วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธรูป .๘ หลวงพ่อโตวัดอินทรฯบางขุนพรหม

หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร
Luang PHO Toh Wat Indraviharn






ประวัติ หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร

   หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร ก่อด้วยอิฐหรือปูน ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทรวิหาร ซึ่งเป็นวัดโบราณเดิมเรียกกันว่าวัดไร่พริก ต่อมาจึงค่อยเรียกเป็นชื่อวัดบางขุนพรหมนอก สถานที่ตั้งอยู่ที่แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งย่านนี้เรียกกันว่าบางขุนพรหม

หลวงพ่อโต เป็นชื่อที่เรียกกันเป็นสามัญแบบชาวบ้าน พระนามของพระพุทธรูปหลวงพ่อโตก็คือ พระศรีอริยเมตไตรย เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีความสูงตั้งแต่พื้นถึงยอดเกตุ 16 วา หรือประมาณราว 32 เมตร ความกว้าง 5 วา 2 ศอก

   ผู้ริเริ่มสร้างหลวงพ่อโตวัดอินทรฯบางขุนพรหมนั้นคือพระมหาเถระที่สำคัญยิ่งของยุครัตนโกสินทร์ ที่ใครๆก็รู้จักและเคารพนับถือยิ่ง ท่านก็คือสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี แห่งวัดระฆังฯนั่นเอง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโตในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แต่ยังสร้างไม่เสร็จ คงสร้างค้างไว้เพียงถึงพระนาภี สูงประมาณ 9 วาเศษ พระครูจรรยานุกูล (หลวงปู่ภู) เจ้าอาวาสวัดอินทร์จึงดำเนินการสร้างต่อแต่ก็ยังไม่เสร็จ ต่อมาพระครูสังฆบริบาล (แดง) ได้สร้างเพิ่มเติมได้สร้างต่อจบเกือบเสร็จ ขาดเพียงยอดพระเมาลี ได้องค์พระสูงประมาณ 16 วา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2467 พระครูสังฆรักษ์ (เงิน) เจ้าอาวาสได้ดำเนินการสร้างต่อมา ใช้เวลา 4 ปี จึงสำเร็จเรียบร้อย และได้จัดให้มีงานสมโภช เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2471

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆังฯ

หลวงปู่ภู วัดอินทรฯบางขุนพรหม

หลวงปู่เงิน

สมเด็จพระพุฒาจารย์โตวัดระฆังท่านได้สร้างพระหลวงพ่อโตไว้หลายแห่ง เล่ากันสืบต่อมาว่า ท่านสร้างพระเพื่อเป็นพุทธานุสติ และยังสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สถานที่นั้นๆเกี่ยวพันกับตัวท่านมาก่อน สำหรับในกรุงเทพมหานครนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์โตได้สร้างหลวงพ่อโตวัดอินทรฯบางขุนพรหม นัยว่าท่านสร้างเป็นที่ระลึกถึงว่า ตอนที่ท่านยังเป็นเด็กเล็ก ท่านได้สอนยืน ณ ที่นี้

หลวงพ่อโต หรือ พระศรีอริยเมตไตรย เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทรวิหาร แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2410 ก่อด้วยอิฐถือปูน หากดำเนินการการก่อสร้างไปได้เพียงครึ่งองค์ได้ความสูงเพียงพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ก็สิ้นชีพิตักษัย ณ ศาลาใหญ่ วัดบางขุนพรหมใน

หลวงพ่อโตวัดอิทรฯบางขุนพรหมเป็นพระยืนอุ้มบาตรที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าท่านได้สอนยืนและเดินได้ที่นั่น

    ต่อมา พระครูธรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร) ซึ่งร่วมสร้างหลวงพ่อโต กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มาแต่ต้น ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2463 พระครูธรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร) มีอายุ 91 ปี พรรษาที่ 70 ชราภาพมากแล้ว จึงได้ยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ ท่านจึงมอบฉันทะให้ พระครูสังฆบริบาล (แดง) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ช่วยบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อจากเดิม การก่อสร้างสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 พระครูสังฆรักษ์ (เงิน อินฺทสโร) ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระอินทรสมาจารได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2470 และได้จัดให้มีงานสมโภชเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4-6 มีนาคม พ.ศ. 2471 

   สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชุมพูนุท) เสด็จมาทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ เสด็จมาทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ เปิดงานสมโภชองค์หลวงพ่อโต
ในหนังสือ ประวัติหลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร ปี พ.ศ. 2490ได้กล่าวถึงการปฏิสังขรณ์องค์หลวงพ่อโต ของพระอินทรสมาจาร (เงิน อินฺทสโร) ไว้ว่า

ภาพเก่าจากอินเตอร์เน็ต-ไม่ทราบที่มา

   "ถึงปีชวด พ.ศ. 2467 พระครูอินทรสมาจาร (เงิน อินฺทสโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูสังฆรักษ์ ย้ายมาจากวัดปรินายกมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร ได้จัดการสร้างพระโตต่อมา โดยเป็นประธานบอกบุญเรี่ยไรจากประชาชนทั่วไป ผู้ช่วยเหลือที่เป็นกำลังสำคัญของท่านพระครูอินทรสมาจารที่ควรกล่าวให้ปรากฏคือ เจ้าคุณและคุณหญิงปริมาณสินสมรรถ พระประสานอักษรกิจ สิบเอกอินทร์ พันธุเสนา และนางพลัด พันธุเสนา พระครูอินทรสมาจารทำการก่อสร้างอยู่ 4 ปี จึงสำเร็จสมบูรณ์ (สิ้นเงินประมาณ 10,000 บาท)"

   ท่านอาจารย์ นิรันดร์ แดงวิจิตร อดีตพระเลขาของสมเด็จพระสังฆราชแพวัดสุทัศน์ ได้เคยเล่าเรื่องหลวงพ่อโตวัดอินทรวิหารให้ผู้เขียนฟังว่า สมัยที่ท่านอาจารย์นิรันดร์หรือที่เรียกกันว่าพระครูหนูยังบวชอยู่นั้น วันหนึ่งสมเด็จพระสังฆราชแพครั้งยังเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ไปตรวจเยี่ยมวัดอินทรฯบางขุนพรหม สมเด็จพระสังฆราชแพ(ครั้งเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์แพ)ได้ให้พระครูหนูตรวจดูองค์หลวงพ่อโตที่ยังสร้างไม่เสร็จว่ามีตรงไหนทรุดโทรมไปบ้าง เหตุที่ให้ท่านอาจารย์นิรันดร์เป็นผู้สำรวจนั้นก็เพราะว่าท่านอาจารย์นิรันดร์มีความรู้ทางด้านช่างนั่นเอง ทั้งยังเป็นพระเลขารับใช้ใกล้ชิดอีกด้วย

อาจารย์ นิรันดร์ แดงวิจิตร

   ท่านอาจารย์นิรันดร์ปีนขึ้นไปสำรวจที่องค์หลวงพ่อโตแล้วพบว่า สภาพโครงสร้างยังดีอยู่ และยังเห็นมีสิ่งของบรรจุอยู่ภายในองค์หลวงพ่อโตอีกด้วย มีทั้งที่ยังมีสภาพดีและชำรุดแตกหัก เมื่อท่านอาจารย์นิรันดร์สำรวจแล้วก็กลับลงมารายงานผล แล้วกราบเรียนว่าเห็นมีสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในด้วย สมเด็จพระสังฆราชแพ(สมเด็จพระพุฒาจารย์)ก็อธิบายว่าเป็นของวิเศษที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โตวัดระฆังฯท่านบรรจุไว้ ท่านอาจารย์นิรันดร์จึงได้ขออนุญาตทางวัดเลือกเก็บเอาที่ชำรุด ได้มาเป็นบาตรพระกันเลย ของวิเศษที่ว่านี้ก็คือพระเครื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตนั่นเอง

ปาฏิหาริย์หลวงพ่อโต

  พุทธศาสนิกชนต่างนับถือหลวงพ่อโตกันมาก เพราะเกิดมีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นจนรู้กันไปทั่วครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สมัยนั้นประเทศไทยมีสถานภาพเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น จึงตกเป็นเป้าโจมตีของโดนฝ่ายสัมพันธมิตร มีการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่พระนคร(กรุงเทพฯ) บ้านเมืองเสียหายไปมากมีลูกศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราชแพที่อยู่แถววัดอินทรฯมากราบลาเพื่อย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น สมเด็จพระสังฆราชแพรับสั่งว่าไม่ต้องไปไหนหรอก เพราะหลวงพ่อโตวัดอินทรฯคุ้มครองได้

   พอมีเครื่องบินๆมาทิ้งระเบิดคราวใด ประชาชนต่างวิ่งเข้าไปหลบลูกระเบิดอยู่ที่องค์หลวงพ่อโต ปรากฏว่าไม่เคยมีลูกระเบิดมาลงทางแถบนี้เลย ทั้งๆที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ต้องโดนระเบิดจุดสำคัญจุดหนึ่ง ประชาชนจำนวนมากที่เล่าตรงกันว่าเห็นมีคล้ายๆเงามาบังเหมือนทำท่าโบกปัดออกไป ลูกระเบิดที่ทิ้งลงมาทางแถบวัดต่างไปตกตรงที่เป็นสวนหรือแม่น้ำ ไม่มีระเบิดตกลงมาถูกวัดเลย

  สืบต่อมาประชาชนนิยมกันว่าหลวงพ่อโตวัดอินทรฯมีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีผู้ศรัทธานิยมไปกราบนมัสการขอพรมากมาย และยังมีความเชื่อกันอีกว่า ถ้าบนบานหลวงพ่อโตต้องแก้บนด้วยปลาทู

ภาพโดย sihawatchara

ภาพโดย sihawatchara

ภาพโดย sihawatchara

ภาพโดย sihawatchara

ภาพโดย sihawatchara

ภาพโดย sihawatchara

ภาพโดย sihawatchara

เฉพาะภาพโดย sihawatchara ให้นำไปใช้ได้








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น