วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เจดีย์ในเมืองไทย.๑ พระปฐมเจดีย์

พระปฐมเจดีย์





 พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม


     พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่มากอยู่ที่ จ.นครปฐม เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ครั้งสมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งประเทศอินเดีย (พ.ศ.๒๔๐-๓๑๒ ครองราชย์พ.ศ.๒๗๐-๓๑๑) ทรงส่งสมณะทูตคือพระโสณะพระอุตตระ มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ

     ประวัติของพระโสณะและพระอุตตระ มีหลักฐานปรากฏชื่อของท่านทั้งสองในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง (สังคายนาครั้งที่ ๓ ประมาณปี พ.ศ. ๒๑๘)

     ในการสังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชและพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้คัดเลือกให้พระเถระ ผู้ทรงภูมิธรรมออกไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆทั้งหมด ๙ สาย พระโสณะและพระอุตตระถูกคัดเลือกให้เป็นพระสมณะทูตคณะที่ ๘ และ ๙ มีหลักฐานยืนยันว่าพระโสณะและพระอุตตระได้เดินทางมายังสุวรรณภูมิจริง ซึ่งปรากฏในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ว่าพระโสณะกับพระอุตตระไปสุวรรณภูมิดังนี้

     “สุวณฺณภูมิ คจฺฉนฺตฺวาน โสณุตฺตรา มหิทฺธิกา ปิสาเจ นิทฺธมิตฺวาน พฺรหฺมชาลํ อเทสิสุแปลว่า พระโสณะและพระอุตตระผู้มีฤทธิ์มาก ไปสู่สุวรรณภูมิ ปราบปรามพวกปีศาจแล้ว ได้แสดงพรหมชาลสูตร” 

   ตาม คัมภีร์สมันตปาสาทิกา กล่าวถึงพระโสณะและพระอุตตระ แสดงอภินิหารปราบนางผีเสื้อน้ำและได้แสดงธรรมพรหมชาลสูตร คือสูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐประกอบด้วยศีลน้อย ศีลกลาง และศีลใหญ่ นั่นคือการประพฤติตนอยู่ในสรณะและศีล มีคนในสุวรรณภูมินี้ได้บรรลุธรรมประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน และมีผู้ออกบวชประมาณ ๓,๕๐๐ คน

ภาพจาก www.chaoprayanews.com พระปฐมเจดีย์สมัยก่อน

ขนาดพระเจดีย์

     พระปฐมเจดีย์ปัจจุบัน มีลักษณะแบบทรงไทย รูประฆังคว่ำ โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่ ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยแผ่นกระเบื้องเคลือบสีส้ม สูง ๑๒๐ เมตร กับ ๔๕ เซนติเมตร ประกอบด้วยวิหาร ๔ ทิศ มีระเบียงคตชักแนวถึงกันโดยรอบเป็นวงกลม มีกะเปาะกันทรุดทั้ง ๔ ทิศ มีกำแพงแก้ว ๒ ชั้นล้อมรอบพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเริ่มการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖          

พระปฐมเจดีย์ด้านที่มีพระร่วงโรจนฤทธิ์

 พระเจดีย์องค์เดิม สร้างขึ้นในราว พ.ศ.๒๓๕ - ๓๐๐ มีลักษณะเป็นแบบสัญจิเจดีย์ (ทรงบาตรคว่ำ) จากหนังสือเรื่องพระปฐมเจดีย์กับนำเที่ยว พระนิพนธ์ของ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า


กล่าวโดยเฉพาะองค์พระปฐมเจดีย์นั้น ก็เป็นหลักฐานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ถ้าพิจารณาดูรูปพระปฐมเจดีย์องค์เก่า (อยู่ข้างในพระปฐมเจดีย์องค์ปัจจุบัน แต่ยังมีรูปจำลองขนาดย่อมให้เห็นอยู่ทางด้านใต้) จะเห็นว่าเป็นของสร้างเพิ่มเติมกันมาหลายยุคหลายสมัย จนรูปพระเจดีย์เองแปรปรวนไป แต่ก็ยังพอมองเห็นเค้าเดิมได้บ้าง ถ้าเอาพระปรางค์ที่อยู่ข้างบนออกเสียแล้ว จะเห็นได้ทันทีว่า รูปคล้ายพระสถูปเจดีย์ที่เมืองสัญจี ซึ่งสร้างครั้งพระเจ้าอโศกมาก คือ ตัวสถูปเป็นรูปกลมทรงเหมือนโอหรือขันน้ำคว่ำ ข้างบนทำเป็นพุทธอาสนสี่เหลี่ยมตั้งไว้ มีฉัตร (อย่างร่ม) ปักเป็นยอด

    ฐานพระสถูปทำเป็นสี่เหลี่ยม รอบฐานทำเป็นที่เดินประทักษิณ มีรั้วล้อมรอบภายนอก และก่อด้วยอิฐเป็นทำนองเดียวกัน และที่เรียกชื่อว่า พระปฐมเจดีย์ (ราษฎรเรียกเพี้ยนไปเป็นพระปทม) ดังมีกล่าวไว้ในหนังสือเก่าๆ นั้น ก็เป็นพยานอย่างหนึ่ง ดังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสันนิษฐานว่า เห็นจะเป็นเพราะเป็นพระเจดีย์องค์แรกสุด ที่สร้างขึ้นในประเทศแถบนี้ เมื่อครั้งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าอโศก) แจกพระบรมธาตุไปในประเทศทั้งปวง เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ จะหาเจดีย์แห่งใดตั้งแต่เชียงแสน เชียงใหม่ ตลอดลงมาจนนครศรีธรรมราช แลเมืองลาว เมืองเขมร เสมอเหมือนมิได้
ภาพจาก puntip

     ในขณะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผนวชเป็นพระภิกษุ ได้เสด็จมานมัสการ  ทรงเห็นว่า พระปฐมเจดีย์เป็นปูชนียสถานที่มีขนาดใหญ่  จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงบูรณะ  แต่มีพระราชดำรัสว่า  "เป็นของอยู่ในป่ารก   จะทำขึ้นก็ไม่มีประโยชน์อันใดนัก"  

   ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเสวยราชสมบัติแล้ว ใน พ.ศ. ๒๓๙๖ พระองค์จึงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ  บุนนาค) เป็นแม่กองบูรณะใหม่ โดยพระเจดีย์องค์เดิมมีขนาดและลักษณะเป็นอย่างไรก็โปรดให้คงไว้ แล้วสร้างพระมหาเจดีย์สถูปใหญ่หุ้มองค์เดิมไว้ภายใน เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖ แต่เนื่องจากพระเจดีย์องค์ใหญ่โตมาก ต้องระดมใช้ช่างไทย จีน เกณฑ์คนผลัดเปลี่ยนกันช่วยทำอิฐปูนและก่อสร้างเดือนละ ๔ ผลัดๆละ ๒๐๐ คน สร้างไปได้ ๒ ปี แม่กองสร้างได้ถึงแก่พิราลัย  จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ  บุนนาค) ผู้เป็นบุตรให้เป็นแม่กองสร้างต่อ

         พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างโบสถ์วิหาร และทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์  ข้าราชการ  และพ่อค้าประชาชน ร่วมกันสร้างกุฏิสงฆ์ และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ  รวมทั้งโปรดให้ขุดคลองเจดีย์บูชา และคลองมหาสวัสดิ์  เพื่อให้คนเดินทางมาจากกรุงเทพฯ มานมัสการพระปฐมเจดีย์ได้สะดวกขึ้น  เพราะสมัยนั้นยังไม่มีทางรถยนต์เหมือนปัจจุบัน 

ภาพจาก www.comchudlluek.net

พระปฐมเจดีย์สมัยก่อน

   ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านเมืองนครปฐม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่ารก พระองค์จึงโปรดฯ ให้ย้ายเมืองจากตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี มาตั้งที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์เหมือนเช่นครั้งสมัยโบราณ

         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่เสด็จแปรพระราชฐานและฝึกซ้อมรบแบบเสือป่า โปรดฯให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย รวมทั้งสร้างสะพานเจริญศรัทธาข้ามคลองเจดีย์บูชาเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟกับองค์พระปฐมเจดีย์ ตลอดจนสร้างพระร่วงโรจนฤทธิ์ทางด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์และบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ให้สมบูรณ์สวยงามดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อจากเมือง นครไชยศรีเป็น นครปฐม

ภาพจาก www.service.cristian.com 

นอกจากนี้ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ดังนี้

 พระร่วงโรจนฤทธิ์ 

   เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ประดิษฐานในซุ้มวิหารทางทิศเหนือหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยได้พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท มาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำรูปปั้นขี้ผึ้งปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์เต็มองค์ ทำพิธีหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. 2456 แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในซุ้มวิหารด้านทิศเหนือตรงกับบันไดใหญ่ และพระราชทานนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร และที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

   พุทธลักษณะของพระร่วงโรจนฤทธิ์นี้มีพิเศษที่ไม่เหมือนพระพุทธรูปอื่นๆคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า โปรดฯให้ช่างทำให้พระอุทรมีเนื้อมากสักหน่อย ประมาณว่าให้คล้ายๆมีพุงหรือคนลงพุงหน่อยๆ ซึ่งหมายถึงพระวรกายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้านั่นเอง เฉพาะตรงนี้ทรงโปรดฯให้แก้แบบจนพอพระทัย

พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ 

ตั้งอยู่บริเวณชั้นลดด้านทิศตะวันออกตรงข้ามพระอุโบสถ ภายในเก็บวัตถุโบราณที่ขุดพบได้จากสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดนครปฐมทั้งสมัยบ้านเชียง สมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป หินบดยา ลูกประคำดินเผา กำไลข้อมือ เงินโบราณ ฯลฯ และยังเป็นที่เก็บหีบศพของย่าเหลและโต๊ะหมู่บูชาซึ่งใช้ในพิธีศพของย่าเหลซึ่งเป็นสุนัขที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปรานมาก

ภาพจาก daodiaryclub'com

งานนมัสการพระปฐมเจดีย์

    กำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน เป็นประจำทุกปี โดยนมัสการพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ซึ่งบรรจุอยุ่ภายในองค์พระเจดีย์นั่นเอง ในช่วงวันดังกล่าวจะมีประชาชนมานมัสการพระปฐมเจดีย์และเที่ยวงานวัดกันมาก



ตำนานพระปฐมเจดีย์ เรื่อง พระยากง พระยาพาน

       มีตำนานเล่าว่า ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๕๖๙ พระยาพาน ผู้ครองเมืองในสมัยนั้น ต้องการล้างบาปที่กระทำปิตุฆาตกรรมไว้ จึงต่อเติมองค์พระพุทธเจดีย์ให้สูงขึ้นอีกเท่านกเขาเหิร คือ ประมาณ ๔๐๐ ฟุต มีขนาดกลมโดยรอบ ๘๐๐ ฟุต ตำนานมีหลายสำนวน จะกล่างถึงพระยากง(พญากง)พระยาพาน(พญาพาน) ยายหอม บางสำนวนมีต่างไปบ้างคือ มียายพรหมเป็นผู้เก็บพญาพานไปมอบให้ยายหอมเลี้ยง

ตำนานพญากง พญาพาน

จากหนังสือพญากง พญาพาน ของ คุรุสภา

   มีพญากงเป็นเจ้าเมืองนครชัยศรี มีพระมเหสีรูปโฉมงดงามเมื่อพระมเหสีทรงพระครรภ์โหรหลวงได้ทำนายว่าจะได้พระราชโอรสเป็นผู้มีบุญ และจะได้เป็นใหญ่ภายหน้า แต่จะเป็นผู้ฆ่าพระราชบิดา

   เมื่อครบกำหนดพระมเหสีก็ประสูติพระกุมาร ขณะที่ข้าราชบริพารได้เอาพานไปรองรับ บังเอิญหน้าผากของพระกุมารกระทบขอบพานเป็นแผล พญากงได้สั่งให้นำพระกุมารไปทิ้งตามยถากรรม ยายหอมไปพบเข้านำไปเลี้ยงไว้ และตั้งชื่อว่า พาน ครั้นพานโตขึ้นยายหอมก็นำไปฝากให้เล่าเรียนที่วัดโคกยายหอม พานเป็นเด็กฉลาด สมภารวัดผู้เป็นอาจารย์จึงรักใคร่เอ็นดูมีวิชาอะไรก็สอนให้หมด

   อาจารย์ได้นำพานไปฝากให้เข้ารับราชการกับพระยาราชบุรี ที่เมืองราชบุรี พานเป็นคนปัญญาดี เรียบร้อยและขยัน จึงเป็นที่โปรดปรานของพระยาราชบุรีมาก จนถึงกับรับไว้เป็นโอรสบุญธรรม สมัยนั้น เมืองราชบุรีขึ้นกับเมืองนครชัยศรี พระยาราชบุรี ต้องส่งเครื่องบรรณาการทุกปี

    พญาพานเป็นผู้มีฝีมือในการรบจึงชักชวน ให้พระยาราชบุรีแข็งเมืองยกกองทัพไป ปราบพญายาพานเป็นแม่ทัพออกไป รบกับพญายากง ทั้งสองทำยุทธหัตถีกัน ในที่สุดพญากงก็ถูกฟันด้วยของ้าวคอขาดตายในที่รบ เมื่อพญายาพานเข้ายึดเมืองนครชัยศรีได้แล้ว ย่อมได้ทั้งราชสมบัติตลอดจนพระมเหสีของพญายากงด้วย

   แต่ในขณะที่จะเข้าไปหาพระมเหสีนั้น เทวดาได้แปลงกายเป็นแมวแม่ลูกอ่อนให้ลูกกินนมขวางประตูไว้ แล้วร้องทักเสียก่อน พญายาพานจึงได้อธิษฐานว่า ถ้าพระมเหสีเป็นแม่ของตนจริงก็ขอให้มีน้ำนมไหลซึมออกมา ก็เห็นน้ำนมไหลออกมาจริง จึงได้รู้ว่าทั้งสองเป็นแม่ลูกกัน 

   พญายาพานต้องทำปิตุฆาตฆ่าพระราชบิดา เพราะยายหอมปิดบังความจริงไม่บอกให้รู้ ด้วยโทสะจริต เข้าครอบงำและกรรมนั้นบังตา ทำให้ขาดการยั้งคิด จึงสั่งให้นำยายหอมไปฆ่าเสีย ต่อมาด้วยความสำนึกผิด ที่ได้ฆ่าพระราชบิดาและยายหอมผู้มีพระคุณ จึงได้สร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่ สูงชั่วนกเขาเหิน คือ องค์พระปฐมเจดีย์ เพื่อเป็นการล้างบาปที่ฆ่าพระราชบิดาให้บรรเทาลงบ้าง และสร้างพระประโทนเจดีย์ เพื่อล้างบาปที่ฆ่ายายหอม

ภาพจาก www.thaifolktales'com


การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปวัดพระปฐมเจดีย์

ทางรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ สามพราน ไปจนถึงจังหวัดนครปฐม 

   หรือใช้ถนนบรมราชชนนี ผ่านพุทธมณฑล นครชัยศรี ไปจนถึงตัวจังหวัดนครปฐม

 ทางรถไฟ : การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟไปจังหวัดนครปฐมทุกวัน วันละหลายเที่ยว โดยเริ่มต้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือ สถานีรถไฟบางกอกน้อย มาลงที่สถานีรถไฟนครปฐม ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1690 (ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง) หรือทางเว็บไซต์ www.railway.co.th

          รถโดยสารประจำทาง : มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-นครปฐม ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ตั้งแต่เวลา 05.30-23.15 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 หรือwww.transport.co.th

ภาพจาก topicstock.puntip.com พระปฐมเจดีย์สมัยก่อน
ภาพจาก1bp.blogspot ภาพวาดแสดงภายในของพระปฐมเจดีย์ว่าครอบเจดีย์องค์เดิม


พระปฐมเจดีย์มองจากชั้นระเบียงพระเจดีย์




ภาพจาก www.thailanddrone.com

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากเว็บไซต์ทั้งที่กล่าวถึงและอาจตกหล่นไปบ้าง และ น.ส.พ.รอยธรรม





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น