ภาพ นิ้วล็อค.com |
นิ้วล็อค
ภาวะนิ้วล็อค
เป็นกลุ่มอาการหนึ่งที่เกิดกับกลุ่มคนที่ใช้มือในการทำงานอย่างหนัก
ก็จะพบว่ามีอาการเจ็บที่นิ้วและมีเสียงดังกึก
ทำให้เส้นเอ็นไม่โก่งตัวออกเมื่องอนิ้ว แต่เมื่อมีการอักเสบเส้นเอ็นจะบวมและหนาตัว
ทำให้ลอดผ่านห่วงลำบาก(**หมายถึงเวลางอนิ้วมือปุ่มตรงเส้นเอ็นจะอยู่นอกปลอกหุ้ม แล้วไม่สามารถเคลื่อนกลับเข้าปลอกหุ้มได้ จึงเกิดอาการนิ้วล็อคนั่นเอง) รู้สึกเจ็บและเกิดอาการนิ้วล็อคตามมา
โดยส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะแม่บ้านที่ใช้มือทำงานอย่างหนัก
เช่น หิ้วตะกร้าจ่ายกับข้าว ชอปปิ้ง บิดผ้า
ส่วนในผู้ชายมักพบในอาชีพที่ใช้มือทำงานหนักๆ มีการจับ ออกแรงบีบอุปกรณ์ซ้ำๆ เช่น
คนทำสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ช่างที่ใช้ไขควงหรือเลื่อย พนักงานพิมพ์ดีด นักกอล์ฟ
ช่างงานฝีมือ นักยูโด และหมอนวดแผนโบราณเป็นต้น
ในแต่ละกิจกรรมจะใช้งานแต่ละนิ้วไม่เหมือนกัน
จึงทำให้เกิดนิ้วล็อคที่ตำแหน่งนิ้วต่างกันด้วย เช่น อาชีพครู หรือนักบริหาร
มักเป็นนิ้วล็อคที่นิ้วโป้งขวา เพราะใช้เขียนหนังสือมาก และใช้นิ้วโป้งกดปากกานานๆ
ส่วนแม่บ้านซักบิดผ้า มักเป็นที่นิ้วชี้ซ้ายและขวา
แต่ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแต่ให้ความรู้สึกเจ็บปวด
และใช้มือได้ไม่ถนัด เป็นโรคที่สามารถป้องกัน และรักษาให้หายได้
ถ้ารู้จักวิธีดูแลตนเองอย่างถูกต้อง
ภาพ นิ้วล็อค.com |
ในระยะแรกจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ
กำมือไม่ถนัด หรือกำได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน
พอใช้มือไปสักพักก็จะกำมือได้ดีขึ้น
เวลางอที่จะเหยียดนิ้วมือมักจะได้ยินเสียงดังกึก ต่อมาจะมีอาการนิ้วล็อค คือ
เวลางอนิ้วจะเหยียดขึ้นเองไม่ได้ มักเกิดกับมือข้างถนัดที่ใช้งาน
ซึ่งอาจเป็นเพียงนิ้วเดียว หรือเป็นพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้
บางรายอาจรุนแรงถึงนิ้วบวมชา ติดแข็งจนใช้งานไม่ได้
ภาพ www.doctor.com |
วิธีทำกายภาพมือแบบง่ายๆ
ก่อนจะเป็นนิ้วล็อคถาวร
1. ยืดกล้ามเนื้อแขน มือ นิ้วมือ
โดยยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมือกระดกขึ้น-ลง
ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยทำ 6-10 ครั้ง/เซต
2. บริหารการกำ-แบมือ โดยฝึกกำ-แบ
เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือ และกำลังกล้ามเนื้อภายในมือ
หรืออาจถือลูกบอลในฝ่ามือก็ได้ โดยทำ 6-10 ครั้ง/เซต
3. ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้งอ-เหยียดนิ้วมือ
โดยใช้ยางยืดช่วยต้าน แล้วใช้นิ้วมือเหยียดอ้านิ้วออก ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วค่อยๆ
ปล่อย ทำ 6-10 ครั้ง/เซต
วิธีบริหารนิ้วมือและข้อมืออีกแบบที่คล้ายๆกัน
ภาพ bloggang.com |
วิธีลดความเสี่ยงการเป็นนิ้วล็อค
1. ไม่หิ้วของหนักเกินไป
ถ้าจำเป็นต้องหิ้วให้ใช้ผ้าขนหนูรอง และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ
อาจใช้วิธีการอุ้มประคองหรือรถเข็นลากแทน เพื่อลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ
2. ควรใส่ถุงมือ
หรือห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้นและจัดทำขนาดที่จับเหมาะแก่การใช้งาน
ขณะใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ
3. งานที่ต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง
ทำให้มือเมื่อยล้า หรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ
และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง
4. ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น
เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น
5. ถ้ามีข้อฝืดตอนเช้า หรือมือเมื่อยล้า
ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือกำแบเบา ๆ ในน้ำ จะทำให้ข้อฝืดลดลง
อาชีพอะไรบ้างที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ้วล็อค
1.นักกอล์ฟ (Golfer) นักกอล์ฟส่วนใหญ่จะพบว่าตัวเองมีอาการเป็นนิ้วล็อค
สาเหตุก็เพราะนักกอล์ฟที่ตีกอล์ฟ และ ทำการฝึกซ้อมมากๆเป็นเวลานานๆ การเกร็งมือจับไม้กอล์ฟไว้แน่นๆ
การออกแรงสวิงมากเกินไป และการหวดวงสวิงซ้อมติดต่อกันทุกๆวัน ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นที่ข้อนิ้วมือ
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดนิ้วล็อคก็คือ
การเลือกไม้กอล์ฟที่หนักเกินกำลังของวงแขนและมือ
โดยส่วนใหญ่ท่านนักกอล์ฟจะเลือกไม้ที่มีความหนัก เช่น
ไม้กอล์ฟก้านเหล็กที่ความแข็งของก้านตั้งแต่ 5.5 – 6.5 ขึ้นไป
เพื่อหวังระยะในการตีแต่ละครั้ง ทุกครั้งที่หวดซ้อมลูกและโดนลูกไม่เต็มใบ
แรงสั่นหรือแรงช็อคของไม้จะส่งถึงมือและข้อนิ้วโดยตรงเป็นเหตุให้เกิดโรคนิ้วล็อคในระยะยาว
2. หมอนวดแผนโบราณ (Massager) นวดแผนโบราณเป็นอาชีพที่ต้องใช้กำลังจากนิ้วมืออย่างมากที่สุด
คนที่จะทำการนวดได้ จะต้องเป็นคนที่มีพลังจากแรงกดของมือค่อนข้างหนักมาก
โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่โป้ง ข้อนิ้วมือแรกและหลังข้อนิ้วที่สอง เพราะต้องใช้นิ้วเหล่านี้ทำการกดบีบ
ดัดเส้นให้กับลูกค้าที่มีอาการเส้นตึงทั้งหลาย
โดยเฉพาะการนวดเท้าซึ่งผู้ที่มีเท้าแข็งและหนา คนที่นวดจึงต้องออกแรงใช้นิ้วมือนวดอย่างมาก
แม้ว่าจะมีไม้นวดเท้าออกมาช่วย แต่อาชีพนวดแผนโบราณนั้น
ก็ยังคงเสี่ยงต่อการเกิดนิ้วล็อคอยู่ดี
เพราะไม่ใช่แค่ส่วนเท้าอย่างเดียวที่ต้องนวด
แต่หมายถึงทั้งร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้าที่มือต้องทำหน้าที่บีบนวดคลายเส้น
3. ช่าง (Craftsman, Mechanic) อาชีพช่างนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มืออย่างหนัก
เพราะต้องอยู่กับเครื่องมือที่ต้องใช้แรง โดยเฉพาะงานอย่างช่างฝีมือหรือช่างเครื่อง
ที่วันๆต้องอยู่กับไขควง ประแจ สิ่ว กบไสไม้ ขวาน หรือค้อนต่างๆ
ยิ่งงานใดที่ต้องการความประณีต ละเอียดอ่อน ยิ่งทำให้มือต้องใช้งานหนักมากยิ่งขึ้น
ซึ่งนั่นก็หมายถึงความเสียหายที่มือจะต้องได้รับนั่นเอง ยิ่งใช้งานอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
โดยไม่มีการพัก ก็จะทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคขึ้นได้
4. นักยูโด (Judo, Jujitsu) นักยูโดก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องฝึกฝนกำลังข้อมือกำลังแขน
และกำลังนิ้วเป็นอย่างมาก
เพื่อที่จะได้มีความแข็งแรงมากพอที่จะจับคู่ต่อสู้ทุ่มลงไปนอนกับพื้นได้
ซึ่งนักยูโคต้องใช้มือกำตรงชายเสื้อชุดยูโด (กิ)
แล้วฉุดกระชากดึงในท่วงท่าที่หลากหลายรูปแบบเพื่อให้คู่ต่อสู้เสียหลัก
ซึ่งบางครั้งคู่ต่อสู้บิดตัวทำให้ชายเสื้อม้วนรัดที่กำปั้นและข้อมือ
ซึ่งทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้
กีฬายูโดเป็นกีฬาที่ต้องใช้กำลังนิ้วติดต่อกับเป็นเวลานานไม่ว่าจะเป็นในเวลาแข่งหรือในเวลาซ้อม
อีกทั้งนักยูโดจะฝึกกำลังนิ้ว ด้วยการนำเอายางในจักรยานมาผูกเข้ากับเสา
แล้วดึงขึ้นลงอยู่ตลอดทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคนิ้วล็อคได้มากกว่าอาชีพอื่น ๆ
5. แม่บ้าน (Housewife) อาชีพแม่บ้านเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นนิ้วล็อค
ซึ่งหากเราดูกันอย่างผิวเผินแล้วจะคิดว่าอาชีพนี้ไม่น่าจะเกิดอันตรายกับนิ้วมือได้ แต่คุณอย่าลืมว่าอาชีพแม่บ้านนั้น
งานหลักที่ต้องทำคือทำงานในบ้าน ไม่ว่าจะทำกับข้าว จ่ายตลาด ทำความสะอาดบ้าน
แต่ในทุกรายละเอียดของการทำงานนั้นเต็มไปด้วยสภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ้วล็อคได้ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นตอนที่หิ้วตะกร้าหรือหิ้วถุงจ่ายตลาด การทำกับข้าวที่ต้องใช้แรงผัด
แรงกวน หรือการซักผ้า บิดผ้า ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดนิ้วล็อคได้ทั้งสิ้นตลอดเวลาในการทำงาน
ที่สำคัญอาชีพแม่บ้านนั้นไม่เคยมีวันหยุด จะต้องทำซ้ำๆ แบบนั้นอยู่ทุกๆ
วันปัจจุบันนี้จึงจะพบว่าแม่บ้านเป็นจำนวนมาก
ที่จะป่วยเป็นโรคนิ้วล็อคอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
รวบรวมจาก...นิ้วล็อค.com , น.ส.พ.รอยธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น