วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธรูป.๗ พระพุทธชินราช

พระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร




พระพุทธชินราชได้รับการยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีลักษณะงดงามที่สุดในโลก มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว(2.875 เมตร) สูง๗ ศอก(3.5 เมตร) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขัดเงาเกลี้ยง


      พระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารทางทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร องค์พระนั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานชุกชีบัวคว่ำบัวหงายพระพักตร์หันไปทางทิศ ตะวันตก (ด้านริมแม่น้ำน่าน)

     พระพุทธชินราชมีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทอง ประดับเบื้องพระปฤษฎางค์ มีความปราณีตอ่อนช้อยงดงาม ช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราชงดงามเด่นชัดเจนยิ่งขึ้น

     พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย แต่มีลักษณะพิเศษที่ แตกต่างไปจากสุโขทัยคลาสสิก เพราะมี พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยองค์อื่น มีพระอุณาโลมผลิก อยู่ระหว่างพระโขนง พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆาฏิยาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ฝังด้วยแก้วนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปยุคสุโขทัย ส้นพระบาทยาว ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายของมีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่


     พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย ที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ต่างไปจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยแบบอื่นๆอย่างชัดเจน จัดเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัยหมวดพิเศษ 

ภาพ dhammathai.com

     ตามตำนาน การสร้างพระพุทธชินราช พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไทย) รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์พระร่วง ได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ พระพุทธรูป ที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันนั้น มี ๓ องค์ คือ

๑. พระพุทธชินราช หน้าตักกว้าง ห้าศอกคืบห้านิ้ว ณ วิหารใหญ่ทิศตะวันตก
. พระพุทธชินสีห์ หน้าตักกว้าง ห้าศอกคืบสี่นิ้ว ณ วิหารทิศเหนือ
. พระศรีศาสดา หน้าตักกว้าง สี่ศอกคืบหกนิ้ว ณ วิหารด้านทิศใต้


พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก

พระพุทธชินสีห์ ปัจจุบันอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารฯ

ภาพ วิกิพิเดีย พระศรีศาสดา ปัจจุบันอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารฯ

     ในการหล่อพระพุทธรูป เมื่อหล่อเสร็จแล้วยังมีทองเหลืออยู่ จึงเอามารวมกันหล่อเป็นพระพุทธรูป นั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักกว้างหนึ่งศอกเศษ เรียกพระนามว่าพระเหลือกับพระสาวกเป็นพระยืนอีก ๒ องค์ และอิฐที่ก่อเตาหลอมทองและสุ่มหุ่นในการหล่อพระได้เอามารวมกันก่อเป็นชุกชี สูงสามศอก ตรงตำแหน่งที่หล่อพระพุทธชินราชและปลูกต้นมหาโพธิ์บนชุกชี ๓ ต้น แสดงว่าเป็นมหาโพธิ์สถานของพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ทั้งสามองค์จึงเรียกว่า "โพธิ์สามเส้าสืบมา" พร้อมกันนั้นได้สร้างวิหารน้อยขึ้นระหว่างต้นโพธิ์หลักหนึ่ง และได้อัญเชิญพระเหลือพร้อมพระสาวกเข้าประดิษฐาน ณ ในวิหารนั้น วิหารน้อย หลังนี้นิยมเรียกกันต่อมาว่า " วิหารพระเหลือ" หรือ "วิหารหลวงพ่อเหลือ" ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธชินราชเยื้องไปทางใต้เล็กน้อย


ภาพ www.manager.co.th พระเหลือ

     เมื่อการสร้างพระพุทธรูปเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ ๑ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินราช ประดิษฐาน ณ พระวิหารใหญ่ด้านทิศตะวันตก พระพุทธชินสีห์ ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ พระศรีศาสดา ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศใต้

     ต่อมาถึงสมัยอยุธยาสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงปิดทองเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๑๔๖ และเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ ได้มีการลงรักปิดทองเต็มองค์อีกครั้งหนึ่ง และเป็นการถาวรอยู่จนทุกวันนี้       

     เมื่อ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จขึ้นมานมัสการพระพุทธชินราชครั้งที่ ๒ ได้ทรงสร้างบานประตูประดับมุกคู่หนึ่ง สำหรับพระวิหารพระพุทธชินราชติดอยู่ที่ประตูพระวิหาร ชั้นนอกจารึกที่บานประตูข้างขวาว่า " โปรดเกล้าฯ ให้ช่าง ๑๓๐ คน เขียนรายประดับมุก เมื่อ พ.ศ.๒๒๙๙ รวมเวลาประดับมุก ๕ เดือน ๒๐ วัน บานหนึ่ง ประตู ไม้จำหลักเดิม นำไปเป็น บานประตูพระวิหารพระแท่นศิลาอาสน์จังหวัดอุตรดิตถ์ (พระพุทธชินราช ในพระราชนิพนธ์ของ ร.๕ พ.ศ.๒๔๖๐)

 เนื่องจากพระพุทธชินราช มีลักษณะงดงามที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปในประเทศไทย และเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนทุกชั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดให้หล่อพระพุทธชินราชจำลองขึ้นใหม่เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) แล้วอัญเชิญไปประดิษฐาน เป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตร จังหวัดพระนคร (กรุงเทพฯปัจจุบัน)

     พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ที่ประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุปัจจุบันนี้เป็นพระพุทธรูปปั้นก่ออิฐถือปูน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างขึ้นใหม่แทน พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาองค์เดิม และอัญเชิญองค์เดิมไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหารฯ

ตำนานพระพุทธชินราช

     ตำนานการสร้างพระพุทธชินราชปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่า พระมหาธรรมราชาที่ (พญาลิไทย) รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐

     ตามพงศาวดารเหนือ ได้กล่าวเรื่องการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ตำนานนี้เป็นตำนานแบบเจือนิยายไว้ ปีพ.ศ.มีความแตกต่างกัน มีใจความว่า เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้โปรดให้สร้าง เมืองพิษณุโลก เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตรัสให้สร้างวัดพระรัตนมหาธาตุมีพระมหาธาตุ รูปปรางค์ สูง ๘ วาและ พระวิหารทิศ กับระเบียงรอบพระมหาธาตุ ทั้ง ๔ ทิศ

     โปรดให้ช่างชาวสวรรคโลก เชียงแสน และหริภุณชัย(ลำพูน) ร่วมมือกันสร้าง พระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธฺ์ ๓ องค์ สำหรับประดิษฐานในพระวิหารทิศ ได้เริ่มทำพิธีเททองหล่อ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ สัปตศกจุลศักราช ๓๑๗ (พ.ศ.๑๔๙๘) เมื่อกะเทาะหุ่นออกแล้ว ทองคงแล่นติดเป็นองค์พระบริบูรณ์เพียง ๒ องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ กับพระศรีศาสดา ส่วนพระพุทธชิราชทองไม่แล่นติดเต็มพระองค์ ต้องทำพิธีหล่อต่อมาอีก ๓ ครั้งก็ยังไม่สำเร็จ

      ครั้งหลังสุด พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ต้องตั้งสัจจาธิษฐาน แล้วทำพิธีเททองหล่อเมื่อ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศกจุศักราช ๓๑๙ (พ.ศ.๑๕๐๐) จึงสำเร็จเป็นองค์พระบริบูรณ์ในการหล่อครั้งหลังสุดนี้ปรากฏว่ามีปะขาวผู้หนึ่งจะมาแต่ใด ไม่มีใครทราบได้มาช่วยปั้นหุ่น และเททองหล่อพระด้วยเมื่อเสร็จพิธีหล่อพระแล้ว ปะขาวก็ออกเดินทางไปทางเหนือ พอถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็หายตัวไปไม่มีผู้ใดพบเห็นอีก

     ดังนั้นจึงเข้าใจกันว่าปะขาวผู้นั้นคือเทวดาแปลงตัวมาช่วยหล่อพระพุทธชินราช จึงได้พุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก เลยเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธรูปองค์นี้ยิ่งขึ้น ส่วนหมู่บ้านที่ปะขาวไปหายตัวนั้น ก็เลยได้นามในภายหลังว่า บ้านปะขาวหาย หรือตาผ้าขาวหาย มาจนทุกวันนี้

     พระวิหารพระพุทธชินราช เป็นวิหารเก้าห้อง เช่นเดียวกันกับวิหารพระอัฏฐารส แต่ย่อมกว่าเล็กน้อย ออกแบบแผนผังเป็นพิเศษ เพื่อเชิดชูพระพุทธชินราชให้เด่นขึ้น พื้นวิหารได้ลดระดับลงทีละน้อย เมื่อมองจากภายนอกพระวิหาร จะเห็นองค์พระพุทธชินราชอยู่ในระดับสายตาพอดี มีหน้ามุกโถง ลักษณะสถาปัตยกรรมเครื่องประดุ(ระบบการประกอบตัวไม้ขึ้นเป็นโครงสร้างหลังคา)เป็นโครงสร้างแบบสุโขทัย หลังคาซ้อนสามชั้น ชั้นบนสุดอยู่ตรงช่วงพระประธาน และมี หลังคาปีกนกสองชั้นเลยออกมาสี่ชั้น

ภาพ วิกิพิเดีย พระวิหารพระพุทธชินราช

ภาพ www.tinyzone.tv.com พระอัฏฐารส

     หน้าบันของมุกโถงเป็นแบบลูกฟักหน้าพรหมหรือจั่วภควัม ชั้นล่างสุดจำหลักไม้ เป็นรูปเทพพนม ช่วงละองค์ ล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ประกอบ และชั้นบนสุดตรงหน้าพรหมแกะสลักเป็นรูปแจกันดอกไม้ มีเทพยดายืนประนมมืออยู่ทั้งสองข้าง หน้าบันและลวดลายลงรักปิดทองทั้งหมด ปั้นลมมีลักษณะเส้นอ่อนโค้งน้อยๆ ประดับด้วยใบระกาแบบสุโขทัย มีหลังคาต่ำเพราะมีช่วง ปีกนกถึงสี่ชั้น ผนังจึงต่ำมาก หน้าต่างเป็นแบบลูกตั้ง ด้านละเจ็ดบานปิดเปิดได้ อยู่ระหว่างเสาแบน แต่ละบานเจาะช่องลม และช่องแสงสว่าง บานละหกช่องเป็นช่องเล็กๆ แสงสว่างผ่านเข้าออกได้น้อยมาก

     พื้นผนังภายในระหว่างช่วงหน้าต่าง มีงานจิตกรรมฝาผนังทุกช่อง แต่ละช่องมีรูปทวยเทพพับเพียบประนมกรกลุ่มละสามองค์ หันหน้าสู่พระประธาน พื้นหลังของเทพยดาเป็นลายดอกไม้ร่วง ยังคงมีสีสดใสงดงาม สองทางเข้ามีจิตกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดรชาดก และพุทธประวัติ อยู่ทางซ้ายและขวาตามลำดับ ส่วนผนังเบื้องหลังองค์พระพุทธชินราช นั้นใช้สีดำทา เป็นพื้นมีรูปเทพยดาประนมกรอยู่ข้างละองค์ ประดับด้วยลายดอกไม้ร่วงสีทองระยะห่างกันพองาม

     ภายในพระวิหารมีเสาร่วมในประธานสองแถวเป็นเสากลม ขนาดใหญ่แถวละเจ็ดต้น รับชายคาปีกนก อีกสองแถวเป็นเสากลมขนาดเล็กอีกแถวๆละเจ็ดต้น รวมเสาทั้งหมด ๒๘ ต้น เสาแต่ละต้นเขียนลายทองประดับพื้นสีดำ เป็นลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ช่วงคอเสาและเชิงเสาเขียนลายกรุยเชิงอย่างสวยงาม มีกลีบบัวซ้อนสลับกันห้าชั้น ลงรักปิดทองแวววาวรองรับขื่อและโครงสร้างแบบเครื่องประดุ ซี่งเป็นเครื่องบน ขื่อทาด้วยสีชาด ตอนหัวและท้ายขื่อเขียนประดับด้วยลายกรุยเชิง ตรงเสาและขื่อช่วงหน้าพุทธชินราชมีลายรวงผึ้ง และที่เสามีสลายสาหร่ายหัวนาคทั้งสองด้าน

     ปัจจุบันนี้ประชาชนทั่วประเทศต่างก็นิยมไปกราบนมัสการหลวงพ่อพระพุทธชินราช การเดินทางไปมีความสะดวกมาก ทั้งไปโดยรถส่วนตัว รถโดยสาร เครื่องบิน สามารถเดินทางไปถึงจ.พิษณุโลกได้อย่างสะดวกสบาย 

ภาพ วิกิพิเดีย
ภาพ วิกิพิเดีย

ภาพ www.tinyzone.tv.com

ภาพ www.dhammajak.com พระเหลือ


ภาพ www.dhammajak.com

เรียบเรียงจากประวัติวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ, วิกิพิเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น