เรื่องที่ ๑๕
สร้างทุกข์
เรื่องนี้ถึงเหตุการณ์จะเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่
๒ มาแล้วก็ตาม ข้าพเจ้าก็อดคิดไม่ได้ว่ามันอาจเป็นตัวอย่างที่เป็นประโยชน์อันหนึ่งสำหรับอนุชนรุ่นหลัง
ในทางที่จะช่วยยับยั้งจิตใจของผู้ที่กำลังประสบเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับเรื่องนี้
มิให้ต้องตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ ดังที่ข้าพเจ้าได้พบและบรรยายต่อไปนี้
ณ วันหนึ่งก่อนสงครามโลกครั้งที่แล้ว
ข้าพเจ้าได้บัตรเชิญไปทานอาหารในงานมงคลสมรสของบ่าวสาว ซึ่งได้จัดให้มีขึ้น ณ
ภัตตาคารที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ครั้นถึงวันกำหนดในตอนเช้า
ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจะออกจากบ้านไปทำงาน ข้าพเจ้าก็ตั้งใจไว้ว่า
วันนี้ต้องจัดเอาของขวัญชิ้นหนึ่ง เพื่อไปในงานสมรสที่ได้รับเชิญในคืนนี้ แต่ยังไม่ทันที่จะออกจากบ้าน
เจ้าบ่าวกับพวกอื่นๆ ก็มาหาที่บ้านขอร้องให้ไปงานสมรสคืนนี้ให้ได้
เพราะเขานับถือข้าพเจ้าเสมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง
ที่เขามากำชับเตือนเพราะกลัวว่าจะลืม ข้าพเจ้าก็รับปากว่าคืนนี้ต้องไปแน่ เพราะคุ้นเคยสนิทสนมกับบิดาของเขาดี
และแม่เจ้าบ่าวก็นับถือเรียกข้าพเจ้าว่าอา
เย็นวันนั้น
ข้าพเจ้าก็ตรงไปภัตตาคารตามเวลาที่แจ้งไว้ในบัตรเชิญ
เมื่อขึ้นไปชั้นบนที่เขาจัดเลี้ยงอาหารก็เห็นผู้คนมาในงานมากมาย
ข้าพเจ้าได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าภาพและถูกเชิญไปนั่งโต๊ะมุมหนึ่ง
ซึ่งมีผู้ใหญ่นั่งอยู่หลายท่านจึงร่วมวงสนทนากัน
ข้าพเจ้าสังเกตดูรู้สึกว่าการจัดงานคราวนี้เป็นงานที่มโหฬารใหญ่โต
โต๊ะอาหารพร้อมด้วยสุราต่างประเทศอย่างดี
จัดตั้งเรียงรายไว้สำหรับบรรดาแขกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นยังมีดนตรีและเครื่องขยายเสียง นักร้องหญิงชายมีชื่อเสียงออกมาครวญเพลงด้วยเสียงอันไพเราะ
และมีพวกหนุ่มๆ สมัครออกมาร้องเพลงทั้งไทยและเทศตามที่ถนัด บรรยากาศในห้องโถงใหญ่เต็มไปด้วยความสนุกสนานรื่นเริงน่าเพลิดเพลินสำหรับชีวิตหนุ่มสาวยิ่งนัก
ข้าพเจ้านึกชมอยู่ในใจว่าเจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าวช่างจัดงานได้หรูหราถึงเพียงนี้ ทั้งๆ
ที่ฐานะก็ไม่ได้มั่งมีมากมายอะไรเลย ฐานะของเจ้าสาวก็มีสภาพเช่นเดียวกัน
หลังอาหารมีการให้ศีลให้พรคู่บ่าวสาว
และเจ้าภาพก็ได้แสดงความขอบคุณแขกที่มาในงาน
เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วข้าพเจ้าก็ลากลับ
จากระยะเวลานั้นไม่นานนักข้าพเจ้าก็ลืมงานสมรสอันหรูหรานั้นสิ้น
นับจากคืนวันนั้นเป็นเวลา ๑ ปีกว่า ข้าพเจ้าได้ไปรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อนๆ
ที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าไป
ก็เห็นชายผู้หนึ่งกำลังรับประทานอาหารอยู่กับเพื่อนหลายคน
ชายผู้นั้นคือเจ้าบ่าวที่ข้าพเจ้าไปในงานสมรสของเขาเมื่อปีที่แล้วนั้นเอง
รู้สึกว่าเขาดีใจมากที่เห็นข้าพเจ้า รีบลุกขึ้นจากโต๊ะตรงเข้ามาหา
และเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าไปร่วมโต๊ะกับเขา แต่ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้ามากับเพื่อนหลายคน
พลางชี้ไปที่เพื่อนๆที่เดินนำหน้าไปก่อน และถือโอกาสถามเขาว่า
“เป็นอย่างไรหลานชาย สบายดีหรือ
มีลูกกี่คนแล้ว”
แทนที่เขาจะตอบด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส
ตามธรรมดาของคนหนุ่มที่เพิ่งแต่งงานปีกว่า
ใบหน้าของเขากลับสลดลงพร้อมกับระบายความในใจออกมาว่า
“ไม่ไหวหรอกครับคุณอา ผมแย่
ภรรยาก็เริ่มตั้งท้อง หนี้สินเมื่อครั้งแต่งงานก็ยังใช้ไม่หมด การงานก็ไม่เดิน
เงินก็ยิ่งหายากเต็มที ถ้ามีลูกก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ผมกลุ้มใจจริงๆ
อยากจะตายให้พ้นทุกข์พ้นร้อนไปสักที”
ข้าพเจ้าไม่นึกว่าจะได้ยินคำเหล่านี้
เพราะเมื่อแต่งงานก็เห็นรื่นเริงและมีความสุขดี
แต่บัดนี้ร่องรอยความสุขไม่เหลืออยู่เลย ข้าพเจ้าตบไหล่เขาเบาๆ แล้วปลอบใจว่า
“อย่าเพิ่งคิดสั้นอย่างนั้น
เกิดมาเป็นคนทำอะไรก็มีผิดพลาดบ้าง ค่อยๆ แก้ไขซิ คิดดูให้ดีๆ”
เมื่อเห็นข้าพเจ้าให้สติและให้ความเห็นอกเห็นใจเช่นนั้นสีหน้าก็ดีขึ้นบ้าง
เขาขอตัวข้าพเจ้ากลับไปขอโทษเพื่อนที่ร่วมนั่งโต๊ะเดิมเพื่อขอเวลาสนทนา
แล้วเดินตามข้าพเจ้ามา เราใช้เวลาที่เพื่อนๆกำลังยุ่งอยู่กับการสั่งอาหารมาสนทนาซักถามถึงเรื่องราวของเขาจึงทราบว่า
การแต่งงานคราวนั้นต้องไปกู้ยืมเขามาแต่ง การแต่งงานที่มีหน้าตาย่อมใช้เงินมาก
แต่ภายหลังการแต่งงานถึงปีกว่าแล้ว เงินที่กู้ยืมมาก็ยังใช้เขาไม่ถึงครึ่ง
ข้าพเจ้าไม่ได้ติเตียนเขาในสิ่งที่ล่วงมาแล้ว
เพราะอาจทำให้เขากระทบกระเทือนใจมากขึ้น
โดยคิดว่าแค่นี้แกก็ได้รับความทุกข์และรู้สึกตัวพอแล้ว
เวลานี้แกก็มีทุกข์หนักอยู่ในใจเรื่องหนี้สิน แต่ก็อดนึกตำหนิในใจไม่ได้ว่า
แกอยากเอาหน้าเอาตาเพียงชั่วระยะวันกับคืนเดียว
ดูไม่สมกันเลยที่ตัวเองต้องมาใช้หนี้เขาไม่รู้จักสิ้นสุด เป็นการหาทุกข์ใส่ตัวแท้ๆ
ผู้คนที่ไปในงานคืนวันนั้นต่างก็ลืมกันหมดแล้ว
ตัวเองต้องทนทุกข์ต่อไปเป็นเรื่องที่น่าสงสาร และน่าเห็นอกเห็นใจอยู่เหมือนกัน
ข้าพเจ้าจึงถามว่า “หนี้สินใช้ไปเท่าไหร่ และยังเหลืออีกเท่าไหร่ล่ะ ?”
เขาตอบว่า “ไอ้ส่วนรายย่อยๆ
ผมใช้ไปหมดแล้ว เหลือแต่รายใหญ่ใช้ไปได้ประมาณ ๔๐%
เดี๋ยวนี้ผมไม่มีจะส่งใช้เจ้าหนี้แล้ว ไม่กล้าแม้แต่จะมองหน้าคอยแต่จะหลบหน้า
ผมกลุ้มใจเหลือเกิน วันนี้เผอิญเพื่อนเขามาจากต่างจังหวัดชวนมาทานอาหาร
จึงได้พบกับคุณอา ถ้ามิฉะนั้นคงไม่ได้พบ
ผมเองก็ไม่ได้เกียจคร้านคิดจะฉ้อโกงอย่างใด งานทุกสิ่งทุกอย่างผมทำได้ทั้งนั้น
ขอแต่ให้ได้ใช้หนี้แล้วกัน งานรับเหมาที่ผมเคยทำก็ไม่มี
ผมผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดทุนแล้ว”
ข้าพเจ้านิ่งฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ
แล้วถามเขาว่า “เจ้าหนี้รายใหญ่น่ะใคร อยู่ที่ไหน? เป็นคนหน้าเลือดหรือเปล่า ?”
เขาตอบว่า “เปล่าครับ
ท่านเป็นคนดีน่านับถือมาก ถ้าเป็นเจ้าหนี้อื่นผมคงไม่มีที่อยู่แล้ว
ผมรู้ตัวว่าผมเป็นคนไม่ดี ไม่สมกับที่ท่านไว้วางใจผม”
เขาพูดด้วยเสียงเครือๆ
ข้าพเจ้าถามอีกว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน ชื่ออะไร เพราะรู้สึกสนใจที่นานๆจะได้ข่าวที่ว่ามีลูกหนี้ชมเชยเจ้าหนี้สักครั้ง
“ท่านเป็นหลวงครับ ชื่อคุณหลวง….. อยู่ทางใต้ของพระนคร”
เมื่อข้าพเจ้าได้ยินชื่อคุณหลวง จึงถามว่า “รูปร่างเล็กๆ ขาวๆ ผมบางหน่อย หน้าตายิ้มแย้มอยู่เสมอใช่ไหม
และเวลานี้เป็นข้าราชการเบี้ยบำนาญ”
“ใช่แล้วครับ! ผมอายท่านเหลือเกิน
ไม่อยากจะพบหน้าเพราะพูดไว้ไม่เหมือนคำพูด
คุณอามีช่องทางจะช่วยเหลือแนะนำอะไรผมบ้างไหมครับ นึกว่าเอาผมไว้ใช้สักคนเถิดครับ”
ข้าพเจ้าเห็นหน้าแล้วก็สงสารอยากจะช่วย
เพราะเขาพูดอย่างซื่อๆ และเปิดเผยดี จึงแนะนำว่า
“อันที่จริงเราน่ะมันผิดมาตั้งแต่ต้นแล้วนะ
แต่ก็พอมีทางแก้ไขได้บ้าง ถ้าอาแนะนำหลานจะเชื่อและทำตามที่อาบอกไหม”
แกรีบตอบโดยเร็ว
ด้วยดวงหน้าและประกายตาที่ค่อยแจ่มใสขึ้นบ้าง
“ผมรู้ว่าคุณอาหวังดีต่อผม
บอกมาเถิดครับว่าจะให้ผมทำอย่างไร ถ้าเป็นความเห็นของคุณอาแล้วผมจะทำตามทุกอย่าง
ผมเคารพนับถือคุณอาเหมือนพ่อของผมก็ว่าได้”
ข้าพเจ้ายิ้มเมื่อได้ยินเช่นนั้น “ขอบใจที่นับถืออา ในเบื้องต้นนี้อาขอให้ความเห็นว่า
การที่คอยหลบหน้าเจ้าหนี้นั้น ถือกันว่าเป็นความผิดอย่างมากทีเดียว
ตลอดเวลาที่หลบเราต้องแบกเอาความทุกข์ไว้ด้วย มันเป็นการทรมานจิตใจหมดความสุขสบาย
และเราควรจะพูดความจริงเราต้องกล้าสู้หน้ากับความจริง
โดยเฉพาะกับคุณหลวงนี้ท่านเป็นคนดีมีศีลธรรม
ที่ท่านออกจากราชการเพราะท่านเกษียณอายุ และท่านเองก็ไม่ค่อยจะแข็งแรง
อารู้จักท่านดีตั้งแต่รับราชการอยู่ที่………… การที่ท่านยินยอมให้หลานกู้หนี้ยืมสินมานี้ ก็นับว่าเป็นพระคุณ
แม้ทรัพย์สินจะถูกใช้ไปในทางที่ผิดหรือถูกก็ตาม
เราก็ยังคงเป็นหนี้บุญคุณท่านอยู่เสมอ ฉะนั้น เราจึงควรมีความกตัญญูต่อท่าน
โดยไปหาท่านที่บ้านเล่าความจริงให้ท่านฟัง
มีหรือไม่ก็ต้องไปบอกและขอความเห็นใจจากท่าน
คนเราเมื่อได้พูดจากันคงจะเห็นใจกันบ้างไม่มากก็น้อย ถ้ามีก็ค่อยผ่อนใช้ไปบ้าง
ถ้าไม่มีก็ผลัดไป แต่ต้องไปมาหาสู่อยู่เสมออย่าหลบหน้า
มีอะไรที่จะช่วยท่านได้คอยรับใช้หรือเอาแรงงานเข้าช่วยไปก่อน
ที่อาพูดมานี้พอทำได้ก็เริ่มทำเสียเลย”
ข้าพเจ้าได้ย้ำถามเขาหลายหน
เขานิ่งคิดอยู่สักครู่หนึ่งก็ตอบว่า
“ความคิดของคุณอานี่ก็แปลกดีเหมือนกัน
ทีแรกผมคิดว่าจะหลบหน้าท่านจนกว่าจะหาเงินมาใช้ได้ครบ
แต่ถ้าทำอย่างนั้นใจมันก็ไม่มีความสุข ความสบายจริงๆ อย่างคุณอาว่า
ผมจะทำตามที่คุณอาแนะนำ บางทีอาจทำให้ผมสบายใจขึ้นบ้าง”
พอดีบ๋อยยกอาหารที่เพื่อนๆ
ข้าพเจ้าสั่งไว้มาตั้งบนโต๊ะ เขาจึงถือโอกาสกลับไปนั่งที่โต๊ะเดิม ต่อจากวันนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ได้พบเขาอีกเลยเป็นแรมปี
ครั้นวันหนึ่งข้าพเจ้าก็ได้พบคุณหลวงในงานพระราชทานเพลิงศพท่านข้าราชการเก่าผู้หนึ่ง
ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสสนทนากับท่านเพราะไม่ได้พบกันเป็นเวลานาน
และข้าพเจ้าก็ได้เรียนถามถึงลูกหนี้คนนั้น ซึ่งคุณหลวงก็เล่าให้ฟัง ตอนหนึ่งคุณหลวงเล่าว่า
“เอ้อ!
เมื่อพูดถึงเจ้าคนนี้มันก็แปลกดีเหมือนกัน เดิมมันคอยหลบหน้าหลบตาผมเรื่อย
เพราะเอาเงินมาใช้บ้างไม่ใช้บ้าง ต่อมามันกลับมาหาและบอกผมว่า
มันสำนึกในบุญคุณที่ผมได้ช่วยเหลือมันในยามขาดแคลน เมื่อยังไม่มีเงินนำมาคืนก็อยากจะช่วยทำงานขัดดอกไปก่อน
สุดแท้แต่จะให้ทำอะไร ผมได้ฟังก็เห็นใจ เพราะเคยเห็นลูกหนี้เมื่อไม่มีเงินมาใช้หนี้
ก็คอยหลบหน้าหลบตาเจ้าหนี้ทั้งนั้น ครั้นพบก็ผลัดเมื่อนั้นเมื่อนี้
แต่นายคนนี้มันแปลกดี จากวันนั้นมันก็ไปบ้านผมเสมอ ว่างเวลาไหนเป็นมา
บางทีก็พาเมียมาด้วย เมียเขาก็ช่วยเมียผมทำงานบ้าน เมียผมก็สงสารเอ็นดู
จนเมียเขาท้องแก่แต่ก็ยังมารับใช้ เมียผมเกิดสงสารขึ้นมาเลยเป็นธุระช่วยฝากท้อง
เป็นธุระในการคลอดบุตรทุกอย่าง นี่แหละนะ คนเราเมื่อเขามีมิตรจิต
เราก็ต้องมีมิตรใจตอบ จริงไหมคุณ?”
ข้าพเจ้าได้ยินเช่นนั้นก็พลอยยินดีไปด้วย รีบถามว่า
“แล้วหนี้สินที่ยังค้างอยู่นั่นล่ะครับ
ใช้หมดหรือยัง”
คุณหลวงหัวเราะอย่างใจดี
“ยังหรอกคุณ แต่ก็เหลือไม่เท่าไหร่หรอก
และผมก็ไม่สนใจแล้ว คนดีๆอย่างนี้หาไม่ค่อยได้
เวลานี้เขาก็เท่ากับเป็นสมาชิกในครอบครัวของผมเหมือนกัน ผมชอบที่เขาเป็นคนซื่อมีความกตัญญูทั้งผัวทั้งเมีย
นี่ก็ออกลูกมาเป็นชาย เมียผมสงสารเด็กเลยรักเหมือนลูกเหมือนหลาน
และผมก็ให้งานรับเหมาไป ๒ ราย และแนะนำไปที่อื่นอีกหลายแห่ง”
ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นยินดีมาก
ที่ได้ทราบว่าคำแนะนำของข้าพเจ้าได้ผลเกินคาดหมาย ข้าพเจ้าจึงพูดกับคุณหลวงว่า
“เป็นเคราะห์ดีของลูกหนี้ที่ได้เจ้าหนี้ใจบุญ
เพราะเจ้าหนี้ส่วนมากไม่ค่อยเห็นใจลูกหนี้
และลูกหนี้ก็ไม่เข้าใจเจ้าหนี้เลยทำให้เข้าใจกันไม่ได้
ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในพันด้วยซ้ำที่เป็นเช่นนี้”
คุณหลวงยิ้มแล้วพูดว่า
“มันประกอบกันคุณ ฝ่ายใดจะดีฝ่ายเดียวไม่ได้
เพราะตบมือข้างเดียวมันก็ไม่ดัง ต้องดีด้วยกันทั้งสองฝ่ายจริงไหมคุณ? ผมมาคิดดูเราก็อายุป่านนี้แล้วจะอยู่ไปกี่วัน จะทำหน้าเลือดขูดรีดไป
มันก็เป็นบาปเป็นกรรมติดตัวไปเปล่าๆ
คิดช่วยให้คนขัดสนให้เขาได้พึ่งก็เป็นกุศลเหมือนกัน”
เมื่อเราสนทนนากันถึงแค่นี้
ก็พอได้ยินเสียงพิณพาทย์ประโคมขึ้น พวกแขกทั้งหมดพากันยืนขึ้นแสดงความเคารพ
แล้วเดินเข้าแถวกันขึ้นไปวางดอกไม้จันทร์
ซึ่งเป็นพิธีการเผาศพขั้นต้นแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน
ต่อจากงานพระราชทานเพลิงศพมาประมาณ ๗-๘ เดือน
ก็ถึงเทศกาลขึ้นปีใหม่ วันนั้นข้าพเจ้าอยู่บ้านเห็นรถยนต์คันหนึ่งแล่นเข้ามาในบ้าน
และชายคนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าจำได้ว่า คือ เจ้าบ่าวคนที่ข้าพเจ้าแนะนำเขาไป
ลงมาจากรถพร้อมด้วยถาดซึ่งมีของเต็มอยู่ในมือ
ข้าพเจ้าเชิญให้เขาเข้าไปในห้องรับแขก เมื่อนั่งลงแล้วก็ทำความเคารพข้าพเจ้า
“ผมมากราบขอบพระคุณคุณอาครับ”
ข้าพเจ้าจึงถามว่า
“มาขอบคุณเรื่องอะไรกันล่ะ
ทำไมเอาของมาให้มากมายอย่างนี้”
“ผมถือโอกาสมาส่งความสุขปีใหม่ด้วยครับ
ภรรยาและบุตรก็ตั้งใจจะมากราบคุณอาพร้อมกัน
เผอิญวันนี้ที่บ้านคุณหลวงมีงานรื่นเริงสำหรับเด็กๆ ภรรยาผมจึงต้องไปช่วยทางโน้น
และคิดว่าวันหนึ่งคงได้มากราบคุณอา”
ข้าพเจ้าตื้นตันในความกตัญญูของเขา จึงตอบว่า “ขอบใจไม่ต้องลำบากหรอก เออ ! การงานเป็นอย่างไร ดีขึ้นบ้างไหม?”
“นี่สิครับ
ที่ทำให้ผมต้องมากราบขอบพระคุณคุณอาที่ได้ให้คำแนะนะ
เพราะตั้งแต่ปฏิบัติแล้วผมก็สบายใจ เพราะคุณหลวงและคุณนายเป็นคนใจดีมาก
ใจคอโอบอ้อมอารีเหมือนที่คุณอาพูด คุณหลวงได้ช่วยเหลือให้ผมได้งานทำ 2 แห่ง เป็นงานรับเหมา ซ้ำยังออกทุนให้ก่อน
พองานเสร็จผมก็มีเงินใช้หนี้จนหมดสิ้นเรียบร้อย เวลานี้ผมหมดความกังวลแล้วสบายใจ
ผมนึกถึงคุณอาเสมอ ตั้งใจจะมาหาหลายครั้งแต่ไม่มีเวลาว่างเลย พอดีวันนี้ปีใหม่งานหยุดจึงได้โอกาส”
“ความจริงอาไม่ได้ช่วยเหลืออะไรมากนัก
เพียงแต่แนะนำให้บ้างเท่านั้น ความดีนั้นอยู่ที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้อยู่ที่ผู้แนะนำ
หลานปฏิบัติได้ดีเป็นผลเกินกว่าที่อาคิดไว้ นี่แหละหลาน
คนเราเกิดมาไม่ว่าใครย่อมจะมีการผิดพลาดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่น้อยกว่าครั้งหนึ่งในชีวิต
แต่ก็ยังไม่ควรหมดอาลัยในชีวิต เราต้องอดทนต่อสู้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต
ขอให้ถือว่ามันเพียงความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาบดบังให้ปัญญาหายไปชั่วคราว
ถ้าได้ตั้งใจปัดเป่าความทุกข์ไปไว้เสียทางหนึ่ง แล้วใช้ปัญญาคิดแก้ปัญหาอยู่เสมอก็จะพบทางออกที่งดงาม
ดังเรื่องของหลานนี้”
จบเรื่องที่ ๑๕
ขอความดีงามจงบังเกิดกับท่านผู้อ่าน
ขออุทิศแด่ท่านอาจารย์ ทองหยก เลียงพิบูลย์
เจ้าของวรรณกรรมอิงธรรมะชุดนี้
และขอขอบพระคุณท่าน พลเรือเอก ทวีชัย
เลียงพิบูลย์ และทายาท(เจ้าของลิขสิทธิ์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น