วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปัดฝุ่นเรื่องเก่าจีน.๒..พระโพธิธรรม(ตั๊กม้อ)

พระโพธิธรรม ปรมาจารย์ตั๊กม้อ
 bōdhidharma





พระโพธิธรรม หรือที่เรียกตามชาวจีนว่าท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ เป็นพระอินเดียที่ไปสร้างตำนานในระดับที่ต้องเรียกว่ามหาตำนานกันเลยทีเดียว เรื่องราวของพระโพธิธรรมถูกเล่าขานต่อๆกันมานานถึงพันกว่าปี ซึ่งแน่นอนว่าหลายตำนานกลายเป็นเหมือนเทพนิยาย แต่ที่แน่นอนก็คือพระโพธิธรรมมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เรื่องราวของท่านจึงมีเค้ามูลของความจริงอยู่มาก

      พระโพธิธรรม เดิมเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าแผ่นดิน แคว้นคันธารราฐ ประเทศอินเดีย ประสูติเมื่อใดนั้นดูจากหลักฐานแล้วยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะปีที่เประสูติกับปีที่เดินทางถึงจีนนั้นห่างกันไม่ถึงสิบปี จึงไม่น่าเป็นไปได้ มีบันทึกว่าประสูติปีพ.ศ. ๑๐๖๓(ค.ศ.520) แต่เวลาเดินทางถึงจีนเป็นปีพ.ศ.๑๐๗๐ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่ิอนเรื่องปีประสูติแน่นอน เพราะห่างจากเวลาเกิดเพียงแค่ ๗ ปี เท่ากับว่าพระโพธิธรรมไปจีนตั้งแต่อายุ ๗ ขวบซึ่งเป็นไปไม่ได้(เรื่องปีพ.ศ.เกิดนี้มีข้อมูลต่างออกไปอีก จะรวมไว้ในตอนท้าย)

     พระโพธิธรรมครั้งยังเป็นราชกุมารนั้น พระองค์ได้รับการศึกษาในศิลปวิทยาตามแบบราชกุมารของอินเดียที่ต้องรู้ ทรงปราดเปรื่องและแตกฉานในคัมภีร์ของทุกๆศาสนา ตลอดจนวรรณคดีอักษรศาสตร์โบราณ แน่นอนว่าต้องชำนาญยุทธด้วย เพราะพระราชาและเชื้อพระวงศ์ต้องเป็นนักรบ     

     ตามตำนานว่า ขณะที่พระบิดาสิ้นพระชนม์นั้น พระองค์สามารถนั่งฌานสมาบัติชั้นสูง อยู่เบื้องพระบรมศพของพระบิดานานตลอดถึง ๗ วัน อันแสดงถึงความตั้งมั่นในสมาธิตั้งแต่ยังไม่ทรงสมณเพศ หลังจากนั้นจึงไปศึกษาแสวงธรรมอยู่กับพระปรัชญาตาระเถระ ผู้เป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ ๒๗

    พระปรัชญาตาระเถระเป็นพระมหาเถระที่เชี่ยวชาญทางพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง วันหนึ่งพระปรัชญาตาระเถระ ได้หยิบลูกแก้วยกขึ้นให้ท่านโพธิธรรมดูเป็นปริศนาธรรม พระโพธิธรรมเห็นแล้วก็บังเกิดความสว่างไสวรู้แจ้งแทงตลอดถึงธรรมที่เคยสงสัยมาทั้งหมด เมื่อบรรลุธรรมแล้วจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

     พระปรัชญาตาระเถระ เห็นถึงปัญญาบารมีอันสูงล้ำของพระโพธิธรรม จึงได้เรียกประชุมคณะสงฆ์และประกาศว่า

      "พระโพธิธรรม ได้บรรลุธรรมสมบูรณ์ดีแล้ว ฉันจะมอบบาตร จีวร สังฆาฏิ และถ่ายทอดธรรมทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ท่านเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ ๒๘ ต่อจากฉันไปเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา
     ต่อจากนี้ไป เป็นสิทธิหน้าที่ของท่านที่จะทำให้วิถีธรรมนี้แพร่หลายไปทั่วทุกหนทุกแห่งในโลก และจงเลือกศิษย์ที่บรรลุธรรมตลอดจนมีความรู้ในธรรมที่ มั่นคงดีแล้ว เป็นผู้รับสืบทอด บาตรจีวร สังฆาฏิ และวิถีธรรมตรงนี้อย่างระมัดระวัง อย่าให้ขาดตอนลงไปได้
      ท่านมีบุญญาลักษณะบารมีดีพร้อม และอายุยืนยาวมากกว่าพระสังฆปรินายกองค์ใดๆ หลังจากที่ฉันดับขันธ์ไปแล้วเป็นเวลา ๖๗ ปี แผ่นดินนี้จะเกิดภัยสงครามใหญ่อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ท่านจึงควรนำวิถีธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เผยแพร่ไปสู่ประเทศจีนเถิด"


ภาพวาดพระโพธิธรรม


     สำหรับเรื่องพระสังฆปรินายกมีประวัติความเป็นมาดังนี้

     โดยอาศัยพระสูตรหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า "ต้าฝั่นเทียนอุ้มผู่เจี้ยอี้จิง"แปลว่า พระสูตรอันกล่าวถึงปัญหาที่ท้าวมหาพรหมทูลถาม มีใจความตอนหนึ่งกล่าวไว้ดังนี้

      สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ พอถึงตอนค่ำท่านท้าวมหาพรหมได้เสด็จมาเข้าเฝ้าถวายดอกบัวเป็นพุทธบูชา แล้วจึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

      พระพุทธองค์จึงทรงยกพระหัตถ์ขวาอันบรรจงหยิบดอกบัวชูขึ้นท่ามกลางสันนิบาตนั้น โดยมิได้ตรัสแต่ประการใดแก่หมู่สงฆ์

      ในขณะนั้นปวงเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายต่างไม่เข้าใจในความหมาย มีเพียงพระมหากัสสปะเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มองพระพุทธองค์ด้วยดวงตาอันเปล่งประกายจำรัส พร้อมกับรอยยิ้มละไม

     ครั้นแล้วพระพุทธองค์ จึงตรัสขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมว่า
      "ตถาคตมีธรรมจักษุอันถูก ตรงนิพพาน
     ตถาคตเป็นผู้มีญาณทัศนะอันรู้จบพร้อมในธรรม
     ตถาคตเป็นผู้มีดวงจิตอันหลุดพ้นแล้ว
     ตถาคตเป็นผู้ธำรงสัจจะอันบริสุทธิ์ไม่เคลือบคลุม
     สิ่งใดอันตถาคตเป็น ธรรมใดอันตถาคตรู้
     สิ่งนั้น ธรรมนั้น ตถาคตได้ถ่ายทอด
     ให้แก่มหากัสสปะโดยครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว"

      พระมหากัสสปะ ผู้ถึงช่วงเวลาแห่งการตรัสรู้ได้บรรลุธรรมทันที เมื่อพระพุทธองค์ทรงใช้ดอกบัวเป็นประหนึ่ง "กุญแจทองไขประตูใจ" เปิดให้เห็นพุทธจิตธรรมญาณแท้ในตน นี่ก็คือการส่งทอดปัญญาญาณจาก "จิต สู่ จิต" นั่นเอง

     ด้วยเหตุฉะนี้จึงถือว่า พระมหากัสสปะผู้ซึ่งได้รับการแสดงธรรมโปรดโดยวิธี "ชี้ตรงฉับพลัน" และเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่หนึ่ง แห่งพุทธศาสนาในอินเดีย

ลำดับพระสังฆปรินายก
1.พระมหากัสสปะ
2.พระอานนท์
3.พระสัญญวาส
4.พระอุปคุปต์
5.พระทฤตกะ
6.พระนิฆาฏกะ
7.พระวสุมิตร
8.พระพุทธนันที
9.พระพุทธมิตร
10.พระปาลสวะ
11.พระปุณณยส
12.พระอัสวโฆษ
13.พระกปิมาลา
14.พระนาคารชุน
15.พระกาญจเทวะ
16.พระราหุลตา
17.พระสังฆสันที
18.พระสังฆยส
19.พระกุมารกะ
20.พระคยาตะ
21.พระวสุพันธุ
22.พระมนุระ
23.พระยานสะ
24.พระสิงหะ
25.พระสัสสุกะ
26.พระปุณยมิตะ
27.พระปรัชญาติ
28.พระโพธิธรรม




     พระโพธิธรรมออกเดินทางจากอินเดียไปจีนโดยทางเรือ ข้อนี้คนส่วนใหญ่มักนึกว่าท่านเดินทางโดยทางบกจากอินเดียถึงจีนเลย ที่จริงแล้วจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกไว้ว่า ท่านเดินทางไปจีนโดยทางเรือ มีเอกสารบันทึกต่างไปอีกว่า พระโพธิธรรมโดยสารเรือใบมาขึ้นบกที่ท่าเรือของแคว้นหนึ่งในสุวรรณภูมิ สันนิษฐานว่าเป็นแคว้นเจนละ แล้วเดินลัดเลาะไปตามแม่น้ำโขง แต่ข้อมูลนี้ยังไม่เป็นที่ยืนยันมากนัก คงนับเอาเพียงว่าพระโพธิธรรมเดินทางจากอินเดียมาจีนโดยทางเรือ แล้วขึ้นฝั่งที่ประเทศจีนซึ่งก็ยังไม่ยืนยันตายตัวว่าขึ้นฝั่งที่ไหนแน่ แต่พอจะสันนิษฐานว่าคงประมาณแถบมณฑลซัวเถา เพราะเป็นสถานที่ๆเรือเดินทะเลมาจีนมักจะมาแวะจอดทอดสมอขึ้นฝั่งกันที่นี่

   ช่วงที่พระโพธิธรรมเดินทางมาจีนนั้น ในประเทศจีนมีพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว แต่การปฏิบัติธรรมยังปฏิบัติกันแต่เพียงผิวเผิน การศึกษาธรรมะในจีนยังไม่ทำกันจริงจังเท่าไรนัก มักนิยมสวดมนต์กัน

    ก่อนหน้าที่พระโพธิธรรมหรือพระอาจารย์ตั๊กม้อจะเดินทางมาจีนท่านได้ส่งพระภิกษุสาวก ๒ รูป ให้เดินทางมาสำรวจดูลู่ทางก่อนแต่ทว่าเมื่อศิษย์ทั้งสองมาถึงแผ่นดินจีน กลับไม่ได้รับการต้อนรับหรือสนับสนุนจากทั้งนักบวชและผู้คนทั้งหลายเท่าที่ควร

      ตามตำนานเล่าว่า เมื่อพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของพระโพธิธรรมทั้งสองรูป จาริกมาถึงที่ หลู่ซัน ได้พบปะกับอาจารย์ ฮุ่ยเอวียนไต้ชือ ผู้ซึ่งคร่ำเคร่งต่อการท่องสวด ท่าน ฮุ่ยเอวียนไต้ซือ ได้ถามศิษย์ของพระอาจารย์ตั๊กม้อว่า
      "ท่านทั้งสองเป็นภิกษุอินเดีย นำธรรมะอะไรมาเผยแพร่?แล้วทำไมผู้คนถึงไม่ศรัทธา? "

      เวลานั้นภิกษุทั้งสอง พูดภาษาจีนได้น้อยมาก ไม่รู้จะ อธิายอย่างไรจึงได้แต่แบมือยื่นออกไปแล้วตวัดกลับมาอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งเอ่ยขึ้นว่า
      "มันเร็วไหม? "

     ท่านฮุ่ย เอวียน ไต้ซือ ก็ตอบว่า
      "ใช่...เร็วมาก"

      ศิษย์ของอาจารย์ตั๊กม๊อ จึงกล่าวว่า
      "โพธิ และ ทุกข์ ก็เร็วเช่นนี้แหละ"

      เมื่อนั้น ท่าน ฮุ่ย เอวียน ไต้ซือ ก็บังเกิดความสว่างจิตรู้แจ้งในทันที และได้เปล่งอุทานธรรมขึ้นว่า
      "ทุกข์ คือ สุข...สุข คือ ทุกข์
     ไม่แตกต่าง..ทั้งสองอย่างเกิดดับอยู่ที่ ใจ
     อยู่ข้างไหน...ก็ขึ้นอยู่กับใจที่สำแดง"

      หลังจากที่ท่าน ฮุ่ย เอวียน ไต้ชือ รู้แจ้งในธรรมแล้ว จึงกล่าวนิมนต์ให้พระภิกษุอินเดียทั้ง ๒ รูป อยู่พำนักจำพรรษาที่อารามของท่าน แต่ช่างน่าเสียดายที่ต่อมาไม่นานศิษย์ทั้งสองของอาจารย์ตั๊กม๊อก็ดับขันธ์ไปในวันเดียวกัน ชึ่งสถานที่บรรจุสรีระสังขารของทั้งสองท่าน ก็ยังคงปรากฏอยู่ ณ เขา หลู่ ชัน เป็นหลักฐานตราบจนทุกวันนี้

   ต่อมาเมื่อพระโพธิธรรมได้พิจารณาเห็นถึงวาระอันควรท่านจึงประกาศต่อบรรดาสานุศิษย์ในอินเดียว่า
        "บัดนี้เวลาแห่งการปฏิบัติภาระกิจสำคัญมาถึงแล้วอาจารย์ต้องนำเอาหลักธรรมอันยิ่งใหญ่ ไปสู่แดนบูรพา" 


  พระโพธิธรรมลงเรือออกเดินทางจากอินเดียไปจีน เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบที่เรียกว่านิกายเซน ด้วยรูปลักษณ์ของพระองค์ท่าน ที่เป็นชาวอินเดียมีหนวดเครารุงรัง นัยน์ตาทั้งคู่กลมโต ผิวดำคล้ำ ชาวบ้านที่พบเห็น ก็จะหลอกลูกหลานว่า พระแขกจะมาจับตัว เพื่อให้เด็กๆกลัว ฉะนั้นแม้ว่าท่านจะเดินไปทางไหน เด็กๆก็จะพากันวิ่งหนีเข้าบ้านหมดบางคราวต้องฝ่าแดดกรำฝน ท่านก็จะดึงเอาผ้าจีวรขึ้นคลุมศีรษะกันร้อนกันหนาว นานวันผ้าจีวรที่ห่มอยู่ก็ชำรุดคร่ำคร่าเปื่อยขาดอันเนื่องจากการรอนแรมนานถึง ๓ ปี
   



     กระทั่ง ณ วันที่ ๒๑ ค่ำเดือนเก้า สมัยราชวงศ์เหลียงบู๊ตี้ประมาณปีพุทธศักราช ๑๐๗๐ ท่านจึงมาถึงยังฝั่งเมืองกวางโจว

     ขณะนั้น พระเจ้าเหลียงบู้ตี้ พระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาพุทธศาสนามาก ทรงถือศีลกินเจอยู่เป็นประจำ เมื่อข่าวการมาถึงของพระโพธิธรรม ซึ่งชาวจีนออกเสียงเรียกเป็นพระอาจารย์ตั๊กม้อถูกรายงานไปยังราชสำนัก พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ทรงปิติยินดี ยิ่งจึงได้มีพระกระแสรับสั่งให้อาราธนาเข้าเฝ้าทันที

     พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ได้ตรัสถามพระอาจารย์ตั๊กม้อว่า
      "ตั้งแต่ข้าพเจ้าครองราชย์มา ได้สร้างวัดวาอาราม โบสถ์วิหาร และพระคัมภีร์มากมาย อีกทั้งอนุญาตให้ผู้คนได้บวช โปรยทาน ถวายภัตตาหารเจแด่พระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนทะนุบำรุงพระศาสนามากมาย ไม่ทราบว่าจะได้รับกุศลมากน้อยเพียงใด? "

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ ตอบว่า
      "ที่มหาบพิตรบำเพ็ญมาทั้งหมด เป็นเพียงบุญกิริยาทางโลกเท่านั้น ยังมิใช่กุศลแต่อย่างใด"

     พระเจ้าเหลี่ยงบู๊ตี้ ทรงตรัสถามอีกว่า
      "อริยสัจ คืออะไร? "

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ ตอบว่า "ไม่มี"

     พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ทรงตรัสถามอีกว่า
      "เบื้องหน้าข้าพเจ้านี้ คือใคร?"

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ ตอบว่า "ไม่รู้จัก"

     พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ทรงได้ยินคำตอบเช่นนั้น ไม่ค่อยพอพระทัย

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ เห็นว่า พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ทรงสั่งสมภูมิปัญญายังไม่แก่กล้าพอที่จะบรรลุได้ จึงทูลลาจากไป




ท่านตั๊กม้อกับพระเจ้าเหลียงบู๊ตี้

     เมื่อท่านเดินทางพ้นจากเมืองไปแล้ว พระธรรมาจารย์ปอจี่เชี้ยงซือ คือ พระเถระผู้ทรงปราดเปรื่องรอบรู้พระไตรปิฎกได้เข้าเฝ้าแล้วกราบทูลถามพระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ว่า

      "พระภิกษุอินเดียรูปนั้น ขณะนี้พำนักอยู่ที่ใด? "

     พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ทรงตรัสว่า
      "จากไปแล้ว.....ท่านเป็นใครหรือ? "

     พระธรรมจารย์ ปอจี่เซียงซือ กราบทูลว่า
      "ฝ่าพระบาทได้พบท่าน เหมือนไม่ได้พบ ได้เห็นท่าน แต่เหมือนไม่ได้เห็น"

     พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ทรงทราบเช่นนั้นจึงมีพระดำริ จะให้ทหารออกติดตามไปอาราธนาท่านกลับมา ฝ่ายพระธรรมจารย์ปอจีเซียงซือ ได้กราบทูลต่อไปอีกว่า

      "ไร้ประโยชน์...ถึงจะยกทัพไปแสนนาย ท่านก็ไม่กลับมา" 



ท่านตั๊กม้อกับสัญลักษณ์เซน

     ตอนนี้ชาวจีนรู้จักพระโพธิธรรมที่มาจากอินเดียในชื่อว่าพระอาจารย์ตั๊กม้อ พระอาจารย์ตั๊กม้อเดินทางออกจากเมืองหลวงระหว่างทางจาริกท่านได้พบนกแก้วตัวหนึ่งถูกขังอยู่ในกรง เจ้านกแก้วตัวนี้ถึงจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่มันสามารถล่วงรู้ด้วยสัญชาตญาณว่า มีพระอรหันต์ขีณาสพผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก เหยียบย่างมาถึงแผ่นดินนี้แล้ว

     พอเห็นพระอาจารย์ตั๊กม้อเดินเข้ามาใกล้ เจ้านกแก้วจึงร้องเรียกขึ้นว่า
     "ท่านผู้เจริญ!....ท่านผู้สูงส่ง....ขอท่านได้โปรดเมตตาชี้แนะช่องทางให้ข้าน้อยออกจากกรงขังนี้ด้วยเถิด"

     ฝ่ายพระอาจารย์ตั๊กม้อ เมื่อได้ยินคำวิงวอนจากนกแก้ว ก็ให้คิดคำนึงในใจว่า
      "นับตั้งแต่มาถึงแผ่นดินจีน..จนกระทั่งบัดนี้ จะหาใครบ้างที่ล่วงรู้ในจิตใจ มีใครที่มีวาสนาพอจะ แนะวิถีธรรมให้ได้บ้าง จะมีก็แต่เจ้านกแก้วตัวนี้ ที่ร้องขอเมตตา"

     ครั้นแล้ว พระอาจารย์ตั๊กม้อ จึงโปรดชี้แนะเจ้านกแก้วไปว่า
      "สองขาเหยียดตรง สองตาปิดสนิท เท่านี้แหละ....เจ้าก็จะออกจากกรงได้"

     เจ้านกแก้วฟังแล้วก็เข้าใจความหมายทันที มันจึงเฝ้ารอคอยให้เวลามาถึง ทั้งนี้เพราทุกๆเย็น เมื่อเจ้าของนกแก้วกลับถึงบ้าน ก็จะแวะหยอกล้อกับมันเป็นกิจวัตร

     ดังนั้นพอนกแก้วเห็นนายของมันเดินมาแต่ไกล มันจึงรีบล้มตัวลงนอน หลับตาสนิท เหยียดขาตรง ทำตัวแข็งทื่อครั้นเจ้าของมองดูในกรง เห็นนกแก้วแสนรักของตนนอนแน่นิ่งไม่ไหวติงเช่นนั้นก็ตกใจ รีบเปิดกรงเอื้อมมือเข้าไปประคองอุ้มมันออกมาเพื่อตรวจดูว่าเป็นอะไร  เจ้านกแก้วชึ่งรอคอยโอกาสอยู่ก็กางปีกบินหนีไปอย่างรวดเร็ว มันโผบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ด้วยความสุขสำราญและอิสระเสรีอย่างที่สุด

ท่านตั๊กม้อเหยียบปล้องหญ้าข้ามแม่น้ำ

   พระอาจารย์ตั๊กม้อ ได้เดินทางมาถึงวัดใหญ่แห่งหนึ่ง มีท่านเจ้าอาวาสนามว่า "เสินกวง" ท่านเจ้าอาวาสรูปนี้เป็นผู้ที่มีปัญญาหลักแหลมมาก และความจำล้ำเลิศ แต่ทว่าอีกด้านหนึ่งท่านก็เป็นนักบวชที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวมากด้วยเช่นกัน ในด้านการเทศนาธรรม ท่านเจ้าอาวาสเสินกวง นับเป็นนักเทศน์ชั้นเยี่ยมยอดแห่งยุคนั้น 

     วันนั้นขณะพระอาจารย์ตั๊กม้อมาถึง ท่านเสินกวงกำลังแสดงธรรมเทศนา มีสานุศิษย์ชุมนุมอยู่เป็นจำนวนมาก พระอาจารย์ตั๊กม้อจึงเข้าไปปะปนนั่งนิ่งฟังอยู่แถวหลังสุด ตอนไหนที่ถูกท่านก็ยิ้มๆ แล้วผงกศีรษะหน่อยๆ ตอนไหนที่เทศน์ผิดความหมาย..ท่านก็จะส่ายหน้า

     ฝ่ายท่านเสินกวง ผู้ซึ่งกำลังแสดงธรรมอยู่บนแทนธรรมมาสน์ เมื่อมองเห็นพระภิกษุอินเดียแปลกหน้ามาแสดงกิริยาเช่นนั้น เหมือนกับว่าเป็นการตำหนิตน ก็รู้สึกไม่สบอารมณ์

     ครั้นการเทศนาธรรมจบลง ผู้คนเริ่มทะยอยกันกลับ พระอาจารย์ตั๊กม้อจึงถือโอกาสเข้าไปสนทนาเพื่อหวังชี้แนะ ด้วย เห็นว่าเป็นผู้มีภูมิธรรมปัญญาเป็นฐานอยู่แล้ว

พระอาจารย์ตั๊กม้อ "ท่านอยู่ที่นี่ทำอะไร? "

ท่านเสินกวง "อ้าว!...ข้าก็เทศน์ธรรมอยู่ที่นี่น่ะซิ!"

พระอาจารย์ตั๊กม๊อ "ท่านเทศน์ธรรมเพื่ออะไร?"

ท่านเสินกวง "เทศน์เพื่อให้ผู้คนหลุดพ้น!"

พระอาจารย์ตั๊กม๊อ "จะช่วยคนให้พ้น เกิดตายได้อย่างไร...ในเมื่อธรรมที่ท่านเทศน์ ก็คือ
     ตัวหนังสือบนคัมภีร์
     ตัวหนังสือดำ ก็เป็นสีดำ
     กระดาษขาว ก็เป็นสีขาว
     เทศน์ไปเทศน์มา ก็คือเทศน์ตามตัวหนังสือดำๆ บนกระดาษขาวๆ"

     เมื่อถูกจู่โจมด้วยคำถามชนิดไม่ทันให้ตั้งตัว ท่านเจ้าอาวาสเสินกวงได้แต่อึกอักอ้าปากค้าง ไม่รู้จะตอบอย่างไร จากความอายกลายเป็นโกรธจัด แม้ว่ายามปกติท่านจะเป็นนักเทศน์ที่เยี่ยมยอดก็ตาม แต่คราวอารมณ์โกรธปะทุ ขึ้นมาก็จะรุนแรงราวฟ้าผ่า

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ เห็นท่านเสินกวงไม่อาจตอบก็พูดย้ำเข้าไปอีกว่า
      "นี่แหละ แผ่นดินจีนในยุคนี้
     มีธรรมะ ก็เหมือนไม่มี
     หากจะว่าไม่มี ก็มีคนพูดธรรมะกันทั้งเมือง"

     ถึงตอนนี้ ท่านเสินกวงสุดจะกันความโกรธเอาไว้ได้ จึงเหวี่ยงสายประคำฟาดไปที่หน้าของพระอาจารย์ตั๊กม้ออย่างสุดแรงพร้อมกับตะโกนด่าว่า
      "นี่แน่ะ!....แกกล้าดีอย่างไร ถึงมาเป็นตัวบ่อนทำลายศาสนาที่นี่"

   ผลจากการถูกฟาดด้วยสายประคำเส้นใหญ่อย่างแรง ทำให้ฟันคู่หน้าทั้ง ๒ ซี่ หลุดอยู่ในปาก!

     ตามตำนานโบราณได้กล่าวว่า หากแม้นองค์พระอรหันต์เจ้าผู้บริสุทธิ์พระองค์ใด ถูกล่วงเกินทำร้ายถึงกับพระทันตธาตุต้องตกล่วง แม้ว่าเศษแห่งพระทันตธาตุนั้นตกลง ณ พื้นแผ่นดินใด แผ่นดินนั้นจะต้องประสบทุพภิกขภัย แห้งแล้งติดต่อกันถึง ๓ ปี!

     พระอาจารย์ตั๊กม้อผู้เปี่ยมด้วยมหาเมตตาจิต พิจารณาว่า
      "หากแผ่นดินนี้ต้องแล้งฝน ขาดน้ำถึง ๓ ปี ชาวบ้านผู้คนเด็กเล็ก ตลอดจนสัตว์ใหญ่น้อยมากมาย จะต้องล้มตายกันนับไม่ถ้วนอันตัวเรานี้อุตส่าห์ดั้นต้นเดินทางจากแผ่นดินเกิดมาไกลแสนไกลก็เพื่อประกอบภาระกิจโปรดเวไนยสัตว์ มิใช่กลับกลายเป็นก่อวิบากกรรมให้แก่มวลเวไนย ให้ทุกข์ยากลงไปอีก"

     ท่านดำริใคร่ครวญเช่นนี้แล้ว จึงกลืนฟันที่ถูกฟาดจนหลุดทั้ง๒ ซี่ลงไปไนท้อง ไม่ยอมบ้วนลงพื้น พระอาจารย์ตั๊กม้อผู้มีจิตพ้นแล้วจากกิเลสใหญ่น้อยทั้งปวง ไม่มีความรู้สึกระคายเคืองใจ แม้เพียงน้อยนิต จึงได้แต่หันหลังเดินจากไปด้วยอาการสงบเย็น



     ท่านเสินกวงเจ้าอาวาส เมื่อได้ฟาดสายประคำระบายโทสะไปแล้ว ก็รู้สึกสมใจ ยิ่งไม่ใด้รับการโต้ตอบ ก็ยิ่งคิดไปว่าเป็นเพราะพระภิกษุอินเดียแปลกหน้ารูปนั้นเกรงกลัวบารมีของตน ทำให้กระหยิ่มยิ้มย่องในใจ

     แต่หลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว อีก ๓ วันต่อมา ขณะที่กำลังจำวัตรพักผ่อน ยมฑูต ๒ ตน ก็ปรากฏร่างมายืนอยู่ตรงหน้าพร้อมกับแจ้งว่า
      "วันนี้...ถึงเวลาแล้วที่ท่านต้องหมดบุญสิ้นอายุขัย ไม่อาจอยู่บนโลกมนุษย์อีกต่อไป!  ท่านพญายมผู้เป็นใหญ่ ให้ข้าทั้งสองมานำตัวท่านลงไปในยมโลกเดี๋ยวนี้!"

     ท่านเจ้าอาวาสได้ยินเช่นนั้นก็ตกตะลึงระล่ำระลักถามยมฑูตว่า
      "อาตมาได้บวชเรียนศึกษพระธรรมปฏิบัติกิจบำเพ็ญมากมายกระทั่งเทศนาธรรม...มวลหมู่เทพยดาบนสวรรค์ยังเสด็จลงมาฟังถึงขนาดนี้แล้วถ้าแม้ตัวอาตมายังไม่พ้นเงื้อมมือพญายม ไม่อาจหลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งการเกิดการตาย แล้วในโลกนี้ยังจะมีใครอีกเล่า...ที่สามารถหลุดพ้นไปได้"

     ยมฑูตตนหนึ่งได้ตอบเจ้าอาวาสเสินกวงว่า
      "ในโลกมนุษย์ยังมีผู้หลุดพ้นแล้ว ไม่เพียงแต่ท่านพญายมไม่อาจเอื้อมควบคุม กลับยังจะต้องกราบสักการะท่านอยู่เป็นเนืองนิจ พระอริยเจ้าพระองค์นั้น คือ พระภิกษุอินเดีย ที่ถูกท่านใช้สายประคำฟาดจนพระทันตธาตุหลุดไปนั้นแหละ!"

     ท่านเสินกวงได้ยินเช่นนั้น ก็ทั้งตกใจและเสียใจ จึงวิงวอนว่า
      "ขอท่านยมฑูตทั้งสองโปรดให้เวลาอาตมาสักระยะหนึ่งเพื่อที่อาตมาจะได้ไปขอรับธรรมะแห่งการหลุดพ้นจากพระอาจารย์ผู้บรรลุแล้วพระองค์นั้น"

     ยมฑูตทั้งสอง ก็ยินยอมผ่อนผันตามคำร้องขอ พอท่านเสินกวงสะดุ้งตื่นขึ้น ก็รีบออกติดตามหาพระอาจารย์ตั๊กม้อ จนกระทั่งลุถึงวันที่ ๑๙ ค่ำ เดือนสิบจึงตามมาทัน ครั้นเห็นพระอินเดียยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแยงชีแต่ไกล ท่านเสินกวงจึงรีบวิ่งไปจวนเจียนจะถึงองค์ท่านอยู่แล้ว

     ขณะนั้นพระอาจารย์ตั๊กม้อกำลังจะข้ามฟาก แต่มองหาเรือไม่มีเลย ท่านจึงดึงเอาต้นหญ้าเล็กๆปล้องหนึ่ง โยนลงแม่น้ำที่กำลังไหลเชี่ยว แล้วกระโดดลงไปยืนลอยบนต้นหญ้าเล็กๆนั้น  พาท่านข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่ง เหตุการณ์สำคัญนี้ ในวัดเส้าหลินปัจจุบันยังคงเก็บรักษาแผ่นสิลาสลักรูป "พระโพธิธรรมข้ามแม่น้ำด้วยหญ้าต้นเดียว" เอาไว้เป็นหลักฐานแห่งบุญญาภินิหาร



     ฝ่ายท่านเสินกวง ได้แต่ทรุดตัวกราบลงที่ริมฝั่งแม่น้ำพร้อมกับตะโกนร้องขอขมาโทษ...ขออาราธนาให้ท่านกลับมาอีก...พระอาจารย์ตั๊กม้อ หันมามองดูแล้วก็ยิ้มและยกมือกวัก ประหนึ่งว่าจะให้กระโดดน้ำก็ตามท่านไป

  ท่านเสินกวง ถึงจะมีใจศรัทธายิ่งในกฤษดาภินิหารของพระอินเดีย แต่ทว่าว่ายน้ำไม่เป็น จึงไม่กล้ากระโดดตามลงไปได้แต่ยกมือพนมตะเบ็งเสียงร้องว่า
      "ขอท่านผู้สูงส่ง ได้โปรดกลับมาเถิดๆๆ"

     ขณะนั้นมีหญิงชราคนหนึ่งแบกมัดฟางเดินมา นางเห็นเหตุการณ์ ก็ว่าให้กระโดดน้ำตามไป
     ท่านเสินกวงจึงบอกว่า "อาตมาว่ายน้ำไม่เป็น"
     หญิงชรากลับย้อนว่า "ท่านกลัวตายหรือ...แล้วทำไมเขาไม่กลัวตายล่ะ? "
     ว่าแล้วนางก็โยนมัดฟางให้ ท่านเสินกวงจึงตัดสินใจกระโดดเกาะมัดฟางนั้น พยุงตัวไหลไปตามกระแสน้ำอันเชี่ยวกราดกระทั่งลับสายตาไปทั้งคู่


     พระอาจารย์ตั๊กม้อเดินทางไปถึงวัดเส้าหลินบนเทือกเขาซงซาน อำเภอลั่วหยาง มณฑลเหอหนัน แล้วพำนักอยู่ที่นั่น ท่านได้ค้นหาถ้ำธรรมชาติถ้ำหนึ่งบนเขาหลังวัด แล้วนั่งสมาธิหันหน้าเข้าผนังถ้ำ วันๆจะนั่งนิ่งไม่ไหวติงไม่พูดจากับผู้ใดท่านนั่งสมาธิเข้าฌานอยู่เช่นนี้ เป็นเวลาถึง ๙ ปี

     นานวันเข้า เงาร่างที่กระทบทาบไปบนผนังศิลา ได้ฝังรอยติดอยู่จนมองเห็นได้ชัดเจน สามารถเห็นได้แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ จึงได้ชื่อว่า "ผนังศิลาเงา"





      ฝ่ายท่านเสินกวง ชึ่งกระโดดนาติดตามมา ก็เฝ้าคอยปรนนิบัติพระอาจารย์ตั๊กมhออยู่ไม่ยอมไปไหน ตลอดระยะเวลา ๙ ปีที่พระอาจารย์นั่งสมาธิหันหน้าเข้าผนัง ท่านเสินกวงก็พยายามมาคุกเข่ารออยู่ที่หน้าถ้ำ ด้วยความหวังว่าจะได้รับการถ่ายทอดธรรมอันสูงสุดเพื่อความหลุดพ้น บริเวณที่ท่านเสินกวงคุกเข่า ต่อมาได้ถูกสร้างเป็นศาลาขึ้น มีชื่อว่า "ศาลากลางหิมะ" ซึ่งยังปรากฎเป็นหลักฐานให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้

ท่านตั๊กม้อกับเสิ่นกวง

     เวลาผ่านไปถึง ๙ ปี  วันนั้นหิมะตกหนักมาก ท่านเสินกวงคุกเข่าอยู่หน้าถ้ำตลอดทั้งคืน จนหิมะท่วมสูงถึงเอว ครั้นรุ่งเช้าพระอาจารย์ตั๊กม้อก็ได้เดินออกมาจากถ้ำ พร้อมกับเอ่ยถามขึ้นว่า
      "เธอมาคุกเข่าตากหิมะอยู่ที่นี่ เพื่อประสงค์อะไร? "

    ท่านเสินกวง ตื้นตันจนน้ำตาไหลชึมออกมา แล้วตอบว่า
      "ข้าผู้น้อย....มาขอรับการถ่ายทอดวิถีธรรมขอรับ   ขอท่านอาจารย์ได้โปรดเมตตาเปิด ประตูมรรคผล
     ชี้ทางแห่ง พุทธะ แก่ศิษย์ด้วยเถิด"

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ ตอบว่า "พระพุทธองค์สละเวลามากมายทุ่มเทชีวิตในการฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผล แล้วตัวเธออาศัยความตั้งใจเพียงเล็กน้อยมาขอรับธรรมอันยิ่งใหญ่ คงยากที่จะสมหวัง!"

     ขณะนั้น ท่านเสินกวงได้แต่ก้มหน้านิ่ง ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร

     พระอาจารย์ตั๊กม้อก็ย้อนถามอีกว่า
      "หิมะสีอะไร?"

     ท่านเสินกวง "ขาวขอรับ"

     พระอาจารย์ตั๊กม้อกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น...เธอจงรอไปจนถึงเวลาที่หิมะเป็นสีแดงเมื่อใด เมื่อนั้นแหละฉันจึงจะถ่ายทอดวิถีธรรมเพื่อความหลุดพ้นแก่เธอ!"

       ทันใดนั้นเอง ท่านเสินกวงก็หันไปคว้ามีดตัดฟืนข้างกายยกขึ้นมาฟันแขนซ้ายตนเองจนขาดตกลงบนพื้น! จากนั้นท่านก็ไช้มือขวาหยิบแขนที่ขาด ยกขึ้นถวายบูชาพระอาจารย์ตั๊กม้อประหนึ่งแทนความในใจทั้งหมด





ท่านเสินกวงสละแขนเอาเลือดย้อมหิมะ
    พระอาจารย์ตั๊กม๊อจึงกล่าวขึ้นว่า
      "เพื่อแสวงหาโมกขธรรม พระโพธิสัตว์ไม่ติดในสังขารและชีวิตเธอสละแขนขอธรรมนับว่าควรสรรเสริญ...นับว่าควรสรรเสริญ"

     ขณะเดียวกัน ท่านเสินกวงซึ่งก้มหน้าของตนเอง เห็นเลือดจากแขนไหลนองพื้น หิมะที่ขาวสะอาดซึมซับไว้ได้กลับกลายเป็นสีแดงฉาน! ท่านจึงเงยหน้ารีบบอกไปว่า
      "ได้โปรดเถิดท่านอาจารย์...บัดนี้หิมะสีแดงปรากฏต่อสายตาท่านแล้วขอรับ!"

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ ยิ้มด้วยความยินดี พร้อมกับกล่าวว่า
      "นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น.. การมาถึงแดนบูรพาในครั้งนี้ไม่สูญเปล่า   เพราะยังมีบุญวาสนามาพบผู้มีศรัทธาแรงกล้า
ที่จะสามารถรับรู้และปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมอันเที่ยงแท้ได้"

     เมื่อพระอาจารย์ตั๊กม้อกล่าวจบ ท่านเสินกวงรู้สึกถึงความเจ็บปวดอย่างจับใจจึงเอ่ยขอให้อาจารย์ชี้แนะว่า
      "จิตของศิษย์ว้าวุ่น...ขอท่านอาจารย์ เมตตาช่วยทำให้มันสงบด้วยเถิดขอรับ"

     พระอาจารย์ตั๊กม้อว่า "จงเอาจิตของเธอออกมาซิ!แล้วฉันจะทำให้มันสงบ"

     ท่านเสินกวงนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วก็ตอบว่า
      "ศิษย์หาจิตของตัวเองไม่พบขอรับ"

     ต่อจากนั้นพระอาจารย์ตั๊กม้อได้ถ่ายทอดธรรมให้แก่ท่านเสินกวงด้วยวิถีแห่ง"จิตสู่จิต"เมื่อนั้นท่านเสินกวงก็ได้บรรลุธรรมโดยฉับพลัน

     พระอาจารย์ตั๊กม้อกล่าวว่า
     "ฉันได้วางจิตของเธอในที่ถูกต้อง และทำให้มันสงบแล้ว" พระอาจารย์ตั๊กม้อได้รับท่านเสินกวงเป็นศิษย์ และตั้งสมณฉายาให้ใหม่ว่า "ฮุ่ยเข่อ" พร้อมกับได้กล่าวโศลกธรรมว่า
      "สรรพศาสตร์ทั้งหลายอยู่ที่ หนึ่ง
       หนึ่ง นั้นอยู่ที่ใดเล่า
     เพราะไม่รู้ จุดหนึ่ง เสินกวงจึงต้องคุกเข่า

     รอ ๙ ปี เพื่อขอ หนึ่งจุด.....หลุดพ้นยมบาล"


   

  ปีพุทธศักราช ๑๐๗๙**(ดูเรื่องปีพ.ศ.เปรียบเทียบตอนท้ายบทความ) อยู่มาวันหนึ่งพระอาจารย์ตั๊กม๊อได้เรียกสานุศิษย์คนสำคัญๆ เข้ามาพบเพื่อที่จะทดสอบภูมิธรรมของแต่ละคนว่าใครจะเข้าถึงธรรมะที่ท่านสั่งสอนอบรมไว้ว่าลึกตื้นมากน้อยกว่ากันเพียงไร

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ ตั้งคำถามว่า
      "ธรรมที่แท้จริง คือ อะไร? "

ศิษย์ชั้นอาวุโสองค์แรก นามว่า "เต๋าหู๋" ได้ลุกขึ้นยืนแล้วตอบว่า
      "ไม่ยึดติดตัวอักษรคัมภีร์
     แต่ก็ไม่ทิ้งตัวอักษรคัมภีร์
     อยู่เหนือการยอมรับ และเหนือการปฏิเสธ
     นั่นแหละ คือ ธรรมะที่แท้จรง ขอรับ"

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ จึงพูดว่า
      "เธอได้หนังของฉันไป"

ศิษย์องค์ที่สองเป็นภิกษุณี นามว่า "จิ้งที้" ได้ลุกขึ้นยืนแล้วตอบว่า
      "ธรรมที่แท้จริง แหมือนดังที่พระอานนท์ได้เห็น พุทธภูมิของพระอักโษภยาพุทธเจ้า แว็บหนึ่งแล้วไม่เห็นอีกเลยเจ้าค่ะ"

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ จึงพูดว่า
      "เธอได้เนื้อของฉันไป"

ศิษย์องค์ที่สาม นามว่า "เต๋ายก" ลุกขึ้นยืนแล้วตอบว่า
     "มหาภูตรูปทั้ง 4 นั้นเดิมว่าง ขันธ์ 5 ก็ไม่ใช่ตัวตนไม่มีแม้แต่ธรรมใดๆ นั่นแหละคือ ธรรมะ ที่แท้จริงขอรับ"

     พระอาจารย์ตั๊กม้อ จึงพูดว่า
     "เธอได้กระดูกของฉันไป"

ศิษย์องค์ที่สี่ คือ ฮุ่ยเข่อ หรือท่านเสินกวงนั่นเองท่านได้ลุกขึ้นนมัสการพระอาจารย์ตั๊กม้อ แล้วนั่งนิ่งไม่พูด 
     ถึงตอนนี้ พระอาจารย์ตั๊กม้อ จึงหัวเราะแล้วพูดว่า
      "เธอได้ไขในกระดูกของฉันไป"
 ความหมายที่ท่านฮุ่ยเข่อนั่งนิ่งเงียบไม่พูดก็คือ ไม่มีภาษาและเสียงใด มาอธิบายสภาวะสัจจธรรมได้เลย เป็น "ปัจจัตตัง" คือ รู้ได้เฉพาะตนเท่าที่ตนเองได้บรรลุถึงเท่านั้น

     ดังนั้นพระอาจารย์ตั๊กม้อ จึงได้ส่งมอบ บาตร จีวร สังฆาฏิธรรมะทั้งหมด ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่ ท่านฮุ่ยเข่อสืบทอด เป็นพระสังปรินายกองค์ที่ ๒ ของนิกายฌานเพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนา ถ่ายทอดหลักจิตญาณต่อไป แต่พระอาจารย์ตั๊กม้อก็ได้บัญชาให้ท่านฮุ่ยเข่อปกปิดฐานะตำแหน่งและหลบซ่อนตัวอีก๔๐ ปี เพื่อให้พ้นจากการปองร้าย





     หลังจากที่พระอาจารย์ตั๊กม้อ มีผู้รับช่วงภาระกิจงานธรรมแล้ว ได้ออกจากวัดเส้าหลิน เดินธุดงค์ไปที่วัดเซียนเซิ่ง ตำบลหลงเหมน กล่าวกันว่าท่านได้ถูกพิษที่ริมฝั่งแม่น้ำลัวะสุ่ย กระทั่งใกล้วันที่จะมรณะภาพ ท่านได้เรียกประชุมบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายและบอกกับท่านฮุ่ยเข่อว่า

"ด้วยปัญญาบารมีของเธอ ทำได้อย่างดีที่สุด ก็คือ ปลุกกุศลจิตอันเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะบุกเบิกทางแห่งอริยภูมิให้แก่ชาวจีนไว้ก่อนเท่านั้น สวนผลที่ได้จะเกิดขึ้น...หลังจากที่ฉันดับขันธ์ไปแล้ว ๒๐๐ ปี จะมี "บัณฑิตใต้ต้นไม้" มาเกิดเขาจะเป็นผู้มาทำให้พระธรรมคำสอนที่ฉันถ่ายทอดโดย "จิต สู่ จิต"นี้ แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมเมือง เมื่อนั้นจะมีผู้ได้บรรลุ "ธรรมจักษุมากมาย "


     แล้วก็เป็นจริงดังคำพยากรณ์ เพราะอีก ๒๐๐ ปีต่อมา"บัณฑิตใต้ต้นไม้" ก็คือ ท่านเว่ยหล่างผู้ได้รับสืบทอดเป็นพระสังฆปริยนายกองค์ที่ ๖(ของจีน) ซึ่งเดิมท่านมีอาชีพตัดไม้ขายเพื่อเลี้ยงมารดา และพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินจีนในยุคของท่าน เจริญรุ่งเรืองมากกว่ายุคใดๆ



ข้อมูลอีกแห่งหนึ่งจาก www.dhammachak.net

     ข้อมูลนี้ระบุปีพ.ศ.ไว้แต่ต่างออกไปซึ่งน่าพิจารณามาก

ท่านโพธิธรรม ถือกำเนิดประมาณปีพุทธศักราช 440 ในเมืองกันจิ ( Kanchi ) อันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรปัลลวะ ( Pallava ) ทางอินเดียตอนใต้ ท่านนับถือศาสนาพราหมณ์โดยกำเนิด และเป็นพระราชบุตรองค์ที่ 3 ของพระเจ้าสิงหวรมัน(Simhavarman) เมื่อท่านโตเป็นหนุ่ม ท่านได้หันมานับถือพุทธศาสนา

และกาลต่อมา ท่านได้รับการสอนธรรมะจากท่านปรัชญาตาระ ( Prajnatara ) ซึ่งเป็นครูที่พระบิดาท่านได้นิมนต์มาจากดินแดนสำคัญทางศาสนา คือเมืองมคธและท่านปรัชญาตาระนี้เองที่เป็นผู้แนะนำท่านโพธิธรรมให้เดินทางมาสู่ประเทศจีน แต่การเดินทางไปต่างประเทศตามระเบียบแล้วจำกัดให้เฉพาะพวกฮั่น (Huns : ชนชาวฮั่น) แต่ด้วยชนชาวปัลลวะมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่านโพธิธรรมจึงได้โดยสารเรือมาขึ้นใกล้ ๆ กับท่ามหาปัลลิปุรัม ( Mahaballipurum )

หลังจากนั้น ก็ได้เดินลัดเลาะมาตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียมาทางเกาะมาเลย์เป็นเวลา 3 ปี ในที่สุดท่านก็มาถึงจีนทางภาคใต้ ประมาณปีพุทธศักราช 475


ในสมัยนั้นประเทศจีนตอนเหนือถูกแบ่งออกเป็น 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์ ไว่ (Wei) และราชวงศ์หลิวซ่ง ( Liu – Sung ) ต่อมาประเทศจีนถูกแบ่งเป็นราชวงศ์ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ โดยเริ่มจากศตวรรษที่สามและเรื่อยมา

ต่อมาก็กลับมาเข้าร่วมกันใหม่ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซุย ( Sui ) มาถึงตอนปลายของศตวรรษที่หก ในช่วงแห่งการแบ่งแยกและต่อสู้ชิงกันนี้ พระพุทธศาสนาแบบอินเดียก็พัฒนาผสมผสานเข้ากันเป็นพุทธศาสนาแบบจีน ประชาชนฝ่ายเหนือมีจิตใจฝักใฝ่การปกครองแบบทหาร จึงมีแนวโน้มการทำกรรมฐานเพื่อให้เกิดอำนาจขลังศักดิ์สิทธิ์มากกว่า ส่วนประชาชนฝ่ายใต้ฝักใฝ่เหตุผลและสติปัญญา จึงชอบการวิเคราะห์ด้วยหลักปรัชญาและหลักปรีชาญาณตามคำสอนของศาสนา

เมื่อท่านโพธิธรรมมาถึงประเทศจีน ซึ่งอยู่ในช่วงหลังของศตวรรษที่ห้า มีวัดในพระพุทธศาสนาประมาณ 2,000 วัด และมีพระประมาณ 36,000 รูป ทางตอนใต้

ทางตอนเหนือ ตามที่สำรวจในปี พ.ศ. 477 มีวัดประมาณ 6,500 วัด และมีนักบวชเกือบ 80,000 รูป ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าอีก 50 ปี ต่อมา

ที่สำรวจกันอีกแห่งหนึ่งที่ทำไว้ ทางตอนเหนือมีวัดเพิ่มจำนวนมากถึง 3,000 วัด และมีพระมากถึง 2,000,000 รูป หรือประมาณ 5 % ของประชากรทั้งหมด

แน่นอนว่าสถิตินี้ คงจะรวมเอาประชาชนที่พยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี , พวกหนีการเกณฑ์ทหาร หรือพวกแสวงหาการคุ้มครองจากทางศาสนาและลัทธิอื่น ๆ อีกทั้งเหตุผลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนาด้วย

แต่เป็นที่แน่ชัดว่า พุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้าสู่สามัญชน ทางตอนเหนือของแม่น้ำแยงซีเกียง ทางตอนใต้พุทธศาสนายังเผยแพร่อยู่ในกลุ่มของผู้ดีมีการศึกษา จนกระทั่งมาถึงศตวรรษที่ 6

เมื่อท่านโพธิธรรมมาถึงท่าเรือหนานไห่ (Nanhai) อาจเป็นได้ว่า ท่านได้รับนิมนต์จากศูนย์พุทธศาสนาทางตอนใต้ของจีนและเริ่มศึกษาภาษาจีน เมื่อเดินทางมาจากอินเดีย ยังไม่ได้ศึกษาภาษาจีนมาก่อนเลย

ตามบันทึกของท่านเต้าหยวน (Tao-Yuan) ในหนังสือชื่อว่า “ Transmission Of The Lamp” (การถ่ายทอดประทีปธรรม) ซึ่งบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 1002 ระบุว่า ท่านโพธิธรรมเดินทางมาถึงตอนใต้ของจีน อย่างช้าประมาณ พ.ศ. 520 และได้รับนิมนต์ให้พักอยู่ที่เมืองหลวงชื่อว่า เฉียนกัง (Chienkang) เพื่อแสดงธรรมตามคำนิมนต์ของพระจักรพรรดิหวู ( Wu) แห่งราชวงศ์เหลียง ในการพบปะกันครั้งนี้ พระเจ้าจักรพรรดิได้ตรัสถามถึงอานิสงส์ของการบำเพ็ญทาน ในพุทธศาสนาท่านโพธิธรรมได้ตอบตามหลักคำสอนว่าด้วยความว่าง (หรือตอบด้วย สำนวนปรมัตถ์ )ปรากฏว่าพระจักรพรรดิไม่สามารถเข้าใจคำตอบของท่านได้ ท่านโพธิธรรมก็จากไป แต่บันทึกยุคแรก ๆ มิได้เอ่ยถึงการพบปะของบุคคลทั้งสองไว้เลย

จะอย่างไรก็ตาม ท่านโพธิธรรมได้ข้ามมาทางแม่น้ำแยงซี , ตามตำนานที่บันทึกไว้ในเรื่อง Hollow Reed ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศ ระบุว่า ครั้งแรกท่านได้พักอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเมืองไว่ (Wei) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นปิงเซ็ง(Ping-Cheng)

ในปี พ.ศ. 494 เมื่อจักรพรรดิ เฉา เวน (Hsiao – Wen ) ได้ย้ายเมืองหลวงจากทางใต้ ไปอยู่ที่โลหยาง (Loyang) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งด้านเหนือของแม่น้ำโล พระสงฆ์ส่วนมากที่อาศัยอยู่เมือง ปิงเซ็ง ( PingCheng ) ก็ย้ายตามไปด้วย และท่านโพธิธรรมก็อาจจะย้ายตามพระสงฆ์กลุ่มนี้ไปด้วย

ตามบันทึกของท่านเต้าส่วน (Tao – Hsuan) ชื่อว่าชีวิตพระผู้เป็นแบบอย่างในอนาคต (Further lives of exemplary monk) ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกที่ท่านได้แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 645 บอกว่าท่านโพธิธรรมได้ให้การอุปสมบทแก่พระรูปหนึ่งชื่อว่า เช็งฟู (Sheng-Fu) เมื่อเมืองหลวงถูกย้ายมาอยู่ที่ โลหยาง ท่านเช็ง- ฟู ก็ย้ายไปทางใต้ ตามปกติเมื่อบวชแล้วต้องฝึกฝนตนเองอยู่กับอาจารย์ถึง 3 ปี แต่ท่านโพธิธรรมก็ยังพักอยู่ทางตอนเหนือของเมืองหลวงจนถึงปี พ.ศ. 490 และสนทนาเป็นภาษาจีนได้บ้างแล้ว

ห้า หกปีต่อมา ประมาณ พ.ศ. 496 พระเจ้าจักรพรรดิ ได้รับสั่งให้สร้างวัดเส้าหลินขึ้น ซึ่งอยู่ติดกับภูเขา ซ่ง (Sung) ที่จังหวัด โหหนาน (Honan) อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองโลหยาง ปัจจุบันนี้วัดนั้นก็ยังมีอยู่ ( เป็นวัดที่นักท่องเที่ยวชอบไปกันมากที่สุด ) ซึ่งสร้างไว้เป็นที่พักของอาจารย์กรรมฐานรูปอื่น มิใช่ท่านโพธิธรรม วัดนี้เป็นวัดที่พระสงฆ์เซ็น แวะเวียนมาอยู่พักอาศัยตั้งแต่อดีตเป็นเวลา 1,500 ปีมาแล้ว

ท่านโพธิธรรม เป็นพระเพียงองค์เดียว ที่นักประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนานำมาโยงเข้ากับประวัติของวัดเส้าหลิน

....ณ ที่ยอดเขาเฉาฉือ (Shaoshih) ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของภูเขาซ่ง ( Shung) ตามประวัติกล่าวว่า ท่านโพธิธรรม ได้ใช้เวลาบำเพ็ญกรรมฐาน ณ ที่ตรงนี้ ถึง 9 ปี โดยนั่งสมาธิแล้ว หันหน้าสู่กำแพงหินของถ้ำ ห่างจากวัดเส้าหลินไปเพียง 1 ไมล์ ต่อมาวัดเส้าหลินกลายเป็นสำนักฝึกกังฟูของพระสงฆ์ และท่านโพธิธรรมก็ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้ง ศิลปะกังฟูด้วย ด้วยเหตุที่ท่านเดินทางมาจากอินเดีย ( อันเป็นดินแดนลือชื่อเกี่ยวกับศิลปะการฝึกโยคะ ) แน่นอนว่า ท่านคงได้ฝึกฝนหลักการทำโยคะให้แก่สานุศิษย์ ในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งบ้างก็ได้ แต่ในบันทึกชั้นต้น ๆ ไม่ได้เอ่ยถึงการสอนกังฟู หรือการออกกำลังกายและศิลปะแบบตะวันออกใด ๆ เอาไว้เลย

ผ่านมาถึง พ.ศ. 500 เมืองโลหยาง กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ซึ่งมีประชากรมากกว่าครึ่งล้าน เมื่อจักรพรรดิซุนหวู (Hsuan – Wu) สวรรคตลงในปี พ.ศ. 516 จากนั้นพระจักรพรรดินีหลิง (Ling) ผู้เป็นพระชายาก็ส่งทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล บทบาทต่อพุทธศาสนาอันดับแรกของเธอ ก็คือ สั่งให้สร้างอาราม ชื่อว่าย่ง หนิง ( Yung – Ning) ได้สร้างพระเจดีย์สูงถึง 400 ฟุต ทรัพย์สินในท้องพระคลังถูกใช้จ่ายไปในการก่อสร้างเกือบหมดสิ้น ตามบันทึกของวัดโลหยาง กล่าวไว้ ในปี พ.ศ. 547 โดยท่าน หยางฉวนฉี่ ว่า ระฆังทองที่แขวนไว้ตามระเบียงโบสถ์ ก็สามารถได้ยินไกลออกไปถึง 3 ไมล์ และยอดพระเจดีย์สูง สามารถมองเห็นได้ระยะไกลเกินกว่า 30 ไมล์บันทึกของท่านหยางฉวนฉี่ รวมทั้งข้อคิดเห็นของพระที่มาจากตะวันตก เชื่อว่า ท่านโพธิธรรมได้กล่าวไว้ว่า วัดนี้มีโครงสร้างที่โดดเด่นสง่างามมากที่สุดเท่าที่เห็นมาวัดนี้ยังสร้างไม่สำเร็จ มาจนถึงปี พ.ศ. 516 และต่อมาก็ถูกไฟไหม้ ในปี พ.ศ. 534

ท่านโพธิธรรม ก็ยังอยู่ที่เมืองหลวงมาถึงราว พ.ศ. 520 บันทึกยุคแรก ๆ บอกว่า ท่านเดินผ่านอาณาจักรโลหยาง ไป มา บริเวณนี้ในบางโอกาส ที่เมืองแห่งนี้ ท่านได้พักประจำอยู่ที่วัด ย่ง หมิง ( Yung – Ming ) อย่าจำสับสนกับวัด ย่ง หนิง ( Yung – Ning ) วัดย่ง - หมิง ได้สร้างมาก่อนวัด ย่ง - หนิง คือประมาณต้น ๆ ศตวรรษที่ 6 โดยพระเจ้าจักรพรรดิซุนหวู เพื่อเป็นสำนักที่พักพิงของสงฆ์ชาวต่างประเทศก่อนหน้าที่จะมีการอพยพครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงของการล่มสลาย ของอาณาจักรไว่ ทางตอนเหนือ ในปี พ.ศ.534 ตามรายงานบอกว่า วัดนี้มีพระสงฆ์ซึ่งมาจากประเทศต่าง ๆ ตลอดถึงประเทศซีเรีย ถึง 3,000 องค์

แม้ว่าพุทธศาสนิกในประเทศจีน ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม ท่านโพธิธรรมก็ได้สานุศิษย์ที่แท้จริงเพียง 2-3 ท่าน คือ ท่านเช็งฟู ผู้ซึ่งต่อมาได้ย้ายลงมาอยู่ทางตอนใต้ หลังจากอุปสมบทแล้วไม่นานสานุศิษย์องค์อื่น ๆ ที่ถูกเอ่ยถึงอีก 2 รูป ก็คือท่านเต้าหยู ( Tao-yu ) และท่านฮุ้ยค้อ ( Hui- Ko )

ท่านทั้งสองที่กล่าวถึงนี้ ได้อยู่ศึกษากับท่านโพธิธรรมเป็นเวลา 5-6 ปี ท่านเต้าหยูที่พูดถึงนี้แม้ท่านเข้าใจธรรมะแต่ก็ไม่เคยสอน

สำหรับท่านฮุ้ยค้อ ท่านโพธิธรรมได้มอบบาตรและจีวรให้รับช่วงเป็นธรรมทายาทแทน แต่ฉบับแปลของท่านคุณาภัทระ (Gunabhadra) ในเรื่องลังกาวตารสูตรกล่าวว่า ท่านโพธิธรรมได้มอบตำแหน่งธรรมทายาทให้แก่ท่านเต้าส่วน

ในธรรมเทศนานี้ แม้ท่านโพธิธรรมแสดงไว้ ส่วนมากนำมาจาก นิรวาณสูตร, อวตังสกสูตรและวิมิลกีรติสูตร (วิมิลกีรติ) และไม่ใช่ลักษณะทางไวยากรณ์เหมือนลังกาวตารสูตร บางทีอาจเป็นเทศนาของท่านฮุ้ยค้อ ( ไม่ใช่ของท่านโพธิธรรม ) ผู้ซึ่งพิจารณาพระสูตรนี้ไว้อันดับสูงสุด

ในเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่อง การถ่ายทอดประทีปธรรมของท่านเต้าหยวน (Tao-Yuan) กล่าวว่าไม่นานหลังจากท่านได้มอบตำแหน่งสังฆปรินายกแก่ทายาทของท่านคือท่านฮุ้ยค้อ ท่านโพธิธรรมก็มรณภาพ ในปี พ.ศ. 528 ตรงกับวันที่ 5 เดือน 12 ซึ่งถูกวางยาพิษจากพระที่อิจฉาท่าน

ชีวะประวัติของท่านโพธิธรรมฉบับแรก ๆ ของท่านเต้าหยวน กล่าวเพียงว่า ท่านมรณภาพบนฝั่งแม่น้ำโล (Lo-River)” และไม่ได้เอ่ยถึงวันเวลาและสาเหตุของการมรณภาพ ตามบันทึกของท่านเต้าหยวน กล่าวถึงว่า เมื่อท่านโพธิธรรมยังมีชีวิตอยู่ได้เข้าไปเมืองโลหยาง ที่วัดติงหลิน ( Tinglin Temple ) ใกล้ภูเขาหูหมี ( Bear ear Mountain )

ท่านเต้าหยวนกล่าวว่า สามปีต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ทางการพบท่านโพธิธรรมกำลังเดินไปตามภูเขาแถบเอเชียกลาง ท่านกำลังนำคณะเดินไปพร้อมกับรองเท้าข้างเดียว และท่านก็บอกแก่เจ้าหน้าที่ว่าท่านกำลังเดินทางกลับประเทศอินเดีย

จากข่าวการได้พบท่านโพธิธรรมนี้เอง ก็ทำให้พระภิกษุรูปอื่นๆ ต้องการทราบข้อเท็จจริง ในที่สุดก็ตกลงกันที่จะเปิดดูหลุมฝังศพท่านโพธิธรรม ( เมื่อเปิดแล้ว ) ทุกอย่างที่ท่านเหล่านั้นพบก็คือมีรองเท้าข้างเดียวอยู่ในหลุม

ดังนั้นภาพของท่านโพธิธรรมที่ถูกวาดต่อมาก็คือ ภาพของท่านที่กำลังนำคณะจาริกไปพร้อมกับรองเท้าข้างที่หายไป


















เรียบเรียงใหม่จาก mimdcyber.com , dhammachak.net, วิกิพิเดีย และหนังสือประวัติพระอาจารย์ตั๊กม้อของโรงเจ
ภาพเพิ่มเติมจาก zensiam.com , ww.icilachine.com






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น