วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กฏแห่งกรรม..เรื่องที่ ๖ บทเรียนชีวิต

กฏแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว..ท.เลียงพิบูลย์
เรื่องที่ ๖ 
บทเรียนชีวิต 

       

เรื่องที่นำมาเสนอต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าควรอย่างยิ่งจะนำมาเผยแพร่  หากจะเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพิ่มพูนมนุษยธรรม ให้ความเมตตาปราณีซึ่งกันและกัน  จากสาระของเรื่องนี้แล้วแม้เพียงส่วนน้อย  ก็จะเป็นที่ปีติยินดีแก่ข้าพเจ้าอย่างที่สุด

     หากถ้อยคำสำนวนของข้าพเจ้าจะขาดความสละสลวย  ไม่เป็นที่สนใจของท่านก็ขอให้อภัยด้วย  และขอเรียนด้วยความจริงใจว่า  ข้าพเจ้ามิได้มีความประสงค์ที่จะอวดโฆษณาความดีด้วยเรื่องของตนเองเลย


     วันนั้นเป็นวันที่จำได้อย่างแม่นยำว่า  ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ กำลังจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นทางเครื่องบิน  เวลา ๑๓.๐๐ น.  เผอิญทางบริษัทการบินที่เราจะโดยสารไป  แจ้งเลื่อนกำหนดเวลาเครื่องบินออกจากสนามบินเป็นเวลาเที่ยงคืนในวันเดียวกัน  ข้าพเจ้าจึงมีเวลาว่างเหลืออยู่โดยไม่มีอะไรจะทำ  เพราะไม่ได้กะวางรูปงานการไว้  ขณะนั้นกลับถึงบ้านก็เวลาบ่ายมากแล้ว  หลังจากข้าพเจ้ากลับจากสนามบิน  เมื่อทราบการเลื่อนเวลารู้สึกว่าอยากจะรับประทานก๋วยเตี๋ยวอิสลามขึ้นมา  

     พอจะออกจากบ้านก็มีเพื่อนผู้หนึ่งมาหา  เขาไม่ทราบว่าข้าพเจ้าจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น  เนื่องจากข้าพเจ้ามิได้บอก  เพราะไม่ค่อยได้พบกัน  จึงชวนไปหาก๋วยเตี๋ยวอิสลามรับประทานกัน ณ  ที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง  ขณะที่เรากำลังรับประทานอยู่นั้น  ก็มีเด็กชายคนหนึ่งอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ แต่งกายมอซอเดินมาหาข้าพเจ้า  ยกมือไหว้แล้วอ้อนวอนขอเงินว่า จะเอาไปซื้อยารักษาโรคให้พ่อที่กำลังป่วยอยู่  ได้ฟังน้ำเสียงของเด็กน้อยแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกสนใจพร้อมกับเกิดความเอ็นดูขึ้นมา  เพราะเห็นรูปร่างลักษณะหน้าตาประพิมพ์ประพายคล้ายกับบุตรของข้าพเจ้า  เมื่อยังเยาว์มีอายุคราวเดียวกัน  ข้าพเจ้าจึงถามว่า พ่อของหนูป่วยเป็นอะไร..จึงเที่ยวมาเดินขอเงินซื้อยา”  เด็กนั้นมีใบหน้าเศร้าหมองจะร้องไห้  ตอบข้าพเจ้าว่า พ่อผมป่วยมาหลายวันแล้วครับ เงินก็ไม่มีจะซื้อยารักษา  เพราะพ่อผมป่วย  ถีบรถสามล้อไม่ไหว” 



      เพื่อนของข้าพเจ้าวางชามก๋วยเตี๋ยวชิงตัดบทว่า อย่าเชื่อมัน  ขอเงินแบบนี้เคยพบบ่อยๆ  ลูกไม้ที่จะขอสตางค์ของเขาเท่านั้น  ถ้าเรามีศรัทธาก็ให้  ไม่ศรัทธาก็ไล่มันไปเสีย  รำคาญจริง  คนกำลังจะกินก็เข้ามาเซ้าซี้อยู่ได้

     ข้าพเจ้าไม่เอาใจใส่ต่อคำพูดของเพื่อน   เพราะมีใจเอ็นดูเด็กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  จึงถามต่อไปอีกว่า ที่หนูมาพูดนี้เป็นความจริงหรือเปล่า” “เป็นความจริง  ผมไม่กล้าโกหกท่านครับ”  เด็กตอบ

     ข้าพเจ้าจึงหันไปถามแม่ค้าก๋วยเตี๋ยวอิสลาม  เพื่อความแน่ใจว่าเคยพบเห็นเด็กคนนี้มาเที่ยวขอสตางค์แถวนี้บ่อยไหม  แม่ค้าพินิจดูใบหน้าเด็กครู่หนึ่งก็บอกว่า  ยังไม่เคยเห็น  ถ้าเป็นเด็กแถวนี้ก็ต้องรู้จักทุกคนข้าพเจ้ารู้สึกสนใจและเกิดความเชื่อขึ้นมา จึงไล่เลียงต่อไปว่า หนูพาฉันไปบ้านดูอาการป่วยของพ่อหนูได้ไหม เด็กน้อยรีบรับคำตกลงทันที  ข้าพเจ้าจึงหันไปชวนเพื่อนที่ไปด้วยกันว่า  พอรับประทานเสร็จแล้วอยากจะให้เป็นเพื่อนกัน  ตามเด็กไปดูว่า  พ่อของเด็กป่วยมากจริงอย่างที่แกเล่าหรือไม่  ถ้าเป็นจริงก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังทุกข์ยาก  เพื่อนผู้นั้นขอตัวว่าติดธุระ  ไม่สามารถจะร่วมทางไปด้วยได้

       ดังนั้น  เมื่อชำระเงินค่าก๋วยเตี๋ยวแล้วเขาก็รีบลาไปทันที  ส่วนข้าพเจ้านั้นตกลงใจไว้แล้วว่า  อยากจะพบพ่อของเด็กที่ว่ามีอาการป่วยให้ประจักษ์   พอจะออกเดินก็นึกขึ้นมาได้ว่าเด็กนั้นยังอาจจะไม่ได้รับประทานอาหาร  จึงหยุดแล้วถามแกว่า  หนูกินอะไรมาแล้วหรือยัง  ถ้ายังก็สั่งได้  ฉันจะออกสตางค์ให้” “ผมไม่เป็นไรครับ  แต่ผมอยากได้ก๋วยเตี๋ยวไปฝากพ่อสักห่อหนึ่งเด็กน้อยตอบ 

     ข้าพเจ้าเพ่งดูเด็กน้อยด้วยความรู้สึกสงสาร   และเอ็นดูทวีขึ้น  เด็กน้อยนี้เปี่ยมไปด้วยความกตัญญูสูง  ในยามหิวโหย  แม้ตนเองจะมีโอกาสได้กินก่อนก็ยังมีจิตคิดห่วงพ่อ  แทนที่จะคิดถึงตนเองก่อน  ในสายตาของข้าพเจ้าเห็นว่าเด็กก็มีความหิวไม่น้อย  จึงร้องสั่งให้แม่ค้าทำก๋วยเตี๋ยวแห้งให้สองห่อ  แต่เด็กแย้งขึ้นทันทีว่า ขอให้พ่อผมห่อเดียวก็พอครับ” “เอาเถอะๆ ฉันให้หนูห่อหนึ่ง  แล้วฝากให้พ่อห่อหนึ่ง  หนูก็หิวไม่ใช่หรือ”  เด็กตอบอย่างเหนียมว่า  ใช่ครับ  ผมคิดแต่ว่าอยากจะให้พ่อได้กินก่อน  เพราะพ่อไม่สบายและหิวมาก” 

     ได้ฟังคำพูดของเด็ก  ๗-๘ ขวบ  คนนี้แล้ว  ทำให้ข้าพเจ้าสะท้อนใจ  และแน่ใจยิ่งขึ้นว่าคงจะไม่พูดเท็จอย่างที่เพื่อนข้าพเจ้าเข้าใจ จึงปลอบใจเด็กว่า ไม่เป็นไรหรอกหนู  สั่งให้เขาทำสองห่อแล้ว  เอาไปกินกันคนละห่อเถิด
   
      ข้าพเจ้าจอดรถที่ปากซอยแห่งหนึ่ง  ซึ่งไม่สามารถจะนำรถเข้าไปได้  เด็กพาเดินผ่านสถานที่แห่งหนึ่ง  ชี้มือพลางบอกว่า ก่อนนี้  พ่อผมเอารถสามล้อมาฝากไว้ที่นี่ครับ  ต้องเสียค่าฝากรถรายเดือน

     โรงรับฝากรถแห่งหนึ่งนี้มีรูปลักษณะคล้ายโรงนาใหญ่  ฝาโรงใช้ไม้ระแนงตีเป็นลูกกรงโปร่ง  เห็นในโรงนั้นมีรถสามล้อจอดอยู่หลายคัน  คันหนึ่งมีลังไม้รองใต้เพลา  แต่ไม่มีล้อ  คงจะถอดออกแล้วยกขึ้นเพื่อซ่อมแซมเห็นชายมีอายุคนหนึ่งกำลังใช้ค้อนตอกอะไรง่วนอยู่ในโรงนั้น  พอแกเหลือเห็นเด็กแต่ไม่ทันเห็นข้าพเจ้าเดินผ่านไป  ก็ร้องถามเด็กว่า ไอ้หนู  พ่อมึงเป็นอย่างไรบ้าง  ค่อยยังชั่วแล้วหรือยัง” “ยังนอนซมอยู่จ้ะน้า  วันนี้นอนไม่พูดไม่จาตลอดวัน”  เด็กร้องตอบไป 

     ชายผู้นั้นรำพันออกมาอย่างเห็นใจ เออ..!  แย่จริงไอ้หนู  พ่อเอ็งมาเจ็บไข้อย่างนี้หากินก็ไม่ได้  เงินทองก็ไม่มี แย่จริงๆ”  พอเห็นข้าพเจ้าเดินตามเด็กมาก็ชะงักคำพูด แล้วเราก็มาถึงซอยเล็กแห่งหนึ่งที่สามล้อเข้าไม่ได้  มีบ้านหลังคาจากปลูกเป็นหย่อมๆไม่เป็นระเบียบ  ลักษณะเป็นที่อยู่ของกรรมกรผู้หาเช้ากินค่ำ  เด็กนำข้าพเจ้าเดินตามไปที่บ้านหลังหนึ่ง  ทางเข้าบ้านนี้มีแต่พงหญ้า มีทางเดินเฉพาะตัว  เคราะห์ดีที่เวลานั้นเป็นฤดูแล้ง  จึงพอเดินได้สะดวก  หากเป็นฤดูฝน  ผู้คนในละแวกนั้นคงต้องลุยโคลนเข้าบ้านกันเป็นแน่

     ข้าพเจ้าเดินตามเด็กเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง  หรือจะเรียกให้สมรูปบ้านก็ต้องเรียก  กระต๊อบ  หรือกระท่อม พอเปิดประตูกระท่อมอันง่อนแง่น  ก็เห็นเตาไฟชำรุดตั้งอยู่ใกล้ๆ  ข้างฝากระท่อม  มียางนอกและยางในรถจักรยานเก่าๆ  ที่ชำรุดอย่างละสองเส้นแขวนอยู่  บนพื้นใกล้ฝากระท่อมมีลังไม้ฉำฉา  ๒-๓ ใบ เป็นที่วางถ้วยชาม  และสิ่งของจิปาถะ  ถัดจากครัวออกไปก็เป็นพื้นไม้  มีเสื่อเก่าๆปูอยู่ผืนหนึ่ง  บนเสื่อนั้นเองมีร่างของชายผอมบางผู้หนึ่งนอนอยู่  จะหลับหรือไม่ก็ไม่ทราบได้  เห็นนอนนิ่งอยู่ไม่มีอาการไหวติงเลย  แม้เราจะเข้าไปจนใกล้ชิดก็ยังไม่รู้สึกตัว

      พ่อผมครับ  แกเป็นไข้นอนอยู่อย่างนี้มาหลายวันแล้ว เสียงลูกชายพูดเชิงแนะนำให้ข้าพเจ้าทราบ  ข้าพเจ้าพยักหน้ารับโดยไม่กล่าวสิ่งใด  รู้สึกว่าสภาพของชายที่นอนป่วยและบรรยากาศของกระท่อมอันน่าสังเวชนั้น ทำให้ข้าพเจ้าสลดใจยิ่ง  จึงกระซิบถามเด็กว่า ทำไมหนูจึงไม่ให้ใครนำพ่อไปรักษาที่โรงพยาบาล”  เด็กน้อยตอบว่า พ่อไม่ยอมไปครับ  พ่อบอกว่าพ่อเป็นห่วงผม

     ข้าพเจ้าได้ถามว่าอยู่ด้วยกันกี่คน  ก็ทราบว่าเด็กอยู่กับพ่อเพียงสองคนเท่านั้น  ส่วนแม่นั้นไปเป็นลูกจ้าง  เพื่อนำเงินมาจุนเจือลูกและผัวที่กำลังป่วยอยู่ในขณะนั้น  อารมณ์ของข้าพเจ้าเต็มไปด้วยความเวทนาสองพ่อลูก  กาลเวลาก็ไม่อำนวยข้าพเจ้าพอที่จะอยู่ช่วยเหลือ  เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้  ข้าพเจ้าจะต้องออกเดินทางไปต่างประเทศแล้ว 

     คิดอยู่สักครู่หนึ่งก็ตกลงใจว่าจะต้องจัดให้แพทย์มารักษาบำบัดอาการป่วยให้ชายผู้นี้ก่อนอื่น  แล้วกำชับเด็กนั้นว่า นี่หนู  หนูต้องรีบไปหาหมอที่ตำบลและชื่อร้านตามที่ฉันเขียนไว้นะ  หนูจะต้องรีบไปให้ได้  ฉันจะเขียนให้เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าล้วงเอาสมุดพกจากกระเป๋าเสื้อที่ติดตัวมา  แล้วเขียนลงหลังนามบัตรเป็นจดหมายถึงนายแพทย์ผู้หนึ่ง  ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทคุ้นเคยกันมาก  มีใจความว่า  ขอให้หมอรีบจัดการมาช่วยรักษาคนเจ็บให้ด้วย   มีสิ่งใดที่จะช่วยเหลือได้ขอให้ช่วยทุกอย่างทุกประการ  เพราะข้าพเจ้าต้องออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในคืนนั้น  ค่าใช้จ่ายจะเป็นจำนวนเงินเท่าใดข้าพเจ้าจะจัดการชำระให้เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย

     ภายหลัง  เขียนเสร็จแล้วก็มอบให้เด็ก  และไม่ลืมที่จะย้ำทบทวนชื่อหมอและตำบลที่อยู่ของหมอให้เด็กนั้นจำไว้จนเข้าใจดี  พร้อมกับมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เด็กแล้วบอกว่า หนูอย่าให้พ่อกินก๋วยเตี๋ยวเลย  ต้มข้าวต้มให้กินดีกว่า  จะได้ไม่แสลงไข้”  เด็กน้อยยกมือไหว้รับเงินจากข้าพเจ้า  แล้วถามว่า ท่านครับ  หมอที่ผมจะไปหาคนนี้  เขาจะรับรักษาให้พ่อผมหรือครับ  ผมและพ่อไม่มีเงินค่ายารักษาให้  ผมกลัวว่าเขาจะไม่รักษาให้ข้าพเจ้ายืนยันรับรองว่า หนูอย่ากลัวเลย  หมอคนนี้เป็นหมอที่ดี  เห็นใจคนจน  ไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมีหรือคนจน  หมอรับรักษาให้เหมือนกันหมด  ยิ่งไปกว่านั้นฉันก็เป็นเพื่อนสนิทของเขา ค่ายาค่ารักษาเท่าไร  ฉันรับออกเงินให้ทั้งหมด  ฉันรับรองว่าหมอคนนี้ดีจริงๆ  หนูต้องไปพบกับตัวหมอให้ได้นะเด็กพยักหน้ารับคำข้าพเจ้า ครับ  ผมจะไป

     คนป่วยก็คงยังนอนนิ่งอยู่  เด็กจะคิดอย่างไรไม่ทราบ  เดินตรงเข้าไปทำท่าจะปลุกให้ตื่น  ข้าพเจ้ารีบยึดตัวเด็กห้ามไว้ไม่ให้ปลุก  กระซิบบอกว่า   คนป่วยกำลังนอนหลับอยู่ไม่ควรปลุกให้ตื่นมา  จะเป็นการทรมานคนป่วยโดยไม่จำเป็น ข้าพเจ้ายืนเพ่งพิจารณาดูสภาพความคับแค้นของคนประเภทที่หาเช้ากินค่ำ  ในยามเคราะห์ร้ายที่ต้องป่วยล้มหมอนนอนเสื่ออย่างที่กำลังอยู่ตรงหน้าขณะนี้  ข้าพเจ้าไม่ค่อยจะได้มีโอกาสได้เห็นสภาพของจริงเช่นนี้มาก่อนเลย  เมื่อประสบเข้าเช่นนี้ก็รู้สึกเต็มตื้นด้วยความเวทนา  คิดคำนึงว่าในยามนี้  ถ้าเราช่วยเหลือเขาเท่าที่จะช่วยได้  จะเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่กว่าการทำบุญบำเพ็ญทานในยามปกติมากทวีคูณทีเดียว  ผลานิสงส์จะทำให้เราเกิดปีติปสาทะ  ภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามวิบากเช่นนี้

     ก่อนที่จะกลับ  ข้าพเจ้าไม่ลืมกำชับเด็กคนนั้นถึงเรื่องต้มข้าวต้มให้พ่อรับประทาน กับเรื่องไปหาหมอ  และปลอบว่า เสียใจที่ฉันจำเป็นต้องเดินทางคืนนี้  ฉันจะกลับมาอีกในเวลาไม่นานหรอก  เมื่อกลับมาแล้วฉันจะมาเยี่ยมหนูไม่ต้องกลัว  ถ้าพบหมอพาหมอมารักษา  แล้วทุกอย่างก็จะเรียบร้อยดวงตาอันไร้เดียงสาของเด็กน้อยมีน้ำตาคลอสะเทือนใจข้าพเจ้าทำให้รำพึงไปว่า  หนูเอ๋ย  ทำไมเจ้าจึงมีรูปร่างเหมือนลูกของฉันเมื่อเล็กๆ อย่างนี้หนอต่อจากนั้น  ข้าพเจ้าก็ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในคืนวันนั้น

     ข้าพเจ้านอนใจว่า  ป่านนี้เด็กคนนั้นต้องนำจดหมายของข้าพเจ้าไปให้นายแพทย์  และพ่อของเด็กคงได้รับความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อย  สมดังที่ข้าพเจ้าปรารถนาแล้ว  จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง  หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับจากญี่ปุ่นถึงเมืองไทยแล้ว  ได้โทรศัพท์ไปถามข่าวคราวจากนายแพทย์ผู้นั้นว่า  เมื่อวันที่ข้าพเจ้าเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น  ได้ให้เด็กถือนามบัตรและจดหมายของข้าพเจ้าหนึ่งฉบับส่งถึงหมอ  ขอให้ช่วยรักษาคนป่วยคนหนึ่งนั้น  เดี๋ยวนี้คนป่วยนั้นมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง

      เสียงของหมอในโทรศัพท์นั้นรู้สึกอึกๆอักๆชอบกล  แล้วตอบว่า  ไม่ทราบ ไม่เคยได้รับนามบัตรหรือจดหมายอะไรจากข้าพเจ้าตามที่ว่านั้นเลย  ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจมาก  จะซักถามหมออย่างไร  หมอคงจะไม่ทราบเรื่อง  เพราะไม่ได้รับจดหมาย  ข้าพเจ้าเลยต้องนิ่ง  ไม่พูดอะไรต่อไปอีกเลย   

     เย็นวันนั้น  พอข้าพเจ้าว่างงานแล้วก็รีบตรงไปยังบ้านของเด็กน้อยบุตรของคนขับสามล้อที่ป่วยทันที  ข้าพเจ้ารู้สึกงงงันไปหมดเมื่อถึงที่บ้านหรือกระท่อมหลังนั้น ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด  ผู้ที่อยู่ในบ้านก็เป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหรือรู้จักในคราวก่อนเลย  ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเปลี่ยนแปลงไปนั้นคือ  ก่อนนี้บ้านของเด็กไม่มีตุ่มน้ำ  แต่เดี๋ยวนี้มีตุ่มใหญ่ตั้งอยู่สองใบ  สีตุ่มยังดูใหม่อยู่  ถัดมาก็มีชามอ่างใบใหญ่ใส่น้ำเต็ม  มีหญิงวัย ๔๐ ปีกำลังจับเด็กอายุประมาณ ๑ ขวบ  อาบน้ำในอ่างใหญ่ใบนั้น  ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงผิดแปลกไปเช่นนี้  ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความไม่แน่ใจว่าความทรงจำข้าพเจ้าลวงหรือเปล่า  หรือเข้าบ้านผิดเสียกระมัง

     แต่ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเข้าไม่ผิดซอยแน่  เพราะปากซอยยังมีโรงรับฝากรถสามล้อปรากฏอยู่  อดใจอยู่ไม่ไหวจงเอ่ยถามหญิงที่กำลังอาบน้ำเด็กว่า  ชายคนที่นอนป่วยอยู่ในบ้านหลังนั้นเมื่อเดือนก่อน  เดี๋ยวนี้ไปอยู่ที่ไหน  หญิงผู้นั้นแสดงความสนเท่ห์กลับย้อนถามข้าพเจ้าว่า คุณเป็นญาติกับแกหรือเปล่าคะ ข้าพเจ้าบอกแกว่า  ไม่ใช่ แก่จึงเล่าให้ฟังต่อไปว่า คนอยู่เดิมที่ป่วยนั้นถึงแก่กรรมไปแล้ว  แกเพิ่งจะย้ายมาอยู่ใหม่  ข้าพเจ้าจึงซักต่อไปถึงเด็กบุตรของผู้ตาย  ก็ได้ทราบว่าญาติมารับเอาตัวไปเลี้ยง  จะไปอยู่ไหนก็ไม่ทราบได้  ข้าพเจ้าก็รับทราบด้วยความเศร้าสลดใจ 

     ขณะที่กำลังเดินกลับออกจากที่นั้น  ก็พอดีสวนทางกับชายคนที่เคยทักกับเด็กน้อยเมื่อตอนข้าพเจ้ามาด้วย  แกจำข้าพเจ้าได้  พอจะออกปากถาม แกก็ชิงถามก่อนว่า คุณใช่ไหมครับ  ที่มากับเจ้าหนูน้อยเย็นวันนั้น  แล้วให้เงินกับจดหมายไปรับหมอ  ข้าพเจ้ารับว่าใช่  แกก็เลยเล่าให้ฟังต่อไปว่า  เจ้าหนูน้อยนั้นตั้งใจจะไปรับหมอในวันรุ่งขึ้น  กำลังจะต้มข้าวให้กิน  แต่พ่อของเด็กก็มีอาการหนักสิ้นใจถึงแก่กรรมในคืนวันนั้น  ไม่ทันได้รับการรักษาเยียวยาเลย  ศพของผู้ตายก็จัดการทำไปตามีตามเกิด  ภรรยาผู้ตายก็นำเด็กผู้เป็นบุตรไปฝากให้อยู่กับญาติ  ไม่ทราบว่าอยู่ไหน  ส่วนตัวเองไปเป็นลูกจ้างรับใช้อยู่แถวบางกะปิ 

     เมื่อทราบเหตุการณ์ผันแปรไปอย่างนั้นก็ลาชายผู้นั้นกลับ  ในใจครุ่นคิดเป็นห่วงเด็กกับอนาคต  แต่ก็คลายใจเมื่อคิดได้ว่าเด็กก็มีญาติอุปการะแล้ว  คงจะไม่ลำบากอย่างใด เวลาผ่านไปประมาณ ๓ เดือน  วันหนึ่งข้าพเจ้าขับรถไปธุระที่บ้านเพื่อนผู้หนึ่ง  กำลังจะหมุนพวงมาลัยรถเลี้ยวซ้ายที่ทางแยกถนนสายหนึ่ง มีรถเก๋งคันใหญ่คันหนึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วสูง  ได้วิ่งแฉลบเข้าชนท้ายรถจักรยานสามล้อคันหนึ่งที่กำลังโก่งตัวถีบอยู่ข้างถนนเต็มแรง  คนที่กำลังขับขี่สามล้ออยู่ไม่ทันรู้ตัว  ถูกชนกระแทกกระเด็นตัวลอยจากรถไปฟาดกับพื้นถนนแล้วม้วนตัวลงนอนแน่นิ่งอยู่กับที่  ขณะนั้นไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอยู่ ณ ที่เกิดเหตุเลย  ข้าพเจ้าจึงชะลอรถเพื่อดูเหตุการณ์อยู่ห่างๆ

     คนที่ขับรถชนสามล้อผู้นั้นยังมีมรรยาทและศีลธรรมอยู่  เขาจอดรถไว้ข้างทาง  แล้วก็รีบมาประคองอุ้มสามล้อผู้เคราะห์ร้ายขึ้นให้นั่งทรงตัวให้ตรง แต่ก็ไม่เป็นผล  คอของชายผู้ขับขี่สามล้อนั้นพับไปพับมาเหมือนกับว่าหมุนได้รอบ  แล้วก็พับนิ่งอยู่ที่หน้าอก  เข้าใจว่ากระดูกก้านคอต้องหัก ข้าพเจ้าไม่ได้หยุดรถ  ค่อยๆ  ชะลอแล่นดูจนเห็นผู้คนหลั่งไหลมาจากสารทิศต่างๆ  พากันมุงล้อมแน่นจนไม่เห็นตัวคนเจ็บ  สักครู่ก็ผ่านไปพบตำรวจจราจรผู้หนึ่งจึงแจ้งให้ทราบว่าเกิดเหตุรถชนคนที่ทางแยก  ขอให้รีบไปสอบสวนเหตุการณ์  ตำรวจผู้นั้นก็ไม่รอช้า  รีบปั่นจักรยานประจำตัวไปที่เกิดเหตุทันที

     ภาพอันน่าสยดสยองที่อุบัติต่อหน้าต่อตาอย่างใกล้ชิดนั้น ทำให้เกิดความสลดสังเวชใจมาก  แต่ข้าพเจ้ามุ่งหมายที่จะไปบ้านเพื่อนของข้าพเจ้า ทางเดินที่จะเข้าไปบ้านเพื่อนเป็นซอยเล็กๆ กว้างพอขนาดสามล้อแล่นได้คันเดียว  ในซอยนั้นมีบ้านของผู้ขับขี่สามล้ออยู่หลายหลัง  ขณะนั้นมีคนกำลังทำความสะอาดสามล้ออยู่หลายคัน เด็กๆ ก็ทำหน้าที่หิ้วกระป๋องน้ำบ้าง บางคนก็ถอดวงล้อออกซ่อม  ถอดยางนอก ปะยางในบ้าง คะเนดูแล้วกะว่าต้องมีรถสามล้อประมาณหกเจ็ดคันเป็นอย่างน้อย  เมื่อผ่านพ้นบ้านของชาวสามล้อสักครู่หนึ่งก็ถึงบ้านเพื่อนของข้าพเจ้า  เคาะประตูเรียกสักอึดใจก็มีคนมาเปิดประตูให้  พอไต่ถามถึงเพื่อนก็ได้รับทราบว่าไม่อยู่บ้านไปกิจธุระที่จังหวัดใกล้เคียง  ประมาณว่าจะกลับราวเย็นวันนั้นแน่  ข้าพเจ้าก็ลากลับพร้อมกับสั่งไว้ว่าจะมาหาอีกในเช้าของวันรุ่งขึ้น  ขอให้เขาอยู่รอพบข้าพเจ้าให้ได้  เพราะมีกิจธุระจำเป็น

     รุ่งเช้า  ข้าพเจ้าก็ไปหาเพื่อนผู้นั้นตามที่สั่งนัดไว้  เช้าวันนั้นบรรยากาศของหมู่บ้านแถบที่ก่อนจะถึงบ้านเพื่อนข้าพเจ้า  ทำให้เกิดความรู้สึกฉงน  แปลกใจมาก  เมื่อวานนี้ผ่านมาเห็นแต่ละคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้วนแต่มีแต่อากัปกิริยาร่าเริง  พูดจาเสียงเอะอะครึกโครม  ไฉนวันนี้มีแต่เสียงคร่ำครวญ  เสียงร้องไห้รำพันต่างๆ นานา  เหมือนกับมีใครที่ประสบกับความตายไปแล้ว  ฉะนั้น  เสียงเหล่านั้นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสลดหดหู่ใจยิ่ง  วานนี้แท้ๆ  ข้าพเจ้ายังได้เห็นได้ยินเสียงหัวเราะต่อกระซิกของบุคคลเหล่านั้น  ไม่มีท่าที่ว่าจะเกิดเหตุมีคนป่วยเจ็บล้มตายอย่างไรเลยเหตุกระทันหันเช่นนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่า  น่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดต้องสิ้นชีวิตลงอย่างปัจจุบันทันด่วนเป็นแน่

     เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับเพื่อน  พูดตกลงกันเรื่องธุระเสร็จสิ้นแล้ว  ก็ถือโอกาสถามเพื่อนว่า  ทำไมคนข้างบ้านนั้นจึงมีอาการทุกข์โศกกันอย่างที่เห็นเช่นนั้น  เพื่อนตอบว่า  เมื่อวานนี้ตอนเย็น  พอผมกลับจากจังหวัดนครปฐมถึงบ้านก็เป็นเวลาพลบแล้ว  ทราบว่ามีตำรวจมาเที่ยวสอบถามหาบ้านของคนขับขี่สามล้อผู้หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เคียง  เมื่อพบแล้วก็แจ้งให้ทราบว่า  คนขับรถสามล้อถูกรถยนต์ชนถึงแก่ความตายเสียแล้ว  เพราะศีรษะฟาดกับพื้นถนนจนกระดูกคอหักตายคาที่ ตำรวจแจ้งว่าได้ไปนำศพไปไว้ที่โรงพยาบาลกลาง (เวลานั้นยังไม่มีโรงพยาบาลตำรวจ)  บรรดาลูกเมียและเพื่อนฝูงพอทราบข่าวก็พากันไปเยี่ยมศพ  ต่างคนต่างก็พากันเศร้าสลดร้องห่มร้องไห้กันตั้งแต่เมื่อคืน” “คนตายเป็นคนที่น่าสงสารมาก”  
     เพื่อนข้าพเจ้าเล่าต่อ  เป็นคนขี่สามล้อที่มีมารยาทดี  พูดจาเรียบร้อย  เป็นคนรักครอบครัว  ผจญงานหนักเพื่อต่อสู้กับการดำรงชีวิตอยู่ของตนและครอบครัว  อย่างน่านับถือ     แกมีบุตรชายหญิง ๔ คน  คนเล็กกำลังกินนม  ซ้ำกำลังเป็นไข้อยู่ด้วย  นอกจากบุตรภรรยาก็ยังมีมารดาตาบอดทั้งสองข้างอีกหนึ่งคน  แกต้องสิ้นชีวิตเสียอย่างนี้ก็เหมือนเรือที่ขาดใบขาดหางเสือ  และอีกสิ่งหนึ่งทำให้เกิดสังเวชหนักก็คือ  เมื่อตายแล้วเจ้าหน้าที่ตรวจค้นดูภายในรถว่าจะยังคงมีสิ่งใดเหลือยู่บ้าง  คุณทราบไหมว่าตำรวจพบอะไร………..  ใต้เบาะรถมียาน้ำแดงแก้ไข้เด็กอยู่หนึ่งขวด  เข้าใจว่าคงจะรีบเอามาให้ลูกรับประทานเพื่อแก้ไข้

     ข้าพเจ้าซักต่อไปว่า  ศพคนตายนั้นเขาจะจัดการกันไปอย่างไรเพื่อนก็บอกว่าสำหรับตัวเขาเองตั้งใจว่า  จะเรี่ยไรชาวบ้านออกเงินคนละเล็กคนละน้อยตามสติกำลังเอาไปทำศพ  เพราะผู้ถึงแก่กรรมนี้แม้จะเป็นเพียงกรรมกรสามล้อก็จริง แต่มีชาวบ้านรักใคร่มากเพราะเป็นคนดี   เมื่อฌาปนกิจเรียบร้อยแล้ว  มีเหลืออยู่เท่าใดก็จะมอบให้แก่ลูกเมียของผู้ตายต่อไป  ข้าพเจ้าได้ทราบเช่นนั้นก็ถือโอกาสมอบเงินจำนวนหนึ่งสมทบช่วยเหลือด้วยความเวทนาสงสารในชะตากรรมของครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายนั้น แล้วถามอีกว่า ทางฝ่ายผู้ที่ขับรถชนคนตายนั้นล่ะ  เขาว่าอย่างไร  ขับรถชนคนตายทั้งคน”  เขาตอบว่า ยังไม่มีใครทราบเลยว่าจะเป็นกันอย่างไรต่อไป  เรื่องก็อยู่ในระหว่างพิจารณาสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” “สามล้อคันนี้ถูกชนที่ตรงสี่แยก………  นั้นใช่ไหม”  ข้าพเจ้าถามอย่างนึกสังหรณ์ใจขึ้นมา เพื่อนข้าพเจ้าตอบว่า  ดูเหมือนจะใช่ 

     ข้าพเจ้าจึงเล่าให้ฟังว่าข้าพเจ้าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดกว่าใคร  เพราะฉะนั้น  ถ้าหากฝ่ายผู้เสียหายต้องการประจักษ์พยาน  ข้าพเจ้าก็ยินดีที่จะให้การตามความสัตย์จริง  เพื่อมนุษยธรรม วันนั้นดูจะเป็นวันที่ไร้ความสดชื่น  จะมองไปทางไหนก็มีแต่ความเหี่ยวแห้งหดหู่ใจ  เห็นจะเป็นเพราะข้าพเจ้าแต่ผู้เดียวที่เห็นอุบัติเหตุอย่างใกล้ชิด  ได้เห็นและทราบเบื้องหลังอันแร้นแค้นของครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายอีกหลายชีวิตที่ผูกพันอยู่กับแรงงานของสามล้อผู้นี้  จะต้องประสบกับความเปล่าเปลี่ยวหมดหวัง และหมดที่พึ่งพา  ลูกที่จะต้องมีอาหาร มีการศึกษามีแม่ตามืดบอดและชราภาพ 

     เหตุการณ์เหล่านี้รบกวนความรู้สึกของข้าพเจ้าอย่างหนักและนำมาซึ่งความสลดใจ  ชั่วเพียงระยะไม่กี่เดือนที่แล้วมา ข้าพเจ้าต้องเผชิญกับเรื่องของคนอาภัพและโชคร้ายถึง ๒ ครั้งอย่างใกล้ชิด  ไม่สามารถที่จะหักห้ามความรู้สึกสะเทือนใจและสงสารผู้เคราะห์ร้ายนั้นได้  จนกระทั่งรำลึกได้ว่า  ความทุกข์และความไม่เที่ยงนั้นเป็นภาวะของโลก  เป็นมูลเหตุที่ก่อให้เกิดวิบัติและวิปโยค  สุดแต่วิถีแห่งชะตากรรมของแต่ละชีวิต  ไม่มีผู้ใดสามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นได้

     หลังจากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นไม่สู้นานนัก  ข้าพเจ้าขับรถไปตามถนนหลวงด้วยความเร็วพอควร  คือไม่เร็วเกินไป   เพราะข้าพเจ้าไม่ชอบขับรถเร็ว  ตามทางด้านซ้ายห่างจากข้าพเจ้าประมาณ ๒-๓  ช่วงคันรถยนต์ มีรถจักรยานสามล้อคันหนึ่งวิ่งนำอยู่ข้างหน้ารถของข้าพเจ้า  ขณะนั้นคนขับสามล้อแกเห็นคนจีนชราคนหนึ่งกับชายรุ่นหนุ่มอีกคนหนึ่งยกมือข้างหน้าข้างหลังให้เรียบร้อยก่อน  แกก็เลี้ยวปราดออกไปด้วยความที่อยากจะได้เงินค่าโดยสาร  ไม่คิดถึงอันตรายที่กำลังจะมาข้างหลัง

     รถสามล้อตัดหน้ารถของข้าพเจ้าอย่างกระชั้นชิด  ข้าพเจ้าเหยียบเบรกห้ามล้ออย่างสุดแรงโดยเร็วที่สุด  ล้อรถยนต์หยุดนิ่งลากไปบนพื้นถนนดังสนั่นไปทั่วบริเวณนั้น ทำให้ผู้คนที่กำลังสัญจรไปมาสองฟากถนนพากันมองมาที่รถของข้าพเจ้าเป็นจุดเดียว  รถยนต์เฉียดท้ายรถสามล้อไปได้อย่างหวุดหวิด  คนขับรถสามล้อคันนั้นตกใจมาก  หันหน้ามามองข้าพเจ้าด้วยสีหน้าอันซีดเซียวด้วยความรู้สึกกลัว  และสำนึกได้ว่าได้ทำผิดประมาทเลินเล่อ  ในส่วนข้าพเจ้านั้นหากโดยปรกติธรรมดาแล้วจะถึงหัวเสีย  ตะโกน  หรือตะคอกคำพูดอันรุนแรงไม่สุภาพออกไปก็ได้  เพราะความประมาทของเขาแท้ๆ  จะทำให้ข้าพเจ้ากลายเป็นฆาตกรบนท้องถนนหลวง และอาจจะต้องเศร้าสลดใจไปชั่วชีวิตก็ได้  หรืออย่างดีก็มีเพียงต้องพยายามอดกลั้นโทสะไว้ในใจเท่านั้น 

     แต่ในคราวนี้มีแต่ความเมตตาสงสาร  ไม่มีความโกรธแค้นเกิดขึ้น  ไม่ได้กล่าวถ้อยคำใดให้เป็นที่กระเทือนใจชายที่ขับสามล้อนั้น ข้าพเจ้ายิ้มกับเขาด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ด้วยไมตรีจิตอันขาวสะอาด  คิดสงสารว่าแกเป็นคนจน  ปรารถนาที่จะได้เงินไปใช้จ่าย  เพื่อเลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัว   ฉะนั้น  การยิ้มของข้าพเจ้าจึงเป็นเครื่องปลอบประโลมให้แกคลายความวิตกกังวล  ที่สุดแกก็มีใบหน้าสดชื่นและยิ้มออกมาได้  ภายในดวงตาคู่นั้นมีแววประหลาดล้ำ  ซึ่งผ่านออกมาจากส่วนลึกของหัวใจที่กำลังเปี่ยมล้นไปด้วยความรู้คุณและปีติ 

     ท่านคงไม่ทราบดอกว่า  ข้าพเจ้ามีความสุขใจอย่างยิ่งในครั้งนี้  ข้าพเจ้าเป็นสุขเพราะชนะใจตัวเองไม่ให้โกรธ  ทั้งนี้ก็ด้วยเมตตาจิตอันเกิดจากความสาสารคนขับสามล้อ  และครอบครัวทั้งสองรายที่พบมาก่อน  รายแรกไม่สามารถช่วยให้คนจับสามล้อที่ประสบความป่วยไข้พ้นความตายได้  และรายที่  ๒  ได้พบเห็นแก่ตาตนเองอย่างใกล้ชิด  กรณีที่คนขับรถสามล้อคอหักตายเพราะถูกรถยนต์ชน  ประกอบกับได้รู้เห็นเบื้องหลังต่างๆ  อย่างละเอียดอยู่ในความทรงจำ จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้ามองเห็นคนขับสามล้อทุกคนเป็นผู้ที่ควรเวทนาสงสารเป็นทุนอยู่ในใจ  และเห็นใจในความยากจน  เพราะถ้าเขามั่งมีเขาก็คงไม่ปรารถนายึดอาชีพอันแสนจะเหน็ดเหนื่อยอย่างนี้เป็นแน่

     จริงอยู่แม้คนขับรถสามล้อบางคนมีฐานะดี  หรือบางคนก็มีนิสัยไม่สู้ดี  แต่ส่วนมากมักเป็นคนสุภาพมานะบากบั่น ตั้งหน้าหาเลี้ยงตนและครอบครัวโดยสุจรติ  ข้าพเจ้าก็พึ่งทราบครั้งนั้นเองว่า  ข้าพเจ้าได้รับบทเรียนที่มีค่าในชีวิตแล้วคือ  ความสงสารและการให้อภัย”  ความสงสารนั้นเป็นเครื่องประหารความโกรธ  ความสงสารเกิดขึ้น ณ  ที่ใดความโกรธย่อมสิ้นสูญไป  สิ่งนี้มีคุณค่าแก่ชีวิตของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง  เพราะขณะที่ขับรถในท้องถนนมีแต่ความสบายใจ  ไม่มีความหงุดหงิดขุ่นมัวเหมือนเมื่อก่อน  โดยข้าพเจ้าได้พยายามนำเอาความรู้สึกดังกล่าวที่มีแก่คนขับสามล้อนั้นมาใช้กับคนขับรถยนต์ทั่วไป  ส่วนมากได้แก่คนขับแท็กซี่ที่แซงซ้ายแซงขวา  ตัดหน้า

      แต่ก็มีรถแท็กซี่ที่สุภาพเรียบร้อย  ตั้งหน้าหากินโดยสุจริต  ไม่ยอมแซง  และมีความซื่อสัตย์ต่อผู้โดยสาร  แม้ว่าผู้โดยสารจะลืมของมีค่าไว้ในรถก็อุตส่าห์นำไปคืนถึงบ้าน  หรือไม่ทราบบ้านก็นำไปประกาศหาเจ้าของ  รถแท็กซี่บางคนขับผิดกฎจราจร  ข้าพเจ้าคิดว่า  เขาคงหาเงินแข่งกับเวลาเพื่อไปเลี้ยงครอบครัว     

     ข้าพเจ้าก็แก้ไขความรู้สึกในทางดีตกไปแล้ว  เพราะใจข้าพเจ้ามีแต่ความสงสารให้แก่บุคคลเหล่านั้น  ส่วนความผิดต่อข้อบังคับการจราจร  เป็นหน้าที่ของตำรวจจะจัดการเพื่อความปลอดภัย  การให้ความสงสารและให้อภัยเป็นเรื่องของข้าพเจ้า  โดยเฉพาะสำหรับรถส่วนบุคคลบางคันที่ขับผาดโผนแบบเดียวกับรถแท็กซี่  ข้าพเจ้าก็ให้ความเห็นใจว่า  อาจมีธุระสำคัญรีบร้อนให้ทันรถไฟหรืออาจมีคนป่วยหนักกำลังรอความช่วยเหลือ  สิ่งเหล่านี้อาจะเป็นไปได้เมื่อนึกอย่างนี้ก็สบายใจและยิ้มออกมาได้  การยิ้มย่อมเป็นความสุขด้วยกันทุกฝ่าย  ความขุ่นมัวในจิตใจก็หายไปสิ้น

จบเรื่องที่ ๖
ขอความดีจงบังเกิดกับท่านผู้อ่าน
และขออุทิศแด่ท่านอาจารย์ ทองหยก เลียงพิบูลย์ เจ้าของวรรณกรรมอิงธรรมะชุดนี้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น