วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

กฏแห่งกรรม เรื่องที่ ๑๗

กฏแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดย ท.เลียงพิบูลย์
เรื่องที่ ๑๗
เหตุเมื่อหลบฝน


เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒  สงบลงใหม่ๆ  วันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินอยู่บนถนนสายหนึ่งนอกชานพระนคร  เวลานั้นเป็นเวลาบ่าย  ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักโดยไม่ได้ตั้งเค้ามาก่อนเลย  ผู้คนซึ่งกำลังเดินอยู่บนท้องถนนต่างก็วิ่งหาที่กำบังเพื่อหลบฝนมิให้เปียก  ข้าพเจ้าผู้หนึ่งที่ต้องวิ่งเข้าไปใต้กันสาดตึกแถวร้านค้าใกล้ที่สุดในย่านนั้น  ฝนตกอย่างจะเทลงมา  กันสาดตึกแถวนั้นไม่สามารถจะกันละอองฝน  ซึ่งกระเซ็นมาถูกต้องเครื่องแต่งกายได้  ข้าพเจ้าจึงเดินเลาะมาพอได้มุมตึกแถว  เป็นทางที่จะเข้าไปในตลาด  เล็ก ๆ  ซึ่งพอเป็นที่กำบังทั้งลมและฝนและละอองฝนได้ดี  ข้าพเจ้าคงหยุดเพียงหัวมุมตึกเท่านั้น  ทางที่จะเข้าเกือบถึงตลาดนั้นเป็นที่เฉอะแฉะเลอะเทอะ  จึงไม่ค่อยมีใครจะเข้าไปหลบ  นอกจากบรรดาแม่ค้าและแม่ครัวที่มาจ่ายตลาดเท่านั้น  บุคคลที่หลบฝนต่างยืนนิ่งมองดูน้ำฝนที่ตกลงมาจากที่ชายคาเป็นระยะถี่บ้างห่างบ้าง  สุดแต่ลมจะพัดกระโชกมาเป็นคราวๆ

   พวกเราที่มาหลบฝนนี้คงมีความปรารถนาอย่างเดียวกัน  คือคิดว่าเมื่อไหร่ฝนจะหายสักทีจะได้กลับบ้าน  คอยแล้วคอยอีกฝนก็ไม่เบาบางลง  ซ้ำตกหนักหนาเม็ดมากขึ้นกว่าเดิมอีก  นอกจากฝนตกแล้วฟ้ายังคะนองกระหึ่ม  แลบแปลบปลาบ  เป็นสายสว่างแฉลบลงมาจากท้องฟ้า  พวกผู้หญิงเอากระเป๋าถือปิดหน้าบังแสงเข้าตา  บ้างก็เอามืออุดหูกลัวเสียงฟ้าร้อง  ซึ่งเสียงดังเหมือนจะผ่าลงมาใกล้ ๆ   หลังจากแสงฟ้าแลบสว่างจ้าเป็นระยะๆ  เสียงฟ้าลั่นแทบจะทำให้แผ่นดินถล่มทลายก็ตามมาทุกครั้ง

   กลุ่มผู้คนที่หลบฝน  นอกจากข้าพเจ้ายังมีชายจีนสองคนซึ่งปากอยู่ไม่สุข  ชอบถ่มน้ำลายออกไปนอกชายคา  เหมือนจะโกรธฝนมาสักร้อยปี  บางครั้งข้าพเจ้าต้องถอยหลบ  กลัวฝอยน้ำลายจะกระเซ็นมาถูกตัว  และมีสุภาพบุรุษไทยอายุกลางคนผู้หนึ่งยืนอยู่ข้างๆข้าพเจ้า  และห่างไปเล็กน้อยก็มีสุภาพสตรีวัยรุ่นแต่งตัวเป็นนักศึกษาอยู่สองคน  ยืนคุยกระซิบกระซาบกันอยู่  รู้สึกว่าไม่ค่อยจะเอาใจใส่เรื่องฟ้าฝนเท่าใดนัก  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีสามคนเป็นสาวใหญ่แต่งกายแบบเดินแถวย่านพาหุรัด  หญิงทั้งสามนี้รู้สึกมีความกระวนกระวายมาก  ต่างหันหน้ามาระบายอารมณ์สาปแช่งฝนว่าไม่รู้ว่าจะตกไปทำไม  ตกไม่รู้จักหยุด  ที่บ้านนอกท้องนาไม่รู้จักตกดันมาตกในกรุงเทพฯ  จะไปไหนก็ไม่ได้กลุ้มใจจริงๆ นอกจากนั้นยังมีหญิงแม่ค้าหาบห่อหมกขาย  แกวางหาบแล้วก็นั่งพิงผนังตึกข้างร้าน  เหม่อมองอย่างอ่อนอกอ่อนใจ  หมดอาลัยใยดีต่อโลกภายนอก  คงคิดว่าจะขาดทุนหรือกำไรเท่านั้น  เมื่อห่อหมกอยู่เต็มหาบ  ฝนก็ยังไม่หยุด  ข้าพเจ้าเข้าใจว่าแกเป็นคนบ้าจี้  เพราะทุกครั้งที่เสียงฟ้าร้อง  แกตกใจ  ทำท่ายกมือปัดป้องเหมือหลบหมัดหลบมวย  แล้วอุทานออกมาเป็นคำแปลกๆ ซึ่งบางคำคนธรรมดาไม่เคยได้ยิน  ทำให้เกิดขันและขำไปตามๆกัน  พอแก้เหงาในยามหลบฝนได้บ้าง

   ขณะนั้น  ได้ยินเสียงเด็กร้องไห้เสียงดังเป็นห้วงๆ และมีเสียงไม้เรียวกระทบเนื้อหนังดังคู่กันไปด้วย  ข้าพเจ้าหันหลังเข้าไปดูในร้านที่ยืนอยู่นั้น  ก็มองเห็นชายอายุประมาณสามสิบ  กำลังหิ้วแขนเด็กชายลากถูลู่ถูกัง  อีกมือหนึ่งใช้ไม้เรียวฟาดลงไปตามร่างกายของเด็กอย่างไม่เลือก  ปากก็ด่าว่าสั่งสอนอย่างอารมณ์ของผู้โกรธจัด  เมื่อไม้เรียวฟาดถูกกลางหลังเด็ก  เด็กก็ร้องดังขึ้นทุกครั้ง  

   เด็กคนนั้นคะเนอายุไม่เกิน ๗ ขวบ  ซึ่งทำให้พวกที่หลบฝนอยู่ต่างมองดู  นึกตำหนิในใจว่า  ทำโทษเด็กคนนั้นหนักเกินไป  ต่างก็สงสารเด็กน้อยซึ่งถูกเฆี่ยนตีอย่างทารุณ  เพราะผู้ใหญ่เป็นทาสของอารมณ์โกรธ  แต่เราไม่รู้จะทำอย่างไร  เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นญาติหรือผู้คุ้นเคยกับชายผู้นั้นมาก่อน  เราเพียงแต่เป็นผู้หลบฝน  เมื่อฝนหายแล้วต่างก็แยกย้ายกันไปคนละทาง  นึกสงสารเด็กและติเตียนผู้ใหญ่อยู่ในใจ  และคิดว่ามีทางใดที่จำทำให้ชายผู้นี้ยุติการเฆี่ยนเด็กได้บ้าง

   แต่ทันใดนั้น  ข้าพเจ้าเห็นพระภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้าไปในร้าน  ใช้มือแตะแขนชายผู้นั้น  ซึ่งก้มหน้าก้มตาใช้ไม้เรียวหวดลงไปตามร่างายของเด็ก  มิได้เอาใจใส่ต่ออย่างอื่น  มุ่งแต่จะให้คลายอารมณ์ด้วยการเฆี่ยนตีเท่านั้น  เมื่อมีผู้มาแตะแขนก็เงยหน้าขึ้นมอง  พอเห็นเป็นพระภิกษุ  ชายผู้นั้นก็เปลี่ยนเป็นคลายความโกรธ และรู้สึกได้สติขึ้นบ้าง  วางไม้เรียวแล้วปล่อยแขนเด็ก  ยกมือแสดงความเคารพ  แล้วนิมนต์ให้นั่งเก้าอี้ทันที  ข้าพเจ้านึกชมในใจว่า  ชายนี้แม้จะอยู่ในอารมณ์โกรธ  แต่ก็ยังมีจิตใจเป็นกุศล  รู้จักเคารพสงฆ์ผู้ทรงศีล

   ข้าพเจ้าได้ยินพระองค์นั้นกล่าวว่า

   “อาตมาขอบิณฑบาต  หยุดเฆี่ยนหนูคนนี้ไว้ก่อนเถิดโยม  แกเป็นบุตรของโยมใช่ไหม?”

   ชายผู้นั้นตอบว่า บุตรของผมเองครับหลวงพ่อ  แต่มันซนดื้อด้านสิ้นดี  ผมเฆี่ยนตีสั่งสอนเท่าใดก็ไม่จดจำ  ทำให้เกิดโมโหต้องเฆี่ยนกันเสมอไป

   เด็กน้อยครั้นเห็นพระมาช่วยให้พ้นจากการถูกเฆี่ยน  ก็หยุดร้องไห้นั่งกับพื้นฟังพ่อกับพระพูดกัน  ทั้งน้ำตายังไม่ทันแห้ง  ชายผู้นั้นพูดว่า

   “ผมห้ามไม่ให้วิ่งเล่นน้ำฝนเวลาฝนตก  ห้ามแล้วห้ามอีกมันก็ไม่ฟังเสียง  เผลอหน่อยเดียวก็ออกไปวิ่งเล่นอีกแล้ว  ร้องเรียกเท่าไรมันก็ไม่กลับมา  มันกวนโมโหเหลือเกินหลวงพ่อ  อยากจะตีให้มันเนื้อแตกดีกว่าจะให้มันไปถูกรถชน

   พระภิกษุรูปนั้นยิ้มอย่างอารมณ์เย็น  แล้วพูดว่า

   “จริงของโยม  คนเราเมื่อมีความโกรธขึ้นมาแล้วก็ลืมอะไรหมดทั้งสิ้น  มุ่งแต่จะทำสิ่งที่ให้สมกับความโกรธ  ไม่นึกถึงเหตุผลจะผิดหรือถูกอย่างไร  ความโกรธทำให้คนดีกลายเป็นคนบ้าไประยะหนึ่ง  ทำให้เกิดเหตุร้ายแรง  และทำให้เกิดฆาตกรรมขึ้นบ่อยๆ เพราะเหตุไม่มีสติเหนี่ยวรั้งอารมณ์ไว้  กว่าจะรู้สึกตัวว่าได้ทำอะไรลงไป  มันก็สายเกินไปที่จะแก้ไข  

   นี่แหละโยม  ขอให้ยับยั้งความโกรธไว้ก่อน  อาตมาเห็นว่าลูกชายของโยมคนนี้แกยังมีอายุน้อย  ความนึกคิดก็น้อยตามอายุไปด้วย  การพูดจาสั่งสอนอย่างธรรมดา  แกก็ไม่ค่อยจะเข้าใจอยู่แล้ว เพราะแกยังเด็กมาก  จะพูดจาอะไรให้แกรู้อย่างผู้ใหญ่นั้นไม่ได้  ยิ่งสอนพลางตีพลางให้แกเจ็บให้แกกลัวนั้น  ไม่ได้ผล  เด็กจะเจ็บตัวเปล่า ๆ   ไหนแกจะคอยระวังไม้เรียว  จะสั่งสอนอะไรแกไม่คิดจำทั้งสิ้น  แกจะคอยระวังไม้เรียวอย่างเดียว  จะให้รับปากอะไร  ไม่ให้แกทำอะไร  แกก็รับปากทุกอย่าง  ขออย่างเดียวขอให้หยุดเฆี่ยนไว้ก่อนเท่านั้น  การที่โยมเฆี่ยนลูกก็เพื่อสั่งสอนเพราะรัก  โยมคงไม่อยากจะเฆี่ยนเพื่อดับโมโห  ขอโยมจงพิจารณาดูที่อาตมาพูดมานี้  เป็นความจริงไหม?”

   ชายผู้นั้นตอบว่า  จริงครับหลวงพ่อ  ถูกอย่างหลวงพ่อพูด  ยิ่งตีมันเวลาถูกเฆี่ยน  มันรับปากทุกอย่างขอไปที  แต่แล้วมันก็ลืม  ผมหมดปัญญาสั่งสอนมันแล้ว  เจ็บใจนักเลี้ยงลูกไม่อยู่ในโอวาทเหมือนลูกคนอื่นเขา  จึงต้องเฆี่ยนเพราะโมโห

   พูดแล้วแกก็แสดงความน้อยอกน้อยใจ  พระองค์นั้นท่านยิ้มอย่างเห็นใจ  แล้วปลอบว่า

   “อย่าท้อถอยเลยโยม  อาตมาดูท่าทางแกไม่น่าจะดื้อเลย  ท่าทางก็ฉลาด  ขอให้อาตมาซักถามแกสักหน่อย  บางทีแกจะดีขึ้น  โยมคงไม่ขัดข้องนะ

   ชายผู้นั้นรีบตอบว่า นิมนต์ครับหลวงพ่อ  บางทีมันอาจจะเชื่อหลวงพ่อดีกว่าผม

   ทันใดนั้น  พระก็จูงมือเด็กน้อยผู้นี้ลุกขึ้น  ซึ่งแกกำลังนั่งฟังพ่อกับพระสนทนากันเพลินอยู่  ท่านแสดงความเอ็นดูด้วยกิริยายิ้มแย้ม  ทำให้เด็กหายหวาดกลัว  เพราะท่านเป็นที่พึ่งให้พ่อหยุดเฆี่ยนได้  และท่านใจดีมิได้แสดงกิริยาท่าทางเกรี้ยวกราด ดุกรรโชกเหมือนพ่อของตัว  แล้วหันมาดูพ่อเหมือนจะแสดงให้รู้ว่า  ทีนี้พ่อตีหนูไม่ได้แล้วละ  พระท่านช่วยหนูแล้ว  คงนึกคิดตามภาษาเด็กๆ  แล้วตรงเข้าไปหาพระเพื่อขอความคุ้มครองและประจบ

   ท่านเอามือเชยคางเด็กน้อยขึ้นมาดูด้วยความเมตตา  พลางบอกให้พ่อเอาผ้าห่มมาเช็ดตัวเด็กให้แห้งและห่อไว้  ชายผู้นั้นบัดนี้คงได้สติ  ความโกรธที่มีอยู่ได้หายไปหมดสิ้นแล้ว  เด็กน้อยก็ลืมการถูกเฆี่ยนตี  เพราะตามธรรมดาของเด็กนั้นลืมง่ายหายเร็ว  พระท่านก็เริ่มถามว่า

   “หนูถูกเฆี่ยน  เพราะหนูไม่เชื่อฟังพ่อที่ห้ามไม่ให้วิ่งเล่นน้ำฝนที่ถนนใช่ไหม?”

   ท่านถามขึ้นเมื่อเห็นเด็กคุ้นกับท่าน  โดยไม่มีความกลัวเหลืออยู่  เด็กนั้นตอบว่า  ใช่ครับ  มันสนุกดี  อ้ายตี๋ลูกเจ๊กโกก็เล่น  เตี่ยมันไม่เห็นตี  อ้ายเปียหลังบ้านก็เล่นไม่เห็นแม่มันเฆี่ยน  มีพ่อเฆี่ยนหนูคนเดียว

   เด็กพูดด้วยความน้อยใจขึ้นมา  พระยิ้มแล้วลูบหลังอย่างเอ็นดู  แล้วพูดว่า  หนูเคยเห็นคนถูกรถชนไหม?”

   เด็กน้อยทวนคำ ถูกรถชนหรือครับ”  แล้วทำท่านึก  แล้วอุทานออกว่า   เคยครับ  เห็นคนวิ่งข้ามถนตรงโน้น”  พลางชี้มือออกไปข้างนอก  รถยนต์แล่นมาพอดีชนลงไปนอนกลางถนน  แล้วคนขับก็หยุดรถลงมาดู  คนนั้นนอนอยู่กลางถนนเลือดออกตามหน้าตามตัว  ร้องโอยๆ  แล้วตำรวจกับคนขับรถก็อุ้มขึ้นรถคันนั้นไป  เขาว่าคงไปโรงพยาบาล  หนูกับอ้ายเปียยังวิ่งไปดู

   พระยิ้มด้วยความพอใจ  แล้วถามว่า  หนูกลัวไหมรถยนต์ชนกลัวมากไหม?”

   เด็กตอบทันทีว่า  หนูกลัวครับ  กลัวมากครับ”   แล้วแสดงกิริยาหวาดกลัวขึ้นมาทันที

   พระท่านพูดต่อไปว่า  นี่แหละหนู  พ่อเขารักหนูมาก  กลัวว่าหนูวิ่งเล่นน้ำฝนแล้วรถมาชนหนูเหมือนคนนั้น  พ่อก็ไม่รู้แม่ก็ไม่เห็น  เขาอุ้มหนูไปโรงพยาบาล  หนูไม่ได้พบแม่ ต้องร้องไห้หาพ่อหาแม่  ต้องไปนอนคนเดียว  หนูไม่คิดถึงพ่อแม่หรือ?”

   ทันใดเมื่อพระพูดขาดคำ  หนูน้อยก็ร้องขึ้นว่า  หนูไม่ไป  หนูไม่ไป  หนูจะอยู่กับพ่อ  หนูจะอยู่กับแม่ที่บ้าน  หนูกลัวครับ

   เด็กน้อยพูดขึ้นด้วยความหวาดกลัวอย่างจริงใจ พระท่านพูดต่อไปว่า  หนูไม่ต้องตกใจ  พ่อเป็นคนที่รักหนูมาก  พ่อจึงไม่อยากให้หนูถูกรถชน  พ่อจึงห้ามหนูไม่ให้วิ่งเล่นน้ำฝนตามถนน  กลัวหนูจะถูกอุ้มไปนอนโรงพยาบาลคนเดียว  ไม่เห็นพ่อไม่เห็นแม่  หนูไม่เชื่อ  พ่อจึงเฆี่ยนหนู

   พระท่านพูดแล้วทิ้งระยะช้าๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจดีขึ้น  เมื่อท่านพูดขาดคำ  เด็กก็ร้องขึ้นว่า  หนูไม่วิ่งเล่นน้ำฝนอีกแล้ว  หนูกลัว” พลางเด็กน้อยเหลียวมาหาพ่อ  ซึ่งบัดนี้แกลืมการถูกเฆี่ยนแล้ว  จิตใจก็มีอยู่อย่างเดียวคือไม่ยอมจากพ่อจากแม่

   บัดนี้  ใบหน้าแห่งความโกรธเคืองเกรี้ยวกราดของผู้เป็นพ่อเมื่อก่อนนั้นได้หายไปสิ้นแล้ว  คงเหลือแต่ความสงสารเมตตากรุณาและความรัก  ซึ่งเป็นธาตุอันแท้จริงของผู้เป็นพ่อ  น้ำตาไหลซึมออกมาจากเบ้าตาของผู้เป็นพ่อ  เขาอ้าแขนรับเมื่อเด็กโผเข้าหาแล้วกอดคอพ่อไว้แน่น  เป็นการสารภาพผิดในตัวความรู้สึกของมันแล้ว  เป็นภาพสะเทือนใจแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก  ข้าพเจ้าเองก็พลอยสะอื้นในทรวงอกด้วยความปีติยินดีที่ได้เห็นภาพเช่นนี้

   เมื่อเห็นเรื่องลงเอยอย่างสดชื่นเช่นนั้น  ข้าพเจ้าจึงหันไปดูทางบรรดาเพื่อนร่วมหลบฝน  ซึ่งได้พากันกลับเมื่อใดข้าพเจ้าไม่ได้สังเกต  ปรากฏว่าฝนหยุดแล้ว  เหลือแต่ข้าพเจ้ายังเพลินต่อเหตุการณ์ที่ได้เห็นในวันนั้น  ก่อนกลับข้าพเจ้าไม่ลืมเหลือบดูหมายเลขบ้าน และคิดมาตลอดมา  ครุ่นคิดถึงคำพูดของพระ ของเด็ก และผู้เป็นพ่อ

   ต่อจากนั้นประมาณ ๗-๘ เดือน  ข้าพเจ้าได้ผ่านไปทางเก่า ที่เกิดเหตุเมื่อวันฝนตกหนักนั้นอีก  ข้าพเจ้าถือโอกาสไปซื้อของบางอย่างที่ไม่จำเป็นในร้านนั้น  ต้องการเพียงเป็นสื่อสนทนา  เพราะข้าพเจ้าจำพ่อของเด็กคนนั้นได้  แกกำลังอยู่ในร้าน  เมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ข้าพเจ้าถือโอกาสถามถึงบุตรชายของแก  และเท้าความถึงวันฝนตกเมื่อ  ๗-๘ เดือนมาแล้ว  และพระองค์หนึ่งได้ขอบิณฑบาตการเฆี่ยนตีเด็ก  เมื่อเจ้าของร้านได้ทราบเช่นนั้น  ตาแกลุกวาวยิ้มออกมาด้วยความยินดีและพอใจ  แสดงกิริยาต้อนรับข้าพเจ้าอย่างเป็นกันเองทันที  เชิญข้าพเจ้านั่งเหมือนคุ้นเคยกันมาแรมปีก็ไม่ปาน  เหมือนว่าข้าพเจ้าถามไปถูกใจแก  ซึ่งอยากจะเล่าให้ใครๆฟังอยู่แล้ว  เมื่อมีคนมาถามขึ้นเช่นนั้นก็เป็นที่ถูกใจ

   แกเล่าให้ฟังว่า  ตั้งแต่วันนั้นผมไม่เคยเฆี่ยนลูกผมอีกเลย  ผมเชื่อหลวงพ่อท่านว่า  คนเราส่วนมากเฆี่ยนตีลูกเพื่อดับโมโห  ไม่ใช่เฆี่ยนตีเพื่อสั่งสอน  เป็นความจริงส่วนมากครับคุณ

   แกยิ้มอย่างเป็นสุขและพอใจ  แล้วพูดว่า  บัดนี้ลูกผมเป็นคนว่านอนสอนง่ายไม่เหมือนก่อน  จะพูดอะไรก็เข้าใจง่าย  เพราะผมใช้คำพูดง่ายซ้ำๆ สำหรับเด็กอายุ  ๗-๘ ขวบ  พอจะเข้าใจได้  เด็กยังมีอายุน้อย  ความคิดก็น้อย  สิ่งใดที่ผู้ใหญ่เข้าใจ  เด็กย่อมไม่เข้าใจเป็นส่วนมาก  นี่แหละครับคุณ  หลวงพ่อท่านอบรมลูกผมวันนั้น  ผมจึงได้สติ  ต่อมาผมไม่ยอมเป็นทาสของอารมณ์โกรธต่อไป

   แล้วข้าพเจ้าก็เห็นหญิงสาวคนหนึ่ง  อุ้มเด็กออกมาจากข้างใน  เด็กคนนั้นอายุประมาณ ๖-๗ เดือน  หน้าตาน่าเอ็นดู  ชายผู้นั้นก็แนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักว่าเป็นภรรยา  และเล่าต่อไปว่า  เมื่อวันฝนตกหนักนั้น  ภรรยาของแกได้คลอดบุตรได้เพียง ๓-๔ วัน  พลางบอกภรรยาว่า

   “คุณผู้นี้  แกมายืนหลบฝนที่นี่  และเห็นหลวงพ่อท่านมาอบรมสั่งสอนลูกเราวันนั้นด้วย

   ภรรยาแกหันมาทำความเคารพข้าพเจ้า  แล้วพูดว่า  ลูกดิฉันนับแต่วันนั้นมา  แกดีขึ้นผิดเป็นคนละคน  ซนน้อยลง  รู้อะไรๆมากขึ้น  วันอาทิตย์หยุดเรียน  ดิฉันก็ให้พ่อเขาพาไปหาหลวงพ่อที่วัด  ท่านใจดีรักเด็กและเด็กก็ติดท่าน

   ทั้งสองสามีภรรยาได้กล่าวถึงบุตรและพระด้วยความยินดี  คิดว่าคงจะได้ระบายความรู้สึกของตนให้ผู้อื่นทราบ และมีความภูมิใจ

   เมื่อข้าพเจ้าลากลับ  ทั้งคู่ยังสั่งว่า  หากข้าพเจ้าผ่านมาทางนี้ขอให้แวะเยี่ยมแกด้วย  คงจะเห็นข้าพเจ้าสนใจ  จึงทำให้รู้สึกเกิดความสนิทสนมขึ้นอย่างรวดเร็ว 

   ข้าพเจ้าต้องขออภัย  หากจะมีบางท่านคิดว่า  ข้าพเจ้าเอาเรื่องข้างถนนมาใส่ใจ  แต่ข้าพเจ้าก็เห็นว่า  เรื่องนี้แม้จะไม่เป็นประโยชน์ทั่วไป  ก็คงมีประโยชน์สำหรับบางท่านบ้างไม่มากก็น้อย  จึงได้เก็บมาเล่าสู่กันฟัง

จบเรื่องที่ ๑๗
ขอความดีงามจงบังเกิดกับท่านผู้อ่าน
ขออุทิศแด่ท่านอาจารย์ ทองหยก เลียงพิบูลย์ เจ้าของวรรณกรรมอิงธรรมะชุดนี้
 และขอขอบพระคุณท่าน พลเรือเอก ทวีชัย เลียงพิบูลย์ และทายาท(เจ้าของลิขสิทธิ์)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น