วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

พระพุทธรูป.๑ พระศรีศากยมุนี


  พระศรีศากยมุนี
  วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

 ในบรรดาพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 1  โปรดให้อัญเชิญมาสู่กรุงเทพฯนั้น นับว่าพระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุด พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภาค ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือโคลงภาพพระราชพงศาวดารตอนหนึ่งว่า...

                                             ให้เชิญพระพุทธรูปล้ำ         วิไล ลักษณ์นา
                                          ศรีสากยมุนีไข                        ชื่อพร้อง
                                          แต่เมืองสุโขทัย                      ล่องลุ กรุงแฮ
                                          สมโภชสามวันก้อง                 น่านน้ำเฉนียนวัง

   พระศรีศากยมุนีเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานในภายหลัง เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย ครั้งกรุงสุโขทัยสิ้นฐานะเป็นราชธานี พระวิหารถูกทอดทิ้งปรักหักพังลง องค์พระพุทธรูปต้องกรำแดดฝนจะชำรุด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย ทำด้วยโลหะ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ สูง 4 วา และเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์และเททองใหม่แล้ว จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุด

   การอัญเชิญพระศรีศากยมุนีลงมาจากเมืองสุโขทัยมายังกรุงเทพฯนั้น ใช้การชะลอด้วยแพล่องมาตามลำน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2351  เมื่อมาถึงโปรดให้ทอดทุ่นอยู่กลางน้ำ หน้าตำหนักแพบริเวณท่าช้างปัจจุบัน พร้อมทั้งโปรดให้มีพิธีสงฆ์และงานสมโภชทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นอัญเชิญขึ้นบก แต่ไม่สามารถผ่านประตูเมืองได้ ถึงกับต้องรื้อกำแพงพระนครลง เมื่อพระพุทธรูปผ่านได้แล้ว จึงได้ก่อกำแพงขึ้นใหม่ สถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่าท่าพระ




จากท่าพระโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปด้วยขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ สองข้างทางผ่านชาวบ้านซึ่งแต่งโต๊ะหมู่บูชากันเกือบทุกบ้าน รัชกาลที่ 1  ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทเปล่าตามกระบวนแห่มาด้วย เพื่อนำไปประดิษฐานยังวัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นวัดที่โปรดให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณกลางพระนคร และมีพระราชประสงค์จะสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง เป็นศรีสง่าแก่พระนครและได้พระราชทานนามไว้ว่า วัดมหาสุทธาวาส แต่สร้างยังมิทันสำเร็จได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงดำเนินการก่อสร้างต่อ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” และสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3



 เมื่ออัญเชิญพระศรีศากยมุนีมาถึงวัดแล้ว ก็ยังมิได้อัญเชิญขึ้นที่บริเวณพระวิหาร เนื่องจากการก่อสร้างยังมิแล้วเสร็จ เมื่อจะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นที่นั่น กรมหลวงนรินทรเทวีทรงเล่าไว้ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำว่าเวลานั้นรัชกาลที่ 1  ทรงพระประชวรมากแล้ว แต่เสด็จมาในพิธีด้วย เมื่อทอดพระเนตรเห็นการเชิญพระขึ้นที่ทันพระราชประสงค์จึงทรงเปล่งอุทานว่า สิ้นธุระแล้ว” จากนั้นไม่นานก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2352  ส่วนวัดสุทัศนฯนั้น เนื่องจากโปรดให้สร้างในปลายแผ่นดิน จึงไม่ทรงหวังจะทอดพระเนตรพระอารามแล้วเสร็จแต่อย่างใด



เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 1 แล้ว รัชกาลที่ 2 โปรดให้สร้างต่อมา โดยเฉพาะพระวิหารนั้นมีความสูงเด่นเป็นสง่าตามแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นโดยถ่ายทอดแบบมาจาก พระวิหารมงคลบพิตร แต่ยังมิได้ทรงยกช่อฟ้าและยกบานประตูหน้าต่างทรงสลักบานประตูค้างอยู่ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน รัชกาลต่อ ๆ มาได้ทรงสร้างต่อมา และบูรณปฏิสังขรณ์เป็นลำดับมาทุกพระองค์จึงเป็นวัดที่ไม่เพียงแต่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนีซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามและสำคัญยิ่งเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์


   นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าชมอีกหลายอย่าง เช่น แบบแผนการก่อสร้างที่สมบูรณ์สวยงาม ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถและพระวิหารเรื่องไตรภูมิที่งดงามที่สุด บานประตูไม้ที่แกะสลักลึกลงไปเป็นลวดลายเครือเถาและสัตว์ต่าง ๆ สลับซับซ้อนวิจิตรพิสดาร โดยเฉพาะคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2  ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และผ้าทิพย์ด้านหน้าพระพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรังคารในรัชกาลที่ 8  ด้วย
     ปัจจุบันนี้วัดสุทัศนฯเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทุกคนที่มาวัดสุทัศนฯต่างต้องไปกราบนมัสการหลวงพ่อพระศรีศากยมุนีด้วยกันทั้งนั้น










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น