วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สุขภาพดีไม่มีขาย..จึง..ต้องทำเอง.3

คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น หรือ แกว่งแขนรักษาโรค
ของท่านพระโพธิธรรม(ปรมาจารย์ตั๊กม้อ)




พระโพธิธรรม เดิมเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าแผ่นดิน แคว้นคันธารราษฏร์ ประเทศอินเดีย ต่อมาได้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาพุทธที่ประเทศจีน ท่านเป็นที่รู้จักกันในชื่อภาษาจีนว่า ตะโม โต๊ะโหมว หรือ ตั๊กม้อ นามตั๊กม้อนี้พอได้ยินแล้วคนทั้งหลายจะนึกถึงวัดเส้าหลิน หรือ วัดเสี้ยวลิ้ม ทันที พระโพธิธรรมหรือพระปรมาจารย์ตั๊กม้อได้ไปพำนักอยู่ที่วัดเส้าหลิน ต่อมาท่านเห็นพระทั้งหลายมีสุขภาพไม่แข็งแรง ท่านจึงคิดท่ามวยหรือจะเรียกว่าเป็นท่ากายบริหารในทำนองโยคะ ท่านได้สอนให้พระในวัดฝึกหัดตามท่าต่างๆเหล่านี้ เพื่อทำให้มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งได้มีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เรียกกันว่ามวยเส้าหลิน และยังมีแบบที่นิยมกันมากอีกแบบก็คือ คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น ที่คนสมัยนี้เรียกกันว่า แกว่งแขนรักษาโรค นั่นเอง




วัดเส้าหลิน


     พระโพธิธรรม เดินทางจาริกจากประเทศอินเดียสู่แผ่นดินจีน เริ่มเดินทางเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๐๖๗  นับเป็นพระสังฆปรินายกของทางจีนองค์ที่ ๑ ถ้านับทางอินเดียแล้วท่านเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ ๒๘     พระโพธิธรรมเป็นผู้ซึ่งได้รับ การถ่ายทอดธรรมะ ด้วยวิธีแห่งจิตสู่จิต ทั้งยังเป็นผู้ได้รับ บาตร จีวร และสังฆาฏิ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระสังฆปรินายกเป็นผู้รักษาการสืบต่อๆกันมาตามลำดับ

     พระประวัติเดิมของพระโพธิธรรม เดิมเป็นราชโอรสองค์ที่ ๓  ของกษัตริย์แห่งแคว้นคันธารราษฎร์ ประเทศอินเดีย ตั้งแต่ พระชนม์มายุยังเยาว์ ก็ทรงแตกฉานในคัมภีร์ของทุกศาสนา ทั้งวรรณคดีอักษรศาสตร์ และการแพทย์

     เมื่อพระบิดาของท่านสิ้นพระชนม์ ท่านได้นั่งเข้าฌานสมาบัติที่เบื้องหน้าพระบรมศพนานถึง ๗ วัน หลังจากนั้น จึงได้ไปศึกษาธรรมะอยู่กับ พระปรัชญาตาระเถระซึ่งเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ ๒๗ ของอินเดีย

     วันหนึ่งพระปรัชญาตาระเถระ ได้หยิบลูกแก้วชูขึ้นให้พระโพธิธรรมดูเป็นปริศนา พระโพธิธรรมก็เกิดปัญญาเกิดความสว่างไสว ได้บรรลุธรรมในฉับพลัน เข้าใจในสภาวะธรรมทั้งหลาย
      
     พระปรัชญาตาระเถระพิจารณาเห็นปัญญาบารมีอันสูงยิ่งของพระโพธิธรรม จึงได้เรียกประชุมสงฆ์สาวกทั้งปวงประกาศให้พระโพธิธรรมเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ ๒๘ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา และรับมอบ บาตร จีวร และสังฆาฏิ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ภาพวาดพระโพธิธรรมของญี่ปุ่น


     พระโพธิธรรมได้ออกเดินทางจากอินเดียสู่ประเทศจีนเมื่อปีพ.ศ.๑๐๖๗ ใช้เวลาเดินทางถึง ๓ ปี จึงได้มาถึงมณฑลกวางตุ้ง ในสมัยของพระเจ้าเหลียงบู้ตี้ (ประมาณ พ.ศ. ๑๐๗๐) ได้มีบันทึกไว้ว่า ขณะที่พระโพธิธรรม เดินทางมาถึงฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง ท่านจะข้ามแม่น้ำไปยังอีกฝั่งแต่หาเรือไม่ได้ จึงได้ถอนต้นอ้อต้นหนึ่งโยนลงไปในลำน้ำ แล้วกระโดดลงไปยืนบนต้นหญ้าเล็กๆนั้นลอยข้ามแม่น้ำไปได้

     ต่อมาพระโพธิธรรมพร้อมด้วยลูกศิษย์นามว่า เสินกวง ได้เดินทางไปยังภูเขา ซงซัว และพำนักอยู่ที่วัด เส้าหลิน (เซี่ยวลิ้มยี่) ณ สถานที่แห่งนี้พระปรมาจารย์โพธิธรรมได้นั่งหันหน้าเข้าผนังถ้ำ ปฏิบัติสมาธิเข้าฌานอยู่ถึง ๙ ปี

     พระโพธิธรรมได้ถ่ายทอดธรรมะให้แก่พระเสินกวง ด้วย จิตสู่จิต และให้พระเสินกวงสืบทอดตำแหน่ง เป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ ๒  จากนั้นพระโพธิธรรมเดินทางไปพำนักอยู่ ณ วัด ไซเซี่ยยี่ ซึ่งอยู่ที่เมืองอู๋มึ้ง จนกระทั้งถึงวันมรณภาพ

พระปรมาจารย์โพธิธรรมได้ดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน ณ วัดแห่งนี้ โดยประทับนั่งอยู่ในสมาธิฌานสมาบัติ รวมมี พระชนม์มายุได้ ๑๕๐ พรรษา เล่ากันว่า ต่อมาเหล่าลูกศิษย์ได้เปิดโลงดูพบเพียงรองเท้าหญ้าของท่านพระโพธิธรรมอยู่ในโลง แต่ไม่พบร่างของท่านเลย ยังเล่ากันต่อไปว่า มีคนเห็นพระโพธิธรรมเดินธุดงค์



รูปตั๊กม้อเหยียบปล้องหญ้าข้ามแม่น้ำ

ที่มาของคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น

     ครั้งหนึ่งในระหว่างที่ท่านพระโพธิธรรมเทศนาและสอนการทำสมาธิ ท่านเห็นพระหลายรูปถึงกับหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย มีสาเหตุมาจากการที่มีสุขภาพอ่อนแอนั่นเอง ท่านพระโพธิธรรมเห็นว่าต้องทำให้พระเหล่านี้มีร่างกายแข็งแรงก่อน จึงจะสามารถปฏิบัติธรรมได้

     พระโพธิธรรมจึงได้คิดค้นท่าบริหารร่างกาย สำหรับให้พระลูกศิษย์ฝึกออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกาย  ท่านได้คิดค้นบันทึกไว้เป็นคัมภีร์ ๓ เล่มได้แก่

. 換筋功   คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น
. 洗髄功   คัมภีร์ฟอกไขกระดูก
. 十八羅漢禦   ฝ่ามือสิบแปดอรหันต์

     คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น หรือ คัมภีร์อี้จินจง ก็คือการบริหารแกว่งแขนรักษาโรคนั่นเอง






     การแกว่งแขนแบบนี้เชื่อกันว่ารักษาโรคได้บางโรค แต่จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ถ้ามาพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าอย่างน้อยก็เป็นการออกกำลังกายแบบหนึ่ง เมื่อได้ทดลองทำตามคัมภีร์แล้ว เห็นแค่เพียงท่าแกว่งแขนง่ายๆ ท่านที่ทำแล้วจะเหงื่อหยดติ๋งๆกันเลยทีเดียว

     ตำราแกว่งแขนหรือคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นแบบนี้ ได้มีผู้เผยแพร่ไปแล้วไม่น้อยเลย จึงได้มีตำรานี้หลายสำนวน ซึ่งมีหลักไม่แตกต่างกัน จะต่างกันที่ถ้อยคำบ้างเล็กน้อย

     ตำราแกว่งแขนรักษาโรคหรือคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นมีดังนี้

๑. ยืนตรง เท้าทั้งสองข้างแยกออกจากกัน กะระยะให้มีระยะห่างเท่ากับช่วงไหล่




๒. มือทั้งสองข้างปล่อยลงตามธรรมชาติ อย่าเกร็งนิ้วมือชิด หันอุ้งมือไปข้างหลัง

๓. หดท้องน้อย เอวตั้งตรง เหยียดหลัง ผ่อนคลายกระดูกลำคอ ศีรษะ ปาก ให้เป็นธรรมชาติ



๔. จิกปลายนิ้วเท้ายึดเกาะพื้น ออกแรงเหยียบส้นเท้ากลงพื้นให้แน่น จนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อที่โคนเท้าและท้องตึง

๕. สายตาทั้งสองข้าง มองตรงไปยังจุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว ไม่คิดฟุ้งซ่าน  ให้ความสนใจอยู่ที่เท้าเท่านั้น

๖. ยกมือแกว่งแขนไปข้างหน้าเบา ๆ จะตรงกับคำว่า ว่างและเบา  ความสูงของแขนที่แกว่งให้อยู่ระดับที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่สูงเกินไป ให้ทำมุมกับลำตัวประมาณ ๓๐ องศา นับครั้งที่แกว่งแขนไปด้วย เมื่อแกว่งแขนกลับให้เพิ่มแรงแกว่งกลับมีมุมประมาณ ๖๐ องศา จนรู้สึกว่าไม่สูงไปกว่านั้น เรียก "แน่นและหนัก"



   การแกว่งแขนนี้แรกๆทำสัก ๒๐๐ - ๓๐๐ครั้ง  ต่อไปทำให้ได้ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ครั้ง

     ยังมีเคล็ดในการแกว่งแขนประมวลไว้อีกดังนี้

                ๑.ส่วนบนปล่อยให้ว่าง คือ ศีรษะควรปล่อยให้ว่างเปล่า มีสมาธิ

                ๒.ส่วนล่างควรจะให้แน่น ส่วนล่างของร่างกายใต้บั้นเอวลงไปต้องให้ลมปราณเดินได้สะดวก

                ๓.ศีรษะแขวนลอย หมายถึงศีรษะต้องปล่อยสบายประหนึ่งแขวนลอยไว้ในอากาศ กล้ามเนื้อคอต้องผ่อนคลาย ไม่เกร็งไม่โน้มไปข้างหน้าไม่หงายไปข้างหลัง หรือไม่เอียงไปข้างๆ

                ๔.ไม่หุบปากหรืออ้าปากไปตามจังหวะที่ออกแรงแกว่งแขน ไม่ควรให้ปากอ้าตามใจชอบ แต่ควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อและหุบปากเพียงเล็กน้อย

                ๕.ทรวงอกเหมือนปุยฝ้าย คือ ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนบนทรวงอกผ่อนคลายแบบธรรมชาติ

                ๖.หลัง ควรยืนตรงให้ตระหง่าน หมายความว่าไม่แอ่นหน้า แอ่นหลัง หรือก้มตัวจนหลังโก่ง ต้องให้แผ่นหลังยืดตรงตามธรรมชาติ          
                                                                            
                ๗.บั้นเอวตั้งตรงเป็นแกนเพลา  หมายถึงบั้นเอวต้องอยู่ในลักษณะตรง

                ๘.ลำแขนควรแกว่งไกว หมายถึงแกว่งแขนทั้งสองข้างไปมา

                ๙.ข้อศอกควรปล่อยให้ ลดต่ำตามธรรมชาติ หมายถึงขณะแกว่งแขนทั้งสองข้างไปข้างหน้าและข้างหลังนั้น อย่าให้แขนแข็งทื่อ ควรงอข้อศอกเล็กน้อยตามธรรมชาติ

                ๑๐.ข้อมือควรปล่อย ให้หนักหน่วง หมายถึงขณะที่แกว่งแขนทั้งสองข้างนั้น แขนทั้งสองข้างนั้นควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ข้อมือ เมื่อไม่เกร็งแล้วจะรู้สึกมือหนัก

                ๑๑.สองมือควรพายไปตามจังหวะแกว่งแขน หมายถึงขณะที่แกว่งแขนนั้น ทำท่าคล้ายพายเรือ

                ๑๒.ช่วงท้องควรปล่อยตามสบาย คือ เมื่อกล้ามเนื้อท้องถูกปล่อยให้ผ่อนคลายแล้ว จะรู้สึกว่าแข็งแกร่งขึ้น

                ๑๓.ช่วงขาควรผ่อนคลาย หมายถึงขณะที่ยืนให้เท้าทั้งสองข้างแยกห่างกันนั้น ควรผ่อนกล้ามเนื้อช่วงขา

                ๑๔.บั้นท้ายควรให้งอนขึ้นเล็กน้อย ระหว่างทำกายบริหารนั้นต้องหดก้น คล้ายยกสูงให้หดหายไปในลำไส้

                ๑๕.ส้นเท้าควรยืนถ่วงน้ำหนักเสมอก้อนหิน หมายถึง การยืนด้วยส้นเท้าที่มั่นคง ยึดแน่นเหมือนก้อนหินไม่มีการสั่นคลอน

               ๑๖.ปลายนิ้วเท้าควรจิกแน่นกับพื้น หมายถึงขณะที่ยืนนั้น ปลายนิ้วเท้าทั้งสองข้าง ควรจิกแน่นกับพื้นเพื่อยึดให้มั่นคง

     คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นของพระโพธิธรรมหรือปรมาจารย์ตั๊กม้อนี้ ภาษาจีนเรียก ต๋าโม๋อี้จินจิง ท่านที่ได้เคยทำเป็นประจำต่างบอกว่าดีมาก ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้อย่างประหลาด เรื่องนี้จะว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคลหรืออะไรก็ตาม แต่ถ้าทำดูแล้วแรกๆบางคนถึงกับหอบแฮ่กๆเพราะรู้สึกเหนื่อย เหงื่อหยดติ๋งๆกันเลยทีเดียว เราจึงพออนุมานได้ว่า การแกว่งแขนรักษาโรคนี้อย่างน้อยก็สามารถนับเป็นการออกกำลังกายได้แบบหนึ่ง ไม่ต้องใช้พื้นที่มากมาย ทั้งทำได้ในทุกที่ นับได้ว่าการแกว่งแขนแบบนี้มีประโยชน์กับทุกๆคนทุกวัย สามารถทำได้ทั้งนั้น

     ของอย่างนี้ต้องทำกันเอง มีเงินมากสักเท่าไรก็หาซื้อไม่ได้ การที่จะมีสุขภาพดีนั้น ในขั้นแรกเราต้องรู้จักดูแลตัวเองก่อน การแกว่งแขนตามตำรานี้นับได้ว่าทั้งสะดวก ทั้งทำได้ในทุกสถานที่ สุขภาพดีไม่มีขายนะขอรับ เราต้องทำกันเอง





พระโพธิธรรมกับเครื่องหมายเซ็น



จากหนังสือ คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น (พิมพ์หลายครั้ง) หลายสำนวน
ภาพจาก วิกิพิเดีย









2 ความคิดเห็น: