วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

พระพุทธรูป.๒ พระพุทธไตรรัตนนายก


                                    พระพุทธไตรรัตนนายก
                                   หลวงพ่อโตซำปอฮุดกง 
                      วัดพนัญเชิง วรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา


พระพุทธไตรรัตนนายก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ปูนปั้นลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๑๔.๒๐ เมตร สูง ๑๙.๒๐ เมตร ศิลปะสมัยอู่ทองตอนปลาย เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอยุธยามาแต่ โบราณ ประดิษฐานในพระวิหารหลวง วัดพนัญเชิงวรวิหาร

     ประวัติแต่แรกเริ่มของการสร้างหลวงพ่อโต มีปรากฏในพงศาวดารว่าสร้างขึ้นในปีชวด พ.ศ. ๑๘๖๗ ก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ปี เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่มีพุทธลักษณะงดงาม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๗ วา๑๐นิ้ว สูง ๙ วา ๒ ศอก ประดิษฐานในพระวิหารใหญ่

หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  ทรงเห็นว่าคำว่า “หลวงพ่อโต” เป็นนามพระพุทธรูปที่เห็นมีอยู่หลายที่ ที่ตั้งชื่อเดียวกันนี้ พระองค์จึงทรงถวายพระนามให้ใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”


     ตำนานการสร้างหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงมีอยู่หลายเรื่อง พอจะประมวลมาได้ดังนี้

     ๑. สร้างขึ้นในคราวที่พระยาเลอไทย กษัตริย์รัชกาลที่ ๔ แห่งสุโขทัยราชวงศ์พระร่วง
     ๒. สร้างขึ้นโดยพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์ผู้ครองกรุงอโยธยาซึ่งเป็นเมืองที่มีมาก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาจะเกิด สาเหตุแห่งการสร้างเล่าต่อๆกันมาในตำนานพระนางสร้อยดอกหมากราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน 


                                                                                                    ภาพจาก autofreestyle.com


  

                                                                                                      ภาพจาก panoramio.com


ตำนานพระนางสร้อยดอกหมาก

     ขณะนั้นพระเจ้ากรุงจีนได้บุตรบุญธรรมในจั่นหมากเอามาเลี้ยงไว้ให้นามชื่อว่านางสร้อยดอกหมาก ครั้นวัฒนาการจำเริญขึ้นจึงให้โหรมาทำนายว่า ลูกคนนี้จะคู่ควรด้วยกษัตริย์เมืองใด โหรพิเคราะห์ดูหาเห็นว่าจะอยู่แห่งใดไม่ เห็นอยู่แต่ทิศตะวันตกแห่งกรุงไทย มีบุญญาภิสังขารมากนัก เห็นจะควรกับพระราชธิดา



                                           ตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ภาพ panoramio.com




                                                                                          เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ภาพ www.hpt4.go.th



     โหรจึงกราบทูลว่า จะได้กับพระเจ้ากรุงไทยเป็นแน่ พระเจ้ากรุงจีนให้แต่งพระราชสานส์เข้ามาจึงสั่งให้เบิกทูตานุทูตเข้าไปเฝ้า ในพระราชสานส์นั้นว่าพระเจ้า กรุงจีนให้มาเป็นพระราชไมตรีถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ด้วยเราจะยกพระราชธิดาให้เป็นพระอัครมเหสี ให้เสด็จออกมารับโดยเร็ว ครั้นได้แจ้งให้พระราชสานส์ดังนั้นก็ดีพระทัยจึงตรัสว่าเดือน 12 จะยกออกไป ให้ตอบแทนข้าวของไปเป็นอันมาก ทูตทูลลาออกไป จึงสั่งให้เรือเอกชัยเป็นกระบวนพยุหะ


     จุลศักราช 375 ปีมะเมีย เบญจศก ครั้น ณ วัน เดือน 12 แรม 11 ค่ำ ได้ศุภวารฤกษ์ดีจึงยกพยุหะไปทางชลมารคพร้อมด้วยเสนาบดีเสด็จมาถึงแหลมวัดปากคลองพอน้ำขึ้นจึงประทับพระที่นั่ง อยู่หน้าวัด จึงทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบัน จึงทรงดำริว่าจะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากรเดชะบุญญาภิสังขารของเรา เราจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ ด้วยกัน เสร็จ ขอให้น้ำผึ้งย้อยหยดลงมากลั้วเอาเรือรีบขึ้นไปประทับบนกำแพงแก้วนั้นเถิด 

   พอตกพระโอษฐ์ลงดังนั้น น้ำผึ้งก็ย้อยลงกลั้วเอาเรือพระที่นั่งขึ้นไปถึงที่ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเห็นประจักษ์ แก่ตาแล้วเสด็จนมัสการ จึงเปลื้องเอาพระภูษาทรงสักการบูชาพระพุทธปฏิมากรนั้นเสร็จแล้ว เสด็จลงเรือพระที่นั่งก็ถอยลงมาที่เดิม พระสงฆ์สมภารลงมาถวายชัยมงคลว่า มหาบพิตรพระราช สมภารจะสำเร็จความปรารถนา จะครองไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุขทั่วทิศ จึงถวายพระนามว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง 

   ครั้นน้ำหยุดจะลงพระองค์ก็สั่งให้ท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งหลายและเสนามนตรี กลับขึ้นไปรักษาพระนคร แต่พระองค์เสด็จไปทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยลำเดียว ด้วยอำนาจพระราชกุศลที่ได้สร้างมาแต่หนหลัง ก็เสด็จไปสะดวกจนถึงเขาไฟ พอจีนทั้งหลายเที่ยวอยู่ในท้องทะเล นั้นเห็นเป็นอัศจรรย์นัก จึงนำเอาเนื้อความกราบทูลพระเจ้ากรุงจีน พระเจ้ากรุงจีนก็สะดุ้งตกใจนัก จึงสั่งให้เสนาผู้ใหญ่ไปดูว่าจะมีบุญจริงหรือ หรือประการใดให้ประทับสองแห่งที่อ่าวนาคคืนหนึ่ง 

   ครั้นเพลาค่ำจึงให้คนสอดแนมดูว่า จะเป็นประการใด ครั้นไปฟังดูได้ยินเสียงดุริยางค์ครึกครื้นไป จึงเอาเนื้อความนั้นกราบทูล จึงสั่งให้เชิญมาอยู่ที่อ่าวเสือคืนหนึ่ง จึงแต่งการรับครั้นเพลาราตรี กาลเทพยดาบันดาลดุริยางค์ดนตรี ครั้นรุ่งขึ้นจึงพระเจ้ากรุงจีนแต่งการกระบวนแห่รับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาในพระราชวัง จีนทั่วประเทศสรรเสริญบุญไปทั่ว พระเจ้ากรุงจีนให้ราชาภิเษก นางสร้อยดอกหมาก เป็นพระอัครมเหสีพระเจ้าสายน้ำผึ้ง

                                                                                      เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ภาพ catfattyacidspot.com


     พระเจ้ากรุงจีนแต่งสำเภาห้าลำ พร้อมเครื่องอุปโภรบริโภคเป็นอันมากให้จีนมีชื่อห้าร้อยคนเข้ามาด้วย จึงพระเจ้ากรุงจีนให้เชิญพระเจ้า สายน้ำผึ้งไปเฝ้า ตรัสว่า บ้านเมืองหามีผู้รักษาไม่ และเกือบจะมีศึกมาย่ำยี ให้พากันกลับไปพระนครเถิด พระเจ้าสายน้ำผึ้งก็ถวายบังคมลา พามาลงเรือสำเภาสิบห้าวันก็ถึงแดนพระนคร 

     ขุนนาง ผู้ใหญ่ผู้น้อยกับพระราชาคณะราษฎรเทพนิกร ก็โสมนัสยินดีทั่วไป จึงแต่งกายรับเสด็จพระราชาคณะฐานานุกรมร้อยห้าสิบไปรับที่เกาะ จึงเรียกว่าเกาะพระแต่นั้นมาและก็เชิญเสด็จมาท้ายเมือง ที่ปากน้ำแม่เบี้ยและเสนาบดี ราชาคณะ จึงเชิญเสด็จเข้าพระราชวัง สั่งให้จัดที่ตำหนักซ้ายขวาสำเร็จ แล้วจึงให้เถ้าแก่กับเรือพระที่นั่งลงมารับนาง นางจึงตอบว่า มาด้วยพระองค์โดยยากมาถึงพระราชวังแล้ว เป็นไฉนจึงไม่มารับถ้าพระองค์ไม่มารับแล้วไม่ไป 

   เถ้าแก่เอาเนื้อความกราบทูลทุกประการ พระองค์แจ้งดังนั้นก็ว่าเป็นการหยอกเล่น มาถึงนี่แลัวจะอยู่ที่นั่นก็ตามเถิด นางรู้ความ ดังนั้นสำคัญว่าจริง ยิ่งเศร้าพระทัยนัก ครั้นรุ่งเช้าแต่งกระบวนแห่มารับ จึงเสด็จพระราชดำเนิน มาด้วย ครั้นถึงเสด็จไปบนสำเภารับนาง นางตัดพ้อว่าไม่ไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงสัพยอกว่า ไม่ไปแล้วก็อยู่ที่นี่ พอตกพระโอฐลงนางก็กลั้นใจตาย

     พวกจีนไทยร่ำรักแซ่ไป จุลศักราช 406 ปีมะโรง ฉอศก จึงเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะสถาปนาเป็นพระอาราม ให้นามชื่อว่า วัดเจ้าพระนางเชิงตั้งแต่นั้นมา




                                                                   ภาพจาก www.ayutthaya.go.th


                                                                                ภาพจาก  www.bloggang.com

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าคำว่า หลวงพ่อโต เป็นนามพระพุทธรูปที่เห็นมีอยู่หลายที่ ที่ตั้งชื่อเดียวกันนี้ เพื่อป้องกันการสับสนพระองค์จึงทรงถวายพระนามให้ใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”

     วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงติดพระเนตรพระพุทธไตรรัตนนายก ด้วยถมปัก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐีจัดเครื่องสังเวยถวายพระพุทธไตรรัตนนายกตามแบบธรรมเนียม จีนด้วย

     ในรัชกาลที่ ๕ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ เกิดเพลิงไหม้ที่ผ้าห่มพระพุทธไตรรัตนนายกไหม้ตั้งแต่พระนาภีถึงบริเวณพระอังสา องค์พระชำรุดร้าวรานหลายแห่ง เช่น ที่พระอุระยาวเกือบ ๒ เมตร กว้างครึ่งเมตรเศษ ที่พระปฤษฎางค์ยาว ๒เมตรเศษ กว้างเกือบ ๒ เมตร           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ซ่อมคืนดีอย่างเก่าโดยเสด็จพระราชดำเนินทรงปิดทองเป็นพระฤกษ์ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ เวลาบ่าย ๓ โมง ๔๘ นาที ทรงปิดทองพระพักตร์ แล้วโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการปิดต่อไปอีก สิ้นทอง ๑๘๔,๘๐๗ แผ่น และโปรดให้มีมหกรรมสมโภช ๓ วัน

     ถึงรัชกาลที่ ๗ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ พระหนุพระพุทธไตรรัตนนายกพังทลายลงตลอดถึงพระปรางค์ทั้งสองข้าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร โปรดให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีขึ้นไปสำรวจ และทำแผนผังถวาย แล้วเริ่มทำการซ่อมจนแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒

     ส่วนพระอุณาโลมนั้น เดิมเป็นทองแดงปิดทองคำเปลวประดับพลอย ในการปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ พระญาณไตรโลก (ฉาย) เจ้าอาวาสได้เก็บ เศษทองที่เหลือติดกระดาษซึ่งผู้มานมัสการปิดทองทิ้งอยู่ในพระวิหารมารวมกันสำรอกได้ทองคำหนัก ๑๑ บาท พระยาโบราณราช ธานินทร์ (พร เดชะคุปต์)  ผู้เป็นสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลกรุงเก่าและครอบครัว พร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธาอื่น ๆร่วมใจบริจาคทองคำสมทบหนัก ๔๖ บาท รวมเปลี่ยนพระอุณาโลมใหม่เป็นทองคำ ยกขึ้นติดที่พระนลาฏ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ดังปรากฏ อยู่จนปัจจุบัน

     ถึงรัชกาลปัจจุบันใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้ปฏิสังขรณ์แล้วลงรักปิดทององค์พระทั้งองค์ พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๓๖ ปฏิสังขรณ์ลงรักปิดทององค์พระและแท่นฐานทั้งหมด

     พระพุทธไตรรัตนนายกนี้ คนไทยนิยมเรียกกันว่าหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง ชาวไทยเชื้อสายจีนเรียกว่า ซำปอกง นิยมกันว่าหลวงพ่อโตมัดพนัญเชิงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างหลั่งไหลไปกราบขอพรให้สมหวังมีความสุข


     คราวที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองนั้น เกิดมีน้ำพระเนตรไหลออกมาจากหลวงพ่อโตเป็นลางบอกเหตุ ยังเล่าขานเป็นตำนานถึงทุกวันนี้


                                                                                                        ภาพจาก go-society.com
การเดินทางสู่วัดพนัญเชิงวรวิหาร ๓ ทาง

๑. เดินทางโดยรถยนต์  ไปถนนพหลโยธิน แยกเข้าถนนสายเอเชีย ถึงแยกเข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เลี้ยวเข้าตัวจังหวัดตรงไปถึงวงเวียนเจดีย์ใหญ่วัดสามปลื้ม แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนน ผ่านวัดใหญ่ชัยมงคลเลยไปจนถึงวัดพนัญเชิง

   หรือจะไปทางฝั่งธนบุรีโดยใช้เส้นทางสายที่ผ่าน อ.บางใหญ่ แล้วไปตามเส้นทางสายวงแหวน เข้า อ.บางปะอิน หรือไปทางถ.ราชพฤกษ์ออกไปที่จ.ปทุมธานี ต่อไปตามทางถึงวัดได้

๒. เดินทางโดยรถไฟ  ไปยังสถานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อรถประจำทาง หรือรถรับจ้างเพื่อข้ามเรือที่สถานีตำรวจป้อมเพชร ซึ่งเรียกว่า ท่าข้ามวัดสุวรรณดาราราม - วัดพนัญเชิงฯ

๓. เดินทางโดยเรือ เนื่องจากวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำ จึงมีเรือผ่าน ๓ สาย สายใต้และสายตะวันตก จะถึงวัดซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจป้อมเพชรก่อนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สายเหนือจะถึงตัวจังหวัดก่อนถึงวัด