วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เจดีย์ในเมืองไทย.๒ พระประโทณเจดีย์

พระประโทณเจดีย์



พระประโทณเจดีย์ จ.นครปฐม
พระประโทณเจดีย์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระประโทณเจดีย์ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครปฐมไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๔ กิโลเมตร ลักษณะศิลปะกรรม เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ ซึ่งปรากฏซากเนินขนาดใหญ่ เป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่กลางวัด แต่เดิมสถูปพระประโทณ เป็นรูปทรงโอ่งคว่ำ พระประโทณเจดีย์ เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐมนับความสำคัญเป็นลำดับสองรองจากพระปฐมเจดีย์ ยังปรากฏซากเนินใหญ่อยู่กลางวัดเป็นสำคัญ 

   พระประโทณเจดีย์ ตั้งอยู่กลางวัดเป็นเนินใหญ่ อยู่บนพื้นฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ โดยอิฐที่ก่อเป็นฐานรอบเนินนี้ เป็นของก่อขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อกันดินพัง ไม่ใช่ของที่สร้างไว้แต่เดิม บนยอดเนินมีพระปรางค์อยู่องค์หนึ่ง ทรวดทรงเตี้ยกว่าองค์ที่สร้างบนยอดเนินพระปฐมเจดีย์ บนพื้นฐานเป็นลานกว้างมีต้นไม้ขึ้นร่มรื่นและเดินไปได้โดยรอบ ที่เนินพระปรางค์มีบันใดสูงขึ้นไปยังองค์พระปรางค์ซึ่งอยู่บนยอดเนิน สูงจากพื้นดินประมาณ ๒๐ เมตร เมื่อขึ้นบรรไดไปข้างบนสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดนครปฐมได้โดยรอบ



ประวัติความเป็นมาของวัดพระประโทณ

    วัดพระประโทณเจดีย์สันนิษฐานว่าการสร้างครั้งแรกสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบันไปทางทิศเหนือขององค์พระประโทณเจดีย์ประมาณ 1,200 เมตร

     วัดพระประโทณเจดีย์ปัจจุบันสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2324 ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระประโทณเจดีย์ห่างประมาณ 20 เมตร  สันนิษฐานว่าย้ายมาจากที่เดิมเมื่อ 200 ปีเศษ เพราะมีกุฏิโบราณหลังหนึ่งจารึกตัวหนังสือและตัวเลขด้วยปูนบอกว่าซ่อมเมื่อ พ.ศ. 2456  

   จากหลักฐานดังกล่าวสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2366 - 2370  ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า วัดพระประโทณเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2324  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2327

ภาพจาก www.m.culture.go.th

พระประโทณเป็นพระเจดีย์เก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เดิมเป็นวัดสำคัญที่อยู่ใจกลางเมืองสมัยโบราณ ภายในวัดมีเจดีย์จุลประโทณประดับภาพปูนปั้นยุคทวาราวดี รูปเรือสำเภาและรูปคนอินเดีย เป็นหลักฐานสำคัญที่สรุปได้ว่าที่นี่เคยเป็นเมืองท่าสำคัญ ปัจจุบันภาพปูนปั้นได้แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์


   พระประโทณเจดีย์ เดิมทีเดียวเป็นวัดที่มีต้นไม้ขึ้นรกมาก เต็มไปด้วยป่าไผ่ มีไก่ป่าชุกชุม ดังเห็นได้ตามคำพรรณนาของนายมี ในนิราศพระแท่นดงรัง ว่า

               ถึงประโทณารามพราหมณ์เขาสร้าง          เป็นพระปรางค์แต่บุราณนานนักหนา
           แต่ครั้งตวงพระธาตุพระศาสดา                     พราหมณ์ศรัทธาสร้างสรรไว้มั่นคง
           บรรจุพระทะนานทองของวิเศษ                     ที่น้อมเกศอนุโมทนาอานิสงส์
           จุดธูปเทียนอภิวันท์ด้วยบรรจง                      ถวายธงแพรผ้าแล้วลาจร
           ดูสองข้างมรรคาล้วนป่าไผ่                            คนตัดใช้ทุกกอตอสลอน
           หนามแขนงแกว่งห้อยรอยเขารอน                 บ้างเป็นท่อนแห้งหักทะลักทะลุย
           ที่โคนไผ่ไก่ป่ามาซุ่มซุก                                 บ้างกกกุกเขี่ยดินกินลูกขุย
           พอเห็นคนวนบินดินกระจุย                           เป็นรอยคุ้ยรอบข้างหนทางจร

ภาพจาก www.m.culture.go.th



การบูรณะองค์พระประโทณเจดีย์

   การบูรณะองค์พระประโทณเจดีย์ มีหลักฐานปรากฏชัดเจน 2 ครั้งด้วยกัน คือ

ครั้งที่ 1

   ได้มีการบูรณะก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 4 คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้น องค์พระสถูปเจดีย์พระประโทณได้ชำรุดทรุดโทรม มีคุณหลวงวังกรมการ (พวง) และนางวังกรมการ (พริ้ง) สุวรรณรัตน์ มีส่วนในการซ่อมองค์พระสถูป และพิจารณาเห็นว่าพระประโทณเจดีย์เดิมเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานองค์พระเขี้ยวแก้ว และทะนานทองพระบรมสารีริกธาตุ 
   
   ท่านทั้งสองได้เป็นผู้ออกทุนทรัพย์ส่วนตัวทั้งหมด สร้างพระเขี้ยวแก้วและทะนานทองกับยอดสลัดไดองค์พระประโทณเจดีย์ ทะนานทองและสลัดไดนั้นสร้างขึ้นในกรุงเทพฯ ส่วนองค์พระเขี้ยวแก้วสร้างจำลองได้อัญเชิญมาจากศรีลังกา ครั้งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ฯ ทรงเสด็จไปราชการที่เมืองลังกา ท่านทั้งสองได้ขอร้องให้ทรงสร้างรูปจำลองมาให้ในฐานที่รักใคร่สนิทสนมกันมา ระหว่างท่านทั้งสองกับพระองค์ท่าน ขณะนี้พระเขี้ยนวแก้วและทะนานทอง ได้ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ

ครั้งที่ 2

   สมัยพระครูวินยาภินันท์ องค์เจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก วันหนึ่งในปี 2505 เวลา 07.00 น. เศษ เจดีย์ได้พังลงมา ในขณะที่พระกำลังนั่งฉันท์ภัตตาหารเช้าอยู่  ได้ยินเสียงดังครืน ปรากฏว่าอิฐที่ก่อไว้กลางองค์เจดีย์ ทางทิศตะวันตกได้พังลงมาประมาณเศษหนึ่งส่วนสี่ของลานสี่เหลี่ยมด้านบนของลานเจดีย์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของกองโบราณคดี กรมศิลปากรได้ทราบข่าวจึงมาสำรวจ 

   พระครูวินยาภินันท์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น เห็นว่าถ้าปล่อยไว้องค์พระประโทณเจดีย์ จะกลายเป็นเศษอิฐเศษปูน จึงจัดการซ่อมโดยใช้แบบตั้งแล้วเทเป็นชั้นๆ สร้างทับอิฐเก่าเพื่อกันพังรอบองค์เจดีย์ ที่เป็นอิฐโบราณอยู่ และเทคอนกรีตบนลานสี่เหลี่ยมด้านบนของเจดีย์ พร้อมกับทำลูกกรงทั้งสี่ด้าน ในส่วนบนของเจดีย์ต่อมาได้ทำแบบเทปูนฐานสี่เหลี่ยมชั้นล่างขององค์พระประโทณเจดีย์ โดยปิดอิฐโบราณที่ก่อไว้เดิมหมด จึงปรากฏว่าเป็นของใหม่ แต่ของเก่าอยู่ชั้นใน สรุปว่า สร้างทับของเก่าไว้ใหม่หมดอีก 2 ชั้น

ภาพจาก www.oocities.org พระประโทณเจดีย์
ภาพจาก www.oknation.net
ตำนานพระประโทณเจดีย์
ตำนานพระปฐมเจดีย์ฉบับพระยาราชสัมภารากร และฉบับตาปะขาวรอด และในพงศาวดารเหนือ แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด เรื่องมีอยู่ว่า

ตามนิยายปรัมปรากล่าวถึงมูลเหตุการสร้างพระประโทณเจดีย์นี้ว่า พญาพานเป็นผู้สร้างขึ้นโดยมีตำนานว่า 

   เมื่อพญากงได้ครองเมืองศรีวิชัย คือ เมืองนครปฐมในปัจจุบันนี้ สืบต่อจากพระเจ้าสิการาชผู้เป็นพระราชบิดาแล้ว ต่อมาพระมเหสีได้ทรงพระครรภ์ได้พระราชบุตรประสูตแต่องค์หนึ่ง โหรได้ถวายคำพยากรณ์พระราชกุมารที่ประสูติมานี้ว่า จะเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก จะได้ครองราชสมบัติ เป็นกษัตริย์ต่อไปในภายหน้า แต่ว่าพระราชกุมารนี้จะกระทำปิตุฆาต คือ ฆ่าพ่อ 

   เมื่อพญากงได้ทราบดังนั้น จึงรับสั่งให้ราชบุรุษนำพระราชกุมารไปฆ่าทิ้งเสียในป่า ราชบุรุษจึงนำไปทิ้งไว้ที่ป่าไผ่ ที่เป็นบริเวณไร่ของยายพรหม แต่บังเอิญยายพรหมไปพบพระราชกุมาร จึงได้เก็บมาเลี้ยงไว้ แต่ยายพรหมมีลูกหลานมาก จึงยกพระราชกุมารให้ยายหอมไปเลี้ยงแทน

 ยายหอมได้เลี้ยงพระราชกุมาร แล้วนำไปให้เจ้าเมืองราชบุรีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แต่ขณะนั้นเมืองราชบุรีเป็นเมืองขึ้นของเมืองศรีวิชัย อยู่มาภายหลังพระราชกุมารเติบโตขึ้น ได้แข็งเมืองไม่ยอมส่งบรรณาการ และได้ท้ารบกับพระยากง จนได้ชนช้างกัน เมื่อฆ่าพญากงสำเร็จแล้วจึงได้เข้าเมืองศรีวิชัย 

   เวลานั้นพระมเหสีของพญากงซึ่งเป็นพระชนนีของพญาพาน ยังมีพระชนม์อยู่ กล่าวกันว่ารูปโฉมสวยงาม พญาพานคิดอยากได้เป็นมเหสี ได้เสด็จเข้าไปที่ตำหนัก เทพยดาในที่นั้นเห็นว่าพญาพานจะทำบาปหนัก เพราะจะเอามารดาเป็นเมีย เทพยดาจึงได้แปลงเป็นแพะบ้าง แปลงเป็นแมวแม่ลูกอ่อนบ้าง นอนขวางบันใดปราสาทอยู่ 

   เมื่อพญาพานข้ามสัตว์ทั้งสองนั้นไป สัตว์ตัวลูกจึงพูดกับแม่ว่า ท่านเห็นเราเป็นเดรัจฉานจึงข้ามไป แม่ตอบลูกว่า นับประสาอะไรกับเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่มารดาของท่าน ท่านยังจะเอาเป็นเมีย 

   พญาพานได้ฟังดังนั้นก็ประหลาดพระทัยนัก จึงทรงตั้งอธิษฐานว่า ถ้าพระมเหสีของพญากงเป็นพระมารดาของเราจริงแล้ว ขอให้น้ำนมหลั่งออกจากถันทั้งสองข้างให้ปรากฏ ถ้าไม่ใช่พระมารดาของเราก็ขออย่าให้น้ำนมไหลออกมาเลย 
   พญาพานตั้งอธิษฐานแล้ว น้ำนมได้หลั่งออกมาจากถันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา พญาพานจึงได้ไต่ถาม ได้ความว่าเป็นพระมารดาจริงแล้ว ก็ทรงดื่มกินน้ำนม และทรงทราบว่าพญากงเป็นพระราชบิดา จึงโกรธยายหอมว่า มิได้บอกให้ตนทราบว่าเป็นบุตรใคร จนได้ทำบาปหนักถึงฆ่าพ่อ แล้วได้ไปเรียกยายหอมมา 

   เมื่อยายหอมมาถึงแล้วพญาพานจึงจับยายหอมฆ่าเสีย คนทั้งปวงจึงเรียกพระราชกุมารว่า พญาพาน เพราะไม่รู้จักคุณคนก็มี เรียกพญาพานเพราะเมื่อเวลาเกิดนั้น พระพักตร์กระทบพานทองเป็นแผลก็มี เมื่อพญาพานฆ่ายายหอมแล้ว ต่อมาได้สติรู้สึกเสียพระทัย ว่าฆ่าผู้มีพระคุณเสียแล้วอีกคนหนึ่ง จึงได้ถามสมณพราหมณาจารย์ว่าจะทำอย่างไร จึงจะล้างบาปในการฆ่าพระราชบิดาและฆ่ายายหอม ผู้ที่ได้เลี้ยงตนมาแต่เยาว์วัย 

   พระสงฆ์ก็ได้ถวายพระพรว่า ให้สร้างเจดีย์สูงแค่นกเขาเหิน จึงได้สร้างพระปฐมเจดีย์ขึ้นเพื่อล้างบาปที่ฆ่าพ่อ และสร้างพระประโทณเจดีย์ขึ้นเพื่อล้างบาปที่ฆ่ายายหอม ตั้งแต่นั้นมา



ตำนานพระประโทณเจดีย์ ฉบับนายอ่อง ไวกำลัง และตำนานพระปฐมเจดีย์และพระประโทณเจดีย์ ฉบับพระยามหาอรรคนิกรและฉบับนายทอง กล่าวความไว้คล้ายกัน คือ 

   บริเวณที่ตั้งพระประโทณเจดีย์นั้น แต่เดิมเป็นตำบลบ้านพราหมณ์ เรียกว่า บ้านโทณพราหมณ์ได้นำ ทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในเรือนหิน ครั้นเมื่อถึง พ.ศ.1133 ท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพ มาสร้างเมืองนครไชยศรีขึ้นเป็นเมืองใหญ่ ได้ขอทะนานทองจากพราหมณ์เพื่อจะนำไปแลกเปลี่ยนกับพระบรมสารีริกธาตุจากเจ้าเมืองลังกา 

   แต่ท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพได้รับการปฏิเสธ ทำให้รู้สึกขัดเคืองพระทัยจึงยกรี้พลออกไปตั้งเมืองใหม่ชื่อว่า ปาวันและให้สร้างพระปฐมไสยาสน์องค์หนึ่งใหญ่ยาวมหึมา หลังจากนั้น จึงยกรี้พลมาแย่งทะนานทองไปให้เจ้าเมืองลังกาเพื่อบรรจุไว้ในสุวรรณเจดีย์ ต่อมาเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ 1199 พรรษา พระเจ้ากากะวรรณดิศราชแห่งเมืองละโว้ ได้มาก่อพระเจดีย์ล้อมเรือนศิลาที่เคยบรรจุทะนานทองไว้แล้วให้นามว่าพระประโทณเจดีย์

   พระประโทณเจดีย์นับเป็นโบราณสถานเก่าแก่ อยู่ใกล้ๆกรุงเทพมหานคร และใกล้พระปฐมเจดีย์ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครปฐม


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.oocities.org  , ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม  ,  ตำนานพระประโทณเจดีย์ของวัด  ,  หนังสือพิมพ์รอยธรรม



1 ความคิดเห็น: