วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พระพุทธรูป.๖ หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใหญ่ใน

พระพุทธรูป ๖
หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใน

หลวงพ่อโตบางพลี


 วัดบางพลีใหญ่ในนี้ชาวบ้านใกล้ไกลแทบทุกคนมักจะเรียกกันว่า วัดหลวงพ่อโต เหตุที่เรียกกันดังนี้ ก็เพราะว่ามีพระพุทธรูปปางมารวิชัย (สะดุ้งมาร)ที่มีขนาดใหญ่โตมาก เนื้อเป็นทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ลืมพระเนตร เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถของวัดบางพลีใหญ่ใน  ตามตำนานประวัติของหลวงพ่อโต ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า

     ประมาณกาล ๒๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้วได้มีพระพุทธรูป ๓ องค์ ปาฏิหาริย์ลงมาจากทางเหนือ ลอยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดมา พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้เข้าใจว่าปวงชนในกรุงศรีอยุธยาคงอาราธนาท่านลงสู่แม่น้ำเพื่อหลบหนีข้าศึกด้วยในสมัยนั้นบ้านเมืองได้เกิดสภาวะสงครามขึ้นกับพม่า พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ได้แสดงอภินิหารลอยล่องมาตามลำแม่น้ำ และบางครั้งก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้ผู้คนเห็นตามลำดับ จนเป็นที่เล่าขานกันทั่ว ถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน

     จนล่วงมาถึงตำบลๆหนึ่งท่านก็ได้ผุดให้คนเห็นเป็นอัศจรรย์ พวกเหล่าประชาชนในตำบลนั้นต่างก็พร้อมใจกันทำพิธีอาราธนาท่านขึ้นสู่ฝั่ง ฝูงชนประมาณสามแสนคนช่วยกันฉุดลากชะลอองค์ท่านขึ้นมาบนฝั่ง ก็ไม่สามารถนำท่านขึ้นสู่ฝั่งได้ และท่านก็กลับจมลงหายในแม่น้ำอีก ยังความเศร้าโศกเสียดายของประชาชนในตำบลนั้นเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาตำบลนั้นจึงถูกเรียกชื่อว่า ตำบลสามแสนแต่ต่อมาก็ถูกเรียกกลับกลายเป็นสามเสน ตำบลสามเสน มาจนกระทั่งบัดนี้ 


         พระพุทธรูปได้ล่องลอยทวนน้ำมาทั้ง ๓ องค์ โดยลำดับ ครั้งหนึ่งปรากฏว่าได้ล่องลอยไปจนถึงวัดฉะเชิงเทรา แสดงอภินิหารปรากฏให้ผู้คนเห็นอีกประชาชนต่างก็ได้ช่วยกันอาราธนาและฉุดชะลอท่านขึ้นจากลำน้ำแต่ก็ไม่สำเร็จอีก    
 
          พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ได้ลอยทวนน้ำและจมหายไป ณ ที่แห่งนั้น จึงได้ชื่อว่า สามพระทวน แต่ต่อมาก็ได้เรียกกันเป็น สัมปทวน คือตรงบริเวณหน้าวัดสัมปทวน อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทราในปัจจุบัน

     พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ท่านล่องลอยผ่าน ณ ที่ใด ที่นั่นก็จะมีชื่อเรียกกันใหม่ทุกครั้ง ดังเช่น ท่านได้แสดงอภินิหารล่องลอยให้ผู้คนเห็นเป็นอัศจรรย์เรื่อยมาในแม่น้ำบางปะกง ผู้คนมากมายอีกตำบลหนึ่งพยายามที่จะอาราธนาท่านขึ้นแต่ก็ไม่สำเร็จอีก ณ สถานที่นั้นจึงได้มีเรียกชื่อกันว่า บางพระ ซึ่งเรียกว่า คลองบางพระในปัจจุบัน

          ครั้นต่อมาภายหลังปรากฏว่าพระพุทธรูปองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่ วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม และต่อมาในเวลาไล่เลี่ยกันพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งก็ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา และอีกองค์หนึ่งได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา   ปาฏิหาริย์ลอยวกเข้ามาในลำคลองสำโรง ประชาชนพบเห็นต่างโจษจันกันไปทั่วถึงความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหาร พร้อมกับพากันอาราธนาท่านขึ้นที่ปากคลองสำโรงนั้น แต่ท่านก็ไม่ยอมขึ้น

          ในที่นั้นได้มีผู้มีปัญญาดีคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่านแม้จะใช้จำนวนผู้คนสักเท่าไรอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งไม่สำเร็จเป็นแน่ ควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยตามลำน้ำสำโรงและอธิษฐานว่า หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใดก็ขอจงได้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด

     เมื่อประชาชนทั้งหลายได้เห็นพ้องดีกันดังนั้นแล้ว ก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือซึ่งสมัยนั้นเป็นเรือพายทั้งสิ้น ช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง เรือที่ใช้ลากจูงแพมานั้นมีชื่อแปลกต่างๆ กันเช่นชื่อ ม้าน้ำ เป็ดน้ำ ตุ๊กแก และอื่นๆ เป็นต้น และจัดให้มีการละเล่นต่างๆ มีละครเจ้ากรับรำถวายมาตลอดทาง และยังมีการละเล่นอื่น ๆ ครึกครื้นมาตลอดทั้งลำน้ำ       

             ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงครามหรือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านก็เกิดหยุดนิ่ง คนทั้งหลายพยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง แพนั้นก็หาได้ขยับเขยื้อนไม่     ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลีถึงกับขนลุกซู่ด้วยความเคารพ และเปี่ยมด้วยสักการะ จึงได้พร้อมใจกันอาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าหลวงพ่อจะโปรดคุ้มครองชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้วก็ ขออาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด

     แล้วก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมากเพียงใช้คนไม่มาก ก็สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่านเป็นอย่างยิ่ง และได้อาราธนาท่านขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระวิหารนั้นเรื่อยมา

     การชะลอหลวงพ่อโตมาประดิษฐานที่พระวิหารนั้น เนื่องจากประตูพระวิหารมีขนาดเล็กกว่าองค์หลวงพ่อโต และขณะนั้นยังไม่ได้สร้างหลังคา จึงต้องชะลอยกหลวงพ่อโตข้ามผนังพระวิหารไปประดิษฐาน ซึ่งเหล่าพุทธศาสนิกชนต่างพร้อมใจกันสามัคคียกหลวงพ่อโตข้ามผนังไปประดิษฐานได้สำเร็จ     

     ครั้นต่อมาได้รื้อวิหารนั้นอีกเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่ถาวร จึงต้องชะลออาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว จนกระทั่งได้สร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ เพื่อเป็นพระประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน การที่ท่านได้พระนามว่า หลวงพ่อโตนั้นคงเป็นเพราะองค์ของท่านใหญ่โตสมกับที่ประชาชนเรียก คือ ใหญ่โตกว่าองค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันอีก ๒ องค์ จึงถือเป็นนิมิตอันดีให้ประชาชนพากันถวายนามว่า หลวงพ่อโตเป็นสิ่งที่เคารพสักการะของชาวบางพลี และเป็นมิ่งขวัญของวัดบางพลีใหญ่ในมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ประชาชนนิยมเรียกท่านว่ าหลวงพ่อโตบางพลี หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใน


         การลำดับว่าในพระพุทธรูป ๓ องค์ที่ลอยน้ำมานั้น องค์ไหนองค์พี่ องค์กลาง องค์น้อง เข้าใจว่าคงจะนับเอาองค์ที่อาราธนาขึ้นจากน้ำเรียงกันตามลำดับคือ องค์ที่ขึ้นจากน้ำได้ก่อนเป็นองค์พี่ ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๒ เป็นองค์กลาง ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๓ เป็นองค์น้อง ตามลำดับคือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม อาราธนาขึ้นจากน้ำเป็นองค์ที่ ๑ หลวงพ่อโสธร วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา อาราธนาขึ้นจากน้ำเป็นองค์ที่ ๒ และหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ อาราธนาขึ้นจากน้ำเป็นองค์ที่ ๓

 ปาฏิหาริย์หลวงพ่อโตเนื้อนิ่ม

          ประชาชนที่มากราบนมัสการหลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ในนั้นมีมากมาย ต่างก็เชื่อว่าบุญบารมีอภินิหารของหลวงพ่อโตจะช่วยเหลือคราวเดือดร้อนได้ ในแต่ละวันจึงมีประชาชนทั่วทุกสารทิศมากราบและอธิษฐานขอพรหลวงพ่อโตกันมาก

           วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใน ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ชวนให้พิศวงอัศจรรย์ใจยิ่งคือ ในขณะที่ประชาชนหลั่งไหลกันมาปิดทองที่องค์หลวงพ่อโตนั้น

             อยู่ๆองค์หลวงพ่อโตที่เป็นโลหะเนื้อสัมฤทธิ์นั้น  เกิดปาฏิหารย์กลายเป็นเนื้อนิ่มขึ้นมาได้อย่างอัศจรรย์ใจ ประชาชนที่มาปิดทองต่างทดลองเอามือกดลงตรงผิวของหลวงพ่อโต ปรากฏว่าจากเนื้อโลหะแข็งกลับกลายเป็นเนื้อนิ่ม
               ข่าวหลวงพ่อโตเนื้อนิ่มกลายเป็นข่าวมงคลที่สาธุชนต้องการพิสูจน์ และนมัสการหลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใน แล้วต่างก็ต้องพบว่าหลวงพ่อโตเนื้อนิ่มจริงๆ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๒๒ เกิดปรากฏการณ์หลวงพ่อโตเนื้อนิ่มเหมือนเช่นเคย  อัศจรรย์จริงๆ

ประเพณีรับบัวหลวงพ่อโตบางพลี

     ที่วัดหลวงพ่อโตบางพลีหรือวัดบางพลีใหญ่ใน มีประเพณีรับบัวซึ่งเป็นเพียงหนึ่งเดียวในโลก ประเพณีนี้มีประวัติความเป็นมาจากความรักใคร่กลมเกลียวกันระหว่างชาวไทยและชาวมอญ มีประวัติความเป็นมาดังนี้

     เดิมแถบอำเภอบางพลีมีชาวไทย ชาวลาว และชาวรามัญ ตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกัน ต่อมาได้ร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นและหาทางขยายที่ทำกิน ต่างช่วยกันถากถางที่รกร้างและดูแลคูคลอง จนทำกันขยายวงมาถึงสามแยกที่ลำคลอง ๓ สายมาบรรจบกันคือ คลองสลุด คลองชวดลากข้าว และคลองลาดกระบัง

     จากนั้นจึงได้แยกกันขยับขยายไปตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้น โดยชาวไทยอยู่ที่คลองชวดลากข้าว ชาวลาวไปอยู่คลองสลุด ชาวรามัญไปอยู่คลองลาดกระบัง

     ต่อมาชาวรามัญที่คลองลาดกระบังประสบปัญหาเรื่องศัตรูพืช จึงคิดย้ายกลับไปยังถิ่นฐานเดิมที่มีชาวรามัญอยู่ ซึ่งก็คือที่ปากลัดอำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ

     กำหนดการเดินทางคือย่ำรุ่งของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยชาวรามัญเก็บดอกบัวนำไปเพื่อจะไปถวายบูชาพระคาถาพันที่จุดหมายปลายทาง ชาวรามัญขอให้ในปีต่อๆไปขอให้ชาวไทยช่วยรวบรวมดอกบัวนำไปไว้ที่หลวงพ่อโตบางพลี เพื่อที่ชาวรามัญจะเดินทางมารับดอกบัวนำไปบูชาพระคาถาพัน และอัญเชิญน้ำมนต์หลวงพ่อโตไปเป็นศิริมงคลด้วย

     ในปีต่อมาเมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวไทยที่บางพลีได้พร้อมใจกันเก็บดอกบัวมาไว้ที่วัดหลวงพ่อโตบางพลี ตามที่ได้สัญญากันไว้กับชาวรามัญ และชาวรามัญก็ได้เดินทางมารับดอกบัวที่วัดหลวงพ่อโตบางพลี ในระหว่างช่วงเวลา ๐๓:๐๐ – ๐๔:๐๐ นาฬิกา โดยจัดเรือลำใหญ่หลายสิบลำเป็นพาหนะ

     ระหว่างการเดินทางชาวรามัญจะร้องรำทำเพลงกันเป็นที่สนุกสนาน ชาวไทยก็จัดสำรับอาหารคาวหวานนาๆชนิดไว้เลี้ยงต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีจิตอันดีงาม เมื่อรับประทานอิ่มหนำกันดีแล้ว ก็นำดอกบัวไปไหว้หลวงพ่อโตบางพลีก่อน เสร็จแล้วจึงอัญเชิญน้ำมนต์หลวงพ่อโตบางพลีเพื่อไปเป็นศิริมงคล พร้อมทั้งนำดอกบัวบางส่วนกลับไปบูชาพระคาถาพันที่วัดของชาวรามัญ




     ประเพณีรับบัวหลวงพ่อโตบางพลียังทำกันสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ และมีเพียงที่เดียวในโลก

     
   
    ( เรียบเรียงจากประวัติวัดบางพลีใหญ่ใน, น.ส.พ.รอยธรรม)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น