กฏแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดย ท.เลียงพิบูลย์
เรื่องที่ ๑๓
ความดีที่เป็นมงคล
วันหนึ่ง
ข้าพเจ้ากำลังนั่งทำงาน
ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะเป็นเดือนเมษายน มองดูนาฬิกาก็เห็นว่าใกล้เพลเข้าไปแล้ว
จึงอยากจะเร่งมือให้งานเสร็จเรียบร้อยก่อนเที่ยง เวลาบ่ายจะได้มีเวลาพักผ่อน
ทันใดนั้น
ข้าพเจ้าก็มองเห็นเพื่อนผู้หนึ่งกำลังเดินเข้ามาหา แต่งกายไม่ค่อยจะเรียบร้อยและดูยับเยิน เหมือนว่าเกิดการต่อสู้ ล้มลุกคลุกคลานมาเช่นนั้น
แต่ใจนั้นคิดว่าคงจะไม่มีเหตุเช่นนั้นเกิดขึ้นแน่
เพราะเพื่อนผู้นี้เป็นคนรักสงบและมีนิสัยดี ตั้งแต่คบกันมาข้าพเจ้าก็มองเห็นแต่ความสุภาพเรียบร้อย จิตใจก็มีแต่ความเมตตากรุณา
คงจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งจึงทำให้มีสภาพเช่นนี้ เรื่องการชกต่อยทะเลาะวิวาทรับรองได้ว่าคงไม่มีแน่
เมื่อข้าพเจ้าเชิญให้นั่งแล้วก็เรียกเด็กเอาน้ำอัดลมมาให้ดื่ม แทนที่ข้าพเจ้าจะเป็นฝ่ายถาม แกกลับถามข้าพเจ้าว่า
“คุณรู้ไหมว่า ผมทำไมมีสภาพเช่นนี้”
ข้าพเจ้าบอกว่า “สงสัยเหมือนกัน กำลังจะถามอยู่แล้ว” แต่แทนที่แกจะตอบ แกกลับบอกว่า
“ประเดี๋ยว
ขอให้ผมเข้าไปทำความสะอาดในห้องน้ำก่อน
แล้วจะเล่าให้ฟัง”
ข้าพเจ้าจึงนั่งทำงานต่อไป จนแกออกจากห้องน้ำมานั่งดื่มน้ำอัดลม ข้าพเจ้าจึงเงยหน้าขึ้นพูดว่า
“ไง
เป็นอย่างไรมาอย่างไร
ถึงมีสภาพเหมือนหนุมานคลุกฝุ่นเช่นนี้
ลองเล่าให้ฟังซิ”
แกก็เริ่มเล่าว่า “คืออย่างนี้ ผมได้มีโอกาสพักร้อน ๒ อาทิตย์ แต่ไม่ได้ไปไหน หมายถึงไปตากอากาศ เมื่อตอนสายวันนี้ตั้งใจจะมาสนทนากับคุณเพราะคิดถึง
ก็ขึ้นรถประจำทางที่หน้าบ้านซึ่งเป็นต้นทาง พอจะมีที่ว่างนั่ง ระหว่างทางรถแวะส่งคนลงบ้าง รับคนขึ้นบ้าง
แต่คนลงน้อยกว่าคนขึ้น
คนก็ออกจะมากขึ้นเป็นลำดับ
ไม่ช้าคนที่ขึ้นมาภายหลังไม่มีที่นั่ง
ในจำนวนผู้โดยสารมีแม่ชีสูงอายุผู้หนึ่ง ต้องยืนเพราะไม่มีใครจะสละที่นั่งให้
ผมก็รู้สึกสงสารและเห็นใจผู้ที่มีอายุทั้งยังเป็นผู้ทรงศีล จึงลุกขึ้นเพื่อจะเชิญให้นั่ง แต่พอผมลุกขึ้นไม่ทันสุดตัว ไม่ทันเชิญให้แม่ชีนั่ง
ก็มีเถ้าแก่ผู้หนึ่งแกรีบเบียดตัวลงไปนั่งทันที ทีนี้ผมจะทำอย่างไร นึกว่าจะโกรธเถ้าแก่คนนั้นก็ไม่ถูก
และผมเองก็ไม่ชอบโกรธใคร
เพราะความโกรธย่อมจะเกิดเรื่องไม่ดีไม่งามตามมาทีหลัง เรื่องเล็กๆน้อยๆก็อาจจะเป็นเรื่องใหญ่โตได้
มาคิดดูว่ามันเป็นความผิดของผมเอง
ที่ไม่บอกเชิญให้แม่ชีทราบก่อน
แล้วจึงลุกขึ้นให้นั่งภายหลัง
ถ้าทำเช่นนี้ก็คงเรียบร้อย
ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องไปคิดอีก
แต่ผมลุกขึ้นแล้วจะเชิญให้แกนั่งที่หลังนั้น เป็นความผิดของผมเองจะโทษใครไม่ได้ เพราะเถ้าแก่คนนั้นอยู่ใกล้กว่า คงนึกว่าถึงจุดหมายปลายทางที่ผมจะลง ฉะนั้น พอผมลุกยังไม่ทันสุดตัว แกก็เอาก้นหย่อนไปเบียดแทนที่ผม เพราะแกกลัวคนอื่นจะแย่งนั่งเสียก่อน
ตกลงผมก็ต้องมายืนเอามือเกาะราวแทนเถ้าแก่ผู้นั้นต่อไป หันไปมองก็เห็นแกนั่งอย่างสบายใจอย่างไม่รู้ไม่ชี้
ผมไม่รู้จะทำอย่างไรก็ได้แต่นึกตำหนิตัวเองอยู่ในใจว่าเรามันเซ่อ
จะทำอะไรต่อไปควรจะรอบคอบและละเอียดกว่านี้ อดคิดไม่ได้ว่าคนอื่นเขาจะหันมามองเห็นผมเป็นตัวตลก ชอบห้อยโหนมากกว่าชอบนั่ง
จึงอุตส่าห์สละที่นั่งให้เถ้าแก่ผู้ที่ยังแข็งแรงผู้นี้นั่ง ผมนึกแล้วชักจะอายอยากจะลงจากรถเดินไปดีกว่า แต่มาคิดดูทางมันยังอีกไกลมาก และปลอบตัวเองว่า เรามันคิดมากไปเอง ไม่มีใครสนใจเรา
ถ้าจะคิดคงเป็นความเวทนามากกว่าที่จะยิ้มเยาะ สู้ยืนบนรถประจำทางดีกว่าเดินไปตามถนน เพราะมันถึงเร็วกว่าแน่ และไหนๆก็เสียสตางค์แล้ว คิดได้ก็สงบ
หันไปเห็นแม่ชีแกยิ้มให้เหมือนจะเป็นความหมายของคำพูดที่ว่า “ขอบใจที่อุตส่าห์สละที่ให้ยายนั่ง แม้ยายจะไม่ได้นั่ง แต่ก็ขอขอบใจที่มีน้ำใจดีด้วย” แล้วผมก็ไม่ได้คิดอะไรอีก
รถได้แล่นไปตามเส้นทางตลอดมา พอมาถึงสี่แยกแห่งหนึ่ง ผมและผู้ที่ยืนเกาะราวต่างๆ
เซมือหลุดจากที่เกาะ
ต่างล้มไม่เป็นท่า
เพราะรถได้ห้ามล้ออย่างกะทันหัน
เสียงยางเสียดครูดไปกับถนน คนที่ยืนเกาะราวอยู่เพลินๆบางคนก็หงายไปข้างหลัง
บางคนก็คะมำไปข้างหน้า
แล้วแต่ผู้ยืนจะหันหน้าไปข้างไหน
ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียง “โครม” ใหญ่
รู้สึกรถสั่นสะเทือนและกำลังตะแคงจะล้มมิล้มแหล่ แต่แล้วก็กลับทรงตัวอยู่ได้ ปรากฏว่าได้ถูกรถประจำทางอีกคันหนึ่งชนเอากลางคัน ต่างคนต่างก็เหยียบห้ามล้อไว้
ฉะนั้น พอหัวอีกคันหนึ่งวิ่งชนเข้ากลางคัน รถที่ผมโดยสารมาก็หยุดพอดี ถ้าแรงอีกหน่อยก็คงจะชนคว่ำ คงจะบาดเจ็บสาหันไปตามๆกันแน่ พวกเราล้มครั้งที่สอง
เพราะล้มครั้งแรกยังไม่ทันลุกขึ้นตั้งตัวได้เรียบร้อย ต่างก็กลิ้งลงไปนอนระเกะระกะซ้อนกันอยู่ในรถ ผมเองอยู่ข้างล่างแย่สักหน่อย กว่าผู้ล้มอยู่ข้างบนจะลุกขึ้นหมด ผมก็ขัดยอกไปทั้งตัว รีบลุกขึ้น
ปัดฝุ่นที่เสื้อผ้าให้เรียบร้อยหายยู่ยี่บ้างพอสมควร แล้วก็รีบลงจากรถมายืนดูอยู่ข้างถนน และยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เพราะยังตื่นเต้นอยู่ แล้วก็เห็นตำรวจจราจรหลายนาย บางนายก็คุมตัวคนขับไว้ และประชาชนเข้ามามุงดู ต่างพูดกันเซ็งแซ่และเถียงกันว่าใครผิดใครถูก เกือบจะเอาศัพท์อะไรไม่ได้
ทันใดนั้น
ผมก็ได้ยินเสียงเด็กกระเป๋าร้องบอกว่า “ยังมีคนอยู่บนรถอีกคนหนึ่ง ลุกไม่ได้”
เสียงครางอยู่บนรถด้วยความเจ็บปวด ผมชะโงกไปดูบนรถเห็นคนนอนมือกุมศีรษะอยู่ ทันใดเด็กกระเป๋ากับตำรวจก็ขึ้นไป สักครู่ก็เห็นครึ่งหามครึ่งพยุงคนป่วยลงมา แกเดินไม่ไหว
ตำรวจกับเด็กกระเป๋าต้องใช้บ่าแบกใต้รักแร้คนละข้าง
แล้วมีผู้ชายผู้หนึ่งตรงไปยกเท้าทั้งสองข้างไม่ให้ลาก ตำรวจอีกผู้หนึ่งเข้าช่วยพยุงคอไว้ พอผมเห็นหน้าคนป่วยก็ตกตะลึง”
พอแกเล่ามาถึงตอนนี้ก็หยุด
แสดงว่าแกเกิดตื่นเต้นขึ้นมาอีกในสิ่งที่เพิ่งผ่านมาสดๆ
ข้าพเจ้าก็อยากรู้จึงถามว่า “เป็นญาติหรือคนรู้จักใช่ไหม”
แกทำหน้าเศร้าแล้วบอกว่า “ไม่ใช่หรอกครับ แกคือเถ้าแก่ที่นั่งแทนที่ผมนั่นเอง รู้สึกว่ามีอาการสาหัสมาก หลังตาไม่ได้สติ เลือดออกทางศีรษะมาก ผมเห็นตำรวจกับเด็กกระเป๋าและชายอีกผู้หนึ่งช่วยกันพยุงหาม
และประคองศีรษะไว้
ขึ้นรถรับจ้างพาไปส่งโรงพยาบาลทันที
ผมเห็นแม่ชีแกเดินเข้ามาใกล้ผม
ยิ้มแล้วพูดว่า
“คุณหมดเคราะห์หมดโศกแล้ว เพราะความดีของคุณจึงเป็นมงคลแก่ตัวเอง”
ผมไม่รู้จะพูดอะไรเพราะยังตื่นเต้นอยู่ เพียงแต่ยกมือขึ้นไหว้รับคำ พร้อมกับพูดเพียงว่า “ขอบคุณครับ” แล้วผมก็รีบหลบขึ้นรถสามล้อมาหาคุณนี่แหละครับ”
ข้าพเจ้าได้ฟังแกเล่า ข้าพเจ้าพลอยดีใจไปด้วย ความดีของเพื่อนแท้ๆ
จึงได้พ้นเคราะห์มาได้
ทำให้คนอื่นที่เห็นแก่ตัวต้องไปรับเคราะห์แทน แต่ก็อดนึกตำหนิตัวเองไม่ได้ที่ดีใจที่เพื่อนพ้นเคราะห์ ส่วนคนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน ไม่ต้องนึกถึง
เพราะเราไม่รู้จักมาก่อน
แต่หากว่าคนเจ็บนั้นเป็นคนรู้จักหรือญาติ
จิตใจก็คงเปลี่ยนแปลงไปอีกอย่าง
คนเราส่วนมากก็เป็นเช่นนี้แทบทุกคน
แต่เพื่อนผู้นี้รู้สึกจะแปลกสักหน่อย
แกบอกว่าเห็นอกเห็นใจเถ้าแก่คนนั้นที่ต้องมารับเคราะห์แทนแก และบอกว่าป่านนี้พ่อแม่ ลูกเมีย
พี่น้องรู้เรื่อง
คงจะร้องไห้เสียใจในเคราะห์กรรมอันนี้ไปตามๆกันเป็นแน่ แกพูดแล้วก็แสดงความเศร้ากับข้าพเจ้าว่า
“ผมคิดว่าควรไปเยี่ยมเยียนแกบ้าง เพราะแกต้องรับเคราะห์แทนผม เวลานี้คงนอนอยู่โรงพยาบาลกลางเป็นแน่ วันหลังผมจึงจะมารับประทานอาหารด้วย วันนี้ขอตัว”
ว่าแล้วแกก็รีบลาไปทันที ทำให้ข้าพเจ้าต้องงงเพราะความหุนหันของแก
เนื่องจากข้าพเจ้าตั้งใจจะเลี้ยงอาหารเที่ยงเพื่อรับขวัญ แต่เพื่อนออกไปก่อนก็จนใจ นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน
จบเรื่องที่ ๑๓
ขอความดีงามจงบังเกิดกับท่านผู้อ่าน
ขออุทิศแด่ท่านอาจารย์ ทองหยก เลียงพิบูลย์ เจ้าของวรรณกรรมอิงธรรมะชุดนี้
และขอขอบพระคุณท่าน พลเรือเอก ทวีชัย เลียงพิบูลย์ และทายาท(เจ้าของลิขสิทธิ์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น