วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สุขภาพดีไม่มีขาย จึง ต้องทำเอง.10 โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน 
GERD (Gastroesophageal Reflux Disease)

ภาพจาก healthandcare2dayblogspot.com

ภาพจาก www.ram-hosp.com

ไม่นานมานี้ข้าพเจ้าผู้เขียนนี้ต้องสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะเกิดอาการบางอย่าง เมื่อนึกๆดูก็พบว่าอาการอย่างนี้เกิดมาได้ร่วมปีแล้ว แต่นานๆจะเกิดสักครั้ง มาครั้งหลังสุดนี่รู้สึกว่าทุลักทุเลกว่าทุกครั้ง เพราะเล่นเอาแสบคอเจ็บแปล๊บจนสะดุ้งตื่นทันที มิหนำซ้ำคราวนี้เกิดอาการคล้ายสำลักน้ำที่ทำให้การหายใจติดขัดด้วย อาการดังกล่าวนี้ก็คืออาการของโรคกรดไหลย้อนนั่นเอง

   ผู้เขียนพิจารณาดูแล้วเห็นว่านี่มันชักผิดปกติเสียแล้ว อาการแบบนี้ก็เคยได้อ่านพบมาก่อนว่าเป็นอาการของสิ่งที่เรียกว่าโรคกรดไหลย้อน แต่ประมาทคิดว่าก็แค่น้ำย่อยในกระเพาะมันเอ่อล้นขึ้นมาตามลำคอเป็นครั้งเป็นคราว ไม่น่าที่จะต้องไปกังวลจนเกินเหตุ แต่อาการที่เกิดครั้งหลังนี่ทำให้ต้องเปลี่ยนความคิด มานึกว่าเรานี้ชะล่าใจปล่อยปละละเลยสุขภาพร่างกายหลายเรื่องเกินไปแล้ว นี่ขนาดว่ารู้ตัวอยู่เหมือนกัน อุตส่าห์ค่อยๆหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น แต่เรื่องโรคกรดไหลย้อนนี้ ต้องยอมรับว่าผู้เขียนไม่ได้ให้ความสำคัญเลย

   อาการที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนคือ ขณะนอนหลับสนิทก็รู้สึกตัวว่าแสบหลอดลมมาก มีของเหลวล้นขึ้นมาตามลำคอถึงปาก จะว่าไปคล้ายๆพุ่งแบบอาเจียนด้วยซ้ำ ขนาดว่ารู้สึกขมปากไปหมด เมื่อสะดุ้งตื่นขึ้นมาแล้วอาการต่อมาคือรู้สึกแสบคอแสบหลอดลม และหายใจไม่ออกชั่วขณะ คือรู้สึกคอมันตีบ ๆชอบกล ลักษณะที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือคล้ายๆกับตอนที่เราจมน้ำสำลักน้ำจนหายใจไม่ได้นั่นเอง ตอนหายใจไม่ได้นั้นรู้ตัวว่าอันตรายแล้ว โชคยังดีที่ผู้เขียนยังมีสติ จึงพยายามฝืนหายช้าๆแน่นๆอัดอากาศเข้าไปให้ได้สักนิด เพราะตอนนั้นรู้ตัวว่าขาดอากาศเริ่มหน้ามืดแล้ว(ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร คือฝืนหายใจให้ได้) สักครู่ถึงไอแค่กๆแบบคนสำลักอาหาร แล้วถึงหายใจได้ตามปกติ

   เพราะอาการมันเป็นอย่างนี้แหละ จึงต้องมาค้นข้อมูลเรื่องโรคกรดไหลย้อน ผู้เขียนเลยต้องเพิ่มข้อควรระวังให้ตัวเองเพิ่มอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอยากมีอายุยืนยาวอยู่กับบุตรภรรยาไปนานๆ

   ข้อมูลดีๆได้พยายามค้นและอ่านพิจารณาตามอย่างละเอียด เห็นว่าดีมีประโยชน์จึงก๊อปมาลงให้ได้อ่านกัน เป็นข้อมูลจากหลายที่ ข้าพเจ้าผู้เขียนหรือจะเรียกแอดมินก็ขออนุญาตท่านเจ้าของบทความนำมาเสนอด้วยความเคารพ ลำดับแรกเป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลศิริราช

      บทความของ รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน ภาคาวิชาโสตนาสิก  ราลิงค์วิทยา ได้คัดลอกบทความของท่านมาให้อ่านกัน 3 บทความดังนี้
บทความแรก
จาก www.si.mahidol.ac.th              

เรื่องกรดไหลย้อน... ที่ควรรู้
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน (Assoc. Prof. PARAYA ASSANASEN)
ภาคาวิชาโสตนาสิก  ราลิงค์วิทยา 
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



  มีคนมากมายที่ต้องทรมานกับโรคกรดไหลย้อน วันนี้เรามีข้อมูลที่ควรรู้มาฝากครับ
 
     1. อาการเรอ คลื่นไส้ หรือมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาที่อกหรือคอ เกิดจากความดันที่ช่องท้องเพิ่มมากขึ้น  สาเหตุจาก
                 •  กินอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ
                 •  อาหารมีส่วนอย่างมาก
                - ประเภทมันๆที่ปรุงด้วยการผัดและทอดทุกชนิดจะย่อยยาก ทำให้ท้องอืดได้ง่าย  
                 -  ส่วนน้ำเต้าหู้และน้ำอัดลม จะทำให้เกิดแก๊สในช่องท้องมาก
                 -  รวมทั้งชา กาแฟ จะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะและหลอดอาหารส่วนปลายหย่อน 
                 -  หากอยากดื่มนม ควรดื่มเฉพาะนมไร้ไขมัน (FAT=0%) ส่วนไข่ ควรกินเฉพาะไข่ขาว เนื่องจากไขมันในนมหรือไข่แดงนั้นย่อยยาก จึงทำให้การเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารช้า 
                  •  น้ำหนักตัวที่เพิ่ม หรือเกินค่าปกติ  
                  •  ท้องผูก ทำให้ต้องเบ่งเวลาถ่ายผลตามมาคือ ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น  อาจต้องกินยาถ่ายช่วย ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ควรแก้ที่ต้นเหตุโดยดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น ดื่มแต่น้อยแต่บ่อย ๆ และกินผักผลไม้ที่มีกากให้มากขึ้นก็จะช่วยในเรื่องขับถ่ายได้ 
                  •  ขาดการออกกำลังกาย จากการศึกษาพบว่าคนที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิกจะทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนตัวได้ดี  และยังลดอาการท้องอืด จุก เสียด แน่นท้อง นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือด ปอด หัวใจทำงานดีขึ้น ลดระดับไขมันในเลือดเพื่อป้องกันโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โดยออกกำลังกายต่อเนื่องวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละวัน เช่น วิ่ง เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ขี่จักรยานฝืดแบบปรับน้ำหนักใน FITNESS เตะฟุตบอล  เล่นเทนนิส  แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล



     2. เสียงแหบ เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาไปสัมผัสสายเสียงที่อยู่ทางด้านหน้า ทำให้สายเสียงบวม  ปิดไม่สนิท เกิดลมรั่ว ทำให้มีเสียงแหบได้ สาเหตุที่มีเสียงแหบตอนเช้า เกิดจากเวลาเรานอน กรดจะไหลได้ง่ายกว่าเวลาที่เรานั่งหรือยืน  สายเสียงจึงถูกกรดสัมผัสมากกว่าช่วงอื่น ๆ ของวัน ทำให้ขณะตื่นมาตอนเช้า มีเสียงแหบได้  

      3. ไอเรื้อรัง เกิดจากกรดไหลย้อนลงไปในหลอดลม ทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง  ที่แย่กว่านั้น บางรายอาจเกิดอาการหอบหืด โดยหลอดลมจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ของฉุน ฝุ่น  ควัน อากาศที่ เปลี่ยนแปลงมากผิดปกติ  อาการไอหลังกินอาหารเกิดจากอาหารทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น  จนกรดไหลลงไปในหลอดลมได้  ส่วนการที่ไอตอนกลางคืน หรือก่อนนอนมักเกิดจาก  

                   •  ห้องนอนอาจรก มีฝุ่นมาก เวลาสูดหายใจเข้าไป จะไปกระตุ้นภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทำให้ไอกลางคืนหรือไอช่วงเช้า คล้ายคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ จึงควรจัดห้องนอนให้โล่งและสะอาด
                   • อากาศในห้องนอนอาจเย็นเกินไป ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็น โดยเฉพาะแอร์ พัดลมเป่า  ถ้าต้องการเปิดแอร์ ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป ในกรณีที่ใช้พัดลมไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมพอสมควร ไม่ควรเปิดแอร์หรือพัดลมจ่อ ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น นอนห่มผ้า ถ้าจะให้ดี ควรใส่ถุงเท้า หรือผ้าพันคอเวลานอนด้วย ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้าหรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว ควรใส่เสื้อหนา ๆ หรือใส่เสื้อ 2 ชั้น และกางเกงขายาวเข้านอน  
       4. อาการที่รู้สึกคล้ายมีก้อนในคอหรือแน่นคอ หรือกลืนติด ๆ ขัด ๆ หรือกลืนลำบาก คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมในคอ เกิดจากกรดไหลย้อนไปสัมผัสกับกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว และเกิดความรู้สึกดังกล่าว  การกินยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน อาจช่วยให้อาการดังกล่าวลดน้อยลง บางรายอาจมีอาการกลืนเจ็บ เจ็บคอ  แสบคอ หรือปาก หรือแสบลิ้นได้ 


      5. การที่มีเสมหะอยู่ในคอตลอด เกิดจากการที่กรดไหลขึ้นมา สัมผัสกับต่อมสร้างเสมหะในลำคอ และกระตุ้นทำให้ต่อมดังกล่าวทำงานมากขึ้น นอกจากนี้การที่กรดไปกระตุ้นเส้นประสาทในคอ อาจทำให้มีอาการคันคอ แสบคอ เจ็บคอ หรือระคายคอได้  

       6. อาการเจ็บหน้าอก เกิดจากกรดไหลย้อนขึ้นมาผ่านหลอดอาหารที่อยู่ในช่องอก และกระตุ้นเส้นประสาทในหลอดอาหารทำให้มีอาการดังกล่าวได้ และเมื่อกรดไหลลงไปในหลอดลมและปอด อาจทำให้มีการอักเสบของปอดเป็น ๆ หาย ๆ ได้

       7.  อาการไอ สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน เกิดจากกรดไหลลงไปในหลอดลม ทำให้หลอดลมอักเสบ และมีการหดตัวของหลอดลม ที่มักเป็นในเวลากลางคืน เนื่องจากเวลาเรานอน กรดจะไหลได้ง่ายกว่าเวลาที่เรานั่งหรือยืน

        8.  การที่กรดไหลย้อนออกไปนอกหลอดอาหาร อาจไปถึง
                    •  เยื่อบุจมูกทางด้านบน ทำให้มีอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีเสมหะไหลลงคอได้ หรือทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ของจมูกอยู่แล้ว มีอาการแย่ลงได้ 
                    •  ถ้ากรดขึ้นไปสูงถึงรูเปิดของหูชั้นกลางที่อยู่ที่โพรงหลังจมูก อาจทำให้รูเปิดดังกล่าวบวม ทำให้ท่อยูสเตเชี่ยนที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูกทำหน้าที่ผิดปกติไป เกิดหูอื้อ เสียงดังในหูเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการปวดหูได้
                    •  ถ้ากรดไหลเข้าไปในช่องปาก อาจกระตุ้นต่อมสร้างน้ำลาย ทำให้มีน้ำลายมากผิดปกติ หรือกรดไปกัดกร่อนฟัน ทำให้เกิดฟันผุหรือเสียวฟันได้ การที่กรดไหลย้อนขึ้นมา ทำให้พาเอากลิ่นอาหารในกระเพาะอาหารขึ้นมาด้วย จึงอาจเป็นสาเหตุของการมีกลิ่นปากได้

        9. โรคนี้หมอมิได้ให้ผู้ป่วยกินยาตลอดชีวิต เมื่อผู้ป่วยปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวันได้  ทั้งนิสัยส่วนตัว การกินอาหาร และนิสัยการนอน หมอจะค่อย ๆ ลดขนาดยาลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหยุดยาได้  สิ่งสำคัญคือไม่ควรปรับยากินเองในระยะแรก นอกจากหมอจะอนุญาต ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นหลังให้การรักษาประมาณ 1–3 เดือน   

           ทั้งนี้อาการจะดีขึ้นเร็วหรือช้า อยู่ที่การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และแม้ว่าหมอจะให้หยุดยาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้จะหายขาด ผู้ป่วยอาจมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้   

บทความที่ 2
โรคกรดไหลย้อน (ตอนที่ 1)

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) หมายถึงโรคที่มีอาการซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลากลางวัน หรือกลางคืน หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม ทำให้เกิดอาการจากการระคายเคืองของกรด เช่น อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบและมีแผล หรือ หลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล หรือถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการนอกหลอดอาหาร (atypical or extraesophageal GERD) เช่น อาการทางปอด หรือ อาการทางคอและกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux : LPR)


           โดยปกติร่างกายจะมีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไป ในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น การบีบตัวของหลอดอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน และส่วนล่าง เยื่อบุของหลอดอาหารมีกลไกป้องกันการทำลายจากกรด การที่เกิดโรคกรดไหลย้อนนั้นเชื่อว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง มีการคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้มีการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่าย โดยปกติถ้ากรดไหลย้อนขึ้นไปในคอหอยจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนหดตัว ป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นไป ผู้ป่วยที่เป็น โรคกรดไหลย้อนนั้นเชื่อว่ามีการทำงานของระบบป้องกันดังกล่าวเสียไป จึงมีกรดไหลย้อนขึ้นไปในคอหอย, กล่องเสียง และปอดได้

อาการของผู้ป่วยนั้นขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด เช่น
1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร
           - อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้
           - รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ
           - กลืนลำบาก หรือกลืนเจ็บ
           - เจ็บคอ หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า
           - รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก
           - มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา
           - เรอบ่อย คลื่นไส้
           - รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย


2. อาการทางกล่องเสียง และปอด
           - เสียงแหบเรื้อรัง หรือ แหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม
           - ไอเรื้อรัง
           - ไอ หรือ รู้สึกสำลักในเวลากลางคืน
           - กระแอมไอบ่อย
           - อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ (ถ้ามี) แย่ลง
           - เจ็บหน้าอก
           - เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ



บทความที่ 3
โรคกรดไหลย้อน (ตอนที่ 2)
 รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การรักษา
           1. การปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน การรักษาวิธีนี้มีความสำคัญมากในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น การรักษาโดยวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม หรือแม้ว่าผู้ป่วยจะหายดีแล้วโดยไม่ต้องกินยาแล้วก็ตาม
ผู้ป่วยควรปฏิบัติตนดังนี้

นิสัยส่วนตัว
           - ถ้าเป็นไปได้ ควรพยายามลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินจะทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนได้มากขึ้น
           - พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้เครียด และถ้าสูบบุหรี่อยู่ ควรเลิก เพราะความเครียดและการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น ถ้าไม่เคยสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือควันบุหรี่
           - หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
นิสัยในการรับประทานอาหาร
           - หลังจากรับประทานอาหารทันที พยายามหลีกเลี่ยงการนอนราบ, การออกกำลัง, การยกของหนัก, การเอี้ยวหรือก้มตัว
           - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึกและไม่ควรรับประทานอาหารใดๆ อย่างน้อยภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน
           - พยายามรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด, อาหารมัน, พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม, กระเทียม, มะเขือเทศ, ฟาสท์ฟูด, ช็อกโกแลต, ถั่ว, ลูกอม, peppermints, เนย, ไข่, นม หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
           - รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป ควรรับประทานอาหารปริมาณทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
           - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ (แม้ว่าเป็นกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนก็ไม่ควรดื่ม) ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ โดยเฉพาะในตอนเย็น

นิสัยในการนอน
           - ถ้าจะนอนหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3 ชั่วโมง
           - เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น ประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น

           2. รับประทานยา เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และ/หรือ เพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรด ปัจจุบันยาลดกรดกลุ่ม proton pump inhibitor เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี สามารถเห็นผลการรักษาเร็ว ควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยา หรือ หยุดยาเอง และควรมาพบแพทย์ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1-3 เดือน กว่าที่อาการต่างๆ จะดีขึ้น ดังนั้นอาการต่างๆ อาจไม่ดีขึ้นเร็ว ต้องใช้เวลาในการหาย เมื่ออาการต่างๆ ดีขึ้น และผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวันในข้อ 1 ได้ และได้รับประทานยาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2-3 เดือนแล้ว แพทย์จะปรับลดขนาดยาลงเรื่อยๆ ทีละน้อย ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเวลาป่วย เนื่องจากยาบางชนิดจะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงยาบางชนิด ถ้าเป็นไปได้ เช่น progesterone, theophyllin, anticholinergics, beta-blockers, alpha-blockers, calcium channel blockers, aspirin, NSAID, vitamin C, benzodiazepines พบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อน สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา


           3. การผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารส่วนบน การรักษาวิธีนี้จะทำในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือไม่สามารถรับประทานยาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ได้ หรือผู้ป่วยที่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยาแต่ไม่ต้องการที่จะกินยาต่อ ซึ่งผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัดมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น การรักษาโดยการผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น endoscopic fundoplication, radiofrequency therapy, injection / implantation therapy


จาก www.si.mahidol.ac.th (มีบทความดีๆให้ความรู้มากมาย ควรติดตามมาก)

ขออนุญาตและขอบพระคุณท่านเจ้าของบทความที่ให้ความรู้กับประชาชนด้วยครับ

ภาพจาก 3.bp.blogspot.com


ภาพจาก n2n-inter.com



ท่านอนที่ถูกต้อง ภาพจาก www.bkkparttime.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น