วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

นึกเรื่อง เล่าความหลังฯ๖ ขนมสมัยก่อน

นึกเรื่องเก่า เล่า ความหลัง กินของขม ชมเด็กสาว
..แปลว่า..เริ่มแก่แล้ว..๖
ขนมสมัยก่อน
ท่านที่ชอบนึกเรื่องเก่าเล่าความหลังนี้ แต่พยายามฝืนที่จะไม่กินของขม และยังไม่ชมเด็กสาว(ให้เห็น) อย่างนี้จะนับว่าเริ่มแก่แล้วหรือยัง คาดว่าท่านทั้งหลายคงจะตอบว่ายังไม่แก่อย่างแน่นอน ดังนั้นเรามานึกเรื่องเก่าเล่าความหลังกันให้พอเคลิ้มๆ

  เมื่อนึกเรื่องเก่าเล่าความหลังไปถึงเรื่องของกินสมัยก่อนที่ไม่ไกลนักแล้ว ยิ่งนึกก็ยิ่งพบว่าของกินของรับประทานสมัยก่อนนั้น ได้สูญหายหรือกลายพันธุ์ไปมาก หมายถึงที่ผู้เขียนเกิดทันยุคกับที่เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าเรื่องเก่าๆให้ฟังพอพยายามค้นหาภาพเก่าๆมาประกอบเรื่อง ก็ยิ่งรู้สึกว่า ผู้เขียนและคนไทยเราไม่ค่อยสนใจเก็บภาพถ่ายภาพบันทึกอดีตกันสักเท่าไร เพราะภาพถ่ายที่ได้มักเป็นของที่ฝรั่งเขาถ่ายเอาไว้ ของหลายๆอย่างผู้เขียนยังจำได้แม่น แต่หาภาพมาลงประกอบไม่ได้เลย ต่อไปตั้งใจว่าจะขออนุญาตเข้าไปค้นที่หอสมุดแห่งชาติ

   พ่อค้าขายเต้าหู้ทอด สังเกตป่อเปี๊ยะชิ้นเบ้อเร้อ ภาพจาก www.fickr.com
            
  มันปิ้งชิ้นยาวเฟื้อย ภาพจาก www.fickr.com
   นึกถึงของกินพวกหาบเร่แผงลอยในอดีตแล้ว นึกได้ว่าเต้าหู้กับป่อเปี๊ยะทอดสมัยนี้ก็ต่างจากสมัยก่อน คือสมัยก่อนนั้นเต้าหู้ทอดป่อเปี๊ยะทอด จะมีขนาดใหญ่กว่าสมัยนี้มาก ใหญ่ขนาดว่ารับประทานแค่ชิ้นสองชิ้นก็อิ่มแล้ว แต่สมัยนี้เต้าหู้ทอดเหลือชิ้นเล็กนิดเดียว ต้องรับประทานกันทีละเป็นถุง ป่อเปี๊ยะทอดสมัยก่อนอันหนึ่งต้องหั่นเป็นชิ้นๆจึงจะรับประทานได้ แต่เดี๋ยวนี้ป่อเปี๊ยะทอดมีขนาดเหลือแค่อันละคำ

   ตอนซื้อป่อเปี๊ยะหรือเต้าหู้ทอดนั้น เขาจะเอาป่อเปี๊ยะใส่ไว้ในกระทงใบตองแห้ง เราต้องตัดสินใจว่าจะเอาน้ำจิ้มหวานหรือเผ็ด เพราะจะต้องราดลงไปเลย เนื่องจากยังไม่มีถุงพลาสติกมาใส่น้ำจิ้ม ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ขนมที่เขาหาบขายกันนั้น ถ้าเป็นคนจีนขายก็มักจะใช้กระทงที่ทำจากใบตองแห้ง ทำมาสำเร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าเป็นพ่อค้าแม่ค้าคนไทย ก็มักจะใช้กระทงที่ทำจากใบตองสด มิหนำซ้ำยังมานั่งห่อกระทงกลัดกระทงกันให้เห็นกันต่อหน้าต่อตา ตอนเด็กผู้เขียนยังนั่งดูแม่ค้าขายกล้วยปิ้งเจ้าประจำกลัดกระทงใบตองสดที่หน้าบ้านผู้เขียนบ่อยๆ คือกินขนมไปดูแกกลัดกระทงไป แกทำกระทงได้รวดเร็วมาก

   กระทงสมัยนั้นใช้ไม้กลัดเป็นตัวยึด ไม่ได้ใช้ลวดแม๊กเย็บเอาอย่างปัจจุบัน การใช้ไม้กลัดนี้ต้องนับว่ามีความปลอดภัยต่อลูกค้ามาก เพราะจะไม่หลุดเข้าไปในปากในคอเลย เนื่องจากไม้กลัดงี้อันยาวเกิน๑นิ้วกว่าๆ จะกินขนมยังไงก็รับรองว่าไม่มีทางเผลอกลืนไม้กลัดเลย แต่ขนมใส่กระทงหรือใส่ถุงสมัยนี้ เผลอนิดเดียวเจอลวดแม๊กทิ่มปาก

   มันปิ้งหรือมันเผาเป็นของกินที่ทั้งกินเล่นหรือกินอิ่มก็ได้ ตอนผู้เขียนยังเด็กจะต้องยืนรอหาบขายมันปิ้งกล้วยปิ้ง ที่แม่ค้าจะหาบมาขายถึงหน้าบ้าน มันปิ้งสมัยนั้นมีขนาดใหญ่มาก ใหญ่ประมาณหนึ่งคืบของผู้ใหญ่เป็นอย่างน้อย แต่มันปิ้งสมัยนี้เขาขายกันชิ้นเล็กลงไปมาก ดูเผินๆนึกว่าขนมปังพายของฝรั่ง

   มันปิ้งในสมัยนั้นแม่ค้าจะเอามันปิ้งที่ปิ้งได้ที่แล้ว เอามาหนีบให้เป็นแผ่น เครื่องหนีบนี้ก็เป็นไม้สองแผ่นเท่านั้น แถมไม้หนีบยังมีศิลปะเล็กๆน้อยๆด้วย โดยแกะลวดลายหรือทำรูปทรงน่าดู  แม่ค้าจะหนีบมันปิ้งให้แบนแล้วจุ่มลงในน้ำเชื่อมที่อยู่ในหม้อเคลือบใบเล็ก น้ำเชื่อมเป็นสูตรใครสูตรมันด้วย น้ำเชื่อมนี้เขาทำจากน้ำตาลปี๊บแบบวันต่อวันจึงหอมๆ พอรับประทานหรือกินเล่นจะพบว่า มันปิ้งอร่อยมากทั้งหอมทั้งหวานผสมเค็มนิดๆ
  
   ซาเล้งขายน้ำแข็งไสและรวมมิตรภาพจาก www.fickr.com  
   ถ้าเป็นของรับประทานแบบเย็นเจี๊ยบก็มีน้ำแข็งกดราดน้ำหวาน คือเอาน้ำแข็งไสใส่ลงไปในถ้วยแล้วเอาไม้เล็กๆเสียบลงไปตรงกลางสำหรับให้ถือได้ เสร็จแล้วจึงคว่ำถ้วยเพื่อดึงน้ำแข็งที่มีไม้เสียบออกมา จะเหมือนไอติมแท่ง แล้วจึงเอาน้ำหวานค่อยๆเทลงไปบนน้ำแข็ง การเทน้ำหวานต้องเทไปหมุนแท่งน้ำแข็งไป เพื่อให้น้ำหวานค่อยๆซึมลงไปอย่างทั่วถึง บางทีใช้น้ำหวานหลายสีทำเป็นชั้นๆดูแล้วสวยน่ารักน่าชิม นับว่าต้องใช้ความชำนาญเหมือนกัน  เสร็จแล้วก็กลายเป็นน้ำแข็งกดที่มีสีสวยสดใส

 น้ำแข็งกดย้อนยุค สมัยก่อนก็ทำแบบนี้ แต่ไม้ถือจะเล็กๆ
                             
   น้ำแข็งกดนี้เป็นแค่ของขายเล็กๆน้อยๆแบบออปชั่น เพราะที่จริงแล้วเขาจะขายน้ำแข็งไสรวมมิตรหรือบ๊อกเกี้ย  คือไสน้ำแข็งให้เป็นเกล็ดเล็กๆโปะลงไปบนขนมผลไม้ที่ปนกันหลายๆอย่าง ส่วนมากเป็นของเชื่อมเช่น ถั่วแดง มัน ขนุน ลูกชิด แห้ว บ๊ะจ่าง ข้าวเหนียวดำ ข้าวโพด และอีกหลายอย่าง เนื่องจากมีขนมรวมหลายๆอย่างในชามเดียวกันจึงเรียกว่ารวมมิตร คนจีนเรียกบ๊อกเกี้ยหรือโบ๊กเกี้ย  แล้วราดด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำกะทิ ขนมรวมมิตรนี้ถ้าจะให้ครบเครื่องจริงๆต้องมีบะหมี่หวานกับลูกแป้งใส่ด้วย ลูกแป้งนี้ก็คือตัวโบ๊กเกี้ยนั่นเอง ปัจจุบันถ้าจะรับประทานแบบมีเครื่องให้เลือกเยอะๆ ก็คงต้องไปตลาดท่าดินแดง ซึ่งมีร้านเดียวคนแน่นขนัดเลย อีกที่ๆผู้เขียนรู้จักอยู่แถวๆบางลำพู รสชาดยังอร่อยทั้งสองเจ้า



แป้งเส้นขาวๆนี่แหละคือตัวโบ๊กเกี้ยหรือบ๊อกเกี้ย

   ของกินเย็นๆที่ไม่ได้หมายถึงเอาไปกินตอนช่วงเย็นก่อนค่ำนั้น แน่นอนว่าไอศครีมต้องรวมอยู่ในของกินเย็นๆยอดฮิตด้วย ไอศกรีมนี้แต่ก่อนเรียกกันง่ายๆว่าไอติม ก็มีไอติมหลอด ไอติมตัด กับไอติมควัก ไอติมหลอดกับไอติมตัดเป็นไอติมแบบแท่ง ส่วนไอติมควักก็คือไอศครีมซาเล้งที่ใช้ช้อนที่ทำมาโดยเฉพาะสำหรับตักหรือควักไอศครีม ก็คือไอศรีมแบบสเวนเซ่นในปัจจุบันนั่นเอง 

   ไอติมหลอดเป็นไอติมหวานเย็น โดยจะใส่ไว้ในกระติกแก้วมีตะกร้าหวายสำหรับหิ้วได้ ไอติมหลอดจะมีหลายรสแบบไทยๆคือ ใส่ลอดช่อง ถั่วดำ ขนุน จำได้ว่าตอนเด็กซื้อแท่งละ ๒๕ สตางค์ คนขายมีเครื่องล่อให้เด็กและผู้ใหญ่ซื้อไอติมด้วย โดยถ้ากินไอติมแล้วเจอไม้ไอติมที่แต้มสีแดง ก็จะแถมไอติมให้ฟรีๆอีกหนึ่งแท่ง แต่ผู้เขียนจำได้แม่นว่าตั้งแต่กินไอติมหลอดมานั้น ยังไม่เคยเจอไม้แดงเลย





   ไอติมตัดเป็นของกินเย็นๆยอดฮิตอย่างหนึ่งในวัยเด็ก แต่ไอติมตัดนี้ไม่มีแบบที่ใส่เม็ดสาคู ถั่วดำ ลอดช่อง แต่ทำเป็นไอติมรสชาติทำนองฝรั่ง ตอนผู้เขียนยังเด็กฟังชื่อรสของไอติมตัดแล้ว รู้สึกว่าไอติมตัดมันช่างทันสมัยดีแท้ คือมีเป็น รสวนิลา รสนม รสสตรอเบอรี่ รสช็อคกาแล็ค รสกาแฟ 


   ของกินเย็นๆที่ไม่ได้หมายถึงเอาไปกินตอนช่วงเย็นก่อนค่ำนั้น แน่นอนว่าไอศครีมต้องรวมอยู่ในของกินเย็นๆยอดฮิตด้วย ไอศกรีมนี้แต่ก่อนเรียกกันง่ายๆว่าไอติม ก็มีไอติมหลอด ไอติมตัด กับไอติมควัก ไอติมหลอดกับไอติมตัดเป็นไอติมแบบแท่ง ส่วนไอติมควักก็คือไอศครีมซาเล้งที่ใช้ช้อนที่ทำมาโดยเฉพาะสำหรับตักหรือควักไอศครีม ก็คือไอศรีมแบบสเวนเซ่นในปัจจุบันนั่นเอง 

   ไอติมตัดนี่จะกินต้องมีพิธีรีตองหน่อย เริ่มจากต้องตัดไอติมออกมาจากท่อนไอติม คือไอติมตัดนี้เป็นไอศกรีมแบบไอศกรีมวอลล์ในปัจจุบันนี่แหละ แต่ไอติมตัดนี้เขาจะทำไอศรีมในลักษณะเป็นแท่งยาวหรือเป็นก้อนๆ มีกระดาษว่าวม้วนไอศกรีมให้หยิบง่ายๆ พอขายก็ขายตามราคาโดยเอามีดตัดเอา คนซื้อก็ต้องแกะกระดาษห่อไอติมออกก่อนจึงจะกินได้ เวลากินก็มีเทคนิคประกอบคือต้องกินไปเลียไปจนกระทั่งอมในปากได้ คนที่มีเทคนิคในการกินสูงนั้นจะอมไอติมจนกลมเลยทีเดียว



   เด็กๆจะรู้ว่าไอติมมาขายแล้วจากการได้ยินเสียงกระดิ่งไอติม คนขายเขาจะมีกระดิ่งทองเหลืองอันเล็กๆที่มีด้ามจับ เวลาเดินสะพายกระติกไอติมก็เขย่ากระดิ่งไปด้วย เดี๋ยวก็มีเด็กๆวิ่งมาซื้อ ตอนนี้ทั้งไอติมหลอดไอติมตัดมีการทำย้อนยุคมาขายแล้ว ไอติมหลอดไอติมตัดคงไม่สูญพันธุ์ แต่ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า ไอติมหลอดไอติมตัดยุคนี้หน้าตาไอติมไม่คุ้นเคยยังไงชอบกล

   ไอติมยอดฮิตอีกชนิดหนึ่งก็คือไอติมควัก ไอติมแบบนี้จะมีคนถีบซาเล้งมาขาย จะมีอยู่สองพวกคือไอติมซาเล้งที่เป็นของไทยๆ กับไอติมซาเล้งมียี่ห้อฝรั่ง ความแตกต่างอยู่ที่ไอติมควักแบบไทยๆนั้น จะมีเครื่องเคราใส่มาบนไอติม จะเป็นพวกเต้าส่วน ข้าวเหนียว ลูกชิด ถั่วดำ สัปรดเชื่อม มันเชื่อม ฯลฯ แล้วแต่ที่คนขายจะมีติดซาเล้งมา ทั้งยังมีพิเศษแบบทำเป็นไอติมฮอตดอก โดยผ่าขนมปังให้แบะออก แล้วเอาไอติมใส่ตรงรอยที่ผ่าไว้ โรยถั่วลิสงกับราดด้วยนมสดกระป๋อง แบบนี้เวลาหิวๆกินแล้วหายหิวได้ในระดับหนึ่ง แถมอีกด้วยน้ำดื่มเย็นเจี๊ยบที่ไปเปิดก๊อกท้ายรถซาเล้งใส่ถ้วยดื่มได้เลย

   ไอติมควักแบบที่เป็นยี่ห้อฝรั่งขายแบบฝรั่งนั้น จำได้ว่ายี่ห้อไอติมตราเป็ดเป็นไอติมที่มาก่อนเลย มีชื่อเรียกว่าไอติมป๊อบ แล้วค่อยๆเรียกเป็นไอศครีมป๊อบ ไอติมป๊อบนี้ที่ว่าขายแบบฝรั่งก็คือ เป็นไอศครีมรสต่างๆที่บรรจุไว้ในถ้วยมีฝาปิดมาเรียบร้อย ไม่ต้องให้คนขายมานั่งควักหรือขูดไอศครีมใส่ถ้วยอีก ถ้วยที่ใส่ไอศครีมเป็นถ้วยกระดาษเคลือบขี้ผึ้งพาราฟีน ต่อมาอีกหลายปีถึงค่อยมีไอติมโฟโมสต์ การเรียกไอติมว่าไอศครีมกันอย่างค่อนข้างจริงจัง รู้สึกว่าก็เริ่มมาตั้งแต่ตอนมีไอศครีมยี่ห้อแบบฝรั่งนั่นเอง


ช้อนควักหรือขูดไอศครีมแบบดีดไอศครีมได้

ช้อนขูดไอศครีมแบบนี้ต้องเคาะไอศครีมออกมา

   ไอติมโบราณทีผู้เขียนไม่เจอมานานเกือบสี่สิบปีแล้วก็คือไอศกรีมไข่แข็ง แล้วไอศกรีมไข่แข็งนี้ไม่ค่อยมีใครเรียกว่าไอติม จะเรียกเป็นกรณีพิเศษว่าไอศกรีม ข้อนี้ไม่ทราบว่าทำไม  ที่เห็นว่าไอศกรีมไข่แข็งที่พอจะมีขายกันในปัจจุบันบ้างนั้น หน้าตามันไม่ใช่ไอศกรีมไข่แข็งแบบที่เคยกินเลย

   ไอศกรีมไข่แข็งของจริง(อย่าคิดมาก)นั้น จะเป็นไอศกรีมใส่มาในถ้วยไอครีมโดยตรง คือเป็นถ้วยแก้วที่ทำมาให้ใส่ไอศครีมโดยเฉพาะแบบไอศครีมฝรั่ง ต้องนับว่าไอศครีมไข่แข็งนี้เป็นไอศกรีมที่มีชนชั้นเสียด้วย ไอศครีมจะใส่มาในถ้วยแก้วไอศครีมสวยๆ แล้วมีไข่ไก่ที่แช่เย็นเสียจนไข่แข็งโป๊ก(นี่ก็อย่าคิดมาก) หั่นไข่ไก่ออกเป็นสี่ส่วนวางบนเนื้อไอศกรีม รสชาติของการกินไอศรีมกับไข่ไก่ที่แช่เย็นจนแข็งนั้น จะมีความหวานมันของไอศครีม ผสมกับรสชาติแปลกๆของไข่ไก่ที่ทั้งเย็นทั้งแข็ง รสชาติของการกินไอศครีมไข่แข็งนั้นบอกไม่ถูก มันหวานๆมันๆปะแล่มๆ แต่ผู้เขียนชอบมาก เคยพาเพื่อนรักไปชิมปรากฏว่าเพื่อนรักอ้วกแตกเลย ทำให้ผู้เขียนเลยไม่กล้าพาเพื่อนสาวๆของผู้เขียนในสมัยนั้นไปชิมไอศครีมไข่แข็งดังกล่าว

    ไอศครีมไข่แข็งขนานแท้และดั้งเดิมนั้น เจ้าสุดท้ายที่ผู้เขียนได้รับประทานก็ปาเข้าไปนานถึงสามสิบกว่าปี เป็นร้านแถวๆสะพานเหล็ก ตอนนี้ร้านนี้เลิกขายไปแล้วเป็นสิบๆปีแล้ว และยังไม่เคยพบร้านขายไอศครีมไข่แข็งชนิดดั้งเดิมอีกเลย มีแต่ไอศครีมไข่แข็งที่ดัดแปลงจากแบบเดิมซึ่งคนก็ไม่ค่อยรู้จักเสียอีก แต่จะว่าไปแล้วไอศครีมไข่แข็งแบบนี้ก็เป็นไอศครีมยุคเก่าเหมือนกัน

     ไอศครีมไข่แข็งยุคเดิมใช้ไข่ไก่ทั้งฟองแช่เย็น จะต้องแช่เย็นจนไข่ขาวและไข่แดงเย็นจนกระทั่งกลายเป็นไข่แข็งโป๊ก(อย่าคิดมากนะครับท่าน) แล้วใส่ลงไปในไอศครีมทั้งลูก ส่วนไอศครีมไข่แข็งที่ดัดแปลงใหม่นั้น จะใช้แค่ไข่แดงเทบางๆลงไปในถังไอศครีม พอไข่แดงชั้นบางๆโดนเนื้อไอศครีมที่เย็นเจี๊ยบ ไข่แดงเลยแข็งตัว จากนั้นค่อยตักไอศครีมที่มีไข่แดงติดขึ้นนมา แบบนี้บางทีรับประทานแล้วยังไม่รู้ตัวว่าเลยว่าเป็นไอศครีมใส่ไข่
ไอศครีมไข่แข็งขนานแท้และดั้งเดิมกลายเป็นไอศครีมลึกลับไปแล้ว เลยยังไม่สามารถหารูปมาให้ดูได้

ไอศครีมไข่แข็งแบบดัดแปลง

                                          ขอขอบคุณรูปจากwww.fickr.com , เว็บพันทิป 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น