วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พระพุทธรูป.๑๐ พระแก้วมรกต


พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
Emerald Buddha




พระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร)

          ประเทศไทยของเรามีมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ ทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นความเชื่อในระดับพื้นบ้าน กระทั่งถึงในระดับภูมิภาคประชาชาติและสากล แรกเริ่มความเชื่อถือนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นไปในแบบการนับถือผีที่มีฤทธิ์มีศักดิ์ แล้วจึงค่อยรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นสรณะ

          พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญารู้แจ้งสว่างสงบ แต่ความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติของชาวสุวรรณภูมิหยั่งรากฝังลึกแล้ว ก็ค่อยๆผสมผสานเข้าไปในศาสนา ด้วยเห็นว่าผีอันมีฤทธิ์มีศักดิ์ยังมีอำนาจ ดังนั้นพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณย่อมต้องศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก

          เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาแล้ว นอกจากจะให้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศาสดา เพื่อระลึกถึงเป็นพุทธานุสติ ชนเป็นอันมากก็นับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ เมื่อทุกข์ร้อนก็น้อมจิตระลึกถึงขอให้ช่วยให้พ้นจากทุกข์ภัยนั้นๆ แล้วก็ปรากฏเป็นอัศจรรย์อยู่เสมอว่า ทุกข์ภัยนั้นหายมลายสิ้นไปได้

          พระพุทธรูปในสยามประเทศของเรานั้น นอกจากจะเป็นพุทธานุสติแล้ว จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชนชาวไทยสยามอย่างแรงกล้า จริงอยู่ว่าอาจบดบังแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นเครื่องปลูกศรัทธาให้ค่อยๆเข้าสู่พระศาสนา แล้วค่อยๆกล่อมเกลาให้เกิดปัญญาต่อไป

          กรุงเทพมหานครมีพระพุทธรูปอยู่มากมาย ที่มีชื่อเสียงว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นิยมเคารพเลื่อมใสของคนไทยก็มีมาก มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่นิยมเคารพเลื่อมใสกันมากเหลือหลาย แต่พระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดไม่ใหญ่โต ต้องเรียกว่ามีขนาดเล็กด้วยซ้ำแต่มีชื่อเสียงมากถึงขนาดว่า นับเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยอย่างหนึ่งได้เลย พระพุทธรูปองค์ก็คือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วนั่นเอง

ภาพจาก ww.reurnthai.com



ประวัติพระแก้วมรกต

          หลักฐานตำนานเก่าแก่เรื่องพระแก้วมรกตนั้น ที่เชื่อถือกันมากเริ่มมาจากหนังสือตำนาน “รัตนพิมพวงศ์” ตามตำนานได้กล่าวถึงพระแก้วมรกตว่า เทวดาเป็นผู้สร้างพระแก้วมรกตนี้ถวายพระอรหันต์ชื่อว่า พระนาคเสน อยู่ในเมืองปาฏลีบุต พระนาคเสนเป็นพระอรหันต์ที่มีอภิญญามีฤทธิ์มาก

      พระนาคเสนได้อธิษฐานฤทธิ์อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำนวน ๗ องค์ ให้เข้าไปประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระแก้วมรกต โดยอยู่ที่พระโมฬี ๑ องค์ พระอุระ ๒ องค์ และในพระชานุทั้งสองข้างๆละ ๑ องค์ เมื่อพระบรมสารีริกธาตุเสด็จเข้าไปประดิษฐานภายในองค์พระแล้ว เนื้อแก้วนั้นก็ปิดสนิทดี ไม่มีรอยตำหนิใดๆให้เห็นเลย

          ต่อมาพระแก้วมรกตถูกอัญเชิญไปอยู่เมืองลังกา แล้วไปอยู่เมืองกัมโพช เมืองศรีอยุธยา(อโยธยา เชื่อว่าเป็นเมืองเก่า) แล้วไปอยู่เมืองละโว้ เมืองกำแพงเพชร ต่อมาไปอยู่เมืองเชียงราย

          เมื่อพระแก้วมรกตอยู่เมืองเชียงรายนั้น ข้าศึกยกทัพมาประชิดเมือง เจ้าเมืองเชียงรายเกรงว่าจะถูกแย่งพระแก้วมรกตไป จึงได้เอาปูนหุ้มพระแก้วมรกตลงรักปิดทองไว้  แล้วบรรจุซ่อนไว้ในเจดีย์เมืองเชียงราย



          ถึงปีพุทธศักราช ๑๙๗๗ เกิดฟ้าผ่าเจดีย์พังลงมา จึงพบพระแก้วมรกตที่หุ้มปูนปิดทองไว้ คนทั้งหลายนึกว่าเป็นเพียงพระพุทธรูปปูนปั้นธรรมดา  จึงเชิญไปไว้ในวิหารแห่งหนึ่ง ต่อมาปูนที่หุ้มได้กระเทาะออกมาตรงกับตำแหน่งที่เป็นพระนาสิก เห็นเป็นแก้วสีเขียวดังมรกต ท่านเจ้าอาวาสจึงได้ให้ทำการกะเทาะปูนทั้งองค์ แล้วจึงพบว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วสีเขียวทั้งองค์ ชาวเมืองทั้งหลายได้ไปกราบนมัสการพระแก้วกันมากมาย

          เจ้าเมืองแจ้งเรื่องพบพระแก้วมรกตไปยังพระเจ้าสามฝั่งแกนเจ้าเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าสามฝั่งแกนได้จัดขบวนไปรับพระแก้วมรกตแห่ขึ้นบนหลังช้าง เมื่อช้างมาถึงทางแยกที่จะเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ ช้างนั้นก็ตื่นวิ่งไปทางเมืองลำปาง จนควาญช้างต้องบังคับให้ช้างสงบแล้วย้อนไปทางเมืองเชียงใหม่อีก ถึงทางแยกเดิมช้างตื่นวิ่งกลับไปทางลำปางเหมือนเดิม พอเปลี่ยนช้างเชือกใหม่มาบรรทุกพระแก้วมรกต ก็เกิดเป็นเช่นเดิมช้างไม่ยอมไปทางเมืองเชียงใหม่ แต่จะหนีไปทางเมืองลำปาง

          ขบวนแห่พระแก้วมรกตจึงแจ้งไปที่พระเจ้าสามฝั่งแกนถึงเหตุที่เกิดขึ้น พระเจ้าสามฝั่งแกนจึงให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปเมืองลำปาง ได้ประดิษฐานอยู่เมืองลำปาง ๓๒ ปี


          ต่อมาพ.ศ.๒๐๑๑ พระเจ้าติโลกราชครองเมืองเชียงใหม่ พิจารณาว่าพระแก้วมรกตตั้งอยู่เมืองลำปางนั้นไม่สมควร จึงให้อัญเชิญกลับมายังเมืองเชียงใหม่ ได้สร้างเป็นหอพระแก้วแต่ถูกฟ้าผ่าหลายครั้ง จึงต้องอัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ในวิหาร พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เมืองเชียงใหม่ ๘๔ ปี

          พ.ศ.๒๐๙๔ ถึงยุคพระเจ้าไชยเชษฐาครองเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าไชยเชษฐาพระองค์นี้ก็คือพระเจ้ากรุงเวียงจันทร์ในเวลาต่อมานั่นเอง ที่ได้มาครองเมืองเชียงใหม่นั้นเพราะว่า ทางเมืองเชียงใหม่ได้มีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับทางลาว พระบิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาคือพระเจ้าโพธิสารเป็นกษัตริย์ล้านช้าง ส่วนพระมารดาคือพระนางยอดคำเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่

          ขณะที่พระเจ้าเชียงใหม่ที่เป็นพระอัยกาของพระเจ้าไชยเชษฐาสิ้นพระชนม์ ทางเมืองเชียงใหม่ขาดผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ จึงขอให้พระเจ้าไชยเชษฐามาครองเชียงใหม่ พระเจ้าไชยเชษฐาจึงเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ดังนี้เอง

           ต่อมาทางฝั่งลาวพระเจ้าโพธิสารสิ้นพระชนม์ เกิดจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ คณะเสนาบดีจึงพร้อมใจกันเชิญพระเจ้าไชยเชษฐา ให้กลับไประงับการจลาจลที่เมืองหลวงพระบาง พระเจ้าไชยเชษฐาได้อารธนาอัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังเมืองหลวงพระบางด้วย พระเจ้าไชยเชษฐาขึ้นครองอาณาจักรล้านช้างที่เมืองหลวงพระบาง ทรงพระนามว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช และพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง ๑๒ ปี

          พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เมืองเวียงจันทร์ สาเหตุเพื่อเลี่ยงศึกพม่าในสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตไปเมืองเวียงจันทร์ด้วย ได้ประดิษฐานนานถึง ๒๑๔ ปี



          ต่อมาวันเวลาล่วงไปถึงสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในพ.ศ.๒๓๒๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงโปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทร์  ได้เมืองเวียงจันทร์แล้วจึงอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางมายังกรุงธนบุรี พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่กรุงธนบุรี ๔ ปี

          เมื่อถึงพ.ศ.๒๓๒๕ตั้งกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงของยุครัตนโกสินทร์ จึงย้ายพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง อัญเชิญ ณ วันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๒๗ ได้ประดิษฐานอยู่จนถึงทุกวันนี้

          พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ต่างเคารพบูชาพระแก้วมรกตกันเป็นอันมาก นับถือศรัทธากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก 

ภาพจาก bloggang.com วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว)

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงเทพมหานครและอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อ พ.ศ. 2327 เป็นต้นมา

ขนาดพระแก้วมรกต

      พระแก้วมรกตเป็นพระปางสมาธิ นั่งขัดสมาธิราบ วางพระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้าย
 หน้าตักกว้าง 48.3 เซ็นติเมตร
 สูงจากทับเกษตรถึงสุดพระเกตุมาลา 66 เซ็นติเมตร

พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต

พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต

 พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตนั้นกระทำกัน 3 ครั้งต่อหนึ่งปี คือ

1. เครื่องทรงฤดูร้อน ทรงเปลี่ยน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4

2. เครื่องทรงฤดูฝน ทรงเปลี่ยน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8

3. เครื่องทรงฤดูหนาว ทรงเปลี่ยน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12


พระแก้วมรกตทรงเครื่องฤดูร้อน

เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน(คิมหันต์)

๑. มงกุฎทองคำลงยาฝังพลอยและทับทิมมีดอกไม้ประจำทิศฝังเพชรทั้ง ๓ ชั้น ชั้นละ ๔ ดอก รวม ๑๒ ดอก มีดอกไม้ไหวติด ๓ ชั้น

ชั้นต้น ดอกไม้ไหวฝังบุษย์น้ำทอง (บุษย์) น้ำเพชร ๑๐ ดอก

ชั้นกลาง ดอกไม้ไหวตาไก่ฝังบุษย์น้ำเพชรดอกละ ๑ เม็ด ๑๐ ดอก

ชั้นใต้ บัวกลุ่มดอกไม้ไหวตาไก่ ฝังบุษย์น้ำเพชรดอกละ ๑ เม็ด ๗ ดอก

ยอดมงกุฎฝังเพชรทั้งเจ็ดเม็ดสี่เหลี่ยมโตเท่าบัวผ่าซีก ๑ เม็ด มีมงคลเพชรรอบ ขนาดเม็ดละเขือ ๑๖ เม็ด มีระย้าฝังเพชร ระย้าละ ๑ เม็ด ๘ ระย้า ใต้ระย้ามีปลอกทองคำฝังเพชร ๑๑ เม็ด ๑ ปลอก

๒. พระกรรเจียกข้างขวาทองคำลงยาฝังเพชรโตประมาณกล่ำแก่(มะกล่ำช้าง) ๑ เม็ด และฝังทับทิมขนาดใหญ่ ๑ เม็ด นอกนั้นทับทิมและพลอยขนาดกลางและเล็ก และมีดอกไม้ไหวมงคลเพชรรอบ กลางฝังไพฑูรย์ ๑ เม็ด ๑ ดอก
พระกรรเจียกข้างซ้ายทองคำลงยาฝังเพชรโตประมาณกล่ำแก่ ๑ เม็ดและฝังทับทิมขนาดใหญ่ ๑ เม็ด นอกนั้นฝังทับทิมและพลายขนาดกลางและเล็ก และมีดอิกไม้ไหวมงคล เพชรรอบ กลางฝังไพฑูรย์ ๑ เม็ด ๑ ดอก

๓. ฉลองพระศอทับพระอังสาทองคำ ลงยาราชาวดีประดับบุษราคัมดอกระหว่างลายก้ามปูฝังทับทิม ขนาดเม็ดบัวแก่ ๘ เม็ด ระหว่างลายก้ามปูลายเทศฝังมรกตสี่เหลี่ยมขนากกล่ำแก่ ๘ เม็ด ใบเทศฝังมรกต ๘ เม็ด มุกดา ๘ เม็ด มีพระนพทองคำลงยาฝังพลอยทั้ง ๒ ข้าง กนกข้างทองคำลงยา ช่องหนึ่งมี ๒ กนก ประดับเพชรขนาดกล่ำแก่ ๑ เม็ด เพชรขนาดย่อม ๑ เม็ด นอกนั้นประดับเพชรและพลอยขนาดต่างๆรวม ๑ ช่อง

ภาพจาก www.sookjai.com

๔. ทับทรวงทองคำลงยาประดับทับทิมขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวม ๗๖ เม็ด มีสังวาลทับทรวงฝังบุษยน้ำเพชร กลางฝังดอกบุษราคัมดอกละ ๑ เม็ด ๘ ดอก

๕. ตาบข้างทองคำฝังเพชรและทับทิม ๒ ตาบ มีพระสังวาลต่อตาบฝังบุษยน้ำเพชร กลางฝังบุษราคัมดอกละ ๑ เม็ด รวม ๒ ตาบ ๑๗ ดอก

๖. ตาบหลังทองคำฝังนิล ๑๓ เม็ด ฝังไพฑูรย์ ๔ เม็ด มุกดา ๔ เม็ดทับทิม ๒๐ เม็ด มีพระสังวาลต่อตาบฝังบุษยน้ำเพชร กลางฝังบุษราคัมดอกละ ๑ เม็ด ๘ ดอก

๗. พระสังวาลทองคำดอกฝังมุกดา ๑๔ ดอก มีลูกคั่นฝังมุกดา ๑๓ คู่

๘. พระสังวาลทองคำดอกจิกสายคู่ มีดอกประจำยามฝังเพชรปลายรำขนาดเม็ดละเขือแก่ กลางดอกฝังทับทิม ๑ เม็ด ๑ ดอก ฝังเพชรดอกละ ๑ เม็ด ๒ ดอก ฝังมรกต ๑ เม็ด ๑ ดอก ฝังบุษราคัมดอกละ ๑ เม็ด ๑ ดอก ฝังไพฑูรย์ ๑ เม็ด ๑ ดอก ฝังนิลดอกละ ๑ เม็ด ๒ ดอก ฝังมุกดา ๑ เม็ด ๑ ดอก ฝังโกเมนดอกละ ๑ เม็ด ๒ ดอก รวม ๑๒ ดอก



๙. ต้นพระกรเบื้องขวาทองคำลงยารอบฝังบุษราคัม ๖ เม็ด ฝังไพฑูรย์ ๖ เม็ด ฝังมุกดา ๖ เม็ด รวม ๑๘ เม็ด กระจังฝังบุษยน้ำเพชรมีดอกประจำฝังเพชร ๔ ดอก

ต้นพระกรเบื้องซ้ายทองคำลงยาซีกเดียวฝังมุกดา ๔ เม็ด ฝังโกเมน ๔ เม็ด ฝังไพฑูรย์๔ เม็ด รวม ๑๒ เม็ด กระจังฝังบุษยน้ำเพชร มีดอกประจำยามฝังเพชร ๓ ดอก

๑๐. กองเชิงครึ่งซีกทองคำลงยาฝังมุกดาข้างละ ๘ เม็ด นอกนั้นฝังโกเมน รวม ๒ข้าง

๑๑. วัดพระองค์ด้านหน้าครึ่งซีกทองคำลงยาฝังนิลขนาดใหญ่และเล็ก รวม ๙ เม็ด นอกนั้นฝังพลอยสีต่างๆ

๑๒. เชิงสนับเพลาข้างซ้ายและข้างขวาทองคำลงยา ฝังโกเมนขนาดใหญ่และเล็กข้างละ ๒๑ เม็ด ลายขอบฝังบุษยน้ำเพชรรวม ๒ ข้าง

๑๓. ปลายพระกรครึ่งซีกข้างซ้ายและข้างขวาทองคำลงยาฝังมุกดาข้างละ ๓ แก้ว นอกนั้นฝังพลอยสีต่างๆ

๑๔. พระธำมรงค์ (ไม่มีก้าน) ทองคำฝังเพชร ๑ วง ติดกัน ๕ ยอดมีมงคลเพชร ๓ ยอด ไม่มีมงคลเพชร ๒ ยอด ๑ วง

พระธำมรงค์ทองคำหัวมณฑป มีมงคลเพชร ๒ ชั้น ยอดฝังเพชรมีบ่าข้างหนึ่งฝังพลอย ๑ วง

พระธำมรงค์ทองคำ กลางฝังไพฑูรย์ ๑ เม็ด มีบ่าข้างหนึ่งฝังบุษยน้ำเพชร ๑ เม็ด ๑ วง

พระธำมรงค์ทองคำมงคลเพชร ยอดฝังเพชรโตขนาดกล่ำ (ไม่มีก้าน) ๒ วง

ภาพ wanjun.com ส่วนหนึ่งของเครื่องทรงฤดูร้อน ช่วงพระเกตุ

 เครื่องทรงฤดูฝน (วสันต์)

สำรับฤดูฝนเป็นการจัดสร้างตามอย่างแบบแผนโบราณ ลักษณะของงานเป็นการดุนนูนทองคำทั้งหมด โดยประกอบด้วย

๑. พระศกทองคำประดับเพชร ขนาดเม็ดมะเขือ พระรัศมีทองคำลงยา ต้นรัศมีฝังดอกผักตบ ๔ เม็ด ยอดฝังเพชร ๑ เม็ด

๒. ผ้าห่มดวงทองคำ

๓. สบงทองคำ

๔. ผ้าสังฆาฏิทองคำ มีดอกไม้กลางผืน ยอดดอกไม้ประดับเพชร ๒๐ เม็ด นอกนั้นประดับพลอยต่างๆ ซ้อนทับบนผ้าห่มดวงทองคำลงยา


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรก9

ฤดูฝน
ภาพจาก groupwunjua.com เครื่องทรงฤดูฝน

เครื่องทรงฤดูหนาว (เหมันต์)

๑. พระศกทองคำประดับเพชรขนาดเม็ดมะเขือ มีพระรัศมีทองคำลงยาต้นพระรัศมีฝังเพชร ๔ เม็ด เม็ดหนึ่งโตขนาดกล่ำแก่ อีก ๓ เม็ดโตขนาดกล่ำอ่อน ยอดฝังเพชร ๑ เม็ด

๒. ผ้าคุลมทองคำลงยา ริมสองข้างและชายข้างประดับเพชรและพลอยสีต่างๆ กลางผืนเป็นดอกชิงดวงกลีบลงยา กลางฝังพลอยกว้าง ๑๒.๕ นิ้ว ยาว ๔๒ นิ้ว และมีดุมทองคำประดับเพชน ๒ ดุม มีสายสร้อยทองคำ ๔ สาย ยาวสายละ ๓ นิ้วเศษ



ฤดูหนาว

ภาพจาก groupwunjun.com เครื่องทรงฤดูหนาวช่วงพระเกตุ

ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี มีพระราชพิธีกาญจนาภิเษกรัฐบาลได้ดำเนินการจัดสร้างเครื่องทรงขององค์พระแก้วมรกตขึ้นใหม่แทนของเดิมซึ่งชำรุด โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยร่วมบริจาค

ของเดิมจะมีการลงยาระหว่างลวดลายที่ผ้าห่มทองคำ แต่ของใหม่จะใช้โกเมนประดับลงไปแทนที่ถึง ๑,๗๓๑ เม็ด รวมน้ำหนัก ๑,๘๙๓.๖๖ กะรัต

ทับทิมประดับเป็นลายแก้วชิงดวง จำนวน ๑,๐๓๗ เม็ด รวมน้ำหนัก ๒๒๕.๙๔ กะรัต

เพชรทุกชิ้นเปลี่ยนใหม่จากเพชรซีก เป็นแบบ April Cut คือ เริ่มเจียระไนเดือนเมษายน มีคุณสมบัติเฉพาะคือ ด้านหน้าไม่เรียบเหมือนเพชรทั่วไปแต่จะเป็นเหลี่ยมนูน ๔๐ เหลี่ยม ด้านล่าง ๑๗ เหลี่ยม สำหรับติดประดับทแทนพระศก

 รายละเอียดพระเกศเปลวเพลิง(ฤดูหนาว) ประดับทับทิม ไพลิน และเพชรประจำ ๔ ทิศ และเม็ดพระศก เจียแบบเพชรซีก ที่เรียกว่า เจียเหลี่ยมแบบ April cut

   ในปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนและชาวต่างชาติไปกราบนมัสการเยี่ยมชมพระแก้วมรกตกันมากทุกวัน นับเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรมศิลปกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย


ภาพจาก www.creditonhand.com
ภาพจากวิกิพิเดีย

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องตามแจ้งไว้ในภาพ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น