วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

พระพุทธรูป.๓ พระพุทธสิหิงค์ ใน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์


                                          พระพุทธสิหิงค์
                                     พระที่นั่งพุทไธสวรรย์


พระพุทธสิหิงค์ ใน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหรือศิลปะล้านนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ๒๑ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิยาวมาจรดพระนาภี

เรื่องตำนานของพระพุทธสิหิงค์นี้ว่า เดิมพระเจ้ากรุงลังกาองค์หนึ่งทรงสร้างขึ้นไว้ พระเจ้านครศรีธรรมราชไปขอมาถวายสมเด็จพระร่วง (รามราช) พระเจ้ากรุงสุโขทัยๆ ทรงปฏิบัติบูชามาหลายรัชกาลจนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาได้เมืองสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในกรุงศรีอยุธยา กาลต่อมาพระมเหสีทูลขอให้พระยาญาณดิศผู้เป็นบุตรไปไว้ ณ เมืองกำแพงเพชร อยู่นั่นไม่ช้าพญามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายหมายยกกองทัพมาตีเมืองกำแพงเพชร พญาญาณดิศสู้ไม่ได้ยอมเป็นไมตรี พญามหาพรหมจึงขอพระพุทธสิหิงค์ไปไว้เมืองเชียงราย

ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

  ต่อมาพญามหาพรหมเกิดวิวาทกับพระเจ้าแสนเมืองมาเจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นหลาน พระเจ้าแสนเมืองมาได้ยกกองทัพไปตีได้เมืองเชียงรายจึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากับพระแก้วมรกตด้วยกัน พระพุทธสิหิงค์จึงได้ประดิษฐานอยู่ในเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อปีขาลพ.ศ.๒๒๐๕ จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพชร พระพุทธสิหิงค์อยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อมาตลอด ๑๐๕ ปี จนเสียพระนครแก่พม่าข้าศึก สมัยนั้นชาวเชียงใหม่ยังเป็นพวกพม่าถูกกวาดต้อนมาเป็นกำลังพลสมทบในคราวเสียกรุงครั้งที่สอง จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปไว้เมืองเชียงใหม่




ครั้นถึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยได้มณฑลภาคพายัพกลับมาเป็นของไทย แต่ในสมัยนั้นผู้คนร่อยหรอ ไม่พอจะตั้งรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้ต่อสู้พม่าได้ ต้องทิ้งเมืองเชียงใหม่ให้ร้าง คงรักษาแต่นครลำปางไว้เป็นที่มั่นแต่คราวหนึ่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงพระดำริว่าพระพุทธสิหิงค์เคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญในกรุงศรีอยุธยา ได้เคยทรงนมัสการบูชามาแต่กาลก่อน จึงได้โปรดฯ ให้เชิญลงมายังกรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๓๘


พระพุทธสิหิงค์ในประเทศสยามนี้กลับมีมากกว่าหนึ่งองค์  ยกเว้นองค์ที่ประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครแล้วนั้น องค์อื่นจะมีพุทธลักษณะประทับขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย มีพระรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม ขมวดพระเกศาใหญ่ พระพักตร์กลม แย้มพระโอษฐ์ พระหนุเป็นปม พระวรกายอวบอ้วน พระอุระนูน ชายจีวรเหนือพระอังสาซ้ายสั้น ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ

แต่พระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กลับเป็นพระพุทธปฏิมาประทับขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ ตามแบบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรซึ่งจำลองมาจากพระพุทธปฏิมาของลังกาอีกต่อหนึ่ง 

     อย่างไรก็ตาม พระพุทธสิหิงค์ทุกองค์ต่างก็มีประชาชนนับถือมากมายเหมือนๆกัน มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือด้วยกันทุกๆองค์ และพระพุทธสิหิงค์ทุกองค์ต่างนับเป็นพระพุทธรูปสำคัญของสยามประเทศ