วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นึกเรื่องเก่า เล่าความหลังฯ ๗ สามเกลอ

นึกเรื่องเก่า เล่าความหลัง กินของขม ชมเด็กสาว
..แปลว่า..เริ่มแก่แล้ว๗

พล นิกร กิมหงวน


จักรวาลและโลกนี้มีอายุยาวนานเหลือเกิน ดังนั้นพอเราหวนกลับมามองวันเวลาของช่วงชีวิตมนุษย์เราแล้ว ดูมันช่างแสนสั้นเสียเหลือเกิน มันช่างสั้นเสียนี่กระไร มันช่างสั้นอย่างน่าใจหาย วันเวลาของเราที่ผ่านล่วงไปแล้ว หลายท่านคิดว่ามันนานมาแล้ว แต่แท้จริงแล้วมันสั้นนิดเดียว มันช่างสั้นยิ่งนัก แต่เราก็ทั้งผ่านทั้งซ่อนเรื่องราวต่างๆกันมามิใช่น้อยเลย 
 

     ข้าพเจ้าผู้เขียนนี้ชักจะเริ่มระลึกถึงอดีตขึ้นมาบ่อยๆ แล้วก็ต้องสะดุ้งเพราะมีกฏสี่ประการจากคำที่ว่า คนแก่จะต้องคุยเรื่องเก่า เล่าความหลัง กินของขม และท้ายที่สุดต้องชมเด็กสาวชักหวั่นๆเหมือนกัน แต่ผู้เขียนยังไม่รู้สึกว่า อยากจะสนใจชมเด็กสาวเลย(เรื่องจริง แบบว่าซื่อตรงต่อภรรเมีย) ดังนั้นเมื่อผู้เขียนมีองค์ประกอบไม่ครบทั้งสี่ประการดังกล่าว แสดงว่ายังไม่แก่อย่างแน่นอน

     ไม่นานมานี้ผู้เขียนผ่านไปแถวย่านวังบูรพา ด้วยความที่เป็นหนอนหนังสือจึงอดแวะเข้าร้านหนังสือในย่านนี้ไม่ได้ หนังสือที่สะดุดตาอย่างคุ้นเคยมานานก็ยังเห็นอยู่ นั่นคือหนังสือชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ยังคงมีวางจำหน่ายอยู่ จึงนึกระลึกไปถึงอดีตว่า ตอนเด็กๆนั้นชอบอ่านเรื่องชุดสามเกลอมาก ซึ่งนิยายชุดสามเกลอนี้สร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่ผู้เขียนเป็นเบื้องแรก หลังจากนั้นก็ชอบอ่านหนังสือแนวต่างๆอีกสารพัด มาถึงยุคนี้ก็ไม่ทราบว่าคนรุ่นใหม่ๆนั้น เขารู้จักหนังสือชุด พล นิกร กิมหงวน  กันหรือไม่






     นิยายชุดสามเกลอเรียกกันว่าหัสนิยาย อ่านแล้วจะตลกขบขันเพลิดเพลินดีมาก คนอ่านๆไปหัวเราะไป บางตอนก็ขำจนน้ำหูน้ำตาไหล  นับว่าเรื่องสามเกลอนี้เป็นนิยายที่อ่านแล้วคลายเครียดได้ดีมาก ทั้งให้ความบันเทิงแบบไม่ต้องถ่อสังขารไปเที่ยวถึงไหนๆ เพียงแค่มีหนังสือหัสนิยายชุดสามเกลอนี้นอนอ่านอยู่กับบ้าน ก็เป็นที่บันเทิงเริงรมย์ได้แล้ว เรื่องสามเกลอนี้มีมากถึงหนึ่งพันกว่าตอน เข้าใจกันว่าจะเป็นนิยายที่มีจำนวนตอนมากที่สุดของไทย 

     ท่านผู้ประพันธ์หัสนิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน คือ ป.อินทรปาลิต (ปรีชา อินทรปาลิต ๑๒พ.ค.๒๔๕๓ ถึง ๒๕ก.ย.๒๕๑๑) ไม่ทราบว่าท่านผู้ประพันธ์แต่งเรื่องสามเกลอมากขนาดนี้ได้อย่างไร แถมยังอ่านแล้วขำแทบตาย 

ป.อินทรปาลิต

     บทประพันธ์ชุด พล นิกร กิมหงวน นี้มีตัวละครมากมาย แค่เฉพาะตัวละครหลักก็มีเกินกว่า ๑๐ คนแล้ว แต่ว่าความสนุกสนานทำให้ผู้อ่านจำตัวละครได้หมด จากเนื้อเรื่องตอนแรกๆนั้นจะมีสองเกลอที่เป็นญาติกันคือ พล พัชราภรณ์ และ นิกร การุณวงศ์ พอเรื่องดำเนินไปสักพักก็มี กิมหงวน ไทยเทียม ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อไทยว่า สงวน ไทยแท้ แต่ในเรื่องเรียกกันว่าอาเสี่ยหงวนมากกว่า ตอนนี้จึงรวมกันเป็นสามเกลอ พอเรื่องดำเนินไปอีกหน่อยก็มีด็อกเตอร์ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ เพิ่มขึ้นมาสร้างสีสัน จึงกลายเป็นคณะพรรคสี่สหาย ที่กลายเป็นเพื่อนรักเพื่อนร่วมชีวิตเป็นเพื่อนตายกัน

      สี่สหายออกผจญภัยแบบป่วนๆไปทั่ว ว่ากันตั้งแต่เรื่องผัวๆเมียๆ เรื่องสงครามในยุคสมัยนั้น เรื่องผีๆ เรื่องบู๊ๆ เรื่องรักๆ คณะพรรคสี่สหายจะผจญภัยตั้งแต่บนโลกจนถึงออกนอกโลกเลยก็มี โดยมีท่านเจ้าคุณปัจจนึกพินาศเป็นหัวหน้าคณะ ท่านเจ้าคุณปัจจนึกพินาศเป็นพ่อตาของนิกรและด็อกเตอร์ดิเรก ทั้งยังเป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ของพลกับกิมหงวน คณะพรรคสี่สหายมีเจ้าแห้วเป็นคนใช้ติดสอยห้อยตามเจ้านายไปตลอด




     คาแร็คเตอร์ของสี่สหายนั้น ท่านผู้ประพันธ์วางไว้ให้ต่างกันไป แต่กลับเสริมบทบาทให้แก่กันได้อย่างสุดยอดและสุดจะขำ ท่านเจ้าคุณปัจจนึกพินาศกับเจ้าคุณประสิทธิ์นิติศาสตร์ เป็นคนหัวล้านใจน้อย พลเป็นชายหนุ่มเก่งแบบพระเอกๆคือต่อสู้เก่ง มีเสน่ห์ เป็นสุภาพบุรุษ นิกรเป็นคนรู้เรื่องศาสตร์โบราณบ้าง ชอบนอน กิน ล้วงกระเป๋า และร้องลิเก อาเสี่ยกิมหงวนเป็นคนบ้ายอและรวยอันดับหนึ่งของประเทศชอบฉีกแบ็งค์ ด็อกเตอร์ดิเรกเป็นนายแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอด ทุกๆคนเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกในความดี และกลัวเมีย

     เมียๆของสี่สหายมีนันทาเป็นเมียของพล มีนิสัยแบบพี่คนโตคือดูรอบคอบเป็นเรื่องเป็นราวและดุแบบพี่ใหญ่ ประไพเป็นเมียนิกรมีนิสัยแบบจิ๊กกี๋ๆแก่นๆชอบพกหลาวทองเหลือง นวลละออเป็นเมียเสี่ยหงวนนิสัยบุ่มบ่ามทันสมัยกล้าเกินหญิง ชอบซ้อมผัว อาจเพราะในเรื่องจบปริญญาทางพลศึกษา ประภาเป็นเมียดร.ดิเรก เรียนจบพยาบาล มีนิสัยไปทางเรียบร้อยๆ



     ตัวละครอื่นๆก็ประทับใจทั้งนั้น คุณหญิงวาดแม่ของพลชอบกินหมากและปากจัดแต่ใจดีขี้สงสาร เจ้าคุณวิจิตรบรรณาการ พ่อของนิกร เจ้าคุณนพรัตนไมตรี พ่อของด๊อกเตอร์ดิเรก เจ้าสัวกิมเบ๊เตี่ยเสี่ยหงวนมีบทบาทไม่มากนัก แต่ก็ช่วยให้เค้าโครงเรื่องดูดี ยังมีเจ้าสัวกิมไซ ที่เป็นลุงของเสี่ยหงวน ที่หอบสมบัติลงเรือหนีภัยสงครามจากจีนมาไทย แต่เรือล่มสมบัติจมทะเลหมด และเจ้าสัวกิมไซยังชอบสูบฝิ่น 

     ตัวละครลุงเชยเป็นคนบ้านนอกที่เปิ่นๆเหน่อๆไม่ทันสมัย คำว่าเชยนี้ว่ากันว่ามาจากลุงเชยนี่เอง นอกจากนี้ยังมีคุณนายลิ้นจี่แม่ของนวลละออ คุณท้าวใหญ่พี่สาวคุณหญิงวาด ส่วนพวกคนใช้นอกจากเจ้าแห้วก็มีนางละม่อมต้นห้องคุณหญิงวาด ยายอิ่มแม่ครัว กระทั่งมีเจ้าบาบูแขกยามเฝ้าประตู และที่ปรากฏบทบาทอยู่เนืองๆก็คือเจ๊หนอมหรือถนอมศรี ที่เป็นเจ้าของซ่องโสเภณีชั้นสูง ที่คณะพรรคสี่สหายและเจ้าคุณปัจจนึกชอบไปเที่ยว และไปติดโรคกันมาหลายครั้ง



     หัสนิยามสามเกลอเป็นเหมือนการบันทึกเรื่องราวของเมืองไทยในช่วงยุคประมาณปีพ.ศ.๒๔๘๐จนถึงหลังพ.ศ.๒๕๐๐เล็กน้อย คือป.อินทรปาลิต ได้ประพันธ์ไว้ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๘๒ถึง๒๕๑๑ ในเรื่องสามเกลอนั้นคณะพรรคสี่สหายได้เข้าไปมีส่วนร่วมในสถานการณ์แห่งประวัติศาสตร์ของยุคสมัย ท่านผู้ประพันธ์ได้ใส่รายละเอียดเอาไว้มาก กลิ่นอายของยุคสมัยนั้นจึงสืบค้นหรือระลึกถึงได้จากเรื่องสามเกลอ แม้มีผู้อ่านที่เกิดไม่ทันยุค ก็ยังอ่านเรื่องสามเกลอแล้วจินตนาการตามไปได้ 

     ถ้ามานึกเทียบกับสมัยนี้แล้ว ยุคสมัยที่สี่สหายของเราโลดแล่นอยู่นั้นช่างสวยสดงดงามเหลือเกิน เมื่ออ่านดูแล้วจะนึกจินตนาการเห็นกรุงเทพมหานครยังสงบยังเขียวชอุ่ม ผู้คนยังยิ้มแย้มแจ่มใสมีไมตรีจิตต่อกัน ทำให้นึกอยากย้อนเวลากลับไปอยู่ในยุคนั้น



     ข้าพเจ้าเองได้อ่านหัสนิยายสามเกลอครั้งแรกตั้งแต่ยังเป็นเด็กประถม ท่านผู้ประพันธ์เรื่องสามเกลอเพิ่งถึงแก่กรรมไปไม่กี่ปี ขณะนั้นพออ่านๆไปก็นึกภาพตามเหตุการณ์ได้ตามสมควร เพราะยังพอทันเห็นสถานที่ในนิยายอยู่บ้าง ยังเข้าใจอัตราค่าของเงินในนิยายบ้าง ถึงแม้เงินจะมีค่าไม่เท่ากันแล้ว ก็ตอนเรียนชั้นประถมหนึ่งนั้น ผู้เขียนได้สตางค์ไปโรงเรียนวันละ ๒ สลึงเอง ยังซื้อกระเพาะปลาได้ ๑ ชามเลย จำได้ว่าหลังจากนั้นไม่นานค่าของเงินมีการกระโดดไปอีกยุค จำได้ตรงที่ป.๔ได้ค่าขนม ๑ บาท ป.๕ได้ ๓ บาท พอถึงป.๗ต้องมีเงินไปโรงเรียน ๑๐ บาทถึงจะพอใช้ นับแต่นั้นมาค่าของเงินในเมืองไทยก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และยุคสมัยของสามเกลอก็ห่างออกไปเรื่อยๆ ก็เลยต้องมานึกเรื่องเก่า เล่าความหลัง กินของขม แต่ยังไม่ชมเด็กสาว

   หัสนิยายชุดสามเกลอได้บันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัยเอาไว้ได้เป็นอย่างดีวิเศษ นับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ได้ช่วงหนึ่ง สถานที่ต่างๆหลายแห่งในนิยายชุดนี้ ปัจจุบันได้ถูกรื้อเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย หลายๆที่ถึงกับถูกลืมเลือนไป แต่ยังปรากฏมีชีวิตชีวาอยู่ในหนังสือชุดพล นิกร กิมหงวน

     หวนระลึกถึงยุคของคณะพรรคสี่สหายแล้ว ยุคนั้นเมืองไทยของเรานี้ช่างน่าอยู่ช่างโรแมนติคจริงๆ











   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น