า "ท้องสนามหลวง" ถ้าผู้ที่ยังมิได้รู้หมาย ประกาศนี้ หรือได้รู้แล้ว แต่หลงลืมไป ยังเรียกว่าทุ่งพระเมรุอยู่ตามเคย เรียกมา แต่ก่อน  ถ้ากรมพระตำรวจ หรือกรมพระนครบาล ผู้หนึ่งผู้ใด จับกุมผู้ที่เรียกพลั้ง เรียกผิดนั้น มาปรับไหมเอาเงินทอง ก็ให้ผู้ต้องจับนั้น มาร้องฟ้องตามกระทรวง ถ้าชำระได้ความจริง โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ไหมผู้จับทวีคูณ ให้แก่ผู้ต้องจับนั้น"

ภาพจาก teakdoor.com
   ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิกไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดฯให้รื้อกำแพงป้อมปราการที่ไม่สำคัญทางทิศตะวันออกของวังหน้าลง เป็นการขยายพื้นที่ของท้องสนามหลวงออกไป ท้องสนามหลวงจึงได้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเท่า นอกจากนี้ยังโปรดฯให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบท้องสนามหลวง เพื่อให้เป็นร่มเงาบังแดดแก่ประชาชน

วังหน้า ภาพจาก teakdoor.com

ภาพจาก ย้อนอดีต..วันวาน (พระเมรุ๕ยอด เจ้าฟ้า๕พระองค์ มีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุฏภัณฑ์)

   ท้องสนามหลวงเป็นที่จัดงานพระราชพิธีและงานต่างๆ แรกๆนั้น ทั้งยังเป็นสถานที่นิยมเล่นกีฬาว่าวกันมาก แต่การเล่นว่าวก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุไปถึงข้างในพระบรมมหาราชวัง โดยสายป่านว่าวไปเกี่ยวถูกยอดปราสาทบ้างหลังคาวังบ้าง จนกระทั่งต้องมีประกาศครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งประกาศ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ (พ.ศ.๒๓๙๘ , ร.ศ.๗๔)ใจความว่า

     "พระยาเพ็ชปาณี รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้นายอำเภอป่าวร้องประกาศข้าราชการ และราษฎร ที่เป็นนักเลงเล่นว่าว เอาว่าวขึ้น ก็ให้เล่นแต่ตามท้องสนามหลวง แถบที่ว่างเปล่า ไม่ห้ามปรามดอก ให้เล่นเถิด แต่อย่าให้สายป่านว่าวไปถูกเกี่ยวข้องพระมหาปราสาท พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ ช่อฟ้าใบระกา พระมหามณเทียร พระที่นั่ง ในพระบรมมหาราชวัง  พระบวรมหาราชวัง แลช่อฟ้าใบระกา วัดวาอาราม ให้หักพังได้ ถ้าผู้ใดชักว่าวไม่ระวัง ให้สายป่านพาดไปถูกต้องของหลวง แลวัดวาอาราม ให้หักพังยับเยินสืบไป จะเอาตัวเจ้าของว่าวเป็นโทษตามรับสั่ง"

   จากการเกรงว่าสายป่านว่าวอาจไปเกี่ยวโดนสิ่งปลูกสร้างในพระบรมมหาราชวัง  แล้วจะต้องเป็นโทษ การเล่นว่าว จึงได้ย้ายมาเล่นที่บริเวณแถบที่เป็นลานประหารในสมัยนั้น (ปัจจุบันคือแถบวัดพลับพลาไชย) ที่ตรงนี้เรียกกันว่า "สนามฆ่าคน" เพราะเป็นที่ประหารนักโทษนั่นเอง ส่วนบรรดาเจ้านาย และข้าราชการยังคงเล่นกีฬาว่าวที่ท้องสนามหลวงตามเดิม

ภาพจาก teakdoor.com
     เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ คราวฉลองพระนครครบรอบ ๑๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๒๕ (จุลศักราช ๑๒๔๔) ได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นที่ตั้งกระบวนแห่พยุหยาตรา มีทั้งกระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนพลเดินเท้า รอบๆท้องสนามหลวงมีการปลูกโรงทาน สำหรับเลี้ยงพระและเลี้ยงไพร่ตลอดงาน นอกจากนั้นยังจัดให้มี "นาเชนนัล  เอ๊กซฮิบิเซน" คือ การแสดงสินค้าที่ผลิตได้ในเมืองไทย ให้ราษฎรได้ชมเป็นเวลาถึง ๓ เดือนอีกด้วย

      ปีพ.ศ. ๒๔๔๐ (จุลศักราช๑๒๕๙ , ร.ศ. ๑๑๖พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจาอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก เหล่าข้าราชการประชาชนมาเฝ้าถวายความจงรักภักดีรับเสด็จ ณ บริเวณท้องสนามหลวงหลายครั้ง เช่นนักเรียนในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ข้าราชการจีนและพ่อค้าจีนเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ข้าราชการในพระองค์เข้าเฝ้า เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พวกสตรีสโมสรเฝ้า เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ และสมาชิก เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จำพวกนอกพระบรมมหาราชวังเฝ้า เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพนธ์  เป็นต้น

   านรับเสด็จที่จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงนั้นเป็นที่สนุกสนานมาก มีการตบแต่งท้องสนามหลวงให้เป็นบ้านเมือง และเป็นป่า เพื่อเล่นโขนกลางแปลง 

   ปีพ.ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้จัดงานรับเสด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่ทรงศึกษาวิชาการทหารอยู่ ณ ประเทศรัสเซีย เสด็จกลับประเทศไทยชั่วคราว โดยจัดเป็นงานบุปผาชาติมีการแต่งแฟนซี และตกแต่งรถจักรยานสองล้อด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ แล้วขว้างปากันด้วยกระดาษลูกปา กระดาษสายรุ้ง ซึ่งนับว่าทันสมัยในขณะนั้นมาก

ภาพจาก teakdoor.com

   ท้องสนามหลวงยังเคยเป็นสนามแข่งม้า และ สนามกอล์ฟ อีกด้วย โดยข้าราชการทุกระทรวงทบวงกรม ต่างก็พร้อมใจกันจัดให้มีงานฉลองน้อมเกล้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จกลับจากการประพาสยุโรปครั้งแรก ในครั้งนั้นชาวสโมสรน้ำเค็ม (คือสโมสร เจ้านาย ข้าราชการ และผู้ที่เคยไปศึกษา หรือเคยเดินทางไปต่างประเทศมาแล้ว) มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ทรงเป็นประธาน เจ้าหมื่นสรรเพ็ชภักดี บุตรชายคนโตของเจ้าพระยามหินทร์ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง  บุนนาค)  นักเรียนอังกฤษ บุตรชายคนโตของเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ หลวงจำนงค์ (พระยาพิพัฒน์โกษา) และเจ้าคุณประดิพัทธภูบาล เมื่อตอนเป็นหลวงสุนทรโกษา ประชุมลงความเห็นว่า ให้จัดการแข่งม้าถวายทอดพระเนตร โดยใช้สนามหลวง เป็นสนามแข่งม้าชั่วคราว

  การเล่นกอล์ฟนั้นก็เริ่มต้นที่ท้องสนามหลวงเหมือนกัน เพราะสมัยนั้นมีสนามขนาดใหญ่อยู่ใกล้กัน เพียง ๓ สนามเท่านั้น คือ ท้องสนามหลวง สนามสถิตย์ยุติธรรม และสนามไชย เจ้าพระยามหินทร์ โดยเล่นกอล์ฟไปจนครบทั้ง ๓ สนาม จะได้สนามกอล์ฟ ๙ หลุม 

  เมื่อปีพ.ศ.๒๔๔๖ (ร.ศ. ๑๒๒) ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา ก็ได้โปรดฯให้มี พระราชกุศลนักขัตฤกษ์ เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษา ณ บริเวณท้องสนามหลวง  โดยพระองค์และมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ พลับพลา ให้ประชาชนเข้าเฝ้าถวายพระพร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน

ภาพจาก teakdoor.com ท้องสนามหลวงสมัยรัชกาลที่ ๖

   ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลย์สงครามนั้น จอมพล ป. เห็นว่าประเทศไทยควรแสดงความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น ตามแบบอารยประเทศในยุโรปและสหรัฐ  จอมพล ป. จึงอนุญาตให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ ให้ใช้เป็นสถานที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลได้ ตามแบบที่ต่างประเทศเรียกว่า 'ไฮด์ปาร์ก' จอมพล ป. ได้ออกจดหมายลงวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๘ สั่งการไปยังว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้จัดสถานที่สำหรับไฮด์ปาร์กในจังหวัด 

   ส่วนที่กรุงเทพฯก็ให้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่เปิดไฮด์ปาร์ก การเปิดไฮด์ปาร์กที่ท้องสนามหลวงครั้งแรกมีขึ้นในวันเสาร์ที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๘ โดย นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ และ นายแคล้ว นรปติ เป็นผู้เปิดไฮด์ปาร์ก และสนามหลวงก็เป็นสนามวิจารณ์การเมืองตลอดมา

   การแสดงออกทางด้านการเมืองที่ท้องสนามหลวง ได้ผ่านมาทั้งรอยยิ้มและน้ำตา ในบางครั้งก็ผสมคราบโลหิต 

วันเวลาผ่านไป ท้องสนามหลวงก็ยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวไทย สำหรับคนรุ่นผู้เขียนนั้นมักเรียกท้องสนามหลวงกันอย่างสั้นๆว่า “หนามหลวง” หรือ “สนามหลวง” จะไม่ค่อยเรียกเต็มยศว่า “ท้องสนามหลวง”

ภาพจาก teakdoor.com สนามหลวงวันที่มีตลาดนัด

   ในวัดหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ท้องสนามหลวงจะมีตลาดนัดใหญ่ จะมีคนหลั่งไหลกันไปเที่ยวที่สนามหลวงกันมาก มีคนทุกระดับทุกอาชีพ ต่างพากันเดินเล่นบ้างเดินซื้อของบ้าง เด็กกรุงเทพฯนั้นถ้ามาเที่ยวที่สนามหลวงแล้วต้องไปเช่ารถจักรยานมาขี่เล่นกันเป็นที่สนุกสนาน ผู้เขียนขี่จักรยานเป็นก็ที่สนามหลวงนี้ แถมยังทุลักทุเลล้มลุกคลุกคลาน จนแข้งขามือไม้ถลอกปอกเปิกไปหมด ถ้าจะเรียกว่าเด็กกรุงเทพฯขี่จักรยานเป็นก็เพราะสนามหลวง ก็คงไม่ผิด




ภาพจาก teakdoor.com 

   กีฬาว่าวนี่ก็ผูกขาดกันที่สนามหลวงมาตั้งแต่ยุคก่อนๆแล้ว เพราะเป็นท้องสนามหลวงเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียว ที่เป็นพื้นที่โล่งกว้างมีลมแรง จึงเหมาะกับการเล่นว่าวเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่สนามหลวงก็เป็นที่เล่นว่าวกันอยู่แล้ว ผู้เขียนยังทันได้เห็นเขาแข่งว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า เวลาที่เขาแข่งกันนั้นราวกับทำสงครามกัน ว่าวจุฬาต้องเล่นกันเป็นทีม ต้องมีคนหนึ่งเอาตะกร้าต่อสายคล้องคอ เพื่อเอาไว้ใส่ม้วนเชือกว่าว  ส่วนคนชักว่าวก็ชักไปอย่างเดียว ฝ่ายว่าวจุฬานั้น ถ้าเป็นว่าวจุฬาที่มีขนาดใหญ่มากๆจะมีคนวิ่งตามกันเป็นพรวน แถมฝ่ายว่าวจุฬายังต้องมีคนคอยแบกม้านั่งยาวๆวิ่งไปเพื่อใช้คร่อมเชือกด้วย ทำนองว่าใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงคล้ายๆลูกรอก เวลาสาวว่าวจุฬานี้ใช้มือสาวสายป่านซึ่งใหญ่ขนาดเชือกนั้น ต้องใช้วิธีดึงเชือกวิ่งกันเลยทีเดียว ว่าวจุฬานั้นจะมีขนาดใหญ่มากส่วนฝ่ายว่าวปั๊กเป้านั้นตัวเล็กกว่าว่าวจุฬามาก แต่ลีลาของว่าวปั๊กเป้าจะผาดโผนรวดเร็วฉวัดเฉวียน

   ว่าวที่เด็กๆชอบและรบเร้าให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อ ไม่มีอะไรเกินไปกว่าว่าวงู เด็กๆจะชอบที่มีสีฉูดฉาดและยังมีหางยาวๆด้วย เวลาว่าวงูของตัวเองกินลมลอยขึ้นท้องฟ้าแล้ว เด็กๆจะหัวเราะมีความสุขมาก พวกที่ชอบผาดโผนหน่อยก็ต้องเลือกซื้อว่าวปั๊กเป้า ต้องเลือกว่าวตัวที่มีภาพเขียนสวยๆด้วย ผู้เขียนเองก็ยังจำความรู้สึกดีๆในสมัยนั้นได้ โดนสายป่านเล่นว่าวบาดนิ้วมือครั้งแรกก็ที่สนามหลวงนี่เอง

   ผู้เขียนยังทันเห็นว่าวไทยแปลกๆที่น่าทึ่ง ว่าวบางแบบนั้นเวลาชักได้ลมดีๆ จะมีเสียงดังแกรกๆ (เรียกว่าวแกรก) บางแบบก็ดังดึ๋งๆดุ่ยๆ (เรียกว่าวดุ๊ยดุ่ย)ซึ่งสมัยนี้ไม่เห็นมีแล้ว



ภาพจาก teakdoor.com

  ทางเดินรอบๆสนามหลวงจะเรียงรายไปด้วยสินค้านาๆชนิด ถัดเข้าไปด้านในของสนามหลวงก็มีร้านรวงอีกมากมาย โดยเฉพาะร้านอาหารมีอาหารสารพัดชนิด ราคาถูกมากๆและอร่อยดีด้วย ร้านอาหารภายในท้องสนามหลวงมีมากมายหลายร้าน มีอาหารขายทุกชนิดทั้งไทยจีนแขกฝรั่ง เครื่องดื่มมีทั้งแบบร้อนและเย็น ขนมก็มีมากมายซื้อกันเพลิน ขนมหลายชนิดในยุคปัจจุบันก็แทบไม่เห็นหรือไม่รู้จักกันแล้ว 

   ข้าวหมูแดงที่สนามหลวงนั้นจะดังมาก มีอยู่หลายเจ้า จานที่ใส่ข้าวก็ไม่ธรรมดา จะเป็นจานเปลแบบจานกระเบื้อง ซึ่งสมัยนี้ไม่เห็นจานแบบนี้มานานมากแล้ว ทุกร้านจะมีต้นหอมล้างสะอาดๆเสียบไว้ในถ้วยแก้วให้หยิบเพิ่มกันเองแบบไม่อั้น หมูแดงก็เป็นหมูย่างมาจริงๆ ไม่ใช่เนื้อหมูต้มแบบที่เจอกันในข้าวหมูแดงส่วนใหญ่ของยุคนี้ น้ำราดหน้าข้าวหมูแดงก็เป็นสูตรดั้งเดิมที่มีรสครบทั้งหวานเค็มเปรี้ยวนิดๆ ไม่ใช่น้ำราดข้าวหมูแดงแบบซองสำเร็จรูป




ภาพจาก teakdoor.com

   ข้าวแกงที่มีขายในสมัยนั้นเป็นข้าวแกงที่เป็นแกงชนิดต่างๆแบบแกงของจริง ไม่ใช่เป็นข้าวแกงแบบกลายพันธุ์เช่นในปัจจุบันนี้ แกงเผ็ดแกงเขียวหวานก็เป็นแกงขนาดแท้ ทั้งหอมพริกแกงทั้งข้นรสจัดจ้าน ไม่ใช่แกงแบบสมัยนี้ที่พอกินแกงเผ็ดแล้วนึกว่ากินแกงเชื่อมหวานๆ แกงแพนงเนื้อหรือหมูก็ข้นขลุกขลิกจนเหมือนน้ำหมูสะเต๊ะกันเลย ไม่ใช่แกงแพนงที่น้ำใสจ๋อง ขนมจีนน้ำยานี้ยิ่งเป็นแบบดั้งเดิมที่น้ำยาจะข้นคลั่ก ผักที่มีใส่ก็มีมากจนขยับช้อนแล้วต้องตกหล่นจากจานกันเลย พริกขี้หนูแห้งก็ทั้งหอมทั้งเผ็ดถึงใจ

   อาหารทอดปิ้งย่างก็ปิ้งย่างกันควันโขมงเห็นๆ มีทั้งเสียบไม้และใส่กระทงใส่ถุงกระดาษ อาหารชนิดนี้จะมีกลิ่นล่อใจให้ซื้อได้อย่างชะงัด เพราะกลิ่นหอมลอยไปไกล



           


   นอกจากร้านอาหารแล้วยังมีพ่อค้าแม่ค้าแบบหาบเร่อีกมาก แบบนี้มักจะหาบไปขายบริเวณด้านในของท้องสนามหลวง ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นครอบครัวที่มานั่งพักดูลูกๆขี่จักรยานหรือเล่นว่าว พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่จะหาบของไปขายให้ถึงบริเวณที่นั่งกันเลย ซึ่งลูกค้าก็จะเช่าเสื่อปูพื้นรองนั่งรอพ่อค้าแม่ค้าอยู่แล้ว ของที่หาบมาขายในสมัยนั้น พอมาถึงยุคนี้ก็หายไปหลายอย่างแล้ว

   หาบเร่สนามหลวงในยุคนั้นเท่าที่จำได้ก็จะมี หาบข้าวแกงที่ผู้เขียนนี้ได้รับประทานผัดเผ็ดปลากระเบนเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งขอบอกว่าโคตะระอร่อยมากๆ รับประทานผัดเผ็ดปลาดุกที่พอนึกถึงแล้วแทบน้ำตาร่วงเพราะหาที่อร่อยแบบสมัยนั้นไม่เจอแล้ว มีหาบขนมจีนน้ำยาที่ลูกค้ามักเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีน้ำยาปลา ไก่ ปู บางเจ้ามีน้ำยาปลาร้าด้วย แปลกแต่จริงที่ผู้หญิงมักเลือกรับประทานขนมจีน แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังสังเกตเห็นเป็นเช่นนี้อยู่

   ที่คุณผู้หญิงชอบอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมี่ยงคำ ซึ่งเวลารับประทานต้องประดิษฐ์ประดอยกันสักหน่อย จำได้ว่าผู้เขียนหัดรับประทานเมี่ยงคำครั้งแรกนั้น เครื่องเมี่ยงคำที่ใส่ไว้ถึงกับกระจายเกลื่อน เพราะห่อเมี่ยงคำไม่เป็น เมี่ยงคำที่ท้องสนามหลวงจะหอมมะพร้าวคั่วมาก และไม่มีของค้างคืนเลยเพราะขายหมดทุกวัน

   หาบขายหมูสะเต๊ะเนื้อสะเต๊ะก็มี แต่ต้องใจเย็นรอนานสักหน่อย เพราะปิ้งได้ทีละนิดเดียวเท่านั้น หมูสะเต๊ะมีหลายเจ้ามากกว่าเนื้อสะเต๊ะ เฉพาะบริเวณหาบขายเนื้อสะเต๊ะ มักจะมีหาบขายบาเยียอยู่ใกล้ๆด้วย ผู้เขียนรับประทานเนื้อสะเต๊ะครั้งแรกก็ตรงหาบตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ขนมจีน

หมูสะเต๊ะ
ภาพจาก teakdoor.com แม่ค้าขายเมี่ยงคำ

   กล้วยปิ้งกล้วยทับที่หาบขายกันในท้องสนามหลวงจะมีมาก เพราะเป็นของกินง่ายๆที่น่าจะทำขายง่ายที่สุดแล้ว แต่ความจริงการปิ้งกล้วยนี้มีเทคนิคเฉพาะตัวแบบเคล็ดลับของใครของมัน กล้วยปิ้งจะเหลืองสุกหอมๆ กล้วยทับก็มีความลับที่น้ำเชื่อม ซึ่งใส่ไว้ในหม้อใบเล็กๆ แล้วเอากล้วยที่ทับให้แบนแล้วจุ่มลงไปในน้ำเชื่อม น้ำเชื่อมนี้หอมอร่อยมากๆ อร่อยแบบสูตรใครสูตรมัน รสชาติทั้งหวาน เค็ม หอม เจ้าที่ขายกล้วยปิ้งมักมีมันสำปะหลังปิ้งชุบน้ำเชื่อมขายด้วย หาบของกินที่คล้ายๆกันจะเป็นพวกมันเทศต้มถั่วต้ม มันเทศนี้เวลารับประทานจะจิ้มน้ำตาลทราย

   พวกข้าวเหนียวปิ้งที่ท้องสนามหลวงในยุคนั้นอันใหญ่เบ้อเร้อ ใหญ่ขนาดรับประทานห่อเดียวอิ่ม ข้าวเหนียวมีไส้กล้วยไส้เผือกที่ให้เยอะมาก ของกินประเภทคล้ายๆกันจะเป็นข้าวต้มมัดหรือบางทีเรียกข้าวต้มผัด(เรียกอย่างนี้จริงๆ)


แม่ค้าขายข้าวเหนียวปิ้ง
   หาบขนมไทยที่มีลักษณะแปลกกว่าใครเขา จะเป็นหาบขายขนมถ้วยฟู ขนมตาล ขนมน้ำดอกไม้ ขนมถั่วแปบ ขนมลูกชุบ อ้อยขวั้น ที่ว่าแปลกกว่าใครก็คือ แทนที่จะเป็นหาบแบบมีกระจาดใส่ของ ก็กลับเอาตู้กระจกใบย่อมๆมาใช้แทนกระจาด แล้วเรียงขนมไว้ในตู้กระจกให้สวยงาม เมื่อเป็นเช่นนี้ขนมจึงดูสะอาดปลอดภัยมาก เพราะไม่โดนลมโดนฝุ่น

ภาพจาก teakdoor.com อ้อยขวั้น

   พวกอาหารหาบเร่แบบจีนๆก็มี หาบขายตือฮวน มีของหารับประทานยากด้วยคือตือฮวนไส้ข้าวเหนียว ซึ่งในปัจจุบันเป็นอาหารโต๊ะจีน มีหาบขายกูช่ายทอด ขายเผือกทอด มันทอด หาบขายป่อเปี๊ยะ หาบขายขนมหัวผักกาดที่ต้องมีผัดไทยขายด้วยเสมอ มีหาบขายไช้เท้าก็วย และที่ปัจจุบันหายไปเลยก็คือหาบขายขนมไช้ก้วย 

   ขนมไช้ก้วยนี้ผู้เขียนเห็นครั้งสุดท้ายแถวๆคลองถม ก็นานราวๆสามสิบกว่าปีแล้ว และไม่เคยเห็นอีกเลย ส่วนประกอบจะคล้ายๆขนมกูช่ายหรือกุ๊ยช่าย แต่ขนมไช้ก้วยนี้จะต้องนึ่งร้อนๆรับประทานกันเดี๋ยวนั้น รูปร่างจะเป็นแบบคล้ายๆจันทร์เสี้ยวหรือชิ้นแตงโมที่ผ่า ตอนจะหยิบจากหม้อนึ่งก็หยิบแบบขนมจีนคือหยิบเป็นชิ้นซ้อนๆกัน พอใส่กระทงแล้วก็เอาแผ่นทองเหลืองมาตัดไช้ก้วยเป็นแถวๆ แล้วใส่กระเทียมเจียวหอมๆใส่ซีอิ๊วดำ มีพริกขี้หนูตำดองด้วยน้ำส้มสายชูเป็นเครื่องปรุง ขนมไช้ก้วยในปัจจุบันไม่ทราบว่าหายไปไหนหมด ขนาดจะหารูปมาลงประกอบก็ยังหาไม่ได้เลย

   หาบขนมแบบจีนที่เห็นในท้องสนามหลวงที่จำได้อีกอย่างคือหาบขายเต้าส่วน หาบแบบนี้จะขายเต้าส่วน ข้าวเหนียวดำ และลูกเดือยต้ม หาบแบบนี้ต้องทำมาเฉพาะเท่านั้น จะไม่เหมือนหาบแบบอื่น เพราะต้องแบ่งหม้อออกเป็นช่อง ๓ ช่อง เพื่อแยกใส่ขนมนั่นเอง หาบขนมแบบนี้มีคนมาขายน้อยเพราะหนัก เนื่องจากต้องมีชามกระเบื้องใส่ในหาบ คือในยุคนั้นชามพลาสติคยังไม่แพร่หลาย หาบขายของกินแบบจีนที่มีน้อยอีกก็คือหาบก๋วยเตี๋ยวแคะ หาบเต๋าฮวย เพราะต้องมีชามมีเตามีถ่านมาด้วย แต่หาบเต๋าฮวยในยุคนั้นก็กลายเป็นรถเข็นกันไปบ้างแล้ว


อาแป๊ะขายตือฮวน

อาเจ่กขายเต้าหู้ทอด

   น้ำดื่มในยุคนั้นส่วนมากจะยังต้องใส่ถ้วยแก้ว และยืนดื่มกันหน้าร้าน เพราะต้องคืนถ้วยแก้วให้คนขาย ส่วนมากเป็นพวกน้ำลำใย น้ำบ๊วย น้ำมะนาว โดยจะใส่รวมกับน้ำแข็งไว้ให้โหลแก้ว ร้านที่ใช้แก้วแบบใช้แล้วทิ้งนั้นมีน้อย แบบนี้จะใช้เป็นถ้วยกระดาษเคลือบขี้ผึ้ง หลอดพลาสติกแรกๆยังไม่มี จะใช้หลอดกระดาษเคลือบขี้ผึ้งเช่นกัน ที่จะพบทั่วไปในท้องสนามหลวงจะเป็นหาบขายน้ำตาลสด ผู้เขียนชอบดูเวลาแม่ค้าตักน้ำตาลสดใส่แก้ว คือชอบที่กระบวยตักน้ำตาลสดนี้จะเล็กกระจุ๋มกระจิ๋ม



ภาพจาก ย้อนอดีตวันวาน

    สนามหลวงยังมีของแปลกๆให้ดูเช่น การแสดงพังพอนกัดกับงูเห่า ซึ่งพังพอนจะต้องเป็นฝ่ายชนะอยู่เสมอ แต่กว่าที่พังพอนงูเห่าจะสู้กันนั้น คนดูต้องนั่งฟังยืนฟังโฆษณาขายของจากหัวหน้าคณะอยู่นานหลายรอบ โดยจะขายว่านกันงู ขายยาแบบยาผีบอก ขายพระเครื่อง

   โชว์ยอดฮิตที่สนามหลวงอีกอย่างก็คือ “ปาหี่อับดุล” เป็นการแสดงปาหี่ขายของ โดยมีการเรียกวิญญาณมาตามหาของหายและตอบปัญหาข้อขัดข้องของคนดู ซึ่งก็คือหน้าม้าของคณะนั่นเอง วงปาหี่แต่ละเจ้านั้นเรียกวิญญาณมาเข้าร่างทรงทีไร วิญญาณนั้นเป็นต้องชื่อ “อับดุล” ทุกที  

   การแสดงปาหี่จะมีกลองล่อโก๊ะกับผ่างเป็นเครื่องดนตรีหลัก เวลาจะเข้าทรงอับดุลก็ให้มีคนนอนเอาผ้าคลุม พอเจ้าอับดุลมาเข้าร่างก็กระดุกกระดิก แล้วสะดุ้งขึ้นมานั่งคลุมโปง คนที่ดูก็ยังอุตส่าห์มีคนเชื่อด้วย จะถามอะไรเจ้าอับดุลมันตอบได้หมด หยิบอะไรมาถามมันตอบได้ทุกที เพราะเจ้าอับดุลมันดูโพยที่จดเตี๊ยมกันไว้อยู่ในผ้าคลุมโปงนั่นเอง ถามอับดุลไปสักพักก็ขายของขายยาวิเศษสลับฉากกันไป

   ที่สนามหลวงยังมีการแสดงประเภทแสดงฤทธิ์คาถาอาคมของขลังด้วย แต่ที่จริงก็เป็นปาหี่อยู่นั่นเอง การแสดงความขลังจะต้องมีการขายว่านยากันงู ขายยาฆ่ารำมะนาด ขายเครื่องรางของขลัง แล้วก็แสดงฤทธิ์ซึ่งก็เป็นการเล่นกลตบตา ที่ผู้เขียนชอบดูอีกอย่างก็คือ การแสดงฤทธิ์ของลิงลม โดยมีลิงลมที่เป็นลิงตัวจริง และลิงลมที่เป็นคนของขึ้น คือขึ้นเป็นลิงลมร้องเจี๊ยกๆ เต้นหย่องๆแหยงๆ คนของขึ้นเป็นลิงลมของบางเจ้านั้น ถึงกับหกคะเมนตีลังกาอีกด้วย ดูแล้วสนุกตื่นเต้นดีพิลึก


โชว์งูก่อนให้ดูพังพอน
ปาหี่อับดุล

   สินค้าที่มีขายในท้องสนามหลวงจะมาจากทั่วทุกสารทิศ ของกินของใช้เสื้อผ้าของเล่นมีครบทุกชนิด ใครที่มาสนามหลวงแล้วเป็นต้องควักกระเป๋าซื้อของกันทุกคน ยุคนั้นถุงก๊อบแก๊บยังไม่มีใช้ ซื้ออะไรก็ต้องใช้มัดเชือกหิ้วบ้าง ยังมีการใส่ชะลอมบ้าง หรือใส่ถุงกระดาษ ถุงพลาสติกนี้มาช่วงปลายๆของท้องสนามหลวงแล้ว

   เวลาที่ไปซื้อของที่สนามหลวง คนซื้อจะรู้ว่าของที่จะซื้อนั้นอยู่ตรงมุมไหนของสนามหลวง พอเดินๆไปก็จะจำร้านรวงต่างๆได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะร้านขายของจะอยู่ที่เดิม จะแต่งหน้าร้านแบบเดิมๆ เดินไปถึงร้านไหนก็จะรู้เองว่าร้านต่อๆไปเป็นร้านขายอะไร คล้ายๆแบ่งเป็นโซนขายของ แต่ที่แบ่งโซนชัดเจนจะเป็นสนามหลวงด้านใน ที่มีร้านขายอาหาร ขายกับข้าว ขายเครื่องโลหะศิลปหัตถกรรมต่างๆ ขายของเก่า และตลาดแบบตลาดสด สิ้นค้าเกษตรกรรมนี้จะมีมาจากทุกภาค 







   ถ้าเป็นวันอาทิตย์ตลาดนัดที่ท้องสนามหลวงจะขายกันไปจนเย็น พอโพล้เพล้ก็เก็บของกัน แต่ยังไม่จบแค่นั้นเพราะทางด้านตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยังคึกคักอยู่ สาเหตุเพราะมีโคโยตี้มาเต้นโชว์ จะมีคนมาดูมาดื่มเหล้าเบียร์กัน ของกินยอดฮิตของช่วงนี้จะเป็นพวกข้าวเหนียว ส้มตำ ไก้ย่าง หมูสะเต๊ะ เนื้อสะเต๊ะ

   โคโยตี้ของท้องสนามหลวงก็ประมาณว่ายกพื้นปลูกเวทีขึ้นมาชั่วคราว มีวงดนตรีมีนักร้องพร้อมโคโยตี้ ซึ่งก็คือสาวๆหางเครื่องนั่นเอง แต่ละร้านจะแสดงประชันกันสุดเหวี่ยง พวกขี้เมาก็จะมาดิ้กันตรงที่หน้าเวทีนั่นเอง และมักจะมีเรื่องชกต่อยกันก็ตรงนี้ ดังนั้นตรงบริเวณนี้จึงมักมีสารวัตรทหารมาเดินตรวจตราระวังเหตุร้าย



โคโยตี้

   งานพระราชพิธีที่สำคัญและต้องจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงตลอดมาคือ พระราชพิธีแรกนาขวัญ จะมีเกษตรกรจากทั่วประเทศตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่ามาร่วมงาน ทุกคนตั้งความหวังไว้ว่า อยากจะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวของหลวงที่โปรยหว่าน โดยจะพากันเก็บเอาไปเป็นศิริมงคล

   งานใหญ่ในดวงใจคนไทยที่จัดชึ้นที่ท้องสนามหลวงก็คืองานเฉลิมพระชนมพรรษา ที่เรียกกันว่างานวันพ่อ และงานวันแม่ ในครั้งแรกที่จัดกันใหญ่โตมากๆใหญ่สุดๆ ก็เริ่มมีมาตั้งแต่ผู้เขียนนี้ยังเรียนหนังสืออยู่ ผู้เขียนและเพื่อนๆจะเที่ยวดูหนังกลางแปลงที่มีให้ดูเป็นร้อยๆจอ ดูการแสดงการละเล่นต่างๆ ดูดอกไม้ไฟ

ภาพจาก horonumber.com พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ภาพจาก topicstock.pantip.com แรกนาขวัญสมัยก่อน


ภาพจาก chiangmainews แรกนาขวัญยุคปัจจุบัน
ภาพจาก www.maneger.co.th

   บริเวณฝั่งตรงข้ามกับสนามหลวงก็มีฝั่งศาลยุติธรรม ศาลแม่พระธรณี บริเวณนี้ก็มีของขายด้วย โดยเฉพาะฝั่งศาลหรืออนุสาวรีย์แม่พระธรณี จะเป็นแหล่งรวมหนังสือเก่าหนังสือมือสอง มีร้านขายหนังสือเป็นซุ้มเรียงกัน หนังสือมีทั้งของไทยและต่างประเทศ มีแบบเรียนมือสองราคาถูกมาก ผู้เขียนเองยังเคยไปซื้อแบบเรียนมือสองที่นี่หลายครั้ง

   ร้านหนังสือที่นี่จะเรียกกันว่าแผงหนังสือ โดยมีหมายเลขแผงเป็นจุดสังเกต ซึ่งก็กลายเป็นชื่อร้านไปโดยปริยายแต่ละแผงจะมีแฟนคลับมีลูกค้าประจำ หนังสือที่วางขายก็จะขายแยกประเภทกันไปเช่น หนังสือกำลังภายใน หนังสือนวนิยายไทย หนังสือตำราทางช่าง ตำราโหราศาสตร์ไสยศาสตร์วรรณคดี หนังสือการ์ตูนทั้งไทยและต่างประเทศ จะมีร้านหนึ่งอยู่ด้านหน้าที่จัดร้านแบบไม่จัด จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของร้านนี้ คือจะเอาหนังสือวางซ้อนกันเป็นตั้งๆ ถ้าเป็นเรื่องยาวหลายเล่ม ก็จะมัดรวมชุดไว้ให้ คนที่ซื้อหนังสือร้านนี้ต้องคุ้ยหาหนังสือกันเอง

   ผู้เขียนนี้ยังจำได้ว่าแผงประจำที่ไปซื้อบ่อยๆจะเรียกว่าแผงยี่โกว หมายเลขประจำร้านชักจำไม่ได้ว่า เป็นเบอร์ ๑๓ หรือ ๑๙ แผงยี่โกวนี้เจ้าของร้านเป็นผู้หญิงรูปร่างเล็กๆเพรียวๆคุยเก่งอัธยาศัยดี ค่อนข้างสวยและเปรี้ยวๆ แต่งตัวหวือหวา(สำหรับยุคนั้น) ซึ่งสมัยนั้นไม่ค่อยมีผู้หญิงลักษณะนี้มากนัก ผู้เขียนจะไปซื้อหนังสือตำราทางช่างที่ร้านนี้ และยังบังเอิญว่าท่ารถเมล์สายที่ต้องนั่งไปเรียนนั้น ต้นสายอยู่ตรงบริเวณนี้พอดี จึงมีความคุ้นเคยกับยี่โกวคนสวยพอสมควร

   ที่แผงหนังสือสนามหลวง จะมีหนังสือประเภทอีโรติคหรือหนังสือภาพโป๊แอบขายด้วย มีทั้งของไทยและต่างประเทศเช่นกัน หนังสือ Playboy และ Oui magazine ได้เคยเห็นครั้งแรกก็ที่นี่เอง คือเห็นผู้ใหญ่เขาซื้อแล้วกางหนังสือให้ดู ตอนแรกเล่นเอาสะดุ้งเพราะไม่เคยเห็นหนังสือประเภทนี้ 

หนังสือปกขาวในอดีต

หนังสือปกขาวอีกเล่ม เก่าเชียววุ๊ย

     หนังสืออิโรติกที่เป็นตำนานของแผงหนังสือสนามหลวงก็คือ "หนังสือปกขาว" หนังสือแบบนี้จะแอบวางขายบ้าง วางโชว์แบบเปิดเผยบ้าง จะมีหนุ่มๆไปอุดหนุนกันที่หลังร้านเป็นส่วนใหญ่ แผงที่ขายหนังสือปกขาวส่วนใหญ่จะเป็นแผงหนังสือด้านตรงข้ามคลองคูเมือง ซึ่งคนไทยมักเรียกผิดไปเป็นคลองหลอด แถวริมคลองจะเป็นแหล่งขายต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ส่วนมากจะลำเลียงต้นไม้มาทางเรือ

แผงหนังสือด้านอนุสาวรีย์แม่พระธรณี

ด้านตรงข้ามสนามหลวง

    บริเวณทางเท้าหรือฟุตบาทด้านตรงข้ามสนามหลวง จะมีแสตมป์วางขายกันหลายเจ้า นักสะสมแสตมป์จะมามุงดูเลือกซื้อแสตมป์ชุดที่ต้องการ ตรงนี้จัดว่าเป็นแหล่งซื้อขายแสตมป์สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยกันเลยทีเดียว

 ตรงถนนซึ่งคั่นระหว่างร้านขายหนังสือกับศาลยุติธรรมซึ่งที่นี่จะเป็นศาลฎีกาด้วย จะมีร้านขายข้าวหมูแดงราคาถูกอยู่ด้วยเป็นรถเข็น มีรถเข็นขายน้ำส้มคั้น มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ฮือฮามาก คือจะมีรถแบบรถเมล์ที่ทำเป็นร้านขายอาหารขายก๋วยเตี๋ยว ขายอยู่พักใหญ่แล้วก็เลิกไป

   บริเวณแผงหนังสือนี้เองที่มีห้องสุขาสาธารณะ เป็นห้องสุขาสาธารณะที่มีขนาดใหญ่แบบห้องน้ำรวม และที่ตรงนี้เองที่เป็นที่รู้กันว่า เป็นอาณาเขตของเกย์ในสมัยนั้น


นักเล่นแสตมป์

   ทางฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดไปจนถึงโรงละครแห่งชาติ และต่อไปทางวัดมหาธาตุต่อไปถึงกรมศิลปากร จะเป็นแหล่งขายพระเครื่อง ซึ่งออกจะดูไม่เรียบร้อยเพราะใส่พระไว้ในกาละมังวางขายกับพื้น จะมีผู้นิยมพระเครื่องวัตถุมงคลไปเลือกซื้อซึ่งเรียกว่าเช่าพระกันมาก แถบวัดมหาธาตุจะมีว่านต่างๆขาย ทางแถบนี้จะเป็นต้นทางของรถเมล์หลายสาย โดยจะมีป้ายจอดรถเมล์เรียงถัดกันไป



พระเครื่องปลอมหรือไม่ปลอมก็ไม่รู้ ส่องดูก่อน

     คนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯที่มีอายุตั้งแต่ห้าสิบกว่าๆขึ้นไปนั้น จะต้องมีความรู้สึกผูกพันกับท้องสนามหลวงที่เป็นตลาดนัด ท้องสนามหลวงที่เป็นแหล่งกิจกรรมของครอบครัวอย่างเรียบง่ายและมีความสุขตลอดมา งานหลวงงานราษฎร์ก็จัดกันที่ท้องสนามหลวง จะนัดหมายกันแล้วกลัวไม่รู้จักที่ ก็นัดกันที่สนามหลวง จะไปไหนๆกลัวหลงก็มาตั้งต้นกันที่สนามหลวง สมัยที่ผู้เขียนเรียนช่างกลนั้น...ก็นัดแฟนสาวพาณิชย์(สมัยนั้นยังไม่มีคำว่ากิ๊ก)ตรงสุดสายรถเมล์หัวมุมสนามหลวงนี่แหละ นับเป็นความหลังที่ตราไว้ในดวงจิตจริงๆ รอบๆสนามหลวงจึงเป็นสถานที่บันทึกอดีตความทรงจำของคนรุ่นอายุห้าสิบกว่าๆขึ้นไปทั้งนั้น ความสุข ความสนุก ความทุกข์ ความตื่นเต้น แม้กระทั่งเสี่ยงตาย ก็มีประวัติมีประสบการณ์ผูกพันธ์กันมา เรียกว่าสนามหลวงเต็มไปด้วยรอยอดีตที่มีทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความรัก ความเศร้า และน้ำตา 

   ต่อมาสนามหลวงก็ต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยตลาดนัดสนามหลวงถูกยกเลิกไปในปีพ.ศ.๒๕๒๕ วิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับสนามหลวงก็หายไป แต่สนามหลวงก็ยังดูเป็นอิสระเสรี โปร่งโล่งสบาย จนกระทั่งสนามหลวงถูกล้อมรั๊ว ดูเหมือนเอาสนามหลวงมาขังกรงอย่างไรชอบกล 

   สำหรับคนที่มีอายุห้าสิบกว่าปีขึ้นไปแล้ว สนามหลวงเปรียบเหมือนกับไทม์แมทชีน ที่พอเห็นหรือนึกถึงสนามหลวงเมื่อไร ความรักความหลังก็พรั่งพรูออกมาจากใจ เป็นความหลังที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ความรัก ความเศร้า ความสุข ที่ได้เคยผ่านมาและได้เคยเกี่ยวข้องกับท้องสนามหลวง...

    มุมๆหนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง ที่สนามหลวงนั้น ต้องเป็นที่ซึ่งหลายๆคนต้องเคยย้อนกลับไปยืนนิ่ง เพื่อระลึกถึงอดีตอันตราตรึง ซาบซึ้ง หรือโศกเศร้า และประทับใจ ของตัวเองอย่างแน่นอน....ข้าพเจ้าเองก็เช่นกัน
เห็นสนามหลวงอยู่ด้านหลัง
ด้านหัวมุมฝั่งพระบรมมหาราชวัง

ทางเข้าด้านหนึ่ง


ขายไก่ชนบางครั้งต้องแอบโชว์ตีไก่

ตอนเช้าๆที่สนามหลวง

น้ำตาลสดของแท้

ดูที่แก้วน้ำ เดี๋ยวนี้เป็นของสะสมไปแล้ว
แฟชั่นในสมัยนั้น
ดาราฝรั่ง มาร์ลอน แบรนโด ก็เคยมาเที่ยวสนามหลวง

นักศึกษาสาวสมัยนั้น

ตึกศาลยุติธรรมที่ตอนนี้รื้อไปแล้ว

ด้านในของสนามหลวง

รูปนี้ให้ความรู้สึกหลายอย่าง

มะตูมเชื่อม

ปลาตากแห้งชนิดต่างๆ

รวงผึ้งพร้อมน้ำผึ้งแท้ๆ

แถบนี้ขายสัตว์

มีดแบบนี้มีหลายเจ้า

ห้องสุขา

คุณยายยังนุ่งโจงกระเบนอยู่เลย

สนามหลวงด้านที่มีรถราง

ทางด้านริมคลอง

ด้านใกล้ศาลหลักเมือง เคยมีปั้มน้ำมันโมบิล แล้วเปลี่ยนเป็นปั็มสามทหาร

ด้านพิพิธภัณฑ์และอนุสาวรีย์ทหารอาสา

แหล่งขายต้นไม้ริมคลอง

ย่านเช่าจักรยาน
เห็นถุงกระดาษยอดฮิตแห่งยุคสมัย


ตลาดนัดสนามหลวงในความทรงจำ



 ข้อมูลจากความทรงจำ และขอขอบคุณข้อมูล ภาพ จากหลายเว็บไซต์เช่น Pantip.com , wikipedia , ย้อนอดีตวันวาน , Topicstock.com , Tripot.com , teakdoor.com
และขออภัยถ้าไม่ได้เอ่ยนามที่มาของภาพ เพราะหาต้นตอของภาพไม่เจอ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น