วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พระพุทธรูป.๙ หลวงพ่อโตวัดเกษไชโย

พระมหาพุทธพิมพ์ วัดไชโยวรวิหาร
หลวงพ่อโตวัดเกษไชโย จ.อ่างทอง
วัดไชโยวรวิหาร (เกษไชโย) เป็นพระอารามที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๒๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ๑๔๑๔๐ ซึ่งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา อาณาบริเวณของวัดเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่ละด้านมีเสาศิลาขนาดใหญ่ปักแสดงเป็นอาณาเขตของวัด

   วัดไชโยวรวิหาร (เกษไชโย) เดิมมีชื่อว่า วัดไชโย มีฐานะเป็นเพียงวัดราษฎร์ สืบประวัติไม่ได้ว่าใครเป็นผู้สร้าง เนื่องจากเป็นวัดที่มีมาเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมามีพระภิกษุรูปหนึ่ง จาริกแสวงบุญมาจากทางพระนคร(เรียกกรุงเทพฯในสมัยนั้น) มาดำเนินการก่อสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้น เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ พระภิกษุรูปดังกล่าวคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม อมตะเถราจารย์ผู้สร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ที่เรียกว่าพระสมเด็จฯวัดระฆัง อันโด่งดังสุดยอดของเมืองไทย ขณะที่ท่านสร้างหลวงพ่อโตนั้น ท่านยังมีสมณศักดิ์ที่ พระเทพกวี 

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี วัดระฆังฯ

   เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯโต ชอบสร้างสิ่งใหญ่ๆ โตๆ ให้สมกับชื่อของท่าน เป็นต้นว่า พระพุทธไสยาสน์ใหญ่ ณ วัดสะตือ พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าท่านเคยไปนอนที่นั่น พระยืนใหญ่ ณ วัดอินทรวิหาร กรุงเทพฯ เป็นที่ระลึกว่าท่านได้สอนยืนที่นั่น ส่วนพระนั่งขนาดใหญ่ หรือ หลวงพ่อโต วัดเกษไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นสิ่งอนุสรณ์ระลึกว่าท่านสอนนั่งนั่นเอง

ภาพจาก www.manager.co.th พระมหาพุทธพิมพ์ วัดไชโยฯ

พระหลวงพ่อโต วัดเกษไชโย ซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งการสอนนั่ง ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯโต สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยสมเด็จฯโตท่านดำเนินการสร้าง ทั้งยังได้รับแรงศรัทธาจากพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงช่างบ้านโดยทั่วไป ร่วมกันสร้างหลวงพ่อโต

การก่อสร้างนั้นได้ทำถึง ๒ คราวโดยคราวแรกเป็นพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่โตมาก ใช้วิธีก่ออิฐสอดิน แต่แล้วองค์พระก็พังทลายลงมา ได้ลงมือก่อสร้างอีกครั้งด้วยกรรมวิธีแบบเดิม แต่ได้ลดขนาดขององค์พระลงมาให้เล็กลงกว่าเดิม ไม่ได้ปิดทอง นั่งอยู่กลางแจ้งสามารถมองเห็นได้มาแต่ไกล

ภาพจาก www.dhammajak.net หลวงพ่อโต 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด กัลยาณมิตร) ที่ สมุหนายกสำเร็จราชการกรมมหาดไทย ขึ้นมาเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นใหม่ทั่วทั้งอาราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐

   การบูรณะปฏิสังขรณ์มาถึงการก่อสร้างพระวิหารครอบหลวงพ่อโต ระหว่างงานขุดหลุมเทคาน แรงกระทุ้งความสั่นสะเทือน มิอาจทำให้องค์หลวงพ่อโตคงทนอยู่ได้อีก จึงได้พังทลายลงมาอีกครั้งหนึ่ง

   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นมาใหม่ทดแทนองค์เดิม และโปรดเกล้า ฯ ให้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ซึ่งเป็นช่างหลวงฝีพระหัตถ์เยี่ยมในการปั้นพระพุทธรูปยุคนั้นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง


ภาพจาก natski13.wordpress.com

ภาพของ Polar Bear one man trip เห็นรูปหล่อสมเด็จฯโต

ขนาดของหลวงพ่อโต

การสร้างหลวงพ่อโตครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๓ เพราะมีการรื้อใหม่ทั้งองค์ มีการวางรากฐานที่แน่นหนา โครงสร้างขององค์พระเสริมเหล็กถือปูน ลดขนาดให้เล็กลงกว่าเดิมดังปรากฎในปัจจุบัน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งแบบสมาธิราบ ตามแบบที่สมเด็จเจ้าประคุณสร้างไว้ แต่ครองจีวรและพาดสังฆาฏิ กว้างตามแบบใหม่ ขนาดหน้าตักกว้าง ๘ วา ๖ นิ้ว ( ประมาณ ๑๖ เมตร) สูงสุดถึงพระรัศมี ๑๑ วา ๑ ศอก ๑ นิ้ว (ประมาณ ๒๒.๕ เมตร)
พร้อมกับการสร้างหลวงพ่อโตองค์ใหม่นี้ พรระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริง ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ขึ้นมาด้วยเป็นรูปเหมือนโลหะผสม

การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดไชโยในส่วนต่าง ๆ สำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ รวมระยะเวลา ๘ ปีเต็ม แล้วทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามหลวงพ่อโตเสียใหม่ เป็น พระมหาพุทธพิมพ์ พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ยกฐานะของวัดไชโย จากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง นามว่า วัดไชโยวรวิหาร นับแต่นั้นมา


ภาพจาก www.thaiticketmajor.com

   ในปัจจุบันประชาชนนิยมไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตกันมาก การเดินทางนับว่าสะดวกกว่าสมัยก่อนมาก เพราะมีสะพานข้ามแม่น้ำอยู่ใกล้ๆวัดไชโย ถ้าไปจากกรุงเทพมหานครทางที่สะดวกที่สุด ให้ไปตามทางหลวงสายเอเชีย เมื่อถึงเขตอ่างทองแล้วสังเกตป้ายบอกทางซ้ายมือไปเรื่อยๆ จะมีทางแยกซ้ายมือไปสะพานข้ามแม่น้ำใกล้ๆวัด 
   

ข้อมูลจาก ประวัติวัติไชโยวรวิหาร , หนังสือพิมพ์รอยธรรม
ขอขอบคุณที่มาของภาพทุกๆภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น